Advance search

ผักอินทรีย์ปลอดสาร หมู่บ้านจัดการขยะดีเด่น

หมู่ที่ 10
บ้านร้องศรีดอนมูล
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
ศศิธร ปัญจโภคศิริ
3 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
17 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
26 พ.ค. 2023
บ้านร้องศรีดอนมูล

บ้านร้องศรีดอนมูล อาศัยร่องน้ำเก่ามาบวกกับชื่อวัดศรีดอนมูล


ผักอินทรีย์ปลอดสาร หมู่บ้านจัดการขยะดีเด่น

บ้านร้องศรีดอนมูล
หมู่ที่ 10
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.35333846
99.841737
เทศบาลตำบลบ้านเหล่า

ในปี พ.ศ. 2445 ยังไม่มี พรบ.นามสกุล และได้มีครอบครัวที่อพยพมาทั้งหมด 9 ครอบครัว ได้แก่

  • รอบครัวที่ 1 นายมูล นางปุก นายสาร นางเกี้ยว ชาวบ้านหนองแหวน ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
  • ครอบครัวที่ 2 พญาจุมปู แม่พญาคา บ้านผึ้งนาเกลือ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
  • ครอบครัวที่ 3 นายนะ นางนา จากบ้านปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้นำลูกหลานอพยพหนีความแห้งแล้ง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเหล่าหลวง ตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านเหล่าใหม่” สาเหตุที่เรียกชื่อว่าบ้านเหล่า ก็คือแต่แรกมีแต่ป่าไม้เป็นเหล่าเป็นกอ ป่าไม้ก็เยอะ และป่าละเมาะ เป็นแหล่งสัตว์ป่า เสือ ช้าง หมาป่า เป็นที่น่ากลัว (สมัยนั้นมีการไล่ล่า เป่าดอก) หรือล่าสัตว์นั้นเอง บ้านเหล่าใหม่ขึ้นกับการปกครองของนายผัด (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
  • ครอบครัวที่ 4 นายเมา-นางพา บ้านผึ้งนาเกลือ
  • ครอบครัวที่ 5 นายท่อน-นางคำ จากบ้านป่าจ๊ำ
  • ครอบครัวที่ 6 นายมูล-นางก๋องแก้ว จากบ้านวังพร้าว
  • ครอบครัวที่ 7 นายต๊ะ-นางแจ้น
  • ครอบครัวที่ 8 นายมี-นางคำ จากบ้านสาด อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางพร้อมญาติพี่น้อง
  • ครอบครัวที่ 9 พ่อหนานสม-แม่ปั๋น พ่อเหมย-แม่แก้วมา ได้อพยพมาอยู่ด้วยกันและก็มีญาติ เพื่อน ตามมาอยู่เรื่อย ๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ได้มี พรบ.นามสกุลขึ้นมาในรัชสมัย ร.6 โดยครอบครัวที่อพยพเข้ามาก็ได้นามสกุลดังนี้

  • ครอบครัวที่ 1 ได้นามสกุล “ใจประการ”
  • ครอบครัวที่ 2 ได้นามสกุล “ใจจุมปู”
  • ครอบครัวที่ 3 ได้นามสกุล “จุมปูนา”
  • ครอบครัวที่ 4 ได้นามสกุล “จินะวรรณ”
  • ครอบครัวที่ 5 ได้นามสกุล “ท่อนคำ”
  • ครอบครัวที่ 6 ได้นามสกุล “ปะละอ้าย”
  • ครอบครัวที่ 7 ได้นามสกุล “เมืองฟอง”
  • ครอบครัวที่ 8 ได้นามสกุล “ทะนันใจ”
  • ครอบครัวที่ 9 ไม่ทราบนามสกุล

ปี พ.ศ. 2459 มีการขออนุญาตตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลชั่วคราว แต่คณะศรัทธาวัดเหล่าหลวง (หรือเหล่าเก่า) ไม่ยินยอมให้ตั้งเพราะกลัวว่าวัดเดิมจะมีศรัทธาน้อยลง กลัวจะลำบากในการอุปฐากพระภิกษุสามเณร จึงตั้งไม่สำเร็จแต่ด้วยความพยายามของชาวบ้านซึ่งมีอยู่ 50 กว่าหลังคาเรือน จึงได้ไปกราบนมัสการพระครูเมธัง วัดสันผักฮี้ เจ้าคณะแขวงอำเภอพาน พอได้รับอนุญาตแล้วจึงไปอาราธนานิมนต์พระธัมชัย (ตุ๊ลุงใจ) วัดสันต้นหวีด ตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยาเป็นเจ้าอาวาส ในปี 2459 ไตว่าปีเปิ๊กสี (ปีมะโรง) วันพฤหัสบดี เดือนเก้าเหนือดับ (เหนือแรม 14 ค่ำ) แต่หมู่บ้านก็ยังคงขึ้นกับการปกครองของนายมัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 (บ้านเหล่าหลวง) บ้านเหล่าใหม่แห่งนี้จึงได้ตั้งชื่อวัด ชื่อว่า “วัดศรีดอนมูลเหล่าใหม่” ส่วนบ้านเหล่าหลวงในสมัยนั้นมีชื่อว่าเรียกว่าบ้านเหล่าเก่าเนื่องจากสภาพหมู่บ้านมีร่องน้ำ ซึ่งไหลมาจากลำน้ำแม่ปืม ไหลลงมาทางป่าช้าสันคอกม้า ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ไหลลงที่หนองเล็งทราย ผ่านทางท่าลอป่าพ้าว หมู่บ้านเหล่าใหม่นิยมปลูกอ้อยแล้วทำน้ำตาลทรายทั้งหมู่บ้าน ต่อมาถึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านตามอาชีพ

ปี พ.ศ. 2460 ไตรว่าปีเบิกสี (ปีมะโรง) วันพฤหัสบดี เดือน 9 เหนือดับ แต่หมู่บ้านก็ยังคงขึ้นกับการปกครองของนายผัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านเหล่าหลวงเหมือนเดิม ในการที่ได้ตั้งวัดขึ้นมาใหม่ หมู่บ้านจึงมีชื่อว่า วัดศรีดอนมูล เหล่าใหม่ ส่วนบ้านเหล่าหลวงในสมัยนั้นเรียก บ้านเหล่าเก่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศทั่วไปของหมู่บ้านนี้มีร่องน้ำเก่า ๆ ไหลออกมาจากลำน้ำแม่ปืม ไหลลดคดเคี้ยวไปมา เข้าสู่หมู่บ้านและไหลลงทุ่งนาไปทางทิศเหนือป่าช้า ไหลผ่านบ้านสันคอกม้า ลงสู่หนองเล็งทรายที่เจอป่าข้าว พร้อมกับชาวบ้านสมัยนั้นนิยมปลูกอ้อย เคี่ยวน้ำอ้อยขายเป็นอาชีพเสริม โดยขายในราคากิโลกรัมละ 2 สตางค์ หมู่บ้านจึงมีชื่อเรื่องว่า บ้านเหล่าอ้อย โดยมีนายอ้าย ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก 

ปี พ.ศ. 2462 ได้แบ่งการปกครองจากหมู่ 11 มาเป็นบ้านเหล่าอ้อย หมู่ 21 ตำบลแม่ใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีนายอ้าย ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2484 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเหล่าอ้อยถูกสั่งให้ยกเลิกไปขึ้นกับบ้านเหล่าธาตุ หมู่ 20 ตำบลแม่ใจใต้ ในสมัยนั้นมีนายตุ้ย อุปะละ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ปี พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ตำบลใจใต้ ได้เปลี่ยนเป็นตำบลแม่ใจ จากหมู่ 20 เป็นหมู่ 4 หมดสมัยนายตุ้ย อุปะละ นายเขียว ปานทอง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 หมดสมัยนายเขียว ปานทอง นายบุญมี คำอ้ายเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4

ปี พ.ศ. 2497 ได้ขอตั้งโรงเรียนขึ้นและให้ชื่อว่าโรงเรียนแม่ใจ 5 (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนบ้านไร่อ้อย) ก่อตั้งโดยนายบุญมี คำอ้าย โดยมีนายอินหลง วรรณจักร เป็นผู้อำนวยการคนแรก ชื่อหมู่บ้านเรียกว่าบ้านไร่อ้อยตั้งแต่นั้นมา นายปั๋น ใจปราการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2499 บ้านเหล่าอ้อยได้รับการอนุมัติให้หมู่บ้านแยกออกจากหมู่ 4 มาเป็นบ้านไร่อ้อยหมู่ 5 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันชื่อบ้านไร่อ้อย หมู่ 5 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา) โดยมีนายปั๋น ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ.2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ปี พ.ศ. 2504 มีการปลูกฝีที่สุขศาลาแม่ใจ โดยเดินทางไปรักษาโดนใช้ล้อเกวียนลากโดยวัวและควาย โดยในสมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากถนนมีแต่โคลนและฝุ่นเป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ ให้รวมเขตการปกครองตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลป่าแฝกและตำบลแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ใจ” ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน 

ปี พ.ศ. 2508 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย

ปี พ.ศ. 2510-2512 ในระยะนี้มีประชากรเพิ่มขึ้นมามาก จึงได้ขอแบ่งแยกการปกครองเพิ่มเข้ามาอีก 2 หมู่บ้าน คือ แยกจากหมู่ 5 เป็นหมู่ที่ 14 (คือ บ้านไร่อ้อยหมู่ 1 ในปัจจุบัน) โดยมีนายป้อ หล้าแก้วเป็นผู้ใหญ่บ้าน (เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2512) และนายปั๋น ใจประการ ได้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 และได้แต่งตั้งนายอ้าย จินะวรรณขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2512

ปี พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)

ปี พ.ศ. 2523 ในวันที่ 20 ธันวาคม นายอ้าย จินะวรรณได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาและได้มีการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้น จึงได้แต่งตั้งนายบุญมี แก้วธิตา เป็นอาสาสมัครมาลาเรีย เนื่องจากลูกชายของนายบุญมีป่วยเป็นโรคมาลาเรียมาก่อนและนายบุญมี มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยมาก่อน

ปี พ.ศ. 2525 วันที่ 25 กันยายน กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า โดยแยกออกมาจากตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นายอ้าย จินะวรรณ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนันตำบลบ้านเหล่าเป็นคนแรกและได้รับนโยบายจากการอบรม อย. เกี่ยวกับการศึกษา ความยากจน โรคภัยและปัญหาที่ได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกคือ ความยากจนและมีการแต่งตั้งธนาคารข้าวเกิดขึ้น โดยให้แต่ละครัวเรือนเอาข้าวมารวมกัน เพื่อให้คนที่ยากจนไปยืมข้าวบริโภคก่อนและเริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาเป็นครั้งแรกและมีโทรทัศน์เครื่องแรกที่บ้านนายยอด ชัยชมพู

ปี พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้ลูกคนจนได้เข้ารับการศึกษา

ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการก่อตั้งอนามัยบ้านเหล่าขึ้น โดยนายตา ทาฟุ่น ได้มอบที่ดินให้กระทรวงสาธารณสุขในการก่อตั้งสถานีอนามัย โดยมีเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งชื่อคุณสุนัน อินต๊ะมูล เป็นผู้รักษาการและได้มีสาธารณสุขมูลฐานฉบับที่ 5 เข้ามาที่ตำบลบ้านเหล่า โดยมีนโยบายสาธารณสุข มีแนวคิดสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน มีการพึ่งพาและการดูแลตนเองด้านสุขภาพชุมชนโดยการผลิต ผสส. (ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข) มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การใช้สมุนไพรในท้องถิ่น โดยมีการแต่งตั้ง ผสส.ในหมู่บ้าน 1-2 คน ไปอบรมพัฒนาศักยภาพ ยกระดับเป็น อสม. และได้มีการแต่งตั้ง อสม.คนแรกคือ นายบุญมี แก้วธิตาและนายเขียว จินะวรรณ

ปี พ.ศ. 2529 เนื่องจากจำนวนครัวเรือนและประชากรเพิ่มหนาแน่นเข้ามาอีกจึงได้ขออนุมัติแยกหมู่บ้านจากหมู่ 5 ไปเป็นหมู่ 10 โดยใช้ชื่อว่า บ้านร้องศรีดอนมูล อาศัยร่องน้ำเก่ามาบวกกับชื่อวัดศรีดอนมูลซึ่งมีนายเกษม ทาจุมปู เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529 ต่อมานายหน้อย สาอุด เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2529

ปี พ.ศ. 2530 ได้ทำศาลาสำหรับนั่งอ่านหนังสือพิมพ์และใส่ท่อระบายน้ำแทนสะพานไม้ข้ามคลองขึ้น

ปี พ.ศ. 2531 นายหน้อย เต๋จ๊ะบุญเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2531 และวันที่ 31 มีนาคม 2531 ได้มีพายุเข้าหมู่บ้าน ทำให้บ้านเรือนเสียหาย หลังคาเปิดและในตอนนั้นมีศพที่อยู่บนบ้านด้วยและบางบ้านก็ได้ไปรวมกันอยู่

ปี พ.ศ. 2532 มีผู้ป่วยที่ตายด้วยโรคเอดส์คนแรกเป็นผู้ชาย

ปี พ.ศ. 2532-2535 โรคเอดส์เริ่มมาระบาดที่บ้านเหล่า มีการสร้างยุ้งฉางข้าวในหมู่บ้าน ทำประปาหมู่บ้านที่คุ้ม 6 และสร้างศูนย์สาธิตการตลาดในหมู่บ้านและได้มีการอบรมผู้บริโภค โฆษกหอกระจายข่าวและมีการแต่งตั้งนายบุญมี แก้วธิตา เป็นแพทย์ประจำตำบล (พ.ศ. 2534) และดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2540

ปี พ.ศ. 2539 ทำถนนคอนกรีตครั้งแรกและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2540 ผู้คนเริ่มล้มตายด้วยโรคเอดส์เป็นจำนวนมากเป็นปัญหาใหญ่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยและญาติพี่น้อง

ปี พ.ศ. 2542 หลังจากที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจึงมีการรวมตัวกันของผู้ป่วยและญาติของคนที่เป็นโรคเอดส์ร่วมใจตั้ง “กลุ่มบ้านเหล่ารวมใจ 42” โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1. เป็นที่ปรึกษา 2. สนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานกลุ่ม 3. ผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบช่วยเหลือกันและกัน 4. การพัฒนาศักยภาพแกนนำ

ปี พ.ศ. 2545 มีตู้โทรศัพท์เครื่องแรกในหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2548 รวบรวมผู้มีจิตสาธารณะในพื้นที่จัดตั้งคณะทำงานสุขภาพภาคประชาชน (บ้านเหล่า) ได้แก่ ชมรม อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา ฯลฯ โดยมีหน้าที่ ค้นหาและแก้ไขปัญหาสุขภาพตำบลบ้านเหล่าและได้ขุดร่องน้ำและสร้างอาคารอเนกประสงค์

ปี พ.ศ. 2552 พัฒนาตำบลเป็นตำบลจัดการสุขภาพโดยเน้นชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ อบายมุข อุบัติเหตุและได้สร้างอาคารปุ๋ยอินทรีย์

ปี พ.ศ. 2553 คัดบุคคลต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงซึ่งมีนายเสาร์แก้ว แสนเขียวได้รับเลือกให้เป็นกำนันตำบลบ้านเหล่าและมีการสร้างถนนคอนกรีตรอบหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2554 สร้างกองทุนสุขภาพตำบล เน้นครอบครัว อนามัยและสิ่งแวดล้อม มีสโลแกนคือครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็งและกำนันได้รับรางวัลแหวนเชิดชูเกียรติยศ

ปี พ.ศ. 2555 จัดตั้งโครงการอาหารปลอดภัย

ปี พ.ศ. 2556 เป็นชุมชนปลอดขยะ จัดการกับสิ่งแวดล้อม เน้นอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการกำจัดขยะที่ยั่งยืน

ปี พ.ศ. 2557 จัดตั้งเป็นตำบลลดปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับอาหารคือ ลดหวาน มัน เค็ม แอลกอฮอล์

ปี พ.ศ. 2558 เป็นตำบลสุขภาวะเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุโดยมีมาตรการคือ จัดชมรมผู้สูงอายุ เน้นจัดตั้งกิจกรรม 3 ก ได้แก่ กรรมการ กิจกรรมและกองทุน (ออมบุญเพื่อนช่วยเพื่อน) พัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครผู้สูงอายุ ส่งเสริมสุขภาพโดยมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุที่วัดร้องศรีดอนมูลเพื่อให้ผู้สูงอายุมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูแลตนเอง มีการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว นอกจากนี้ในระหว่างปีเกิดเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำแม่ปืมมีความแห้งแล้งทำให้คนในชุมชนไม่ได้ทำนา

ปี พ.ศ. 2559 เน้น เด็ก สตรีและครอบครัวอบอุ่นและได้มีการจัดตั้งโรงสีข้าวกล้องขึ้นที่คุ้ม 4

ปี พ.ศ. 2560 ได้มีแนวทางดำเนินการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเพื่อเป็นแนวทางและยุทธศาสตร์การดูแลสุขภาพตำบลบ้านเหล่า

ปี พ.ศ. 2563 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโคโรน่าไวรัส ทำให้ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและวิถีชีวิต ชาวบ้านจะอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกไปในพื้นที่แออัด มีการสวมหน้ากากอนามัยและประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน

ปี พ.ศ. 2564 มีการเปลี่ยนการปกครองโดยมีนายบุญจันทร์ ทะนันใจ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2565 หมู่บ้านจัดการขยะ (ข่าวพะเยา, 2565)

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านดงอินตา ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านไร่อ้อย ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านไร่อ้อย ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านไร่อ้อย ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

สภาพภูมิประเทศ

เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตดูแลของเทศบาลตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเพื่ออยู่อาศัยทำการเกษตร มีแหล่งน้ำเป็นคลองธรรมชาติไหลผ่านใจกลางหมู่บ้าน บริเวณรอบหมู่บ้าน ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นทุ่งนาและมีลำน้ำซึ่งอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ปืมไหลผ่านพื้นที่ทำการเกษตร

การคมนาคม

บ้านร้องศรีดอนมูล หมู่ที่ 10 อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจประมาณ 3.7 กิโลเมตร การคมนาคมไม่ว่าจะเป็นภายในหมู่บ้านหรือติดต่อกับภายนอกหมู่บ้าน เป็นการคมนาคมที่สะดวก เนื่องจากมีถนนตัดผ่านตลอดเส้นทาง มีถนนคอนกรีตสองช่องทางรถ เป็นทางติดต่อระหว่างภายในหมู่บ้าน ส่วนถนนติดต่อระหว่างหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทางการเดินทางเข้าสู่ตำบลบ้านเหล่า เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 1021 พะเยา-เชียงราย โดยตัวอำเภอแม่ใจห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร ถึงสี่แยกแม่ใจเลี้ยวขวาเข้าตัวอำเภอและเดินทางออกจากตัวอำเภอไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวตำบลบ้านเหล่า

จำนวนประชากรของบ้านร้องศรีดอนมูล หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ข้อมูลหลังคาเรือนและข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีจำนวน 223 ครัวเรือน มีประชากร 489 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิงจำนวน 244 คน เพศชายจำนวน 245 คน (ทะเบียนราษฎร์จากผู้ใหญ่บ้าน) ข้อมูลหลังคาเรือนและข้อมูลประชากรที่อาศัยอยู่จริง มีจำนวน 192 หลังคาเรือน

ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย โดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว แตงโม  ฟักทอง ถั่วลิสง อาชีพอื่นนอกเกษตรกรรม ได้แก่ รับจ้างทั่วไป และรับราชการ รวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัวเปิดร้านขายของภายในหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่นกลุ่มทอเสื่อ เป็นต้น ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง  นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าในวันพระ ประชาชนส่วนใหญ่จะไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม และส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ  จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูน 2 ชั้น สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร มีรั้วรอบขอบชิด ครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว เป็นต้น และมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ศาลาอเนกประสงค์

บ้านร้องศรีดอนมูล หมู่ 10 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีองค์ในการบริหารจัดการดูแลภายในหมู่บ้านซึ่งมีคณะกรรมหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนายบุญจันทร์ ทะนันใจ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านร้องศรีดอนมูล หมู่ 10 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนให้ความยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้านดังนี้

  • ผู้ใหญ่บ้าน : นายบุญจันทร์ ทะนันใจ
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (โดยตำแหน่ง)           
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (ผู้ทรงคุณวุฒิ)             
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน : จำนวน 22 คน มีนายบุญจันทร์ ทะนันใจ เป็นประธาน
  • หัวหน้าคุ้ม : จำนวน 8 คน
  • ผู้ทรงคุณวุฒิ : จำนวน 4 คน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : จำนวน 24 คน มีนายสมบูรณ์ เรือนเฟย เป็นประธาน
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน : จำนวน 13 คน มีนายสมบูรณ์ เรือนเฟย เป็นประธาน

กองทุนหมู่บ้าน

  • กองทุนเงินล้าน : จำนวน 8 คน มีนายกำจร เดชถี เป็นประธาน
  • กองทุน ก ข ค จ (แก้ไขปัญหาความยากจน) : จำนวน 4 คน มีนายเสริม ก๋าจุ่ม เป็นประธาน

กลุ่มในชุมชน

  • กลุ่มแม่บ้าน : จำนวน 18 คน มีนางสายหยุด อุตะมา เป็นประธาน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ : จำนวน 151 คน มีนายหน้อย เต๋จ๊ะบุญ เป็นประธาน
  • กลุ่มทอเสื่อ : จำนวน 15 คน มีนางพิกุล ทะนันใจ เป็นประธาน
  • กลุ่มน้ำดื่ม : มีนายสมบูรณ์ เรือนเฟย เป็นประธาน
  • กลุ่มเลี้ยงโค : จำนวน 62 คน มีนายบุญจันทร์ ทะนันใจ เป็นประธาน
  • กลุ่มผู้ใช้น้ำ : มีนายบุญจันทร์ ทะนันใจ เป็นประธาน

วิถีทางเศรษฐกิจ

  • อาชีพหลัก : อาชีพทำนา ปลูกพืชผักตามฤดูกาล
  • อาชีพรอง : รับจ้าง ค้าขาย
  • อาชีพเสริม : ทอเสื่อ หาปลา
  • รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร, ค่าดำรงชีพ, ค่าสาธารณูปโภค, ค่างานสังคม, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
  • แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และ ธกส.

ปฏิทินเศรษฐกิจ

  • ข้าวนาปี : เดือนมกราคม-เมษายน
  • ข้าวนาปรัง : เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน
  • ถั่วลิสง เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม
  • ลิ้นจี่ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
  • เก็บเก็ด เดือนมกราคม-มิถุนายน
  • ฟักทอง เดือนกันยายน-พฤศจิกายน
  • แตงโม : เดือนมกราคม-เมษายน
  • มะะนานว เดือนมกราคม-ธันวาคม
  • บวบเหลี่ยม เดือนมกราคม-ธันวาคม
  • มะเขือเทศ เดือนมกราคม-ธันวาคม
  • ตกปลา เดือนมกราคม-ธันวาคม
  • พริก มะนาว ตะไคร้ ถั่วฝักยาว เดือนมกราคม-ธันวาคม

ปฏิทินวัฒนธรรม

  • มกราคม : สืบชะตาหลวง
  • กุมภาพันธ์ : วันมาฆบูชา
  • มีนาคม : ปอยหลวง
  • เมษายน : วันสงกรานต์
  • พฤษภาคม : วันวิสาขบูชา
  • มิถุนายน เลี้ยงผีเจ้าบ้าน
  • กรกฎาคม วันอาสาฬหบูชา
  • สิงหาคม วันเข้าพรรษา
  • กันยายน วันเข้าพรรษา
  • ตุลาคม : ทอดกฐิน, ตักบาตรเทโว, ออกพรรษา
  • พฤศจิกายน : วันลอยกระทง, ฟังเทศน์มหาชาติ
  • ธันวาคม : ถวายข้าวใหม่

1. นายบุญมี แก้วธิตา

เกิดปี : พ.ศ 2480 อายุ 84 ปี เกิดที่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ประวัติการศึกษา

  • ปี  พ.ศ 2492 ไปเรียนที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี และจึงมาเรียนภาษาไทย
  • มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอแม่ใจ

ประวัติโดยทั่วไป

  • เมื่ออายุได้ 4 ขวบ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อมีเสียงสัญญาณก็ได้มีการหลบลงหลุมที่ได้ขุดเอาไว้
  • เมื่ออายุได้ประมาณ 10 ปี พ่อก็เสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต
  • ปี พ.ศ. 2492 อายุ 12 ปี ก็ได้ไปเรียนหนังสือที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี และจึงมาเรียนภาษาไทยต่อ
  • ปี พ.ศ. 2496 ได้บวชเป็นเณรที่วัดศรีดอนมูล
  • ปี พ.ศ. 2501 ได้อุปสมบทเป็นพระ
  • ปี พ.ศ. 2502 ได้ลาอุปสมบทจากการเป็นพระ ออกมาทำนาเลี้ยงแม่และน้องเพราะเป็นลูกคนโต
  • ปี พ.ศ. 2507 ได้ไปเที่ยวที่ประเทศพม่า และได้ไปทำงานรับจ้าง ละได้พบกับนางจันทร์ฟอง คำเงิน (เป็นคนลำพูนและไปเกิดที่ประเทศพม่า) และก็ได้แต่งงานกันที่ประเทศพม่า
  • ปี พ.ศ. 2508  มีบุตรคนแรก ชื่อ นายอนันต์ แก้วธิตา
  • ปี พ.ศ. 2519 เดินทางกลับมาที่ประเทศไทย

ประวัติการทำงาน

  • ปี พ.ศ. 2523 ได้รับเลือกให้เป็นอาสาสมัครมาลาเรีย โดยได้รับการแต่งตั้งโดยนายอ้าย จินะวรรณกำนันตำบลบ้านเหล่า เนื่องจากว่าลูกชายตาบุญมี เคยติดเชื้อมาลาเรีย และตาก็มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมาลาเร
  • ปี พ.ศ. 2525 เป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน เป็นผู้นำ อช. เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านเหล่า (ศรีดอนมูล)
  • ปี พ.ศ. 2527 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น อสม. คนแรกของหมู่บ้าน ซึ่งเลือกตั้งโดย ผสส. ในหมู่บ้าน
  • ปี พ.ศ. 2529 - 2530 ได้รับการอบรมเป็น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ตำบลบ้านเหล่า
  • ปี พ.ศ. 2534 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "แพทย์ประจำตำบลบ้านเหล่า" เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม
  • ปี พ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า
  • ปี พ.ศ 2550 ได้รับเลือกให้เป็น "คนดีศรีพะเยา" เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550
  • ปี พ.ศ 2551 ได้รับฉันทามติจากมวลสมาชิกเครือข่ายวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า” ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551

ประวัติการทำงานอื่น ๆ

  • กรรมการสภาตำบลบ้านเหล่า : 1 สมัย
  • สมาชิก อบต. บ้านเหล่า (โดยตำแหน่ง) : 1 สมัย
  • สมาชิกกลุ่มพิทักษ์ศักดิ์ศรีสตรีพะเยา : 1 สมัย
  • สมาชิกสมัชชาเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัย : 1 สมัย
  • โฆษกหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน : 1 สมัย
  • อาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค (อ.ค.บ) : 1 สมัย
  • ประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย - 2561
  • ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านเหล่า : 1 สมัย - 2561
  • รองประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย - 2561
  • ประธานชมรมมัคนายก อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย - 2561
  • รองประธานพุทธสมาคม อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย - 2561
  • กรรมการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนตำบลบ้านเหล่า : จนถึงปี พ.ศ. 2561
  • มัคนายกวัดศรีดอนมูล : 2526 - 2561
  • กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านไร่อ้อย : จนถึงปี พ.ศ. 2561
  • เครือข่ายและอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ : จนถึงปี พ.ศ. 2561
  • กรรมการศูนย์พัฒนาครอบครัว ตำบลบ้านเหล่า : จนถึงปี พ.ศ. 2561

ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ แหล่งกักเก็บน้ำอย่างอ่างเก็บน้ำแม่ปืม นอกจากนี้ยังปรากฏแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ดังนี้ แหล่งน้ำดื่ม ได้แก่ น้ำบรรจุขวดสำเร็จรูปและตู้กดน้ำหยอดเหรียญ แหล่งน้ำใช้ ได้แก่ น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำบ่อ และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ร่องน้ำภายในหมู่บ้าน และลำน้ำแม่ปืม

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านร้องศรีดอนมูล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้ จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

บุญศิริ สุขพร้อมสรรพ และอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอน ที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508