Advance search

เป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ริมเขื่อนและใกล้ทางรถไฟของจังหวัดยะลา

เมืองทอง
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
มูฮำหมัดอาลี ซง
16 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
20 พ.ค. 2023
มูฮำหมัดอาลี ซง
26 พ.ค. 2023
เมืองทอง

เป็นชุมชนที่ตั้งชื่อมาจากหมู่บ้านจัดสรร หมู่บ้านเมืองทองยะลา


เป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ริมเขื่อนและใกล้ทางรถไฟของจังหวัดยะลา

เมืองทอง
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.55359334
101.2979271
เทศบาลนคร

ชุมชนเมืองทองมีพื้นที่ประมาณ 42,991.39 ตารางเมตร เป็นชุมชนที่ตั้งชื่อมาจากหมู่บ้านจัดสรร ชื่อหมู่บ้านเมืองทองยะลาเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันมานานในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน  เพราะเป็นชุมชนที่ห่างไกลจากชุมชนอื่น บ้านทุกหลังจะช่วยกันสละเงินหลังละ30บาท/เดือน เพื่อจ้างยามรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน แม้ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแต่ก็ยังคงมีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมตลอดมา เช่น กิจกรรมทำบุญปีใหม่ กิจกรรมทำบุญหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดทุกปี

ชุมชนเมืองทอง ตั้งอยู่ในเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ห่างจากเทศบาลนครยะลา 3.4 กิโลเมตร เดินทางไปทางทิศตะวันตก ไปยังถนนหมายเลข 410 ระยะทาง 300 เมตร ออกจากวงเวียน ไปสู่ถนนพิพิธภักดี 750 เมตร เมื่อถึงวงเวียน ใช้ทางออกที่ 3 400 เมตร เลี้ยวซ้าย ไป ถนนเทศบาล 3  เลี้ยวขวา 550 เมตร เลี้ยวซ้าย 300 เมตร เลี้ยวขวา 87 เมตร ถึง ชุมชนเมืองทอง

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ         ติดต่อกับ    ชุมชนวัดยะลาธรรมาราม
  • ทิศใต้            ติดต่อกับ    หมู่ที่ 4 ตำบลสะเตงนอก
  • ทิศตะวันออก     ติดต่อกับ    หมู่ที่ 4 ตำบลสะเตงนอก   
  • ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ     ชุมชนธนวิถี

สภาพพื้นที่กายภาพ

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนเมืองทองเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ริมเขื่อนและใกล้ทางรถไฟ ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีน้ำหนุนขึ้นมาจากเขื่อน ส่งผลทำให้น้ำท่วมขังบนพื้นถนนของชุมชน นอกจากนั้นการที่ชุมชนอยู่บริเวณทางรถไฟ และ มีโรงงานใกล้เคียง ส่งผลทำให้เกิดเสียงรบกวนจากโรงงานยาสูบ และรถที่ขึ้นสะพาน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนเมืองทอง คือ 101 ครัวเรือน มีประชากรรวมทั้งหมด 298 คน แบ่งประชากรชาย 137 คน หญิง 161 คน ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว การนับถือศาสนามีความปะปนกัน ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม

กลุ่มแม่บ้านสตรี เป็นการรวมตัวของแม่บ้านในชุมชนโดยมีนางยินดี พรหมยาน เป็นประธานกลุ่มแม่บ้านสตรี จัดตั้งขึ้นเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม เช่น อาชีพการทำขนม หรือการทำอาหารพื้นบ้าน การรับจ้าง ซัก อบ รีดผ้า เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 

ด้านการบริหารชุมชน

  1. นายพิพัฒน์ อารีบาบัด    ประธานชุมชน
  2. นายประวิง บรรจงเมือง   รองประธานชุมชน

ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

          วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

เดือนมกราคม ประเพณีตักบาตรปีใหม่ (กิจกรรมทำบุญตักบาตร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่) ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ผู้คนในชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป เป็นต้น

เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เดือนเมษายน ประเพณีสงกรานต์ (กิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่) ชุมชนเมืองทองจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ซึ่งประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีและมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการสานสัมพันธ์และใช้เวลาร่วมกันระหว่างบุคคลในครอบครัวและชุมชน เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรม ประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น

เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา  เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ถนนคนเดินขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคํญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย

เดือนกันยายน- ตุลาคม ประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีบุญที่สำคัญของผู้คนในภาคใต้จัดขึ้นช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ของทุกปี หรือที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความเชื่อว่าบรรดาดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับจะกลับมาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันสารทเล็ก ซึ่งบรรดาลูกหลานจะเตรียมขนมมาเลี้ยงเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ และฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน " ส่งเปรต " กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีชิงเปรต  คือ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้กลายเป็นเปรต

วิธีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพ ด้วยวิถีชีวิตชุมชนเมืองซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจะประกอบอาชีพ ได้แก่รับราชการ ตามด้วยอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ และอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นวิถีชีวิตชุมชนเมือง ดังนั้นสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่จะมีรายได้ดี 

นายพิพัฒน์ อารีบาบัด ผู้นำชุมชนเมืองทองคนปัจจุบันซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเมืองน่าอยู่ ประเพณีและวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

 ศาสนสถาน หรือ มัสยิด ในชุมชนมีมัสยิด 1 แห่ง ซึ่งมัสยิดนับเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุสลิมที่ชาวมุสลิมในแต่ละชุมชนจะสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมต่าง ๆทางศาสนา อาทิ การละหมาด การวิงวอนต่อพระเจ้า และอื่นๆ นอกจากนี้มัสยิดในชุมชนยังเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน และศาสนา สถานที่พบปะ ประชุม ทำบุญเลี้ยง และสถานที่ทำพิธีสมรสอีกด้วย

อาหาร ได้แก่ ข้าวต้มมัด เป็นขนมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยข้าวเหนียวผัดกับกะทิ ใส่ถั่วขาวหรือดำ แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง และมัดด้วยเชือก ซึ่งถือเป็นขนมชนิดหนึ่งที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ วันฮารีรายอ เทศกาลออกพรรษา เป็นต้น                                             


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้นประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากขึ้น และประชากรในชุมชนความหลากหลายทางสังคม และอาชีพ แต่ในขณะเดียวกัน การที่สมาชิกในชุมชนมีรายได้ดี และรายได้มั่นคง จากการประกอบอาชีพรับราชการที่ต้องทำงานประจำ ส่งผลทำให้สมาชิกในชุมชนมีความร่วมมือน้อย

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนเมืองทองเผชิญกับความท้าทาย ดังนี้

1. ด้านระบบสาธารรูปโภค อาทิ น้ำประปาไม่ใสสะอาด การเดินสายไฟ สายโทรศัพท์ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย

2. การเลี้ยงสุนัขในหมู่บ้านมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความรำคาญ

3. พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เกิดน้ำท่วมทุกปี

4. มีผลกระทบทางด้านเสียงรบกวนจากโรงงานยาสูบ และรถขึ้นสะพาน

4. มีป้อมตำรวจอยู่หน้าหมู่บ้าน ทำให้การจราจรติดขัด

อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และ

หน่วยงานอื่นๆ เพื่อลงมาติดตาม และแก้ไข้ปัญหาดังกล่าว

ด้านการมีส่วนร่วม ความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนเป็นอย่างดี

ในชุมชนมีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ได้แก่ สวนริมเขื่อน

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

นายพิพัฒน์ อารีบาบัด. (3 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)