หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
ในอดีตพื้นที่ของหมู่บ้านเปือยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย เป็นป่ารกและมีแม่น้ำกับห้วยอยู่ในพื้นที่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2333 นายเพี้ยอินทร์และนายโครดบุญได้ร่วมกับญาติพี่น้อง มีนายดีนรุ้งและนายจันทร์เพื่อนบ้าน ได้อพยพหนีภัยแล้งมาจากบ้านแวงคอมสิน ตำบลขามเรียง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดินทางมาถึงที่ตั้งบ้านเปือยในปัจจุบัน เห็นว่าเป็นถิ่นฐานที่อุดมสมบูรณ์ดินดำน้ำชุ่มเหมาะแก่การทำมาหากิน จึงได้ร่วมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว และเนื่องจากบริเวณที่ก่อตั้งหมู่บ้านมีต้นเปือย (ต้นตะแบก) ขึ้นอยู่หนาแน่น และกลางหมู่บ้านมีต้นเปือยขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง จึงได้ตกลงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ บ้านดงเปือย” ก่อนที่จะตั้งชื่อว่า “บ้านเปือย” มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อมีประชากรอพยกเข้ามามากขึ้นจึงเกิดการเลือกผู้นำหมู่บ้าน โดยได้รับคำสั่งจากเจ้าพระยาณรงค์ ข้าหลวงประจำจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านจึงได้เลือกนายดีนรุ้ง ศรีพุฒ เป็นผู้นำคนแรกของหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2353 มีการสร้างวัด โดยตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดบ้านดงเปือย” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดตะคลองยาง” ต่อมาเมื่อพระบุญทันเป็นเจ้าอาวาส จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัด “นทีตีรสถิตย์” จนถึงปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านหมู่บ้านเปือยเริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีครั้งแรก โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3 ราย จากที่คนในชุมชนเดินทางไปทำงานในกรุงเทพฯ ทำให้ได้รับเชื้อกลับมาที่ชุมชน และอีก 6 ปีต่อมาบ้านเปือยจึงเริ่มมีไฟฟ้าใช้ และได้เริ่มมีน้ำประปาใช้หลังจากที่ขุดบาดาลที่วัดในปี พ.ศ. 2537 ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 – 2557 เกิดวาตภัยปีละ 1 ครั้ง เกิดผลกระทบต่อไร่นาที่มีความเสียหายทั้งหมู่บ้าน มีหน่วยงานทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ปี พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2560 เกิดอุทกภัยปีละ 1 ครั้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือน้ำท่วมถนนรอบหมู่บ้าน สะพานเชื่อมระหว่างหมู่บ้านขาด และน้ำท่วมบ้านเรือน 7 ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 เกิดภัยแล้ง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้ง โดยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่ลงทะเบียนเกษตรกรช่วยเหลือไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งช่วยเหลือในเรื่องของต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยว
พ.ศ. 2560 กลุ่ม HealthNet : NE เข้ามาอบรมเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเพื่อให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกับผู้มีเชื้อเอชไอวีอย่างมีความสุข และได้นำโครงการสร้างเสริมสุขภาวะผู้หญิงที่อยู่ร่วมเชื้อเอชไอวี จ.ขอนแก่น เข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นทำให้สามารถชนะการประกวดชนะเลิศอันดับ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2563 และใน พ.ศ. 2564 พบการติดเชื้อ COVID-19 ในหมู่บ้านโดยผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่นราม ทำการกักตัวที่โรงเรียนบ้านกงประชานุกูล และมี อสม. ได้เข้าไปดูแลอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ จนผู้ป่วยกักตัวครบ 14 วัน ในการจัดการเรื่องกักตัวในสถานการณ์ COVID 19 ในหมู่บ้านนำทีมโดยผู้ใหญ่บ้านและ อสม. ต่อมา พ.ศ. 2565 ชุมชนเริ่มปฏิบัติตามมาตรการ Home Isolation ในสถานการณ์ COVID 19 โดยผู้มีเชื้อโควิดมารับยาและอุปกรณ์ในการรักษา และนำกลับบ้านกักตัวแยก 10 วัน ในขณะรักษาตัว มีไลน์กลุ่มที่มีบุคลากรทางการแพทย์คอยให้คำแนะนำและให้ผู้ป่วยรายงานหากมีอาการผิดปกติ จากนั้นปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการยกเลิกมาตรการ Home Isolation วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดย รพ.สต.บ้านกง ให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและแยกกักตัวรักษาที่บ้าน
หมู่บ้านเปือย มีเนื้อที่ทั้งหมด 19 ตร.กม. หรือประมาณ 3,505 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเรียบ ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำห้วยยาง 1 สาย, สระวัด 1 แห่ง และสระโคกหนองแสบง 1 แห่ง
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และ ต.บ้านผือ หนองเรือ จ.ขอนแก่น
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านท่าลี่ หมู่ 7 และบ้านหนองสระ หมู่ 4 ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกงกลาง หมู่ 2 ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองเม็ก หมู่ 5 ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
บ้านเปือย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากอำเภอหนองเรือ 14 กิโลเมตร มีระยะทางห่างจากจังหวัดขอนแก่น 39 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ ของหมู่บ้านจะเป็นที่ราบสูงมีถนนลาดยางรอบ ๆหมู่บ้าน มีพื้นที่การเกษตรและมีพื้นที่โล่ง ลักษณะบ้านเป็น บ้านติดกัน มีพื้นที่ใช้สอยในบ้าน อัตราส่วนในแผนที่เดินดิน 1 mm : 1000 mm
ลักษณะภูมิอากาศและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
ลักษณะภูมิอากาศ โดยทั่วไป ประกอบด้วย 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม เกิดฝุ่นคลุ้งกระจายเมื่อมีรถสัญจร
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน เกิดน้ำท่วมขังตามถนนในหมู่บ้าน
- ฤดูหนาว ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม
สำหรับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ในชุมชนบ้านเปือยมีทรัพยากรน้ำที่อยู่ล้อมรอบคือ ลำห้วยยาง 1 สาย, สระวัด 1 แห่ง และสระโคกหนองแสบง 1 แห่ง โดยประชาชนในหมู่บ้านมักจะใช้ประโยชน์ในการหาปลา และการทำการเกษตรต่างๆ และมีป่าชุมชนโคกหนองแสบง 1 แห่ง (158 ไร่) ที่ทำให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์
สาธารณูปโภคในชุมชน
น้ำดื่มส่วนมากจะเป็นน้ำถังที่มีผลิตกันในหมู่บ้านและมีบางส่วนอาจมีการซื้อน้ำแบบถังหรือน้ำแพ็คเพิ่มเติม น้ำที่ใช้อุปโภคโภคเป็นน้ำประปาของหมู่บ้าน น้ำมีความเพียงพอต่อการใช้ตลอดทั้งปีไม่มีขาดแคลน
จากการสำรวจพบว่า ชุมชนบ้านเปือยมีประชากรทั้งหมด 513 คน เป็นเพศหญิง 255 คน เพศชาย 258 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 141 ครัวเรือน และข้อมูลจากกรมการปกครองเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าบ้านหัวนากลางมี 177 หลังคาเรือน มีประชากร 632 คน เพศหญิง 319 คน เพศชาย 313 คน ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุบ้านเปือยมีทั้งหมด 140 คน คิดเป็นร้อยละ 27.29 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ผู้สูงอายุของประเทศไทย พบว่าชุมชนบ้านเปือยก้าวสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) นอกจากนี้ยังมีประชากรอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในทะเบียนราษฏรแต่อพยพย้ายไปทำงานต่างถิ่น อีกทั้งยังมีประชากรที่อพยพเข้ามาอาศัยเพื่อประกอบอาชีพขายล็อตเตอรี่ในหมู่บ้าน จำนวน 6 คน ซึ่งประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่นี้ได้รับบริการขั้นพื้นฐานตามสิทธิ การใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยไม่ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชน
จากโครงสร้างองค์กรจะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านเปือย หมู่ที่ 3 นําโดยกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนําสําคัญ และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีก 1 คน ที่ถูกแต่งตั้งจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) 1 คน และมีสมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) อีก 13 คน มีการแต่งตั้งกรรมการ ในการบริหารจัดการ มีลักษณะการทํางาน คือ จัดประชุมลูกบ้าน การแจ้งปัญหา และการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ระบบข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน (Information system) ประชาชนในหมู่บ้านรับทราบข้อมูลข่าวสารโดยการประชาสัมพันธ์จากหอกระจายเสียงของผู้ใหญ่บ้าน การประชาสัมพันธ์ของผู้ใหญ่บ้าน อสม. ซึ่งสะดวก เข้าใจ และทั่วถึง มีการทํางานร่วมกันอย่างเข้มแข็งและมีปราชญ์ชาวบ้าน ประกอบด้วย หมอพราหมณ์ หมอสมุนไพร และพ่อจ้ำ เป็นผู้นําอย่างไม่เป็นทางการที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน อีกทั้งยังมีกลุ่มอาชีพภายในชุมชนไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอาชีพดอกไม้ประดิษฐ์ กลุ่มอาชีพดอกไม้จันทน์ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 10 คน กลุ่มหมวกไหมพรหม ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน และยังมีกองทุนหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนปุ๋ย กองทุนเงินล้าน และกองทุนพัฒนาสตรี
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านเปือยประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักเนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำเกษตรกรรมทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ แต่ก็เป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศ หากฝนไม่ตามฤดูกาลจึงอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรทำให้มีผลผลิตที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักมีรายได้ลดลง อาจเกิดปัญหาหนี้สินหรือยากจนตามมา รองลงมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/รับจ้างรายวัน คิดเป็นร้อยละ 18.57 และประกอบอาชีพผู้เผยแพร่ศาสนา น้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 0.33
วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ
ชาวบ้านในชุมชนบ้านเปือยมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา โดยเริ่มทำตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม มีการทำไร่ทำสวน รับจ้างทั่วไป ค้าขาย การทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การสานลอบ ไซ โดยที่กล่าวมานั้นมีการทำตลอดทั้งปี
วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม
- เดือนมกราคม บุญเข้ากรรม จัดทำขึ้นวันที่ 20-25 มกราคมของทุกปี มีการจัดอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้น ณ วัดนทีตีรสถิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 6 นำโดย พระครูปริยัติธรรมาทร มีพุทธศาสนิกชน จากทั่วสารทิศมาร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยสถานการณ์การแผ่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงงดการจัดกิจกรรมบุญเข้ากรรมมาแล้ว 2 ปี และมีการจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ บุญคูนลาน ซึ่งบุญคูณลานเป็นการนำข้าวเปลือกแรกของปีมาทำบุญที่วัด โดยบ้านแต่ละหลังจะนำข้าวเปลือกนาปีที่ทำเสร็จมารวมกันที่วัด เพื่อใช้ทำบุญ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่” เพื่อถวายข้าวให้แด่พระสงฆ์ เมื่อเสร็จงานบุญพระสงฆ์และกรรมการวัดจะทำการจัดสรรขายข้าวเปลือกราคาถูกกว่าท้องตลาดให้กับคนที่ขาดแคลนไว้ใช้กิน
- เดือนมีนาคม บุญข้าวจี่ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสาม เป็นงานบุญประเพณีที่ใช้ข้าวเหนียวปิ้งแล้วทาด้วยไข่ ทับลงไปซ้ำๆ จนเหลืองหอม ยัดไส้ด้วยน้ำอ้อย หรือน้ำตาลมะพร้าว และที่ขาดไม่ได้คือข้าวเกรียบว่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ด้วย
- เดือนเมษายน บุญสงกรานต์ จะจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี โดยมีการละเล่นต่างๆในหมู่บ้าน และสรงน้ำพระ สำหรับวันที่ 14 เมษายน จะเป็นวันเทศกาลแห่ดอกไม้บูชาพระ ซึ่งจะนำพระพุทธรูปหลวงปู่สดที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ใส่บนรถและแห่ไปตามถนนในหมู่บ้าน และมีขบวนดนตรีฟ้อนรำต่างๆ สนุกสนาน
- เดือนกรกฎาคม บุญชำฮะ บุญเบิกบ้าน เป็นประเพณีชำระบ้าน หรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่มีในหมู่บ้านให้ออกไป โดยจะโยงสายสิญจน์รอบหมู่บ้าน และทำกระทงหน้าวัวใส่เครื่องอาหารคาวหวานต่างๆ นำไปวางไว้ที่มุมของหมู่บ้านแล้วสวดมนต์จนครบ 3 วันเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับหมูบ้าน และในวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้า ส่วนในตอนเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัด
- เดือนสิงหาคม บุญเข้าพรรษา จะทำการถวายผ้าอาบน้ำฝนและทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระสงฆ์ที่จะจำพรรษาครบ 3 เดือน เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับหมู่บ้าน
- เดือนกันยายน บุญข้าวประดับดิน เป็นการนำข้าวเปลือกมาคั่วไฟให้แตก แล้วนำข้าวตอกที่ได้มาปรุงรสด้วยน้ำตาล แล้วนำมาทำบุญ ซึ่งถือเป็นการอุทิศบุญกุศลให้กับพระแม่โพสก และผู้ที่ล่วงลับ
- เดือนตุลาคม บุญข้าวสาก เป็นการนำข้าวปลาอาหารหวานคาวหลากหลายชนิดมาห่อใบตองแล้วนำไปถวายพระเพื่อเป็นสลากภัต และอีกส่วนหนึ่งจะทำเป็นห่อใบตองเย็บติดกันสองอัน นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ เพื่ออุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อว่าประตูนรกจะเปิดเพื่อให้วิญาณมารับบุญจากญาติ
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน เจ้าภาพจะมีการจองวัดและกำหนดวันทอดล่วงหน้า เตรียมผ้าไตร จีวร พร้อมอัฐบริขาร ตลอดบริวารอื่น ๆ และเครื่องไทยทาน เมื่อนำองค์กฐินไปถึงวัดจะมีการแห่เวียนรอบวัดหรือรอบพระอุโบสถสามรอบ จึงนำผ้ากฐินและเครื่องประกอบอื่น ๆ ไปถวายพระสงฆ์ที่โบสถ์หรือศาลาการเปรียญ เมื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริวารแด่พระสงฆ์ ตามปกติแล้วจะมีบริษัทการบินไทยเป็นเจ้าภาพในการทำบุญกฐินทุกปี
- เดือนธันวาคม บุญทอดผ้าป่า เป็นการนำผ้าถวายพระภิกษุโดยการวางทอดไว้เหมือนเป็นผ้าทิ้งไว้ในป่า เพื่อให้พระภิกษุพิจารณา และนำไปเป็นผ้าไตรจีวร การทอดผ้าป่าเป็นการทำบุญ เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และกิจกรรมวันส่งท้ายปีเก่า
1.นางสมภาร ยอโง้ง
มีนิสัยกล้าพูด มีความกล้าแสดงออก มีมิตรสหายที่ค่อยข้างเยอะ เป็นคนที่ใจดี เอื้ออารีต่อผู้อื่น ชอบช่วยเหลือสังคม กิจกรรมที่เป็นส่วนร่วมจะเข้าไปช่วยอยู่เสมอ กิจกรรมต่าง ๆในชุมชนนั้น เป็นแกนนำคอยช่วยเหลือเสมอไม่เคยขาด เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ที่ดูแลสุขภาพและช่วยเหลือผู้ป่วยหรือบุคคลที่ต้องได้รับการดูแล และยังใช้ในการประสานงานระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกงในการช่วยเหลือหรือให้ข้อมูล และยังเป็นตัวแทนในการนำเสนอข้อมูลของชุมชนที่ในระดับต่าง ๆ
2.นายไพรฑูรย์ หล้าบ้านโพน
สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ้านกง (ประชานุกูล) จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนจระเข้วิทยายน จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจ คณะศิลปะศาสตร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) ภาคสมทบ ปัจจุบันคือมหาลัยอีสาน
นายไพรฑูรย์ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ใหญ่บ้านบ้านเปือย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2551 หลังจากนั้นไปดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เมื่อปี พ.ศ. 2551-2553 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่กู้ชีพองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง ผู้นำ อ.ช. ตำบลบ้านกง เลขาฯ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านกง เลขากองทุนหมู่บ้านระดับตำบลบ้านกง คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านกง (ประชานุกูล) และประธานเยาวชนบ้านเปือย หมู่ 3 เป็นระยะเวลา 6 ปี ปัจจุบัน นายไพฑูรย์ หล้าบ้านโพน ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านเปือย หมู่ 3 ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และเป็นประธานกับคณะกรรมการของหลายองค์กรในชุมชน บุคลิกเป็นคนที่มีจิตใจงดงาม โอบอ้อมอารี เสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ ทรัพย์ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ ความสามารถ และได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในอายุ 28 ปี และได้รับหลายตำแหน่งในชุมชน เป็นที่ยอมรับของหมู่บ้าน ชุมชนเป็นอย่างดี ต่อมาได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านเปือย หมู่ 3 ตำบลบ้านกง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน นายไพรฑูรย์ทำให้คนในชุมชนไว้วางใจเพราะนายไพฑูรย์เป็นคนที่ชอบเข้าร่วมช่วยเหลืองานต่างๆในชุมชน และเป็นคนที่มีจิตใจดี ทำให้นายไพฑูรย์ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน
ทุนมนุษย์
นายไพรฑูรย์ หล้าบ้านโพน เป็นผู้นำหมู่บ้านที่ดี มีความเสียสละ เป็นคนที่มีจิตใจงดงาม โอบอ้อมอารี พร้อมช่วยเหลือคนในชุมชนทั้งแรงกาย แรงใจ ทรัพย์ อีกทั้งยังมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ ความสามารถ พร้อมที่จะพัฒนหมู่บ้านให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการเป็นประธานและคณะกรรมการองค์กรต่างๆ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านด้วยตนเอง เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านกง ประธานศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านเปือย หมู่ 3 คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านกง (ประชานุกูล) เลขานุการประชาคมอำเภอหนองเรือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ที่ปรึกษากลุ่มหมวกไหมพรม บ้านเปือย หมู่ 3 อาสาสมัครตำรวจบ้าน (สภ.หนองเรือ) อปพร.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง เป็นต้น ถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่ที่ชาวบ้านเล็งเห็นว่า มีความสำคัญในการพัฒนาชุมชนบ้านเปือย
ทุนกายภาพ
ชุมชนบ้านเปือย ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและที่ดินในการเพาะปลูก มีแหล่งน้ำที่สำคัญอยู่คือ ลำห้วยยาง, สระวัด, สระโคตรหนองแสบง ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้ในการเพาะปลูกแล้ว ยังใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการหาปลา หาอาหาร บ้านเปือยไม่ได้มีเพียงแหล่งน้ำกับที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น ยังมีป่าชุมชนโคกหนองแสบง ที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย
ทุนวัฒนธรรม
วัดนทีตีรสถิตย์ เป็นวัดเพียงแห่งเดียวในชุมชนบ้านเปือย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นศูนย์รวมตัวของชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในโอกาสต่างๆตามปฏิทินชุมชน เป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ วัฒนธรรม ประเพณี จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง กล่าวได้ว่าวัดนทีตีรสถิตย์แห่งนี้มีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวบ้านอย่างมาก
ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านเปือย ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น นิยมใช้ภาษาอีสานและภาษากลางในการสื่อสารเชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านอื่นๆในตำบลบ้านกง โดยมีสำเนียงการพูดภาษาอีสานเป็นแบบลาวตะวันตก (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน) และสำเนียงแบบลาวเวียงจันทน์
ความท้าทายของบ้านเปือยต่อภัยธรรมชาติ
จะเห็นได้จากประวัติชุมชนว่า ชุมชนบ้านเปือยเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในปี พ.ศ. 2556-2557 เกิดวาตภัย ปี พ.ศ. 2559-2560 เกิดอุทกภัย อีกทั้งปี พ.ศ. 2562 เกิดภัยแล้งถึง 2 ครั้ง ชุมชนบ้านเปือยต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติต่างๆ ด้วยความท้าทายและได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆในชุมชน แม้ว่าใน 2 ปีที่ผ่านมาจะไม่เกิดภัยธรรมชาติใดๆกับทางชุมชน แต่การคิดหาวิธีในการรับมือภัยพิบัติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ชุมชนนั้นจะต้องรับมือ
ความท้าทายของบ้านเปือยต่อภัยธรรมชาติ
จะเห็นได้จากประวัติชุมชนว่า ชุมชนบ้านเปือยเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในปี พ.ศ. 2556-2557 เกิดวาตภัย ปี พ.ศ. 2559-2560 เกิดอุทกภัย อีกทั้งปี พ.ศ. 2562 เกิดภัยแล้งถึง 2 ครั้ง ชุมชนบ้านเปือยต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ด้วยความท้าทายและได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆในชุมชน แม้ว่าใน 2 ปีที่ผ่านมาจะไม่เกิดภัยธรรมชาติใดๆกับทางชุมชน แต่การคิดหาวิธีในการรับมือภัยพิบัติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ชุมชนนั้นจะต้องรับมือ
ในชุมชนบ้านเปือยยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ศาลปู่ตา ลานอเนกประสงค์ ตลาดคลองถมที่เปิดทุกๆวันเสาร์
กรมการพัฒนาชุมชน. (2565). คู่มือการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐานปี (2560-2564). กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากรบ้านหนองไผ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th
Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2566, จาก https://www.sanook.com/