หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
หมู่บ้านหัวนา เป็นหมู่บ้านที่ขยายมาจากหมู่บ้านจระเข้ ซึ่งหมู่บ้านจระเข้ ตั้งอยู่ริมลำน้ำห้วยยาง โดยตั้งเรียงรายยาวลงไปตามลำห้วย จัดการปกครองออกเป็น 2 คุ้ม ทางด้านตะวันออกของลำห้วยยาง คุ้มหนึ่งเรียกว่าคุ้มกุดแข่ (จระเข้) ถัดจากทางนั้นไปเป็นทางด้านอุดรเรียกว่าคุ้มบ้านเป้า คุ้มกุดแข่มีสระน้ำลึกมากแล้วก็กว้างใหญ่ มีต้นไม้เกิดหนาแน่นบริเวณรอบกุด (สระ) มีจระเข้อาศัยอยู่ในกุดแห่งนี้ จึงได้ขนานนามบ้านว่า คุ้มกุดแข่ คุ้มปาเป้าเพราะมีต้นเป้าเกิดหนาแน่นมาก
หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
หมู่บ้านหัวนา เป็นหมู่บ้านที่ขยายมาจากหมู่บ้านจระเข้ ซึ่งหมู่บ้านจระเข้ ตั้งอยู่ริมลำน้ำห้วยยาง โดยตั้งเรียงรายยาวลงไปตามลำห้วย จัดการปกครองออกเป็น 2 คุ้ม ทางด้านตะวันออกของลำห้วยยาง คุ้มหนึ่งเรียกว่าคุ้มกุดแข่ (จระเข้) ถัดจากทางนั้นไปเป็นทางด้านอุดรเรียกว่าคุ้มบ้านเป้า คุ้มกุดแข่มีสระน้ำลึกมากแล้วก็กว้างใหญ่ มีต้นไม้เกิดหนาแน่นบริเวณรอบกุด (สระ) มีจระเข้อาศัยอยู่ในกุดแห่งนี้ จึงได้ขนานนามบ้านว่า คุ้มกุดแข่ คุ้มปาเป้าเพราะมีต้นเป้าเกิดหนาแน่นมาก
ต่อมาปี พ.ศ. 2420 จังหวัดชัยภูมิมีโครงการขยายอาณาเขตจังหวัดให้กว้างขวางออกไปโดยรุกล้ำเขตจังหวัดขอนแก่นทางด้านทิศตะวันตก ทางข้าหลวงจังหวัดขอนแก่นไม่ยอมจึงเกิดกรณีพิพาศกันขึ้นทั้งสองจังหวัด ทางข้าหลวงจังหวัดขอนแก่นจึงได้ตั้ง นายมงคล สนธิสัมพันธ์ ผู้เป็นหัวหน้า (รวบรวมชาวบ้าน คุ้มบ้านเป้า และคุ้มกุดแข่ พร้อมคณะไปเจรจาไกล่เกลี่ย ประนีประนอมกับคณะของข้าหลวงพระไกรศรีหะนาถ ข้าหลวงจังหวัดชัยภูมิให้เอาเขตเดิม คือห้วยหลัวห้วยหมาตาย การเจรจาของนายมงคล และคณะได้ผลเรียบร้อย ด้วยความดีความชอบของนายมงคล และคณะที่ไปเจรจาตกลงกับทางชัยภูมิ ทางผู้เป็นข้าหลวงจังหวัดขอนแก่นจึงได้มาจัดตั้ง อำเภอขึ้นที่บ้านจระเข้ คุ้มป่าเป้าให้เป็นเมืองหน้าด่าน ชื่อว่าอำเภอ ปัญจาคีรี ตั้งนายมงคลให้เป็นเจ้าเมือง ชื่อว่า พระเกศวัจจนา ปกครองอำเภอปัญจาคีรีต่อไป
ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2430 คือ ทางจังหวัดชัยภูมิจึงมี โครงการขยายอาณาเขตจังหวัดอีกโดยข้ามมาทางช่องสามหมอทางอำเภอปัญจาคีรี สมัยนี้ คือ บ้านสวนหม่อนบ้านกอก ทางข้าหลวงจังหวัดขอนแก่น จึงให้พระเกศ วัศวัจจนา ไปเจรจาอีก ทางชัยภูมิก็ยินยอมอีก ทางจังหวัดขอนแก่นจึงย้ายอำเภอมัญจาคีรีไปตั้งที่บ้านสวนหม่อนให้ชื่อว่าอำเภอปัญจาคีรี เหมือนเดิม ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอำเภอมัญจาคีรี เมื่อทางจังหวัดย้ายอำเภอปัญจาคีรี คุ้มบ้านเป้าไปอยู่บ้านสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี ในปัจจุบัน แต่ยังมีทางอุปราชราชวงษ์นาเหนือ ไม่ย้ายตามพระเกศ แต่ได้พาครอบครัวย้ายข้ามห้วยยางมาอยู่ฝั่งตะวันตกของห้วยยางซึ่งเป็นที่นาของตัวเอง คนที่ย้ายมาคนแรกและมีที่นาติดลำห้วยยางทางตะวันตกชื่อ นายธรรมสังวร มีที่ดินติดลำห้วยยางยาวสุดบ้านหัวนา ต่อมาก็มีผู้ย้ายตามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาตั้งที่อยู่อาศัยที่ลำน้ำห้วยยาง บ้านหัวนาได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านมาประมาณปี พ.ศ. 2435 ถึงปี พ.ศ. 2528
อาณาเขต ขนาดพื้นที่ชุมชน
ทิศเหนือ ติดต่อกับหมู่ที่ 2 บ้านหัวนา
ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่ที่ 3 บ้านหัวนา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับลำห้วยยาง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลหนองเรือ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านหัวนา หมู่ที่ 12 ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีลักษณะภูมิประเทศโดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และพื้นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ สลับกันไป มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 196.0 เมตร ลักษณะทางธรณีวิทยาโดยสภาพดินของหมู่บ้านเป็นดินเหนียวปนทราย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับลำห้วยยาง การเดินทางไปยังชุมชนใกล้เคียงจะใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง หรือหากไม่มีรถส่วนตัวแต่ต้องการเข้าไปตัวจังหวัดจะเดินทางโดยรถสองแถว
การคมนาคมบ้านหัวนาหมู่ที่ 12 มีถนนลาดยางเป็นถนนสายหลักเป็นทางติดต่อไปยังตำบลบ้านกงและอำเภอหนองเรือ ถนนเส้นหลักกว้างฝั่งละ 4 เลนส์ โดยมีสองข้างทางเป็นบ้านเรือนประชาชน พื้นที่ว่างเปล่าและพื้นที่ทุ่งนา สภาพถนนสายหลักเดินทางไป-มาสะดวกสบาย ส่วนเส้นทางคมนาคมในหมู่บ้านก็ปูพื้นด้วยคอนกรีต มีความสะดวกในการสัญจรไปมา ไม่เป็นหลุม เป็นบ่อ
พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน
ด้านศาสนา
1) วัดจันทร์ บ้านหัวนา 1 แห่ง
วัดจันทร์บ้านหัวนาจะเป็นศาสนสถานของชาวบ้านหัวนาทั้ง 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2, 3 และ 12 เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและทำกิจกรรมทางศาสนา
2) วัดป่าอนันตคุณ 1 แห่ง
วัดป่าอนันตคุณ เป็นวัดป่าที่ชาวบ้านหัวใช้ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อมีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้านก็จะนำมาฌาปนกิจที่วัดแห่งนี้
3) ศาลตาปู่ 1 แห่ง
ศาลตาปู่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนหัวนาทั้ง 3 หมู่บ้านเคารพบูชา กราบไหว้ ขอพร ท่านจะคอยดูแล ปกปักรักษาชาวบ้านหัวนา โดยทุก ๆ ปี จะมีพิธีการไหว้ตาปู่ก่อนที่เข้าสู่การลงนาช่วงเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูปเทียน แต่งขันธ์ 5 มีอาหารคาวหวาน หัวหมู เหล้า บุหรี่ไปกราบไหว้ เพื่อให้ท่านคอยดู ปกปักรักษา การไหว้จะมีจ้ำสื่อสารกับตาปู่ทั้ง 3 หมู่บ้าน โดยบ้านหัวนาหมู่ 12 มีนายบุญสวน พระชัยเป็นจ้ำผู้พาทำพิธีการไหว้ และในทุก ๆ วันพระก็จะมีนำดอกไม้ ธูปเทียนไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงสามารถไปขอพร บนบาน ศาลกล่าวได้ เช่น เรื่องการเรียน การสอบ การทำงาน ก็จะประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งมาดปรารถนา และเมื่อประสบผลตามที่ตั้งใจไว้ก็จะนำอาหารคาว หวาน มากราบไหว้หรือรำแก้บนตามที่ได้กล่าวไว้กับท่าน
4) ศาลหลักบ้าน
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านหัวนา หมู่ 12 ชาวบ้านเรียกว่า ปู่บ้าน ท่านจะคอยปกปักรักษาชาวบ้าน คุ้มครองไม่ให้มีเกิดภัยอันตราย ทั้งฟ้าผ่า พายุฝน ลมแรง จะไม่เกิดเคยขึ้นในหมู่บ้าน เหมือนละแวกอื่น ๆ ชาวบ้านให้ความเคารพและบูชาด้วยดอกไม้ พวงมาลัย ธูปเทียน น้ำแดง ในทุก ๆ วันพระหรือผู้ที่อยากขอพรท่านก็จะนำสิ่งของมาไหว้และขอพรให้สำเร็จตามความปรารถนา โดยศาลปู่บ้านก็จะมีจ้ำที่คอยสื่อสารและพาทำพิธีคือ นายบุญสวน พระชัย เป็นจ้ำของบ้านหัวนาหมู่ 12
ด้านการปกครอง
1) องค์การบริหารส่วนตำบลจระเข้ 1 แห่ง
องค์การบริหารส่วนตำบลจระเข้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเขตการปกครอง 13 หมู่บ้าน ซึ่งบ้านหัวนาหมู่ที่ 12 ก็อยู่ในเขตการปกครอง
องค์กรบริหารส่วนตำบลจรเข้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการประชาชนที่เข้ามาติดต่อ อีกทั้งยังมหน้าที่รับผิดชอบในด้านการกำกับเร่งรัดการปฏิบัติงานให้ดำเนินไปตามนโยบายแผนงาน และแนวทางการปฏิบัติราชการมีงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลได้แก่ งานธุรการ งานการเจ้าหน้าที่ งานทะเบียนราษฎร งานวิเคราะห์นโยบายและแผนงานจัดทำงบประมาณงานประชาสัมพันธ์ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย
ด้านสถานบริการสุขภาพ
1) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจระเข้ 1 แห่ง
เป็นแหล่งบริการที่ชาวบ้านหัวหาหมู่ที่ 12 จะมารับบริการตรวจรักษาโรค ล้างแผล ฉีดยา และขอยา เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ล้างแผลต่อเนื่อง ฉีดยาคุมกำเนิด ฉีดยาบาดทะยัก เป็นต้น
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจระเข้อยู่ในเขตพื้นที่บ้านโพนสว่าง เป็นแหล่งบริการปฐมภูมิที่ให้บริการสุขภาพคนในตำบลจระเข้เป็นหลักและพื้นที่ใกล้เคียง
2) โรงพยาบาลหนองเรือ
โรงพยาบาลหนองเรือเป็นแหล่งบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ ที่ให้บริการสุขภาพประชาชนชาวหนองเรือทั้งหมดที่ให้บริการดูแลรักษาโรคแก่ผู้ป่วยที่ซับซ้อนมากขึ้นจาก รพ.สต. ให้บริการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยนอก และส่งต่อไปยังสถานบริการตติยภูมิ โรงพยาบาลหนองเรือ โดยตั้งอยู่ในตัวอำเภอหนองเรือซึ่งห่างจากหมู่บ้านหัวนาหมู่ที่ 12 ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
สาธารณูปโภคในชุมชน
แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคของบ้านหัวนา หมู่ที่ 12 ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ส่วนน้ำที่ใช้ในการบริโภคจะมีทั้งซื้อน้ำดื่มเพื่อบริโภค รองน้ำฝนแล้วกรองดื่ม ส่วนไฟฟ้ามีเพียงพอทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งบ้านหัวนาหมู่ที่ 12 อยู่ในเขตการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหนองเรือ
ข้อมูลประชากร
จากการสำรวจเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 590 คน เป็นชาย 281 คน เป็นหญิง 309 คน หลังคาเรือนมีจำนวน 116 หลังคาเรือน
คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ผู้คนในชุมชนบ้านหัวนา มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ
1) ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน และ กรรมการหมู่บ้าน (ทั้งคณะ) 17 คน
2) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 13 คน
กลุ่มไม่เป็นทางการ กลุ่ม/ชมรมต่างๆ
- หมอพื้นบ้าน 3 คน ได้แก่ หมอแต่งแก้ หมอเป่า และหมอน้ำมนต์
กลุ่มจักสานตะกร้าด้วยเส้นใยพลาสติก โดยการจักสานตะกร้าเพื่อใส่สิ่งของต่าง ๆ มีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 10 คน จะขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
- กลุ่มเลี้ยงไก่ เพื่อให้มีไข่ไว้บริโภคในครัวเรือน และที่เหลือจึงจำหน่ายเก็บรายได้ไว้เป็นทุนต่อไป
- กลุ่มเลี้ยงหมู
- กลุ่มเลี้ยงวัว
เป็นทางการ
ในรอบปีของประชาชนบ้านหัวนามีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
สำหรับด้านสังคมวัฒนธรรม พบว่าประเพณีพิธีกรรมความเชื่อวิถีชีวิต ทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนมีกิจกรรมประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อตลอดทั้งปี ดังนี้
1. วันขึ้นปีใหม่ ชุมชนเกิดความรื่นเริงสนุกสนานได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด
2. บุญคูณลาน จัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในลานของตน และเพื่อเป็นการขออานิสงส์ต่างๆ
3. บุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ในวันเดียว โดยเชื่อว่าผู้ใดปฏิบัติได้จะพบพระศรีอริยะเมตไตร
4. สงกรานต์ จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณแก่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และครู อาจารย์ โดยการนำน้ำอบ น้ำหอมไปสรงน้ำให้ผู้สูงอายุ
5. บุญบั้งไฟ จัดขึ้นเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยมีความเชื่อว่าถ้าจุดยั้งไฟขึ้นฟ้าพระยาแถนจะสั่ง ให้ฝนตกตามฤดูกาล
6. บุญเบิกบ้าน มีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาพุทธและไสยศาสตร์ ในวันงานชาวบ้านจะพากันนําภัตตาหารมาถวายแด่พระภิกษุ สงฆ์และร่วมกัน ฟังเทศน์ฟังธรรม รวมทั้งมีการเซ่นไหว้ศาลหลักบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติและช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามออกไปจาก หมู่บ้าน ให้บ้านเกิดความเป็นสิริมงคล
7. บุญเข้าพรรษา จัดขึ้นเพื่อนำเทียนและผ้าจำพรรษาไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ให้มีใช้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน
8. บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นเพื่อนำห่อข้าวซึ่งมีอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ไปวางไว้ให้ผีบรรพบุรุษนำไปกินโดยเชื่อว่าในคืนเดือนเก้าดับนี้ประตูนรกจะเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์
9. บุญข้าวสาก จัดขึ้นเพื่อให้ข้าวกล้าในนางอกงามและได้ผลบริบูรณ์ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อว่า "ผีตาแฮก" ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษาข้าวกล้าในนาให้ได้ผลดี
10. วันออกพรรษา จัดขึ้นเพื่อจุดประทีป โคมไฟ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า
11. ลอยกระทง จัดขึ้นเพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อเพื่อรักษาขนบธรรมนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และเพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือ แม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
12. บุญกฐิน เจ้าอาวาสแจ้งว่าวัดนั้นยังไม่มีผู้ใด จองกฐิน ผู้มีจิตศรัทธาที่จะทําบุญจะปักสลากเพื่อ ประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นผู้จองและจะนํากฐินมาทอดที่วัดดังกล่าวสลากต้องปักไว้ในที่เปิดเผย เช่น ศาลาโรงธรรม หรือฝาผนัง ด้านนอกของโบสถ์ รายละเอียดในสลากก็จะบอกถึงชื่อที่อยู่ของผู้ที่จะนํากฐินมาทอด รวมทั้งบอกวันเวลาที่จะทอดด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าศรัทธาอื่นนํากฐินมาทอดรวมทั้งบอกวันเวลา ที่จะทอดด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าศรัทธาอื่นนํากฐินมาทอดซ้ำซ้อนกัน เพราะวัดหนึ่งๆ จะรับกฐินได้ปีละหนึ่งกองเท่านั้น คนอีสานมีความเชื่อว่าถ้าผู้ได้ทําบุญกฐิน แล้วตายไปจะไม่ตกนรก มีแต่จะได้รับผลบุญที่ตนเองกระทําเอาไว้เก็บกินในชาติหน้า การทําบุญกฐินจึงจัดเป็นงานสำคัญ ผู้ที่จะทําบุญกฐินจึงบอกกล่าว ลูกหลาน ญาติมิตรของตนให้โดยพร่อมหน้า ครั้นถึงวันรวมก็จะตั้งองค์กฐินที่บ้านของตน
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ประชาชนชุมชนบ้านหัวนา หมู่ที่ 12 ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มี อาชีพเกษตรกรรม (ทำนา-ทำไร่-ทำสวน) อาชีพรับจ้างทั่วไป/ รับจ้างรายวัน ปศุสัตว์
นายหนูเวียง ศรีวงษา (หมอน้ำมนต์)
พ่อหนูเวียง ศรีวงษา ปัจจุบันอายุ 78 ปี เกิดวันที่ 4 กค 2487 ปีมะแม โดยนายหนูเวียงเป็นบุตรคนที่ 2 ของนายสี ศรีวงษา และนางโน ศรีวงษา เดิมภูมิลำเนาเป็นคนบ้านขนวน เมื่อปี พ.ศ. 2495 นายหนูเวียงได้จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านขนวน ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น หลังจากที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วก็ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากพ่อแม่ฐานะไม่ดีจึงใช้ชีวิตอยู่บ้าน ทำงานช่วยพ่อแม่ ไถไร่นา ซึ่งครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา ทำไร่ ทำสวนตลอดมา
ต่อมา พ.ศ. 2508 เมื่ออายุ ได้ 21 ปี นายหนูเวียงได้บวชทดแทนพระคุณบิดามารดาที่วัดบ้านโพธิ์ตาก บวชได้ระยะเวลา 1 พรรษา จึงได้ลาสิกขาออกมาและมาช่วยพ่อแม่ทำนา ทำไร่ ช่วยไถนา หว่านข้าว ดำนา และรับจ้างทั่วไป เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว
ต่อมา พ.ศ. 2510 นายหนูเวียงได้แต่งงานกับนางมะลิวัลย์ ร่วมกันสร้างครอบครัวมีบุตรด้วยกัน 1 คน เป็นบุตรชายคือ นายประเทือง ศรีวงษา ซึ่งหลังจากแต่งงานแล้วก็ได้มาอยู่ที่บ้านหัวนาตลอดมา ได้ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
ต่อมา พ.ศ. 2515 นายหนูเวียงได้สนใจ เรียนรู้ การเป่าน้ำมนต์จากพี่ชายในการเป็นหมอเป่าน้ำมนต์จึงเรียนรู้จนสำเร็จและนำมาใช้ในการรักษาคนป่วยที่ต้องการให้คน เช่น เป่าแขน เป่าบริเวณที่บาดเจ็บ โดยจะมีการท่องคาถาระหว่างประกอบการรักษา ซึ่งในการเป่าหรือประกอบพิธีต้องมีดอกไม้แดงในการทำพิธีกรรม แต่งขันธ์ 5 โดยคนป่วยจะมาเป่าที่บ้าน และทั้งมีคนมารับออกไปบ้านอื่น ซึ่งค่าครูก็จะแล้วแต่ชาวบ้านที่มารักษาจะให้ตามกำลังศรัทธาและก็ได้ช่วยรักษาชาวบ้านที่บาดเจ็บมาจนปัจจุบัน นายหนูเวียงเล่าว่า คนที่มาเป่าก็มีอาการดีขึ้น ไม่มีอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและได้รักษาคนป่วยมาจนปัจจุบัน
พ่อหนูเวียง ศรีวงษา เล่าว่าสิ่งที่ประทับใจที่สุดในชีวิตนี้คือ “ในชีวิตนี้รู้สึกประทับใจที่มีครอบครัวอบอุ่น ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว ต่างคนต่างเคารพและให้เกียรติกันตลอดมา รวมทั้งกิจกรรมในชุมชนก็จะเข้าร่วมกิจกรรมตลอด เช่น พาสวดมนต์งานศพ บังสกุล ทอดเทียนพรรษา ถ้ามัคทายกคนอื่น ๆ ไม่ว่าง ตนก็จะเป็นผู้นำพาชาวบ้านประกอบพิธีกรรม”
กองทุนทางเศรษฐกิจในชุมชน
กองทุนในชุมชนบ้านหัวนาหมู่ที่ 12 ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีดังนี้
1) กองทุนเงินล้าน
กองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะมีธนาคารออมสินและ ธกส. เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินของสมาชิก เริ่มมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 ปัจจุบันมีนายเป ศรีขำเป็นประธานกองทุน โดยกองทุนเงินล้านมีสมาชิกทั้งหมด 190 คน ในการดำเนินการจะให้สมาชิกสามารถกู้ยืมได้ไม่เกินคนละ 20,000 บาท ถ้ารายใดกู้เกินกว่าจำนวนที่กำหนดต้องให้ที่ประชุมสมาชิกชี้ขาด โดยอนุมัติไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 5 ต่อปี โดยจะพิจารณากำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ตามความเหมาะสม แต่ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ถ้าผิดสัญญาไม่ชำระคืน ต้องเสียเบี้ยปรับซึ่งคณะกรรมอาจพิจารณายกเลิกหรือปรับลดดอกเบี้ยให้ ซึ่งจะมีเงินฝากสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งเป็นเงินฝากประจำทุกเดือนต่อเนื่อง จะเพิ่มเงินฝากได้ปีละ 1 ครั้ง ออมเงินขั้นต่ำ 30 บาทต่อเดือนและปันผลทุกสิ้นปี
2) กองทุนเงินแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ)
โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2536 มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจน โดยมีรูปแบบการดำเนินการโดบมีงบประมาณจัดสรรเงินกองทุนให้หมู่บ้านฝึกอบรม พัฒนาอาชีพหมู่บ้านละ 280,000 บาท และให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประธานกองทุนซึ่งมีนายไพลิตร กันยา เป็นประธาน โดยมีคณะกรรมการทั้งหมด 7 คน โดยกองทุนจะให้สมาชิกกู้ยืมไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน โดยไม่คิดดอกเบี้ย และสมาชิกจะต้องคืนเงินที่กู้ยืมภายในระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันทำสัญญา โดยพิจารณาความสามารถในการส่งใช้เงินยืม ประเภทอาชีพตามความเหมาะสมและเป็นไปได้และระยะเวลาที่จะก่อให้เกิดรายได้ของครัวเรือนนั้น ประเภทอาชีพที่ครัวเรือนสามารถเสนอขอยืมได้มีดังนี้ 1. อุตสาหกรรมในครัวเรือน 2. ค้าขาย 3. งานช่าง 4. เกษตรกรรม 5. อาชีพอื่น ๆ จะมีเงื่อนไขในการยืมของครัวเรือนคือ ให้นำไปใช้ประกอบอาชีพตามโครงการที่เสนอขอยืม ห้ามนำไปใช้หนี้สินเดิม ห้ามนำไปบูรณะซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและห้ามนำไปใช้จ่ายในครอบครัว
3) กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ศพ
การสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ในการจัดการศพหรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิกซึ่งถึงแก่ความตายด้วยเงินสงเคราะห์ซึ่งมี 4 หมู่บ้านรวมกัน ได้แก่ บ้านหัวนาหมู่ 2, 3 และ 12 บ้านหนองแปน มีคณะกรรมการ 10 คน โดยมีนายถนัด ด่านเก่า เป็นประธาน คณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านจะเก็บเงินหมู่บ้านตนเองแล้วนำไปให้เหรัญญิกมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยจะเก็บเงินสมาชิก 20 บาทต่อคนภายในครัวเรือน
4) กองทุนน้ำประปาประจำหมู่บ้าน
ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานกองทุนและเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยจะเก็บเงินในแต่ละเดือน นำไปจ่ายค่าไฟ เงินที่เหลือก็จะนำไปฝากธนาคารเข้าบัญชีของกองทุน
5) กองทุนวันละบาท
โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประธานกองทุน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดำเนินการเก็บ โดยจะเก็บเงินจากสมาชิกเดือนละ 30, 31 บาท ตามวัน และถ้าหากเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจะคุ้มครองคืนละ 100 บาท (ไม่เกิน 15 คืน)
ประชาชนบ้านหัวนา ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสารในชุมชน และใช้ภาษากลาง ภาษาไทยในการติอต่อสื่อสาร กับหน่วยงานต่างๆ
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในด้านสังคมและประชากร โดยมีการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่การเป็นชุมชนกึ่งเมือง
การเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่ ชุมชนกึ่งเมือง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและวิถีชีวิต เนื่องจากอิทธิพลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายเมือง และความสมัยใหม่ มีผลให้ถนนมะลิวัลย์ที่ผ่านชุมชนของตำบลจระเข้ มีการขยายตัว ทำให้การตั้งห้างร้าน สรรพสินค้า ร้านรับจำนำที่ดิน รถยนต์ บนถนนสายหลักนี้ ประกอบกับในชุมชน เดินทางสะดวกสบาย และมีถนนเส้นทางเชื่อมต่อกันไปได้หลายบ้านหลายหมู่บ้าน จึงเอื้อต่อการค้าขาย มีตลาดเย็นของชุมชน มีตลาดคลองถม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประชาชนวัยแรงงานต้องหารายได้จากการไปทำงานในตัวเมืองขอนแก่น หรือไปต่างจังหวัด เพื่อนำมาใช้จ่ายเลี้ยงดูคนในครอบครัว เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน กลุ่มที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก เป็นต้น
ในชุมชนบ้านหัวนา มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ร้านคาเฟ่ กาแฟ
- จัดทำรายการอ้างอิงตามระบบ APA
- ผู้เรียบเรียงข้อมูลสามารถใช้เมนู Reference ในโปรแกรม Microsoft Word หรือใช้เว็บไซต์ BabyBib (http://202.28.248.175/babybib/main.php) ในการจัดทำแหล่งอ้างอิงได้