พื้นที่ต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะระดับแถวหน้าของประเทศ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ ประจำปี 2556 ประเภทชุมชนขนาดกลาง ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
พ่ออุ้ยอินตาพาทุกคนย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านดงอินตา (ปัจจุบัน) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาพ่ออุ้ยอินตาอุตตะมะ ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา ในปี พ.ศ. 2505 ประชาชนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาใหม่จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้พ่ออุ้ยอินตา อุตตะมะ ว่า "บ้านดงอินตา"
พื้นที่ต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะระดับแถวหน้าของประเทศ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ ประจำปี 2556 ประเภทชุมชนขนาดกลาง ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ผู้เฒ่าเล่าขาน | โบราณนานมา |
บ้านดงอินตา | มาจากลำปาง |
ผู้ดีหาญกล้า | ได้พานำทาง |
ช่วยกันถากถาง | สร้างบ้านปลูกเรือน |
ที่สันคอกม้า | หาสุขใดเหมือน |
นานนับปี เดือน | จำเคลื่อนย้ายไป |
เพราะเหตุถิ่นนี้ | ไม่มีน้ำใช้ |
จำเป็นต้องไป | หาแหล่งสมบูรณ์ |
มาพบที่ใหม่ | ดงใหญ่เกื้อกูล |
ความสุขเพิ่มพูน | ทุกข์สูญหายพลัน |
อยู่อย่างพี่น้อง | ปรองดองแบ่งปัน |
เลี้ยงวัว ควายกัน | ทำไร่ไถนา |
อยู่มาไม่นาน | ผู้เฒ่าหาญกล้า |
คือลุงอินตา | ที่พาทำกิน |
เกิดล้มเจ็บลง | ปลงทั้งชีวิน |
เรานั้นสูญสิ้น | ผู้นำถิ่นตน |
ธรรมดาชีวี | ย่อมหนีไม่พ้น |
เพื่อเกียรติบุคคล | ตั้งชื่อตามมา |
หมู่บ้านแห่งนี้ | จึงมีชื่อว่า |
บ้านดงอินตา | มีค่าควรจำ |
ลูกหลานเทิดไว้ | ใฝ่ใจเน้นย้ำ |
เรื่องราวทุกคำ | จงจำใส่ใจ |
บ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยการนำของ พ่ออุ้ยอินตา อุตตะมะ การอพยพครั้งแรกได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสันคอกม้า (ปัจจุบันเป็นฌาปนสถาน) มีจำนวน 30 ครัวเรือน ต่อมามีผู้อพยพตามมาเรื่อย ๆ มีประชากรมากขึ้น และประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พ่ออินตาได้นำกระบือไปเลี้ยงในป่าดง นานวันเข้ามีชาวบ้านนำกระบือมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับพื้นที่บ้านสันคอกม้าน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภคกลายเป็นน้ำสีเหลือง (น้ำมีสนิม) ใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ พื้นที่ดังกล่าวเกิดภัยพิบัติ และแห้งแล้ง พ่ออินตาจึงพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านดงเป็นครอบครัวแรก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2465 และมีชาวบ้านอพยพตามมาทีหลัง มีผู้คนเยอะขึ้น จึงตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านดง” และกลายเป็น “บ้านดงอินตา” ในปัจจุบัน (นำเอาชื่อพ่ออินตาต่อท้ายเป็นการให้เกียรติผู้ที่มาอยู่เป็นคนแรก) ต่อมาพ่ออินตาได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะวัดร้าง (วัดห่าง) ขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ วัดดงอินตา ในปัจจุบัน และจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดเพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนหนังสือ วัดดงอินตาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ และมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา พ่ออินตาได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างบ้านเรือน และพัฒนาบ้านดงอินตาจนรุ่งเรืองมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พ่ออินตาได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา ในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 85 ปี
พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็น “เมือง” และ “อำเภอ” เมื่อ พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในขณะนั้น“แม่ใจ” มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ที่ได้จัดการปกครองรวมกันเป็นจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ให้อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จำนวน 6 คน คนแรกคือนายถิน ควรสมาคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 (ร.ศ. 133) อำเภอแม่ใจ ได้ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2470 ประชากรอพยพมาจาก บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยการนำของพ่ออินตา อุตะมะ การ อพยพครั้งแรกตั้งบ้านเรือนที่บ้านสันคอกม้า (ปัจจุบันเป็นฌาปนสถาน) ของบ้านดงอินตา มีจำนวน 30 หลังคา เรือน ต่อมาน้ำมีสีขุ่นไม่สามารถนำน้ำมาอุปโภคบริโภคได้ จึงย้ายมาที่บ้านดงอินตา ณ ปัจจุบัน ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อยๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
พ.ศ. 2474 มีการขุดเจอพระพุทธรูปจึงได้สร้างวัดดงอินตาขึ้น โดยมีวิหาร 1 หลังเพื่อประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา
พ.ศ. 2475 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อนายมี มุมวงศ์ (2475-2478)
พ.ศ. 2478 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ชื่อนายก๋องคำ ปีกจุมปู (2478-2491)
พ.ศ. 2480 ได้ขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้น โดยให้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านดงอินตา
พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สงบลง ตำบลแม่ใจใต้ได้เปลี่ยนเป็นตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2490 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม
พ.ศ. 2491 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ชื่อนายปั่น ทาตรี (2491-2515)
พ.ศ. 2493 ชาวบ้านดงอินตาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษโดยรวมตัวกันนั่งล้อเกวียนไปฉีดที่สุขศาลาแม่ใจ
พ.ศ. 2500 มีการเกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาดในขณะนั้น ชาวบ้านเกิดตุ่มพุพองบริเวณผิวหนัง ไม่สามารถนอนบนที่นอนได้ ต้องเอาใบตองมารองนอน รักษาโดยการกินยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านนั่งล้อเกวียนไปฉีดวัคซีนที่สุขศาลาแม่ใจ
พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ
พ.ศ. 2504 มีการปลูกฝีที่สุขศาลาแม่ใจ โดยเดินทางไปรักษาโดนใช้ล้อเกวียนลากโดยวัวและควาย โดยในสมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากถนนมีแต่โคลนและฝุ่นเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2505 ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ดงอินตา เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่พ่ออุ้ยอินตา อุตตะมะ ที่ได้เสียชีวิตลง
พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ ให้รวมเขตการปกครองตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลป่าแฝกและตำบลแม่สุก อำเภอพานยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ใจ” ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน
พ.ศ. 2508 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2515 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ชื่อนายอ้าย มุมวงศ์ (2515-2526)
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)
พ.ศ. 2520 ด้านสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในระยะแรกเป็นไปในลักษณะโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยดำเนินการทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบลและเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522 คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้เปลี่ยนคำ ว่า การสาธารณสุขเบื้องต้น เป็นสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาสาธารณสุข จึงได้นำเอาการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524) เป็นต้นมา โดยสนับสนุนให้มีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง ซึ่งมีตัวจักรสำคัญในการดำเนินงานคือ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ผสส.ในตำบลแม่ใจคนแรกคือนายบุญมี แก้วธิตา
พ.ศ. 2521 ก่อตั้งสถานีอนามัยบ้านดงอินตา
พ.ศ. 2523 เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้น
พ.ศ. 2525 มีโทรทัศน์เครื่องแรกของหมู่บ้านโดยใช้แบตเตอรี่ และวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า โดยแยกออกมาจากตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัด พะเยา และวันที่ 25 กันยายน กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะบ้านเหล่าขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และมีนายอ้าย จินะวรรณ์ เป็นกำนันตำบลคนแรก
พ.ศ. 2526 มีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน มีการชุดคลองชลประทาน มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ชื่อนายผัด ปิงวงศ์
พ.ศ. 2527 จัดตั้งโรงสีข้าวแห่งแรกของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2528 ทำถนน ร.พ.ช. มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 ชื่อนายศรีใจ ทาตรี (2528-2530)
พ.ศ. 2530 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7
พ.ศ. 2536 มีการสร้างถนนไปหนองเล็งทราย
พ.ศ. 2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านดงบุนนาค อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาโดยเฮลิคอปเตอร์ และได้ทรงเห็นว่าบ้านดงอินตาอยู่ห่างไกลสถานีรักษาจึงได้ทรงจัดตั้งสถานีรักษาแพทย์อาสาทางอากาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พย 1 (หน่วยแพทย์ พอ.สว.) ขึ้น ปัจจุบันโรงเรียนบ้านดงอินตาได้เก็บรักษาลูกเปตองที่สมเด็จย่าไว้ที่โรงเรียน และต้นมะม่วงที่สมเด็จย่าทรงปลุก 2 ต้น เหลือเพียงต้นเดียว
พ.ศ. 2540 มีการก่อตั้ง อบต. จัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน มีการจัดตั้งกลุ่มฉากข้าว เริ่มปลูกแตงโมเป็นอาชีพ เสริมในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2541 จัดตั้งกองทุน กข.คจ. สำหรับประกอบอาชีพเสริมโดยไม่มีดอกเบี้ย
พ.ศ. 2542 มีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์จำนวนมาก
พ.ศ. 2543 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 ชื่อนายบุญมา อุตตะมะ (2543-2548)
พ.ศ. 2545 จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และเริ่มมีการปลูกยางพาราเป็นอาชีพเสริมในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2546 จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยจัดตั้งอาคารเอนกประสงค์ในอาคารมีกลุ่มองค์กร ได้แก่ ที่ทำการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุชาย ทำจักสาน กลุ่มผู้สูงอายุหญิง ทำผลิตดอกไม้
พ.ศ. 2547 จัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยหมัก ปุยอินทรีย์ มีสมาชิก 76 คน
พ.ศ. 2548 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 9 ชื่อนายสนั่น สายเครือวงค์ (2548-ปัจจุบัน) และเกิดการระบาดของ โรคไข้เลือดออกมีผู้ป่วยในหมู่บ้าน 12 ราย
พ.ศ. 2550 จัดตั้งกลุ่มธนาคารข้าวปัน เพื่อช่วยเหลือการขาดแคลนข้าวของคนในชุมชน และปลูกแคน ตาลูปเพื่อเป็นอาชีพเสริมในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2551 จัดตั้งกลุ่มสมุนไพรขึ้นโดยการนำสมุนไพรที่ได้จากการปลูกมาใช้ประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายและ เพิ่มรายได้
พ.ศ. 2552 พัฒนาตำบลเป็นตำบลจัดการสุขภาพ และภายในหมู่บ้านได้จัดตั้งกลุ่มผลิตน้ำดื่มเพื่อใช้ ชุมชนมีน้ำดื่มที่สะอาดและผลิตน้ำดื่มเพื่อจำหน่าย
พ.ศ. 2553 ได้รับรางวัลที่ 1 ระดับอำเภอและอันดับที่ 2 ระดับจังหวัด เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศเรื่อง ชุมชนปลอดขยะ"
พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานระดับประเทศชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ
พ.ศ. 2557 ได้รับรางวัลเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง "อยู่เย็น เป็นสุข" ดีเด่นระดับจังหวัด ก่อสร้างถนน ลูกรังคอนกรีตเสริมเหล็ก จากวัดดงอินตาถึงหนองเล็งทราย ระยะทาง 1.5 km. ขยายเขตไฟฟ้าในหมู่บ้าน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ทำพบดินห้วยพรานน้อย ขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อเก็บใช้เพื่อเก็บน้ำสำหรับการเกษตรและขยาย ประปาเพื่อความสะดวกในการอุปโภคบริโภค
พ.ศ. 2559 ขุดลอกลำเหมืองชลประทานและสร้างสวนสุขภาพประจำชุมชน
พ.ศ. 2562 มีการแพร่ระบาดของโรค Covid 19 ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่ได้ทำงาน และคนที่ทำงาน ต่างจังหวัดต้องกลับมาอยู่บ้าน ทำให้ซาวบ้านต้องพึ่งพาตนเองและแบ่งปันเพื่อนบ้านในเรื่องของผักหรืออาหารที่มี ในชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถพ้นผ่านวิกฤติในครั้งนั้นไปด้วยกัน
พ.ศ. 2563 ปัจจุบันการดำเนินงานยังคงดำเนินต่อไปโดยประชาชนให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกันเป็นอย่างดีและเมื่อพบอุปสรรคปัญหาก็จะมีการปรึกษาและช่วยกันแก้ไข เพื่อให้งานประสบความสำเร็จและงานลุล่วงไปด้วยดี
ลักษณะที่ตั้งบ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยาระยะทาง 31 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่ใจ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 180 ครัวเรือน อยู่ในเขตการให้บริการด้านสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านดงอินตา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,060 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย ประมาณ 90 ไร่ พื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,970 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดงอินตาเหนือ หมู่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศส่วนโดยทั่วไปของบ้านดงอินตาหมู่ที่ 6 สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงมีแหล่งน้ำไหลผ่านคือ น้ำห้วยเตียน เป็นจุดศูนย์กลางตั้งอยู่ส่วนกลางของหมูบ้านดงอินตา ลักษณะดินเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ คือ หนองเล็งทราย และมีอ่างเก็บน้ำแม่ปืม ที่สามารถใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2562 บ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 มีบ้านเรือนทั้งหมด 212 หลังคาเรือน อยู่จริง 180 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากร 820 คน จำนวนประชากรที่อยู่จริง 531 คน ใช้ภาษาท้องถิ่น (คำเมือง) และภาษาไทยกลางในการสื่อสาร สภาพความเป็นอยู่เป็นสังคมชนบท พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงมีแหล่งน้ำไหลผ่าน คือ น้ำห้วยเตียน เป็นจุดศูนย์กลางตั้งอยู่ส่วนกลางของหมู่บ้านตงอินตา ลักษณะดินเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ คือ หนองเล็งทราย และมีอ่างเก็บน้ำแม่ปืมที่สามารถใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งหมด 2,060 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 1,970 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 90 ไร่
ชุมชนบ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีองค์กรบริหารจัดการดูแลในหมู่บ้าน โดยมีนายสนั่น สายเครือวงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในหมู่บ้านและคนในชุมชนให้การยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แบ่งคุ้ม 15 คุ้ม ภายในหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นายบุญมา อุตตะมะ เป็นประธาน มี อสม.รวมประธานทั้งสิ้น 28 คน
- กลุ่มตำรวจบ้าน (สตบ.) : นายปี่ มุมวงค์ เป็นประธาน มีอาสาสมัคร 13 คน
- อาสาสมัครรักษาความปลอดภัย : นายธนัตตา ปิงวงศ์ เป็นประธาน
- อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) : นายมานพ ปิกจุมปู เป็นประธาน
- อาสาสมัครเกษตร : นางยุวศิลป์ อุตตะมะ เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ : นายศรีใจ ทาตรี เป็นประธาน
- กองทุน กข.คจ. (แก้ไขปัญหาความยากจน)/SML/กองทุนหมู่บ้าน/กองทุนต่าง ๆ : นายประสิทธิ์ ใจเย็น เป็นประธาน
- กลุ่มผลิตดอกไม้แห้ง : นางเกี๋ยง อุตตะมะ เป็นประธาน
- กลุ่มแม่บ้าน : นางจันทร์คำ ปิงตอย (ประธาน) เป็นประธานทั้ง 2 กลุ่ม
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต : นายประสิทธิ์ ใจเย็น เป็นประธาน
สภาพทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : เกษตรกรรม (ทำนา)
- อาชีพเสริม : ปลูกแตงโม, ปลูกแคนตาลูป, ปลูกถั่วสิสง, รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย
- รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา, ปลูกถั่วลิสง, ปลูกลำไย, กรีดยางพารา, รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย เช่น ผัก ไข่ไก่ เบี้ยยังชีพ และเงินจากลูกหลาน
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีทางการเกษตร, ค่าบุหรี่-สุรา
- หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากกองทุนเงินล้าน
- แหล่งเงินทุน : กองทุนเงินล้านในหมู่บ้าน, ออมทรัพย์
วัฒนธรรมประเพณี
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่” เป็นช่วงขึ้นปีใหม่ไทย ช่วงต้นเดือนมกราคมมีการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะจัดทำพิธี "บุญข้าวใหม่" คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงฆ์ที่วัดบ้านตงอินตา
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : พิธีเข้ากรรม โดยพระสงฆ์จะมีการสวดมนต์
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) ครั้งที่1 ที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้านโดยชาวบ้านจะมีการนำไก่มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อต๋นซ้อย หากครอบครัวไหนไม่มีไก่ก็จะออกให้กับส่วนรวมแทนการนำไก่มาเซ่นไหว้
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ
วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)
วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี
วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้
วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ประเพณีทำบุญวันวิสาขบูชาที่วัดดงอินตา
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) ครั้งที่ 1 ที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะมีการนำไก่มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อต๋นซ้อย หากครอบครัวไหนไม่มีไก่ก็จะออกให้กับส่วนรวมแทนการนำไก่มาเซ่นไหว้
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางคนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระที่บ้านดงอินตา
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติ
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตร ชาวบ้านจะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์และมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือกรรมนายเวร
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ ชาวบ้านได้ทำบุญวันออกพรรษา ที่วัดบ้านดงอินตา
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็นชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง ลอยโคม และเข้าวัดทำบุญ
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ ชาวบ้านร่วมทำบุญ ตักบาตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ และเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับบ้าน มีการเลี้ยงฉลอง
1. นายไกรฤกษ์ วงค์ติ๊บ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
2. นายสมเกียรติ อุตตะมะ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
3. นายคงเดช บุญเรือง : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
4. นายสนิท พิษเมืองพรม : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
5. นายเขียว สายวงค์เดือน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอฟื้นเมือง
6. นายก้ำ นามปัญญา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอฟื้นเมือง
7. นายเสนา มุมวงศ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอฟื้นเมือง
8. นายอินสม นามปัญญา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
9. นายวุ่น วงค์ติ๊บ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
พื้นที่ทำการเกษตร1,970 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงมีแหล่งน้ำไหลผ่านคือ น้ำห้วยเตียน เป็นจุดศูนย์กลางตั้งอยู่ส่วนกลางของหมูบ้านตงอินตา ลักษณะดินเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ คือ หนองเล็งทราย และมีอ่างเก็บน้ำแม่ปืมที่สามารถใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2562). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านดงอินตา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์. หนองเล็งทราย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://www.maechai.ac.th/
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธม.โม). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
กชนุช แสงทอเจริญกุลและคณะ. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านดงอินตา หมู่ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. พะเยา : วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา.