หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
เมื่อ พ.ศ. 2310 มีพ่อค้าขายควายกลุ่มหนึ่งจากจังหวัดอุบลราชธานี 10 กว่าครอบครัว ได้เดินทางมาจนถึงบริเวณพื้นที่ดอนและราบลุ่มเห็นว่าเป็นที่ที่เหมาะแก่การตั้งหมู่บ้านจึงได้ลงหลักปักฐานเป็นหมู่บ้าน (ปัจจุบันคือที่ตั้งหมู่บ้านกงเก่า)
ต่อมาชาวบ้านได้ทำการขุดบ่อน้ำเพื่อนำน้ำมาดื่มใช้ เมื่อขุดครั้งแรกมีกระแสน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นลำสูง 5-6 เมตร ม้วนตัวเหมือนกงเกวียน ชาวบ้านได้ใช้น้ำสืบมาจนกระทั่งเกิดความเชื่อว่าน้ำที่ไม่เคยแห้งแล้งนี้ตามโบราณถือว่าเป็นบ่อน้ำที่มีแม่หรือเชื้อ คืออาจจะไหลออกมาจากบ่อหรือถ้ำของพญานาค ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อชีวิตจึงได้ทำการถมบริเวณบ่อน้ำแห่งนั้นแล้วไปขุดที่ใหม่แทน ต่อมาชาวบ้านได้ไปวิดน้ำบริเวณลำห้วยออกเพื่อจับปลาซึ่งห่างจากหมู่บ้าน 3 กิโลเมตร แต่ก็เกิดเหตุการณ์น้ำพุ่งขึ้นมาเหมือนเป็นกงเกวียนอีกครั้งทำให้ชาวบ้านกลัวจากการที่น้ำพุ่งทั้งสองรอบนั้นชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า รวมกับผู้นำหมู่บ้านคนแรกชื่อกงมา และหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้กับกุดกงจึงสันนิษฐานว่าจากเหตุเหล่านี้ทำให้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านกง
ต่อมามีชาวบ้านบางส่วนได้แยกครอบครัวออกจากจุดเดิมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพัดจากบริเวณที่ขุดบ่อน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบันโดยที่หมู่บ้านแห่งแรกก็ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งปักหลักอยู่ส่วนหมู่บ้านแห่งใหม่ด้วยความที่ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก (คือภูเม็งและภูพานคำ) และอยู่กึ่งกลางลำห้วย 2 สาย (คือห้วยยางด้านทิศตะวันตกและห้วยผักหนามทางด้านทิศตะวันออก) จึงถูกตั้งชื่อว่าบ้านกงกลาง ส่วนหมู่บ้านเดิมก่อนที่จะย้ายมาที่หมู่บ้านกงกลางจึงชื่อว่า หมู่บ้านกงเก่า แต่ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน นิยมเรียกทั้ง 2 หมู่บ้านว่า บ้านกง ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องต่างๆ ทั้งการขนส่งว่าต้องส่งไปที่กงกลางหรือกงเก่า ซึ่งบ้านกงกลางนั้นนับว่าเป็นหมู่บ้านที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านคุณธรรมจริยธรรม การอาชีพและการสังคมโดยมีผู้นำของหมู่บ้านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน รวมทั้งทางด้านศาสนาและประเพณี โดยมีพระสงฆ์และวัดประจำหมู่บ้านเป็นเบ้าหลอมทางศิลปวัฒนธรรมประเพณีและจิตใจจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมาจนเป็นชุมชนที่มีความเป็นปึกแผ่นและมั่นคงจนถึงปัจจุบัน
บ้านกงกลาง หมู่ 2 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 3,050 ไร่ ที่อยู่อาศัย 247 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 2,490 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อ เขตไฟฟ้าเขื่อนอุบลรัตน์
- ทิศใต้ ติดต่อ บ้านท่าลี่
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ลำห้วยผักหนาม บ้านกงเก่า
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ลำห้วยยาง บ้านเปือย
สภาพพื้นที่ทางกายภาพและภูมิอากาศ
โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ย 180 - 200 เมตร ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับที่ดอน ซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร มีดินร่วนปนทราย และดินเหนียว กักเก็บน้ำดี เหมาะแก่การทำการเกษตรและปลูกอ้อย มีทางน้ำ (ลำห้วยผักหนาม ลำห้วยยาง) ที่ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์
ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 3 ฤดู ดังนี้
1) ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีฝุ่นละอองจากการคมนาคมฟุ้งกระจายจำนวนมากในถนนบางสายในหมู่บ้านพบโรคอุจจาระร่วง จำนวน 9 ราย ในปี พ.ศ.2561
2) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปีช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน ทำให้ไม่สะดวกในการคมนาคม และน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์หนุน ท่วมพื้นที่หมู่บ้าน เป็นเวลามากสุดถึงหนึ่งเดือน ในบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก พบการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ
3) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากซึ่งจะเป็นอากาศแบบสุดขั้ว บางปีพบการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ
- ถนนส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตถนนเส้นที่ติดกับหมู่ 6 เป็นถนนลาดยางมีหลุมมาก มีฝุ่นละอองของถนนในฤดูแล้งไม่มีฝนตก เมื่อฝนตกจะมีน้ำขังตามหลุม เป็นโคลนถนนเป็นลื่นทำให้การเดินทางลำบาก
- แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
- ทรัพยากรน้ำ มีหนองน้ำสาธารณะ 1 แห่ง อยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน ลำห้วยผักหนาม ลำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยประชาชนในหมู่บ้านจะใช้ประโยชน์ในการทำประมง กระชังปลา
- ทรัพยากรป่าไม้ มีพื้นที่ป่าไม้ในหมู่บ้านคือ ป่าช้า และป่าชุมชนหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลประชาชนจะใช้เป็นแหล่งประโยชน์ใช้ในการเก็บฝืน เก็บเห็ด เก็บพืชผักที่ออกตามฤดู
- สาธารณูปโภคในชุมชน
- น้ำดื่มส่วนมากจะซื้อน้ำขวด น้ำถัง รองลงมาคือรองน้ำฝนไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี น้ำใช้ ใช้น้ำบาดาล ประปาส่วนภูมิภาคและน้ำประปาของหมู่บ้าน ประปาของหมู่บ้านจะเปิดใช้ได้ตลอดเวลาและรองไว้ใช้ให้เพียงพอในทั้งวัน ไฟฟ้า ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ ชุมชนบ้านกงกลาง หมู่ที่ 2 อยู่ในเขตให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และพลังงานความร้อนในเขตอำเภอน้ำพอง
จำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์ทั้งหมด 691 คน ประชากรเพศชายทั้งหมด 343 คน ประชากรเพศหญิงทั้งหมด 348 คน มีจำนวนครัวเรือน 165 ครัวเรือน และข้อมูลจากกรมการปกครองเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าบ้านหัวนากลางมี 213 หลังคาเรือน มีประชากร 704 คน เพศหญิง 315 คน เพศชาย 353 คน ลักษณะครอบครัวในชุมชนส่วนใหญ่มีโครงสร้างครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย คือครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวประกอบด้วย ญาติพี่น้องอาศัยรวมกันจำนวน 67 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 56.30 และโครงสร้างแบบครอบครัวเดี่ยวจำนวน 52 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ43.70
สำหรับการประกอบอาชีพประชากรในชุมชนบ้านกงกลางพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวน 110 คน รับจ้างทั่วไป 50 คน ส่วนอาชีพรองลงมาคือ ค้าขาย นักกกเรียน/นักศึกษา ว่างงาน พนักงานโรงงาน แม่บ้าน ส่วนอาชีพทที่มีน้อยสุดนหมู่บ้านกงกลางคือ ข้าราชการ 13 คน
ผู้คนในชุมชนบ้านกงกลาง มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน คอยดูแลภาพโดยรวมของหมู่บ้าน และวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน
กลุ่มอาสามัครหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่คอยดูแลชาวบ้านในชุมชนทั้งผู้ที่เจ็บป่วยหรือไม่เจ็บป่วย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัย เป็นต้น
กลุ่มธนาคารหมู่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อรู้รักสามัคคีกันระหว่างคนในชุมชน และสามารถยกระดับฐานะของชาวบ้านตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ เพราะเกิดจากการเกื้อกูลช่วยเหลือกันของคนในหมู่บ้าน และสร้างจิตสำนักของคนในชุมชนให้รู้จักประหยัดอดออม ขยันสร้างรายได้อย่างสุจริต และเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง เงื่อนไขในการกู้ยืมเป็นเช่นเดียวกับธนาคารหมู่บ้าน
กองทุนหมู่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อรู้รักสามัคคีกันระหว่างคนในชุมชน และสามารถยกระดับฐานะของชาวบ้านตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ เพราะเกิดจากการเกื้อกูลช่วยเหลือกันของคนในหมู่บ้าน และสร้างจิตสำนักของคนในชุมชนให้รู้จักประหยัดอดออม ขยันสร้างรายได้อย่างสุจริต และเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง มีการจัดสรรแบ่งจำนวนเงินให้กับสมาชิกในการกู้ยืมแต่ละคนในวงเงินที่เท่ากัน โดยการคืนเงินกู้ยืมให้กับกองทุนจะต้องคืนในทุกปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 บาท/เดือน
กลุ่มเงินออมสัจจะแม่บ้าน เป็นการออมทรัพย์อย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยไม่จำเป็นต้องออกมาก แต่จะต้องตั้งสัจจะว่าจะออมเท่าใด และต้องทำตามความตั้งใจนั้นให้ได้ โดยกลุ่มเงินออมสัจจะแม่บ้านมีหน้าที่ในการรับฝากและปล่อยกู้ได้จากดอกเบี้ย และ ตอบแทนสมาชิกในรูปเงินปันผลแบบรายปี
กลุ่มอาชีพเลี้ยงสุกร สมาชิกในกลุ่มรวมเงินกันซื้อสุกรมาเลี้ยง เมื่อมีการแพร่พันธุ์ออกลูกสุกรจึงแบ่งให้สมาชิกในกลุ่มไปเลี้ยง ทำให้มีเงินหมุนเวียนของกลุ่มและหากมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ก็จะนำเงินมาลงทุนซื้อสุกรเพิ่ม เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มนำไปเลี้ยง และถ้าหากสมาชิกท่านใดไม่มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงสุกรก็สามารถนำมาฝากเลี้ยงกับสมาชิกท่านอื่นได้
ศูนย์สาธิตการตลาด มีวัตถุประสงค์เพื่อการร่วมกันลงทุนของคนในชุมชน สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะและเป็นผลดีต่อการพัฒนา รู้จักรับผิดชอบร่วมกัน และเพิ่มรายได้แบ่งผลกำไรตามส่วน และลดรายจ่ายในการซื้อสินค้าคืนกำไรให้สมาชิก
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มน้ำยาล้างจาน
ในหนึ่งปีของชาวบ้านในชุมชนบ้านกงมีวิถีชีวิตด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ
ชาวบ้านในชุมชนบ้านกงกลางส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพเกษตรกร โดยมีการทำประมงน้ำจืดทั้งปี มีการทำนา ปลูกต้นยูคาในเดือนพฤษภาคม ปลูกต้นอ้อยในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และปลูกโกโก้ในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี อีกทั้งชาวบ้านยังประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น รับจ้างทั่วไปหรือค้าขาย
วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม
เดือนมกราคม จะมีการทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ ในบางปีจะมีการบายศรีสู่ขวัญให้ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นการขอพรสะเดาะเคราะห์ในชุมชน ต้อนรับสิ่งใหม่ๆเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตครอบครัวและชุมชน และวันนั้นจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันในชุมชนแข่งกีฬาฟุตบอลเพื่อเพิ่มความสนุกสนานความสามัคคีในชุมชน
เดือนกุมภาพันธ์ จะมีการทำบุญประทายข้าวเปลือกเรียกว่า บุญข้าวกุ้มใหญ่หรือบุญคูณลาน ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะนำข้าวเปลือกไปบริจาคที่วัดตามจิตศรัทธา
เดือนมีนาคม บุญข้าวจี่ชาวบ้านถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันทำบุญที่ชาวบ้านนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกตักใส่ครก ที่เรียกว่า ครกมอง ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ไข่ กะทิสด แล้วนำไปวางแป้นพิมพ์นำไปผึ่งให้แห้งแล้วนำไปปิ้งเรียกว่าข้าวโป่งแล้วนำไปถวายพระ
เดือนเมษายน บุญเดือนสี่ทำบุญมหาชาติหรือบุญผะเหวดหรือพระเวสสันดร ชาวบ้านจะมีการตกแต่งศาลาเพื่อความสวยงาม ในช่วงเช้าจะมีการเทศน์และทำบุญตักบาตร มีการแห่ภาพพระเวทหรือพระเวสสันดรซึ่งเป็นการเล่าประวัติของพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง งานประเพณีสงกรานต์ ชาวบ้านจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ แห่ทรายเข้าวัด สรงน้ำพระและบรรพบุรุษ มีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ในบ้าน
เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นการทำบุญเบิกบ้านและทำบุญบั้งไฟปัดเป่าทุกข์ร้อนจากบ้านและเป็นการเตรียมก่อนการทำนาทำ เพื่อขอฝนให้ตกตามฤดูกาล ในวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้า ส่วนในตอนเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัด
เดือนสิงหาคม เป็นงานบุญประเพณีเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้าและมีการแห่เทียนพรรษามีการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุและมีการจำวัดของผู้เฒ่าผู้แก่ในวัดตลอดช่วง 3 เดือนที่เข้าพรรษา ทางบ้านก็จะมีการจัดงานบวชลูกชาย เพราะเชื่อว่าพ่อแม่จะมีการไปทอดเทียนถวายเทียนพรรษาแลกเปลี่ยนตามวัดต่างๆและในแต่ละปีจะมีการกำหนดหมู่บ้านที่จะทอดเทียนในปีนั้นซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกๆปีและในตอนกลางวันจะมีการแข่งขันกีฬาร่วมกันเพื่อความสนุกสนานและสร้างความสามัคคีในชุมชน
เดือนกันยายนถึงตุลาคม ประเพณีข้าวประดับดิน แรม 15 ค่ำ ชาวบ้านจะนำอาหารให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตไปแล้ว อาหารสุกจะถวายให้พระ หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาจะนำอาหารไปถวายให้พระแม่ธรณีพระโพธิสัตว์เพื่อให้ข้าวในนาเจริญงอกงาม
เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ประเพณีบุญข้าวสาก บุญออกพรรษา บุญกฐิน
นายทอง เหลาประเสริฐ อายุ 73 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 46 หมู่ 2 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น นายทองได้ดำรงตำแหน่งที่ช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ทั้งเป็นประธานหมู่บ้านก่อนจะไปเป็นประธานสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การส่วนตำบลบ้านกง เป็นระยะเวลา 1 สมัย เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งนายทอง เหลาประเสริฐได้รับรางวัลการปฏิบัติงานดีเด่นมากมาย ทั้งอาสามัครหมู่บ้านดีเด่นปี พ.ศ. 2548 อาสามัครหมู่บ้านดีเด่นระดับอำเภอ ปี พ.ศ. 2558 และได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการเรียนรู้และนวัตกรรมตำบลบ้านกง รุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2560
ทุนกายภาพ
ชุมชนบ้านกงกลางมีแหล่งน้ำมากมายให้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้ชาวบ้านบ้างกงกลางมีน้ำใช้เพาะปลูกตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีเขื่อนอุบลรัตน์ที่ชาวบ้านนอกจากจะมีประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าสู่หมู่บ้านแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อชาวบ้านในการทำประมง ทำกระชังปลาเพื่อการค้าขาย หรือการหาอาหารได้อีกด้วย ทุนกายภาพที่สำคัญของชุมชนบ้านกงกลางอีกอย่างหนึ่งคือ ป่าช้าและป่าชุมชนบริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลโดยชาวบ้านในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการหาฟืน เก็บเห็ดหรือพืชผักที่ออกตามฤดูเพื่อใช้ประกอบอาหาร
ทุนเศรษฐกิจ
เนื่องจากชุมชนบ้านกงกลางมีการก่อตั้งกองทุนต่างๆขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ให้สมาชิกในกลุ่มสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารหมู่บ้าน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.50/เดือน กองทุนเหล่านี้ส่งผลให้ชาวบ้านที่ไม่มีเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจหรือมีความจำเป็นในการใช้เงินสามารถกู้ยืมและจ่ายคืนได้ในดอกเบี้ยต่ำ จึงเป็นผลดีและเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก
ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านกงกลาง ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น นิยมใช้ภาษาอีสานและภาษากลางในการสื่อสารเชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านอื่นๆในตำบลบ้านกง โดยมีสำเนียงการพูดภาษาอีสานเป็นแบบลาวตะวันตก (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน) และสำเนียงแบบลาวเวียงจันทน์
ความท้าทายของชุมชน
ชุมชนบ้านกงกลางเป็นชุมชนที่มีแหล่งน้ำล้อมรอบอีกทั้งยังมีเขื่อนอุบลรัตน์ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ เมื่อถึงฤดูฝนทำให้มีน้ำมากเกินไป น้ำจึงท่วมหมู่บ้านเป็นระยะเวลานานถึง 1 เดือนแทบทุกปี ทำให้เกิดความเสียหายต่อชุมชนในทุกปี แต่ปัจจุบันปัญหาน้ำท่วมไม่สร้างความเสียหายมากนักเนื่องจากมีการปรับตัวในการยกบ้านสูงเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม
การเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมของชุมชน
ในอดีตลักษณะบ้านในชุมชนบ้านกงกลางเป็นบ้านไม้ที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง ซึ่งมีการยกบ้านขึ้นสูงเล็กน้อย ต่อมามีการพัฒนา ปรับปรุงบ้านให้ทันสมัยมากขึ้น โดยลักษณะบ้านแบบใหม่เป็นบ้านไม้อยู่ชั้นบนและเป็นปูนชั้นล่างทำให้ตัวบ้านมีการระบายอากาศอย่างดี และมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะอยู่ในทุกบ้าน ซึ่งในชุมชนบ้านกงกลางนี้จะไม่มีการตั้งถังขยะไว้หน้าบ้าน ไม่มีรถเก็บขยะจากตำบล โดยชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะมีการคัดแยกขยะและนำไปทิ้งเองตามจุดที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านทุกคน ทำให้ชุมชนบ้านกงกลางนั้นสะอาด น่าอยู่
ชุมชนบ้านกงกลาง มีวัดที่สำคัญ คือ วัดโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นสำนักงานเจ้าคณะอำเภอ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนภายในหมู่บ้าน อีกทั้งในชุมชนยังมีโรงเรียนถึง 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านกงประชานุกูล โรงเรียนร่มโพธิ์ทองธรรมวิทย์ โรงเรียนการกุศลวัดโพธิ์ทอง โรงเรียนผู้สูงอายุ และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากรบ้านหนองไผ่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (dopa.go.th)
Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2566.
เข้าถึงได้จาก : https://www.sanook.com/campus/1409663/