นำชื่อวัดเป็นชื่อชุมชน เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่รอบๆวัดยะลาธรรมาราม
วัดยะลาธรรมาราม และตลาดนัดเปิดท้าย (อังคาร/พฤหัสบดี/เสาร์)
ชุมชนวัดยะลาธรรมาราม เป็นชุมชนดั้งเดิมและเป็นชุมชนขนาดเล็ก ประชาชนส่วนใหญ่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะประชาชนมีความร่วมมือในการทํากิจกรรมภายในชุมชนกันเป็นอย่างดี โดยได้จัดตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 ปัจจุบันชุมชนวัดยะลาธรรมาราม ตั้งอยู่ เลขที่ 41 ตําบลสะเตง อําเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 83,748 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริเวณถนนวิฑูรอุทิศ 10 และถนนวิฑูรอุทิศ 10 ซอยสุดสงวน
ชุมชนวัดยะลาธรรมารามเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีพื้นที่ประมาณ 83,748 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริเวณถนนวิฑูรอุทิศ 10 และถนนวิฑูรอุทิศ 10 ซอยสุดสงวน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนรถไฟ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนรถไฟ วิฑูรอุทิศ 12
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนวิฑูรอุทิศ 10
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนวิฑูรอุทิศ 10 และ ซอยมูฮัมหมัดอุทิศ
สภาพพื้นที่กายภาพ
ชุมชนวัดยะลาธรรมารามเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีพื้นที่ประมาณ 83,748 ตารางเมตร ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี นอกเหนือจากนั้น ภายในชุมชนมีตลาดนัด ติดถนนใหญ่และถนนรถไฟ ทำให้ประสบกับปัญหาขยะ และเสียงรบกวนจากรถที่สัญจรไปมาทั้งวัน
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนวัดยะลาธรรมาราม จำนวน 68 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 368 คน แบ่งประชากรชาย 190 คน หญิง 178 คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
องค์กรผู้สูงอายุชุมชนและพัฒนาสตรี เป็นการรวมตัวของผู้สูงอายุและสตรีในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพผู้สูงอายุและสตรีในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีนางแต๋ว แก้วมาก เป็นกรรมการฝ่ายสตรี และนายโผม แก้วเกษตร เป็นกรรมการฝ่ายสวัสดิการสังคม
ด้านการบริหารชุมชน
- นายเจริญ จันวัฒน์ ประธานชุมชน
- นายรำพึง ดวงสุวรรณ รองประธานชุมชน
ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
เดือนมกราคม ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ผู้คนในชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลัง และรักษkประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป
เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เดือนเมษายน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุวันสงกรานต์ ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน
เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ”ถนนคนเดิน” ขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย
เดือนกันยายน- ตุลาคม ประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีบุญที่สำคัญของผู้คนในภาคใต้จัดขึ้นช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ของทุกปี หรือที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความเชื่อว่าบรรดาดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับจะกลับมาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันสารทเล็ก ซึ่งบรรดาลูกหลานจะเตรียมขนมมาเลี้ยงเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ และฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน " ส่งเปรต " กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีชิงเปรต คือ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้กลายเป็นเปรต
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพ ค้าขาย รับราชการ และรับจ้าง เนื่องจากเป็นวิถีชุมชนเมือง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขายและรับราชการ จึงทำให้มีรายได้ค่อนข้างดี และมีฐานะทางเศรษฐกิจดี
นายเจริญ จันวัฒน์ ประธานชุมชนคนปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และมีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ที่นำความเจนริญสู่ชุมชน
ด้านการศึกษา ชุมชนมีสถานศึกษาสำหรับเด็กเล็ก ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งผู้เรียนจะเป็นลูกหลานของสมาชิกในชุมชน นอกจากนั้นชุมชนยังมีที่อ่านหนังสือชุมชนสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจอ่านหนังสือประเภทต่างๆ
ภายในชุมชนมีวัดยะลาธรรมาราม สามารถเป็นที่ท่องเที่ยว และที่สักการะบูชา นอกเหนือจากนั้นยังมีตลาดนัดเปิดท้าย (ตลาดนัดเสื้อผ้า-สิ่งของมือสอง) ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อสิ่งของมือสอง ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การสร้างบ้านเรือนและบ้านเช่าที่มีความทันสมัยมากขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก เนื่องจากสมาชิกในชุมชนมีรายได้ค่อนข้างดีจากการค้าขาย และมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ด้านความท้าทายของชุมชน ดังนี้
1. ชุมชนประสบปัญหาน้ำขังและน้ำท่วม เนื่องจากชุมชนเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี
2. ปัญหายาเสพติดยังเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน
3. เยาวชนในชุมชนคนหนุ่มสาวออกไปท างานต่างจังหวัด
4. ขาดการจัดระเบียบบ้านเช่า
5. เยาวชนในชุมชนขาดการศึกษา
อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และอื่นๆ ได้เข้ามาดูแล ติดตาม และแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และอาจมีบางที่มีความเห็นที่แตกต่างของสมาชิกในชุมชน
ในชุมชนวัดยะลาธรรมาราม มีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ วัดยะลาธรรมาราม และตลาดนัดเปิดท้าย (ตลาดนัดเสื้อผ้า-สิ่งของมือสอง)
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (๒๕๖๔). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (๒๕๖๕). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา