วัดสมเด็จดอยน้อย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ตำบลแม่สาเรียกชื่อย่อบ้านตามลักษณะความหนาแน่นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่นั้นๆ ชุมชนที่มีอาศัยอยู่หนาแน่นก็เรียกว่าบ้านแม่สาหลวง ส่วนชุมชนที่มีผู้คนอาศัยน้อยก็เรียกว่า “บ้านแม่สาน้อย” พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านแม่สาน้อยเป็นไร่สวน
วัดสมเด็จดอยน้อย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ตำบลแม่สาเป็นชุมชนใหญ่มาแต่โบราณมีการบันทึกไว้ในตำบลหลายตอน มีหลักฐานทางประวัติศาตร์ที่พอเหลือให้เห็นอยู่หลายแห่ง เช่น ซากของหมู่บ้านเดิมเป็นที่ตั้งของกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 ปัจจุบันเกือบจะไม่เห็นซากที่ชัดเจน จากการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการเล่าต่อๆกันมา ปรากฏเป้ฯเรื่องราวว่าในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1985-พ.ศ.2089) ได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ และในขณะเดียวกันนั้นกองทัพเงี้ยวก็ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ทั้งสองกองทัพไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ กองทัพเงี้ยวได้ถอยไปตั้งทัพอยู่บริเวณทางเหนือของเมืองเชียงใหม่ คือแหล่งที่ตั้งของตำบลแม่สาในปัจจุบัน กองทัพเงี้ยวตั้งทัพได้เพียง 7 วัน เมื่อถึงเดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ วันพฤหัสบดี จึงได้ยกทัพกลับ จากนั้นประชาชนก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่นี้สืบต่อมาหลายชั่วอายุคน
หมู่บ้านแม่สาน้อยเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมือง มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (ถนนโซตนา) ทอดผ่าน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านแม่สาน้อยแยกออกมาจากหมู่บ้านแม่สาหลวง ถือว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมและอาศัยอยู่ 2 ฟาก ลำน้ำ “แม่สา” มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ตารางกิโลเมตรลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านแม่สาน้อยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีลำน้ำแม่สาไหลผ่านซึ่งคนในหมู่บ้านใช้ทำการเกษตร มีพื้นที่เกษตรประมาณ 1,666.67 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ในการอยู่อาศัย 3,333.33 เมตร มีการคมนาคมที่สะดวก เนื่องจากมีถนนลาดยาง ทั้งยังอยู่ติดถนนใหญ่ที่จะเดินทางเข้าสู่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งบ้านแม่สาน้อยอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเพียง 5 กิโลเมตร สภาพอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดประมาณ 17 – 30 องศาเซลเซียส มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ลักษณะบ้านเรือนเป็นบ้านไม้บ้านปูนและบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน บ้านส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยายซึ่งจะตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นเครือญาติและอยู่ติดกัน หมู่บ้านนี้จะแบ่งกัน 3 กลุ่ม (หมวด) กลุ่มแรกเรียกบ้านท่าเดื่อ กลุ่มที่ 2 เรียกบ้านกลาง และกลุ่มที่ 3 เรียกบ้านใต้หรือบ้านแพะ ประชากรจะปลูกบ้านตามข้างถนนทั้งสองข้างทางและจะมีถนนสายหลักตัดตรงกลางหมู่บ้าน คือตัดระหว่างกลุ่มบ้านกลางและกลุ่มบ้านใต้ และใช้แม่น้ำแม่สาตัดระหว่างกลุ่มบ้านท่าเดื่อกับกลุ่มบ้านกลาง ในแต่ละกลุ่มบ้านจะมีบ้านเรือนอยู่ติดกัน กลุ่มบ้านใต้จะมีบ้านเรือนอยู่ค่อนข้างหนาแน่นกว่ากลุ่มบ้านอื่นๆ และจัดเป็นคนต่างถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มบ้านท่าเดื่อและบ้านกลางโดยรวมจะเป็นคนดังเดิมในท้องถิ่นของหมู่บ้านนี้ มีบ้านเช่าหลายหลังทั้งที่มีคนอาศัยอยู่และที่ไม่มีคนอาศัย นอกจากนี้ มีหมู่บ้านบ้านจัดสรร กาญจน์กนกทาวน์ 2 ตั้งอยู่บริเวณหลังแม็คโครแม่ริม และหมู่บ้านเอสวิวปาร์ค
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านดอนชัย
ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านแม่สาหลวง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านแม่สาหลวง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านท้องฝาย
หมู่บ้านแม่สาน้อย มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 284 ครัวเรือน และประชากรทั้งหมด 957 คน แบ่งเป็นเพศชาย 460 คน และเพศหญิง 497 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และมีประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยจะออกไปทำงานเวลา 08.00 น. และกลับเข้าบ้านประมาณ 18.00 น. และประชาการส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000 – 15,000 บาท/เดือน
ผู้คนในชุมชนบ้านแม่สาน้อย มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มองค์กรที่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้นำที่ได้มาจากทางราชการ และความร่วมมือจากกลุ่มประชาชนในชุมชนหรือคนในพื้นที่หมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่มกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านแม่สาน้อย มีกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการทั้งหมดอยู่ 8 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มผู้นำชุมชน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ จากกระทรวงมหาดไทยเป็นการเข้ามาปฏิบัติงานโดยผ่านการเลือกตั้งโดยคนในชุมชนเอง วิธีการเลือก กฏหมายกำหนดให้นายอำเภอเป็นประธาน พร้อมด้วยกำนันหรือ ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นอย่างน้อย 1 คน ประชุมราษฏรในหมู่บ้านที่มี คุณสมบัติที่จะเลือกผู้ใหญ่บ้าน โดย วิธีลับหรือเปิดเผยก็ได้ ตามข้อบ้งคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกผู้ใหญ่บ้าน โดยคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี มีบทบาทหน้าที่หลักในการพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนในชุมชน ตลอดจนรเป็นผู้ประสานงานในชุมชน ดูแลความสงบภายใน รับเรื่องราวร้องทุกข์ใของคนในชุมชน แก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกับคณะกรรมการในด้านต่างๆ ของชุมชน และภาครัฐ
2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นกลุ่มอาสาสมัครรูปแบบหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนเชิงรุก เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างรวดเร็ว อสม จะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อไปดูแล ส่งเสริม และคัดกรองสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของคนในชุมชน และปฏิบัติด้วยความเสียสละต่อประชาชนในหมู่บ้าน เป็นผู้ประสานงานการดูแลสุขภาพชุมชนระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนในชุมชน ประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นแกนนำในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชน กลุ่ม อสม. ของบ้านแม่สาน้อย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 คน สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่มาด้วยความสมัครใจเนื่องจากงานที่ทำเป็นงานที่ทำด้วยความเสียสละ
3. กลุ่มกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับเลือกหรือได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นคณะร่วมกันทำงานหรือกระทำกิจการบางอย่างซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้าน จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2484 โดยพ่อขุนบันเทิง เพื่อทำหน้าที่กระจายข่าวสารให้แกประชาชนในหมู่บ้าน มีบทบาทหน้าที่หลักในการบริหารจัดการชุมชนในด้านการปกครองด้านจัดกิจกรรมการดำเนินโครงการต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนรับรองเรื่องร้องทุกข์แก้ไขความขัดแย้งในชุมชน รวมถึงการประสานงานในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ เป็นการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีทุกหมู่บ้านเป็นเครือข่ายของสภาผู้สูงอายุแห่งชาติตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเชื่อมความสามัคคีระหว่างผู้สูงอายุในชุมชนและระหว่างหมู่บ้าน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สูงอายุด้วยกัน
5. กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีบทบาทหน้าที่ในการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความช่วยในงานต่างๆ ของตำบลแม่สา เป็นแกนนำหลักในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมอาชีพของสมาชิกในเพื่อสร้างรายได้เสริม กลุ่มสตรีแม่บ้าน บ้านแม่สาน้อย จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 โดยได้รับงบประมาณในการสนับสนุนจากองค์กรบริหารส่วนตำบลแม่สา ปัจจุบันมีกรรมการทั้งหมด 16 คน
6. กลุ่มกองทุนเงินล้าน คือกลุ่มที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาบริหารจัดการเงินทุนเพื่อการออมและต่อยอดการหารายได้ของระชาชนในชุมชน เปิดให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกโดยมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 70,000 บาทระยะเวลา 3 ปีมีดอกเบี้ยร้อยละ 16 บาทต่อปี มีหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดเงินกู้เมื่อถึงวาระคืนเงินกู้ โดยจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นทุกเดือน และจะจัดประชุมกับประชาชนภายในหมู่บ้านปีละครั้ง
7. กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ คือ กลุ่มที่มีกิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกัน เพื่อสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ในการจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เป็นสมาชิกกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ ตามพระราชบัญญัติ การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2520 โดยมีคุณตาบุญมี แสงนูน เป็นผู้ริเริ่ม เนื่องจากคนยากไร้ในชุมชนไม่มีเงินในการประกอบพิธีศพ เลยริเริ่มออมเงินคนในชุมชนหลังคาเรือนละ 15 บาท พร้อมกับข้าวสาร 1 ลิตร ต่อมาได้พัฒนาเก็บเงินเป็น 20 บาท และปัจจุบันเก็บเงินหลังคาเรือนละ 100 บาท เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน
8. กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ หรือกองทุนสัจจะ คือกองทุนสำหรับออมเงินของสมาชิกในหมู่บ้าน โดยจะมีการออมจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน ตามความสามารถของสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์ก่อตั้งพร้อมกับกองทุนเงินล้านและสมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จะเป็นสมาชิกกลุ่มเดียวกับกลุ่มกองทุนเงินล้าน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนในหมู่บ้านโดยความสมัครใจ ยินดีให้ความร่วมมือ มีการร่วมแรงร่วมใจ เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน มี 1 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มรำวงย้อนยุค เป็นการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนเพื่อออกกำลังกายและสร้างสัพันธภาพระหว่างคนในชุมชนหลังจากที่ว่างเว้นจากการทำงาน รำวงย้อนยุคหรือรำวงพื้นบ้าน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้าน เมื่อประมาณ 50 – 60 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการบันเทิงในขณะทำการเกษตร การรำวงย้อนยุคจะทำร่วมกับการร้องเพลงรำวง โดยใช้เครื่องดนตรี เป็นอุปกรณ์ที่หาได้ในขณะนั้น เป็นเครื่องกำหนดจังหวะ กลุ่มรำวงย้อนยุคก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2555 โดย กลุ่ม อสม. ของหมู่บ้าน โดยการขอความร่วมมือให้ประชาชนในหมู่บ้านแม่สาน้อยมาเต้นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และได้นำรำวงย้อนยุคเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำให้ง่ายต่อการเต้นออกกำลังกายเลยจัดตั้งรำวงย้อนยุคขึ้น และปัจจุบันประชาชนในหมู่บ้านรวมถึงในหมู่บ้านใกล้เคียงให้ความสนใจในการเต้นรำวงย้อนยุคเพิ่มมากขึ้น
ในรอบปีประชาชนดัง้เดิมของหมู่บ้านแม่สาน้อยมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
การทำบุญสืบชะตา เป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่ศาลาประชาคม เพื่อร่วมกันเตรียมอุปกรณ์ ต่างๆสำหรับพิธีสืบชะตา เช่น ไม้ค้ำ กรวยดอกไม้ เป็นต้น โดยมีความเชื่อที่ว่าการทำบุญสืบชะตาจะเป็นการต่อชีวิตที่สงบสุขแก่คนในชุมชน เป็นศิริมลคลต่อชีวิต การทำบุญสืบชะตาจะจัดขึ้นประมาณเดือนมกราคมและเมษายน (ตรงกับประเพณีปี๋ใหม่เมือง) ของทุกปี
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี เพื่อกราบไหว้ผีบรรพบุรุษ และยังถือเป็นการรวมตัวกันของหมู่เครือญาติ ตามความเชื่อของคนล้านนา “ผีปู่ย่า” หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าเวลาพ่อ แม่ ตายลงไปในสมัยก่อน ลูกหลานไม่ได้กินได้ทานอุทิศส่วนกุศลให้ดังเช่นสมัยนี้ สาเหตุเพราะว่าอาจจะไม่มีวัดหรือไม่ก็อยู่ห่างไกลวัดก็อาจเป็นได้ ลูกหลานจึงมีความรักเอ็นดูห่วงใยพ่อแม่ จึงสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น แล้วมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน ผลหมากรากไม้ มาบวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่ให้มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลานตลอดจนเครือญาติ การเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นความเชื่อในลัทธิพิธีบูชาผีบรรพบุรุษที่ ถือเป็นความเชื่อดังเดิมของคนล้านนาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การทำพีธีเลี้ยงผีปู่ย่าจะมีการบวงสรวงผีบรรพบุรุษด้วยเครื่องอาหารคาวหวาน ตามแต่ระดับฐานะและรายได้ของคนในครอบครัวนั้นๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และความเป็นศิริมงคลในชีวิตแก่ลูกหลานในวงตระกูลให้อยู่เย็นเป็นสุข
ประเพณีปีใหม่เมือง (สงกรานต์) ประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีการเริ่มต้นเข้าสู่ศักราชใหม่ของชาวล้านนา จะแตกต่างจากสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ดังนั้นปีใหม่เมืองของชาวล้านนา จึงมีวันและการปฏิบัติตนตามระบบโหราศาสตร์ ปักกะทืนล้านนา ประกาศออกมาเป็นหนังสือปีใหม่เมือง มีวันและกิจกรรมมากกว่าสงกรานต์ของคนภาคกลางได้แก่ วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาตรงกับเดือนเมษายน ประเพณีปีใหม่เมืองเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่พี่น้องและคนในชุมชนโดยก่อนจะถึงวันปี๋ใหม่เมือง บรรยากาศในในชุมชนจะคึกคักด้วยการจัดเตรียมช่อตุงปีใหม่ มีการทำบุญโดยการนำข้าวสาร อาหารแห้งทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ต่างๆมาทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลในชีวิต เนื่องจากเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนทางภาคเหนือโดย เชื่อว่า เจดีย์ทราย ถวายตุง รดน้ำดำหัวสูงอายุ การสรงน้ำพรพุทธรูปและพระประเจ้าวันเกิด ทั้งนี้ประเพณีปี๋ใหม่เมืองจะมีกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติกันในแต่ละวันที่แตกต่างกันไป ซึ่งประกอบด้วย วันสังขารล่อง วันเนาหรือวันเน่า และวันพญาวัน
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ เรียกว่า วันสังขารล่อง คือ วันสิ้นสุดศักราชเก่า ในตอนเช้าตรู่จะมีการจุดประทัดเพื่อให้เกิดเสียงดัง เชื่อกันว่าจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไปตามปีเก่าที่จะผ่านพ้นไป วันที่ 14 เป็นวันที่เรียกว่า วันเนาหรือวันเน่า ถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต เชื่อกันว่าถ้าหากทำวันนี้ดีก็จะประสบแต่สิ่งที่ดีตลอดทั้งปี และในวันนี้จะไม่ทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เช่น การด่าทอ การดื่มสุรา เป็นต้น ในช่วงเช้าจะมีการทำขนมการทำห่อนึ่งต่างๆเพื่อเตรียมไปถวายพระ ในช่วงบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทรายและมีการนำตุงที่ทำด้วยกระดาษสีมาตัดเป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อปักตกแต่งเจดีย์ มีความเชื่อว่า การขนทราบเข้าวัดนั้นเป็นการนำทรายมาทดแทนที่เราเหยียบทรายในวัดติดเท้าออกไป ส่วนการถวายตุงนั้นเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วตุงจะช่วยเป็นเครื่องนำทาง
วันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่ เรียกว่า วันพญาวัน จะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ รับพรจากผู้สูงอายุ มีการตานขันข้าว คือ การนำอาหารคาวหวานใส่สำรับไปถวายพระที่วัดเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ถวายเจดีย์ทรายและช่อตุงเพื่อให้ชีวิตของตนประสบแต่สิ่งที่ดีที่เจริญ และวันที่ 16 เมษายน จะมีการทำบุญภายในหมู่บ้านโดยจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีสวดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
สลากภัตร หรือที่ชาวล้านนาทางภาคเหนือเรียกว่า ประเพณีตานก๋วยสลาก โดยส่วนมากจะจัดขึ้นในช่วงเดือน กันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งในการตานก๋วยสลากนั้น ชาวบ้านจะมีชะลอมหรือตะกร้า ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้คนในสมัยใหม่นิยมใช้ถังพลาสติกหรือกระติกน้ำแข็ง เพราะมีประโยชน์ใช้งานมากกว่าพวกตะกร้าไม้ไผ่ แล้วใส่ของเครื่องใช้ต่างๆ ลงไป เช่นอาหาร คาว หวาน สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ต่างๆ ที่คนเราใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมด้วยปัจจัย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียก “ใส่ยอด” ก็คือการใส่ซองเงินเสียบยอดไม้ไผ่ลงไป เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปหาญาติ สนิท มิตรสหาย ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อดังเดิมเกี่ยวกับเรื่องโลกหลังความตาย โดยชาวบ้านหมู่ที่ 4 จะมีการจัดเตรียมของใช้ต่างๆ รวมถึงอาหารคาวเพื่อไปร่วมสลากภัต ณ วัดสว่างบันเทิง
นายชุมพล ยอดยืน (ผู้ใหญ่บ้าน)
นายชุมพล ยอดยืน ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนอำเภอดอยสะเก็ด ภายหลังแต่งงานจึงย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่สาน้อยจนถึงปัจจุบัน นายชุมพลมีแนวคิดในการทำงานที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำงานด้วยจิตสาธารณะ ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ นายชุมชนกล่าวว่าในการทำงานนั้นอาจจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบในตัวเรา แต่ระยะเวลาและความจริงใจจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้คนเหล่านั้นเห็นถึงความตั้งใจดีของเรา นายชุมพลได้แนวคิดในทำงานเพื่อส่วนร่วมจากการปลูกฝังของบิดาที่เป็นทหาร นายชุมพลเล่าว่า “ตั้งแต่เด็กจนโต เห็นพ่อทำงานเพื่อคนอื่นมาตลอด แล้วยังต้องดูแลลูกทั้ง 7 คน แต่พ่อก็ทำได้” จากตัวอย่างของบิดาในอดีต ได้แปลเปลี่ยนเป็นความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจให้นายชุมพลอยากที่จะทำงานช่วยเหลือชุมชน ตอนแทนคุณแผ่นดิน และเกิดเป็นคติในการทำงาน คือ “คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้” นายชุมพลเป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน เมื่อเกิดปัญหา ข้อขัดแย้ง หรือสิ่งที่ต้องแก้ไขภายในชุมชน นายชุมพลจะรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมชนเห็นถึงความกระตือรือร้น และความใส่ใจในการทำงาน นอกจากนี้นายชุมพลยังเป็นบุคคลที่ได้รับการไว้วางใจจากชุมชน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม ไม่แบ่งแยกชนชั้น แก้ไขปัญหาโดยยึดถือความถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่เกรงกลัวผู้มีอำนาจ ทุกคนสามารถขอความช่วยเหลือและเข้าถึงนายชุมพลได้ จนได้รับตำแหน่งกรรมการยุติธรรมชุมชน ส่งผลให้นายชุมพลเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการยอมรับจากสมาชิกชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนบ้านแม่สา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ปัจจุบันมีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2465 โดยอาศัยศาลาวัดแม่สาน้อย (วัดสว่างบันเทิงในปัจจุบัน) ชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลท่าไคร้ วัดแม่สาน้อย เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้สร้างอาคารเรียนถาวรแบบ ป. 1 ก. ทำด้วยไม้ขนาดกว้าง 8 X 18 ม. ณ สถานที่ โรงเรียนในปัจจุบันและได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนประชาบาลตำบลแม่สา” และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านแม่สา” ในปี พ.ศ. 2521 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ ป. 1 ก. ตึก ขนาด 4 ห้องเรียน 1 หลัง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 และได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมปีที่ 6 ปีการศึกษา 2537 โรงเรียนได้เปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา คือระดับก่อนประถมศึกษา ชั้นอนุบาลปีที่ 1 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ทุนวัฒนธรรม
วัดสมเด็จดอยน้อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านแม่สาน้อย ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วัดสมเด็จดอยน้อยได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ.2548 วัดตั้งอยู่บนเนื้อที่ 32 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา เดิมเป็นวัดร้างโบราณที่เหลือแต่ซากปรักหักพังเก่าแก่มานานร่วมร้อยปี ตั้งอยู่บนเนินเล็กๆ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดดอยน้อย” และเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 ได้มีพระธุดงค์จำนวน 830 รูป จากศูนย์ธุดงค์วัตรเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย ได้มาพักปักกลดและเล็งเห็นว่าสถานที่นี้สงบ และเหมาะที่จะบูรณะยกขึ้นเป็นวัดจึงได้เข้าไปกราบเรียน สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภเถร) อธิบดีสงฆ์วัดพระมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์ธุดงค์ฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านได้พิจารณาเห็นประโยชน์และความสุข ความเจริญจะบังเกิดแก่เทพยดามนุษย์และมวลหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงมีพระบัญชาให้ พระครูใบฎีกาอนุกูล ฐานุตตฺโร, พระไพศาล โสภโณ, พระบัวลอย สุทธิจิตโต มาอยู่พัฒนาและจะได้ยกขึ้นเป็นวัด จากนั้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 สมเด็จเจ้าพระคุณฯ ได้เสด็จมาเปิดป้ายวัด ได้ประทานชื่อวัดว่า “วัดสมเด็จดอยน้อย” และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีประกาศยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548
วัดสว่างบรรเทิง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในฟากตะวันตกของถนนสายหลักที่ทอดผ่านหมู่บ้าน เดิมประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านแม่สาน้อยมีจำนวนน้อยและนับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน เมื่อถึงเทศกาลทำบุญและพิธีกรรมต่างๆ ก็พากันไปร่วมกับวัดอื่นที่ตนศรัทธา พอถึงช่วงฤดูฝนกลางพรรษาการเดินทางไปวัดต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต่อมาประชาชนในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงได้ร่วมกันจัดสร้างวัดตรงบริเวณบนเนินเล็กๆ มีต้นไม้ขึ้นโดยรอบและอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านให้ชื่อว่า “วัดแม่สาน้อย” เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจและเป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนวัดแม่สาน้อยเมื่อ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ 2385 โดยมีครูบาคำปัน เจ้าคณะตำบลท่าไคร้ เป็นเจ้าอาวาสและได้รับการอุปถัมภ์จากคณะศรัทธาในหมู่บ้านโดยนำโดย พ่อขุนบันเทิง กำนันตำบลท่าไคร้ได้พัฒนาก่อสร้าง ถาวรวัตถุ กุฏิ วิหาร ศาลาเป็นต้น มีความเจริญขึ้นตามลำดับ ประมาณ พ.ศ. 2484 ทางรัฐบาลต้องการให้วัดและสถานที่ต่างๆเปลี่ยนชื่อใหม่ตามสมัยรัฐนิยม ทางท่านพระครูอุดมวุฒิ เจ้าคณะอำเภอแม่ริม ได้ตั้งชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดสว่างบรรเทิง” โดยเอาชื่อฉายาของท่านครูบาเจ้าคำปัน คือแปลว่าผู้มีปัญญาเป็นสาระ ปัญญานี้ย่อมทำลายความมืดบอดของจิตใจให้เกิดความสว่างไสวสว่าง นำมาสมาสกับนามของกำนัน คือพ่อขุนบันเทิง จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดแม่สาน้อย เป็นวัดสว่างบรรเทิง และเปลี่ยนชื่อตำบลท่าไคร้เป็นตำบลแม่สามาถึงปัจจุบันนี้ ปัจจุบันวัดสว่างบันเทิง มีพื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา วัดสว่างบรรเทิงเป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน
ภาษาเมือง (ล้านนา) เป็นภาษาดังเดิมของคนล้านนา มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน (ตั๋วเมือง) แต่ภาษาเขียนได้ถูกลืมเลือนไปและไม่เป็นที่นิยมใช้ในคนสมัยปัจจุบัน มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเท่านั้นที่สามารถเขียนตั๋วเมืองได้
การโยกย้ายของประชาชนดั้งเดิมในชุมชนไปหางานทำต่างถิ่น และการเข้ามาอยู่อาศัยของคนนอกพื้นที่ เป็นความท้าทายด้านการบริหารจัดการและการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของคนท้องถิ่นของชุมชนแม่สาน้อย
พิมลวรรณ บุญหรรษา และคณะ. (2560). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน วิชาปฏิบัติการพยาบาลครอบครัวชุมชน 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 : กรณีศึกษาบ้านแม่สาน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่สาน้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก:https:// https://www.google.com/maps/@18.8929684,98.952105,18z