"ถิ่นจักสาน ตำนานพระเจ้าแสนแซ่ แหล่งแพร่ข้าวพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ"
ตั้งชื่อมากจาก คำว่า "หญ้าแฝก" ซึ่งเป็นไม้ประเภทเดียวกับหญ้าทั่วไป เป็นพืชที่มีอายุนานหลายปีขึ้นเป็นกอแน่น มีระบบรากลึกช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี สมัยก่อนตำบลป่าแฝกมีหญ้าแฝก เกิดขึ้นทั่วไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นตำบลนี้จึงได้ชื่อว่าตำบลป่าแฝก
"ถิ่นจักสาน ตำนานพระเจ้าแสนแซ่ แหล่งแพร่ข้าวพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ"
อำเภอแม่ใจ คำว่า “แม่ใจ” คือชื่อของลำน้ำแม่ใจ เป็นลำน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำแม่อิง ตามประวัติมีประชาชนได้อพยพมาจากจังหวัดลำปางได้มาพบแหล่งน้ำสายนี้จึงได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินโดยยึดเอาสองฝั่งลำน้ำแม่ใจเป็นหลัก อำเภอแม่ใจ เดิมเป็นตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อครั้งที่จังหวัดพะเยา ยังอยู่ในการปกครองของจังหวัดเชียงราย
บ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เดิมชื่อ บ้านป่าแฝกกลางหมู่ที่ 16 ตั้งชื่อมาจากคำว่า หญ้าแฝกซึ่งเป็นพืชประเภทเดียวกับหญ้าทั่วไป เป็นพืชที่มีอายุนานหลายปี ขึ้นเป็นกอแน่นมีระบบรากลึกช่วยยึดตระดินและรักษารากดินได้ดี
พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ ให้รวมเขตการปกครองตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลป่าแฝกและตำบลแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ใจ” ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน
พ.ศ. 2508 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)
พ.ศ. 2520 นายจันทร์ อินต๊ะปัญญา มีทีวีเครื่องแรกในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2522 เริ่มมีไฟฟ้า ต่อกัน 6-7 หลัง โดยใช้เครื่องเดียว แต่ยังไม่ทั่วหมู่บ้าน
พ.ศ. 2525 ก่อตั้งสถานีอนามัยบ้านป่าแฝก และเริ่มมีการใช้สารเคมีในการทำเกษตร
พ.ศ. 2528 ได้แยกมาจากบ้านป่าแฝกกลางหมู่ที่ 2 มาเป็นบ้านป่าแฝกหมู่ที่ 16 ตำบลป่าแฝก โดยมีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนมากและเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่และกว้างขวาง ต่อมาจึงแยกตำบลป่าแฝก ออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลเจริญราษฎร์ และตำบลป่าแฝก หมู่บ้านนี้จึงเป็นหมู่บ้านป่าแฝกกลาง หมู่ที่ 9 โดยมีชื่อป่าแฝกกลางซ้ำกันสองหมู่บ้าน จึงเห็นว่าบ้านป่าแฝกกลาง หมู่ที่ 9 อยู่ทางทิศเหนือ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านป่าแฝกกลางเหนือ มาจนถึงปัจจุบัน มีนายพิชัย มณีโชติ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
พ.ศ. 2530 นายจันทร์ อินต๊ะปัญญา ได้สร้างยุ้งข้าว ยุ้งฉางประจำหมู่บ้านและมีมาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2530 มีการระบาดของ HIV ในหมู่บ้านโดยติดมาจากผู้ชายที่ไปทำงานต่างจังหวัดโดยประมาณ 5-6 คน มีชาวบ้านเสียชีวิต และผู้คนส่วนมากในหมู่บ้านเกิดความวิตกกังวล หวาดระแวง ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเนื่องจากกลัวโรคระบาด
พ.ศ. 2536 จากถนนลูกรัง มีการก่อสร้างถนนคอนกรีต และเสาไฟฟ้า เป็นแบบไม้ แต่มีการผุพังไปเลยเปลี่ยนมาเป็นเสาไฟฟ้าแบบปูน โดยนายอดุลย์ เสมอใจ
พ.ศ. 2552 มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ 2009 เทศบาล รพ.สต. หมู่บ้าน ได้มีการรณรงค์ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
พ.ศ. 2563 มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 เทศบาล รพ.สต. หมู่บ้าน จึงมีการรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัย และมีการเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้าแจกชาวบ้านทุกหลังคาเรือน เนื่องจากช่วงนั้นหน้ากากอนามัยมีราคาแพง
ที่ตั้งของหมู่บ้าน
ลักษณะที่ตั้งบ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีถนนสายพหลโยธิน ผ่านหมู่บ้าน อยู่ห่างจากเทศบาลตำบลป่าแฝก ประมาณ 500 เมตร และห่างจากตัวอำเภอแม่ใจ ประมาณ 13 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ 35 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 มี 245 ครัวเรือน อยู่ในเขตการให้บริการด้านสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านป่าแฝก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น
- พื้นที่ที่อยู่อาศัย ประมาณ 500 ไร่
- พื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,300 ไร่
- พื้นที่ทำสวน ประมาณ 100 ไร่
- พื้นที่สาธารณะ 1 แห่ง ประมาณ 2 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่เย็นนอก หมู่ที่ 8, บ้านแม่เย็นใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าแฝกสามัคคี หมู่ที่ 11 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านป่าแฝกใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะที่ตั้งบ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำห้วยแม่เย็น ลำห้วยป่าแฝก ลำห้วยแม่กระทบ ลำห้วยซี่ลี่ และมีชลประทานแม่ลาวไหลผ่าน
จำนวนประชากรของบ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำนวน 230 อาศัยอยู่จริง 167 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 649 อาศัยอยู่จริง 429 คน
ร้อยละของประชากรบ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำแนกตามเพศและอายุ ปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีประชากรทั้งหมด 429 คน เพศชายจำนวน 205 คน คิดเป็นร้อยละ 47.79 เพศหญิงจำนวน 224 คน คิดเป็นร้อยละ 52.21 พบว่าประชากรส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 60-64 และช่วงอายุ 65-69 ปี จำนวน 51 คน และ 51 คน ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 11.89 รองลงมาเป็นอายุ 55-59 ปี จำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 11.66 และพบประชากรน้อยที่สุดในช่วง 90-94 ปี คนคิดเป็นร้อยละ 0.70
บ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีองค์กรบริหารจัดการดูแลในหมู่บ้านโดยมี นายพิชัย มณีโชติ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
การประกอบอาชีพในชุมชน ประชากรส่วนโดยมีรายได้ 30,000-59,999 บาท/ปี รายได้ภาคเกษตรเฉลี่ย 50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี รายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 30,000 บาท/ครัวเรือน/ปี มีประชาชนบางส่วนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ข้าราชการ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย
สภาพทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : เกษตรกรรม (ทำนา) ข้าวพันธ์ุดี, นาปี
- อาชีพเสริม : จักสานไซ, ไหข้าว, ทำสวนลิ้นจี่, ลำไย, ปลูกผักกาด, เลี้ยงสัตว์น้ำ ปลา กบ, รับจ้างทั่วไป, รับราชการ
- รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา, จักสาน (ไซ ไหข้าว), ทำสวน (ลิ้นจี่ ลำไย), ปลูกผักกาด, เลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลา, กบ), รับจ้างทั่วไป, รับราชการ, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย, ค่าบุหรี่-สุรา, ค่าสารเคมีทางการเกษตร
ปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินของบ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 เป็นไปตามประเพณีล้านนาทั่วไป
- อ่างเก็บน้ำแม่ปืม ได้รับประโยชน์จากคลองส่งน้ำสาย 1 R-RMC ยาว 16.550 กม. ส่งน้ำในพื้นที่ตำบลบ้านเหล่า ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย บางส่วนพื้นที่ส่งน้ำรวม 12,300 ไร่ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำห้วยแม่เย็น ลำห้วยป่าแฝก ลำห้วยแม่กระทบ ลำห้วยซี่ลี่ และมีชลประทานแม่ลาวไหลผ่าน
- กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านป่าแฝกกลางเหนือ
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านป่าแฝกกลางเหนือ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอนพิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.
ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ 9 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.
ราชกิจจานุเบกษา. (2520). พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ.2520. ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 94 ตอน 69. 28 กรกฎาคม 2520.