เป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่ และมีบ้านพักอาศัยอยู่หลังโรงเรียนจีน (โรงเรียนยะลาบำรุง)
ชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนและมีศาลเจ้าภายในชุมชน
ชุมชนหลังโรงเรียนจีน เป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันมานานกว่า 70 ปี ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ ภายหลังเกิดข้อพิพาทต่อกรมธนารักษ์ จนกลายเป็นที่ราชพัสดุไปในที่สุด โดยเริ่มแรกมีครัวเรือนประมาณ 20 ครัวเรือน ประกอบด้วย เชื้อสายจีนแคะ และจีนแต้จิ๋ว ประกอบอาชีพ รับจ้างทั่วไป และค้าขาย สาเหตุที่ตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า “ชุมชนหลังโรงเรียนจีน” เนื่องจากคนในชุมชนมีบ้านพัก อาศัยอยู่ หลังโรงเรียนยะลาบำรุง (โรงเรียนจีน) มาแต่ก่อนจึงต้องการให้เป็นความทรงจำและเอกลักษณ์ของชุมชน โดยมี นายไพบูลย์ เอกวงษ์ตระกูล เป็นประธานชุมชนคนแรกในปี 2535
ที่ทำาการชุมชนตั้งอยู่หมู่ที่15 ถนน 5 ธันวา ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยนายกรวิพล อัครวงศาพัฒน์ เป็นประธานชุมชนคนปัจจุบัน
ชุมชนหลังโรงเรียนจีน ตั้งอยู่ถนน 5 ธันวา ห่างจากเทศบาลนครยะลา ไปทางทิศใต้ ไปยังถนนพิพิธภักดี ประมาณ 87 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถนนพิพิธภักดี ประมาณ 62 เมตร เมื่อถึงวนเวียน ใช้ทางออกที่ 3 ระยะทาง 400 เมตร เลี้ยวซ้ายที่ถนน เทศบาล 3 ประมาณ 1.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวา ประมาณ 140 เมตร เลี้ยวซ้าย ถึงชุมชนหลังโรงเรียนจีน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ โรงเรียนยะลาบํารุงผดุงประชา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนธนวิถี2
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทางเดินรถไฟ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ โรงเรียนเทศบาล 4
สภาพพื้นที่กายภาพ
ชุมชนหลังโรงเรียนจีนเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กในเขตเทศบาลนครยะลา ภายในชุมชนจะประกอบไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้าและศาลเจ้า 2 แห่ง และชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ลักษณะเป็นชุมชนเมือง ที่ประกอบด้วยบ้านเรือน อาคารพาณิชยต่างๆ
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนหลังโรงเรียนจีน จำนวน 98 ครัวเรือนเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 268 คน แบ่งประชากรชาย 126 คน หญิง 142 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายสายจีน ในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ชมรมแอโรบิค เป็นการรวมตัวของสมาชิกในชุมชนในยามว่าง ออกมาการออกกำลังกายร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกในชุมชนรู้สึกผ่อนคลาย สบายกาย สบายใจ สุขภาพดี และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ
ด้านการบริหารชุมชน
- นายสมพร หนูชู ประธานชุมชน
- นายกรวิมล อัครวงศาพัฒน รองประธานชุมชน
ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีตรุษจีน เป็นเทศกาลปีใหม่จีนตามปฎิทินจีนและเป็นวันสำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน นอกจากการไหว้เจ้าแล้วสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลตรุษจีน คือการเตรียมทำความสะอาดบ้าน ทาสีบ้านใหม่ ตัดผม หาเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส ประดับโคมไฟสีแดง และตุ้ยเหลียน (ป้ายคำอวยพรความหมายมงคล) ไว้หน้าบ้าน รวมถึงเตรียมซองอั่งเปาสำหรับมอบให้กับเด็กๆ ที่มาอวยพรให้ผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง
เดือน เมษายน ประเพณีเช้งเม้ง เป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เทศกาล "เช็งเม้ง" คือ วันที่ 5 เม.ย.ของทุกปี และช่วงเวลาในเทศกาลเช็งเม้งมี 7 วัน โดยก่อนวันพิธีจะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ หลังจากนั้นในวันพิธีจะมีการเซ่นไหว้อาหารหวานคาวที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งอาหารให้ทุกปี
เดือนเมษายน ประเพณีวันสงกรานต์จัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล มีการอัญเชิญพระพุทธรูปแห่แหนไปรอบๆหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้สรงน้ำกันอย่างทั่วถึง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน
เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ”ถนนคนเดิน” ขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย
เดือนกันยายน หรือ ตุลาคม ประเพณีถือศีลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการทำบุญใหญ่ตามความเชื่อของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมาช้านาน ถือกันว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการงดการรับประทานเนื้อสัตว์ งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น จึงเน้นแต่การกินผัก คนที่กินเจจะต้องกินอาหารที่ปรุงขึ้นโดยไม่มีเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เช่น นม ไข่ น้ำผึ้ง น้ำปลา เจลาติน และคอลลาเจน เป็นต้น รวมทั้งไม่ปรุงด้วยผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม หอม และกุยช่าย เป็นต้น
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ
บุคคลสำคัญของชุมชน ได้แก่ นายวุฒิไกร เด่นปรีชาวงศ และนายธนวิทธ์ ตระกูลพานิชย์กิจ ที่ปรึกษาชุมชน
ในชุมชนมีศาลเจ้าแม่กวนอิม และศาลแป๊ะกง ที่สามารถเป็นที่ท่องเที่ยว และที่สักการะ ทำให้เป็นรายได้ของชุมชน ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
แหล่งท่องเที่ยว ศาลเจ้า 2 แห่ง คือ ศาลเจ้าแม่กวนอิน และศาลเจ้าแป๊ะกง
สถานศึกษา โรงเรียนยะลาบำรุงผดุงประชา และโรงเรียนเทศบาล 4
ผู้คนในชุมชนจะสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาไทยเป็นหลัก
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้นประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากขึ้น
วัฒนธรรมของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีการมีส่วนร่วมด้านกีฬา มีชมรมแอโรบิค คนในชุมชนมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี รักใคร่ กลมเกลียว ความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนเป็นอย่างดี
ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนเผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และอื่นๆ ได้เข้ามารับฟัง ติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ด้านการมีส่วนร่วม ความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนเป็นอย่างดี
ในชุมชนมีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนจากพื้นที่อื่นๆมาไหว้สักการะบูชาศาลเจ้า 2 แห่ง คือ ศาลเจ้าแม่กวนอิน และศาลเจ้าแป๊ะกง
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
นายสมพร หนูชู. (1 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)