Advance search

มัญจาคีรีนามเมืองเก่า บึงกุดเค้าคู่เมืองบ้าน นมัสการหลวงปู่โสหลวงปู่ผาง ตลาดกลาง ที่นอนหมอน แสนออนซอนดอนเต่า งามลำเนาเขาภูเม็ง เล็งชมกล้วยไม้ป่าบาน โบราณสถานโนนศิลาเลข สิมชั้นเอกวัดสระทอง น้ำตกเนืองนองห้วยเข ผ้าฝ้ายผ้าไหมสุดเก๋หนองหญ้าปล้อง เกียรติก้องเหรียญเงินยกน้ำหนักโอลิมปิก

หมู่ 9
หัวนากลาง
ท่าศาลา
มัญจาคีรี
ขอนแก่น
กันนิษฐา มาเห็ม
12 เม.ย. 2023
กันนิษฐา มาเห็ม
12 เม.ย. 2022
veerapat srithamboon
24 พ.ค. 2023
บ้านหัวนากลาง


ชุมชนชนบท

มัญจาคีรีนามเมืองเก่า บึงกุดเค้าคู่เมืองบ้าน นมัสการหลวงปู่โสหลวงปู่ผาง ตลาดกลาง ที่นอนหมอน แสนออนซอนดอนเต่า งามลำเนาเขาภูเม็ง เล็งชมกล้วยไม้ป่าบาน โบราณสถานโนนศิลาเลข สิมชั้นเอกวัดสระทอง น้ำตกเนืองนองห้วยเข ผ้าฝ้ายผ้าไหมสุดเก๋หนองหญ้าปล้อง เกียรติก้องเหรียญเงินยกน้ำหนักโอลิมปิก

หัวนากลาง
หมู่ 9
ท่าศาลา
มัญจาคีรี
ขอนแก่น
40160
16.272673
102.641810
องค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

เมื่อปี พ.ศ. 2440 มี 2 ครอบครัว อพยพจากบ้านดอนดู่ ตำบลพระบุ อำเภอเมืองขอนแก่น (เดิมชื่อบ้านเถียงนาชุม) คือ ขุนภักดี นางอุย แสนธนู กับครอบครัวของนายเป้า นางจันทร์ แสงธนู ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ทำไร่ทำนา คนละฝั่งของลำห้วยพะเนาว์ โดยครอบครัวของขุนภักดีอยู่ฝั่งทางทิศใต้ ส่วนครอบครัวนายเป้าอยู่ฝั่งทางทิศเหนือ และต่อมาให้ลูกแต่งงานกันและย้ายมาอยู่ด้วยกัน ได้ถากถางป่าบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำไร่ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้การทำไร่ ทำนา ได้ผลดีมาก ประกอบกับป่ามีสภาพอุดมสมบูรณ์จึงมีสัตว์ป่านานาชนิด จึงเกิดการร่ำลือปากต่อปากถึงความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีผู้อพยพมาจับจองพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขุนภักดีถูกเลือกเป็นผู้นำหมู่บ้าน และได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านหัวนากลาง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาการปกครองของบ้านหัวนากลางได้ขึ้นกับตำบลมูลตุ่นและตำบลหนองแปนจนถึงปี พ.ศ.2512 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมาบ้านหัวนากลางได้ขึ้นกับตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น 

บ้านหัวนากลาง หมู่ที่ 9 ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น มีพื้นทำการเกษตร 3,698 ไร่ ที่อยู่อาศัย 26 ไร่ 

อาณาเขต

          ทิศเหนือ          ติดต่อกับ  ลำห้วยพะเนาว์ติดกับอำเภอพระยืน

          ทิศใต้             ติดต่อกับ  สวนป่าชุมชนตำบลโพนเพ็กอำเภอมัญจาคีรี

          ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ  บ้านโนนงิ้ว หมู่ที่ 8 ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี

          ทิศตะวันตก       ติดต่อกับ  บ้านหัวนาเหนือ หมู่ที่ 6 ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพและลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน ร้อยละ 80 เป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ถนนส่วนใหญ่ภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต ไม่ค่อยมีหลุม แต่ทางหลังวัดมีหลุมเป็นจำนวนมาก และจะมี ฝุ่นละอองของถนนในฤดูแล้ง เมื่อฝนตกจะมีน้ำขังบริเวณริมถนน ส่งผลให้ถนนลื่นทำให้การเดินทางลำบากในบางครั้ง

ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 3 ฤดู ดังนี้        

 1) ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีฝุ่นละอองจากการคมนาคมฟุ้งกระจายจำนวนมากในหมู่บ้าน และพบโรคอุจจาระร่วง

 2) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายายนของทุกปีช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน ทำให้ไม่สะดวกในการคมนาคม  ท่วมพื้นที่หมู่บ้าน เป็นเวลามากสุดถึงหนึ่งเดือน ในปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก พบการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ

 3) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว พบว่า บางปีหากแล้ง พบการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ

          สาธารณูปโภคในชุมชน 

น้ำดื่มส่วนมากจะซื้อน้ำขวด น้ำถัง ส่วนน้ำที่ใช้เป็นน้ำประปาส่วนภูมิภาคและน้ำประปาของหมู่บ้าน การประปาของหมู่บ้านสามารถเปิดใช้ได้ตลอดเวลาและรองไว้ใช้ให้เพียงพอในทั้งวัน หนึ่งบ้านมีการใช้น้ำได้หลายระบบจึงมีน้ำเพียงพอต่อการใช้ตลอดปี ส่วนของไฟฟ้า ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ ชุมชนบ้านหัวนากลาง หมู่ที่ 9 อยู่ในเขตให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และพลังงานความร้อนในเขตอำเภอน้ำพอง

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในเขตของชุมชน

ป่าไม้ : ในหมู่บ้านมีป่าชุมชน จำนวน 37 ไร่ ไม้ที่มีในชุมชน ได้แก่ ไม้แดง,ไม้ชาด,ประดู่

ดิน    : ดินร้อยละ 80 เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับทำนา ทำไร่

แหล่งน้ำ

ที่

ประเภทแหล่งน้ำ

ชื่อแหล่งน้ำ

สภาพในปัจจุบัน

การใช้ประโยชน์

1.

หนองน้ำ

หนองย่างสิ้น

มีน้ำแต่ขุ่นมาก

ผลิตประปา

2.

หนองน้ำ

หนองหัน

มีวัชพืชตื้นเขิน

เพื่อการเกษตร

3.

หนองน้ำ

หนองหญ้าคา

ตื้นเขิน

เพื่อการเกษตร

4.

หนองน้ำ

หนองชาด

ตื้นเขิน

เพื่อการเกษตร

5.

ลำห้วย

ห้วยพะเนาว์

มีวัชพืชตื้นเขิน

เพื่อการเกษตร

 

จากการสำรวจบ้านหัวนากลาง หมู่ที่ 9 พบว่ามีจำนวนประชากร 321 คน มีจำนวนครัวเรือน 124 ครัวเรือน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 160 คน เพศหญิงจำนวน  161 คน และข้อมูลจากกรมการปกครองเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าบ้านหัวนากลางมี 193 หลังคาเรือน มีประชากร 520 คน เพศหญิง 258 คน เพศชาย 262 คนโดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และรองลงมาเป็นผู้สูงอายุ โดยลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่กันอย่างเป็นระเบียบ บ้านส่วนใหญ่อยู่ห่างกัน บ้านหลายหลังมีรั้วแบ่งอาณาเขตของบ้านชัดเจน ลักษณะตัวบ้านมีทั้งบ้านแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งบ้านแบบเก่าจะเป็นบ้านไม้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง ส่วนบ้านแบบใหม่จะเป็นชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน ลักษณะครอบครัวในชุมชนเป็นครอบครัวขยายมากกว่าครอบครัวเดี่ยว มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยครอบครัวละ 2-3 คน มีผู้ใหญ่คอยให้การอบรม สั่งสอนและให้คำปรึกษาในครอบครัว และส่วนมากครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวข้ามรุ่น เช่น ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็กเนื่องจากการย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองของผู้เป็นบิดามารดา ซึ่งเป็นภาระให้กับผู้สูงอายุและยังจะส่งผลให้เกิดปัญหาขัดแย้งจากความต่างวัย

1. กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ประธานคือ ผู้ใหญ่บ้าน นายเสถียร มิ่งพรหม ช่วยเหลือเรื่องการตาย โดยเก็บจากทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 100 บาท เงื่อนไขการเป็นสมาชิก ขาดจ่าย 3 ศพจะขาดจากการเป็นสมาชิก

          2. กลุ่มเครื่องสูบน้ำหมู่บ้าน ประธานกลุ่ม คือ นายเสถียร มิ่งพรหมและมีคณะกรรมการ จำนวน 9 คน เป็นกลุ่มของสมาชิกในชุมชนทำงานจิตอาสาที่ดูแลเกี่ยวกับระบบน้ำประปาของชุมชน         

          3. กลุ่ม อสม. ประธานกลุ่ม คือนางลำญวณ เบญจศีล และมีสมาชิก จำนวน 18 คน โดยแบ่งเป็นเขตที่รับผิดชอบ ทำหน้าที่ในการดูแลคนในชุมชนทั้งคนที่สุขภาพดี คนป่วยเรื้อรั้ง ติดเตียง คนพิการ การป้องกันโรค

          4. กลุ่มอยู่ดีมีสุข ประธานกลุ่ม นายเสถียร มิ่งพรหม เป็นกลุ่มเกษตร เป็นแกนนำในการเข้าร่วมการอบรมการเกษตร และเป็นผู้นำร่องในการทำเกษตรชุมชน การทำการเกษตรการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน มีคณะกรรมการ จำนวน 9 คน

อาชีพหลักของชาวบ้านหัวนากลาง คือ อาชีพเกษตร จำนวน 173 คน รองลงมา คือ นักเรียน/นักศึกษา จำนวน 56 คน และน้อยที่สุด คือ อาชีพอื่นๆ จำนวน 5 คน 

ในรอบปีของผู้คนบ้านคงคาเหนือมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

เดือนเจียง (เดือน อ้าย) มีการประกอบพิธีบุญเข้ากรรม ซึ่งเป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน  และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ชาวบ้านก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่าง ๆ

เดือนยี่ ในฤดูหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะมีการทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียมเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน

เดือนสาม ในมื้อเพ็งหรือวันเพ็ญเดือนสาม จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่ จะเริ่มตอนเช้าโดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อยนำไปจี่บนไฟ อ่อนแล้วชุบด้วยไข่เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระ

เดือนสี่ ทำบุญ บุญมหาชาติหรือบุญผะเหวดหรือพระเวสสันดร ชาวบ้านจะมีการตกแต่งศาลาด้วยโคม ไฟ ดอกไม้แห้ง และธง เพื่อความสวยงาม ในช่วงเช้าจะมีการเทศน์และทำบุญตักบาตร มีการแห่ภาพพระเวท หรือพระเวสสันดรซึ่งเป็นการเล่าประวัติของพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง งานประเพณีสงกรานต์ ชาวบ้านจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ แห่ทรายเข้าวัด สรงน้ำพระและบรรพบุรุษ มีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ในบ้าน

เดือนห้า ประเพณีตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำหรือบุญเดือนห้า ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าและถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย การสรงน้ำจะมีทั้งการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์  และผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยน้ำอบน้ำหอมเพื่อขอขมาและขอพรตลอดจนมีการทำบุญถวายทาน

เดือนหก ประเพณีบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเป็นการขอฝนพร้อมกับงานบวชนาค ซึ่งการทำบุญเดือนหกถือเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำเอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยง เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ ด้วยความสนุกสนาน คำเซิ้งและการแสดงประกอบ ส่วนการทำบุญวิสาขบูชานั้นจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ช่วงเย็นมีการเวียนเทียนเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ

          เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ (ล้าง)  หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษาซึ่งเป็นประเพณีทางพุทธศาสนา  มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร มีการฟังธรรมเทศนา ตอนบ่ายชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา การนำไปถวายวัดจะมีขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความคึกคักสนุกสนาน

เดือนเก้า ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยชาวบ้านจะทำการจัดอาหาร และนำห่อข้าวน้อยเหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้และกล่าวเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติ มิตรที่ล่วงลับไปมารับส่วนกุศลในครั้งนี้

เดือนสิบ ประเพณีทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก  (สลากภัตร) 

เดือนสิบเอ็ด ประเพณีทำบุญออกพรรษา  ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด โคมไฟนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญจุดประทีป 

เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าซึ่งจะมีการทำบุญกองกฐินโดยเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่ง ค่ำ  เดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

จากปฏิทินชุมชน หมู่ 9 บ้านหัวนากลาง ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมด้านสังคมและอาชีพหลักของชุมชนบ้านหัวนากลาง คือ เกษตรกร โดยมีการทำนา ปลูกมัน เลี้ยงวัวและเลี้ยงไก่ ส่วนอาชีพรอง คือ รับจ้างทั่วไป สำหรับด้านวัฒนธรรม พบว่าประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตทางสังคม และวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนมีกิจกรรมประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อตลอดทั้งปี

1) นายเสถียร มิ่งพรม เกิดวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2511 ที่บ้านโนนสมบูรณ์ ตำบล ห้วยสัมภาษ อำเภอประจักษ์ศิลาคม จังหวัด อุดรธานี เมื่อตอนอายุ 5 ขวบย้ายมาอยู่ที่ บ้านโคกสว่าง ตำบล หนองเเสง อำเภอหนองเเสง จังหวัดอุดรธานี ประวัติการศึกษาเริ่มศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่โรงเรียน บ้านโคกสว่าง ตำบลหนองแสง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี จากนั้นเข้าศึกษามัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 ที่โรงเรียน หวานตาลอนุสรณ์ อำเภอ กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อมาเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 ที่โรงเรียนกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงย้ายไปอยู่ที่บ้าน สักใหญ่ ตำบล วังประจบ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก มีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ทั้งในและต่างจังหวัดจนถึงอายุ 32 ปี จากนั้นได้เเต่งงานเเล้วย้ายมาอยู่กับภรรยาที่หมู่ 9 บ้านหัวนากลาง ตำบลท่าศาลา อำเภอ มัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นหลังจากแต่งงานได้ประกอบอาชีพทำนา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 ลงสมัครอบต.และได้เป็นอบต.ระยะเวลา 3 ปีจาก พ.ศ.2556 จนถึง พ.ศ.2559 จึงได้ลาออกจากอบต.เเล้วลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน เเละได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน นายเสถียรเป็นคนที่มีจิตอาสาชอบช่วยเหลือสังคมเเละได้รับการสนับสนุนต่างๆจากชาวบ้านเเละครอบครัวเป็นอย่างดีจึงทำให้มีความสุขกับการทำงานเพราะทำด้วยใจเเละได้ทำตามความฝันสร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนเเละส่วนรวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น , หัวหน้าชุด ชรบ. , หัวหน้า อปพร. , อาสาสมัครหมอดิน , อสม.และคณะกรรมการไกล่เกลี่ยหมู่บ้าน

2) นางอ่อนสี มงคล คุณแม่อ่อนสี เกิดปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 56 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ 9 บ้านหัวนากลาง ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีพ.ศ. 2531  แต่งงานกับคุณพ่อเกษม มงคล มีบุตรด้วยกัน 2 คนซึ่งเป็นหญิง 2 คน ปี พ.ศ. 2537 ได้มีการสมัครเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลผู้ป่วยและดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มสตรีบ้านซึ่งเป็นกลุ่ม เกี่ยวกับการทำอาชีพต่างๆ  ในปี พ.ศ. 2540  ปี พ.ศ.2552 ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในปี พ.ศ.2558 ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำกิจกรรมต่างๆในชุมชนและขององค์การบริหารส่วนตำบล จิตอาสาทำความสะอาดและช่วยเหลือ รพสต. และในปี 2561 เข้าร่วมและผ่านการอบรม Care Giver ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนจนมาถึงปัจจุบัน ลักษณะและนิสัยโดยส่วนตัวคุณแม่อ่อนสีเป็นบุคคลชอบช่วยเหลือผู้อื่นทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับชุมชน มีสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีภาวะผู้นำในการทำงาน ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  ซึ่งทำให้นางอ่อนสี รู้สึกมีความสุขและดีใจ ในการทำงานต่างๆหรือกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

ทุนกายภาพ

          แหล่งน้ำที่หลายหลากและดินที่อุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านหัวนากลางทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรสามารถเพาะปลูกและขายผลผลิตได้จำนวนมากโดยไม่ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกเนื่องจากแหล่งน้ำที่อยู่บริเวณชุมชนมีถึง 5 แหล่ง ทั้งหนองน้ำ ได้แก่ หนองย่างสิน หนองหัน หนองหญ้าคา หนองชาด และยังมีลำห้วยคือ ห้วยพะเนาว์ ส่วนดินในหมู่บ้านหัวนากลาง เป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ด้วยทุนทางกายภาพที่ดีนี้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีน้ำใช้ไม่ขาด และสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

          ทุนมนุษย์

          นายเสถียร มิ่งพรม เป็นผู้นำหมู่บ้านหัวนากลางตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นคนที่มีจิตอาสาชอบช่วยเหลือสังคม สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย และเข้าอกเข้าใจชาวบ้านบ้านหัวนากลางเป็นอย่างดี อีกทั้งยังคอยทำหน้าที่ต่างๆภายในหมู่บ้านด้วยใจรัก ทั้งหัวหน้าชุด ชรบ. , หัวหน้า อปพร. , อาสาสมัครหมอดิน , อสม.และคณะกรรมการไกล่เกลี่ยหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจว่า นายเสถียร มิ่งพรม สามารถนำหมู่บ้านไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นได้

ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านหัวนากลาง ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นนิยมใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร โดยมีสำเนียงเป็นลาวตะวันตกเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆในตำบลท่าศาลา (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน)


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านโนนคูณที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในด้านสังคมและประชากร มีรายละเอียด  ดังนี้

          การเคลื่อนย้ายประชากร ในอดีตผู้คนในชุมชนมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรม ประเพณีต่างๆจากรุ่นสู่รุ่นจากคนในครอบครัว มีการอบรมคุณธรรม จริยธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ต่อมาในปัจจุบัน เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตออกไปนอกชุมชน การเคลื่อนย้ายประชากรนี้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนเนื่องจากก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันของคนข้ามรุ่น เช่น การอยู่ร่วมกันของตายายกับหลาน ซึ่งเป็นภาระให้กับผู้สูงอายุและยังส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากความต่างของวัยเช่น ระบบความคิด ค่านิยม ทัศนคติ วุฒิภาวะ การควบคุมอารมณ์ และประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต เป็นต้น ซึ่งการย้ายถิ่นฐานของประชากรเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว

          การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบ้านเรือน ในอดีตหมู่บ้านหัวนากลางมีลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุน แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลง ซ่อมแซม รูปแบบบ้านให้กลายเป็นบ้านปูนในชั้นล่างและชั้นบนยังคงเป็นไม้เช่นเดิม ทำให้บ้านมีการระบายอากาศที่ดี และรอบๆบ้านนิยมปลูกไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น ต้นแค ต้นผงชูรส บวกกับมีการเลี้ยงสัตว์ บ้านส่วนใหญ่มีการทำห้องน้ำไว้ใช้ทั้งภายนอกและภายในบ้านส่วนมากนิยมใช้ส้วมซึม และบางบ้านพัฒนาไปใช้ชักโครก มีการพัฒนาระบบกำจัดขยะในชุมชน และมีการทำระบบระบายน้ำเสียในชุมชนซึ่งพบว่ายังมีบางจุดที่มีน้ำขังไม่สามารถระบายน้ำได้เนื่องจากไม่มีท่อระบาย

ในชุมชนบ้านหัวนากลาง มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ร้านขายอาหารตามสั่ง ศาลาประชาคม 1 แห่ง เป็นที่หารือ ประชุม และประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆของหมู่บ้าน

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. (2559). วิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้นที่ทำให้งานชุมชนง่ายได้ผลและสนุก,    4(11),15-100

กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากรบ้านหัวนากลาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (dopa.go.th)

Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2566.

          เข้าถึงได้จาก : https://www.sanook.com/campus/1409663/