ชุมชนเข้มแข็ง มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรเพียงพอ มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ ได้รับสวัสดิการครบครัน คนมีคุณภาพชีวิตดี ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง
ชุมชนเข้มแข็ง มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรเพียงพอ มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ ได้รับสวัสดิการครบครัน คนมีคุณภาพชีวิตดี ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2445 มีนายหมอก นายน้อย นายทา นายหลง และนายจันทร์ลา เป็นคนพื้นเพ บ้าน ข่า - เชียงพิณ ตำบล สามสวน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เข้ามาตัดไม้ไปทำอุปกรณ์ไถนา เมื่อมาเห็นสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า มีคลองน้ำ ซึ่งน้ำไหลผ่านตลอด ก็เลยทำการเสี่ยงทายว่าหมู่บ้านนี้เหมาะที่จะทำเป็นหมู่บ้านได้อีกหรือไม่ แล้วก็ทำการเสี่ยงทายปรากฏว่าสามารถปลูกบ้านตรงนี้ได้ จึงพากันย้ายเข้ามาอยู่ ต่อมาได้พบต้นไม้ใหญ่ที่มีชื่อว่าต้นขนวนเป็นต้นไม้ใหญ่ซึ่งอยู่ริมตลิ่ง ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านขนวน” ซึ่งในขณะนั้นหมู่บ้านขนวนแห่งนี้เป็นเขตปกครองทางราชการของ ตำบล โนนทัน อำเภอภูเวียง จังหวัด ขอนแก่น เมื่อประชากรเริ่มเยอะขึ้น จึงได้จัดตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา ชื่อ นายน้อย แก้วแก่น และได้มีการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาเรื่อยมา ดังต่อไปนี้
1.นายน้อย แก้วแก่น ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 1
2.นายแสงคำ ขาวหนู ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2
3.นายมี คลังคำภา ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3
4.นายหลอด ทีดี ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4
บ้านขนวน หมู่ที่ 3 อยู่ในเขตการปกครองของตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ห่างจากอำเภอหนองเรือ ประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 52 กิโลเมตร พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน บ้านขนวนมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,529 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 79 ไร่ วัด 6 ไร่ ป่าช้า 50 ไร่ สาธารณะ 397 ไร่ พื้นที่ทำนาและการเกษตร 950 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 50 ไร่ พื้นที่ทำสวน 56 ไร่ และมีป่าชุมชน 3 แห่ง 332 ไร่ อาณาเขตที่ตั้ง ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านโคกสูง หมู่ที่ 2 ตำบลกุดกว้าง ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านแท่น ตำบลบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านขนวนนคร หมู่ที่ 17 ตำบลกุดกว้าง ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านกุดกว้าง หมู่ที่ 4 ตำบลกุดกว้าง ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำเชิญ ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียว เหมาะสำหรับทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ลักษณะภูมิอากาศมี 3 ฤดู ดังนี้ ฤดูร้อน อากาศจะร้อนมาก มีฝุ่นละอองจากการเผาไหม้อ้อย จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด เป็นต้น ฤดูฝน ฝนตกตามฤดูกาล มีแหล่งน้ำสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ในชุมชนมีท่อระบายน้ำที่สะดวก ไม่มีแหล่งน้ำขังในชุมชน แต่จะมีการท่วมพื้นที่การเกษตร ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นในตอนกลางคืน และอากาศร้อนในช่วงกลางวัน มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หอบหืด เป็นต้น
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนและประชากรของบ้านขนวน จำนวน 105 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 429 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 187 คน หญิง 242 คน (เมษายน 2566)
1.บุญส่งท้าย ต้อนรับปีใหม่ ตักบาตรปีใหม่
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ อวยพรซึ่งกันและกัน ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่น จะกลับมาบ้านเพื่อมาหาญาติผู้ใหญ่ มาขอพรและร่วมรับประทานอาหาร สังสรรค์ร่วมกัน จะเรียกว่าบุญเดือนอ้าย
2.บุญคูนลาน
บุญที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ ในปัจจัยยังชีพของคน คือข้าวที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกหลานในการที่จะได้ข้าวมานั้นยากลำบากและถือว่าปีใดบุญลานมีข้าวเยอะแสดงว่าปีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ดีและเป็นการทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชาวบ้านและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลาย โดยการนำเอาข้าวที่นวดมากองขึ้นให้สูงขึ้นเรียกว่าคูณลาน จะเรียกว่าบุญเดือนยี่
3.บุญข้าวจี่
เป็นการนำเอาข้าวเหนียวที่ปั้นโรยเกลือทาไข่ไก่ แล้วจี่ไฟให้สุกเรียกว่าข้าวจี่ ซึ่งการทำบุญข้าวจี่ในเดือนสามเป็นช่วงที่ชาวนาหมดภาระในการทำนาแล้วข้าวขึ้นยุ้งฉางใหม่จึงอยากร่วมทำบุญถวายพระ
4.บุญมหาชาติ
เป็นบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรนิยมทำในเดือนสี่
5.บุญสงกรานต์
บุญมหาสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ ของภาคอีสานกำหนดขึ้นในเดือนห้า มี3วัน ตั้งแต่13วันมหาสงกรานต์ 14 วันเนา 15 วันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
6.บุญบั้งไฟ / บุญบวช / บุญงานแต่ง
บุญบั้งไฟมีความสำคัญต่อชาวอีสานมาก เพราะเชื่อว่าบุญประเพณีนี้จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนข้าวปลาอาหารพืชพรรณเจริญเติบโตงอกงามดีและนำมาซึ่งความสนุกสนาน เกิดความหวังในชีวิต เหมือนมีที่พึ่ง อยู่ใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีความเชื่อมาจากเรื่องพญาแถน(เทวดาชาวอีสาน)ที่ดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์จึงมีการทำบุญบูชาพระญาแถน และบูชามเหศักดิ์หลักเมืองทุกปี
7.บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ
เป็นบุญที่จัดขึ้นเพื่อทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ความเสนียดจัญไรภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่า บุญเบิกบ้าน หรือ บุญบ้านเป็นบุญที่แต่ละหมู่บ้านจะทำไม่ขาด เป็นบุญเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา ผีตาแฮก มเหศักดิ์หลักเมือง ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านชาวบ้านเชื่อว่าจะรวมผีบรรพบุรุษอยู่ด้วยที่ช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านเมืองมีความสุข ซึ่งบุญนี้จะเป็นการทำบุญตักบาตรในหมู่บ้านและมีการขึงด้ายไปทั่วทุกหลังคาเรือน โดยนิมนต์4-9 รูปมาเจริญพุทธมนต์ แล้วมีพิธีผูกข้อต่อแขนซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านที่ได้ฝ้ายจากการทำพิธีและมีการน้ำกรวดทรายหรือหินไปหว่านรอบๆหมู่บ้านหรือหลังคาบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการกันผีหรือสิ่งจัญไรเข้าหมู่บ้าน นอกจากพิธีเหล่านี้แล้วชาวบ้านก็จะเก็บสิ่งที่ไม่ดีออกจากบ้านตน เช่นของเก่า เสื้อผ้าขาด ก่องข้าว เพื่อให้บ้านเรือนตนสะอาด บริสุทธิ์
8.บุญเข้าพรรษา
การที่พระสงฆ์อยู่ประจำอาวาสแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝนเรียกว่าพรรษา โดยปกติกำหนดเอาแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการเตรียมเทียนเพื่อไปถวายวัด รวมทั้งเครื่องปัจจัยไททายต่างๆโดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง แม้ปัจจุบันจะเจริญแล้วแต่ยังรักษาฮีตเดิมโดยการนำเทียน ตระเกียงน้ำมัน ธูปเทียนไปถวายเช่นเดิม และการนำถวายผ้าอาบน้ำฝนเพื่อใช้อาบน้ำช่วงฤดูฝน
9.บุญข้าวประดับดิน
เป็นบุญสิ้นเดือนเก้า ที่เรียกอีกอย่างว่า บุญข้าวสาก นำอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่จัดใส่กระทงวางไว้บนพื้น ใต้ต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่มีความสำคัญต่อชาวอีสานเพราะเชื่อว่าเป็นบุญที่ต้องส่งส่วยให้กับผีฮักและผีบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ ทรัพย์สิน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่มีภัยร้ายใดๆมาเยือน
10.บุญข้าวสาก
เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต โดยมีเวลาห่างจากบุญข้าวประดับดินเพียง 15วันเป็นเวลาที่เปรตต้องกลับไปอยู่ที่ของตน ซึ่งทั้งสองบุญนี้จะมีลักษณะคล้ายๆกันคือการห่อข้าวส่งให้เปรต รวมทั้งบรรพบุรุษญาติพี่น้องของผู้ทำบุญด้วยและเปรตไม่มีญาติด้วย
11.บุญออกพรรษา ตักบาตรเทโว
เป็นวันขึ้น 15ค่ำเดือน 11 เป็นวันออกพรรษา วันปวารนา เป็นบุญที่ความสำคัญเพราะเชื่อว่าพระสงฆ์ได้อยู่จำพรรษาเป็นเวลาไตรมาส (3เดือน)ย่อมมีความบริสุทธิ์ จริยธรรมงดงามจะมาซึ่งบุญและได้บุญมาก ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโวที่วัด และฟังธรรมเทศนาและกลางคืนจะจุดประทีปเพื่อความสว่างไสวพร้อมมีการจุดปะทัดเสียงดังสนุกสนานหวั่นไหวด้วย
12.บุญกฐิน
กฐิน คือไม้สะดึง ที่ใช้สำหรับขึงผ้าเวลาจะเย็บผ้าจีวรพระในการเย็บให้สะดวกขึ้น จึงเป็นที่มาของผ้ากฐิน คือ ผ้าจีวร สบงหรือผ้านุ่งห่มที่จะนำไปถวายพระนั่นเองบุญกฐินจึงคือบุญที่ต้องนำเข้าไปถวายพระเป็นสำคัญ บุญกฐินเป็นบุญฮีตสุดท้ายของอีตเดือนสิบสองของชาวอีสานชาวอีสานจึงรู้ดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องนำจีวรไปถวายในช่วงนี้ซึ่งมีกาลเวลา ที่เรียกว่าเทศกาลกฐิน ที่กลายเป็นประเพณีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อชาวอีสานมากที่ถือว่าเป็นให้อานิสงส์แก่ผู้ทำบุญอย่างมากเพราะจะได้ถวายจีวรให้แก่ภิกษุที่ครบไตรมาส
นางสมบัติ โอดพิมพ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2511 อายุ 51 ปี เกิดที่บ้านขนวน ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรคนที่ 1 มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ้านขนวนนคร เมื่อ พ.ศ. 2523 และศึกษาต่อการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) จนจบมัธยมปลาย นางสมบัติแต่งงานกับนายเตียง โอดพิมพ์ มีบุตร 2 คน ชื่อนางพรประภา และนายธีรศักดิ์ นายสมบัติเป็นคนที่มีจิตอาสาและมีความเป็นผู้นำสูงมาก นายสมบัติได้กล่าวไว้ว่า “รักหมู่บ้านนี้ อยากเห็นคนในหมู่บ้านมีงานทำ มีรายได้พอเพียงกับการดำรงชีวิต มีสุขภาพกายสุขภาพจิตดี และอยากจะนำพาชาวบ้านช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้ดียิ่งๆขึ้นไป” แม่สมบัติดำรงตำแหน่ง เป็นประธานอาสาสมัครตั้งแต่ปี 2548, เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2558, เป็นหัวหน้ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีบ้านขนวน และระดับตำบลกุดกว้าง เป็นอาสาสมัครตำรวจประจำหมู่บ้าน, เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านตำแหน่งเหรัญญิก , เป็นกรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนบ้านขนวนนคร และนางสมบัติยังเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น เป็นแกนนำคณะผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นไม้พยูงไว้ในที่สาธารณะ เป็นแกนนำในการขอโครงการซื้อข้าว ซื้อปุ๋ย ซื้อโต๊ะ เต็นท์ เก้าอี้ เครื่องครัว เพื่อใช้ส่วนรวมในชุมชน และเป็นแกนนำในการขอโครงการประชารัฐทำถนนคอนกรีต นางสมบัติเป็นบุคคลต้นแบบในด้านความมีจิตอาสาและภาวะผู้นำ ช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านางสมบัติเป็นผู้นำในหลายๆด้านเพราะอยากเห็นชุมชนพัฒนา คนในชุมชนมีความสุข และอีกเป้าหมายที่สำคัญของแม่สมบัติคือหากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีอยากเป็นผู้ใหญ่บ้านคนต่อไป
วัด มีวัดในหมู่บ้าน 1 แห่ง คือวัดป่าบ้านขนวนนคร ปัจจุบันมีพระจำพรรษาในวัดจำนวน 4 รูป เป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางจิตใจ เป็นศูนย์รวมทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในวันสำคัญทางศาสนา และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัดร่วมกัน
-โรงเรียน มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน จำนวน 1โรง มีครู 5 คน มีนักเรียนทั้งหมด 52 คน เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนในชุมชนได้มีการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน
-หอกระจายข่าว 1 แห่ง ไว้สำหรับประชาสัมพันธ์ภายในหมู่บ้าน
-ศาลาประชาคม 1 แห่ง ไว้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆในชุมชน
-โรงสีข้าว 1 แห่ง ให้บริการสีข้าวแก่คนในชุมชน
-น้ำประปา 1 แห่ง ไว้สำหรับใช้ในชุมชนทุกครัวเรือน
-ร้านขายของชำทั่วไป มี 2 แห่ง ขายสินค้าทั่วไป ของใช้ในครัวเรือน เครื่องบริโภคต่างๆ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดกว้าง เป็นแหล่งที่ให้บริการทางสุขภาพระดับปฐมภูมิ ให้บริการ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ทันตกรรม อามัยแม่และเด็ก คัดกรองภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต คัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับหญิงวัยเจริญพันธ์ การดูแลคนพิการ การดูแลวัยทำงาน การดูแลผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น งานฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นสถานที่ดูแลประชาชนด้านสุขภาพที่ดูแลประชาชน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เกิด จนตาย ในการตรวจรักษาเบื้องต้น ส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษา ฟื้นฟู โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและให้บริการ เช่น การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยวิกฤติ และการดูแลสุขภาพเชิงรุก
ประชาชนบ้านขนวน ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสารในชุมชน และใช้ภาษากลาง ภาษาไทยในการติอต่อสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ
https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/displayData