Advance search

หมู่บ้านจัดการขยะต้นแบบ หมู่บ้านจักสานกล่องข้าวไม้ไผ่

หมู่ที่ 2
บ้านแม่สุก
แม่สุก
แม่ใจ
พะเยา
วันเพ็ญพร แสงโทโพ
27 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
2 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
26 พ.ค. 2023
บ้านแม่สุก

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่ตามลำห้วยของหมู่บ้าน และออกดอกส่งกลิ่นหอมตลบอบอวนไปทั่วทั้งหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้ชนิดนี้มาตลอด คนในหมู่บ้านจึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นสีสุก (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) และใช้ชื่อนี้ในการตั้งหมู่บ้าน


หมู่บ้านจัดการขยะต้นแบบ หมู่บ้านจักสานกล่องข้าวไม้ไผ่

บ้านแม่สุก
หมู่ที่ 2
แม่สุก
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.32962965
99.79485601
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก

ประวัติความเป็นมาของบ้านแม่สุก หมู่ 2 มีผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านเล่าต่อกันมาว่า บ้านแม่สุกสร้างขึ้นเมื่อใดก็ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน ก่อตั้งมาตั้งแต่บรรพบุรุษอพยพมาจากลำปาง โดยทั้งหมู่บ้านและวัดแม่สุกตามประวัติคือมีชาวบ้านและพระภิกษุที่อพยพมาจากบ้านขอหัวช้าง (อ.เมืองปาน จ.ลำปาง) ประมาณ 50 ครอบครัว โดยมีการนำของหาญฟ้าเขียว พระยาสิริ แสนใจ ตามิ่ง ท้าวพรม ท้าวใจ เป็นต้น แต่พบหลักฐานจากคัมภีร์ใบลาน เล่ากันว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2383 การก่อตั้งบ้านแม่สุกจะใกล้เคียงกับวัดแม่สุก ประวัติศาสตร์ของการก่อตั้ง วัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2390 (ยุคของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 - 2 เมษายน พ.ศ. 2394 )

จุลศักราช 1209 พุทธศักราช 2390 ท่านครูบายาสมุทร และท่านครูบาโน ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดแม่สุกขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านแม่สุก ซึ่งวัดแม่สุก เดิมชื่อ "วัดแม่สีสุกสมุทรน้ำล้อมวราราม" เนื่องจากสภาพแวดล้อมในอดีตบริเวณวัดรอบล้อมไปด้วยแม่น้ำลำธาร 4 ด้าน และทั่วพื้นที่ในหมู่บ้านและวัดจะมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้าน เรียกกันว่า "ไม้สีสุก" (อโศก) ต้นไม้ชนิดนี้เมื่อผลิดอกจะส่งกลิ่นหอมตลบอบอวนไปทั่วบ้าน จึงเป็นที่มาของคำว่า "แม่สุก" อีกประการหนึ่ง วัดแห่งนี้มีพระภิกษุ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ชื่อ "ยาสมุทร" เป็นผู้นำชาวบ้านประมาณ 50 หลังคาเรือน สร้างวัดขึ้นมาแล้วตั้งชื่อวัดว่า "แม่สุกสมุทรน้ำล้อมวราราม" โดยเอาคำว่า "แม่สุก" มาจากชื่อของแม่น้ำและต้นไม้สีสุก จึงตั้งชื่อว่า "บ้านแม่สุกคำว่า "สมุทร" เป็นชื่อของพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำในการสร้าง ส่วนคำว่า "น้ำล้อม" มาจากสภาพบริเวณวัด ที่มีแม่น้ำลำธารล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มาตั้งหมู่บ้านในบริเวณที่ราบเชิงเขา รวม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่สุก บ้านแม่จว้า บ้านแม่จว้าใต้ รวมกันเป็นหนึ่งตำบล

จุลศักราช 1149 ปีมะแม นพศก พุทธศักราช 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยา รวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างพากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงรายไปตั้งอยู่ที่ห้าแยกเมืองลำปาง ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุ เมืองสาด ที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์เดี๋ยวนี้ ส่วนชาวเมืองพะเยา ได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุกในปัจจุบัน เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี (พระธรรมวิมลโมลี. (ม.ป.ป.). อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว. พะเยา: วัดศรีโคมคำ.)

ปี พ.ศ. 2386 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้เจ้าหลวงวงศ์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ศีติสาร) ที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน

พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นจุดเริ่มต้นของการมีการปกครองระดับหมู่บ้านด้วยตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านแม่สุก หมู่ 2 คือ พ่อหลวงศรีวงศ์ ดาราสุวรรณ เป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนาหมู่บ้าน ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2477 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าบ้าน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับชาวบ้านเมื่อประมาณ

พ.ศ. 2482 มีการเกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน คือ โรคไข้ทรพิษ มีการรักษาด้วยการเป่า โดยพ่อหลวงศรีวงศ์ และพ่อเลี้ยงคำ รวมทั้งมีการระบาดของฝีดาษ ไม่มีการรักษาแต่อย่างใด เนื่องจากกลัวติดต่อกันและไม่รู้จักวิธีการรักษา เมื่อมีอาการรุนแรงของโรคจนนอนกับพื้นธรรมดาไม่ได้ ได้ใช้ใบตองกล้วยมาปูนอนเพื่อไม่ให้ผิวหนังติดหลุดลอก และมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้มีการนำศพไปฝังไว้ที่ป่าช้า โดยไม่มีการทำพิธีกรรมใดๆทั้งสิ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2488

พ.ศ. 2490 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ พ่อหลวงแป๋ง สุคันโธ เริ่มมีการใช้วิทยุโดยเป็นวิทยุแบบใช้ถ่านประมาณ 24 ก้อน เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2490 ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

พ.ศ. 2500 ผู้ใหญ่บ้านได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันทำถนนเส้นหลักของหมู่บ้าน โดยแต่ก่อนเป็นป่าหญ้ารกร้างต้องใช้แรงงานในการถางหญ้าให้เป็นพื้นที่ว่างเพื่อทำถนนทำให้การเดินทางเข้าในหมู่บ้านสะดวกมากขึ้น

พ.ศ. 2511 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือ พ่อหลวงเหรียญ อุทธโยธา เริ่มมีโทรทัศน์ขาว-ดำเข้ามาใช้ โดยใช้ไฟปั่นเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511 ทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารและมีความรู้เพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2512 ได้ขยายถนนและเริ่มแบ่งซอยในหมู่บ้านเพื่อให้การเดินทางไปมาหาสู่กันในหมู่บ้านสะดวกขึ้น ต่อมาประชาชนบ้านแม่สุก หมู่ 2 ได้ร่วมกับหมู่บ้านในตำบลแม่สุก จำนวน 9 หมู่บ้าน ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 3,000 บาท เพื่อซื้อที่ดิน 1 ไร่ 3 งานของนายตุ้ย อินต๊ะมูล เป็นสถานที่ก่อสร้างอนามัยตำบลแม่สุก ต่อมานายจำปี อินต๊ะมูล ได้บริจาคเงินจำนวน 25,000 บาท เพื่อสร้างอาคารอนามัยตำบลแม่สุกและเริ่มดำเนินการให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2512 เมื่อประชาชนเจ็บป่วยทำให้ง่ายต่อการไปรักษา เข้าถึงบริการเพราะอนามัยอยู่ใกล้หมู่บ้านสามารถเดินทางไปได้โดยใช้เวลาไม่มาก 

พ.ศ. 2518 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 คือ พ่อกำนันจำปี อินต๊ะมูล รัฐบาลได้มีโครงการนำไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านเป็นครั้งแรก และเริ่มมีการนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า คือ โทรศัพท์ ตู้เย็น เครื่องแรกเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้านคือ มีคนในหมู่บ้านเป็นแผลที่มือ แผลหายช้า ประชาชนเรียกว่า "ขี้ตู้ด" 

พ.ศ. 2523 เริ่มมีผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้น เข้าใจโรคที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้าง วิธีการปฏิบัติตัว วิธีการรักษา ได้เข้าใจว่า โรคที่เรียกว่า "ขี้ตู้ด" ซึ่งคือ โรคเรื้อนทำให้มีแผลและแผลหายช้า

พ.ศ. 2525 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียน

พ.ศ. 2528 มีการปรับถนนสายหลักของหมู่บ้านให้เป็นถนนลาดยางทำให้การเดินทางสะดวก ประชาชนเดินทางออกนอกหมู่บ้านเพิ่มขึ้น และมีการชาวบ้านติดเชื้อโรคเอดส์ขึ้นในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก ทำให้ประชาชนหวาดกลัวกับโรคที่เกิดขึ้น และในปีนี้มีการสร้างสะพานน้ำแม่สุก

พ.ศ. 2531 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 พ่อหลวงเหนียม พินิจสุวรรรณ ชาวบ้านมีการทำพิธีสังฆกรรม (สักการบูชาพระอุโบสถในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันปีใหม่เมือง เป็นต้น) 

พ.ศ. 2536 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 คือ พ่อหลวงเมืองใจ ก๋าติ๊บ มีการบูรณะศาลเจ้าบ้าน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน

พ.ศ. 2544 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 พ่อกำนันตา เมืองใจ มีการแยกหมู่บ้านออกจากบ้านแม่สุกหมู่ 2 ออกไปเป็นบ้านแม่สุกน้ำล้อม หมู่ 10 อีกหมู่หนึ่ง เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ต่อมามีการแบ่งคุ้มภายในหมู่บ้านออกเป็น 6 คุ้ม คือ คุ้มแม่สุกพัฒนา คุ้มชาวประชาแจ่มใส คุ้มร่วมใจพัฒนา คุ้มเด่นพละชน คุ้มรวมพลังแผ่นดินและคุ้มสุกศรีร่มเย็น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านและได้ข้อมูลอย่างทั่วถึง

พ.ศ.2550 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 พ่อกำนันสมบูรณ์ ศิริป๋า มีการระดมคนภายในหมู่บ้านสร้างศาลาประชาคมหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการรวมตัวกันของประชาชนในการทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ ประชุม ออกกำลังกาย และมีการยกศาลเจ้าบ้านโดยใช้รถยกแม่แรงช่างดีดบ้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงถาวร

พ.ศ. 2552 ได้ริเริ่มจัดทำโครงการข่วงอุ้ยสอนหลาน เพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของหมู่บ้านแม่สุกไว้

พ.ศ. 2553 สถานีอนามัยตำบลแม่สุกได้ยกระดับให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และได้ย้ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปรวมกับหมู่บ้านอื่น ไปจัดตั้งที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก ได้เปลี่ยนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเดิมที่สถานีอนามัยให้เป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยโรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา มาให้บริการทุกวันพฤหัสบดี

พ.ศ. 2556 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 9 คือ พ่อหลวงอดุลย์ พินิจสุวรรณ หมู่บ้านมีรางระบายน้ำ ผนังกั้นตลิ่งจากแบบดินมาเป็นแบบคอนกรีตตามคลองน้ำแม่สุกที่ไหลผ่านหมู่บ้านเพื่อป้องกันตลิ่งทรุด ดำรงตำแหน่งพัฒนาหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านทุ่งโป่ง หมู่ 7 ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่สุกน้ำล้อม หมู่ 10 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแม่ใจ จังหวัดพะเยา และลำน้ำอิง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง

สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านแม่สุกเป็นที่ราบ มีลำน้ำแม่สุกไหลผ่านกลางหมู่บ้านจากอ่างเก็บน้ำแม่สุก และเป็นแหล่งชุมชน มีพื้นที่เหมาะสำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตร มีพื้นที่เป็นที่ราบ สภาพบ้านเรือนจะเป็นบ้านสองชั้น ชั้นล่างเป็นปูนชั้นบนเป็นไม้ และมีบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างใช้เป็นที่พักผ่อนและเก็บข้าวของ การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่เครือญาติจะอยู่ในรั้วเดียวกัน บางบ้านจะเป็นบ้านเดี่ยว การกระจายของการตั้งบ้านเรือนจะกระจายไปตามลำน้ำแม่สุกตลอดจนเส้นทางเข้าหมู่บ้าน  มีการปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ ไว้กินเองในบ้าน ปลูกต้นไม้เพื่อให้ความร่มรื่น ประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ มีบางส่วนที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ส่วนผู้สูงอายุจะใช้รถจักรยาน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ปลูกกระเทียม ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วลิสง แคนตาลูป สวนลิ้นจี่ ลำไย 

ประชากรในบ้านแม่สุก หมู่ที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 453 คน เพศชาย 237 คน เพศหญิง 216 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 132 ครัวเรือน นับถือศาสนาพุทธทุกครัวเรือน

บ้านแม่สุก หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีองค์กรในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมี นายอดุลย์  พินิจสุวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการประกอบด้วยสมาชิก ดังนี้

ผู้ใหญ่บ้าน : นายอดุลย์ พินิจสุวรรณ

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางอรุณี ปูธิปิน เป็นประธาน มี อสม.รวมประธานทั้งสิ้น 14 คน
  • กลุ่มตำรวจบ้าน (สตบ.) : นายธรรม ชัยก๋า เป็นประธาน มีอาสาสมัคร 17 คน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายถวิล แก่นคำเป็นประธาน มีสมาชิกผู้สูงอายุทุกคนในหมู่บ้าน
  • กลุ่มพัฒนาสตรี (กลุ่มแม่บ้าน) : นางผ่องศรี แก้วตา เป็นประธาน
  • กองทุนหมู่บ้าน : นางวราภรณ์ เมืองใจ เป็นประธาน
  • หัวหน้าคุ้ม/เขต : จำนวน 6 คน
  • อาสาพัฒนาชุมชน : จำนวน 4 คน
  • กลุ่มพัฒนาสตรี : จำนวน 18 คน
  • กองทุนหมู่บ้าน : จำนวน 9 คน
  • ชมรมผู้สูงอายุ : จำนวน 15 คน
  • คณะกรรมการศูนย์พัฒนาครอบครัว : จำนวน 3 คน
  • อาสาสมัครเกษตร : จำนวน 2 คน
  • กรรมการการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำหมู่บ้าน : จำนวน 1 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร : จำนวน 3 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม : จำนวน 2 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตกรรม : จำนวน 2 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน : จำนวน 1 คน

ประชาชนบ้านแม่สุก หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีอาชีพที่หลากหลาย ส่วนมากประกอบอาชีพทำนา และมีการทำสวนกระเทียมและเก็บลิ้นจี่ตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ เช่น ค้าขาย รับราชการ ก่อสร้าง เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ 

ศาสนา ชาวบ้านแม่สุก หมู่ 2 นับถือศาสนาพุทธทุกครัวเรือน ในหมู่บ้านแม่สุกมีวัด 1 แห่ง ชื่อ “วัดแม่สุก” ซึ่งเป็นวัดที่ใช้ร่วมกันของประชาชนบ้านแม่สุกเหนือ หมู่ 1 บ้านแม่สุกกลาง หมู่ 6 บ้านแม่สุกดอย หมู่ 9 และบ้านแม่สุกน้ำล้อม หมู่ 10 มาร่วมกันทำบุญตักบาตรทุกวันพระและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีอุโบสถ 1 แห่ง

ประเพณีวัฒนธรรม มีประเพณีที่สำคัญต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ดังปฏิทินวัฒนธรรมของชุมชนตามแบบแผนล้านนา

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี“ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุ ที่วัดแม่สุกธาตุหมู่ 9
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เลี้ยงขุนผีน้ำ(เจ้าพ่อพญาคำฟู), ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี

1. นายหมั่น แก้วตา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

2. นายสมชาย ปวนเต็ม : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

3. นายศิวกร ศิริคำน้อย : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

4. นายอ้าย พินิจ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม

5. นายถนิม พินิจสุวรรณ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม

6. นายอ้าย พินิจ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

7. นายถนิม พินิจสุวรรณ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

8. นางเอื้อง ศิริคำน้อย : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

  • อาคารเอนกประสงค์ 1 แห่ง ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน เช่น การประชุมหมู่บ้าน การประชาคมหมู่บ้าน ใช้เป็นสถานที่ในการเก็บอุปกรณ์เครื่องครัวของหมู่บ้าน เป็นสถานที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน และใช้เป็นหอกระจายข่าวประชาสัมพันธ์
  • ศาลาข่วงอุ๊ยสอนหลาน 1 แห่ง

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่สุก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ  สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์  ลิมปิยากร.  (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88 – 94.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ  ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14.  5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอ ดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59.  27 กรกฎาคม 2508