Advance search

บ้านเลตองคุ

เลต่อโคะ

เลตองคุหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขา รอบนอกมีผาเขาสูงเป็นกำแพงธรรมชาติ ภายในหมู่บ้านนับถือลัทธิฤาษีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษีแห่งเดียวในประเทศไทย

หมู่ที่ 10
บ้านเลตองคุ
แม่จัน
อุ้มผาง
ตาก
สุพิชญา สุขเสมอ
30 พ.ค. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
24 พ.ค. 2023
บ้านเลตองคุ
เลต่อโคะ


เลตองคุหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขา รอบนอกมีผาเขาสูงเป็นกำแพงธรรมชาติ ภายในหมู่บ้านนับถือลัทธิฤาษีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษีแห่งเดียวในประเทศไทย

บ้านเลตองคุ
หมู่ที่ 10
แม่จัน
อุ้มผาง
ตาก
63170
เทศบาลตำบลแม่จัน โทร. 0-5557-7311
15.704140
98.568117
เทศบาลตำบลแม่จัน

บ้านเลตองคุตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีใครบอกได้ มีเพียงข้อมูลว่าตั้งมาได้หลายชั่วอายุคนแล้ว แต่เดิมนั้นบรรพบุรุษของกะเหรี่ยงกลุ่มนี้มีถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศพม่า ต่อมาทนต่อการกดขี่ข่มเหงของกษัตริย์พม่าในสมัยนั้นไม่ได้ เลยพากันอพยพเร่ร่อนหนีมาเรื่อย ๆ จนมาถึงเลตองคุแห่งนี้ เมื่อมาถึงเลตองคุ หัวหน้าลัทธิฤาษีสมัยนั้นได้รวบรวมผู้ที่อพยพติดตามมาให้สร้างสำนักฤาษีขึ้น ชาวบ้านได้สร้างบ้านเรือนอาศัยจนมาเป็นเลตองคุทุกวันนี้ สมัยก่อนนั้นมีบ้านเรือนไม่กี่หลัง หย่อมละ 3-5 หลัง กระจายออกไป แต่ปัจจุบันมีมากถึง 300 หลังคาเรือน เนื่องจากมีผู้คนจากทางพม่าอพยพหนีสงครามระหว่างทหารพม่ากับเคเอ็นยูมาอาศัยอยู่ที่ฝั่งไทย หลังจากสงครามสงบผู้คนบางส่วนกลับไปอยู่ที่เดิมและมีบางส่วนปักหลักอยู่ที่เลตองคุต่อไปจนถึงปัจจุบัน

ชาวเลตองคุยุคนี้ทุกคนยังรับรู้เรื่องที่ปู่ย่าตายายเล่าต่อกันมาว่า กรุงเทพฯ กับเลตองคุสร้างวันเดียวกัน สองเมืองนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ สถานการณ์หรือความเป็นไปใด ๆ ที่เกิดในที่หนึ่งจะสะท้อนถึงชะตาของอีกเมืองได้ เพราะเมืองทั้งสองสร้างวันเดียวกันจึงมีดวงเมืองเดียวกัน เรื่องเล่านี้เป็นมุขปาฐะปากเปล่าที่ไม่อาจหาข้ออ้างอิงในเชิงเอกสารด้วยการจดบันทึก เป็นเรื่องนอกเหนือวิถีชีวิตของชาวเผ่ายุคโบราณ แต่ดูจากทำเลที่ตั้งตรงนั้นเป็นที่ตั้งเมืองได้จริง เลตองคุเป็นเพียงหมู่บ้านชนเผ่าก็จริง แต่ที่ตั้งชุมชนไม่ได้อยู่บนดอยไหล่เขา หรือหุบแคบ ๆ อย่างบ้านทั่วไป หากตั้งอยู่บนแนวเนินกว้างขวางพอจะตั้งเมืองได้ ถัดออกไปรอบนอกขนาบด้วยผาเขาสูงเป็นกำแพงธรรมชาติ

บ้านเลตองคุตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภออุ้มผาง พื้นที่ตั้งหมู่บ้านมีประมาณ 2 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 160 ไร่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 40 เมตร เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยที่สำคัญสามแห่ง คือ ห้วยทีหม่อโกร ห้วยปะนอแกรโกร จะไหลมารวมกับทีหม่อโกร ห้วยปะนอแกลโกร ห้วยเลบราโกร ซึ่งห้วยบราโกรจะมาไหลรวมกับทีหม่อโกรที่สำนักสงฆ์บ้านเลตองคุ ส่วนห้วยปะนอแกรโกรจะไหลมารวมกับทีหม่อโกรหลังโรงเรียนทางทิศเหนือก่อนไหลไปยังน้ำตกบ้านเลตองคุและไหลไปทางทิศตะวันตกไปยังแม่น้ำสุริยะ ฝั่งประเทศเมียนมา สภาพหมู่บ้านเหมือนลักษณะของหมู่บ้านชายขอบทั่ว ๆ ไป หากแต่บ้านเรือนมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น ถนนภายในหมู่บ้านยังเป็นดินลูกรัง เป็นหมู่บ้านที่มีร่มไม้ใบบัง มีต้นมะพร้าว ต้นหมาก ต้นทุเรียน ต้นเงาะ ต้นระกำ ต้นลองกอง เหมือนสวนผสม

อาณาเขตติดต่อกับ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ที่ 9 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหม่องกั๊วะ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านทีหม่อทะ ประเทศเมียนมา

ลักษณะภูมิอากาศ

บ้านเลตองคุมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม โดยทั่วไปอากาศแห้ง ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีฝนตกมากเพราะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมจากทะเลอันดามัน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงมกราคม อากาศโดยทั่วไปหนาวเย็น

ลักษณะภูมิประเทศ

หมู่บ้านเลตองคุอยู่ห่างจากเขตชายแดนไทยประมาณ 1,000 เมตร มีแม่น้ำสุริยะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนซึ่งไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ ต้นน้ำอยู่ในเขตอนุรักษ์ทุ่งใหญ่นเรศวรในหมู่บ้านเลตองคุจะมีลำห้วยที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี คือ ลำห้วยทีมอไกร พืชพันธ์ุไม้ที่พบ เนื่องจากที่ตั้งของหมู่บ้านที่เป็นราบเชิงเขา มีพื้นที่นาที่ไร่อยู่ทั่วไป มีป่าไม้ที่มีค่า เช่น ไม้ยาง ไม้แดง ไม้ประดู่ ลักษณะพื้นดิน เป็นที่ราบเชิงเขาลาดไปจดประเทศพม่า มีเนินเขาสลับอยู่ทั่วไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ซึ่งลักษณะเป็นเนินเขาหินและหน้าผาสูงชัน ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย

การคมนาคม

สมัยก่อนมักใช้วิธีเดินเท้าเข้าไปถึงหมู่บ้านแห่งนี้ แต่ปัจจุบันมีทางรถเข้าถึง โดยถ้าเดินทางจากอำเภออุ้มผาง ต้องใช้เส้นทางไปทางน้ำตกทีลอซู เลยไปจนเกือบสุดชายแดนที่หมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง จะมีทางแยกไปหมู่บ้านเลตองคุ ระยะทางราว 16 กิโลเมตร เป็นถนนตัดใหม่ เส้นทางเล็กแคบผ่านไหล่เขาสูงชัน มีช่วงที่ต้องผ่านลำห้วยและผ่านช่องหินแคบ กว้างพอให้รถผ่านไปได้ อีกเส้นทางคือข้ามด่านชายแดนที่บ้านเปิ่งเคลิ่งไปทางเขตพม่า ข้ามแม่น้ำสุริยะที่บ้านกุยเลอเต่อผ่านหมู่บ้านทีหม่อทะก่อนวกกลับเข้าฝั่งไทย ซึ่งโดยระยะทางจะไกลกว่า ทั้งยังต้องจ่ายค่าผ่านทางให้ทหารพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงไม่น้อยกว่า 4 ด่าน แต่เป็นทางราบและกว้าง โดยจ่ายค่าผ่านทางด่านละ 40 บาทเป็นขั้นเริ่มต้น หากบรรทุกสินค้าข้าวของก็จะถูกคิดบวกไปตามอัตรา ส่วนอีกทางเป็นเส้นทางเก่าแก่ ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพียงทางเดินเท้าผ่านป่าเขา จากหมู่บ้านออกไปทางตะวันออก ตัดข้ามเทือกเขาสูง เชื่อมไปยังหมู่บ้านพี่น้องกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้หลายสิบหมู่บ้าน ทั้งในเขตจังหวัดตากไปจนถึงกาญจนบุรี พาหนะหลักเป็น รถอีแต๊ก ที่ใช้ขนพืชผลทางการเกษตร และขนคนเดินทางไปที่ต่าง ๆ เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีรถยนต์ส่วนตัวของชาวบ้านใช้เป็นพาหนะเวลาเดินทางและขนส่งผลผลิตไปต่างหมู่บ้านหรือข้าไปในตัวเมือง และสมัยนี้ชาวบ้านจะมีจักรยานยนต์ใช้สัญจรเกือบทุกบ้าน

บ้านเลตองคุ มีประชากรอาศัยอยู่ 100 ครัวเรือน ประชากรในหมู่บ้านมีประมาณ 500 คน เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง โดยมีโครงสร้างประชากร อ้างอิงข้อมูลจากสุขศาลาพระราชทานบ้านเลตองคุ ปี 2561

  • จำนวนประชากรสัญชาติไทย ชาย 144 คน หญิง 127 คน รวมทั้งสิ้น 271 คน
  • จำนวนประชากรบัตรสีขาวขึ้นต้นด้วยเลข 0 ชาย 177 คน หญิง 192 คน รวมทั้งสิ้น 369 คน
  • จำนวนประชากรที่ไม่มีสัญชาติ ชาย 197 คน หญิง 182 คน รวมทั้งสิ้น 379 คน

ลักษณะครอบครัวของบ้านเลตองคุเหมือนชุมชนปกาเกอะญอที่อื่น มีทั้งครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย มีระบบโครงสร้างแบบผู้ชายจะแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิง มีผู้หญิงเป็นแกนกลางของบ้าน ส่วนผู้ชายเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่แต่งเข้ามาอยู่ในตระกูลของฝ่ายหญิง ทำให้สถานภาพของฝ่ายหญิงมีสูงกว่าท่ามกลางเครือญาติของฝ่ายหญิงที่ฝ่ายชายได้ย้ายเข้ามาอยู่หลังแต่งงาน โดยฝ่ายชายต้องเข้ามาอยู่เป็นเขย และออกไปสร้างบ้านเป็นของตนเองได้ แต่อยู่ในพื้นที่ที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงมอบให้ โดยที่เครือญาติของฝ่ายหญิงจะคอยดูแลลูกหลานและคอยช่วยเหลือไม่ให้ขาดแคลนทรัพยากรในครัวเรือน

ปกาเกอะญอ

อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ การทำไร่ข้าว ซึ่งจะทำนาปีละ 1 ครั้ง ทำสวนหมาก สวนทุเรียน ไร่พริก โดยพืชเหล่านี้ราษฎรได้นำไปขายแลกเปลี่ยนเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น เกลือ กะปิ ยาสูบ ปลาร้า จากชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตพม่า 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ถึง 20 ปีที่แล้ว หมู่บ้านแห่งนี้มีการดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่เคร่งครัดในจารีตประเพณีและความเชื่อ มีการสืบทอดต่อเนื่องกันอย่างแข็งแกร่งพร้อมกับความเชื่อใน “ลัทธิฤาษี” ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าอาวาส มีสำนักฤาษีเปรียบดังวัด มีลูกศิษย์ประจำสำนักฤาษี เช่นเดียวกับพระ เณร ประจำวัดรวมถึงมีเจ้าวัด ซึ่งมีฐานะใกล้เคียงมัคนายก หมู่บ้านมีกติกาที่เคร่งครัดมาก เช่น ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนัน กล่าวได้ว่าศีลทั้ง 5 ข้อ เป็นกฎที่เคร่งครัดมากและด้วยความเชื่อของลัทธิฤาษีที่ห้ามเลี้ยงและกินสัตว์เลี้ยงจำพวกหมู เป็ด ไก่ มีสัตว์เลี้ยงจำพวกช้าง วัว ควาย เป็นแรงงาน พาหนะ หรือใช้ไถนาเพาะปลูกข้าว ถ้าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ล้มตายลงจะไม่มีการนำมาเป็นอาหาร ต้องทำการฝัง อันเป็นระบบความเชื่อของลัทธิฤาษี เพราะพวกเขาถือว่าสัตว์เลี้ยงประเภทช้าง วัว ควาย เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อชีวิต ได้ให้แรงงานเพื่อการเกษตร เป็นพาหนะขนส่ง รวมทั้งใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ จึงกำหนดให้นำไปฝังเมื่อตายลง

ชาวกะเหรี่ยงเลตองคุมีการกินหมากและสูบยากันตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งชายและหญิง รวมทั้งยังถือเป็นเครื่องประกอบสำคัญในการรับรองแขกและเพื่อนฝูง แต่สุราถือเป็นของต้องห้าม โดยยึดถือตามคำสาบานของพื่อย่อแฮ ดังนั้น ถ้ามีคนจากภายนอกดื่มสุราจะไม่อนุญาตให้ขึ้นไปบนบ้าน เพราะกลัวจะนำภัยวิบัติมาสู่ครอบครัวได้

ในปัจจุบันผู้เฒ่าผู้แก่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านการแต่งกาย อาหารการกิน วัตถุนิยมต่าง ๆ เริ่มเข้ามาในหมู่บ้านเยอะขึ้น พฤติกรรมของชาวบ้านเปลี่ยนไป เช่น การให้ความร่วมมือกับชุมชนน้อยลง เด็กรุ่นใหม่เข้าวัดทำบุญน้อยลงมากและไม่เคารพผู้ใหญ่

กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม

บ้านเลตองคุจัดว่าเป็นหมู่บ้านใหญ่ เป็นศูนย์รวมลัทธิฤาษี มีหมู่บ้านบริวารที่นับถือฤๅษีร่วมกัน ทั้งหมู่บ้านในเขตและหมู่บ้านเขตนอก (เมียนมาร์) ทุกวันพระจะมีการไปทำบุญไหว้พระที่วัด ซึ่งมีงาช้างขนาดใหญ่แกะเป็นพระพุทธรูปเป็นสิ่งสำคัญประจำสำนักฤาษี เป็นที่สักการะของฤๅษีลูกศิษย์ และชาวบ้านทุกคน ปัจจุบันราษฎรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเลตองคุนับถือลัทธิฤๅษี นิกายตะลากู ซึ่งเป็นส่วนแยกมาจากพุทธศาสนา มีการไหว้พระและถือศีล 5 มีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ประมาณ 80 คน

ในการถือศีลทั้ง 5 ข้อมีข้อยกเว้นให้ปฏิบัติดังนี้

  • ข้อที่ 1 คือ ปาณาติปาตา จะมีการอนุโลมให้ฆ่าสัตว์นำมาบริโภคได้
  • ข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 5 ชาวบ้านทุกคนจะถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด และห้ามเล่นการพนันทุกชนิดโดยเด็ดขาด ยาเสพติด เช่น ฝิ่น กัญชา เหล้า ห้ามนำขึ้นบ้านโดยเด็ดขาด  

ประเพณีที่สำคัญของบ้านเลตองคุ คือ ประเพณีบุญสงกรานต์หรือบุญปีใหม่ บุญพะซะลอ บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา และบุญเผาไฟ ซึ่งจะได้เห็นความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มนับถือฤๅษีที่มาร่วมกันอย่างคับคั่ง

  • วันพระ วันพระของคนกะเหรี่ยงฤๅษี ถือตามปฏิทินขององค์ฤๅษี ซึ่งจะอยู่ก่อนวันพระตามปฏิทินไทยวันหรือสองวัน ในวันพระชาวกะเหรี่ยงทั้งหมู่บ้านจะหยุดทำงาน หุงข้าว ทำขนม เอาผลิตผลพืชผัก ผลไม้ ไปทำบุญที่สำนักฤๅษี ซึ่งเฉพาะผู้นับถือฤๅษีเท่านั้นที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 7 แห่ง ส่วนคนนอกที่ไม่ใช่ผู้นับถือฤๅษี ทำได้เพียงมองดูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 จากภายนอก โดยมีหนุ่มกะเหรี่ยงฤๅษี จะพากันแนะนำไหว้ไปทีละจุด

  • วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสงกรานต์ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ของไทย วันปีใหม่ เป็นวันที่ผู้ที่นับถืออิสิจากสถานที่ต่างๆ จะเดินทางมาร่วมทำบุญและขอพรจากอิสิ นอกจากนั้นแล้ว วันปีใหม่ยังเป็นวันที่อิสิและลูกศิษย์วัดจะประกอบพิธีกรรมพิเศษคือ ไหว้เจดีย์ตามแบบอย่างของพี่อย่อแฮ การทำบุญวันสงกรานต์ จะเริ่มเช่นเดียวกับวันพระ เนื่องจากเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระ จะขาดไปก็เฉพาะเพียงสิ่งของที่จะต้องนำไปถวายอิสิ โดยจะทำในภายหลัง เมื่อไหว้สถานที่ทั้ง 7 แห่งตามปกติของวันพระเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะกลับไปที่หมู่บ้าน โดยเจ้าวัดจะนำจุดเทียนแล้วพาชาวบ้านลงไปที่ลำห้วยทีหม่อโกร (ห้วยป่าหมาก) นำขนมและอาหารการกินใส่ลงไปในแพไม้ไผ่ แล้วปล่อยให้ลอยไปตามกระแสน้ำ เพื่อเป็นการขอบคุณแม่น้ำ ที่ให้น้ำ ให้ชีวิต ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ชาวบ้าน หลังจากนั้น ชาวบ้านจะนำเทียน ดอกไม้ และสิ่งของที่จะถวายอิสิขึ้นไปที่วัด โดยเริ่มใหม่ตามแบบวันพระตามปกติ พอเสร็จพิธีพวกผู้ชายจะนำน้ำขมิ้นเทลงในอ่าง จะได้ล้างขาล้างเท้าของอิสิ เพื่อแสดงว่า ขอให้ปีเก่าหมดไปพร้อมกับความไม่สะอาด ความไม่ดีงามต่างๆ และปีใหม่ขอให้มีแต่ความสะอาดและได้พบแต่สิ่งที่ดีงาม พร้อมๆ กันนี้ ลูกศิษย์วัดจะนำน้ำขมิ้นไปทำความสะอาดพระพุทธรูปทุกองค์ รวมทั้งที่อยู่บนงาช้างด้วย เมื่อพิธีต่างๆ เหล่านี้เสร็จ หนุ่มสาวจะรดน้ำและให้พรแก่กัน

  • งานทำบุญข้าวเปลือก และงานสืบต่ออายุ งานทำบุญข้าวเปลือก เป็นการทำบุญขอบคุณที่ให้อาหารการกินแก่ชาวบ้านในแต่ละปี ในวันขึ้น 15 คำเดือน 2 ชาวบ้านจะสร้างยุ้งข้าวเล็กๆ ไว้ในหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกคนละเล็กละน้อยไปใส่ไว้ ในขณะเดียวกันก็จะปักเสาไม้ไว้ต้นหนึ่งให้ชาวบ้านน้ำผลผลิตตามที่แต่ละคนปลูกได้มาแขวนไว้ เพื่อให้เทพเจ้าต่างๆ ที่ช่วยทำมาหากินได้เห็นว่าชาวบ้านทำอะไรได้บ้าง พอถึงตอนเย็น ชาวบ้านจะจุดเทียนไหว้ยุ้งข้าวและมีการเลี้ยงอาหารและขนมต่างๆ ทั้งในส่วนที่เป็นของเทพเจ้าและของชาวบ้าน

  • งานสืบต่ออายุ เป็นการดำเนินตามตำนานที่สืบต่อกันมาว่า กาลครั้งหนึ่งได้มีชายคนหนึ่งได้เข้าไปขอเป็นลูกศิษย์แต่เนื่องจากมีสุขภาพไม่ดี มีอาการเจ็บป่วยและอาจเสียชีวิตในเวลาอันใกล้ อิสิจึงไม่รับไว้ ชายคนนั้นเสียใจมาก จึงเดินทางกลับบ้าน ในระหว่างทางเขาเห็นต้นโพธิ์กำลังจะล้มจึงหาไม้มาค้ำให้ตั้งตรง แล้วเดินทางต่อจนไปถึงลำห้วยที่มีน้ำมากเขาคิดว่าชาวบ้านคงจะลำบากมากในการเดินลุยน้ำข้ามลำห้วย จึงได้หาไม้มาพาดทำเป็นสะพานข้าม จากลำห้วยไปไม่ไกลนัก เขาเห็นปลากำลังดิ้นรนอยู่ในแอ่งน้ำเล็กๆ ที่ใกล้จะแห้ง จึงได้เอามือซ้อนปลากลับไปปล่อยในลำห้วยที่เพิ่งจะข้ามมาเมื่อกลับถึงบ้านได้ไม่นาน อาการเจ็บป่วยของเขาก็หายไป กลับมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถทำมาหากินได้เหมือนชาวบ้านทั่วไป ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เขาทำความดี นับตั้งแต่การต่ออายุต้นโพธิ์ไม่ให้ล้มให้ตั้งตรงและเจริญเติบโตต่อไปได้ การทำสะพานข้ามลำห้วยโดยไม่ต้องลุยว่ายข้ามไปให้ลำบาก ซึ่งเป็นประโยชน์กับตัวเองและชาวบ้านคนอื่นรวมทั้งการช่วยชีวิตปลาไม่ให้ตายในแองน้ำที่กำลังจะแห้ง ด้วยเหตุดังกล่าวชาวบ้านจึงดำเนินการตามเพื่อให้ตัวเองและคนในครอบครัวไม่พบกับความยากลำบาก ไม่เจ็บป่วยไข้ มีชีวิตที่ยืนยาว จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

  • งานบุญเผาไฟ เป็นงานทำบุญเผาศพพื่ออิสิโจ่วยุ ซึ่งจะทำในวันขึ้น 15 คำเดือน 9 ในงานทำบุญเผาไฟ ลูกศิษย์วัดจะไปหาไม้จริงคนละ 30 ท่อน และไม้ไผ่คนละ 3 ท่อน ส่วนอิสิจะหาไม้จริง 50 ท่อนและไม้ไผ่ 5 ท่อน จำนวนของไม้มีความหมายเช่นเดียวกับการออกพรรษาคือ ลูกศิษย์วัดมีพุทโธ ธัมโฆและสังโข ส่วนอิสิมีศีล 5 สำหรับชาวบ้านจะพากันไปทำบุญวัดในวันพระตามปกติ โดยไม่ได้ร่วมในงานด้วย

  • ประเพณีแต่งงาน การแต่งงานไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าจะต้องมีอายุเท่าไรจึงจะแต่งงานได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า ตนสมควรจะแต่งงานเมื่อใด แต่จะต้องไม่แต่งในช่วงเข้าพรรษา เนื่องจากเป็นช่วงภาวนารักษาศีล ไม่สมควรจัดงานพิธีใดๆ เมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่กับพ่อแม่หรือแยกครอบครัวออกไปอยู่ต่างหาก ขึ้นอยู่กับคู่สมรสแต่ถ้าแต่งงานกับผู้ที่ไม่ได้นับถืออิสิ คนผู้นั้นจะต้องทำพิธีเข้าเป็นผู้นับถืออิสิ

  • ประเพณีงานศพ เมื่อมีการเสียชีวิต ถ้าเป็นเด็กจะถูกนำไปฝังที่ป่าช้าของหมู่บ้าน ส่วนลูกศิษย์วัดจะฝังที่ป่าช้าของวัด ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป จะเผาที่ป่าช้าของหมู่บ้านแต่ถ้าฝนตกเผาไม่ใด้ก็จะผิง ยกเว้นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือถ้าฝนตกผาไม่ได้ก็จะต้องรอจนกว่าจะเผาได้ ทุกครั้งที่มีการตายเกิดขึ้นจะไม่มีกำหนดว่าจะไว้กี่วัน บางรายตายเช้าก็เผาหรือฝังเย็นก็มี เนื่องจากไม่ต้องรอญาติมิตรจากหมู่บ้านอื่น หลังจากงานเผาศพ 7 วัน ญาติคนตายจะมีการทำบุญให้คนตาย มีขนมและอาหารเลี้ยงหนุ่มๆ สาวๆ จะมาช่วยกัน มีการทำขนมเทียนไส้มะพร้าว

  • พิธีปัดรังควาญส่งเคราะห์หมู่บ้าน พิธีนี้จะจัดขึ้นทุก ๆ ปี ปีนี้มีข่าวโรคระบาดโควิด คนในชุมชนจึงจัดขึ้นในเย็นวันที่ 23 มีนาคม 2563 แต่ละบ้านจะทำกระทงเล็กๆ เอาไว้ใส่ของกินข้าวผลไม้ขนมอย่างละเล็กอย่างละน้อย แล้วนำ กิ่งใบไผ่ หรือกิ่งไม้มาปัดเป๋าสิ่งไม่ดีออกจากบ้านของตัวเอง โดยเดินตัดรอบๆ บนบ้านให้ทั่วพร้อมสวดไปด้วยให้สิ่งไม่ดีออกไปจากบ้านจากนั้นก็ออกมารอหน้าบ้านตรงถนนจะมีผู้ชาย 3-4 คน หาบแพที่สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้วางกระทงของแต่ละบ้าน ซึ่งทำจากไม้ไผ่สานสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 80 x 80 ชม. มีสายคล้องเพื่อสอดไม้ให้ทาบง่ายขึ้น คนทำพิธีจะเริ่มจากหัวหมู่บ้านทยอยลงมาถึงท้ายหมู่บ้าน บ้านแต่ละหลังจะรออยู่ ถ้าเขามาถึงหน้าบ้านก็จะออกมาวางกรวยหรือกระทงที่เตรียมไว้และใช้กิ่งใบไผ่หรือกิ่งไม้มาปัด ตัวลงไปในแพ 3 ครั้งและทิ้งกิ่งไม้นั่งลงไปด้วยพร้อมถ่มน้ำลายลงไป 1 ครั้ง จากนั้นคนหาบก็จะหาบไปเรื่อย ๆ จนครบทุกบ้านแล้วนำไปวางไว้ท้ายหมู่บ้านเพื่อเป็นการนำสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน

  • วัฒนธรรมการกินหมาก การกินหมากเป็นวิถีชีวิตปกติของคนกะเหรี่ยงมายาวนาน กินกันทั้งหญิงและชาย พอเริ่มโตก็เริ่มกินเพื่อย้อมฟันให้ดำ ถ้าฟันไม่ดำก็ไม่งาม ในการต้อนรับแขกที่มาเยือนชาวกะเหรี่ยงจะต้อนรับด้วยหมาก ซึ่งหมากนี่เองที่ทำให้การพบปะพูดคุยสนุกสนานมากขึ้น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ

มีชาวบ้าน 10 หลังคาเรือนที่มีที่นาในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ลงไปเช่าที่ทำนาในเขตพม่าส่วนไร่นั้นทำกันเกือบทุกหลังคาเรือน โดยทำไร่ข้าวเป็นหลัก ด้วยการปลูกพริกในที่เดียวกันกับข้าวชาวบ้านปลูกพืชผักหลายชนิด เพื่อกินใช้ในครอบครัว ไม่ว่าเป็น บวบ ฟัก แตง หรือมะเขือ และยังมีพืชสวนอีกมาก เช่น มะพร้าว ส้มโอ ทุเรียน กล้วย หมาก ระกำ และสับปะรด เป็นต้น ส่วนอาหารจากธรรมชาติจะเป็นพืชผักชนิดต่างๆ รวมทั้งสัตว์น้ำตามลำห้วยในพื้นที่ ผลผลิตที่ชาวบ้านนำไปขายนอกหมู่บ้านคือ หมากแห้ง งา พริก ทุเรียนและสับปะรด รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ เป็นต้น สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน มีวัว ควายและแพะ โดยไม่เลี้ยงหมู่และไก่ รวมถึงในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านด้วย ซึ่งครั้งหนึ่งได้มีการเสนอให้เลี้ยงนกกระทาเนื่องจากเห็นว่านกกระทาไม่ใช่ไก่ แต่พืออิสิม่อแน่ได้ให้ความเห็นว่าถ้าเลี้ยงนกกระทาได้ อีกหน่อยก็เลี้ยงไก่ได้ ข้อเสนอนี้จึงตกไป มีชาวบ้านจำนวนมากออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน เช่น กรุงเทพฯ ระยอง เป็นต้น 

1. นายโจซ่าย คีรีการะเกด  ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเลตองคุคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ก่อนทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมา 5 ปี

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำสำคัญในหมู่บ้านเลตองคุมาจากลำห้วยที่สำคัญสามสาย คือ ห้วยทีหม่อโกร ห้วยปะนอแกลโกร ห้วยเลบราโกร ทรัพยากรน้ำของบ้านเลตองคุเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า

  • ทรัพยากรดิน ดินที่ปรากฏในพื้นที่บ้านเลตองคุ ได้แก่ ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย

  • ทรัพยากรป่าไม้ แบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา

วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • หมอยาโบราณ ชาวบ้านมักรู้จักยาสมุนไพรจากธรรมชาติกันแทบทุกคนมาแต่โบราณ จะแตกต่างกันก็เฉพาะการรู้จักมากน้อยในการใช้ยาสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วยไข้ แต่ปัจจุบันชาวบ้านจะไปรับการรักษาพยาบาลที่สุขศาลาพระราชทาน

  • การทำคลอดในอดีต อีแหมะ (หมอตำแย) เป็นผู้ทำคลอด แต่ในปัจจุบันแม้จะยังมีหมอตำแยอยู่หลายคน แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ไปใช้บริการ นิยมไปคลอดที่สุขศาลา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในหมู่บ้านมีสถานพยาบาลสองแห่ง คือ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ และศูนย์ดูแลสุขภาพเลตองคุ (LAYTONGKU HEALTH CENTER) ชาวบ้านเรียกว่า คลินิก ซึ่งตั้งขึ้นบริเวณด้านบนของน้ำตกเลตองคุ


ระยะเริ่มต้น การเข้ามาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ ถูกต่อต้านจากชาวบ้าน จนยกเลิกไปช่วงหนึ่ง เพราะชาวบ้านคิดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านโดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณีที่นับถือฤาษีจะถูกทำลาย แต่เมื่อมีการปรับตัวระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับคนในชุมชน ปัจจุบันการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านเลตองคุ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1-3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เน้นการฝึกภาษาไทย ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนทั้งหมด กว่า 412 คน การเรียนการสอนที่นี่ยังคงยึดประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งการแต่งชุดกะเหรี่ยงแทนชุดนักเรียน พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนส่วนหนึ่งเข้าไปศึกษาต่อที่อำเภออุ้มผาง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหม่องกั๊วะ และศึกษาต่อการศึกษานอกระบบ (กศน.) ในหมู่บ้าน โดยจะมีครูขึ้นมาสอนเดือนละครั้ง นอกจากเรียนภาษาไทยในโรงเรียนแล้วเด็ก ๆ ยังเรียนภาษาปกาเกอะญอในวันเสาร์ที่คริสต์จักบ้านเลตองคุ และเรียนภาษาโปในวันอาทิตย์ที่บ้านพักรับรองของหมู่บ้านหลังศาลา


หมู่บ้านเลตองคุตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง การถือครองที่ดินและกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ชัดเจน ยังไม่เคยมีการรางวัดที่ดิน เจ้าหน้าที่กำลังจะเข้ามารางวัดที่ดินให้แต่ต้องมีงบประมาณค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่เพื่อมาทำเรื่องนี้ในพื้นที่บ้านเลตองคุ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีงบประมาณในการทำเรื่องนี้ สำหรับหมู่บ้านอื่นที่มีกองทุนของหมู่บ้าน เช่น กองทุนบุก หมู่บ้านจะจัดเก็บรายได้ไว้ใช้มารังวัดที่ดิน หมู่บ้านเลตองคุไม่มีกองทุนดังกล่าว ชาวบ้านจะต้องจ่ายเองครอบครัวละ 500 บาท บ้านเลตองคุไม่รู้รายละเอียดของพื้นที่ที่ชัดเจนเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายแดนไทยเมียนมาร์ เจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์จะเข้ามาทำเรื่องรางวัดให้ก่อนหมู่บ้านอื่นในปีนี้ ทำให้เสร็จก่อนฤดูฝนเพราะการเดินทางในฤดูฝนนั้นจะเข้ามาลำบาก เจ้าหน้าที่จึงเข้ามาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ปี 2563

ในการสำรวจพื้นที่ทำกินมีรายละเอียด คือ ที่ดินทำกิน ก่อนปี 2545 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ทันที ส่วนที่ดินทำกินระหว่าง ปี 2545-2557 จะต้องมีการพิจารณาว่าเป็นผู้ยากจน จะมีคณะกรรมการท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาด้วย และที่ดินทำกินหลังปี 2557 จะทำการขอคืนพื้นที่ทั้งหมด

การทำงานของเจ้าหน้าที่มีขั้นตอนการทำงานดังนี้ ขั้นแรกมาอธิบายรายละเอียดให้ชาวบ้านฟัง ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมรับลงทะเบียนดำเนินการ หลังจากนั้นให้ชาวบ้านพาเจ้าหน้าที่ไปดูพื้นที่ของตัวเอง พอดำเนินการเสร็จทุกขั้นตอนแล้วชาวบ้านจะมีสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตัวเอง

คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนที่ดินได้

  1. สัญชาติไทย
  2. อายุ 20 ปีขึ้นไป
  3. ไม่เคยต้องคดี
  4. ต้องเป็นคนในหมู่บ้าน

หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจเสร็จแล้วชาวบ้านจะขยายพื้นที่ทำกินไม่ได้แล้วเพราะจะมีโทษจำคุก 10-20 ปีหรือ ปรับ 4 แสน ถึง 2 ล้านบาท ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับเมื่อขึ้นทะเบียนพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินของเขตป่าอนุรักษ์ คือ หากพืชผลเกิดความเสียหายจะมีการชดเชยให้ชาวบ้าน ให้สิทธิทำกินตามกฎหมายแต่ไม่ให้โฉนดที่ดิน เพราะฉะนั้นในเมื่อชาวบ้านได้สิทธิ์แล้วจะบุกรุกขยายพื้นที่อีกไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครไม่มาลงทะเบียนในวันที่เจ้าหน้าที่มาทำให้ถือว่าสละสิทธิ์ สำหรับคนที่ไม่มีบัตรประชาชนคนไทยแต่เป็นคนเลตองคุจะมีกรรมการพิจารณาให้ว่าเป็นผู้ยากไร้ พื้นที่ที่จะมารังวัดให้ก็คือ พื้นที่ไร่หมุนเวียน นา สวน และพื้นที่บ้าน สำหรับไร่หมุนเวียนของที่นี่จะเว้นระยะประมาณ 2-3 ปี บางแปลงเป็นพื้นที่ส่วนตัวบางแปลงก็ทำซ้ำทับกันดังนั้นเจ้าของที่ดินต้องพาเจ้าหน้าที่ไปสำรวจก่อน ถ้าจะขึ้นทะเบียนไร่หมุนเวียนแบบวงใหญ่ 1 แปลง จะต้องลงชื่อคนทำว่ามีกี่คน และจะต้องทำวนอยู่ในพื้นที่แปลงใหญ่นั้นเท่านั้น ถ้าขึ้นทะเบียนเป็นแปลงของแต่ละคน เจ้าของที่ดินจะต้องพาเจ้าหน้าที่ไปสำรวจว่าที่ของตัวเองนั้นมีกี่แปลง ล่าสุดเมื่อเดือนเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้ทำสำรวจที่ดินและรางวัดที่ดินให้ชาวบ้านแล้ว และจะดำเนินการต่อในขั้นตอนต่อไป


อุ้มผาง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก. (2555). การศึกษาปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ..

นภาพร อติวานิชยพงศ์. (2553). โครงการถอดบทเรียนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ..

PPTV online. (2560, 22 มิถุนายน). ย้อนรอย "เลตองคุ" งาช้างศักดิ์สิทธิ์ 200 ปีกลับคืนมาตุภูมิ. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. PPTV. ค้นจาก https://www.pptvhd36.com/