Advance search

คำขวัญ ต.สาวะถี : สาวะถีก้าวหน้า มุ่งสู่การพัฒนา ประชาชนเป็นสุข

หมู่ 8
สาวะถี
สาวะถี
เมืองขอนแก่น
ขอนแก่น
กันนิษฐา มาเห็ม
18 เม.ย. 2023
กันนิษฐา มาเห็ม
18 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
26 พ.ค. 2023
บ้านสาวะถี


คำขวัญ ต.สาวะถี : สาวะถีก้าวหน้า มุ่งสู่การพัฒนา ประชาชนเป็นสุข

สาวะถี
หมู่ 8
สาวะถี
เมืองขอนแก่น
ขอนแก่น
40000
16.508423
102.692092
เทศบาลตำบล

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2337 ที่ตั้งบ้านสาวะถีเป็นบ้านดง ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย วันหนึ่งชาวบ้านทุ่ม 3 คน ชื่อ กระนิง ปู่คำจ้ำโง้ง และปู่มุกดาหาร ได้พากันไปเลี้ยงช้างที่โคกป่าเหล่าพระเจ้า ในโคกป่าเห่านี้มีพระพุทธรูปเก่าๆอยู่องค์หนึ่ง (ปัจจุบันมีทุ่งนาล้อมรอบเหลือเป็นป่าโคกประมาณ 20 ไร่ เท่านั้น โคกป่าเหล่าพระเจ้าอยู่ทางทิศใต้ของบ้านสาวะถีห่างจากตัวหมู่บ้านประมาณ 5 เส้น) ขณะที่ปู่ทั้ง 3 เลี้ยงช้างอยู่นั้น ช้างเชือกหนึ่งตกมันได้วิ่งเข้าไปในป่า ปู่ทั้ง 3 จึงพากันติดตามหา ไปพบช้างยืนอยู่กลางโนนเมือง และยอมให้ปู่ทั้ง 3 จับ อาการตกมันได้หายไปอย่างอัศจรรย์เสมือนมีสิ่งบันดาลให้เกิดขึ้น เพื่อให้ปู่ทั้ง 3 ได้พบบริเวณที่มีความเจริญ สมบูรณ์ และสิ่งดีๆหลายอย่างในอดีต และเหมาะอย่างยิ่งที่จะได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากและอยู่อาศัยต่อไป

          ปู่ทั้ง 3 ได้สำรวจดูสภาพโนนเมือง และทำเลอันอุดมสมบูรณ์ จึงได้ไปชักชวนบ้านทุ่มไปตั้งถิ่งฐานที่นั่น โนนเมืองอยู่ทางทิศเหนือของบ้านสาวะถี เป็นเนินสูงมีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ห่างจากหมู่บ้านหรือวัดโพธิ์ชัยบ้านสาวะถีประมาณสามหรือสี่เส้นเท่านั้น ในโนนเมืองเป็นบ้านร้างเก่าแก่มานับพันปีมีวัสดุให้เห็นร่องรอยหลายอย่าง เช่น ซากวัตถุโบราณ ถ้วย ชาม ไหแตก กระดูกยาวๆ ของคนโบราณ เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ มีแท่นหินเป็นเครื่องปั้นดินเผาหมุนรอบได้ขณะนี้ยังเหลืออยู่ มีซากวัดร้าง 3 แห่งแต่ละแห่งมีพัทธสีมาอยู่ 8 คู่ วัดร้างแห่งที่หนึ่งอยู่อุ่มบักป้อมมีลักษณะเป็นดอนเป็นป่า มีกอไผ่ ต้นสะแก ดอนนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองนอกคูคลองออกไป 1-2 เส้น เมื่อ พ.ศ.2495 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้มีหนังสือถึงครูใหญ่ให้นำเจ้าหน้าที่ศิลปากรไปสำรวจ พบมีพัทธสีมา 8 คู่ มีตอมปลวกอยู่ รอบๆ พัทธสีมา มีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่สำรวจพบธาตุหรือเจดีย์ มีก้อนหินใหญ่น้อยเรียงรายรอบบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำไปพิสูจน์แต่ไม่ได้แจ้งผลการพิสูจน์ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเรียกบริเวณที่พัทธสีมาล้อมรอบนี้ว่า “กู่”

          วัดร้างแห่งที่ 2 อยู่เหล่าตานี บริเวณนี้มีป่าไผ่มาก มีพัทธสีมา 8 คู่ เช่นกัน อยู่ห่างจากโนนเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5-6 เส้น ปัจจุบันเป็นที่เลี้ยง วัว ควาย และสวนและนา

          วัดร้างแห่งที่ 3 อยู่กลางโนนเมืองโนนที่สูงที่สุด บริเวณรอบๆ มีก้อนหินใหญ่น้อย และซากวัตถุโบราณ แต่ที่ต่างจากแห่งอื่นคือ บริเวณโนนเมืองมีคูคลองล้อมรอบกว้างลึกเหมือนลำห้วย มีลำห้วยน้ำไหลมาทางทิศตะวันตก แล้วไหลต่อมาลงลำห้วยทางทิศตะวันออก (ทางเหล่าตานี หรือหนองคูใหญ่ปัจจุบัน) แล้วไหลต่อไปยัง บ้านทุ่ม บ้านหว้า บ้านสะอาด และท่าพระ ปัจจุบันคูคลองล้อมรอบโนนเมืองยังเหลืออยู่ เวลาน้ำไหลหลากมาก็ยังไหลล้อมรอบดังเดิมอยู่รอบนอกโนนเมืองออกไปมีสาน้ำอยู่หลายสา (สา หมายถึงสระ) สาน้ำอยู่ถี่ๆกัน ได้แก่ สาหนอง สาหนองยูง สาหนองไข่ผำ สาหนองแกใหญ่ สาหนองเผือก และสาหนองยาง สาสุดท้ายนี้ก่อด้วยก้อนอิฐและเทพื้น สาทุกสายังคงมีอยู่ บางสาได้รับการปรับปรุง ขุดลอกให้ลึกขึ้น

          เมื่อปู่ทั้ง 3 ได้ชักชวนชาวบ้านทุ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานแล้ว ส่วนมากชาวบ้านจะเลือกที่ติดกับโนนเมืองเพราะเชื่อว่า เคยเป็นเมืองที่เจริญ เป็นเมืองใหญ่สำคัญมาแล้ว และสันนิษฐานว่าคงเคยมีพระภิกษุสามเณรมาอยู่ คงเคยมีพระครูใหญ่ จึงสามารถช่วยกันพัฒนาขุดสาน้ำไว้หลายๆสา แต่ละสาอยู่ถี่ๆ กันด้วยประกอบกับผู้คนเป็นผู้มีอันจะกิน จึงได้ขุดคลองล้อมเมืองไว้ บางคนเรียกว่า บ้านเศรษฐี แต่ส่วนมากเรียกว่า บ้านสาวัตถีเพราะมีสาอยู่ถี่ๆ กัน ต่อมาเรียกเพี้ยนจาก สาวัตถี่ เป็นบ้าน สาวัตถีตามเมืองของพุทธประวัติ (กรุงสาวัตถี) และเป็น สาวะถี เพื่อให้เรียกง่ายเหมาะสมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านสาวะถี หมู่ 8  ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 56,596 ไร่ มีสภาพทางกายภาพเป็นที่นาและที่ราบ มีแหล่งน้ำสายสำคัญหลายผ่าน คือลำห้วยใหญ่, ลำห้วยภาค, ลำห้วยสาขาต่างๆ

          อาณาเขตติดต่อ

          ทิศเหนือ          ติดกับ ต.ป่าหวายนั่ง อ.บ้านฝาง และ ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

          ทิศใต้             ติดกับ ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ ต.แดงใหญ่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

          ทิศตะวันออก      ติดกับ ต.บ้านค้อ  อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ ต.แดงใหญ่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

          ทิศตะวันตก        ติดกับ ต.ป่าหวายนั่ง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น

          ลักษณะพื้นที่ทางกายภาพ

          โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ย 180 - 200 เมตร ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับที่ดอน ซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร มีดินร่วนปนทราย และดินเหนียว กักเก็บน้ำดี เหมาะแก่การทำการเกษตรและปลูกอ้อย  ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 3 ฤดู  ดังนี้    

          1) ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีฝุ่นละอองจากการคมนาคมฟุ้งกระจายจำนวนมากในถนนบางสายในหมู่บ้านพบโรคอุจจาระร่วง จำนวน 9 ราย ในปี พ.ศ.2561

          2) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายายนของทุกปีช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน ทำให้ไม่สะดวกในการคมนาคม 

          3) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากซึ่งจะเป็นอากาศแบบสุดขั้ว พบว่า บางปีหากแล้ง พบการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ

          ถนนส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีต มีถนนลาดยางเชื่อมติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง มีฝุ่นละอองของถนนในฤดูแล้ง ถนนลาดยางชำรุดเป็นหลุมบางตอน เมื่อถึงฤดูฝนตกมีน้ำขังตามหลุม บริเวณด้านข้างของสองฝั่งถนนไม่มีหลอดไฟให้แสงสว่าง ทำให้การเดินทางลำบากในบางครั้ง

          แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ

          มีแหล่งน้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือลำห้วยใหญ่, ลำห้วยภาค, ลำห้วยสาขาต่าง ๆ ไม่มีป่าไม้ ไม่มีแร่ธาตุ ไม่มีสัตว์ป่า บ้านสาวะถี มีแหล่งน้ำสำคัญคือ หนองคูใหญ่เนื่องจากปีนี้ค่อนข้างแห้งแล้งจึงทำให้ประชากรหมู่ 8 มีน้ำใช้ลดลง  และ แหล่งน้ำประปาจะเปิดปิดน้ำเป็นเวลา

          สาธารณูปโภคในชุมชน

          ทุกหมู่ใช้น้ำประปาหมู่บ้านซึ่งน้ำจะเปิดปิดเป็นเวลา ทำให้ไม่มีความสะดวกในการใช้น้ำประชาชนส่วนใหญ่ดื่มน้ำบรรจุเสร็จ ซึ่งมีรถมาจำหน่ายในหมู่บ้าน ด้านระบบไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุกหมู่บ้าน ด้านโทรศัพท์ประชาชนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของตนเอง

จากการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่า บ้านสาวะถี หมู่ 8 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,195 คน มีจำนวน 283 หลังคาเรือน แบ่งเป็นเพศชาย 601 คน และเพศหญิง 594 คน ประชาชนในบ้านสาวะถี หมู่ มีลักษณะโครงสร้างครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย คือครอบครัวมีสมาชิกในครอบครัว ประกอบด้วย ตา ยาย หรือ ปู่ ย่า พ่อ แม่ ลูก อาศัยรวมกันจำนวน 196 หลังคาเรือน และเป็นครอบครัวเดี่ยว 87 หลังคาเรือน ภายในชุมชนบ้านสาวะถีมีครอบครัวที่อพยพย้ายถิ่นไปประกอบอาชีพที่ต่างจังหวัด ประมาณ 10 ครัวเรือน ซึ่งจะกลับมาตามวันเทศกาลและวันหยุด เช่น วันสงกรานต์ วันปีใหม่ เป็นต้น

ชุมชนบ้านสาวะถีมีการร่วมมือกันกับองค์กรต่างๆที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาหมู่บ้านอีกทั้งยังมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆขึ้น ดังนี้

          กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ประธานคือ ผู้ใหญ่บ้าน นางสมร  คำโมง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน คือ นายสำเนียง  บุริจันทร์ และนางภาวิณี  ภาโนนชัย ช่วยเหลือเรื่องการตาย โดยเก็บจากทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 100 บาท เงื่อนไขการเป็นสมาชิก ขาดจ่าย 3 ศพจะขาดจากการเป็นสมาชิก

          กองทุนเงินล้าน เป็นกองทุนจากรัฐบาลให้หมู่บ้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี ปันผลปีละ 1 ครั้ง เป็นเงินงบประมาณที่ส่งตรงถึงมือประชาชน เพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้เงินจำนวนมากที่รัฐบาลได้อัดฉีดไปได้ไปไหลหมุนเวียนอยู่ในระดับหมู่บ้านและชุมชน เป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประชาชนในการพัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้ในชุมชน ทำให้การพึ่งพาหนี้ลดลงได้                                            

         กลุ่มอสม. จำนวน 20 คน คอยดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชุม กลุ่ม อปพร. จัดตั้งขึ้นมาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เฉพาะกิจ           กลุ่มเงินออมสัจจะวันละบาท เป็นการออมทรัพย์อย่างต่อเนื่องทุกเดือน วันละ1บาท โดยกลุ่มเงินออมสัจจะวันละบาทมีหน้าที่ในการรับฝากและปล่อยกู้ได้จากดอกเบี้ย และ ตอบแทนสมาชิกในรูปเงินปันผลแบบรายปี

จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านสาวะถีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร 478 คน รองลงมาคือการเป็นลูกจ้างทำงานในบริษัทต่างๆ 395 คน อีกทั้งยังมีข้าราชการ 238 คน และมีผู้ว่างงาน 119 คน

เดือนมกราคม ประเพณี "บุญคูณลาน" หรือการสู่ขวัญข้าว ซึ่งเป็นการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน"

          เดือนกุมภาพันธ์ บุญข้าวจี่ชาวบ้านถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันทำบุญที่ชาวบ้านนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกตักใส่ครก ที่เรียกว่า ครกมอง ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ไข่ กะทิสด แล้วนำไปวางแป้นพิมพ์นำไปผึ่งให้แห้งแล้วนำไปปิ้งเรียกว่าข้าวโป่งแล้วนำไปถวายพระ

          เดือนมีนาคม บุญเดือนสี่ทำบุญมหาชาติหรือบุญผะเหวดหรือพระเวสสันดร ในช่วงเช้าจะมีการเทศน์และทำบุญตักบาตร มีการแห่ภาพพระเวทหรือพระเวสสันดรซึ่งเป็นการเล่าประวัติของพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบ

          เดือนเมษายน บุญเดือนห้าที่ดับความร้อนจากอากาศร้อนๆ ด้วยความเย็นของน้ำที่สาดกันทั่วทุกสารทิศ เทศกาลสงกรานต์ของ งานบุญสงกรานต์ เป็นงานบุญที่ถูกสืบทอดกันมาเรื่อย ๆแต่นานมาแล้ว สำหรับชาวบ้านสาวะถี จะเรียกประเพณีงานบุญสงกรานต์นี้ว่า ฮีตสิบสอง

          เดือนพฤษภาคม วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้

          เดือนมิถุนายน เดือนเจ็ด บุญซำฮะ จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม บุญซำฮะ คือ บุญซำระล้างสิ่งที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมือง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข จึงทำบุญชำระล้างสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่เป็นอัปมงคลให้หมดไป บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อทำบุญนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข

          เดือนกรกฎาคม งานบุญประเพณีเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้าและมีการแห่เทียนพรรษามีการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุและมีการจำวัดของผู้เฒ่าผู้แก่ในวัดตลอดช่วง 3 เดือนที่เข้าพรรษา และทุก ๆปีในตอนกลางวันจะมีการแข่งขันกีฬาร่วมกันเพื่อความสนุกสนานและสร้างความสามัคคี

          เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน เป็นงานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำเดือนเก้าหรือตรงกับเดือนสิงหาคมของทุก ๆปีทั้งนี้ในการทำบุญข้าวประดับดินนั้นชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารคาวหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่มาห่อด้วยใบตองและทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆเจดีย์หรือโบสถ์โดยการทำบุญข้าวประดับดินนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วรวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต และเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของที่หิวอดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วยเพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่

          เดือนกันยายน บุญข้าวสากเป็นบุญที่มีจุดประสงค์เพื่ออุทิศให้ญาติสนิทเช่นปู่ย่าตายายบิดามารดาสามีภรรยาพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้วและอาจอุทิศให้เปรตทั่วไปด้วย โดยมีเวลาห่างจากบุญข้าวประดับดินเพียง15วันซึ่งทั้งสองบุญนี้จะมีลักษณะคล้ายๆกันคือการห่อข้าวส่งให้เปรตจะทำสากหรือสลากมีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อผู้มีจิตศรัทธาบริจาคและความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใดโดยบอกชื่อผู้ที่จะมารับส่วนกุศลด้วย

          เดือนตุลาคม บุญออกพรรษาตักบาตรเทโว เป็นวันออกพรรษาวันปวารนาเป็นบุญที่ความสำคัญเพราะเชื่อว่าพระสงฆ์ได้อยู่จำพรรษาเป็นเวลาไตรมาส (3เดือน) ย่อมมีความบริสุทธิ์จริยธรรมงดงามจะมาซึ่งบุญและได้บุญมากชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดและฟังธรรมเทศนาและกลางคืนจะจุดประทีปเพื่อความสว่างไสวพร้อมมีการจุดปะทัดเสียงดังสนุกสนานหวั่นไหวด้วยโดยทำในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี

          เดือนพฤศจิกายน วันลอยกระทง ถือว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทยทุกคน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มักตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายนประเพณีลอยกระทง นี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อพระแม่คงคา

          เดือนธันวาคม บุญเข้ากรรม คือบุญที่ทำขึ้นในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นเดือนแรก ต้องประกอบพิธีบุญกันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ มีความเชื่อกันว่าเมื่อทำบุญกับพระที่ทำพิธีนี้จะทำให้ได้อานิสงส์มาก ญาติโยมจึงคิดวันทำบุญเข้ากรรมขึ้น บุญเข้ากรรมที่บอกว่าเป็นบุญสำหรับพระโดยตรงนั้นเพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิก) ซึ่งถือว่าเป็นครุกาบัติประเภทหนึ่ง ภิกษุเมื่อต้องอาบัตินี้แล้วจะต้องทำพิธีที่เรียกว่า วัฏฐานพิธีหรือพิธีเข้ากรรมตามที่ชาวพุทธทั่วไปรู้จักกัน

ชาวบ้านชุมชนบ้านสาวะถีมีการประกอบอาชีพรับจ้าง ข้าราชการ และค้าขายตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ทำนาหรือทำการเกษตรในบางช่วงของปี

นายคำใส อ่อนทุม อายุ 81 ปี เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2481 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 8 ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000 นับถือ ศาสนาพุทธ เชื่อในหลักธรรมคำสอนของศาสนา เข้าวัดทำบุญที่วัดทุกวันพระ และตักบาตรทุกเช้า เมื่อมีเวลาว่างมักสานกระติบข้าวเหนี่ยว หรือตะกร้าขาย เป็นหมอทำขวัญ (ปู่จ้ำ)ของบ้านสาวะถี หมู่ที่ 8 ผู้คนในหมู่บ้านให้ความเคารพ เชิญไปทำพิธีที่ศาลปู่สา-ย่าสี ในช่วงก่อนทำไร่นา และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกปี หรือเมื่อต้องการบนบานศาลกล่าว และต้องการแก้บนที่ศาลปู่สา-ย่าสี เมื่อ พ.ศ. 2555 ได้เป็นหมอทำขวัญให้หมู่บ้านสาวะถีหมู่ 8 ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้รับใบประกาศนียบัตรผู้รักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

ทุนวัฒนธรรม

          วัดไชยศรี เป็นสถานที่สำคัญทางโบราณคดีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อายุกว่า 100 ปี จุดเด่นของวัดไชยศรีคือ ฮูปแต้มซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนบ้านสาวะถี ภาพนั้นมาจากวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัย หรือ สินไซ เป็นวรรณกรรมของลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความโดดเด่น โดยชาวบ้านได้นำ

ฮูปแต้มมาพัฒนาทำเป็นศิลปะการแสดงที่น่าสนใจ 2 อย่าง ได้แก่ 1) การแสดงหมอลำหุ่นสินไซน้อยร้อยปี 2) การแสกงหนังประโมทัยหรือหนังบักตื้อ

          โนนเมืองเก่าหรือเมืองโบราณ เป็นสถานที่สำคัญทางโบราณคดีอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านสาวะถีอพยพมาอยู่เป็นครั้งแรก มีลักษณะเป็นเมืองโบราณที่มีเนินตรงกลางและมีคูน้ำล้อมรอบ นอกจากนี้ ในบริเวณโนนเมืองยังมีการขุดพบใบเสมาและถ้วยชามวัตถุโบราณจำนวนมาก

ประชนชนในชุมชนบ้านสาวะถี นิยมใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการสื่อสาร มีการใช้ภาษาอีสานสำเนียงลาวตะวันตกอยู่บ้างส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งภาษาไทยมาตรฐานนี้ปรกฏครั้งแรกใน พ.ศ. 1826 โดยพ่อขุนรามคำแหงและปรากฎอย่างสากลเพื่อใช้ในงานราชการเมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 ด้วยการก่อตั้งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาพขึ้น และปฏิรูปภาษาไทยในปี พ.ศ. 2485


การอพยพของประชากร แม้ว่าชุมชนบ้านสาวะถีจะเป็นชุมชนเมือง แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่อพยพไปอยู่ต่างถิ่นเพื่อไปทำงานหารายได้ เช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี การอพยพของประชากรนี้ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน และจากโครงสร้างครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย การอพยพออกของวัยทำงานทำให้มีเพียงผู้สูงอายุและบุตรหลานอาศัยอยู่ในครอบครัว บางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาความต่างระหว่างวัย เกิดความไม่เข้าใจกัน และอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมในอนาคตได้

          การเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมทันสมัย ในอดีตชาวบ้านในชุมชนบ้านสาวะถี นิยมทำการเกษตรเป็นหลัก ต่อมาเมื่อการศึกษาเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มผลักดันบุตรหลานให้เข้ารับการศึกษาและนิยมผลักดันให้รับราชการ ทำให้ผู้คนในชุมชนบ้านสาวะถีประกอบอาชีพข้าราชการมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

นอกจากนี้หมู่บ้านสาวะถียังมีสถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ ร้านขายของชำ ลานอเนกประสงค์ ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์และรถยนต์ หอกระจายข่าว อีกทั้งยังมีตู้ปั๊มน้ำมันแบบหัวจ่ายเติมเอง 1 ปั๊มและตู้กดน้ำดื่มสะอาดจำนวน 1 แห่ง

สารานุกรมเสรีไทย. (2566). ภาษาไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2566. เข้าถึงข้อมูลได้จาก :    https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาไทย

แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ. (2563). รู้จัก สินไซสาวะถีกับวิสาหกิจยั่งยืน จ.ขอนแก่น

          (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2566. เข้าถึงข้อมูลได้จาก :           http://www.artculture4health.com/Contents/view/1847