Advance search

บ้านดอน

วัดดอนชัย, พระธาตุจอมมุนีศรีดอนชัย

หมู่ 5
ดอนชัย
แม่สา
แม่ริม
เชียงใหม่
เอกชัย กันธะวงศ์
20 พ.ค. 2023
โรชินี อุปรา
20 พ.ค. 2023
เอกชัย กันธะวงศ์
20 พ.ค. 2023
บ้านดอนชัย
บ้านดอน

หมู่บ้านดอนชัยสมัยก่อนคนในชุมชนเรียกว่า “บ้านดอน” เนื่องจากพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเป็นดอนสูงกว่าหมู่บ้านอื่น จึงเรียกว่าบ้านดอน (ชาวบ้านเรียกพื้นที่ยกสูง ว่า “ดอน”) บ้านดอนแต่เดิมชาวบ้านตั้งรกรากบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจายประมาณ 20 ถึง 30 หลังคาเรือน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านดอนชัย” มาจนถึงปัจจุบัน


วัดดอนชัย, พระธาตุจอมมุนีศรีดอนชัย

ดอนชัย
หมู่ 5
แม่สา
แม่ริม
เชียงใหม่
50180
18.90108326
98.95406932
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สา

หมู่บ้านดอนชัยสมัยก่อนคนในชุมชนเรียกว่า บ้านดอน เนื่องจากพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเป็นดอนสูงกว่าหมู่บ้านอื่น  จึงเรียกว่าบ้านดอน (ชาวบ้านเรียกพื้นที่ยกสูงว่า ดอน) บ้านดอนแต่เดิมชาวบ้านตั้งรกรากบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจายประมาณ 20 ถึง 30 หลังคาเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ป่าละเมาะ คนในชุมชนทุกคนนับถือศาสนาพุทธ แต่ก่อนยังไม่มีการสร้างวัด มีแต่การสร้างสำนักสงฆ์ให้คนในชุมชนเคารพบูชา ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีการก่อตั้งวัดดอนชัยด้วยความเคารพศรัทธาของชาวบ้านดอนชัย ต่อมาชื่อหมู่บ้านจึงถูกเปลี่ยนตามชื่อวัดมาจนถึงปัจจุบัน บ้านดอนชัย หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เดิมทีไม่ได้ชื่อหมู่บ้านดอนชัย เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกับ หมู่ที่ 1 บ้านศรีบุญเรือง ตำบลแม่สา อยู่ในเขตสุขาภิบาลอำเภอแม่ริม เมื่อปี พ.ศ. 2518 ได้แยกจาก หมู่ที่ 1 บ้านศรีบุญเรือง มาเป็นหมู่ที่ 5 บ้านดอนชัย ระหว่างนี้หมู่บ้านดอนชัยไม่ได้ปกครองโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สา แต่เมื่อปี พ.ศ. 2541 มีการจัดระบบบริหารแบบใหม่ บ้านดอนชัย จึงได้ย้ายมาอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาจนถึงปัจจุบัน 

บ้านดอนชัยมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอน มีลำเหมืองไหลผ่านหมู่บ้านทำให้มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี แต่เมื่อปี พ.ศ. 2534 ชาวบ้านได้ขายที่ดินให้แก่นายทุนเพื่อทำสนามกอล์ฟกรีนวัลเล่ย์ และลำเหมืองที่เคยอยู่บริเวณสนามกอล์ฟถูกถมไป ส่งผลให้ชุมชนมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ จึงมีการใช้แหล่งน้ำประปาหมู่บ้านจากแหล่งน้ำบริเวณดอนวัด ควบคู่กับน้ำประปาจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สา มีไฟฟ้าบนถนนรอบหมู่บ้าน มีการสร้างศาลากลางหมู่บ้านและลานทำกิจกรรม ไว้ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หมู่บ้านดอนชัยเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมือง มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (ถนนโซตนา) ทอดผ่าน บ้านดอนชัยงอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอแม่ริมอยู่ห่างจากอำเภอแม่ริมประมาณ 2 กิโลเมตร ติดกับทางหลวงหมายเลข107

ทิศเหนือ         ติดกับ หมู่ 1 บ้านศรีบุญเรือง 

ทิศใต้ ติดกับ หมู่ 4 บ้านแม่สาน้อย 

ทิศตะวันออก ติดกับ สนามกอล์ฟกรีนวัลเล่ย์ 

ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 2 บ้านท่าไคร้ 

การคมนาคมสามารถเดินทางได้ด้วยประจำทาง ฝาง-เชียงใหม่ เวลาบริการ 06.15-18.00 น.(ทุก 30 นาที) และรถตู้ เวลาบริการ 07.30-16.30 น. และคนในชุมชนส่วนใหญ่มีรถส่วนตัวจึงไม่มีรถประจำทางผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่เดินทางได้สะดวกสบาย 

หมู่บ้านดอนชัยมีประชากรทั้งหมด  760 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เนื่องจากเป็นชุมชนกึ่งเมือง ทำให้ประชากรมีการปะปนกันระหว่างกลุ่มคนในพื้นที่เดิม และคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาทำงานและพักอาศัยในพื้นที่ ประชาชนกลุ่มดั้งเดิมส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่เป็นครอบครัวขยาย ส่วนประชาชนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่มักจะอาศัยอยู่ในหอพัก บ้านเช่า หรืออาคารพาณิชย์เพื่อประกอบอาชีพค้าขายหรือทำธุรกิจอื่นๆ ประชาชนดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองล้านนา ส่วนประชาชนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่จะมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพรรณ

ผู้คนในชุมชนบ้านดอนชัย มีการรวมกลุ่มของกลุ่มคนในพื้นที่ เพื่อประสานความร่วมมือในการทำประโยชน์แก่ชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านแม่ดอนชัย มีกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการทั้งหมดอยู่ 6 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน จัดตั้งขึ้นจากการการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้าน ที่จะทำหน้าที่ตัดสินใจแทน หรือนำความคิดเห็นของสมาชิกในองค์กรของตนเองมายังที่ประชุมของหมู่บ้าน เพื่อค้นหาปัญหาของชุมชน และร่วมกันแก้ปัญหา รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญมากยิ่งขึ้น และยังถือเป็นสื่อกลางในการกระจายอำนาจของรัฐไปสู่ประชาชน ทำให้คนในชุมชนได้รับบริการของรัฐอย่างทั่วถึง

2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  เป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของสาธารณสุขสู่ชุมชน เป็นตัวแทนของประชาชนในชุมชนในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อผลประโยชน์ทางด้านสุขภาพของคนในชุมชน มีการจัดกลุ่มเยี่ยมบ้าน ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและกลุ่มเสี่ยงรวมไปถึงผู้สูงอายุและเด็ก ให้บริการด้านสาธารณสุขเบื้องต้นแก่ประชาชน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การตรวจคัดกรองเบื้องต้นคือการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจปัสสาวะ การให้สุขศึกษา รวมทั้งการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับการส่งต่อมาจากสถานบริการ เป็นต้น

3. กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ เป็นการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรมเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างผู้สูงอายุกับคนรุ่นหลัง มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีพไปยังสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปและคนรุ่นใหม่ในชุมชน

4. กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีบทบาทหน้าที่ในการรวมกลุ่มกันของสตรีภายในชุมชนเพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะด้านอาชีพให้แก่แม่บ้านและประชาชนที่สนใจ สร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพเป็นการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน และส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว มีการรวมกลุ่มกันในการฝึกทักษะอาชีพแก่สตรีและประชาชนที่สนใจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

5. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน คือกลุ่มที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาบริหารจัดการแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน สำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ นำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน ตลอดจนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง และส่งเสริมการออมทรัพย์ด้วยวิธีการถือหุ้น การฝากเงินสัจจะและเงินรับฝาก

6. กลุ่มหนุ่มสาว เป็นการรวมกลุ่มกันของวัยรุ่นในชุมชน เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมของหมู่บ้าน เช่น การเข้าร่วมงานประเพณีในเทศกาลสำคัญต่างๆ ตลอดจนเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับหมู่บ้านและตำบล

ในรอบปีประชาชนของหมู่บ้านดอนชัยมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

ประเพณียี่เป็งหรือวันลอยกระทง จะจัดในช่วงเพือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยองค์การบริการส่วนตำบลแม่สาเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ และเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้เคยล่วงเกินแม่น้ำ คนในชุมชนจะเข้าร่วมกิจกรรม และเข้าร่วมการแข่งขันการทำกระทงเล็ก และการทำซุ้มประตูป่า เป็นต้น ในช่วงกลางคืนจะมีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ และยังเชื่อว่า เป็นการลอยเคราะห์ ทำให้ประสบพบเจอแต่สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต

ประเพณีการดำหัวผู้สูงอายุ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันปี๋ใหม่เมือง หรือวันสงการต์ ในวันนี้คนในชุมชนที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นจะกลับบ้านมาบ้านเพื่อพบปะครอบครัว และมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เพื่อแสดงความเคารพแก่ผู้ที่อาวุโสมากกว่า และถือเป็นศิริมลคลแก่ชีวิตของคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

ประเพณีสืบชะตา เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวล้านนา เพราะมีความเชื่อว่า หากทำพิธีนี้ จะเป็นการต่ออายุให้ยืนยาว หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยขจัดภัยอันตรายต่างๆที่จะเข้ามาในชีวิต ทำให้มีแต่ความสุข ความเจริญ ตลอดปี

ว่าที่ร้อยตรีสิทธิเดช จิตโรภาส ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย หมู่ที่ 5 ในปี พ.ศ.2551 คุณสิทธิเดชได้รับเลือกจากพี่น้องประชาชนให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เป็นครั้งแรกของครอบครัวที่มีสมาชิกทำงานด้านองค์กรของชุมชน จึงทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองอย่างมาก ถือว่าเป็นรางวัลของชีวิตที่ได้มาทำหน้าที่เพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดิน คุรสิทธิเดชยึดหลักการในการบริหารจัดการในการทำงาน โดยเชื่อว่าการใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานไม่ด่วนตัดสินใจด้วยตัวเอง จะทำให้การบริหารคนเป็นปอย่างเรียบร้อย เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องจัดขึ้นในชุมชนคุณสิทธิเดชจะเปิดโอกาสให้สมาชิกและชาวบ้านช่วยออกความคิดเห็นอย่างเต็มที่ มีการแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของแต่ละคน เช่น คนที่พูดเก่งก็จะให้ดูแลเรื่องประชาสัมพันธ์ คุณสิทธิเดชจะใช้หลังที่ว่า “รวดเร็วและทันที” โดยเมื่อชาวบ้านมีปัญหามาแจ้งก็จะหาวิธีการช่วยแก้ปัญหาให้คลี่คลาย เมื่อมีข่าวประชาสัมพันธ์จากรัฐบาลจะรีบแจ้งชาวบ้านโดยเร็วเพื่อให้ชาวบ้านรู้ข่าวสารอย่างทันถ่วงที

วัดดอนชัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  พ.ศ. 2517 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ วิหาร ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน  และพระพุทธรูปทองเหลือง

ภาษาเมือง (ล้านนา) เป็นภาษาดังเดิมของคนล้านนา มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน (ตั๋วเมือง) แต่ภาษาเขียนได้ถูกลืมเลือนไปและไม่เป็นที่นิยมใช้ในคนสมัยปัจจุบัน มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเท่านั้นที่สามารถเขียนตั๋วเมืองได้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิพงศ์ สมตัว และคณะ. (2560). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน วิชาปฏิบัติการพยาบาลครอบครัวชุมชน 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 : กรณีศึกษาบ้านดอนชัย หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สา  อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.

Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านดอนชัย (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps/@18.904692,98.9489128,41m/data=!3m1!1e3