Advance search

บ้านศิลปินเจริญ มาบุตร

หมู่ที่ 3
บ้านป่าแฝกเหนือ
ป่าแฝก
แม่ใจ
พะเยา
สุธาสินี ด่านสวัสดิ์
1 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
15 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
24 พ.ค. 2023
บ้านป่าแฝกเหนือ

ตั้งชื่อมากจาก คำว่า “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นไม้ประเภทเดียวกับหญ้าทั่วไป เป็นพืชที่มีอายุนานหลายปีขึ้นเป็นกอแน่น มีระบบรากลึกช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี สมัยก่อนตำบลป่าแฝกมีหญ้าแฝก เกิดขึ้นทั่วไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นตำบลนี้จึงได้ชื่อว่า ตำบลป่าแฝก และคงเป็นที่มาเช่นเดียวกับชื่อหมู่บ้าน


บ้านศิลปินเจริญ มาบุตร

บ้านป่าแฝกเหนือ
หมู่ที่ 3
ป่าแฝก
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.42201707
99.76240933
เทศบาลตำบลป่าแฝก

“แม่ใจ” เดิมชื่อ “บ้านปง” ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ให้ข้อคิดเห็นแนวเดียวกันว่า "บ้านปง" นั้น เพราะแต่เดิมชาวแม่ใจกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานอพยพมาจากบ้านปงแสนทอง จังหวัดลำปาง อำเภอแม่ใจ จัดตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็นเมือง และ ตำบล เมื่อ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ในขณะนั้น "แม่ใจ" มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ซึ่งได้จัดการปกครองรวมกันเข้าเป็นจังหวัดพายัพ ที่ชื่อว่า "บ้านแม่ใจ" นั้นเล่ากันว่า เคยมีเจ้านายฝ่ายเหนือ ได้เดินทางมาตามลำน้ำสายหนึ่ง เพื่อมาใจ (มาเยือน) อาณาประชาราษฎร์ แม่น้ำสายนี้จึงได้ชื่อว่า "น้ำแม่ใจ" และได้หยุดพักบริเวณทุ่งกว้างแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ เรียกว่า "ทุ่งหลวง" เพราะเคยมีเจ้านายและข้าหลวงมาพักบริเวณทุ่งหลวงแห่งนี้ ชาวแม่ใจจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อว่า "บ้านแม่ใจ" ตามชื่อแม่น้ำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา น้ำแม่ใจเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวแม่ใจ (พระครูมานัสนทีพิทักษ์, 2538)

ประมาณ พ.ศ. 2346 โดยการนำของพ่อแสนปัญญา พ่อแก้วตุ่น พ่อเฒ่างอ พ่อน้อยโปทา และพ่อหนานทา ราทะ ได้พาครอบครัวจากเขลางค์นคร (ลำปาง) มาแสวงหาแหล่งทำกินที่อุดมสมบูรณ์เพื่อสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ มาพบลำน้ำแม่ใจไหลตลอดปี จึงยึดริมฝั่งน้ำเป็นที่ทำมาหากิน ประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรม ต่อมามีผู้คนทราบว่าในท้องถิ่นนี้อุดมสมบูรณ์มาก จึงพากันอพยพติดตามมาอีกหลายครอบครัว เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็น “เมือง” และ “อำเภอ” เมื่อ ร.ศ. 129 (พ.ศ.2453) ในขณะนั้น“แม่ใจ” มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ที่ได้จัดการปกครองรวมกันเป็นจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ให้อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จำนวน 6 คน คนแรกคือ นายถิน ได้นามสกุลภายหลังการมี พรบ.นามสกุลคือ ควรสมาคม ต่อมาในปี ร.ศ. 133 (พ.ศ. 2457) อำเภอแม่ใจ ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

 พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ  มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อยและตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน 

พ.ศ. 2508 พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอ อำเภอแม่ใจ พ.ศ. 2508  ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ  อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2510 บ้านป่าแฝกเหนือ เดิมชื่อบ้านป่าแฝก อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นประชากรเพิ่มขึ้น กรมการปกครองจึงมีความเห็นให้แยกออกจากบ้านป่าแฝก หมู่ที่ 3 มาเป็นหมู่บ้านใหม่ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา มีนายศรีวงศ์ เชื้อเมืองพาน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ได้ทำการพัฒนาหมู่บ้านในหลายด้านรวมเป็นเวลาประมาณ 10 ปี

พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)

ที่ตั้งของหมู่บ้าน

บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตั้งอยู่ในตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีถนนสายพะเยา-เชียงรายผ่าน อยู่ทิศตะวันตกของเทศบาลตำบลป่าแฝก ห่างจากเทศบาลตำบลป่าแฝกประมาณ 500 เมตร และห่างจากตัวอำเภอแม่ใจ ประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพะเยา ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 สายนครสวรรค์-เชียงราย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,9473 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 2,467.06 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่เย็นนอก หมู่ที่ 8 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านพิจิตรพัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่9 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านป่าแฝกดอย หมู่ที่ 4 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ลักษณะภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านป่าแฝกเหนือ เป็นพื้นที่ราบ โดยมีคลองน้ำป่าแฝกไหลผ่านหมู่บ้าน พื้นที่เป็นดินเหนียวปนทราย ชาวบ้านจะทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกหอม กระเทียม ซึ่งปัจจุบันที่นาบางส่วนถูกถมเพื่อทำสวนลำไย สวนลิ้นจี่

จำนวนประชากรบ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ปี 2563 จากการสำรสจของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา จำนวนครัวเรือนที่อาศัยที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 271 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 599 คน แยกเป็นเพศชาย จำนวน 279 คน เพศหญิงจำนวน 320 คน 

การปลูกบ้านที่อยู่อาศัยอยู่รวมกันแบบรวมเครือญาติ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้าน 2 ชั้นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ เนื่องจากในสมัยก่อนพื้นที่รอบหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงนิยมใช้ไม้ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและนิยมทำเป็นสองชั้นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากใต้ถุนบ้านได้ ปัจจุบันมีความเจริญทางวัตถุเข้ามา มีการนำอิฐบล็อกและคอนกรีตสร้างบ้านเรือนมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยแบบเดิมกับสมัยใหม่เกิดเป็นบ้านสองชั้นที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ มีรั้วแบ่งเขตแดนของแต่ละบ้านอย่างชัดเจน มีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันมีความคงทนถาวร การตั้งบ้านเรือนตั้งตามถนน ซึ่งแบ่งเป็น 9 ซอย ชาวบ้านมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านที่สืบทอดต่อกันมา

บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีการบริหารจัดการดูแลในหมู่บ้าน มี คณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนางวิราภรณ์ เริ่มภักตร์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจบ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำตลอดทั้งปี ได้แก่ จักสานหวดนึ่งข้าวเหนียว และเลี้ยงไก่ กบ ปลา วัว กิจกรรมเศรษฐกิจที่ทำระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ได้แก่ ปลูกหอมกระเทียม มันสำปะหลัง ข้าวโพด เก็บลิ้นจี่ และกิจกรรมเศรษฐกิจที่ทำระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. ได้แก่ เก็บลำไย และทำนาปีโดยอาศัยน้ำฝน

ศาสนาจากการสำรวจบ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ของนักศึกษาในระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2563 จำนวนทั้งหมด 80 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 271 หลังคาเรือน โดยมีประชากรที่สำรวจทั้งหมด 164 คน พบว่าทุกคนนับถือ พระพุทธศาสนาทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100

การประกอบอาชีพในหมู่บ้าน บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยมีรายได้ตั้งแต่ 30,000-200,000 บาทต่อปี มีประชาชนบางส่วนประกอบอาชีพ ค้าขาย อาชีพเสริมหลังจากการทำงานหลัก คือรับจ้างทั่วไป เป็นต้น

  • อาชีพหลัก : เกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา, สวนหอมกระเทียม,สวนลิ้นจี่, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ปลูกลำไย
  • อาชีพรอง : รับจ้างทั่วไป
  • อาชีพเสริม : เลี้ยงสัตว์, ปลูกผักปลอดสารพิษ
  • รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม, รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายอุปโภค-บริโภค, ค่าใช้จ่ายการเกษตรกรรม, ค่าการศึกษาของบุตร, ค่าใช้จ่ายในการดื่มสุรา, ค่าน้ำมันรถ, ค่าโทรศัพท์
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืม ธกส. และสหกรณ์การเกษตร
  • แหล่งเงินทุน : สหกรณ์การเกษตร, กองทุนเงินล้านในหมู่บ้าน, ธนาคารเพื่อการเกษตร
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • วัดป่าแฝกเหนือ มีอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดป่าแยกศรีชุม"ตั้งอยู่เลขที่ 19 บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2529 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือประมาณ 89 เมตร จดถนน ทิศใต้ประมาณ 89 เมตร จดทุ่งนา ทิศตะวันออกประมาณ 57 เมตร จดทุ่งนา ทิศตะวันตกประมาณ 57 เมตร จดหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหาร หอระฆัง และกุฏิสงฆ์  (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)

ภาษาถิ่นเหนือล้านนา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หอศิลป์ เจริญมาบุตร

บ้านศิลปินเมืองพะเยา เปิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 จังหวัดพะเยา โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา จัดกิจกรรม เปิดบ้านศิลปินเมืองพะเยา ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่ง ว่าที่ร้อยตรี จำรัส โสตถิกุล นายอำเภอแม่ใจ ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธีเปิดบ้านศิลปินเมืองพะเยาหลังแรก อาจารย์เจริญ มาบุตร สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม ที่บ้านป่าแฝกเหนือ ต.ป่าแฝก อ.แม่ใจ จ.พะเยา ทั้งนี้ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ได้ร่วมกล่าวแสดงความยินดีในงานด้วย (บ้านเจริญศิลป์_ learnartstudio, Facebook Page)

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านป่าแฝกกลาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps

ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนป่าแฝกเหนือ หมู่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.  

ราชกิจจานุเบกษา. (2520). พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ.2520. ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 94 ตอน 69. 28 กรกฎาคม 2520.

เปิดซุ้มหมู่บ้าน. (2565, 2 กุมภาพันธ์). ข่าวพะเยา. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. ข่าวพะเยา. ค้นจาก https://www.khawphayao.com/