Advance search

มัญจาคีรีนามเมืองเก่า บึงกุดเค้าคู่เมืองบ้าน นมัสการหลวงปู่โสหลวงปู่ผาง ตลาดกลาง ที่นอนหมอน แสนออนซอนดอนเต่า งามลำเนาเขาภูเม็ง เล็งชมกล้วยไม้ป่าบาน โบราณสถานโนนศิลาเลข สิมชั้นเอกวัดสระทอง น้ำตกเนืองนองห้วยเข ผ้าฝ้ายผ้าไหมสุดเก๋หนองหญ้าปล้อง เกียรติก้องเหรียญเงินยกน้ำหนักโอลิมปิก

หมู่ที่ 4
โนนคูณ
ท่าศาลา
มัญจาคีรี
ขอนแก่น
กันนิษฐา มาเห็ม
4 เม.ย. 2023
กันนิษฐา มาเห็ม
4 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
24 พ.ค. 2023
บ้านโนนคูณ


ชุมชนชนบท

มัญจาคีรีนามเมืองเก่า บึงกุดเค้าคู่เมืองบ้าน นมัสการหลวงปู่โสหลวงปู่ผาง ตลาดกลาง ที่นอนหมอน แสนออนซอนดอนเต่า งามลำเนาเขาภูเม็ง เล็งชมกล้วยไม้ป่าบาน โบราณสถานโนนศิลาเลข สิมชั้นเอกวัดสระทอง น้ำตกเนืองนองห้วยเข ผ้าฝ้ายผ้าไหมสุดเก๋หนองหญ้าปล้อง เกียรติก้องเหรียญเงินยกน้ำหนักโอลิมปิก

โนนคูณ
หมู่ที่ 4
ท่าศาลา
มัญจาคีรี
ขอนแก่น
40160
16.308479
102.564897
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

ในปี พ.ศ. 2487 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้มาอาศัยอยู่ดอนป่าขี้ตุ่นใกล้กับหมู่บ้านโนนตุ่น ต่อมาได้อพยพเข้ามาอาศัยและจับจองที่ดินทำกิน ตามหัวไร่ปลายนาประมาณ ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวนายคำ สังหา นายพิมพ์ อันภักดี นายจันทร์ นายบิล แก้วดวงดี และครอบครัวนายหวด โดยรอบๆหมู่บ้านขณะนั้นเป็นป่ารกราก และทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านมีภูเขาสลับป่าไม้ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ภูล้อมข้าว มีลักษณะเหมือนกุ้มข้าวสมัยโบราณ ต่อมาได้มีคนจากบ้านพระยืนและบ้านแฮดอพยพเข้ามาอยู่ จนมีจำนวนครอบครัวในหมู่บ้านมากขึ้น ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อของหมู่บ้านตามชื่อของดอกต้นคูณ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2489 ได้เกิดโรคระบาดในหมู่บ้านอย่างรุนแรง คือ โรคคุดทะราด ชาวบ้านป่วยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่มีชีวิตรอดจากการเป็นโรคจำนวน 1 ราย ได้รับยาครบตามแผนการรักษา เมื่อปี พ.ศ. 2493 มีการแต่งตั้งผู้นำคนแรกของหมู่บ้าน คือ นายคำ สังหา ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดตั้งหมู่บ้านแยกจากบ้านโนนตุ่น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2518 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนบ้านโนนคูณรัฐประชาสรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณป่าภูล้อมข้าว ส่งผลให้ปัญหาการลักลอบตัดไม้ ตลอดจนการล่าสัตว์ลดลง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการรวมตัวกันของชาวบ้านในการอนุรักษ์ปาภูล้อมข้าวร่วมกับสำนักสงฆ์ ต่อมาใน พ.ศ. 2553 นายฉลอง สังหา ได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลท่าศิลา

บ้านโนนคูณ หมู่ที่ 4 อยู่ในเขตการปกครองของตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น การเดินทางเข้าสู่ชุมชนบ้านโนนคูณจากสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์ประจำทางโดยใช้เส้นทางหมายเลข 2062 สายขอนแก่น-มัญจาคีรี จากสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านอำเภอพระยืน ระยะทาง 38 กิโลเมตร ใช้เวลา 45 นาที การเดินทางจากชุมชนบ้านโนนคูณไปยังอำเภอมัญจาคีรี สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์ประจำทางโดยใช้เส้นทางหมายเลข 2062 สายขอนแก่น-มัญจาคีรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ระยะทาง 30 กิโลเมตร ใช้เวลา 35 นาที

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านศิลาทิพย์ ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านขามป้อม ตำบลโพนเพ็ก อำเภอมัญจาคีรี
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโนนตุ่น ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านคำน้อย ตำบลคำแคน อำเภอมัญจาคีรี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่ชุมชนบ้านโนนคูณมีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่สูงต่ำสลับกันเป็นลอนคลื่นอยู่ในส่วนของที่ราบสูงโคราชที่ลาดเทลงไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ มีที่ราบลุ่มบางตอน บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำชี มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางโดยเฉลี่ย 150-250 เมตร ทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงและภูเขา ได้แก่ ภูผาแดง ภูผาดำและภูเม็ง ส่วนทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำชี สภาพภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. บริเวณแอ่งโคราช ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น มีทั้งที่ดอนสลับที่นา และที่ราบสูงบางส่วนและบางส่วนเป็นที่ราบลำน้ำชี ครอบคลุมบริเวณตอนกลางถึงตอนล่างของอำเภอ
  2. บริเวณที่ราบสูงตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นถึงลอนลึก มีสภาพเป็นที่ราบสูง ครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันตกของอำเภอ

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ

ลำห้วยพะเนาว์ 1 แห่ง และป่าภูล้อมข้าว

สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน

  1. วัดป่าภูล้อมข้าว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน เป็นภูเขาขนาดเล็ก มีระยะทางห่างจากชุมชนประมาณ 3 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 245 เมตร เป็นสถานที่สักการบูชา และปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน
  2. ศาลปู่ตา เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านโนนคูณ
  3. ศาลากลางบ้าน (สุขศาลา)

จากการสำรวจเมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2561 พบว่าบ้านโนนคูณมีจำนวนครัวเรือน 157 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 776 คน แบ่งเป็นเพศชาย 378 คน เพศหญิง 399 คน และข้อมูลจากกรมการปกครองเมื่อเดือนกุมพาพันธ์ 2566 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 752 คน เป็นเพศหญิง  385 คน เพศชาย 367 คน และมี 239 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายมีผู้ใหญ่อาศัยภายในครอบครัวทำให้การอบรมดูแลคุณธรรม จริยธรรม การให้คำปรึกษาของผู้ใหญ่ส่งผลให้บุตรหลานเจริญเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และบางส่วนอาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวเดี่ยว โดยส่วนมากเป็นลักษณะที่เครือญาติตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน ส่งผลให้มีความใกล้ชิดมีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ซึ่งแต่ละครอบครัวมีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกันเฉลี่ยครอบครัวละ คน โดยช่วงวัยของประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในบ้านโนนคูณ คือ วัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปีมีจำนวนมากถึง 525 คน

การปกครองในชุมชนมีหัวหน้าชุมชนคือ นายฉลอง สังหา เป็นกำนันของชุมชน ซึ่งมีอำนาจการปกครองสูงสุด และมีคณะกรรมการต่างๆในการปกครองดังผังต่อไปนี้

ผู้คนในชุมชนบ้านโนนคูณมีการจัดตั้งกลุ่ม กองทุน และสวัสดิการแก่สมาชิกในชุมชน 5 กองทุน ได้แก่

1.กองทุนสวัสดิการชุมชน

มีการประกาศรับสมาชิกโดยมีการกู้ยืมของสมาชิกในชุมชน สามารกู้ได้สูงสุด 20,000 บาท/ราย แต่ไม่เกิน 70,000 บาท มีการประชุมสมาชิกเพื่อชี้แจงในแต่ละราย โดยการผ่อนชำระหนี้ปีต่อปีหรือหักชำระดอกเบี้ยรายปี แหล่งเงินทุนจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2.กองทุนฌาปนกิจ

  • ฌาปนกิจหมู่บ้าน โดยสมาชิก 153 หลังคาเรือนในหมู่บ้าน  จะต้องจ่ายหลังคาละ 100 บาท/ศพ เพื่อใช้ในการจัดงานศพและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆของการจัดงานศพของสมาชิกฌาปนกิจหมู่บ้าน 17,300 บาท/ศพ
  • ฌาปนกิจตำบลท่าศาลา โดยสมาชิกในตำบลจะต้องจ่ายหลังคาละ 10 บาท/ศพ
  • ฌาปนกิจเงินล้าน โดยสมาชิกที่กู้กองทุนเงินล้านจะต้องเป็นสมาชิกฌาปนกิจหมู่บ้านทุกราย เพื่อจะได้นำเงินฌาปนกิจหมู่บ้านเพื่อมาชำระกองทุนเงินล้านที่กู้ยืมไป

3.กองทุนประชารัฐ ประกอบด้วย

  • กองทุนปุ๋ยโดยให้สมาชิกสามารถนำปุ๋ยไปใช้ในการทำเกษตรก่อน ราคาในการจำหน่าย เช่น สูตร 15-15-15 ราคากระสอบละ 830 บาท เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือในระยะเวลาปีต่อปี ชาวบ้านจะนำเงินมาจ่ายค่าปุ๋ย 
  • กองทุนน้ำดื่ม สามารถนำถังน้ำขนาด 18 ลิตร ไปกดน้ำหยอดเหรียญ ถังละ 5 บาท กำไรกองทุนน้ำดื่มเฉลี่ยต่อปี ได้กำไรปีละ 12,000 บาท ซึ่งจะนำกำไรฝากที่กองทุนโครงการหมู่บ้านละ 1 ล้าน โดยมีแนวคิดที่จะนำเงินกำไรไปซื้อถังน้ำขนาด 18 ลิตร มาแจกชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านนำถังน้ำนำไปกดน้ำหยอดเหรียญเพื่อเพิ่มกำไรให้กับกองทุน

4.กลุ่มแม่บ้าน เป็นการรวมกลุ่มของแม่บ้านในชุมชนเมื่อมีงานต่างๆในหมู่บ้าน เช่น งานศพ งานแต่งงาน จะเป็นกลุ่มที่ไปช่วยงานบ้านเจ้าภาพ

5.กลุ่มฟาร์มไก่ มี 26 ฟาร์ม โดยเป็นสมาชิกของบริษัทเอกชน (เบทาโกร) บริษัทจะมีการลงทุนทำฟาร์มไก่ให้แล้วให้สมาชิกเป็นผู้เลี้ยงไก่แล้วส่งขายให้กับบริษัทเป็นผู้รับซื้อตามราคาที่กำหนด เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

ในส่วนของการประกอบอาชีพทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันประชากรในชุมชนโนนคูณพบว่าทำเกษตรกรรมเป็นหลัก 269 คน และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพรอง 231 คน เป็นนักเรียน 148 คน ว่างงาน 51 คน พนักงานเอกชน 40 คน ค้าขาย 27 คน และข้าราชการ 10 คน

ชุมชน หมู่ 4 บ้านโนนคูณ ตำบลท่าศิลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมด้านสังคมและอาชีพหลักของคนในชุมชนบ้านโนนคูณ คือ เกษตรกร ได้แก่การเลี้ยงสัตว์ทั้งวัวและไก่ตลอดทั้งปี การทำนา โดยเริ่มต้นไถกลบนาในเดือนเมษายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนส่วนอาชีพรองของชาวบ้านโนนคูณคือ รับจ้างทั่วไปและค้าขาย โดยทำควบคู่กับการทำเกษตรกรร สำหรับด้านวัฒนธรรม พบว่าประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตทางสังคม และวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนมีกิจกรรมประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อตลอดทั้งปี เช่น เดือนกันยายนมีประเพณีบุญข้าวประดับดิน เดือนตุลาคมมีบุญออกพรรษา เดือนพฤศจิกายนมีประเพณีบุญกฐินและการลอยกระทง เป็นต้น มีเพียงเดือนมีนาคมและมิถุนายนที่ไม่มีการประกอบประเพณีหรือพิธีกรรมขึ้น 

1.นายฉลอง สังหา

มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนนคูณ บ้านเลขที่ 109 หมู่ 4 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2510 นายฉลองมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันทั้งหมด 12 คน ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลท่าศาลา ในปี พ.ศ.2518 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ 2 โรงเรียนบ้านโนนตุ่น ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนบ้านโนนคูณรัฐประชาสรรค์ ระดับประถมศึกษาที่ 3-4 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนท่าศาลา ระดับประถมศึกษาที่ 5-6 ในปี พ.ศ.2523 เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปี 1-6 โรงเรียนมัญจาคีรีศึกษา เมื่อเรียนจบการศึกษาปี พ.ศ.2529 ได้แต่งงาน มีบุตรสาว 2 คน ต่อมาได้ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่ อยู่ 2 ปี แล้วได้ไปทำงานโรงงานปลากระป๋องที่กรุงเทพ 1 ปี ในปี พ.ศ.2533 ย้ายกลับมาที่บ้านโนนคูณ ทำอาชีพค้าขายอยู่ที่บ้าน ในปี พ.ศ.2548 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน 2 สมัย ระยะเวลา 5 ปี ต่อมาในปี พ.ศ.2553 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลท่าศาลา และทำอาชีพทำไร่ทำนา รับเหมาก่อสร้าง จนถึงปัจจุบัน

2.นายนิสัน คุณทะวงษ์

มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนนคูณ บ้านเลขที่ 135 หมู่ 4 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2515 นายนิสันมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันทั้งหมด 4 คน จบการศึกษา ปวส. ตำบลท่าศาลา ปี พ.ศ.2559 เมื่อปี 2517 ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ตามบิดามารดา ศึกษาระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ที่โรงเรียนทุ่งเศรษฐี ต.สะจอบ อ.สีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จากนั้นได้ทำงานรับจ้างก่อสร้างแล้วเดินทางไปทำงานที่โรงงานมหาชัย 3 เดือน จนถึงอายุ 17 ปี จึงกลับมาที่ภูมิลำเนาเดิม ปี 2531 แล้วทำงานขับรถรับจ้างขนมันสำปะหลังและแต่งงานกับนางบุญวาส (ภรรยาคนปัจจุบัน) มีบุตรสาวร่วมกัน คน ในปี 2532 ได้เป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานเกษตรกรปลูกแตงโม ในปี 2547 ได้รับตำแหน่งเป็นประธาน อสม. และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เป็นหลักจนถึงปัจจุบัน

3.นายประยุทธ์ มากมาย

มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนนคูณ บ้านเลขที่ 72 หมู่ 4 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497 นายประยุทธ์มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันทั้งหมด 5 คน ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนบ้านป่าหม้อ ต.พระยืน จ.ขอนแก่น แต่งงานกับนางเจียม มีบุตร 2 คน เมื่อปี 2518 ย้ายมาอยู่กับภรรยา ที่บ้านโนนคูณ และเป็นจิตอาสาสร้างถนน ปี 2521 ได้บริจาคที่ดินจำนวน 2 ไร่ ให้ทางการหลวงสร้างบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ ต่อมาปี 2532 ลงสมัครสมาชิก อบต. ได้รับตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร 3 สมัย ปี 2536 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 4 ปี หมดวาระวันที่ 19 ตุลาคม 2560 แต่ยังดำรงตำแหน่งรักษาการแทนรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจนถึงปัจจุบัน และได้บริจาคที่ดินจำนวน 1 งาน เพื่อเจาะน้ำบาดาลและผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์

ทุนวัฒนธรรม

วัดป่าภูล้อมข้าว เป็นวัดแห่งเดียวของหมู่บ้านโนนคูน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน เป็นภูเขาขนาดเล็ก มีระยะทางห่างจากชุมชนประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่สักการบูชา และปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่จัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ในป่าภูล้อมข้าว ส่งผลให้การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าลดลง และการล่าสัตว์ลดลงตามไปด้วย ป่าภูล้อมข้าวจึงเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์

ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านโนนคูณ ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ก็ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร โดยมีสำเนียงเป็นลาวตะวันตก (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านโนนคูณที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในด้านสังคมและประชากร มีรายละเอียด  ดังนี้

การเคลื่อนย้ายประชากร ในอดีตผู้คนในชุมชนมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรม ประเพณีต่างๆจากรุ่นสู่รุ่นจากคนในครอบครัว มีการอบรมคุณธรรม จริยธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ต่อมาในปัจจุบัน เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตออกไปนอกชุมชน ทั้งออกไปหางานทำในชุมชนเมือง การออกไปศึกษานอกชุมชน นำไปสู่การตั้งถิ่นในต่างถิ่น การเคลื่อนย้ายประชากรนี้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนเนื่องจากก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันของคนข้ามรุ่น เช่น การอยู่ร่วมกันของตายายกับหลาน ซึ่งเป็นภาระให้กับผู้สูงอายุและยังส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากความต่างของวัยเช่น ระบบความคิด ค่านิยม ทัศนคติ วุฒิภาวะ การควบคุมอารมณ์ และประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต เป็นต้น ซึ่งการย้ายถิ่นฐานของประชากรเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว


การดูแลรักษาป่าภูล้อมข้าว การตัดไม้ทำลายป่าภูล้อมข้าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยอดีต ทั้งการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง การลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ในป่าแห่งนี้ซึ่งเป็นป่าที่สำคัญของหมู่บ้านโนนคูณ ทั้งเป็นป่าที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์วัดป่าภูล้อมข้าว และเป็นแหล่งสำคัญในการหาอาหารและใช้ประโยน์ของชุมชน หลังจากเกิดการก่อตั้งสำนักสงฆ์เมื่อ พ.ศ. 2545 ส่งผลให้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้นลดลงและต่อมา พ.ศ. 2547 กรมป่าไม้ได้เข้ามาสนับสนุนการจัดการป่าชุมชน ทำให้การดูแลป่าเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 โครงการฟื้นฟูลุ่มแม่น้ำชีได้เข้ามาสนับสนุนการดูแลป่า ทำให้ปัจจุบันป่าภูล้อม ข้าวได้รับการฟื้นฟู และมีสภาพที่ดีขึ้น

ในชุมชนบ้านโนนคูณมีจุดที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น โรงเรียนบ้านโนนคูณรัฐประชาสรรค์ เป็นโรงเรียนประจำชุมชน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถม ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2518

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. (2559). วิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้นที่ทำให้งานชุมชนง่ายได้ผลและสนุก. นนทบุรี : สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากรบ้านโนนคูณ. สืบค้นเมื่อวันที่   12 เมษายน 2566. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/

Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2566. จาก https://www.sanook.com/