Advance search

คำขวัญ อ.หนองเรือ : หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

หมู่ 4
บ้านหนองสระ
บ้านกง
หนองเรือ
ขอนแก่น
กันนิษฐา มาเห็ม
14 เม.ย. 2023
กันนิษฐา มาเห็ม
14 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
24 พ.ค. 2023
บ้านหนองสระ


ชุมชนชนบท

คำขวัญ อ.หนองเรือ : หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

บ้านหนองสระ
หมู่ 4
บ้านกง
หนองเรือ
ขอนแก่น
40240
16.495024
102.516476
องค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง

เมื่อปี พ.ศ. 2415 มีชาวบ้าน 6 ครอบครัว ได้แก่นามสกุล มูลวิชา, ลากุล, หมื่นลือชา, วงษ์หนองหอย, ราชวงษ์ และ ดวงพันนา ได้อพยพมาจากบ้านเปือย หมู่ 3 และได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการตั้งหมู่บ้านเนื่องจากในอดีต บ้านหนองสระมีหนองน้ำล้อมรอบหมู่บ้านทั้ง 4 ทิศ ทิศเหนือ เรียกว่าหนองสระ ทิศใต้ เรียกว่า หนองแสงตาก ทิศตะวันออก เรียกว่า หนองแสงคลุม และทิศตะวันตก เรียกว่าหนองวังโพน โดยเห็นว่าหนองน้ำทั้ง 4 แห่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ และเหมาะสมกับการเกษตร ซึ่งต่อมาก็มีชาวบ้านอพยพตามมาจนตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่ โดยตั้งหมู่บ้านบริเวณกลางหนองน้ำทั้ง 4 แห่ง ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหนองสระ” โดยมีผู้นำคนแรกคือ นายอุตษา มูลวิเศษ 60 ปีต่อมาเกิดโรคห่าระบาดทำให้คนในหมู่บ้านล้มตาย ชาวบ้านจึงอพยพลงไปอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านคือบริเวณหนองแสงตาก จากนั้นเมื่อโรคระบาดหมดไปชาวบ้านจึงย้ายจากบริเวณหนองแสงตากกลับมาอยู่บริเวณบ้านหนองสระในปัจจุบัน หลังจากนั้นบ้านหนองสระเริ่มมีไฟฟ้าใช้และพัฒนาความเจริญเรื่อยมาซึ่งในปัจจุบันบริเวณหนองแสงตากนั้นน้ำได้เหือดแห้งไปแล้วเหลือเพียงร่องรอยของการเป็นหนองน้ำในอดีต บ้านหนองสระจึงเหลือหนองน้ำ 3 แหล่ง คือหนองสระ หนองคลุม และวังหนองโพน ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2538  พ่อมี สุพรรณ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 14 ของบ้านหนองสระได้แบ่งหมู่บ้านออกเป็น 5 คุ้ม โดยตั้งชื่อตามหนองน้ำเดิม 4 คุ้ม และอีกชื่อคือคุ้มกลางมาจากการที่คุ้มนี้อยู่บริเวณกลางหนองน้ำทั้ง 4 แหล่ง

ในปี พ.ศ. 2521 ชุมชนบ้านหนองสระมีการก่อตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (คสมช.) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรวมถึงก่อตั้ง กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในปีเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นมา โดยมีแกนนำแต่ละกลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มน้ำยาล้างจาน กลุ่มจักสาน กลุ่มเสื่อลายขิด เป็นต้น มีการตั้งกลุ่มจิตอาสาเมื่อปีพ.ศ. 2560 โดยทุกคนในชุมชนเป็นสมาชิกได้  ในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง มี ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หรือเรียกว่า Care  Giver (CG)  ลงเยี่ยมบ้านโดยร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกง องค์กรบริหารส่วนตำบลบ้านกง กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข เริ่มเมื่อปี  พ.ศ.  2559 จนถึงปัจจุบัน

บ้านหนองสระ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอหนองเรือประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 35 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด 2,730  ไร่ แบ่งเป็นที่นา 2,391 ไร่ พื้นที่ทำไร่จำนวน 125 ไร่ ที่อยู่อาศัย 75 ไร่ พื้นที่ทำสวนจำนวน 135 ไร่ ดังนี้ การทำสวนมะนาวจำนวน 30 ไร่ สวนยางพาราจำนวน 30 ไร่ สวนพริกจำนวน 25 ไร่ ไร่ข้าวโพดจำนวน 25 ไร่ และทำสวนผักอื่น ๆ จำนวน 25 ไร่ รวมทั้งพื้นที่ว่างเปล่า ที่ดินสาธารณประโยชน์และพื้นที่แหล่งน้ำ  ไร่

          บ้านหนองสระ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น  อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบดินร่วน ที่ตั้งอยู่ติดกับทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมะลิวัลย์

          อาณาเขตติดต่อ

          ทิศเหนือ ติดกับบ้านเปือย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

          ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านหัวนา หมู่ที่ 2 ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

          ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านท่าลี่ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

          ทิศตะวันตก ติดกับบ้านสะอาด หมู่ที่ 7 ตำบลหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น  

สภาพพื้นที่ทางกายภาพและภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ที่ตั้งอยู่ติดกับทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมะลิวัลย์ พื้นที่ลุ่มลาดเอียงสลับเป็นลูกคลื่น ทอดตัวจากทางด้านทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ชุดดิน ที่ 01270 มีความเป็นกรด-ด่างของดินปานกลาง ดินไม่เค็ม แต่ปริมาณอินทรีวัตถุในดินต่ำ ปริมาณธาตุฟอสฟอรัสในดินสูงมาก ในส่วนของลักษณะภูมิอากาศ บ้านหนองสระมีลักษณะภูมิอากาศ 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มจากมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มจากเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน และฤดูหนาว เริ่มจากเดือนตุลาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่สำคัญในชุมชน

ทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่สำคัญของหมู่บ้านประกอบด้วย

1) แหล่งน้ำธรรมชาติหมู่บ้านบ้านหนองสระมีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านหมู่บ้านทั้งหมด 4 สาย ได้แก่

1. ห้วยวังโพน

2. ห้วยวังกุง

3. ห้วยใหญ่

4. ห้วยน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เพื่อการการเกษตร

2) แหล่งน้ำสาธารณะหมู่บ้านหนองสระมีแหล่งน้ำสาธารณะขนาดกว้าง 30 เมตรยาว 60 เมตรลึก 3 เมตรรวมทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ หนองสระและหนองแสงคลุมประชาชน ส่วนใหญ่ใช้น้ำเพื่อการเกษตรและใช้เลี้ยงสัตว์

3) บ่อน้ำบาดาลหมู่บ้านหนองสระมีบ่อน้ำบาดาลประจำหมู่บ้าน 3 แห่งใช้เพื่อผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภคภายในหมู่บ้านโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

สถานที่สำคัญในชุมชนบ้านหนองสระ ประกอบไปด้วย ศาลหลักหมู่บ้าน ฉางข้าวหมู่บ้าน โรงเรียนบ้านหนองสระ วัด 2 แห่ง ได้แก่ วัดชัยมงคล และวัดป่าแจ้งสว่าง มีที่ทำการกองทุนหมู่บ้าน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และศาลาประชาคม

จากการสำรวจชุมชนบ้านหนองสระพบว่า บ้านหนองสระมีประชากรทั้งหมด 623 คน เป็นเพศชาย 305 คน เป็นเพศหญิง 318 คน จำนวน 171 หลังคาเรือน และข้อมูลจากกรมการปกครองเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าบ้านหัวนากลางมี 239 หลังคาเรือน มีประชากร 729 คน เพศหญิง 377 คน เพศชาย 352 คน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน จำนวน 386 คน คิดเป็นร้อยละ 62 ในส่วนของโครงสร้างครอบครัว ชุมชนบ้านหนองสระส่วนใหญ่อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว โดยมีจำนวนสมาชิกต่อครอบครัวเฉลี่ยครอบครัวละ 4 คน ภายในครอบครัวมีการดูแลอบรมคุณธรรม จริยธรรม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุตรหลาน

ชุมชนบ้านหนองสระเป็นชุมชนที่อุดมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ส่งผลให้ชาวบ้านนั้นมีอาชีพที่หลากหลาย 

จากภาพจะเห็นได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในบ้านหนองสระประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 162 คน รองลงมา คือ รับจ้าง จำนวน 137 คน และนักเรียน/นักศึกษา จำนวน 121 คน ตามลำดับ บ้านหนองสระเป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรในด้านการเกษตร ซึ่งทำนาเป็นหลัก และปลูกพืชผักตามฤดูกาลเป็นอาชีพเสริม โดยอาศัยน้ำจากคลองกุดปลาดุกยาวไปจนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งน้ำมาจากคลองชลประทานจากเขื่อนอุบลรัตน์ รวมทั้งมีการเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านหนองสระส่วนใหญ่มีการเลี้ยงวัว ควาย เป็ด ไก่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงเพื่อบริโภคและจำหน่าย ด้วยเหตุผลลักษณะภูมิประเทศมีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

          ชุมชนบ้านหนองสระมีระเบียบการทำงานร่วมกันขององค์กรต่างๆในชุมชนดังนี้ ชุมชนบ้านหนองสระนำโดยกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำสำคัญ ซึ่งมีโครงข่ายประกอบไปด้วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ปราชญ์ชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นกำลังคนหลักในการขับเคลื่อนหมู่บ้าน โดยชาวบ้านบ้านหนองสระมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน คือ การรวมกลุ่มทำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยมีการทำเสื่อลายขิดซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของบ้านหนองสระมีการรวมกลุ่มทำความสะอาดหมู่บ้านในแต่ละเดือนเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านหนองสระ และในการเริ่มทำกลุ่มต่าง ๆ จะได้ความช่วยเหลือจากกลุ่มปราชญ์ชุมชน และหมอพราหมณ์ ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการในการระดมความคิดและความร่วมมือจากคนในชุมชน และเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารสำคัญที่จะกระจายข่าวสารต่าง ๆ ให้คนในชุมชนรับทราบ อีกกทั้งยังมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆขึ้นภายในหมู่บ้าน ได้แก่

          1) กองทุนเงินล้าน จำนวน 1 แห่งมีสมาชิก จำนวน 30 คน ชาวบ้านจะสามารถกู้ยืมเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ เมื่อครบกำหนดชำระ 1 ปี ผู้ที่ยืมเงินจะต้องส่งเงินต้นและดอกให้กับกองทุน ถึงจะสามารถยืมต่อได้

          2) กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง มีสมาชิก จำนวน 38 คน ชาวบ้านจะมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐโดยชาวบ้านต้องทำแผนงานโครงการของบประมาณทุกปีว่าต้องการใช้งบมาซื้อสิ่งที่จำเป็นต่อการ

          3) กองทุกวันละบาท จำนวน 1 แห่ง มีสมาชิกจำนวน 332 คน เป็นเงินออมที่สมาชิกทุกคนจ่ายเพื่อเป็นการออมเงิน เมื่อสมาชิกมีการเจ็บป่วยจะได้รับเงินถ้าได้นอนโรงพยาบาล รับครั้งละ 500 บาท

          4) กองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 1 แห่ง มีสมาชิก จำนวน 45 คน สมาชิกที่มีการคลอดบุตรจะได้รับการเยี่ยมทั้งเด็กที่คลอดและแม่ มีเงินและของใช้สำหรับเด็กทารกให้ครั้งละ 500 บาท

          5) กองทุนฌาปนกิจขยะ จำนวน 1 แห่ง มีสมาชิกทั้งหมด 171 คน ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะมีการคัดแยกขยะพลาสติกหรือขวดแก้วแล้วนำไปขายทุกวันที่ 27 ของเดือน เมื่อขายได้จำนวนเท่าไหร่แล้วจะบันทึกไว้ในบัญชีของสมาชิก เมื่อมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครัวเรือนเสียชีวิตจะได้รับเงินฌาปนกิจ รายละ 10,000 บาท

ใน 1 ปีของชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองสระมีวิถีชีวิตทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ดังนี้

          วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ

          การประกอบอาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา โดยเริ่มหว่านข้าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน อีกทั้งยังมีการปลูกพืชผักต่างๆ, การรับจ้างทั่วไป, และการทำฟาร์มไก่ไข่เพื่อขายให้กับบริษัทเอกชน 15 หลังคาเรือน โดยทำตลอดทั้งปี

          วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม

          เดือนมกราคมเป็นช่วงต้นปีจะมีการทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ ในบางปีจะมีการบายศรีสู่ขวัญให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตครอบครัวและชุมชนเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆในปีนั้น และวันนั้นจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันในชุมชนเช่นแข่งกีฬาฟุตบอลเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และความสามัคคีในชุมชน ในเดือนนี้มักจะนิยมจัดงานมงคล เช่น งานแต่ง งานบวช ทำบุญบ้าน เป็นต้น

          เดือนกุมภาพันธ์จะมีการทำบุญประทานข้าวเปลือก เรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่หรือบุญคุณลาน โดยชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะนำข้าวเปลือกหรือเงินไปบริจาคที่วัดตามจิตศรัทธา โดยวัดที่ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกไปทำบุญจะมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัดชัยมงคลและวัดป่าแจ้งสว่าง ชาวบ้านจะไปร่วมทำบุญตามวัดที่ศรัทธา  เมื่อได้ข้าวแล้วก็จะนำมาเทเป็นกองปักธงสี  และถวายวัด  เพื่อนำไปทำบุญต่อไป 

          เดือนมีนาคมจะมีบุญข้าวจี่ชาวบ้านถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสามเป็นวันทำบุญข้าวจี่

          เดือนเมษายนหรือบุญเดือนสี่จะเป็นบุญสรงน้ำหรือบุญสงกรานต์ ซึ่งงานประเพณีสงกรานต์ชาวบ้านจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ สรงน้ำพระและบรรพบุรุษ จะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ในบ้านด้วย ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับมาใช้เวลาร่วมกับครอบครัวในช่วงวันหยุดสงกรานต์

          เดือนพฤษภาคม ในเดือนนี้จะมีการทำบุญเบิกบ้านและมีพิธีสำคัญคือพิธีแรกนาขวัญ เป็นบุญที่จะทำทุกปีก่อนที่จะเริ่มทำนาปี เพื่อเป็นการเตรียมตัวทำนา โดยในช่วงนี้จะมีการเตรียมที่นาเพื่อจะหว่านเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกข้าว เป็นเดือนที่จะฤดูกาลทำนา

          เดือนมิถุนายน ในเดือนนี้จะมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบสานต่อกันมาทางวัฒนธรรมทางแถบภาคอีสาน โดยในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงกันบ้านหนองสระเป็นหมู่บ้านเดียวที่ยังมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟอยู่ เนื่องจากมีพื้นที่เหมาะสมในการจัดประเพณีที่คำนึงถึงความปลอดภัยจากการจุดบั้งไฟ บุญบั้งไฟจะจัดก่อนเริ่มทำนา เมื่อจัดบุญบั้งไฟเสร็จจะเป็นการทำนาอย่างเต็มที่

          เดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงเดือนที่มีงานบุญประเพณีเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้าและมีการแห่เทียนพรรษา มีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและเทียนแก่พระภิกษุและมีการจำวัดของผู้แก่หรือแม่ออกในวัดตลอดช่วง 3 เดือนที่เข้าพรรษา 

          เดือนกันยายนจะมีประเพณีบุญข้าวประดับดิน  ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าการนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงเจ้าที่เจ้าทางปูตาที่รักษาพื้นนา  เชื่อว่าจะทำให้ได้ข้าวอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารใส่กระทงใบตอง  มีเครื่องเส้นบุหรี่หมากพูนำไปวางตามท้องทุ่งนา 

          เดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีประเพณีออกพรรษาทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมจะมีประเพณีบุญข้าวสาก ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าญาติที่เสียชีวิตแล้วจะได้รับการปล่อยให้มาเยี่ยมบ้านในวันนี้ จึงมีการนำข้าวปลาอาหารมาห่อใส่ใบตอง นำไปแขวนตามต้นไม้เพื่อให้วิญญาณผู้เสียชีวิตได้มารับส่วนบุญส่วนกุศล

          เดือนพฤศจิกายนจะเป็นเดือนที่นิยมทำบุญผ้าป่าและบุญกฐินเนื่องจากจะเป็นบุญที่ทำหลังจากออกพรรษา นอกจากนี้ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำนาปี โดยปกติมักจะเก็บเกี่ยวหลังจากเสร็จงานบุญเพื่อถือเป็นการทำบุญก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญกันก่อนที่จะแยกย้ายกันเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนเอง นอกจากนี้ประเพณีลอยกระทงก็จะจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนด้วย

ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองสระ อายุ 51 ปี เกิดเมื่อปี 2512 ต่อมาแต่งงานกับนางบัวผันตอนอายุ 26 ปี ได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองสระ หมู่ 4 เมื่ออายุ 43 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ใหญ่บ้านและภรรยามีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 2 คน เป็นบุตรหญิง 2 คน ไม่มีโรคประจำตัว และจากผังเครือญาติจะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพซึ่งมีเครือญาติที่เกี่ยวกับกับการพัฒนาชุมชน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ตั้งในการนำชุมชนทำกิจกรรมต่างๆ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชุมชน เมื่อมีโครงสร้างองค์กรชุมชนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ทิศทางการพัฒนาชุมชนไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะการที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำด้านจิตใจ เป็นผู้ที่มีการปฏิบัติตนดีได้รับการยอมรับในชุมชนมานานรวมถึงบุตรหลานได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างดี

พ่อมี สุพรรณ (ผู้นำไม่เป็นทางการ) ปราชญ์ชาวบ้านบ้านหนองสระ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 43/1 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น พ่อมี อายุ 77 ปี มีประจำตัวคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและไตวายระดับ 3 ด้านภรรยาของพ่อมี  ไม่มีโรคประจำตัว อายุ 73 ปี พ่อมีและภรรยามีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 3 คน เป็นบุตรชาย 1 คนและบุตรธิดา 2 คน พิจารณาจากผังเครือญาติจะเห็นได้ว่าพ่อมีเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพเชื่อถือ มีเครือญาติที่เกี่ยวกับกับการพัฒนาชุมชน โดยพ่อมีปราชญ์ชาวบ้านจะคอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาผู้นำชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชุมชน เมื่อมีโครงสร้างองค์กรชุมชนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ทิศทางการพัฒนาชุมชนไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่พ่อมีเป็นผู้นำด้านจิตใจ เป็นผู้ที่มีการปฏิบัติตนดีได้รับการยอมรับในชุมชนมานานกาล เป็นตัวแทนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่เป็นประจำในการหาทุนในการสร้างวัดในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน  รวมถึงบุตรหลานได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างดี มีบุตรสาวเป็นข้าราชการอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น

ทุนมนุษย์

          ชุมชนบ้านหนองสระมีผู้นำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการคือ ผู้ใหญ่บ้านกับพ่อมี สุพรรณ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ มีความสามารถที่ชี้นำองค์กรต่างๆในหมู่บ้านให้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนพ่อมี สุพรรณเป็นปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ โดยพ่อมี ปราชญ์ชาวบ้านจะคอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาผู้ใหญ่บ้านในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชุมชน อีกทั้งพ่อมียังเป็นตัวแทนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ เมื่อพ่อมีและผู้ใหญ่บ้านร่วมมือกันพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์กรต่างๆในชุมชนทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นได้ว่าทั้งสองคนจะสามารถนำหมู่บ้านพัฒนาต่อไปได้

ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองสระ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น นิยมใช้ภาษาอีสานและภาษากลางในการสื่อสารเชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านอื่นๆในตำบลบ้านกง โดยมีสำเนียงการพูดภาษาอีสานเป็นแบบลาวตะวันตก (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน) และสำเนียงแบบลาวเวียงจันทน์


การเปลี่ยนแปลงอาชีพในสังคม

          ในอดีตชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองสระมีการประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเน้นไปที่การทำนา ต่อมาเมื่อเกิดบริษัทต่างๆขึ้น ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาลงทุนในธุรกิจฟาร์ม โดยการทำฟาร์มไก่ไข่ ซึ่งมีการทำอยู่ทั้งหมด 16 หลังคาเรือน โดยนำไข่จากฟาร์มขายให้กับบริษัทเอกชนที่เป็นหุ้นส่วนและขายให้ชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ในชุมชนบ้านหนองสระมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง โดยขยะอินทรีย์จะคัดและนำไปเผาทิ้งนอกหมู่บ้าน ขยะรีไซเคิลจะนำไปขายเพื่อนำเงินเข้ากองทุนฌาปนกิจขยะ ขยะอันตรายจะถูกนำมารวมกันไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้านในทุกวันอาทิตย์เพื่อจัดการต่อไป ส่วนขยะทั่วไป มีการเก็บรวมรวมและนำไปทิ้งที่หลุมขยะและจัดการเผา ส่วนการกำจัดกลิ่นของมูลไก่แต่ละฟาร์มนั้น จะมีการใช้ปูนขาวหรือผงหินแร่ภูเขาไฟโรย และใช้นำจุลินทรีย์ในการกำจัดกลิ่นจากโรงไก่ เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดคือหมู่บ้านหนองสระเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีการตั้งขยะไว้หน้าบ้าน ไม่มีรถขยะ อบต.มาเก็บแต่ชาวบ้านก็สามารถจัดการคัดแยกขยะของตนได้ดีและนำไปเผาที่หลุมขยะทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากรบ้านหนองไผ่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่                  14 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (dopa.go.th)

Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2566.

               เข้าถึงได้จาก : https://www.sanook.com/campus/1409663/