วัดแม่สาหลวง
ตำบลแม่สาเรียกชื่อย่อบ้านตามลักษณะชุมชนที่อยู่ร่วมกัน ชุมชนที่มีอาศัยอยู่หนาแน่นก็เรียกว่าบ้านแม่สาหลวง อยู่ท้ายลำน้ำแม่สาก่อนถึงบ้านสบสา ส่วนชุมชนที่มีผู้คนอาศัยน้อยก็เรียกว่าบ้านแม่สาน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านแม่สาน้อยเป็นไร่สวน
วัดแม่สาหลวง
บ้านแม่สาหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ แยกออกจากหมู่บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สา มีลำน้ำแม่สาไหลผ่านหมู่บ้านชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่าหมู่บ้านแม่สา ส่วนใหญ่ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำ และบริเวณหมู่บ้านแม่สามีพื้นที่กว้างทำให้มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแม่สาหลวง” ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สา
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและผู้นำชุมชน พบประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ดังนี้ ในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่และสมเด็จไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1985 - 2089) ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และในขณะเดียวกันกองทัพเงี้ยวก็ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่เช่นกัน ทั้งสองกองทัพไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ กองทัพเงี้ยวได้ถอยไปตั้งทัพอยู่บริเวณทางเหนือของเมืองเชียงใหม่คือแหล่งที่ตั้งของตำบลแม่สาในปัจจุบันตั้งกองทัพได้ 7 วัน เมื่อถึงเดือนยี่ 4 ค่ำ ได้ยกทัพกลับ เมื่อพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองพระนครล้านนา (พ.ศ.2358- 2364) ได้สวรรคต พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังขึ้นครองราชย์และได้นำช้างเผือกไปถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธ-ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นทางเมืองเชียงใหม่เกิดสิ่งอัปมงคลขึ้น กล่าวคือคนบ้านโห้ง บ้านแม่สา บ้านแม่ริม เกิดการหึงหวงหญิงสาวคนเดียวกัน เกิดเรื่องทะเลาะกันขึ้น แล้วไปหลอกผู้อื่นว่าถูกพวกม่าน (พม่า) ได้จับตัวไปเป็นทาสในเดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ เป็นเหตุให้เชียงใหม่ปั่นป่วนทั้งเมืองเพราะความกลัวกองทัพพม่ายกทัพมายึดเชียงใหม่คืน
หมู่บ้านแม่สาหลวง เดิมชื่อหมู่บ้านท่าไคร้ ก่อตั้งมาประมาณมากกว่า 900 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.1985 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลแม่สา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2465 ตำบลแม่สาเป็นชุมชนใหญ่มาแต่โบราณมีการบันทึกไว้ในตำบลหลายตอน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอเหลืออยู่ให้เห็นหลายแห่ง เช่น ซากของหมู่บ้านเดิมเป็นที่ตั้งของกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 ปัจจุบันจะไม่เห็นซากหรือร่องรอยที่ชัดเจน สถานที่ตั้งของตำบลแม่สามีหลักฐานทางประติมากรรมเหลือให้เห็นเพียงวัดร้าง 2 แห่ง ปัจจุบันอยู่ที่หมู่ 4 บ้านแม่สาน้อยและหมู่ที่ 5 บ้านดอนชัย การขุดพบกู่เก่าอยู่ที่สวนลำไยของพ่อสิงห์ทอง อินทวงศ์ ได้พบหลักฐานคือ พระเครื่องและพระบูชาที่มีอายุกว่า 100 ปี หลายสิบองค์ ปัจจุบันยังอยู่กับครอบครัวพ่อสิงห์ อินทวงศ์ ณ บริเวณนี้
เมื่อประมาณปี พ.ศ.2498 เดิมหมู่บ้านแม่สาหลวง มีผู้ปกครองเมืองคือ คุณหลวงมาลากะ ประชาชนที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนชนเผ่าลั๊วะ อาศัยอยู่บริเวณตีนดอยมีอาชีพทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว กะหล่ำปลี ปลูกถั่ว อาศัยอยู่กันเป็นเครือญาติขนาดใหญ่ มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ได้แก่ สายแม่ริม แม่แรม และแม่สา และหลังจากนั้นเริ่มมีการย้ายถิ่นฐานลงมาอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบ เริ่มมีการสร้างวัดแม่สา ถนนหลายสายเริ่มเกิดขึ้นและเริ่มมีการขยายชุมชน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2521 เริ่มมีการก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจ มีเจ้าอาวาสวัดคือ นายจันทร์ทิพย์ สิงห์ทอง (พ่อหนานติ๊บ) เมื่อประมาณ พ.ศ. 2544 มีผู้นำชุมชนคือ นายสมศักดิ์ บัวสอด มีความเจริญรุ่งเรืองในการสร้างถนน ไฟฟ้า ประปา มีการจัดระเบียบชุมชนและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านและเป็นช่วงแรกที่เริมมีชนเผ่าพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนแม่สาหลวง ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2549 มีผู้นำชุมชนคือ นายสมบูรณ์ สมแก้ว ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบันและเป็นช่วงแรกที่เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่มชมรมผู้สูงอายุขึ้น
หมู่บ้านแม่สาหลวงเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมือง มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (ถนนโซตนา) ทอดผ่าน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ริมประมาณ 1.5 กิโลเมตร และห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 12 กิโลเมตร บ้านแม่สาหลวงมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 2.274 ตารางกิโลเมตร หรือเนื้อที่ประมาณ 1,400 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 1,200 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 200 ไร่ พื้นที่ทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มทั้งหมู่บ้าน เป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ พื้นที่โดยทั่วไปเหมาะกับการเพาะปลูก มีลำน้ำแม่สาไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งมักจะเกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนในปีที่มีฝนตกชุก และประชากรส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งลำน้ำ ตำบลแม่สามีลำน้ำที่มีแหล่งกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัย อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ไหลผ่านตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม มาถึงตำบลแม่สา ลำน้ำแม่สาไหลผ่านหมู่บ้านไปบรรจบกับลำน้ำปิงที่ท้ายหมู่บ้านแม่สาหลวง จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “สบสา” แปลว่าที่บรรจบกันของแม่น้ำสองสาย
ส่วนใหญ่ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งลำเหมืองและลำน้ำแม่สา บ้านเรือนสร้างติดถนนหลักกลางหมู่บ้าน และแยกเข้าไปในซอยแต่ละซอย ลักษณะบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ บ้านปูน และบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน บ้านจะอยู่ติดกัน นอกจากบ้านเรือนแล้วยังมีหอพัก และมีพื้นที่เป็นทุ่งนา ป่ามีบางส่วน มีวัด 2 แห่ง มีร้านขายของชำ 8ร้าน ร้านอาหารตามสั่ง 7 ร้าน ร้านถ่ายเอกสาร 2 ร้าน ร้านขายข้าวสาร 2 ร้าน ร้านซ่อมรถ 2 ร้าน โรงขายน้ำ 1 แห่ง ศาลา 1 แห่ง จุดบริการประชาชน 1 จุด สะพาน 13 แห่ง ป่าช้า 1 แห่ง อากาศในหมู่บ้านปลอดโปร่งและถ่ายเทสะดวก แหล่งศูนย์รวมของชุมชน คือ ตลาดบ้านแม่สาหลวง และวัดในช่วงมีงานบุญ มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน และงานเทศกาลต่างๆ ส่วนด้านอุปโภคบริโภคคนในชุมชน จะใช้น้ำประปาหมู่บ้าน และใช้น้ำดื่มบรรจุขวดในการบริโภค การคมนาคมมายังหมู่บ้านสามารถเดินทางได้หลายรูปแบบ ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ริมถนนสายหลักเข้าสู่ตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวและรถจักรยานยนต์
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านดอนชัย หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม
ทิศใต้ ติดต่อ บ้านบ่อปุ๊ หมู่ที่ 1 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม
ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านดอนตัน หมู่ที่ 8 ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม
ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านแม่สาน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม
บ้านแม่สาหลวง หมู่ 3 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 639 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้น 2,715 คน ประชากรของหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง (ล้านนา) ซึ่งสืบทอดเชื้อสายมาจากผู้ที่มาตั้งรกรากอยู่ในอดีต และบางส่วนเป็นคนนอกพื้นที่ๆ ย้ายเข้ามาพักอาศัยตามบ้านเช่า เพื่อมาทำงานในเขตพื้นที่ใกล้เคียง อาชีพหลักของประชากรคือ รับจ้างทั่วไป รองลงมา คือ ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว เกษตรกร รับราชการ และ ลูกจ้างบริษัท ตามลำดับ
โดยภาพรวมของหมู่บ้านแม่สาหลวง เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ เป็นลักษณะชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ผู้คนที่อาศัยอยู่เป็นคนท้องถิ่นเดิมและต่างถิ่นผสมผสานกันอยู่ และมีผู้คนย้ายเข้าและย้ายออก พบในคนที่เช่าหอพักและบ้านเช่า แต่ทุกคนก็เป็นชุมชนเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านมีวิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ค่อยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆและงานเทศกาลอื่นๆในชุมชน
ผู้คนในชุมชนบ้านแม่สาหลวง มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มองค์กรที่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้นำที่ได้มาจากทางราชการ และความร่วมมือจากกลุ่มประชาชนในชุมชนหรือคนในพื้นที่หมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่มกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านแม่สาหลวง มีกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการทั้งหมดอยู่ 6 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน มีบทบาทหน้าที่หลักในการพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง อยู่รวมกันอย่างมีความสุข โดยจะมีคณะกรรมการแบ่งตามหมวด (โซนพื้นที่) ทั้งหมด 8 หมวดๆละ 2 คน มีหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานในชุมชน ดูแลความสงบภายในหมวดของตนเอง ดูแลรับเรื่องร้องทุกข์ในชุมชน แก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกับคณะกรรมการในด้านต่างๆ ของชุมชน ตลอดจนนำเสนอโครงการต่างๆ ของหมู่บ้านเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีสมาชิกทั้งหมด 39 คน มีบทบาทหน้าที่หลักในการเป็นแกนนำทางด้านสุขภาพและดูแลสุขภาพของคนในชุมชนในเชิงรุก ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนในชุมชนเพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นแกนนำในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชน
3. กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมดถึง 212 คน ถือเป็นชมรมที่มีความเหนียวแน่นของสมาชิกในกลุ่ม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุในชุมชน อันจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงการมีคุณค่าในตนเอง ชมรมจะมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่นการรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้ การทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งในและนอกชุมชน การออกกำลังกายโดยการรำไม้พลอง การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ การทำกิจกรรมตามประเพณีและวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น
4. กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีบทบาทหน้าที่ในการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความช่วยในงานต่างๆ ของตำบลแม่สา เป็นแกนนำหลักในการทำกิจกรรมต่างๆ ของตำบลแม่สา เช่น งานวันแม่/วันพ่อ งานยี่เป็ง เป็นต้น รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมภายในชุมชนหรือกิจกรรมชุมชนทุกครั้งที่มีโอกาส ตลอดจนมีกิจกรรมในการส่งเสริมอาชีพสตรีในหมู่บ้าน เพื่อสร้างาน สร้างรายได้
5. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน มีสมาชิกทั้งหมด 8 คน มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการออม และสนับสนุนเงินทุนสร้างอาชีพแก่คนในชุมชน มีบทบาททที่สำคัญในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ดูแลเรื่องการกู้เงินของสมาชิกภายในหมู่บ้าน จัดทำบัญชี และจัดสรรผลประโยชน์ของกองทุนและกระจายรายได้ให้กู้ยืมแก่ประชาชนในชุมชน
6. กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ มีคณะกรรมการดำเนินงาน 5 คน มีหน้าที่ในการเก็บเงินสงเคราะห์ศพจากสมาชิกเมื่อมีสมาชิกในหมู่บ้านเสียชีวิตลง และมอบเงินช่วยเหลือในการจัดการศพแก่ทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนในหมู่บ้านโดยความสมัครใจ ยินดีให้ความร่วมมือ มีการร่วมแรงร่วมใจ เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน มี 1 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มรำวงย้อนยุค มีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 9 คน เพื่อเป็นการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในชุมชน โดยจะมีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกที่เป็นผู้ให้ความสนใจในการออกกำลังกายซึ่งลักษณะในการออกกำลังกายนั้นจะมีลักษณะการออกกำลังกายตามจังหวะเพลงในแบบรำวงในท่าต่างๆ สมาชิกจะมีการรวมตัวกันในทุกๆ วันตอนเย็นเพื่อร่วมกันออกกำลังกายด้วยการรำวงย้อนยุก และมีการเข้าร่วมการประกวดหรือแสดงโชว์ตามงานต่างๆ ที่ได้รับการเชิญชวนอีกด้วย
ในรอบปีประชาชนดัง้เดิมของหมู่บ้านแม่สาหลวงมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี เพื่อกราบไหว้ผีบรรพบุรุษ และยังถือเป็นการรวมตัวกันของหมู่เครือญาติ การเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นความเชื่อในลัทธิพิธีบูชาผีบรรพบุรุษที่ ซึ่งเป็นความเชื่อดังดั้มของสังคมล้านนาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การทำพีธีเลี้ยงผีปู่ย่าจะมีการบวงสรวงผีบรรพบุรุษด้วเครื่องอาหารคาวหวาน และเนื้อสัตว์ เช่น หัวหมู่หรือไก่ต้ม ตามแต่เศรษฐานะของครอบครัวนั้นๆ นอกจากนี้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะไปรวมตัวกันเพื่อบวงสรวงศาลเจ้าบ้าน ทำความสะอาดศาลเจ้าบ้าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีที่ปกปักษ์รักษาหมู่บ้านให้สงบสุข เพื่อเป็นศิริมลคลแก่ชีวิต
งานบุญเข้ากรรมรุขมูล (เข้ากรรม) คือ เทศกาลทำบุญปฏิบัติธรรม เข้ากรรมของคนพื้นเมืองล้านนา จะจัดขึ้นในช่วงระหว่างตั้งแต่เดือนธันวาคม - มกราคม และกุมภาพันธ์ หรือเดือน 3-4 และเดือน 5 ตามปฏิทินล้านนาของทุกปี ชาวพุทธตามประเพณีล้านนาจะนิยมจัดกิจกรรมเข้ากรรมขึ้น เพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และประชาชนในชุมชน ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสือบทอดกันมาอย่างยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวนี้จะเลือกเอาสถานที่ตามวัดวาอาราม เรียกว่า “เข้ากรรมรุกขมูล” และใช้พื้นที่บริเวณสุสาน ซึ่งเรียกว่า “เข้าโสสานกรรม” สำหรับกิจกรรมในแต่ละวันของพระสงฆ์ที่เข้าประเพณีโสสานกรรม จะมีการไหว้พระสวดมนต์ เทศนาธรรมอบรมสั่งสอนประชาชน เดินจงกรม บังสุกุลแผ่เมตตา และการเป็นผู้นำในการพัฒนาสิ่งที่จะเป็นสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
นายสมบูรณ์ สมแก้ว
กำนันสมบูรณ์ สมแก้ว เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สาหลวงและกำนันตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการนับถือของคนในหมู่บ้าน กำนันสมบูรณ์เป็นคนบ้านแม่สาหลวงแต่กำเนิด เป็นบุตรของ นายต๋า สมแก้ว และนางเป็ง สมแก้ว กำนันสมบูรณ์มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 4 คน โดยกำนันสมบูรณ์เป็นบุตรคนสุดท้อง เมื่ออายุได้ 12 ปี (พ.ศ.2516) กำนันสมบูรณ์ได้เข้ารับการบวชเรียน โดยจำพรรษาที่วัดแม่สาหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะเวลา 2 ปี และจำพรรษาอยู่วัดสว่างบันเทิง 1 ปี หลังจากนั้นจึงลาสิกขาและได้ประกอบอาชีพทำนาและก่อสร้าง พ.ศ.2541 กำนันสมบูรณ์ได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่สาหลวง เป็นสมัยที่ 1 ต่อมาในปี พ.ศ.2543 ได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่สาหลวง เป็นสมัยที่ 2 และในปี พ.ศ.2548 ได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่สาหลวง และได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งครั้งนั้น 2 ปี ต่อมา พ.ศ.2550 กำนันตำบลแม่สาคนเดิม ได้เกษียณอายุราชการ กำนันสมบูรณ์จึงได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลแม่สา และได้รับเลือกเป็นกำนัน สมัยที่ 1 โดยมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2 ปี จึงหมดวาระในการทำงาน จากนั้น พ.ศ.2553 ได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลแม่สาอีกครั้ง และได้รับเลือกเป็นกำนันเป็นสมัยที่ 2 กำนันสมบูรณ์เป็นคนที่อัธยาศัยดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีหลักคิดในการทำงานคือ จริงใจและเต็มที่กับงานโดยไม่ต้องคิดว่าผลลัพท์จะเป็นเช่นไร กำนันถือเป็นบุคคลสำคัญในชุมชนที่ได้รับความเคารพนับถือของคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง
ทุนวัฒนธรรม
วัดแม่สาหลวง เป็นวัดเก่าแก่ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2374 เแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดดอยน้อย” หรือ “วัดสมเด็จดอยน้อย” เป็นพุทธสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันมีพระอธิการทองพูน สุทธจิตโต เป็นเจ้าอาวาส ชาวบ้านมักจะรวมตัวกันที่วัดเพื่อทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา หรือการประชุมต่างๆ เพื่อปรึกษาหารือกันของคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้วัดแม่สาหลวงยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 และแผนกสามัญ เปิดสอน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ภายในวัดมีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านและบ้านพักเกษตรตำบลแม่สาอีกด้วย
ภาษาเมือง (ล้านนา) เป็นภาษาดังเดิมของคนล้านนา มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน (ตั๋วเมือง) แต่ภาษาเขียนได้ถูกลืมเลือนไปและไม่เป็นที่นิยมใช้ในคนสมัยปัจจุบัน มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเท่านั้นที่สามารถเขียนตั๋วเมืองได้
บริบทของชุมชนชานเมืองทำให้การโยกย้ายของผู้คนถือเป็นเรื่องปกติของชุมชนแห่งนี้ การเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมู่บ้านจัดสรรและพื้นที่ธุรกิจค้าขาย โรงแรม รีสอรท์ ทำให้จำนวนของประชาชนต่างถิ่นย้ายเข้ามาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเพณีในชุมชน การดำเนินงานหรือรวมกลุ่มภายในชุมชนมักจะเกิดขึ้นชัดเจนในกลุ่มคนที่เป็นคนดั้งเดิมของพื้นที่ เนื่องจากมีความสนิทสนมและความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมาแต่เดิม
พระอุโบสถช้างล้อมลายคำภายในวัดแม่สาหลวง ถือเป็นสถาปัตยกรรมประณีตศิลป์แห่งล้านนา มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมที่มีความประณีต และใส่ใจรายละเอียดในการสร้างปูชนียสถานของผู้คนในสมัยนั้น ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนมากมายมาเยี่ยนชมความวิจิตรงดงามของพระอุโบสมตามแบบฉบับล้านนาแท้ๆ อย่างต่อเนื่อง
สุพัตรา ไพรบึง และคณะ. (2560). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน วิชาปฏิบัติการพยาบาลครอบครัวชุมชน 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 : กรณีศึกษาบ้านแม่สาหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่สาหลวง (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก:https:// www.google.com/maps/@18.8916386,98.9611805,19.21z