Advance search

หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

40210
บ้านหนองดินกี่
กุดกว้าง
หนองเรือ
ขอนแก่น
กันนิษฐา มาเห็ม
18 เม.ย. 2023
กันนิษฐา มาเห็ม
18 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
26 พ.ค. 2023
บ้านหนองดินกี่


ชุมชนชนบท

หนองเรือตระการ จักสารไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

บ้านหนองดินกี่
40210
กุดกว้าง
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
40210
40210
เทศบาลตำบลเทศบาลตำบลกุดกว้าง

สมัยก่อนที่หนองดินกี่ ทำเลหมู่บ้านมีดินลักษณะสีแดง มีการนำดินมาเผา นิยมเผาดินเป็นอิฐใช้สร้างกำแพง หรือสร้างบ้าน และได้สร้างวัดบ้านโนนทัน ต่อมาจึงเรียกว่าหมู่บ้านหนองดินกี่ เมื่อปี พ.ศ. 2487 นายนัน ฮดคำ ได้ย้ายมาจากบ้านโนนทัน หมู่ที่ 1 ตำบลโนนทัน ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่นาของตนเองในช่วงเวลาเดียวกัน บ้านแห่โนนเมืองระยะนั้นอยู่ในเขตปกครองของอำเภอภูเวียง ได้เกิดโรคระบาดหรือไข้ทรพิษทำให้ประชากรในหมู่บ้านเกิดความเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากจึงได้พากันอพยพหนีไปอยู่ตามที่ต่างๆ บางกลุ่มก็หนีข้ามลำน้ำเชิญเขตจังหวัดชัยภูมิ อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่กับนายนัน ฮดคำ ที่บ้านหนองดินกี่ ขณะนั้นยังอยู่ในการปกครองของบ้านกุดกว้าง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2524 ได้แยกการปกครองจากบ้านกุดกว้าง มาเป็นบ้านหนองดินกี่ หมู่ที่ 14 ตำบลกุดกว้าง และมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายจันโท นาเพีย ดำรงตำแหน่ง จนถึงปี พ.ศ. 2534 จึงเกษียณอายุ และได้มีการเลือกตั้งใหม่ นายประสาทชัย เหลาทำ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงเกษียณอายุ และได้มีการเลือกตั้งใหม่ได้นายประดิษฐ์ ศรีบุญ ได้รับการเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน

บ้านหนองดินกี่หมู่ที่ 14 อยู่ในเขตการปกครองของตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์โดยสารประจำทางโดยให้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมลิวัลย์ จากศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ไปทาทิศตะวันตกผ่านอำเภอหนองเรือ รวมระยะทาง 53 กิโลเมตร สามารถแวะเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ อุทยานไดโนเสาร์ภูเวียงและอุทยานแห่งชาติน้ำพอง

          อาณาเขตติดต่อ

          ทิศเหนือ          ติดต่อกับบ้านกอมอ 52 ตำบลกุดกว้าง

          ทิศใต้             ติดต่อติดต่อกับลำน้ำเชิญ

          ทิศตะวันออก      ติดต่อกับบ้านหนองกุง ตำบลกุดกว้าง

          ทิศตะวันตก       ติดต่อกับบ้านหนองแวง ตำบลกุดกว้าง

ลักษณะพื้นที่ทางกายภาพและสภาพภูมิอากาศ

          ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน  ร้อยละ 50 เป็นที่ราบสูง เหมาะสำหรับทำการเกษตร การเพาะปลูกและปลูกอ้อย ซึ่งสภาพอากาศภายในชุมชน มี 3 ฤดู ได้แก่

          1) ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี

          2) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี

          3) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากซึ่งจะเป็นอากาศแบบสุดขั้ว พบว่า บางปีหากแล้ง ปริมาณน้ำในการเกษตรจะไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ หรือใช้อุปโภคบริโภค ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการเกษตร

ทรัพยากรในชุมชน

          ในชุมชนบ้านหนองดินกี่ มีป่าชุมชนจำนวน 250 ไร่ ซึ่งมีไม้สะเดา ไม้ชาติ และป่าเบญจพรรณอื่นๆ อีกทั้งยังมีดินที่เป็นดินร่วนปนทรายและหินกรวด เหมาะสมแก่การทำการเกษตร และมีแหล่งน้ำ 2 แห่งใช้เป็นแหล่งในการทำการเกษตร

           สาธารณูปโภคในชุมชน

          ชุมชนบ้านหนองหนองดินกี่ หมู่ 14 อยู่ในเขตให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหนองเรือซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และพลังงานความร้อนในเขตอำเภอน้ำพอง ทำให้มีไฟฟ้าเพียงพอ ในส่วนของน้ำดื่ม ชาวบ้านในชุมชนส่วนมากดื่มน้ำถัง บางครัวเรือนจะมีเครื่องกรองน้ำไว้ใช้ในบ้าน และบางครัวเรือนรองน้ำฝนไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า ประชากรส่วนใหญ่หันมาซื้อน้ำบริโภคซึ่งเดิมแล้วเคยบริโภคน้ำฝน เพราะน้ำฝนไม่สะอาด รวมทั้งมีการปลูกไร่อ้อยและปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลอยู่ใกล้หมู่บ้าน การที่จะรองน้ำฝนไว้ดื่ม มีโอกาสที่สารเคมีจะปนเปื้อนอยู่กับน้ำได้ และอาจส่งผลให้เกิดการได้รับสารเคมีสะสมที่ปนเปื้อนมากับน้ำดื่มน้ำใช้ได้อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ส่วนน้ำประปามีการใช้น้ำประปาประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีเพียงพอต่อการใช้งานตลอดปี

จากการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2561 พบว่าประชากรทั้งหมดของบ้านหนองดินกี่ หมู่ 14 ต.กุดกว้าง .หนองเรือ จ.ขอนแก่น มีประชากรรวมทั้งหมด 224 คน เป็นเพศชาย 115 คน เพศหญิง 109 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 78 หลังคาเรือน สำหรับลักษณะโครงสร้างครอบครัวในชุมชนบ้านหนองดินกี่พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย มีสมาชิกหลายรุ่นอายุอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งจำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 2-3 คน/ครอบครัว

ผู้คนในชุมชนบ้านหนองดินกี่มีการรวมกลุ่มกันทั้งแบบเป้นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

          กลุ่มที่เป็นทางการ

          คณะกรรมการชุมชน ช่วยอำนวยความสะวกความเป็นธรรมและสร้างความสมานฉันท์ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน อีกทั้งยังคอยช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในชุมชน

          กลุ่มการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน เป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพเสริมให้กับแม่บ้านในชุมชน เช่น ทอเสื่อ  ทอผ้า  ปัจจุบันเลิกทำผลิตภัณฑ์ไปแล้ว แต่ยังมีการรวมกลุ่มกันอยู่อย่างเข้มแข็ง โดยสตรีหมู่บ้านสามารถยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้านได้ โดยมีการจ่ายดอกและกำหนดช่วงระยะเวลาในการส่งคืน และมีหน้าที่ในการจัดหาซื้อ รับ - เช่า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการจัดงาน  เช่น ถ้วย จาน  ช้อน เต็นท์  เป็นต้น สำรวจปัญหาความต้องการของสตรีในหมู่บ้านเสนอปัญหาและจัดแผนงานโครงการพัฒนาสตรี  เสนอแผนงาน โครงการ เพื่อบรรจุในแผนชุมชน

          กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการประหยัด การออมทรัพย์ และสามารถเบิกเงินกู้ให้แก่สมาชิก เพื่อนำไปใช้จ่ายเมื่อเกิดความจำเป็นได้ โดยยึดหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นการร่วมแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

          อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพชาวบ้านและพัฒนาหมู่บ้าน ช่วยประสานงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกับชาวบ้านในชุมชน และคอยเฝ้าระวังโรคระบาดในชุชน

          อาสาสมัครเกษตร ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในหมู่บ้าน และร่วมกับกรรมการหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้าน

          อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน รักษาความสงบในชุมชน

          กลุ่มการป้องกันและต่อต้านยาเสพต่อต้านยาเสพติดระดับหมู่บ้าน คอยดูแลป้องกันและปราบรามยาเสพติดในชุมชน

          กลุ่มอาสาสมัครปศุสัตว์ ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ระหว่างเกษตรกร และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และปฏิบัติงานตามแผนงาน และโครงการต่างๆ ของกรมปศุสัตว์ เช่น โครงการรณรงค์ป้องกันกำจัดโรคระบาดสัตว์ โครงการเฝ้าระวังโรค

          กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

          ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ที่ได้จากการหลอม ซึมซับ บ่มเพาะ ค้นคว้า โดยทดลองจากวิถีชีวิตด้านการเกษตรของตนเอง แล้วถ่ายทอดให้ผู้อื่นในชุมชนเพื่อให้ได้สืบสานต่อ ทั้งที่เป็นมรดกและทั้งที่เป็นสมบัติทางปัญญา

การประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองดินกี่ เนื่องจากพื้นที่รอบหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเกษตร ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบหลักเป็นเกษตรกร 79 คน และมีอาชีพเสริมเป็นการรับจ้างทั่วไปหรือทำการค้าขาย 74 คน เป็นแม่บ้าน 5 คน นักเรียน/นักศึกษา 37 คน และว่างงานอีก 17 คน

ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองดินกี่มีวิถีชีวิตด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ ตลอดทั้งปี ดังนี้

          บุญส่งท้าย ต้อนรับปีใหม่ ตักบาตรปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ อวยพรซึ่งกันและกัน ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่น จะกลับมาบ้านเพื่อมาหาญาติผู้ใหญ่ มาขอพรและร่วมรับประทานอาหาร สังสรรค์ร่วมกัน จะเรียกว่าบุญเดือนอ้าย

          บุญคูณลาน บุญที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ ในปัจจัยยังชีพของคน คือข้าวที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกหลานในการที่จะได้ข้าวมานั้นยากลำบากและถือว่าปีใดบุญลานมีข้าวเยอะแสดงว่าปีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ดีและเป็นการทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชาวบ้านและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลาย โดยการนำเอาข้าวที่นวดมากองขึ้นให้สูงขึ้นเรียกว่าคูณลาน

          บุญข้าวจี่ เป็นการนำเอาข้าวเหนียวที่ปั้นโรยเกลือทาไข่ไก่ แล้วจี่ไฟให้สุกเรียกว่าข้าวจี่ ซึ่งการทำบุญข้าวจี่ในเดือนสามเป็นช่วงที่ชาวนาหมดภาระในการทำนาแล้วข้าวขึ้นยุ้งฉางใหม่จึงอยากร่วมทำบุญถวายพระ

          บุญมหาชาติ เป็นบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรนิยมทำในเดือนสี่

          บุญสงกรานต์ บุญมหาสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ ของภาคอีสานกำหนดขึ้นในเดือนห้า มี3วัน ตั้งแต่13วันมหาสงกรานต์ 14 วันเนา 15 วันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

บุญบั้งไฟ มีความสำคัญต่อชาวอีสานมาก เพราะเชื่อว่าบุญประเพณีนี้จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนข้าวปลาอาหารพืชพรรณเจริญเติบโตงอกงามดีและนำมาซึ่งความสนุกสนาน เกิดความหวังในชีวิต เหมือนมีที่พึ่ง อยู่ใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีความเชื่อมาจากเรื่องพญาแถน(เทวดาชาวอีสาน)ที่ดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์จึงมีการทำบุญบูชาพระญาแถน และบูชามเหศักดิ์หลักเมืองทุกปี

บุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน เป็นบุญที่จัดขึ้นเพื่อทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ความเสนียดจัญไรภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่า บุญเบิกบ้าน หรือ บุญบ้านเป็นบุญที่แต่ละหมู่บ้านจะทำไม่ขาด เป็นบุญเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา ผีตาแฮก มเหศักดิ์หลักเมือง ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านชาวบ้านเชื่อว่าจะรวมผีบรรพบุรุษอยู่ด้วยที่ช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านเมืองมีความสุข โดยนิมนต์4-9 รูปมาเจริญพุทธมนต์ แล้วมีพิธีผูกข้อต่อแขนซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านที่ได้ฝ้ายจากการทำพิธีและมีการน้ำกรวดทรายหรือหินไปหว่านรอบๆหมู่บ้านหรือหลังคาบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการกันผีหรือสิ่งจัญไรเข้าหมู่บ้าน นอกจากพิธีเหล่านี้แล้วชาวบ้านก็จะเก็บสิ่งที่ไม่ดีออกจากบ้านตน เช่นของเก่า เสื้อผ้าขาด ก่องข้าว เพื่อให้บ้านเรือนตนสะอาด บริสุทธิ์

บุญเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการเตรียมเทียนเพื่อไปถวายวัด รวมทั้งเครื่องปัจจัยไททายต่างๆโดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง แม้ปัจจุบันจะเจริญแล้วแต่ยังรักษาฮีตเดิมโดยการนำเทียน ตะเกียงน้ำมัน ธูปเทียนไปถวายเช่นเดิม และการนำถวายผ้าอาบน้ำฝนเพื่อใช้อาบน้ำช่วงฤดูฝน

บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญสิ้นเดือนเก้า ที่เรียกอีกอย่างว่า บุญข้าวสาก นำอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่จัดใส่กระทงวางไว้บนพื้น ใต้ต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่มีความสำคัญต่อชาวอีสานเพราะเชื่อว่าเป็นบุญที่ต้องส่งส่วยให้กับผีฮักและผีบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ ทรัพย์สิน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่มีภัยร้ายใดๆมาเยือน

บุญข้าวสาก เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต โดยมีเวลาห่างจากบุญข้าวประดับดินเพียง 15วันเป็นเวลาที่เปรตต้องกลับไปอยู่ที่ของตน ซึ่งทั้งสองบุญนี้จะมีลักษณะคล้ายๆกันคือการห่อข้าวส่งให้เปรต รวมทั้งบรรพบุรุษญาติพี่น้องของผู้ทำบุญด้วยและเปรตไม่มีญาติด้วย

บุญออกพรรษา เป็นวันขึ้น 15ค่ำเดือน 11 เป็นวันออกพรรษา วันปวารนา เป็นบุญที่ความสำคัญเพราะเชื่อว่าพระสงฆ์ได้อยู่จำพรรษาเป็นเวลาไตรมาส (3เดือน)ย่อมมีความบริสุทธิ์ จริยธรรมงดงามจะมาซึ่งบุญและได้บุญมาก ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโวที่วัด และฟังธรรมเทศนาและกลางคืนจะจุดประทีปเพื่อความสว่างไสวพร้อมมีการจุดปะทัดเสียงดังสนุกสนานหวั่นไหวด้วย

บุญกฐิน กฐิน คือไม้สะดึง ที่ใช้สำหรับขึงผ้าเวลาจะเย็บผ้าจีวรพระในการเย็บให้สะดวกขึ้น จึงเป็นที่มาของผ้ากฐิน คือ ผ้าจีวร สบงหรือผ้านุ่งห่มที่จะนำไปถวายพระนั่นเองบุญกฐินจึงคือบุญที่ต้องนำเข้าไปถวายพระเป็นสำคัญ บุญกฐินเป็นบุญฮีตสุดท้ายของอีตเดือนสิบสองของชาวอีสานชาวอีสานจึงรู้ดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องนำจีวรไปถวายในช่วงนี้ซึ่งมีกาลเวลา ที่เรียกว่าเทศกาลกฐิน ที่กลายเป็นประเพณีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อชาว

จากปฏิทินชุมชนจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองดินกี่มีการปลูกผัก ค้าขาย และรับจ้างทั่วไปตลอดทั้งปี มีการเริ่มทำนาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน และมีการปลูกอ้อยในเดือนตุลาคม 

นายปิว ศรีบุญ เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2484 เกิดที่บ้านหว้า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น นายปิวเป็นบุตรคนที่ 5 จากทั้งหมด 7 คน เมื่ออายุ 8 ปี ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านเลขที่  1  หมู่ 14 ตำบลกุดกว้าง  อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นพร้อมกับบิดามารดา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนบ้านหว้า เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และไม่ได้เรียนต่อ ออกมาประกอบอาชีพทำนากับบิดามารดา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2505 อายุ 21 ปี ได้เกณฑ์ทหารและได้เป็นทหาร 2 ปี 10 เดือน ขณะเป็นทหารได้พบรักกับภรรยา และหลังออกจากทหาร อายุ 23 ปีได้แต่งงานกับแม่ด้วง ซึ่งอยู่บ้านหนองดินกี่ด้วยกันที่อยู่คุ้มน้อย มีบุตรธิดาร่วมกัน 4 คนได้แก่ 1. นางปรานี  ศรีพาน ปัจจุบันอายุ 56 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ที่ 14  ตำบลกุดกว้าง  อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งบ้านอยู่ติดกับพ่อตาปิว จนถึงปัจจุบัน

          หลังจากแต่งงานก็ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ทำนา และปลูกอ้อย อยู่บ้านกับภรรยา 2 คน เมื่อปี พ.ศ.2525 พ่อตาปิวได้เป็นอสม.และได้คัดเลือกเป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน และได้เป็นมัคนายกตั้งแต่ตั้งสำนักสงฆ์จนถึงปัจจุบัน และเมื่อปีพ.ศ.2530 ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พอหมดวาระก็ไม่ได้เป็นหรือลงสมัครต่ออีก ปัจจุบันอายุ 77 ปี สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งพ่อปิวเป็นผู้รู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นบุคคลสำคัญที่คนในหมู่บ้านเคารพนับถือ

ทุนกายภาพ

          ชุมชนบ้านหนองดินกี่มีพื้นที่ป่าถึง 250 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งประโยชน์ของชุมชน ทั้งใช้หาพืชผัก เห็ด ตามฤดูกาลเพื่อนำมาขายหรือนำมาประกอบอาหาร อีกทั้งยังมีดินที่อุดมสมบูรณ์กับแหล่งน้ำคือ หนองแปนและหนองดินกี่เหมาะแก่การเพาะปลูก

          ทุนสังคม

          องค์กรชุมชนต่างๆในบ้านหนองดินกี่มีการทำงานประสานกันเป็นอย่าดี ทั้งกรรมการหมู่บ้าน อสม. อปพร.และองค์กรต่างๆที่จัดตั้งขึ้น อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มที่ไม่เป็นทางการสำหรับให้ความรู้ทางการเกษตรแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ทำให้มีการถ่ายทอดให้ผู้อื่นในชุมชนเพื่อให้ได้สืบสานต่อ ทั้งที่เป็นมรดกและทั้งที่เป็นสมบัติทางปัญญา และจากการทำงานประสานกันอย่างดีขององค์กรชุมชนนี้ ทำให้บ้านหนองดินกี่มีการพัฒนา

ภาษาอีสานหรือภาษาลาวอีสานหรือภาษาไทยถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการพัฒนาในท้องถิ่นภาษาลาวในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองดินกี่ ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น นิยมใช้ภาษาอีสานและภาษากลางในการสื่อสารเชื่อเดียวกันกับหมู่บ้านอื่นๆในตำบล โดยมีสำเนียงการพูดภาษาอีสานเป็นแบบลาวตะวันตก (สำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน) และสำเนียงแบบลาวเวียงจันทน์


การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ ในอดีตชาวบ้านในชุมชนมีการปลูกเรือนเป็นบ้านไม้ยกสูง ต่อมาเกิดการปรับปรุงบ้าน และมีการสร้างบ้านโดยใช้ปูน บางบ้านนิยมใช้ปูนทำเป็นชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นไม้เช่นเดิม แต่บ้านบางหลังก็นิยมสร้างใหม่โดยไม่คงบ้านไม้ไว้ เหลือเพียงบ้านปูนชั้นล่างเพียงชั้นเดียว อีกทั้งยังมีการสร้างห้องน้ำในบ้านทุกหลัง ส้วมที่ใช้นิยมใช้เป็นส้วมซึม ในขณะที่บ้านบางหลังเปลี่ยนไปใช้ชักโครก

          ความท้าทายในการรับมือกับภัยแล้ง เนื่องจากบ้านหนองดินกี่มีแหล่งน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เพียง 2 แห่ง คือ หนองแปน และหนองดินกี่ เมื่อถึงฤดูร้อน ไม่มีฝน อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนเริ่มทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำให้น้ำเหือดแห้ง และไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรหรือใช้อุปโภค บริโภค ซึ่งชาวบ้านมีการแก้ปัญหาโดยการรองน้ำไว้ใช้ในโอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพยายามเลื่อนการเริ่มทำเกษตรให้ช้าออกไปรอต้นฤดูฝน เพื่อรอน้ำจากฤดูฝนที่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม

นอกจากนี้ชุมชนบ้านหนองดินกี่ยังมีสถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ วัดอรุณสว่าง ร้านค้าของชำ ร้านซ่อมรถยนต์ และโรงสีข้าว ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในชุมชน

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.) คู่มือการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐานปี (2560-2564). หน้า 3-4

Natchaphon B. (2565). สำเนียงลาวในภาษาอีสานไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2566.

          เข้าถึงได้จาก : https://www.sanook.com/campus/1409663/