ผลิตภัณฑ์ชุมชน การทอเสื่อกก ที่ถูกนำสานทอด้วยความละเมียด มีทั้งลวดลายกาฬสินธ์ุ ลายยโสธร ลายคนแคระ นิยมทำจากต้นกกราชินี
ผลิตภัณฑ์ชุมชน การทอเสื่อกก ที่ถูกนำสานทอด้วยความละเมียด มีทั้งลวดลายกาฬสินธ์ุ ลายยโสธร ลายคนแคระ นิยมทำจากต้นกกราชินี
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2497 มีชาวบ้านอพยพมาตั้งบ้านเรือนจากอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี มีทำเลและที่ทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ บึงน้ำล้อมรอบเมืองเก่ามีปลาชุกชุม ในทุ่งนามีต้นจาน (ทองกวาว) ขึ้นอยู่หนาแน่นจึงได้ตั้งบ้านเรือนและให้ชื่อหมู่บ้านว่า “บึงนาจาน” ต่อมาประชากรของหมู่บ้านได้มีผู้อพยพจากภาคอีสานมาอยู่จำนวนมากขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2525 จึงได้แยกหมู่บ้าน ออกเป็น 2 หมู่ โดยหมู่ที่ 6 เดิมนั้นคือ บ้านบึงนาจาน อยู่ทางทิศตะวันตกของถนนกลางหมู่บ้านและหมู่ที่ 13 บ้านหลักเมือง อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (องค์การบริหารส่วนตำบลศรีเทพ 2563 : ออนไลน์)
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบึงนาจาน หมู่ที่ 16, บ้านสระปรือ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาตะกรุดพัฒนา, บ้านนาตะกรุด หมู่ที่ 1
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านศรีเทพน้อย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบึงนาจาน, บ้านแควป่าสัก, บ้านท่าไม้ทอง
การคมนาคม การคมนาคมบ้านบึงนาจานอยู่ทางทิศตะวันออก ของทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) เมื่อถึงตัวอำเภอศรีเทพจะมีสี่แยกและแยกทางทิศตะวันออกเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ระยะทาง 9 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกโดยทางรถยนต์
ทุนวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น
กิจกรรมการทำบายศรี จะทำช่วงที่ว่างงาน ส่วนมากคนวัยกลางคนจะเป็นคนทำบายศรีที่ทำกัน เช่น บายศรีปากชาม ทำเพื่อนำมาขายให้แก่คนที่มาแก้บนและนักท่องเที่ยวผู้ที่มาเยือน เช่น ถ้านักท่องเที่ยวมาเป็นหมู่คณะและต้องการบายศรีก็สามารถสั่งทำได้
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนคือ การทอเสื่อกก มีลายกาฬสินธ์ุ ลายยโสธร ลายคนแคระ ซึ่งทำมาจากต้นกก ต้นกกมีอยู่ 2 ชนิดที่ใช้คือ ต้นกกพื้นบ้าน ต้นกกราชินี แต่ส่วนมากนิยมใช้ต้นกกราชินี ทำเฉพาะเวลาว่างงาน เคยจัดเป็นกลุ่มแม่บ้านแต่ตอนนี้ได้ยุบไปแล้ว ในชุมชนมีการจักสานไม้ไผ่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ทำคนเดียว แต่มีโรงเรียนเปิดสอน มีการสานตระกร้า กระบุง กระติบข้าว หวด มวย และมีการจักสานที่ทำจากพลาสติกอีกด้วย มักทำขายในงาน OTOP หรือมีคนมารับซื้อถึงบ้าน นอกจากนี้ยังมีขนมโบราณ คือ ขนมลูกโคลนโยนเข้ากอไผ่ ชาวบ้านในชุมชนเล่าว่า เป็นขนมที่อร่อยมาก ๆ เด็ก ๆ มาแย่งกันรับประทานจึงได้โยนขนมเข้าไปในกอไผ่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อขนมดังกล่าว
สุนทรีย์ รอดดิษฐ์. (2563). การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน (รายงานการวิจัย). เพชรบูรณ์: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์.