วัดสว่างบรรเทิง
ชุมชนบ้านวารีธรรม หมู่ 6 เป็นหมู่บ้านใหม่ที่แยกออกมาจากบ้านแม่สาน้อย หมู่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2543 เนื่องจากมีการตัดถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ผ่านหมู่บ้านทำให้พื้นที่บ้านแม่สาน้อยถูกแยกเป็นสองส่วน ประกอบกับหมู่บ้านแม่สาน้อย มีขนาดใหญ่ คนในหมู่บ้านเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านท้องฝาย” เนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มฝายกั้นน้ำ ต่อมาหมู่บ้านได้ประสบอุทกภัยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ทรัพย์สินของประชาชนเสียหายเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในหมู่บ้าน จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน“วารีธรรม”อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนใหญ่ ยังนิยมเรียกกันติดปากว่า บ้านท้องฝาย
วัดสว่างบรรเทิง
ตำบลแม่สาเป็นชุมชนใหญ่มาแต่โบราณ ซึ่งหมู่บ้านแม่สาน้อย เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลแม่สา ในอดีตพื้นที่บ้านแม่สาน้อยเป็นป่ารกเต็มไปด้วยต้นไม้ โดยเฉพาะต้นสา ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2504 พ่อขุนบรรเทิงได้มีการจัดสรรที่ดินให้คนมาอยู่อาศัย มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน สมัยก่อนนั้นไม่มีไฟฟ้าและถนนลาดยาง คนสมัยก่อนมีอาชีพ ทำไร่ ทำนา และมีการทำถนนลูกรังขึ้นครั้งแรกในปี พุทธศักราช 2507 ต่อมามีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านปี พุทธศักราช 2510 และหลังจากนั้นก็มีประชากรหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มขึ้น จึงทำให่มีความเปลี่ยนแปลง จึงมีเจ้าหน้าที่ได้แบ่งโซนของพื้นที่เป็นพื้นที่ของทหาร ซึ่งในปัจจุบันเป็นพื้นที่กองการสัตว์และเกษตรกรรมทหารบกที่ 3 ในพื้นที่ตำบลแม่สา มีแม่น้ำแม่สาเป็นแม่น้ำสายหลักของหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านวารีธรรม หมู่ 6 เดิมเป็นพื้นที่ของบ้านแม่สาน้อย แต่ภายหลังมีถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ตัดผ่านหมู่บ้านทำให้พื้นที่บ้านแม่สาน้อยถูกแยกเป็นสองส่วน ประกอบกับหมู่บ้านแม่สาน้อย หมู่ 4 มีขนาดใหญ่ ดังนั้นในปี พุทธศักราช 2543 ประชาชนในพื้นที่ จึงได้ขอแยกหมู่บ้านใหม่เป็น “หมู่บ้านท้องฝาย” หมู่ที่ 6 ซึ่งเป็นชื่อที่ได้มาจากการอาศัยใกล้ฝายกั้นน้ำ ต่อมาหมู่บ้านท้องฝายเคยประสบอุทกภัยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ทรัพย์สินของราษฎรเสียหายมาก ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในหมู่บ้าน ต่อมาในปี พุทธศักราช 2546 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน“วารีธรรม”อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนใหญ่ ยังนิยมเรียกกันติดปากว่า บ้านท้องฝาย โดยมีนางอัมพร ไชยชนะ ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ตั้งแต่พุทธศักราช 2543 ถึงพุทธศักราช 2547
หมู่บ้านวารีธรรมมีลักษณะเป็นที่ราบ สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำแม่สา ซึ่งไหลผ่านโดยรอบและภายในหมู่บ้าน
ที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตเทศบาล ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
การเดินทางมายังบ้านวารีธรรม หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สา สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 โดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถระจำทางสายเชียงใหม่-แม่ริม ซึ่งก่อนจะมาถึงยังทางเข้าหมู่บ้านจะพบวัดที่อยู่ในเขตหมู่บ้านคือ วัดสว่างบันเทิง โดยวัดนี้เป็นวัดที่มีประชาชนหมู่ที่ 4 บ้านแม่สาน้อยและหมู่ 6 บ้านวารีธรรมมาทำบุญเป็นประจำ ซึ่งร่วมกันดูแลและรับผิดชอบวัดนี้ร่วมกัน และจากวัดสว่างบันเทิงเมื่อเดินทางมาอีกประมาณ 500 เมตร จะพบสะพานข้ามลำห้วยแม่สา เมื่อเดินทางมาอีกประมาณ5 เมตร จะพบทางเข้าหมู่บ้านที่อยู่ด้านซ้ายมือ มี ถนนทางเข้าหมู่บ้านนี้เป็นถนนสายหลักภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นถนนลาดยางที่มีความคดเคี้ยวตามลำคลองด้านซ้ายมือที่เลียบกับถนนไปตลอดทาง หากสังเกตสองข้างทางจะมีบ้านเรือนของประชาชนอยู่เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะบ้านเรือนจะเป็นบ้านปูนชั้นเดียว บริเวณซอย 2 จะมีศาลากลางหมู่บ้านชื่อ ศาลาราษฎรร่วมใจ ซึ่งเป็นที่สำหรับอ่านหนังสือพิมพ์และมีหนังสือพิมพ์รายวันมาส่งทุกวัน อีกทั้งศาลานี้ยังเป็นสถานที่สำหรับขายของชำของหมู่บ้าน ถัดจากศาลากลางหมู่บ้านไปจะพบทางโค้ง ซึ่งหากไปทางขวามือเมื่อข้ามสะพานไปจะเป็นซอย 3 เมื่อเข้าไปในซอย 3 ประมาณ 50 เมตร จะพบศาลเจ้าอยู่ซ้ายมือถัดไปจะเป็นศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งศาลานี้เป็นที่สำหรับทำน้ำพริกลาบของกลุ่มสร้างอาชีพของหมู่บ้าน ตามเส้นทางถนนจะพบว่าสองข้างทางจะเป็นพื้นที่นาของชาวบ้าน ซึ่งเป็นของชาวบ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 2 และของบริษัทที่มาซื้อที่ดินไว้ แต่ก็ยังให้ประชาชนสามารถทำนาได้ โดยถนนสายนี้จะเป็นถนนสายเชื่อมไปยังหมู่บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 2 ได้และหากผ่านทางหมู่บ้านท่าไคร้ไปก็จะสามารถออกสู่ถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 ได้เช่นกัน โดยพื้นที่ทั้งหมดในเขตของหมู่บ้านจะครอบคลุมพื้นที่ในเขตของค่ายทหารด้วย แต่บ้านเรือนในเขตทหารจะเป็นบ้านลักษณะของบ้านพักข้าราชการทหารในค่าย ที่พักเป็นครอบครัวและมีการหมุนเวียนย้ายเข้า-ออกเป็นประจำ ในเขตการปกครองของทหารจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปกครองของท้องถิ่นโดยตรงเพราะผู้ที่พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นทหารในค่ายทหารและจะมีบางครั้งที่จะประสานงานให้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนเข้าไปช่วยตรวจสอบในเรื่องของอนามัยร้านค้า เป็นต้น
หมู่ 6 บ้านวารีธรรม มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 170 หลังคาเรือน รวมถึงประชากรที่อาศัยอยู่ในกรมการสัตว์ทหารบกและเกษตรกรรมที่ 3 หากไม่นับรวมประชากรที่อาศัยอยู่ในกรมการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 จะมีจำนวนหลังคาเรือน ทั้งหมด 94 หลังคาเรือน อาชีพหลักของประชากรในหมู่บ้านวารีธรรม คือ รับจ้างทั่วไป รองลงมาคือ ข้าราชการ ส่วนรายได้ของประชากร ส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ในช่วง 2,500 – 17,500บาท/เดือน ประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมืองล้านนา ซึ่งอยู่อาศัยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ วิถีชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านท้องฝาย ยังคงเป็นวิถีชีวิตแบบชนบทกึ่งเมือง ประชาชนส่วนมากจะเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ และจะแต่งงานกับคนในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีความรู้จักสนิทสนมกันระหว่างครอบครัว เครือญาติ เมื่อแต่งงาน ทางพ่อและแม่จะให้สร้างเรือนไว้ในรั้วเดียวกัน พึ่งพาอาศัยกัน และหากสร้างรั้วกั้นก็จะมีประตูเพื่อเป็นทางในการเดินไปมาหาสู่กันได้
ผู้คนในชุมชนบ้านวารีธรรม มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 8 กลุ่มได้แก่
1. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน มีสมาชิกทั้งหมด 22 คน มีบทบาทในการประสานงานระหว่างองค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆทั้งภายในและภายนอกชุมชน เป็นผู้นำในหมู่บ้านเพื่อดูแลให้สมาชิกในชุมชนปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อตกลงในชุมชน ตลอดจนเป็นคนประสานแจ้งข่าวสารทางราชการให้ประชาชนในชุมชนทราบ ดูแลรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนในชุมชน จัดประชุมในหมู่บ้านและนำเสนอโครงการต่างๆ ของหมู่บ้านแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อของบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของหมู่บ้าน ตลอดจนดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน
2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีสมาชิกทั้งหมด 16 คน จะแบ่งหน้าที่พื้นที่ที่รับผิดชอบในการดูแลเปรียบเสมือนหมอประจำบ้าน โดย อสม. 1 คนจะรับผิดชอบครัวเรือนประมาณ 7-15 ครัวเรือน ทำหน้าที่ทั้งสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของประชากร การให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ พร้อมทั้งช่วยคัดกรองโรคต่าง ๆ ช่วยแนะนำการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานและให้ความรู้ คำแนะนำเรื่องสุขภาพเป็นการแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพสต. เป็นแกนนำในเรื่องการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย เป็นผู้นำของคนในชุมชน ในการพาชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมทางสุขภาพกับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านแม่สาหลวงและหมู่บ้านของตน
3. กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีสมาชิกทั้งหมด 20 คน มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมอาชีพสตรีในหมู่บ้าน มีการรวมกลุ่มกันทำการผลิตพริกลาบ, น้ำพริกตาแดง ผลิตออกขายในหมู่บ้านและออกขายในตลาด และส่งออกตามหมู่บ้านที่ต้องการเป็นของฝาก หรือเป็นสินค้าที่นำไปใช้ในงานต่างๆ
4. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน มีสมาชิกทั้งหมด 10 คน มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการกองทุนเงินกู้ ของสมาชิกภายในหมู่บ้าน และทำบัญชีจัดสรรผลประโยชน์ของกองทุนและกระจายรายของชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการออมเงินของสมาชิกในชุมชน
5. กลุ่มเยาวชน มีบาบาทสำคัญในการรวมตัวกันของกลุ่มหนุ่มสาวในชุมชน เพื่อจัดกิจกรรมในการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหายาเสพติด ค้นหาและให้การช่วยเหลือผู้เสพหรือผู้ติดยา รณรงค์เผยแพร่ความรู้ เรื่องภัยของผู้เสพยาเสพติด และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆทั้งในและนอกชุมชนที่เกี่ยวข้อง
6. กลุ่มอาสาป้องกันพลเรือน (อปพร.) มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 12 คน ทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลความเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในชุมชน อำนวยความสะดวกในการการเป็นจราจรเมื่อมีงานหรือเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในชุมชน ตลอดจนช่วยเหลืองานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์กรของภาครัฐ ในการป้องกันอาชญากรรมต่างๆ ในชุมชน
7. กลุ่มผู้สูงอายุ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในชุมชน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆของผู้สูงอายุสู่คนรุ่นหลังในชุมชน มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง
8. กลุ่มประปาหมู่บ้าน มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตและการจำหน่ายน้ำประปา การติดตั้งประปา การจดมาตรวัดน้ำ การควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับการงบประมาณรายได้ รายจ่าย การบัญชี พัสดุ การวางแผนปรับปรุงในข้อบกพร่องต่างๆ ของการประปา
ในรอบปีประชาชนของหมู่บ้านวารีธรรมมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี เพื่อกราบไหว้ผีบรรพบุรุษ และยังถือเป็นการรวมตัวกันของหมู่เครือญาติ จะมีการจัดอาหารคาวหวานไปถวายให้แก่ดวงวิญญาณของญาติในตระกูลที่ล่วงลับไปแล้ว ณ หิ้งผีปู่ย่าหรือหอผี ชาวล้านนามีความเชื่อว่าเป็นบอกกล่าวให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมาปกปักษ์รักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข
ประเพณีปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย ทางล้านนาเรียกว่า “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” เป็นวันที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวมารวมตัวกันและมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ พบปะสังสรรค์ เป็นต้น ซึ่งวันแรกคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขารล่อง” คือวันที่สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะมีการยิงปืน จุดประทัดเพื่อเป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่างๆ และในวันนี้ชาวบ้านก็จะถือโอกาสทำความสะอาดบ้านเรือน ในวันที่14 เมษายน เรียกว่า “วันเนาหรือวันเน่า” เป็นวันสำคัญและเป็นวันมงคลแก่ชีวิต ในวันนี้จะไม่ทำการใดที่ไม่เป็นมงคล เช่น การพูดจาหยาบคาย พูดจาให้ร้าย พูดโกหก เป็นต้น และในวันนี้แต่ละครอบครัวจะทำอาหารคาวและอาหารหวานเตรียมไว้สำหรับไปทำบุญตักบาตรในวันต่อไป ในช่วงบ่ายของวันจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยเชื่อกันว่า เมื่อเราไปวัดทรายจะติดเท้าออกมา การขนทรายเข้าวัดจึงเป็นการนำทรายกลับไปคืนวัด วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน” จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เป็นการขอขมาลาโทษผู้ที่อาวุโสกว่า และในตอนเช้าตรู่จะมีการนำอาหารคาวหวาน ที่เตรียมไว้ไปถวายพระที่วัด เรียกว่า “ตานขันข้าว” เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังมีการนำตุงไปถวายวัดหรือเรียกว่าการตานตุง โดยการถวายตุงนี้เชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะพ้นจากขุมนรก และในวันนี้จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ประเพณีรดน้ำดำหัว แห่ไม้ก้ำ จะจัดขึ้นพร้อมกับเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 15 เมษายน จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เป็นการขอขมาลาโทษผู้ที่อาวุโสกว่า และในวันที่ 16 เมษายน จะมีการแห่ไม้ก้ำ (การแห่ไม้ค้ำสรี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์) อันหมายถึง พระศรีมหาโพธิ์ เป็นพิธีกรรมที่ขยายจากการที่ปัจเจกชนนำไม้ค้ำที่ตนได้จัดทำขึ้นไปค้ำที่ต้นโพธิ์ ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชะตาหรือไม้ค้ำที่จัดหาขึ้นเป็นพิเศษ นำไปเข้าพิธีสืบชะตา เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ มีความเชื่อว่าผู้นั้นจะมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา และเป็นการค้ำชูหนุนนำชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น
บวชภาคฤดูร้อน จะจัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ เป็นการสร้างเยาวชนให้เป็นผู้ที่เพียบพร้อม ด้วยความรู้คู่คุณธรรม เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานในสังคมไทย เพื่อให้เยาวชนเป็นผู้มีกาย วาจา และจิตใจที่ดีงาม ตามแนวทางคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถนำหลักธรรมที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนปฏิบัติด้วยดีนั้น ไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตสืบต่อไป
นางทัศนีย์ พรมเมือง เป็นผู้ที่ประชาชนในหมู่บ้านให้การยอมรับนับถือ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ เสียสละ และซื่อสัตย์ คุณทัศนีย์เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนอยู่เสมอ คุณทัศนีย์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 เท่านั้น แต่คุณทัศนีย์ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอื่นอีกหลายด้านซึ่งเป็นผู้นำของหมู่บ้าน พื้นเพเดิมของคุณทัศนีย์เป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ได้ย้ายติดตามสามีซึ่งรับราชการทหารมาอยู่ในพื้นที่บ้านวารีธรรม คุณทัศนีย์ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนเริ่มเมื่อมาอยู่หมู่ 6 บ้านวารีธรรม โดยเริ่มเป็น อสม. ของหมู่ 6 ในปี พ.ศ. 2547 และเป็นกรรมการกองทุนออมทรัพย์ท้องฝายพัฒนา ปี พ.ศ. 2552 จากนั้นคุณทัศนีย์ได้รับการถูกเลือกให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คุณทัศนีย์เล่าว่าในตอนนั้นคิดว่า “ในเมื่อเรามาอาศัยอยู่ในพื้นที่หรือหมู่บ้านเขา เราก็ควรทำประโยชน์แก่เขาและป้าก็เต็มใจในการทำหน้าที่ ตั้งแต่ได้รับการคัดเลือกป้าได้ทำงานและประสานงานต่างๆทั้งภายในและภายนอกองค์กร และหากมีงบประมาณหรือโครงการต่างๆ เข้ามาในพื้นที่หมู่ 6 ป้าทัศนีย์ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและดูแลรวมทั้งควบคุมติดตามงาน ป้าทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน” นอกจากนี้คุณทัศนีย์ยังเป็นประธานกลุ่มพัฒนาบทบาทสตรี ในปี พ.ศ. 2558 เป็นอพปร ลูกเสือชาวบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน และเป็นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลแม่สามาตลอด การใช้ชีวิตประจำวันของคุณทัศนีย์นั้นจะยึดคติประจำใจว่า “อดีตอย่าไปจำ ทำวันข้างหน้าให้ดีกว่าเก่า ” และทุกวันนี้ที่ได้ทำงานเพื่อหมู่บ้านเป็น อสม. และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจที่ได้ช่วยเหลือหมู่บ้านของตนเอง อยากให้ชาวบ้านมีความสามัคคีกันและร่วมกันทำให้หมู่บ้านเข้มแข็ง
ทุนวัฒนธรรม
วัดสว่างบรรเทิง เป็นวัดที่ประชาชนจากทั้งสองหมู่บ้านเป็นคณะศรัทธา คือบ้านแม่สาน้อยและบ้านวารีธรรม เดิมประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านมีจำนวนน้อยและนับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน เมื่อถึงเทศกาลทำบุญและพิธีกรรมต่างๆ ก็พากันไปร่วมกับวัดอื่นที่ตนศรัทธา พอถึงช่วงฤดูฝนกลางพรรษาการเดินทางไปวัดต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต่อมาประชาชนในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงได้ร่วมกันจัดสร้างวัดตรงบริเวณบนเนินเล็กๆ มีต้นไม้ขึ้นโดยรอบและอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านให้ชื่อว่า “วัดแม่สาน้อย” เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจและเป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนวัดแม่สาน้อยเมื่อ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ 2385 โดยมีครูบาคำปัน เจ้าคณะตำบลท่าไคร้ เป็นเจ้าอาวาสและได้รับการอุปถัมภ์จากคณะศรัทธาในหมู่บ้านโดยนำโดย พ่อขุนบันเทิง กำนันตำบลท่าไคร้ได้พัฒนาก่อสร้าง ถาวรวัตถุ กุฏิ วิหาร ศาลาเป็นต้น มีความเจริญขึ้นตามลำดับ ประมาณ พ.ศ. 2484 ทางรัฐบาลต้องการให้วัดและสถานที่ต่างๆเปลี่ยนชื่อใหม่ตามสมัยรัฐนิยม ทางท่านพระครูอุดมวุฒิ เจ้าคณะอำเภอแม่ริม ได้ตั้งชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดสว่างบรรเทิง” โดยเอาชื่อฉายาของท่านครูบาเจ้าคำปัน คือแปลว่าผู้มีปัญญาเป็นสาระ ปัญญานี้ย่อมทำลายความมืดบอดของจิตใจให้เกิดความสว่างไสวสว่าง นำมาสมาสกับนามของกำนัน คือพ่อขุนบันเทิง จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดแม่สาน้อย เป็นวัดสว่างบรรเทิง และเปลี่ยนชื่อตำบลท่าไคร้เป็นตำบลแม่สามาถึงปัจจุบันนี้ ปัจจุบันวัดสว่างบันเทิง มีพื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา วัดสว่างบรรเทิงเป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน
ภาษาเมือง (ล้านนา) เป็นภาษาดังเดิมของคนล้านนา มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน (ตั๋วเมือง) แต่ภาษาเขียนได้ถูกลืมเลือนไปและไม่เป็นที่นิยมใช้ในคนสมัยปัจจุบัน มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเท่านั้นที่สามารถเขียนตั๋วเมืองได้
ชัญญานุช ทัตชัย และคณะ. (2560). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน วิชาปฏิบัติการพยาบาลครอบครัวชุมชน 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 : กรณีศึกษาบ้านวารีธรรม หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านศรีวารีธรรม (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps/search