Advance search

คลองลัดมะยม

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม วิถีชีวิตแบบชาวสวนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตชาวไร่ชาวนาของผู้คนในแถบชานเมือง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในชุมชน

คลองลัดมะยม
บางระมาด
ตลิ่งชัน
กรุงเทพมหานคร
ภัททิรา สอนจันทร์
26 พ.ค. 2023
ภัททิรา สอนจันทร์
26 พ.ค. 2023
คลองลัดมะยม

เป็นคลองลัด (คลองเล็กซึ่งแยกมาจากคลองใหญ่หรือคลองหลัก เพื่อใช้ในการย่นระยะในการเดินทางไปยังคลองหลัก) ที่มีต้นมะยมอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันบริเวณศาลพระแม่โพสพก็ยังมีให้เห็น 


ตลาดน้ำคลองลัดมะยม วิถีชีวิตแบบชาวสวนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตชาวไร่ชาวนาของผู้คนในแถบชานเมือง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในชุมชน

คลองลัดมะยม
บางระมาด
ตลิ่งชัน
กรุงเทพมหานคร
10170
ชุมชนคลองลัดมะยม โทร. 08-7053-4438
13.761555
100.415498
กรุงเทพมหานคร

ประวัติศาสตร์ชุมชน

สันนิษฐานว่า บริเวณชุมชนนี้ในระยะเริ่มแรกอาจมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาอาศัย ทั้งคนจีน คนมอญ คนเขมร คนพม่าหรือพวกแขก ที่เดินทางอพยพมาทางเรือและถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลย แล้วจึงอยู่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง เห็นได้จากชื่อคลองที่มีภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นปรากฏอยู่ เช่น ชุมชนคลองบางระมาดก็อาจจะมีคนเขมรเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ เพราะคำว่าระมาด เป็นภาษาเขมร แปลว่า “แรด” หรือคำว่า บางเชือกหนังมาจากคำว่า “บางฉนัง” แปลว่า หม้อ ก็เป็นภาษาเขมรเช่นกันและสันนิษฐานว่าบริเวณนี้อาจมีการประกอบอาชีพปั้นหม้อเป็นจำนวนมาก หรือคลองอื่น ๆ อย่างคลองมอญก็มาจากแหล่งที่คนมอญอยู่มาก

ชุมชนคลองลัดมะยมเป็นชุมชนเก่าแก่ มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนแบบกระจายตัว จัดได้ว่าเป็นชุมชนขนาดเล็ก ชาวบ้านมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทําให้ไม่มีการจดบันทึกประวัติของชุมชนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงแต่การบอกเล่าจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นหนึ่งเท่านั้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณพื้นที่เขตตลิ่งชันได้มีการทํานา โดยมีพื้นที่นับจากปากคลองบางระมาด บางพรหม บางน้อย และบางเชือกหนัง เข้าไปทางด้านตะวันตก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นท้องนาทั้งสิ้น เห็นได้จากมีการสร้างศาลแม่โพสพไว้บริเวณริมคลองบางพรหม ชาวบ้านที่มีอายุประมาณ 50 - 80 ปีเศษ ยังคงมีความทรงจําเกี่ยวกับเรื่องท้องนา การทําขวัญข้าว ตลอดจนประเพณีการไหว้เจ้าแม่โพสพ เมื่อเข้าเดือน 6 ได้เป็นอย่างดี โดยชาวบ้านจะนําพืชผลที่ตนเองเพาะปลูกได้มาถวาย ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันจะเดินทางมาร่วมงานเทศกาล และ ชมการแสดงละครกลางแจ้งเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน (ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าแม่โพสพใหม่ไว้ในวัดศิริวัฒนาราม ซึ่งเคยเป็นที่นาเก่า และใช้ผืนนาแห่งนี้สร้างวัดนี้แทน เมื่อราว 30 ปีเศษที่ผ่านมา) (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 86)

ในระยะต่อมา เพื่อความสะดวกในการทํานาและการสัญจรทางนํ้า จึงได้มีการขุดคลองลัดขึ้น คําว่า “คลองลัด” หมายถึง คลองเล็กซึ่งแยกมาจากคลองใหญ่ คลองลัดมะยมเป็นหนึ่งในคลองย่อยที่ถูกขุดขึ้น มีความกว้างราว 6 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อเป็นการย่นระยะในการเดินทางไปยังคลองหลัก คือ คลองบ้านไทร คลองบางระมาด คลองบางพรหม และคลองบางเชือกหนัง โดยเชื่อมใน 2 ทาง คือ ทิศเหนือของคลองลัดมะยมเชื่อมต่อสู่ คลองลัดกัลยาเข้าสู่คลองบ้านไทร ส่วนทางทิศใต้ (บริเวณศาลเจ้าแม่โพสพ) เชื่อมไปยังคลองบางพรหมเข้าสู่คลองบางเชือกหนัง ทั้งนี้ คลองย่อยที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะมีชื่อขึ้นต้นว่า “คลองลัด” แล้วตามด้วยชื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกตัดผ่านไป เมื่อก่อนแถบนี้มีการปลูกมะยมกันมาก จึงเรียกว่า “คลองลัดมะยม” คลองย่อย ๆ ดังกล่าวจึงเกิดเป็นคลองลัดต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงสู่คลองหลักเป็นโครงข่ายระบบนํ้า ซึ่งสอดรับกับวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับน้ำได้เป็นอย่างดี (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 87)

อย่างไรก็ตามในราว 80 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงจากทํานามาทําสวนผลไม้แทน เนื่องจากมีรายได้สูงกว่าการทํานา ดังนั้น ชาวบ้านบริเวณปากคลองด้านตะวันตก จึงค่อย ๆ เลิกทํานาและได้กลายเป็นย่านสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทุเรียน กระท้อน มะไฟ ส้มเขียวหวาน ฯลฯ 

ต่อมาชุมชนได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2485 นํ้าท่วมจนสวนและที่นาในบริเวณนี้ล่มและเสียหาย ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดข้าวยากหมากแพง เมื่อเข้าสู่ประมาณปี พ.ศ. 2500 สวนผลไม้บางส่วนในย่านนี้ เริ่มหันไปปลูกไม้ดอก เช่น เยอร์บีร่า อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการของตลาด ทําให้สามารถขายได้ในราคาที่สูง ทําให้ชาวบ้านเริ่มหันไปปลูกดอกเยอร์บีร่ามากขึ้น (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 88)

ในปี พ.ศ. 2526 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้สวนผลไม้ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ชาวสวนจึงเลือกทําสวนน้อยลง และหันไปปลูกกล้วยไม้ และพืชสวนครัว จําพวกโหระพา ตะไคร้ ขิง ข่า ใบมะกรูดแทน จนกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกเครื่องแกงต้มยําขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในเขตกรุงเทพมหานคร 

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2535 ชาวบ้านต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง ทั้งสวนผลไม้ สวนไม้ดอก และที่นาได้รับความเสียหายมาก ทําให้ชาวบ้านไม่ค่อยฟื้นสวน เลิกทํานาทําสวนกันหมด ประกอบกับในระยะนี้รัฐได้มีการพัฒนาย่านตลิ่งชัน มีการตัดถนนหลายเส้นทาง ทําให้ที่ดินมีราคาสูง ชาวบ้านที่เบื่อกับภาวะนํ้าท่วมซํ้าซากตัดสินใจได้ขายที่ดิน และย้ายถิ่นฐาน (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 88)

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการตัดถนนขนาดใหญ่ มีการสร้างสะพาน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆเข้ามาในพื้นที่เป็นจํานวนมาก ถนนสายสําคัญที่ตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ เช่น ถนนชัยพฤกษ์ ถนนสวนผัก ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี ถนนกาญจนาภิเษก และถนนราชพฤกษ์ เป็นต้น (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 88)

การเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะการตัดถนนและทางด่วน ทําให้พื้นที่ของชุมชนที่ประกอบไปด้วย แม่น้ำลําคลอง ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงข่ายน้ำต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก ลําคลองที่เคยใสสะอาดเริ่มได้รับผลกระทบจากการถมคลองเพื่อทําถนน ถนนบางแห่ง สะพานข้ามคลองบางเส้นความสูงไม่พอให้เรือลอด ทําให้การคมนาคมทางน้ำต้องยกเลิกไป น้ำในคลองที่ถนนหรือสะพานคร่อมเริ่มเน่าเสีย การทําเกษตรกรรมลดลง อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านเริ่มตัดสินใจขายที่ดินมากขึ้น ทําให้เกิดการรุกคืบของหมู่บ้านจัดสรรเข้ามาในพื้นที่อย่างมากมาย (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 88)

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 นายชวน ชูจันทร์ ได้ตระหนักถึงการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรรและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน จึงได้ชักชวนชาวบ้านที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมและคนในชุมชนให้นําเอาผลผลิตทางการเกษตรของตนมารวมกลุ่มกันขายบริเวณริมคลอง เพื่อให้เกิดรายได้เสริมโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ร่วมไปกับการรักษาคูคลอง โดยใช้หลักการการพึ่งตนเองของชุมชน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายที่สําคัญ คือ การหยุดยั้งหรือชะลอการขายที่ดิน และการรุกคืบของหมู่บ้านจัดสรร โดยหวังว่าจะสามารถรักษาวิถีชีวิตชุมชนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้ “ตลาดน้ำคลองลัดมะยม” จึงได้ถือกําเนิดขึ้น และพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพมหานครอย่างเช่นในปัจจุบัน (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 88)

ประวัติศาสตร์ภัยพิบัติ

เหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนในพื้นที่ก็คือ อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในเขตภาคกลางเมื่อปี พ.ศ. 2485 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงติดต่อกันหลายเดือน สวนผลไม้ และไร่นาในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมถึงการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากติดต่อกันตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2518 2521 2526 และ 2536 – 2537 ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการทำสวน ทำนาในพื้นที่แห่งนี้ลดจำนวนลงอย่างมาก โดยเฉพาะการทำนาที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม พร้อมกับการเกิดโรคระบาดและหนอนกอในต้นข้าว พันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่าง ๆ เช่น ข้าวขาวอากาศ ข้าวเลี้ยงนกกระจอกและอื่น ๆ หายไปจากพื้นที่บางพรม และการขยายตัวของพื้นที่เมือง ทำให้พื้นที่บางพรมไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางด้านกสิกรรมอีกต่อไป นาข้าวหลาย ๆ แปลงถูกยกร่องทำเป็นพื้นที่สวน ก่อนที่จะหายไปจากพื้นที่บางพรมหมดสิ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2526 ในช่วงเวลานั้นก็เริ่มมีการทำสวนอย่างหนาแน่นขึ้น

ที่ตั้งและอาณาเขต

ชุมชนคลองลัดมะยมตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถนนบางระมาด มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ มีพื้นที่ในการทําเกษตรกรรม 100 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม นํ้าท่วมถึงทุกปี ถ้าไม่มีประตูกั้นตามปลายคลอง (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 83)

ที่ตั้งชุมชนมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

           ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองบางระมาด

           ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองบางพรหม (บางพรม)

           ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนพุทธมณฑลสาย 1

           ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนกาญจนาภิเษก

ชุมชนคลองลัดมะยม มีทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนเป็นแหล่งนํ้าทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่

  • คลองบางน้อย ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค
  • คลองบางพรหม, คลองลัดมะยม ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
  • คลองบางระมาด, คลองบางไทร ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค

ชุมชนคลองลัดมะยม เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหมู่ 2 และหมู่ที่ 15 แขวงบางพรม แขวงบางระมาด แล้วแต่ว่าอยู่บริเวณใดของคลอง ถ้าอยู่คลองลัดมะยมเรียกว่าคนคลองลัดมะยม ถ้าอยู่บริเวณวัดศิริ บางครั้งก็เรียกว่า บ้านบางระมาด คนคลองบางน้อยหรือคนคลองบางพรม ลักษณะคลองลัดมะยมในอดีตค่อนข้างแคบ บางเดือนน้ำจะแห้งจนหินดินทำให้ต้องมีการเข็นเรือก็มี  หรือบางปีมีตะกอนทับถมจนตื้นเขินชาวบ้านในชุมชนจะมาช่วยกันขุดลอกคลองให้ลึกมากขึ้น เพื่อให้เรือสัญจรไปมาได้สะดวก แต่ปัจจุบันคลองลัดมะยมมีขนาดใหญ่มากขึ้นและลึกมากกว่าในอดีต ทำให้เรือของชาวบ้านมีการสัญจรสะดวกมากขึ้น และมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มด้านสองฝั่งคลองเป็นพื้นที่อยู่อาศัยสลับกับพื้นที่สวน รวมถึงหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ ที่เริ่มขยายเข้ามาในชุมชนและรุกล้ำพื้นที่สวนผลไม้ยืนต้น และพืชผักสวนครัวมากขึ้น

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน มักจะหันหน้าบ้านเข้าหาคลอง เนื่องจากใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในการติดต่อระหว่างกัน ลักษณะของบ้านจะเรียงรายกันอยู่บริเวณสองฟากของคลองลัดมะยม และบ้านตั้งอยู่ห่างกันพอสมควร โดยจะมีพื้นที่สวนสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ มะกรูด โหระพา กะเพรา หรือปลูกเตยสลับกับพื้นที่ตั้งบ้านเรือน บริเวณบ้านริมคลองทั้งสองด้านจะมีร้านค้าขายของชำเล็ก ๆ อยู่ทั้งสองฝั่งคลอง ที่ขายสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก รวมทั้งขนมต่าง ๆ

สาธารณูปโภคในชุมชน

ถนนมีการตัดเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2515 – 2516 ถนนที่ตัดเข้ามาเป็นเส้นแรกคือถนนเพชรเกษม ไฟฟ้าเข้ามาประมาณ 20 – 30 ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะใช้ไฟฟ้าก็ใช้ตะเกียง โดยตัดเอากระป๋องนมออก เอาไส้เทียนแช่ลงในน้ำมันที่อยู่ในกระป๋องแล้วจุดไฟให้แสงสว่าง หรือใช้ตะเกียงเจ้าพายุให้แสงสว่างมาก ไฟฟ้าเข้ามาไม่เกิน 30 ปีจำได้ว่าอายุ 13- 14 ยังทำนาอยู่อายุ 20 กว่า ๆ ก็เริ่มมีไฟฟ้าใช้  บ้านหลังแรกที่มีคือบ้านยายชู ปานพรหม เสียค่าเอาไฟเข้าประมาณ 3000 บาท หลังจากนั้นก็มีโทรทัศน์ วิทยุเข้ามา ทำให้คนที่นี่รับรู้ข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกเริ่มเข้ามาในชุมชนมากขึ้น

น้ำประปาเข้ามาเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนใช้น้ำคลองในการอุปโภคบริโภค บางส่วนของชุมชนก็ไม่ได้รับน้ำจากประปาโดยตรง แต่ต้องซื้อท่อพีวีซีต่อจากถนนใหญ่เข้าไปในบ้านเรือนที่อยู่ตามริมคลองอีกทีหนึ่ง

ในอดีตชาวบ้านจะมีการกรองน้ำฝนใส่ตุ่มหรือโอ่งน้ำไว้กิน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมซื้อน้ำกินมากขึ้น เนื่องจากมองว่าอากาศเป็นพิษมากขึ้น มีฝุ่นละอองปนเปื้อนมากขึ้น น้ำในคลองไม่ใสสะอาดเหมือนแต่ก่อน มีเพียงบ้างบ้านเท่านั้นที่ยังคงรองน้ำฝนเอาไว้กิน

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

  • ตลาดน้ำคลองลัดมะยม – เกิดขึ้นจากการริเริ่มของลุงชวน ชูจันทร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ในตอนแรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 20 – 30 คนที่มาหารือร่วมกันเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดน้ำ พอเริ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่นลอยกระทง คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น แต่ยังไม่เท่าปัจจุบัน เพราะในช่วงแรกคนยังไม่ค่อยรู้จัก จำนวนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็มีน้อยราย ไม่ค่อยดึงดูดใจคนมาเที่ยว แต่พอมีการปรับปรุงสถานที่ ย้ายสถานที่ของตลาดมาอยู่อีกฟากหนึ่ง มีพื้นที่สวนสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานศิลปะ เกษตรอินทรีย์พายเรือชมบึงบัว รวมทั้งมีห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้มีคนจากภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดน้ำคลองลัดมะยมเริ่มมีคนรู้จักเพิ่มขึ้น พ่อค้าแม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่มักเป็นคนในชุมชนที่เป็นญาติพี่น้องรู้จักกันหมดทุกคน แต่ไม่ได้มีการจำกัดไม่ให้คนภายนอกเข้ามาขาย แต่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องมีสินค้าเข้ามา และเมื่อเช่าที่เปิดร้านแล้วจะต้องมาขายเพื่อไม่ให้ตลาดว่าง ข้อตกลงดังกล่าวตั้งขึ้นก็เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากมาชมบรรยากาศแบบชานเมือง และรับประทานอาหารนอกบ้านรวมถึงซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่เป็นผลผลิตของคนในชุมชนเพื่อให้ตลาดอยู่ได้อย่างยั่งยืน วัตถุประสงค์ของการสร้างตลาดน้ำคลองลัดมะยมเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำคูคลองให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง จากการสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของชาวสวนริมคลองลัดมะยมและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันตลาดน้ำคลองลัดมะยมกลายเป็นที่รู้จักของคนมากขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งตลาดน้ำแห่งนี้ขึ้นมา

สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม

  • ศาลพระแม่โพสพ – จะเป็นศาลเก่าตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางพรม ซึ่งมีอายุประมาณ 100 กว่าปีขึ้นไป ชาวบ้านจะมีการทำบุญเลี้ยงพระทุกปี ซึ่งจะมีคนในชุมชนทั้งที่ทำนาและไม่ได้ทำนา รวมถึงชุมชนข้างนอกอย่างเขตทวีวัฒนา ที่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวจะนำเอาข้าวสาร ข้าวเปลือกหรือต้นกล้าข้าวมาร่วมพิธีไหว้พระแม่โพสพ จนกระทั่งรูปปั้นพระแม่โพสพถูกขโมยไป ศาลพระแม่โพสพ ณ บริเวณนี้ก็ค่อย ๆ เสื่อมโทรมลงไป รวมถึงที่ตั้งศาลแต่ก่อนตั้งอยู่บนพื้นดินก็ถูกน้ำกัดเซาะจนบริเวณที่ตั้งศาลอยู่ในพื้นน้ำถึงปัจจุบัน

  • วัดศิริวัฒนาราม – ที่ตั้งของศาลพระแม่โพสพหลังใหม่ ที่มีการสร้างรูปปั้นพระแม่โพสพอันใหม่แทนของเดิมที่ถูกขโมยไป และอัญเชิญมายังสถานที่ตั้งใหม่ที่อยู่บริเวณวัดแห่งนี้ โดยมีลักษณะเป็นศาลาปูนขนาดใหญ่ ด้านหน้าบันของหลังคาของศาลจะมีรูปปั้นนูนของพระแม่โพสพถือรวงข้าวอยู่ตรงกลาง มีการทำลายปูนปั้นบริเวณด้านข้างของศาลาทางทิศใต้ที่ติดคลอง ภายในบริเวณศาลมีภาพเขียนเป็นฉากหลังรูปปั้นพระแม่โพสพ เป็นรูปนาข้าวสีเหลืองอร่ามสลับกับสีเขียวขจี มีภาพวัวควาย ชาวนา และโรงนา ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตเกษตรกรรมในอดีตของพื้นที่แถบนี้

ประชากร

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (2555: 2) รายงานเมื่อ พ.ศ. 2555 ว่าประชากรของชุมชนคลองลัดมะยม มีสมาชิกจํานวน 40 ครัวเรือน มีประชากร 100 คน 

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนคลองลัดมะยม จะมีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 40 – 90 ปี และมีผู้อาวุโสหรือผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณสี่แยกพระแม่โพสพ คนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเพดั้งเดิมที่นี้ อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย มักปลูกบ้านอยู่บริเวณริมน้ำ ลึกเข้าไปในสวนหรือบริเวณเขตที่ตั้งศาลพระแม่โพสพ ส่วนคนรุ่นใหม่ ๆ มักไม่ค่อยอยู่ในชุมชน เพราะออกทำงานข้างนอกกันมากขึ้น ในเวลาปกติจะพบเห็นผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน ปัจจุบันคนรุ่นเก่า ๆ ที่อยู่ในคลองก็ลดน้อยลง เนื่องจากเสียชีวิตบ้าง หรือย้ายออกไปอยู่กับลูกหลานที่อื่น แต่มีคนรุ่นใหม่ ๆ จากที่อื่น เช่น โครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ได้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น สมาชิกในครอบครัวแต่ก่อนจะมีมากตั้งแต่ 6- 8 คน เพราะเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจึงมีการเลิกอาชีพทำนาเปลี่ยนมาทำสวนแทน หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้แนวโน้มของครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

สมาชิกในครอบครัวจะมีประมาณ 3 – 4 คน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรุ่นพ่อแม่กับลูก ทำให้เราพบเห็นคนแก่อยู่กับลูกสาวที่แต่งงานแล้ว เพราะหลานไปเรียนต่อหรือไปทำงานที่อื่น ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต ที่ใครสามารถทำสวนได้ก็ยังคงทำต่อไป แต่คนที่ยังทำไม่ไหวก็ปล่อยที่ร้าง หรือให้เช่า บางรายขายให้กับคนนอกเพื่อทำบ้านจัดสรร หรือบ้านพักตากอากาศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีครอบครัวแบบขยายปรากฏให้เห็นอยู่ในชุมชน แต่จะมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งจะปลูกบ้านเป็นหย่อม ๆ 3 – 4 หลังริมคลอง จะมีทั้งลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้สูงอายุ พื้นที่ตรงกลางจะเว้นที่ว่างไว้จอดเรือประเภทต่าง ๆ เช่น เรือหางยาว เรืออีแป๊ะ จำนวน 3 – 4 ลำ เพื่อใช้ในการเดินทางติดต่อกับเพื่อบ้านคนอื่น ๆ รวมถึงใช้ในการขนส่งพืชผักไปขายยังตลาด หรืออีกแบบคือการสร้างบ้านติดกันสองหลัง และตรงกลางระหว่างบ้านจะมีลานกว้างคล้ายห้องรับแขก สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ

ระบบเครือญาติ

ชุมชนคลองลัดมะยม ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ยังอยู่บนพื้นฐานของระบบเครือญาติ โดยคนในชุมชนยังมีการติดต่อสัมพันธ์กัน รู้จักกันหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามชายคลอง มีความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างวิถีการผลิตกับระบบเครือญาติ ผ่านการเอาแรงกัน การลงแขก และเรื่องของการทำนา ทำสวน จากคนบ้านเรือนใกล้เคียงกัน หรือญาติจะมาช่วยกันทำและผลัดกันหากบ้านไหนต้องมีการให้ช่วยงาน สิ่งที่ทำให้เห็นถึงระบบเครือญาติในชุมชนคลองลัดมะยมคือ ความเป็นญาติพี่น้องที่ใช้นามสกุลร่วมกัน มีการแต่งงานกันระหว่างสายสกุลต่าง ๆ เนื่องจากเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก คุ้นเคยสนิทสนมกัน เล่นน้ำ ไปโรงเรียนด้วยกันทำให้เกิดการผูกพันแล้วก็แต่งงานกัน รวมถึงการที่ชุมชนคลองลัดมะยมในอดีตไม่ค่อยมีคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ไม่รู้จักคนภายนอกมากเท่าไหร่ การแต่งงานจึงแต่งภายในกลุ่มคนละแวกเดียวกัน จะมีถิ่นอื่นก็มีแถวบางระมาดที่เข้ามาแต่งงานกับคนในชุมชนคลองลัดมะยม เหตุผลนี้จึงทำให้บางครั้งมีการแต่งงานระหว่างนามสกุลเดียวกัน ในอดีตอย่างที่ทราบว่ามีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนคลองลัดมะยม จึงมีความสัมพันธ์ในเรื่องของการเช่าที่ดินในการทำสวน และยังมีการแต่งงานกัน ทำให้ได้รับวัฒนธรรมมาเช่น การยกร่องทำสวนที่ชาวบ้านเห็นว่าได้ผลผลิตดี และการเรียกพ่อแม่แบบคนจีน ทั้งคนที่มีเชื้อสายจีนหรือบางบ้านเป็นคนไทยแท้ก็เรียกตามคนจีน แต่ก็ไม่ได้ใช้กันทุกครัวเรือนใช้บางครัวเรือนเท่านั้น

การแต่งงานจะมีทั้งลักษณะแต่งออกกับแต่งเข้า ทั้งแบบที่ผู้หญิงหรือผู้ชายแต่งเข้า และแบบที่ผู้หญิงหรือผู้ชายแต่งออกก็มี มีหลายครอบครัวที่แต่งแล้วแยกออกไปอยู่บ้านของตัวเองต่างหาก แต่ในสมัยก่อนยายชูบอกว่าไม่มีการแต่งงาน หรือจดทะเบียนสมรสกัน ส่วนใหญ่ถ้าถูกใจใครผู้ชายจะไปฉุด หรือพากันหนี หลังจากนั้นเมื่อมีลูกเต้าก็จะมาขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงถึงจะได้แต่งงานอยู่กินกัน

การแบ่งงานกันในครัวเรือน เนื่องจากชุมชนนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นชุมชนเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนเป็นอาชีพหลัก ทำให้ต้องมีการพึ่งพาแรงงานระหว่างกันมาก การแบ่งแยกงานทางเพศจึงไม่ค่อยชัดเจน โดยจะทำด้วยกันหมด แต่บางครั้งก็ต้องมีคนอยู่ดูแลบ้านเพื่อดูไม่ให้คนข้างนอกเข้ามาขโมยของ แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาไปทำนา ทำสวนเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้คนจำนวนมากเช่น ดำนา ปลูกข้าว ยกร่องสวน จะต้องอาศัยแรงงานกันในหมู่เครือญาติ ปัจจุบันเรื่องสวนไร่นา เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าก็จะปล่อยให้ลูกหลานจัดการเกี่ยวกับการทำสวนในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่การตัดสินใจเพาะปลูก การเพาะปลูก จนกระทั่งถึงการนำพืชผลในสวนครัวไปขาย ส่วนคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนก็จะอยู่ดูแลบ้าน เลี้ยงหลาน เพราะจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก

กลุ่มอาชีพ

  • การทำนา – การทำนาในสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่นาเป็นของตนเองมากนัก คนที่ไม่มีก็จะเช่าที่นาเพื่อทำการเกษตร จนกระทั่งที่ดินของชาวบ้านหลุดลอยออกจากมือไป นาที่ทำส่วนใหญ่ก็เช่าเขาทำเพราะราคาที่ดินมีจำนวนสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองมากเหมือนในอดีต สำหรับค่าเช่าจะใช้การจ่ายเป็นเงินสดมากกว่าการให้ผลผลิตที่ตนผลิตได้ ค่าเช่าในสมัยก่อนจะอยู่ที่ประมาณไร่ละ 150 บาทต่อปี แต่ปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณไร่ละ 800 บาทต่อปี พื้นที่ชุมชนคลองลัดมะยมในอดีต มีการทำนาปีเป็นหลัก ผลผลิตก็เพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักส่วนที่เหลือก็จะนำไปขายให้กับโรงสี การทำนาจะทำในช่วงเดือน 6 เดือน 7 ประมาณ พฤษภาถึงมิถุนายน เดือน 6 เริ่มตกกล้า เดือน 7 เริ่มไถนา และลงมือปักดำ ข้าวโดยหลัก ๆ จะมีสามชนิดคือ ข้าวกลาง ข้าวเบาและข้าวหนัก แต่สมัยก่อนการทำนาปีไม่นิยมปลูกข้าวไวหรือข้าวเบา ที่ใช้ระยะเวลาปลูกสั้น แค่ 3 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ แต่คนส่วนใหญ่ชอบปลูกข้าวกลางปีและข้าวหนักกันเยอะ เริ่มทำการปลูกเดือน 6 – 7 และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนอ้ายเดือนยี่ (ธันวาคม - มกราคม) พันธุ์ข้าวที่ปลูกในช่วงแรกไม่ใช่ข้าว กข. แต่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น พลูดาด ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเหลืองเจ๊กกระโดด ข้าวก้นจุก เป็นต้น ในอดีตบริเวณเขตบางเชือกหนังมีโรงสีอยู่ 2 โรง และบริเวณบางกอกน้อยอีก 2 โรง ปกติแล้วจะมีเรือชะล่าจากโรงสีมาซื้อข้าวเปลือกถึงในบริเวณนี้ รวมถึงการนำข้าวไปสีเพื่อใช้ในการบริโภคข้าวสาร

  • การทำสวน – ในช่วงต่อมารูปแบบการผลิตของชาวบ้านในชุมชนคลองลัดมะยมเริ่มที่จะหันมาทำสวนมากขึ้นโดยในช่วงแรกจะเป็นการปลูกพืชสวนประเภทล้มลุกมากกว่าประเภทยืนต้น เช่น มันเทศ ข้าวโพด อ้อย แตงกวา มันสำปะหลัง ต่อมาปลูกผลไม้ เช่น มะม่วง ขนุน ส้มโอ และปลูกพืชสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ มะกรูด กะเพรา โหระพา เป็นต้น ทำให้พื้นที่ของชุมชนในปัจจุบันเป็นพื้นที่สวน ที่เน้นผลิตเพื่อขายให้ตลาดใหญ่ ๆ เช่น ปากคลองตลาด ตลาดพรานนก บางแค ซึ่งมีทั้งแบบที่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ และแบบที่เอาไปขายเองยังตลาด นอกจากขายแล้วยังเก็บไว้บริโภคเอง หรือแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง

  • การแปรรูปผลิตภัณฑ์ – ผลผลิตที่ขึ้นชื่อของชุมชนอีกอย่างคือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จำพวกไวน์แก้วมังกร ไวน์กระชายดำ ที่ส่งเสริมให้เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เกิดจากการส่งเสริมจากหน่วยงานภายนอกที่นำเอาความรู้ทางด้านการทำ วิธีการหมัก การนำน้ำเชื้อมาให้ ขายในราคาขวดละ 12 บาท หรือการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าเป็นไอศกรีมกะทิ นอกจากนี้ยังมีอาชีพต่อเรือจำลองทั้งเรือโบราณ เรือสมัยใหม่ เรือไทย เรือต่อ เรือขุด รวมถึงมีเรือต่างประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออก เรือจำลองส่วนใหญ่จะใช้ไม้สักเป็นหลัก และยังมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เรือขึ้นในชุมชน โดยการนำเรือต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของจริงและแบบจำลองมาจัดแสดง รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับคลองและประเภทชนิดของเรือ

การแลกเปลี่ยนภายใน – ภายนอกชุมชน

ในอดีตชาวบ้านในชุมชนคลองลัดมะยมมักจะไปที่ตลาดบางแค เพราะคลองลัดมะยมสามารถเชื่อมโยงไปออกคลองราชมนตรี แถวบางแคซึ่งเคยเป็นตลาดน้ำก่อนที่จะกลายมาเป็นตลาดบกในปัจจุบัน การเดินทางมายังตลาดจะพายเรือจากคลองลัดมะยมมาซื้อของที่ตลาดบางแคซึ่งจะใช้เวลาพอสมควร แต่ในปัจจุบันมีการทำถนนทำให้การขนส่งสินค้าใช้เส้นทางบกเป็นหลักซึ่งทำให้เดินทางสะดวกและรวดเร็วกว่าในอดีต การซื้อขายแลกเปลี่ยนจะมีแบบพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ หรือชาวสวนนำไปขายเองที่ตลาด

ในชุมชนมีร้านขายของชำจำนวน 3 ร้าน ที่ขายสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่าง ๆ ให้กับคนริมคลอง รวมถึงในช่วงวันหยุดจะมีตลาดน้ำคลองลัดมะยมซึ่งจะมีการขายอาหาร ขนม งานฝีมือ ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ พืชผัก ผลไม้ต่าง ๆ ของชาวสวน และคนพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้ามาจับจองพื้นที่ในตลาดเพื่อขายสินค้า เป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะชาวสวน และเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น

การแลกเปลี่ยนผลผลิตในอดีต ไม่ได้อยู่ที่เงินตราเป็นสำคัญแต่อยู่บนเงื่อนไขของความสัมพันธ์ส่วนตัว และการใช้ผลผลิตในการแลกเปลี่ยนเช่น การนำข้าวไปสียังโรงสีของคนจีน บริเวณบางเชือกหนังหรือบางกอกน้อย จะใช้คิดค่าสีเป็นจำนวนข้าว 1 ถัง ต่อ 15 ถัง พร้อมรำข้าวและปลายข้าวจากชาวนา

วิถีชีวิต

การนับถือศาสนาส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญคือ วัดอินทราวาสบ้าง วัดศิริวัฒนารามบ้าง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่คู่บริเวณคลองบางพรม และการนับถือพระแม่โพสพ เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยในการปกปักรักษาคุ้มครองจากอันตรายต่าง ๆ จึงได้มีการตั้งศาลพระแม่โพสพขึ้น รวมถึงสร้างรูปปั้นพระแม่โพสพเพื่อไว้เคารพบูชา

การศึกษาของคนสมัยก่อนจะเรียนเพียงแค่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น โดยจะไปเรียนที่โรงเรียนวัดมะพร้าวเตี้ย วัดโพธิ์ วันอินทราวาส (วัดประดู่) เป็นต้น แต่ปัจจุบันนิยมส่งลูกหลานให้ศึกษาในระดับที่สูง เพราะไม่อยากให้ลูกหลานเป็นชาวสวนที่ต้องใช้ชีวิตลำบาก

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้าและการเกษตร (องค์การมหาชน) (2555: 5) ได้ทําการเก็บข้อมูลสภาพเศรษฐกิจของชุมชนคลองลัดมะยมพบว่า ชุมชนมีรายได้มาจาก 2 ภาคส่วนใหญ่ ๆ (อัยรวี วีระพันธ์พงศ์, 2556: 86) คือ

  • รายได้จากภาคเกษตร 50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี

  • รายได้นอกภาคเกษตร 80,000 บาท/ครัวเรือน/ปี 

กิจกรรมทางวัฒนธรรม

  • พิธีไหว้พระแม่โพสพ – หรือการทำบุญที่ศาลพระแม่โพสพ จะมีการจัดพิธีช่วงเดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ชาวบ้านในชุมชน และชุมชนใกล้เคียงทั้งที่ประกอบหรือไม่ได้ประกอบอาชีพทำนา มีการนำเอาข้าวสาร ข้าวเปลือกหรือต้นกล้าข้าวมาร่วมพิธีเพื่อนำมาถวาย มีการทำบุญเลี้ยงพระ ปิดทองรูปปั้นพระแม่โพสพ นอกจากนี้ภายในศาลพระแม่โพสพหลังใหม่ มีการนำรูปปั้นของพระแม่ธรณีที่หมายถึงผู้คุ้มครองแผ่นดิน และแม่นางกวักที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง การทำมาค้าขาย หรือการกวักเงินกวักทอง มาวางอยู่กับพระแม่โพสพ ทำให้มีผู้คนเข้ามาบูชา ปิดทอง เพื่อขอโชคลาภหรือบนบานในเรื่องอื่น ๆ มากกว่าเรื่องการทำนา

  • การแห่พระแม่โพสพ – มีการแห่พระแม่โพสพไปตามลำคลองในช่วงเดือน 4 โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าที่แห่จากคลองบางพรมถึงคลองชักพระแล้วอัญเชิญขึ้นที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการจัดงานสมโภชตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าก็อัญเชิญลงแห่เรือมาตามคลองบางเชือกหนังแล้วกลับขึ้นมาบนศาลตรงกับวันงานพอดี ปัจจุบันชุมชนไม่มีการจัดงานประเพณีดังกล่าวนี้แล้ว

  • พิธีทำขวัญข้าว – จะจัดพิธีขึ้นในช่วงเดือน 7 และเดือน 8 เป็นช่วงเวลาที่ข้าวเริ่มตั้งท้อง แต่ละครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำนาจะทำพิธีเหล่านี้ด้วยตัวเอง โดยมีการสานชะลอม ซึ่งใช้บรรจุผลไม้รสเปรี้ยว ของดอง ขนมหวานต่าง ๆ เช่น ถั่วตัดงาตัด เผือก อ้อย มะพร้าว ไข่ รวมถึงของใช้จำพวกแป้ง กระจกหวี มาถวายพระแม่โพสพหรือคนตั้งท้อง ที่อยากกินของเปรี้ยว อยากสวยงาม จึงต้องนำสิ่งของเหล่านี้มาถวาย เพื่อให้พระแม่โพสพปกป้องคุ้มครองเมล็ดข้าวจากอันตรายต่าง ๆ และทำให้ผลผลิตข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ ผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้สายเพราะเชื่อว่าจะสื่อสารได้ดีกว่า และพิธีกรรมดังกล่าวได้มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพื้นที่และการประกอบอาชีพ ทำให้ปัจจุบันพิธีเรียกขวัญข้าวไม่ปรากฏให้เห็นในชุมชนคลองลัดมะยม

  • ความเชื่อเรื่องข้าว – ช่วงเดือน 2 (เดือนยี่) จะมีการนำข้าวขึ้นยุ้งหรือเล้า แล้วช่วงเดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน) จึงจะสามารถตักข้าวจากยุ้งออกมาขายได้ เพราะโบราณเขาถือ แต่ก่อนที่จะเอาข้าวขึ้นยุ้งต้องมีการจุดธูปบอกกล่าวบริเวณเล้าข้าว เพื่อให้เจ้าที่เจ้าทางช่วยปกปักดูแลรักษายุ้งข้าวไม่ให้มอดแมลงมาทำความเสียหายหรือให้ใครมาลักขโมยข้าวไปจากยุ้งฉาง เพื่อให้ครอบครัวมีข้าวกิน เลี้ยงชีวิตครอบครัวได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ชาวบ้านยังจะเก็บต้นข้าวในแปลงที่สมบูรณ์แยกต่างหากเพื่อเก็บไว้ทำพันธุ์ในการเพาะปลูกในปีต่อไปด้วย

กิจกรรมทางความเชื่ออื่น ๆ

  • การทรงเจ้า เข้าทรง – ชาวบ้านชุมชนคลองลัดมะยมในอดีตมีความเชื่อเกี่ยวกับการทรงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ เพื่อปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งการรักษาโรคแบบง่ายที่ส่วนใหญ่มักเป็นในเด็ก ยายชู ปานพรหม เล่าว่าแม่ของลุงชวน ชูจันทร์ เป็นร่างทรงพ่อปู่โกมารภัจน์ ซึ่งเป็นหมอยาประจำตัวของพระพุทธเจ้า ส่วนตัวของยายชูนั้นทรงกุมาร ซึ่งจะมีพิธีการไหว้ครูที่บ้าน บริเวณศาลเพียงตาที่ปลูกขึ้นในบริเวณบ้าน ทุก ๆ ปีจะมีการถวายหรือไหว้ด้วยหัวหมู กล้วย ขนมต้มแดง ต้มขาว มีคำร้องอัญเชิญดวงวิญญาณมาเข้าทรง พร้อมมีการรำถวาย ผู้ที่มารำถวายก็จะเป็นผู้ที่เลื่อมใสหรือรักษาโรคหายแล้วก็มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ สำหรับโรคที่รักษา เช่น การกวาดยาเด็ก การรักษาไข้ตัวร้อน เด็กไม่ชอบกินข้าว โดยใช้ยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น มะกรูด มะขาม หัวหอม และสมุนไพรอื่น ๆ มาบดแล้วนำมากวาดลิ้นเด็ก ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน โดยไม่ต้องไปหาหมอข้างนอก ในอดีตเด็กในชุมชนมาให้ยายชูกวาดยาเกือบทั้งหมด จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้สมุนไพรหรือยาในการรักษามากกว่าใช้อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการรักษา
  • พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย – พิธีศพของคนในชุมชนคลองลัดมะยม จะจัดขึ้นที่วัดประดู่ (วัดอินทราวาสในปัจจุบัน) เนื่องจากวัดศิริวัฒนารามซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนเพิ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2521 ในอดีตชาวบ้านจึงต้องพึ่งพาอาศัยวัดประดู่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีเกี่ยวกับการตายของผู้คนในชุมชนคลองลัดมะยม โดยนำศพเก็บไว้ที่วัดประดู่ จนกระทั่งศพเริ่มมีสภาพแห้ง ถ้าศพยังไม่แห้งแต่ต้องนำมาประกอบพิธีฌาปนกิจศพก็จะต้องมีการเลาะเอาเนื้อออกจากกระดูก แล้วนำมาเผาแยกกัน ในพิธีศพจะมีการประดับฉลุลวดลายงดงามจากกาบกล้วยที่เรียกว่า การแทงหยวก ซึ่งจะประดับไว้บริเวณโลงศพที่วางอยู่เชิงตะกอนสำหรับเผาศพ ทำเป็นรูปคล้ายเมรุปราสาทอย่างสวยงาม ปัจจุบันแม้จะมีวัดศิริวัฒนารามซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนคลองลัดมะยม แต่ทางวัดก็ไม่อนุญาตให้จัดพิธีกรรมเผาศพหรือเก็บศพไว้ที่วัด เนื่องจากเจ้าของที่ดินขอไว้เมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ แต่อนุญาตให้ตั้งศพและสวดศพที่วัดได้ เนื่องจากวัดนี้ยังไม่มีเมรุและไม่มีความคิดในการสร้างเมรุจึงทำให้ไม่มีการประกอบพิธีฌาปนกิจที่วัดศิริวัฒนาราม นอกจากนี้ในชุมชนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องศพของคนตาย คือศพที่ตายนอกบ้าน หรือตายโหง ถูกยิง ถูกแทง หรือตายโดยเจตนาจะไม่นำมาทำพิธีกรรมที่บ้าน หรือไม่จัดการเผาโดยทันที แต่มักเก็บศพเอาไว้เป็นเวลา 1 – 2 ปี แล้วจึงค่อยนำมาประกอบพิธีเผาศพ
  • การตั้งศาลพระภูมิและศาลตายาย – ความเชื่อนี้สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องที่ดิน เพราะพื้นที่ หรือบ้านเรือนมีเจ้าของและจะต้องมีผู้ปกปักรักษา ทำให้เกิดแนวคิดในการตั้งศาลขึ้นในบริเวณบ้าน ซึ่งจะมีสองเสาคู่กันเสมอ การตั้งศาลพระภูมิจะตั้งติดพื้นดิน และจะมีพิธีกรรมในการตั้งศาล ประกอบด้วยผู้ทำพิธีตั้งเสา และของไหว้ซึ่งแล้วแต่ว่าเจ้าของบ้านจะจัดเตรียมของ การตั้งศาลนิยมทำกันในวันพุธกับวันพฤหัสบดีเริ่มทำตอนเช้าไม่เกินเวลาเพล สำหรับการตั้งศาลตายายจะตั้งคู่กับศาลพระภูมิเจ้าที่แต่ตั้งในระดับเตี้ยกว่า นอกจากนี้ยังมีการตั้งศาลสวนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสวนอยู่ในบริเวณบ้าน ที่คล้ายกับการขอพรให้ช่วยปกปักคุ้มครองพืชผล ให้ผลผลิตเจริญงอกงามสมบูรณ์ดี

  • หมอเปีย แก้วคำ เกิดปี 2483 มีพื้นเพเป็นคนบางเชือกหนัง และย้ายตามพ่อมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ช่วงแรกที่มาอยู่ครอบครัวของหมอเปียประกอบอาชีพทำนา ในภายหลังได้เปลี่ยนมาทำสวน ซึ่งอดีตได้มาเช่าเขาทำในราคาไร่ละ 150 บาท ปัจจุบันเช่าอยู่ที่ราคา 800 บาทต่อไร่ หมอเปียเริ่มเข้ามาเป็นหมอพื้นบ้านในวัย 16 – 17 ปี โดยเรียนวิชาจากหลวงพ่อหรือพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ ที่มีความสามารถในการรักษา ซึ่งไม่ได้สอนเป็นกิจจะลักษณะแต่ใช้วิธีการแบบครูพักลักจำในการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาแพทย์พื้นบ้าน จะมีการเรียนอย่างเป็นทางการก็คือ เรียนหนังสือที่วัดมะพร้าวเตี้ยจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการรักษาโรคแบบพื้นบ้านไม่ได้กำหนดหรือเรียกค่าเก็บรักษาจากผู้ที่เข้ามารับการรักษา แล้วแต่ผู้ที่มารับการรักษาพอใจแล้วจะให้เงินค่ารักษาจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ เพราะลุงเปียไม่ถือว่าเป็นอาชีพหลักที่จะหารายได้อย่างมั่นคงเป็นกอบเป็นกำ แต่ที่ทำเพราะอยากช่วยชาวบ้านที่ไม่มีเงินไปรักษาในโรงพยาบาล เป็นโรคเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือเป็นโรคที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเนื่องจากโรงพยาบาลและสถานีอนามัยอยู่ห่างไกล โรคที่ชาวบ้านมาให้หมอเปียรักษาบ่อยที่สุดคือ งูกัด ซึ่งพบเป็นประจำในวิถีชีวิตของชาวนาชาวสวน หรือการกวาดยาเด็ก การรักษาจะใช้ยาสมุนไพรทั้งยากิน ยาทา รวมถึงการทำคลอดเช่นกัน
  • ลุงชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม และปราชญ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ริเริ่มก่อตั้งการรวมตัวจัดทำตลาดน้ำคลองลัดมะยม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ชุมชนคลองลัดมะยมฟื้นวิถีชุมชนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)

  • คลองลัดมะยม – เป็นคลองลัดที่ยาวไปทางเหนือจรดใต้ อยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับคลองขนาดเล็กและใหญ่ ติดกับอำเภอสามพราน พุทธมณฑลสาย 4 จังหวัดนครปฐม แต่ปัจจุบันแบ่งออกเป็นเขตทวีวัฒนา ซึ่งมีสองแขวงคือ แขวงทวีวัฒนาและแขวงธรรมสพน์ ทิศเหนือติดกับจังหวัดนนทบุรี ทิศใต้ติดกับทะเลบางขุนเทียน ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดนครปฐม ในสมัยก่อนจะเป็นคลองย่อยขนาดเล็กที่แยกมาจากคลองใหญ่และเชื่อมต่อกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองบางระมาด คลองบางน้อย คลองบางพรม คลองบางเชือกหนัง คลองลัดบริเวณนี้ประกอบด้วย คลองลัดยานิล คลองลัดตาเหนียว คลองลัดกัลยา ส่วนปลายคลองจะมีคลองย่อย ๆ แยกไปอีก และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คลองส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นคลองธรรมชาติ ส่วนคลองขุดจะมีอยู่ไม่มาก เช่น คลองมหาสวัสดิ์ และคลองภาษีเจริญ ซึ่งคลองเหล่านี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่งเป็นสำคัญ ทำให้เห็นว่าคลองลัดมะยมแห่งนี้มีความสำคัญต่อประชาชนในชุมชนและเป็นที่สนใจของบุคคลภายนอกให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้โดยมีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง
  • ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตั้งอยู่ริมคลองลัดมะยมด้านติดถนนบางระมาด  มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นตลาดของชาวสวนคลองลัดมะยม นำผลไม้ที่ปลูกในสวนมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว สด จากสวน มีร้านอาหารคาวหวานมากมาย รวมถึงอาหารโบราณที่หาทานยาก  นอกจากนี้ยังมีเรือสำหรับพานักท่องเที่ยวชมสวน "สวนเจียมตน" เป็นสวนไม้ยืนต้นและไม้สมุนไพร และ "พิพิธภัณฑ์เรือจำลอง" ที่มีการจัดแสดงเรือแบบต่าง ๆ ให้ดูหลายแบบ พร้อมทั้งอุปกรณ์วิธีชาวสวนและเครื่องมือการเกษตร ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เปิดบริการ วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียด โทร. 02-422-4270, 089-2152659 คุณลุงชวน ชูจันทร์
  • พิพิธภัณฑ์ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านเล็ก ๆ ที่บรรจุไปด้วยข้าวของและเรื่องราวที่แสดงถึงวิถีชีวิตคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำ และที่สำคัญคือ มิตรจิตมิตรใจของผู้ก่อตั้ง นอกจากจะสละเวลารวบรวมข้าวของและเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ยังยินดีจะถ่ายทอดความรู้ในการต่อเรือแบบง่าย ๆ ให้กับคนที่สนใจอีกด้วย

ประชากรใช้ภาษาไทยกลาง


ชุมชนคลองลัดมะยมในอดีตจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่จะใช้แรงงานจากครอบครัวและระบบเครือญาติเป็นหลัก เช่น ในการทำนาปลูกข้าวจะมีการเอาแรง ลงแขกเกี่ยวข้าว จะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนเป็นความสัมพันธ์แบบที่ช่วยกันทำ โดยใช้วิธีแบบการเวียนกัน เมื่อนาเราเสร็จก็ไปช่วยคนอื่นที่มาช่วยเรา สลับเวียนกันจนครบจะไม่มีเรื่องของเงินมาใช้เป็นค่าจ้างแรงงาน แต่ปัจจุบันอาชีพของคนในชุมชนเปลี่ยนไปจากเหตุน้ำท่วมและการเข้ามาของคนจีน ทำให้เกิดการทำสวนแบบยกร่องขึ้นในชุมชน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทำให้แต่ก่อนที่ใช้แรงงานจากมนุษย์และสัตว์ในการทำนา ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เป็นเครื่องจักรแทนเพื่อเป็นเครื่องทุ่นแรงให้กับชาวบ้าน เช่นเครื่องสูบน้ำเข้านาเข้าไร่ รวมถึงเปลี่ยนจากการเวียนช่วยกันมาเป็นการจ้างงานด้วยเงินแทน


ชุมชนคลองลัดมะยมในอดีตเป็นชุมชนขนาดเล็ก และมีความหนาแน่นของประชากรในระดับต่ำ บ้านแต่ละหลังค่อนข้างที่จะตั้งห่างกัน ยกเว้นครอบครัวขยายมักจะตั้งบ้านในละแวกเดียวกัน การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนสลับที่นา หรือสวน และจะตั้งบ้านเรือนขนาบริมน้ำ ปัจจุบันพื้นที่ตั้งบ้านเรือนขยายออกมาตั้งถิ่นฐานรอบข้างที่แต่เดิมใช้ในการเพาะปลูกมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของธุรกิจบ้านจัดสรร ทำให้มีการขายที่ดินเพาะปลูกให้กับนายทุน ส่งผลให้คนภายนอกชุมชนเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากยิ่งขึ้น


ประเพณีเป็นสิ่งเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน และแสดงถึงความสามัคคีของผู้คนในชุมชน แต่เนื่องจากสภาพทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประเพณีร่วมกันของคนในชุมชนได้เริ่มหายไปหรือผู้คนน่วมงานประเพณีน้อยลง เช่น ประเพณีชักพระของชุมชนรอบเขตตลิ่งชันและภาษีเจริญ ที่ใช้ลำคลองร่วมกัน โดยทุกปีหลังจากการเสร็จสิ้นของประเพณีลอยกระทงแล้วเป็นเวลาสองวัน ทางวัดนางชีจะมีการจัดงานประเพณีชักพระ เพื่อนำพระบรมสารีริกธาตุมาแห่ในคลอง  ซึ่งในอดีตชาวบ้านจะเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี เพื่อสักการบูชาและเที่ยวงานถือเป็นประเพณีที่มีการรวมตัวพบปะของผู้คนในชุมชน แต่ในปัจจุบันคนเริ่มไปร่วมงานน้อยลง จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานในสวนทำงานรับจ้างตลอดเวลา บางคนไม่มีลูกหลานพาไป อีกเหตุผลคือประเพณีชักพระไม่เหมือนเดิม หรือไม่เหมาะสม เพราะว่ามีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ สร้างประตูกั้นแม่น้ำ เมื่อถึงคราวจัดงานผู้คนก็ยืนหรือนั่งบนสะพานเหนือองค์พระ น้ำในคลองไม่ใสเหมือนอดีต รวมทั้งสังคมปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะต่างคนต่างอยู่ ไม่คุ้นเคยกันอย่างอดีต และมีคนใหม่ ๆ เข้ามาในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความร่วมมือในการจัดงานประเพณีใหญ่ ๆ เหมือนในอดีตทำได้ยาก

เรื่องเล่าพื้นบ้านท้องถิ่นในชุมชน

มีลักษณะเกี่ยวข้องกับการเดินทางของกษัตริย์ไทยในยุคต่าง ๆ เช่น สมัยอยุธยาที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือมาบริเวณนี้ของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง หรือการเดินทัพมาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่สัมพันธ์กับชื่อสถานที่ เช่น บางเชือกหนังมาจากหนังวัวหนังควายตากแห้งสนิทในสมัยพระเจ้าตากสิน ที่จำนำไปใช้เป็นเชือกชักลากในการทำศึกสงคราม หรือตำนานปู่เถรเฝ้าทรัพย์ ที่เชื่อมโยงกับชื่อวัดปู่เถร มีการกล่าวถึงปู่เถรที่เป็นมัคนายกของวัดซึ่งคอยเฝ้าทรัพย์สมบัติภายในวัด รวมถึงตำนานพระแม่โพสพที่เกี่ยวข้องกับตาเล็ก หรือตาเหล็ก ยายแฟง ตาเหล็ง ที่หม่าข้าวทำขนมจีนแต่ข้าวกับงอกเป็นต้นข้าว ซึ่งสร้างความอัศจรรย์และนำไปสู่การสร้างรูปปั้นพระแม่โพสพ เทพีแห่งข้าวเพื่อกราบไหว้บูชาของเกษตรกรและคนทั่วไป

ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2551). โครงการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อพัฒนาการวิจัยสังคมวัฒนธรรมชุมชนริมแม่น้ำลำคลองชานเมืองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเมือง พื้นที่ศึกษา ชุมชนในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และชุมชนท่าพูด จังหวัดนครปฐม. ค้นจาก http://https://sac2016-my.sharepoint.com/personal/sutasinee_b_sac_or_th/_layouts/15/onedrive.aspx?

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php

อัยรวี วีระพันธ์พงศ์. (2556). "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพึ่งตนเองของชุมชน: กรณีศึกษา ชุมชน คลองลัดมะยม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร."  วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้าและการเกษตร (องค์การมหาชน). (2555). เอกสารข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนตลาดนํ้ำคลองลัดมะยม. กรุงเทพฯ: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน).

สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2550.) "เขตตลิ่งชัน: ประวัติศาสตร์พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง." ใน รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (เพิ่มเติม) ย่านตลาดน้ำตลิ่งชันและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 22-29.