Advance search

ลิ้นจี่แม่ใจ ไหล่ยก อกตั้ง หนามหด ก้นป่าน หอม หวานอมเปี้ยว สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GIS กรมทรัพย์สินทางปัญญา

หมู่ที่ 6
บ้านทุ่งป่าข่า
ศรีถ้อย
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
24 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
1 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
20 พ.ค. 2023
บ้านทุ่งป่าข่า

การตั้งถิ่นฐานในอดีต บริเวณหมู่บ้านยังเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์  ส่วนใหญ่ในป่านั้นจะมีต้นข่าซึ่งเป็นพืชล้มลุกมีมากกว่าพรรณไม้อื่น ๆ และผู้คนส่วนใหญ่ที่อพยพกันมามีความถนัดในการทำนา ปลูกข้าว เป็นอาชีพหลัก จึงได้บุกเบิกพื้นที่ทุ่งนา และตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านทุ่งป่าข่า


ลิ้นจี่แม่ใจ ไหล่ยก อกตั้ง หนามหด ก้นป่าน หอม หวานอมเปี้ยว สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GIS กรมทรัพย์สินทางปัญญา

บ้านทุ่งป่าข่า
หมู่ที่ 6
ศรีถ้อย
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.3571154
99.77800637
เทศบาลตำบลศรีถ้อย

บ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เท่าที่สอบถามความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ ในหมู่บ้านทราบว่า เริ่มแรกได้หนีความแห้งแล้งมาจากจังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่ เพราะเป็นเครือญาติกัน ในสมัยนั้นต้องเดินเท้าเป็นเวลาแรมเดือน เนื่องจากไม่มียานพาหนะ โดยอาศัยอยู่ด้วยกันไม่กี่ครอบครัวและตอนนั้นยังเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ในป่านั้นจะมีต้นข่าซึ่งเป็นพืชล้มลุกมีมากกว่าพรรณไม้อื่น ๆ และผู้คนส่วนใหญ่ที่อพยพกันมามีความถนัดในการทำนา ปลูกข้าว เป็นอาชีพหลัก จึงได้บุกเบิกพื้นที่ทุ่งนา และตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านทุ่งป่าข่า ในสมัยนั้นพื้นที่แห่งนี้ยังอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และชาวบ้านได้แต่งตั้งให้ท้าวขุนศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ของหมู่บ้านทุ่งป่าข่า

รายชื่อผู้ใหญ่บ้าน จากอดีตถึงปัจจุบัน

1. ท้าวขุนศรี (ยังไม่มีนามสกุล)    พ.ศ. 2356-2395    จำนวน 40 ปี
2. นายก๋า ได้นามสกุล ละดาวัลย์    พ.ศ. 2395-2435    จำนวน 40 ปี
3. นายคำตั๋น ได้นามสกุล อุทธโยธา    พ.ศ. 2435-2477    จำนวน 42 ปี
4. นายหวัน เมืองมูล    พ.ศ. 2477-2487    จำนวน 10 ปี
5. นายมา เวียงนาค    พ.ศ. 2487-2513    จำนวน 26 ปี
6. นายแก้ว อสุพล    พ.ศ. 2513-2518    จำนวน 5 ปี
7. นายโพธิ์ ชัยก๋า    พ.ศ. 2518-2518    จำนวน 1 ปี
8. นายแก้ว อสุพล    พ.ศ. 2518-2526    จำนวน 8 ปี
9. นายอินจันทร์ ภาชนนท์    พ.ศ. 2526-2528    จำนวน 2 ปี
10. นายศรีนวล อสุพล    พ.ศ. 2528-2533    จำนวน 5 ปี
11. นายคำอ้าย ธิลาใจ    พ.ศ. 2533 -2535    จำนวน 2 ปี
12. นายปี๋ ยาวิราช    พ.ศ. 2535-2540    จำนวน 5 ปี
13. นายอินโพธิ์ พวรรณา    พ.ศ. 2540-2545    จำนวน 5 ปี
14. นายเป็ง เมืองมูล    พ.ศ. 2545-2550    จำนวน 5 ปี
15. นายเรือง อภิวงค์    พ.ศ. 2550-2555    จำนวน 5 ปี
16. นายสถาน ปากันสุข    พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์

พ.ศ. 2356 ได้มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือท้าวขุน ยังไม่มีนามสกุล

พ.ศ. 2395 ได้มีการทำนา ทำไร่ เพาะปลูก เพื่อหาเลี้ยงชีพ การประกอบอาหารจะใช้เตาแบบสมัยเก่าโดยนำแผ่นไม้มาก่อเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วนำดินมาเทไว้ตรงกลาง ต่อมานำก้อนอิฐ 3 ก้อนมาก่อไว้ตรงกลางและตั้งหม้อได้เลย นำฟืนใส่ใต้หม้อ 2 ทางคือทางใส่ฟืน เหลืออีก 1 ทางก็เป็นทางที่นำขี้เถ้าออกมา หลังจากนั้นจะมีการเก็บขี้เถ้าเพื่อนำมาใช้สระผม ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีสบู่และแชมพู ชาวบ้านในสมัยนั้นจะใช้ขี้เถ้า ใบต้นหมี่ ลูกส้าน มาใช้ในการสระผม และนำขี้เถ้า ลูกส้าน มาใช้ซักผ้าโดยซักโดยใช้มือ รวมไปถึงการนำผ้ามาวางไว้กับหินแล้วใช้ไม้ทุบเพื่อให้ผ้าสะอาดมากขึ้น รวมไปถึงห้องน้ำที่ใช้ในการขับถ่ายอุจจาระ โดยชาวบ้านจะขุดหลุมแล้วนำแผ่นไม้มาพาดและขับถ่ายอุจจาระลงบริเวณหลุมดินที่ขุดไว้ และใช้ไม้มาหั่นเป็นกลีบเล็ก ๆ ในการเช็ดทำความสะอาด ภายในหมู่บ้านจะมีต้นน้ำที่มาจากปางปูเลาะไหลลงมา และมีการขุดบ่อน้ำเป็นหลุมดินมีความลึกพอประมาณเพื่อรองเอาน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยดื่มและใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้ซึ่งบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้านจะมีการขุดบ่อน้ำเอาไว้ใช้ทุกหลัง

การเดินทางในยุคสมัยนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ถนนเป็นถนนลูกรัง หน้าฝนก็จะกลายเป็นโคลนตม พาหนะที่ใช้คือเกวียนโดยมีวัวหรือควายลากแต่จะมีในผู้ที่พอมีฐานะและการเดินเท้าสำหรับคนทั่วไป เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นกับคนภายในหมู่บ้าน หากบ้านไหนมีเกวียนก็จะใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางไปยังโรงพยาบาลพะเยา (รพ.พะเยาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2500) ในหมู่บ้าน มีหมอตำแยเพื่อทำการทำคลอดให้กับหญิงตั้งครรภ์ภายในหมู่บ้านและหมอตำแยจะมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยหมอตำแยจะใช้ไม้ผิว (ไม้บง,ไม้ซา) เหลาบาง ๆ ซึ่งจะมีความคมแทนกรรไกรมาตัดสายสะดือทารกในสมัยนั้น

วัดได้มีการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กวัยเรียนในสมัยนั้น โดยใช้กระดาษสาที่ทำขึ้นมาเองจากวิธีการต้ม และใช้หญ้าหมึก นำมาแทนปากกาหมึกซึมในการเขียน ต่อมาได้มีการนำไม้มาตัดเป็นแผ่นไม้เป็นแป้น แล้วนำก้อนหินที่หามาได้จากลำห้วยมาเหลาแหลม ๆ และใช้เขียน ซึ่งคล้าย ๆ กับการใช้กระดานดำและชอล์คในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีชุดนักเรียน ชาวบ้านจึงได้นำต้นปอมาตัดเป็นแผ่นบาง ๆ ให้พอดีกับเท้า และได้นำใบปอมาพันเป็นสายและเจาะรูแป้นต้นปอ และนำใบปอมามัดใส่ ทำเป็นรองเท้า เหตุผลที่นำต้นปอมาทำเป็นรองเท้าเนื่องจากมีน้ำหนักเบา

พ.ศ. 2478 ก่อตั้งโรงเรียนบ้านทุ่งป่าข่า ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 114 หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ 10 ไร่ 41 ตารางวา เปิดรับนักเรียนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2482 โดยนายมา เวียงนาคและนายปัญญา จันทร์ขอด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 และ 6 ตามลำดับ โดยมีนายอรุณ ลือโขง ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก ชาวบ้านร่วมกันบริจาคทรัพย์สินเพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นหนึ่งหลัง เปิดทำการสอนครั้งแรกตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านทุ่งป่าข่า จัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

พ.ศ. 2487 การหาเลี้ยงชีพยังคงมีการทำไร่ ทำสวนผลไม้ และยังคงทำนาโดยใช้ควายไถนา รวมไปถึงการหาหอย ปูและปลาตามบริเวณแหล่งน้ำเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารเช่นเดียวกันกับก่อนหน้านี้ ซึ่งสมัยก่อนบริเวณภายในหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่โล่ง ๆ มีบ้านอยู่ 3 หลัง ชาวบ้านจะมีอาชีพปลูกหอม ทำนา ต่างคนต่างปลูก ใช้เวลาวันเดียวก็แล้วเสร็จ เพราะมีนาข้าวเพียงไม่กี่ไร่และได้ทำการตำข้าวกินเองโดยสมัยนั้นยังไม่มีโรงสี เริ่มจะมีการนำส้วมซึมเข้ามาใช้ภายในหมู่บ้าน

ในเวลาต่อมาได้มีพระธุดงค์มาก่อตั้งวัดบริเวณใกล้ ๆ กับภูเขาชื่อว่า “วัดฝายหิน” และได้ย้ายวัดมาอยู่ใกล้กับหมู่บ้านในปัจจุบัน และมีพระพุทธรูปประจำหมู่บ้านคือ “พระเจ้าฝนแสนห่า” โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าในวันเข้าพรรษาพระพุทธรูปจะเปล่งแสงออกมา และห้ามมิให้ผู้ใดไปทักมิเช่นนั้นแสงก็จะหายไป

แสงสว่างภายในครัวเรือนยามค่ำคืนแต่ละหลัง ได้มาจากการใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดซึ่งใช้จุดให้แสงสว่างในสมัยนั้นก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้ โดยหากบ้านหลังใดพอมีฐานะก็จะใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งน้ำมันก๊าดในสมัยนั้นมีราคาอยู่ที่ 25 สตางค์/ลิตร หาซื้อง่ายและราคาถูก ส่วนตะเกียงเจ้าพายุจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง หรือประมาณ 200 บาทในสมัยนั้น

พ.ศ. 2513 อาจารย์ทองคำ สารถ้อย อาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านทุ่งป่าข่า มีแนวคิดหาพืชเศรษฐกิจมาปลูกในอำเภอแม่ใจ จึงได้มีการนำลิ้นจี่ต้นแรกเข้ามาปลูกในจังหวัดพะเยาและได้ทำการปลูกลิ้นจี่ต้นแรกในบ้านทุ่งป่าข่า ตำบลศรีถ้อย โดยพันธุ์แรกที่นำมาปลูกคือลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย ต่อมาได้มีการนำรถเข้ามาใช้ในหมู่บ้านครั้งแรก เป็นรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ

พ.ศ. 2516 วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านยังดำเนินไปอย่างเป็นปกติ มีการทำสวนต่าง ๆ เช่นลิ้นจี่ ลำไย ฝรั่ง เสาวรส ทำนา เป็นต้น และชาวบ้านได้เริ่มมีการนำเตาถ่านมาใช้ในการประกอบอาหาร

พ.ศ. 2518 ได้มีการนำรถกระบะเข้ามาใช้ภายในหมู่บ้านครั้งแรก จำนวน 2 คัน เพื่อใช้ทางการเกษตรและการเดินทาง

พ.ศ. 2519 ได้มีการก่อตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีถ้อยและได้เปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 เพื่อคอยให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่คนในชุมชน

พ.ศ. 2520 เริ่มมีการใช้รถไถแทนควายในการทำนา

พ.ศ. 2526 เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 มาจนถึงปี พ.ศ.2531 สืบเนื่องจากกรณีฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าพระพุทธรูปที่วัดดอนตาเป็นพระอีบางนางแล้ง เป็นต้นเหตุของฝนแล้งต้องทำลายพระพุทธรูปเสีย แต่ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอม พระครูมานัสนทีพิทักษ์จึงหาทางไกล่เกลี่ย ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ แม้จะได้รับการโจมตีจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่ท่านก็ใช้เมตตาบารมีสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในที่สุดจากจุดนี้เองทำให้พระครูมานัสนทีพิทักษ์คิดว่าจำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ชาวบ้าน ด้วยการเทศนาสั่งสอนหลักธรรมะผสมผสานกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชี้ให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นรูปธรรม ถึงสาเหตุของธรรมชาติที่วิปริตแปรปรวนโดยการฉายสไลด์ ภาพถ่าย ตลอดจนพาชาวบ้านขึ้นไปดูการตัดไม้ทำลายป่าของนายทุนบนภูเขา ไปดูต้นน้ำลำธารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และพาไปศึกษาดูงานในท้องที่ต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจและเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

พ.ศ. 2527 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ทำให้เลิกใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดในบางบ้าน และ มีทำถนนใหม่เป็นถนนลาดยาง

พ.ศ. 2528 มีการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านขึ้นครั้งแรก เป็นอาสาสมัครรุ่นแรกประจำบ้านทุ่งป่าข่า โดยใช้หลักการ “แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี” โดยใน อสม.รุ่นแรกนี้ หลังจากก่อตั้ง ได้มีหน้าที่ในการเยี่ยมเยียนชาวบ้านภายในหมู่บ้านเพื่อติดตามภาวะปัญหาสุขภาพ และยังได้รับการอบรมภายใต้หลักสูตรการทำคลอดแบบวิถีชาวบ้านโดยผู้เกี่ยวข้องทางด้านสุขภาพในสมัยนั้น หลังจากระบบสุขภาพได้กระจายตัวเป็นวงกว้างและเข้ามาหาชาวบ้านอย่างเริ่มที่จะทั่วถึง อสม. จึงได้นำความรู้ที่ได้จากการไปอบรมมาแจ้งให้กับชาวบ้านทราบมาโดยตลอด ต่อมาชาวบ้านภายในหมู่บ้านก็ได้มีการเลิกดื่มน้ำจากบ่อซึ่งเป็นน้ำที่ไหลลงมาจากปางปูเลาะที่เป็นแหล่งต้นน้ำของหมู่บ้าน เนื่องจากพบว่าในน้ำมีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร จึงใช้น้ำจากบ่อเพียงแค่ใช้อาบน้ำ และมีการนำโอ่งมาใช้เพื่อรองน้ำฝนไว้ดื่มในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2530 พระครูมานัสนทีพิทักษ์ อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ใจ ซึ่งปัจจุบัน คือพระโสภณพัฒโนดม รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ได้ร่วมกับชาวบ้านหามาตรการดูแลรักษาป่า โดยริเริ่มนำพิธีสืบชะตาลำน้ำแม่ใจมาใช้ เป็นกุศโลบายสร้างขวัญและกำลังใจของชาวบ้าน "แม่น้ำ" ประสบชะตากรรมเดียวกับ "ป่าไม้" คือถูกทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำที่เป็น "แม่" ผู้ให้ชีวิต เกิดมลภาวะเพราะสารเคมีจากการทำการเกษตร การทิ้งของเสียลงไปสารพัด การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้หน้าดินไหลลงไปสู่แม่น้ำ ห้วย หนอง ทำให้แหล่งต้นน้ำตื้นเขินแห้งแล้ง ชาวบ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ จึงได้รณรงค์ให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าซึ่งการเทศน์สอนอย่างเดียวไม่ได้ผล จึงหากุศโลบายที่เข้ากับวิถีชุมชนคือการประยุกต์ความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โทรศัพท์บ้านยังเริ่มมีใช้เป็นครั้งแรกเพื่อใช้ติดต่ออีกด้วย

พ.ศ. 2531 เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 มาจนถึงปี พ.ศ.2531 สืบเนื่องจากกรณีฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาล โดยพระครูมานัสนทีพิทักษ์คิดว่าการเทศน์สั่งสอนเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถรักษาผืนป่าแห่งตำบลศรีถ้อย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่รวมตัวไหลลงสู่กว๊านพะเยาไว้ได้ ท่านจึงหามาตรการและวิธีการยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่า โดยอาศัยหลักธรรมทางพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาช่วย คือการนำแนวคิดพิธีกรรมการบวชป่าและสืบชะตาแม่น้ำ โดยเฉพาะพิธีบวชป่าซึ่งท่านเป็นผู้คิดขึ้น และได้ประกอบพิธีกรรมครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2531 พร้อมกันนั้นก็เริ่มก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้น เพื่อเป็นแนวร่วม ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านคือ ชาวบ้านในหมู่บ้านมีความเชื่อในการทำพิธีกรรมการเลี้ยงผีน้ำและการทำพิธีสืบชะตาให้แก่น้ำและคนภายในหมู่บ้าน ซึ่งแบ่งการทำพิธีเป็น 3 ครั้งต่อปี ดังนี้

1. การเลี้ยงผีต้นน้ำ จะมีการทำพิธีขึ้นในเดือน 9 ของเดือนล้านนา หรือเดือนมิถุนายนของสากล โดยจะมีการทำพิธีทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดต่อกันมานาน โดยจะทำพิธีการเลี้ยงผีที่หมู่บ้านปางปูเลาะ ซึ่งเป็นหมู่ 13 ในปัจจุบัน และเป็นบริเวณต้นน้ำ โดยจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีจำนวน 29 รูป และจะมีการจัดทำพิธีขึ้นทุกปี โดยในพิธีจะมีการสืบชะตาน้ำตามความเชื่อของชาวบ้าน และมีการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมไปถึงภูตผีที่อยู่บริเวณนั้น

2. การเลี้ยงผีปลายน้ำ โดยจะทำพิธีการเลี้ยงผีที่บริเวณต้นจำปีที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านที่มีอายุหลายร้อยปี โดยปัจจุบันถูกตัดโค่นลงไปแล้วเหลือเพียงแต่ตอไม้ขนาดใหญ่ แต่ก็ยังคงมีการทำพิธีอยู่ทุกปี โดยผู้เข้าร่วมพิธีคือชาวบ้านจากหมู่ที่ 4,5,6,8 และ หมู่ที่ 12 ซึ่งจะมีการทำพิธีในเดือน 9 ของล้านนาเช่นเดียวกันกับการเลี้ยงผีต้นน้ำแต่เป็นคนละวันกัน โดยจะทำปีละ 1 ครั้ง ทำเป็นประจำทุกปี

โดยในพิธีจะมีเจ้าภาพซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมพิธีจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการนำหมูที่ได้จากการรวบรวมเงินจากคนภายในหมู่บ้านไปซื้อหมูมา 1 ตัว และทำการบวงสรวงบูชาให้แก่ภูตผี และหลังเสร็จสิ้นพิธีจะมีการนำหมูมาประกอบอาหาร โดยจะประกอบอาหาร ณ บริเวณที่ใช้ทำพิธี ทั้งปิ้ง ย่าง ลาบ ส้า แกงอ่อม แกงเผ็ด แต่มีข้อห้ามคือ ห้ามนำเนื้อหมูที่ใช้ในการทำพิธีกลับบ้าน ต้องรับประทานภายในบริเวณที่ทำพิธีกรรมเท่านั้น ซึ่งจุดประสงค์ของชาวบ้านที่ทำพิธีคือ เพื่อเป็นการสืบชะตาน้ำตามความเชื่อ ให้ชาวบ้านมีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดทั้งปี และยังเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวมไปถึงความเชื่อเรื่องการขอฝนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลตลอดทั้งปี

3. พิธีเลี้ยงเจ้าฮ่อง (ร่องน้ำ) คือในความเชื่อของชาวบ้านตำบลศรีถ้อยทั้งตำบล มีความเชื่อว่า บริเวณที่มีลำน้ำ 2สายมาบรรจบกัน จะเรียกว่าสองสบ (น้ำ) และจะมีการทำพิธีสืบชะตาน้ำบริเวณนั้น ซึ่งก็จะจัดทำขึ้นในช่วงเดือน 9 ตามเดือนล้านนา หรือเดือนมิถุนายนตามหลักสากล ซึ่งจะเป็นการทำพิธีของชาวบ้านทั้งตำบลศรีถ้อยจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2552 ชุมชนบ้านทุ่งป่าข่า บ้านป่าสัก และบ้านท่าต้นหาด ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัด ยังคงอนุรักษ์ประเพณี"สืบชะตาลำน้ำสองสบ" (หรือสองสาขา) เพื่อการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ ความชุ่มฉ่ำของผืนดินผืนป่าของชุมชนไว้ทุกปี กิจกรรมมีทั้งเจริญพระพุทธมนต์ สืบชะตาแม่น้ำ สวดนพเคราะห์ สวดคาถาขอฝน นอกจากนี้ยังมีธรรมเทศนาปลาช่อน และ ตานสลากซาวห้า (สลากยี่สิบห้า) เพื่อถวายสิ่งของแก่เทวาอารักษ์ พระพรหมเจ้าที่ที่เคารพนับถือ (สลากภัตที่ใช้ในงานพิธีนี้เป็นการเฉพาะกิจ ซึ่งมีจำนวน 25 สลาก เท่านั้น ต่างจากประเพณีตานก๋วยสลากหรือ สลากภัตทั่วไปซึ่งเป็นการถวายสลากที่ไม่เฉพาะเจาะจงตัวผู้รับได้จำกัดจำนวน) นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรม"บวชป่า" และ"สืบชะตาแม่น้ำ" เป็นการประยุกต์มาจากการบวชคนมาเป็นการบวชป่าและสืบชะตาคนมาสืบชะตาแม่น้ำ พิธีกรรมบวชป่าเป็นพิธีกรรมเรียบง่าย มีพระสงฆ์ร่วมพิธีสวดมนต์ เลือกเอาไม้ที่ใหญ่ที่สุด หรือพญาไม้จำนวนหนึ่งแล้วเอาผ้าเหลืองมาพันรอบต้นไม้ก็เท่ากับได้บวชทั้งป่า เป็นป่าอันศักดิ์สิทธิ์ที่คนร่วมกันรักษาไว้ สำหรับ พิธีกรรม "สืบชะตาแม่น้ำ" จะมีการบวงสรวงเทวดาอารักษ์ เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่งจะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข 9 เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในกระด้ง บทสวดที่ใช้สืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง

พ.ศ. 2553-ปัจจุบัน ชาวบ้านเลิกดื่มน้ำฝนเนื่องจากมีการรายงานว่าน้ำฝนมีสารเคมีปนเปื้อนจากสภาวะมลพิษภายในอากาศ และมีโรงงานน้ำดื่มมาตั้งภายในหมู่บ้าน จึงซื้อน้ำดื่มไว้ดื่มในบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนและแต่ละหลังคาเรือนเริ่มมีการนำชักโครกเข้ามาใช้ภายในบ้าน รวมไปถึงเตาแก๊สและเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์สีจอแบน คอมพิวเตอร์ ระบบไวไฟ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเจริญราษฎร์ หมู่ที่ 6
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่สุก หมู่ที่ 3
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านป่าสักสามัคคี หมู่ที่ 12 ตำบลศรีถ้อย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตบ้านท่าต้นหาด หมู่ที่ 8 ตำบลศรีถ้อย

บ้านทุ่งป่าข่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจ 5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพะเยา 26 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3,042 ไร่

  • พื้นที่อยู่อาศัย ประมาณ 300 ไร่
  • พื้นที่ทำการเกษตร 2,742 ไร่
  • แหล่งน้ำสาธารณะ 1 แห่ง
  • โรงเรียน (ระดับ) ประถมศึกษา จำนวน 1 แห่ง
  • จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า 226 ครัวเรือน ร้อยละ 100 %
  • หอกระจายข่าว 1 แห่ง
  • ศาลาประชาคม 1 แห่ง

การคมนาคม

ถนนเป็นถนนลาดยาง 2 ช่องทางเดินรถ ข้างถนนมีบ้านเรือนตลอดสายเป็นแนวยาวทั้งสองฝั่ง ถนนในหมู่บ้านเป็นเส้นตรงมีทางโค้งและไม่เป็นอันตรายถนนมีลักษณะขรุขระแต่จะมีบริเวณที่เป็นอันตรายจากพื้นที่ถนนไม่เท่ากัน คือ คุ้มต้นลาน ที่อาจจะสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ เวลาฝนตกจะมีน้ำขังเป็นบางแห่งทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและไม่มีการแบ่งช่องทางรถ การใช้ยวดยานพาหนะในการเดินทาง ส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยาน รถจักรยานและรถยนต์ตามลำดับ ระยะทางจากหมู่บ้านถึงตัวเมืองใช้เวลา 10 นาที

สภาพภายในหมู่บ้าน

บ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มี 226 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติจะตั้งบ้านใกล้กัน ลักษณะบ้านส่วนใหญ่บ้านไม้ มีทั้งบ้านชั้นเดียว บ้านสองชั้น และมีใต้ถุนบ้าน มีรั้วกั้นในแต่ละหลังคาเรือน การจัดการบ้านมีความสะอาดเรียบร้อย ชาวบ้านมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง มีการทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ทั้งการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงกุ้งก้ามแดง หาของป่า รับจ้างทั่วไป และจักสาน แต่ละบ้านจะมีสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันมากคือ สุนัข แมว ไก่ หมู เป็ดและวัวตามลำดับ

ภายในหมู่บ้านมีจำนวน 12 ซอย คือ ซอย 1-12 แต่ละซอยจะมีถนนคอนกรีตประมาณ 200-300 เมตร ต่อจากนั้นจะเป็นถนนดินแดง ทำให้แฉะตลอดฤดูฝน ภายในหมู่บ้านมีไฟไม่เพียงพอ ทำให้เวลากลางคืนไม่สามารถเห็นทางได้ตลอดสายของบ้านทุ่งป่าข่า ภายในหมู่บ้านจะมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน ส่วนใหญ่น้ำที่บริโภค เป็นน้ำกรองสำเร็จรูปซึ่งภายในหมู่บ้านผลิตเพื่อให้คนในหมู่บ้านได้บริโภค มีตลาดอยู่บริเวณกลางหมู่บ้านและหอเสียงตามสายซึ่งจะคอยประกาศข่าวสารต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน

ประชากรเป็นชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ไม่มีการอพยพประชากรจากที่อื่นเข้าหมู่บ้าน

จำนวนประชากรของบ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีจำนวน 226 ครัวเรือน มีประชากร 568 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิงจำนวน 288 คน เพศชายจำนวน 280 คน ประชากรบ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 55 – 59 ปี ร้อยละ 13.38 รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 50-54 คิดเป็นร้อยละ 12.68 ช่วงอายุที่น้อยที่สุดคือช่วงอายุ ต่ำกว่า 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.35 ซึ่งจะพบว่าแนวโน้มจะมีประชากรในวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นมากขึ้น

ประชากรส่วนใหญ่ ช่วงอายุ 15-59 ปีเป็นวัยทำงาน 384 คน คิดเป็นร้อยละ 67.61 รองลงมาเป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 18.13 และลำดับสุดท้ายเป็นประชากรที่มีช่วงอายุ 0-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 14.26 โดยอัตราส่วนวัยพึ่งพิง : วัยทำงาน 1 : 2.08 แสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านนี้มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชน เนื่องจากมีวัยแรงงานเป็นกำลังสำคัญในหมู่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านทุ่งป่าข่า : นายสถาน  ปากันสุข

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : นายศุภศิลป์ ต๊ะชมพู, นายปรีชา เวียงนาค

โดยแบ่งการบริหารจัดการเป็น 6 คุ้มบ้านโดยที่ประธานแต่ละคุ้มบ้านจะเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง มีกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการโดยระบบบริหารราชการและไม่เป็นทางการที่จัดตั้งโดยการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เช่น กลุ่ม SML, กลุ่มแปรรูปลิ้นจี่, กลุ่มตะกร้าพลาสติก, กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), กลุ่มอาสาสมัครตำรวจบ้าน (สตบ.), กลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.), กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน, กลุ่มไม้กวาด, กลุ่มกองทุนหมู่บ้านชุมชนเมือง, กลุ่มฉางข้าวหมู่บ้าน

สภาพทางเศรษฐกิจ

  • รายรับ : การทำนา, ขายลิ้นจี่, รับจ้างทั่วไป,ค้าขาย
  • รายจ่าย : หนี้ ธกส., ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง, ค่าเมล็ดพันธ์พืช

ปฏิทินชุมชนบ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

  • เดือนมกราคม : ช่วงต้นเดือนมีการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าว, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่” คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงฆ์ และการอุทิศให้กับญาติผู้ล่วงลับ
  • เดือนกุมภาพันธ์ : ทำบุญตักบาตรวันมาฆบูชา
  • เดือนมีนาคม : ปลูกป่า
  • เดือนเมษายน : ประเพณีสงกรานต์รดน้ำดำหัว (ปีใหม่เมือง) ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ชาวบ้านจะเริ่มหยุดงานช่วงวันที่ 13-17 เมษายน เฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ มีการพบปะญาติพี่น้องที่เดินทางมาเยี่ยมญาติ, ครอบครัว เพื่อรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
  • เดือนพฤษภาคม : ทำบุญตักบาตร, เวียนเทียนวันมาฆบูชา
  • เดือนมิถุนายน : ประเพณีสรงน้ำพระ, สืบชะตาแม่น้ำ
  • เดือนกรกฎาคม : เลี้ยงผีปู่ย่า, เข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม : วันแม่แห่งชาติ
  • เดือนกันยายน : ตานเปรต ที่เหมือนกับตานก๋วยสลากแต่ไม่ได้จัดยิ่งใหญ่ แต่วัตถุประสงค์คืออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเช่นกัน
  • เดือนตุลาคม : ตานก๋วยสลาก ผู้คนจะถวายสลากภัต จะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์ และมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ, ออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน : ลอยกระทง, ฟังเทศน์มหาชาติ
  • เดือนธันวาคม : เทศกาลส่งท้ายปีเก่า จะมีการรวมญาติ และฉลองวันสิ้นปี

1. นายเป็ง เมืองมูล : ปราชญ์ด้านการจักสานอายุ 77 ปี

2. นางคำเอ้ย ปัญสุวรรณ์ : ปราชญ์ด้านช่างซอ เกิดปี พ.ศ. 2497 อายุ 69 ปี

3. นางหอม ใจมิภักดิ์ : ปราชญ์ด้านการจักสานตะกร้าพลาสติก เกิดปี พ.ศ. 2499 อายุ 67 ปี

4. นายขาว จิตวงค์ : ปราชญ์ด้านเป่าปี่ เกิดปี พ.ศ. 2492 อายุ 74 ปี

5. นายสมฤทธิ์ เมืองมูล : ปราชญ์ด้านหมอพื้นบ้าน เกิดปี พ.ศ. 2492 อายุ 74 ปี

6. นายปั๋น ปากันสุข : ปราชญ์ด้านการจักสานไม้ไผ่ เกิดปี พ.ศ. 2490 อายุ 76 ปี

7. นายคำ ดวงอุตสา : ปราชญ์การอ่านเขียนตัวเมืองและจักสาน เกิดปี พ.ศ. 2491 อายุ 75 ปี

ทุนวัฒนธรรม

ศาสนสถานที่คนในชุมชนบ้านทุ่งป่าข่าใช้ในการทำพิธีทางศาสนามีอยู่ 1 แห่ง คือวัดฝายหิน ตั้งอยู่เลขที่ 42 บ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2359 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 60 เมตร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือประมาณ 35 วา จดถนนในหมู่บ้าน ทิศใต้ประมาณ 35 วา จดที่นาเอกชน ทิศตะวันออกประมาณ 28 วา จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันตกประมาณ 28 วา จดหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะประกอบด้วยวิหาร อุโบสถ หอระฆัง ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปทองเหลืองรูปช้างทองเหลือง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) มี พระอธิการบรรชัย ติกฺขปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสวัด

ทุนทรัพยากร แหล่งน้ำ

  • แหล่งน้ำดื่มของคนในชุมชน ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุสำเร็จรูปชุมชน
  • แหล่งน้ำใช้ ได้แก่ ห้วยแม่น้ำแม่ใจ น้ำบ่อ
  • แหล่งน้ำทางการเกษตร ได้แก่ ห้วยแม่น้ำแม่ใจ
  • กลุ่มแปรรูปผลผลิตบ้านทุ่งป่าข่า ลิ้นจี่จักรพรรดิอบแห้ง

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านทุ่งป่าข่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้ https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้ http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2562). ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลิ้นจี่แม่ใจพะเยาพันธุ์ฮงฮวย. เข้าถึงได้จาก https://www.ipthailand.go.th/

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508