หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง
บ้านหนองไผ่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยนายโหมก น้อยนา ซึ่งเดินทางมาจากอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานเพราะมีหนองน้ำขนาดใหญ่และมีไม้ไผ่ล้อมรอบ บริเวณนั้น จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหนองไผ่” ในช่วงนั้นคนในชุมชนประกอบ อาชีพทํานาและรับจ้างทั่วไป น้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคคือน้ำในหนองปลาขยุ้ม ในระยะต่อมาซึ่งไม่ทราบปี พ.ศ. นายถึง ถมมา ซึ่งเป็นลูกชายของนายโหมก น้อยนา ได้รับแต่ตั้งจากชาวบ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในช่วงนั้น ได้มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรค โรคคุดทะราด โรคฝีดาษ โรคไข้จับสั่น และโรคเลื่อน ในปี พ.ศ.2511-2520 ได้มีการจัดตั้งสุขศาลาแห่งแรกที่ตําบลหนองเรือ และคนในชุมชนได้เข้ารับบริการวัคซีน ณ สุขศาลา ดังกล่าว รวมทั้งได้มีหมอต่างประเทศเข้ามารักษาโรคระบาดดังกล่าวส่งผลให้โรคระบาดดังกล่าวหายไปจาก ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2541 มีการแยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านคือบ้านหนองไผ่ หมู่1 และ บ้านหนองไผ่พัฒนา หมู่ 21 ต่อมาในสมัยนายสงวน เสียงดัง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้มีการขุดลอกบึงหนองไผ่ไว้เพื่อใช้น้ำอุปโภคบริโภคเนื่องจากน้ำในหนองมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอในการอุปโภคบริโภค เริ่มมีถนนลาดยางในหมู่บ้านซึ่งเมื่อก่อนเป็นถนนลูกรัง มีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน และชาวบ้านในชุมชนมีห้องน้ำทุกหลังคาเรือน100% ในปี2533 ได้มีโรงงานน้ำตาลมาก่อตั้งในอําเภอหนองเรือ ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนหันมาปลูกอ้อยส่งนายทุน ทําให้คนในชุมชนมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
บ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 1 อยู่ในเขตการปกครองของตําบลกุดกว้าง อําเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ลักษณะพื้นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตําบลกุดกว้าง มีพื้นที่ทั้งหมด 850 ไร่ ที่อยู่อาศัย 258 ไร่ การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่น สามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์โดยสารประจําทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมะลิวัลย์ จากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นไปทาง ทิศตะวันตก ผ่านอําเภอบ้านฝาง-อําเภอหนองเรือ ระยะทาง 48 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวเข้าสู่ถนนโยธาธิการ หนองไผ่-กุดกว้างประมาณ 500 เมตรเข้าสู่บ้านศาลาประชาคมหมู่บ้านหนองไผ่ หมู่ 1
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับถนนมลิวัลย์ และตําบลโนนทัน
ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านโคกสูง หมู่ที่ 2
ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 21
ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านหนองกุง หมู่ที่ 15
ลักษณะพื้นที่ทางกายภาพและภูมิอากาศ
พื้นที่บ้านหนองไผ่โดยทั่วไปจะเป็นพื้นที่ราบ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ย 100 - 200 เมตร ประกอบด้วย ลักษณะภูมิประเทศ ดังนี้ ที่ราบเชิงเขาและที่ราบลุ่ม โดยมีลุ่มแม่น้ำสําคัญ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเซิน ซึ่งเหมาะแก่การทำการเกษตร มีดินร่วนปนทราย และดินเหนียว กักเก็บน้ำดี
สำหรับภูมิอากาศในชุมชนบ้านหนองไผ่มีทั้งหมด 3 ฤดู ได้แก่
1) ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วง เดือนเมษายนของทุกปี
2) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายายนของทุกปี
3) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วง เดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี
พบว่า บางปีหากแล้งปริมาณน้ำในการเกษตรจะไม่เพียงพอต่อการทําเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ หรือใช้อุปโภคบริโภค แต่ยังมีบางปีที่น้ำท่วม ทําให้ส่งผลกระทบต่อการดํารงชีวิตและการเกษตร
สาธารณูปโภคของชุมชน
น้ำดื่มบริโภคประชากรบ้านหนองไผ่นิยมซื้อน้ำดื่มบริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยังบริโภคน้ำฝน จากการสัมภาษณ์พบว่า ประชากรส่วนใหญ่หันมาซื้อน้ำบริโภคซึ่งเดิมแล้วเคยบริโภคน้ำฝน เพราะน้ำฝนไม่สะอาด รวมทั้งมีการปลูกไร่อ้อยและปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลอยู่ใกล้หมู่บ้าน การที่จะรองน้ำฝนไว้ดื่ม มีโอกาสที่สารเคมี จะปนเปื้อนอยู่กับน้ำได้ และอาจส่งผลให้เกิดการได้รับสารเคมีสะสมที่ปนเปื้อนมากับน้ำดื่มน้ำใช้ได้ ส่วนน้ำใช้ ทุกครัวเรือนใช้น้ำประปาประจําหมู่บ้าน น้ำประปาไหลสะดวก เพียงพอต่อการใช้ตลอดปี
ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
แหล่งน้ำมีลุ่มน้ำที่สําคัญ คือ ลุ่มแม่น้ำเซิน สระหนองไผ่ 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำหนองโสน ลําน้ำจากจังหวัดชัยภูมิและโดยประชาชนในหมู่บ้านจะใช้ในการเกษตรเพาะปลูก
ป่าไม้ มีพื้นที่ป่าไม้ในหมู่บ้าน คือ ป่าดอนตาปู่ โดยจะอยู่บริเวณทางเข้าทิศตะวันตกของ หมู่บ้าน และศาลตาปู่ บริเวณป่าไม้จะร่มรื่น เงียบสงบ ประชาชนจะใช้เป็นแหล่งประโยชน์ที่ยึดเหนี่ยวทาง จิตใจเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ปลูกสมุนไพรไว้สําหรับเช่าในหมู่บ้าน ป่าไม้ในหมู่บ้านมีป่าชุมชน จํานวน 12 ไร่ ไม้ที่มีในป่าชุมชน ได้แก่ มะข่า มะขาม สะเดา ประดู่
จำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 422คน เป็นเพศชาย 190 คน เป็นเพศหญิง 232 คน และมีจำนวน 139 หลังคาเรือน ส่วนข้อมูลจากการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีประชากรในหมู่บ้านทั้งหมด 695 คน เป็นเพศหญิง 346 คน เพศชาย 349 คน มีจำนวนบ้าน 211 หลังคาเรือน ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่อยู่กันแบบครอบครัวขยาย
ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองไผ่ ส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาเป็นนักเรียน/นักศึกษา ว่างงาน ข้าราชการ รับจ้างทั่วไป ตามลำดับ ส่วนอาชีพที่มีการประกอบน้อยที่สุดได้แก่ ค้าขาย
บ้านหนองไผ่มีการรวมกลุ่มทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ
คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ในการประสานงานชาวบ้านในชุมชนกับหน่วยงานของรัฐเพื่อสวัสดิการความช่วยเหลือต่างๆ อีกทั้งยังคอยรักษาความสงบภายในหมู่บ้าน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภาพในหมู่บ้าน เช่น ไฟดับ งูเข้าบ้าน เกิดเหตุทะเลาะวิวาท เป็นต้น
คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้สตรีได้พัฒนาตนเอง มีจิตอาสาในการร่วมพัฒนาชุมชน สังคม ตามความสามารถของตนเอง และเป็นกอองทุนกู้ยืมให้กับสมาชิกอีกทั้งยังสนันสนุนกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการพัฒนาสตรี เด็ก และเยาวชน ปฏิบัติงานโครงการร่วมกับกลุ่มสตรีและกลุ่มองค์กรต่างๆในชุมชน จำทำทะเบียนครุภัณฑ์ขององค์กรสตรีที่รับผิดชอบ
อาสาพัฒนาชุมชน กระตุ้นให้องค์กรประชาชน รู้สภาพปัญหาของหมู่บ้าน และสามารถวางแผนงานเพื่อแก้ปัญหาได้เองรวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพริเริ่มและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา โดยเป็นที่ปรึกษากลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรีกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ คอยช่วยเหลือสนับสนุน การดำเนินงานตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้บุคคลที่เป็นสามาชิกรู้จักการประหยัดรู้จักการออมทรัพย์ และสามารถเบิกเงินกู้ให้แก่สมาชิก เพื่อนำไปใช้จ่ายเมื่อเกิดความจำเป็นได้ โดยยึดหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นการร่วมปัญหาทางเศรษฐกิจ
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นการรวมกลุ่มที่ชวยส่งเสริมสุขภาพของสมาชิกในชุมชนและพัฒนาหมู่บ้าน
อาสาสมัครเกษตร มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเกษตรของสมาชิกนชุมชนร่วมกับกรรมการหมู่บ้านเพื่อสร้างแผนพัฒนาการเกษตรของหมู่บ้านอีกทั้งยังคอยถ่ายทอดความรู้แก้ปัญหาของเกษตรกรในหมู่บ้าน
อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน เพื่อรักษาความสงบในชุมชน
กลุ่มการป้องกันและต่อต้านยาเสพติดระดับหมู่บ้าน เพื่อต่อต้านยาเสพติดและปราบปรามยาเสพติดภายในหมู่บ้าน
กลุ่มอาสาปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปศุสัตว์แก่เกษตรกร และปฏิบัติงานต่างๆตามโครงการของกรมปศุสัตว์ เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
กลุ่มไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มนางรำ
วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม
1.บุญส่งท้าย ต้อนรับปีใหม่ ตักบาตรปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ อวยพรซึ่งกันและกัน ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่น จะกลับมาบ้านเพื่อมาหาญาติผู้ใหญ่ มาขอพรและร่วมรับประทานอาหาร สังสรรค์ร่วมกัน
2.บุญข้าวจี่ เป็นการนำเอาข้าวเหนียวที่ปั้นโรยเกลือทาไข่ไก่ แล้วจี่ไฟให้สุกเรียกว่าข้าวจี่ ซึ่งการทำบุญข้าวจี่ในเดือนสามเป็นช่วงที่ชาวนาหมดภาระในการทำนาแล้วข้าวขึ้นยุ้งฉางใหม่จึงอยากร่วมทำบุญถวายพระ
3.บุญมหาชาติ เป็นบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรนิยมทำในเดือนสี่
4.บุญสงกรานต์ บุญมหาสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ ของภาคอีสานกำหนดขึ้นในเดือนห้า ตั้งแต่13วันมหาสงกรานต์ 14 วันเนา 15 วันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
5.บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ เป็นบุญที่จัดขึ้นเพื่อทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่า บุญเบิกบ้าน หรือ บุญบ้านเป็นบุญที่แต่ละหมู่บ้านจะทำไม่ขาด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา ผีตาแฮก มเหศักดิ์หลักเมือง ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านชาวบ้านเชื่อว่าจะรวมผีบรรษบุรุษอยู่ด้วยที่ช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านเมืองมีความสุข ซึ่งบุญนี้จะเป็นการทำบุญตักบาตรในหมู่บ้านและมีการขึงด้ายไปทั่วทุกหลังคาเรือน โดยนิมนต์4-9 รูปมาเจริญพุทธมนต์ แล้วมีพิธีผูกข้อต่อแขนซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านที่ได้ฝ้ายจากการทำพิธีและมีการน้ำกรวดทรายหรือหินไปหว่านรอบๆหมู่บ้านหรือหลังคาบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการกันผีหรือสิ่งจัญไรเข้าหมู่บ้าน
6.บุญเข้าพรรษา การที่พระสงฆ์อยู่ประจำอาวาสแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝนเรียกว่าพรรษา ชาวบ้านจะมีการเตรียมเทียนเพื่อไปถวายวัด
7.บุญข้าวประดับดิน เรียกอีกอย่างว่า บุญข้าวสาก นำอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่จัดใส่กระทงวางไว้บนพื้น ใต้ต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่มีความสำคัญต่อชาวอีสานเพราะเชื่อว่าเป็นบุญที่ต้องส่งส่วยให้กับผีฮักและผีบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่มีภัยร้ายใดๆมาเยือน
8.บุญข้าวสาก เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต โดยมีเวลาห่างจากบุญข้าวประดับดินเพียง 15วันเป็นเวลาที่เปรตต้องกลับไปอยู่ที่ของตน ซึ่งทั้งสองบุญนี้จะมีลักษณะคล้ายๆกันคือการห่อข้าวส่งให้เปรต รวมทั้งบรรพบุรุษญาติพี่น้องของผู้ทำบุญด้วยและเปรตไม่มีญาติด้วย
10.บุญกฐิน กฐิน คือไม้สะดึง ที่ใช้สำหรับขึงผ้าเวลาจะเย็บผ้าจีวรพระในการเย็บให้สะดวกขึ้น จึงเป็นที่มาของผ้ากฐิน คือ ผ้าจีวร สบงหรือผ้านุ่งห่มที่จะนำไปถวายพระนั่นเองบุญกฐินจึงคือบุญที่ต้องนำเข้าไปถวายพระเป็นสำคัญ บุญกฐินเป็นบุญฮีตสุดท้ายของอีตเดือนสิบสองของชาวอีสานชาวอีสานจึงรู้ดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องนำจีวรไปถวายในช่วงนี้ซึ่งมีกาลเวลา ซึ่งมีความสำคัญต่อชาวอีสานมากที่ถือว่าเป็นให้อานิสงส์แก่ผู้ทำบุญอย่างมากเพราะจะได้ถวายจีวรให้แก่ภิกษุที่ครบไตรมาส
นางประยูร ภูมิโสม เกิดวันที่ 29 มกราคม 2513 เกิดที่บ้านโนนจันทร์ ตำบลหนองแก อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เมื่ออายุ 4 ปี จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 19/3 หมู่ 1 ตําบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น จนถึงปัจจุบัน เมื่อเทศบาลกุดกว้างได้จัดอบรมนวดแผนไทย 5วัน นางประยูรได้เข้าอบรมและได้ใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการอบรมนวดไทย (60 ชั่วโมง) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ได้ใบประกาศนียบัตรจากสมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย หลักสูตรการอบรมนวดไทย (372 ชั่วโมง)
ต่อมานายแพทย์ให้ไปเป็นครูสอนนวดและได้เป็นประธานหมอนวดประจำตำบลกุดกว้าง วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2558 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2559-2561 ได้เปิดร้านนวดแผนไทย และได้ใบประกาศนียบัตรที่ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2561 แม่ประยูรได้ทำสินค้า OTOP คือ ลูกประคบและยาหม่องสมุนไพร ต่อมาได้ไปเรียนนวดเพิ่มเติมและได้ใบประกาศนียบัตรจากโรงเรียนส่งเสริมวิชาชีพและวัฒนธรรมไทยสปา หลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2561 ต่อมาได้ย้ายร้านนวดมาเปิดที่บ้านของตนเอง รายได้เดือนละ 15,000 บาท และปัจจุบันได้แยกทางกับสามีอาศัยอยู่คนเดียว เมื่อคนในหมู่บ้านเกิดความไม่สุขสบาย เช่น ปวดขา หรือเกิดอุบัติเหตุก็จะมาหาแม่ประยูร เพื่อรับสมุนไพรไปใช้รักษา เช่น นำสมุนไพรไปใช้อาบ ใช้ประคบ บรรเทาอาการต่างๆ
ทุนกายภาพ
ชุมชนบ้านบ้านหนองไผ่มีทรัพยากรที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในชุมชน ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเซิน สระหนองไผ่ อ่างเก็บน้ำหนองโสน และลำน้ำจากจังหวัดชัยภูมิ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเหล่านี้ในการทำการเกษตร เพาะปลูก อีกทั้งยังมีทรัพยากรป่าไม้ คือ ป่าดอนตาปู่ โดยจะอยู่บริเวณทางเข้าทิศตะวันตกของ หมู่บ้าน และศาลตาปู่ บริเวณป่าไม้จะร่มรื่น เงียบสงบ ประชาชนจะใช้เป็นแหล่งประโยชน์ที่ยึดเหนี่ยวทาง จิตใจเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ปลูกสมุนไพรไว้สําหรับเช่าในหมู่บ้าน ป่าไม้ในหมู่บ้านมีป่าชุมชน จํานวน 12 ไร่ ไม้ที่มีในป่าชุมชน ได้แก่ มะข่า มะขาม สะเดา ประดู่
ทุนสังคม
ชุมชนบ้านหนองไผ่มีการรวมกลุ่มทางสังคมมากมายเพื่อพัฒนาชุมชน ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มพัฒนาสตรีหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครเกษตร อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน กลุ่มการป้องกันและต่อต้านยาเสพติดระดับหมู่บ้าน และอาสาปศุสัตว์ ซึ่งมีการทำงานประสานกันเป็นอย่างดี ทำให้ชุมชนบ้านหนองไผ่พัฒนาไปในทางที่ดี
ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองไผ่ ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น นิยมใช้ภาษาอีสานและภาษากลางในการสื่อสารเชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านอื่นๆในตำบลกุดกว้าง โดยมีสำเนียงการพูดภาษาอีสานเป็นแบบลาวตะวันตก (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน) และสำเนียงแบบลาวเวียงจันทน์
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในสังคม เนื่องจากเทคโนโลยี และความทันสมัยเข้าสู่ชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็นิยมเข้าวัดเพื่อทำบุญในทุกๆวันสำคัญทางศาสนา แต่ในปัจจุบัน เด็กและวัยรุ่นไม่สนใจการเข้าวัดทำบุญ ทำให้ความนิยมในการเข้าวัดทำบุญลดลง ส่งผลให้การอนุรักษ์วัฒนธรรมในอดีตยากขึ้นไปด้วย แต่ก็มีเด็กบางกลุ่มที่ยังคงสนใจการอนุรักษ์วัฒนธรรมต่างๆไว้ โดยเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
ชุมชนบ้านหนองไผ่มีสถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ เช่น โรงงานมิตรผลภูเวียง ตลาด 2 แห่ง ร้านค้าต่างๆ ได้แก่ ร้านขายของชำทั่วไป ร้านขายอาหาร ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ และโรงสีข้าวในชุมชน ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของคนในชุมชน
กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากรบ้านหนองไผ่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (dopa.go.th)
Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2566.
เข้าถึงได้จาก : https://www.sanook.com/campus/1409663/