เป็นชุมชนที่แยกออกจากชุมชนห้าแยกกําปงบาโงย และชุมชนหลังวัดเมือง โดยภายในชุมชนมีวัดเวฬุวัน จึงตั้งชื่อชุมชนว่าชุมชนเวฬุวัน
วัดเวฬุวัน
ชุมชนเวฬุวัน เป็นชุมชนที่จัดตั้งในช่วงแรกๆ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนห้าแยกกําปงบาโงย และชุมชนหลังวัดเมือง แต่ต่อมาได้แยกตัวและตั้งชื่อชุมชนว่า “ชุมชนเวฬุวัน” โดยประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 มีพื้นที่ประมาณ 829,900 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถนนเวฬุวันและถนนเวฬุวันซอยต่างๆ คือ ซอย 1 ซอย 2 ซอยสุขธร ซอยเข็มเทศ ซอยยายสิน ซอยแก้วศรีสุข ซอยสุขสันต์ ซอยเศรษฐี และซอยจิบอุทิศ
ชุมชนเวฬุวัน ตั้งอยู่ในเทศบาลนครยะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา ห่างจากอําเภอเมืองยะลา ไปทางทิศตะวันตก ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดยะลา ไปทางทิศตะวันตก ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บึงธรรมชาติทุ่งนาสะเตง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนตลาดเกษตรและสถานีทดลองยางยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนหลังวัดเมือง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนตลาดเกษตรและห้าแยกกำปงบาโงย
สภาพพื้นที่กายภาพ
ชุมชนเวฬุวัน เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สภาพทั่วไปของชุมชนเป็นพื้นที่ราบโดยมีพื้นที่ประมาณ 829,900 ตารางเมตร ซึ่งทางทิศเหนือของชุมชนจะติดกับบึงธรรมชาติทุ่งนาสะเตง ทำให้บางพื้นที่ของชุมชนจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก ลักษณะอาคารบ้านเรือนจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านเรือนที่ติดต่อกัน ร้านค้า และอาคารพาณิชย์
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนเวฬุวัน จำนวน 548 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,578 คน แบ่งประชากรชาย 744 คน หญิง 834 คน เป็นชุมชนไทยพุทธโดยสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
กลุ่มกิจกรรม/อาชีพ มีจำนวน 8 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพหอยประดิษฐ์และของที่ระลึก จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างมูลเพิ่มจากขยะเปลือกหอย โดยมีนายภิญโญ พูลภิญโญ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม
2. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพแกะสลักไม้ จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมช่างฝีมือด้านแกะสลักไม้ในชุมชน
3. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพทองพับ-ทองม้วน เป็นการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านของชุมชนในผลิตและจำหน่ายขนมทองพับ-ทองม้วน
4. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพรักษ์ต้นไม้ เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนรักษ์ต้นไม้ เพื่อเป็นที่พบปะ และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันละกัน
5. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพไม้ดอกไม้ประดับ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสมาชิกลุ่มและบุคคลภายนอกที่สนใจ
6. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพไก่พื้นบ้าน จัดตั้งขึ้นเพื่อการรวมตัวของกลุ่มคนรักษ์ไก่พื้นบ้านในชุมชน
7. กลุ่มกิจกรรม/อาชีพอิฐบล็อก จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายอิฐบล็อก
ด้านการบิหารชุมชน
1. ร.ต.ต.ประพันธ์ แก้วประดิษฐ์ ประธานชุมชน
2. นายอรุณ นิลสุวรรณ รองประธานชุมชน
ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
เดือนมกราคม ประเพณีสงกรานต์ พิธีรดน้ำดําหัวผู้สูงอาย ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน
เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 นก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ”ถนนคนเดิน” ขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคํญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย
เดือนกันยายน- ตุลาคม ประเพณีเดือนสิบ หรือประเพณีชิงเปรต เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวพุทธที่เชื่อว่าบรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับผู้ที่ทำบาปไว้มากจะตกนรก กลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนบุญกุศลให้ ในแต่ละปีมายังชีพ เมื่อถึงวันแรม1 ค่ำ เดือน 10 พระยายมจะปล่อยคนบาปทั้งหลาย ที่เรียกว่า "เปรต” กลับไปพบญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูก หลาน ญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน10 ในโอกาสนี้ ลูก หลาน ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
เดือนกรกฎาคม ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานบุญที่จัดขึ้นทุกปี มีการทำเทียนพรรษาโดยมีการมัดรวมกันให้เป็นเทียนเล่มใหญ่และจัดขบวนนำไปถวายวัด
เดือนพฤศจิกายน ประเพณีชักพระ เป็นประเพณีท้องถิ่นของคนใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 โดยมีความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบนบุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพหลัก ได้แก่ รับราชการ รับจ้าง ธุรกิจส่วนตัว และอื่นๆ
1. นางอามร สุวรรณะ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทำทองพับ-ทองม้วนด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ทำให้ทองม้วนมีความกรอบ หอม อร่อย โดยมีหลากหลายรสชาติ เช่น กะทิ ทุเรียน ฟักทอง ใบเตย ช็อกโกแลต กล้วย เป็นต้น
2. นายภิญโญ พูลภิญโญ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มกลุ่มหอยประดิษฐ์และของที่ระลึก โดยกลุ่มดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเปลือกหอยที่ทิ้งเกลือนกลาดตามริมชายหาดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ศาสนสถาน หรือ วัด ในชุมชนมีวัดเวฬุวัน เป็นศาสนสถานที่สำคัญของผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งสามารถเป็นที่ท่องเที่ยว และที่สักการะ นอกจากนั้นยังมีสถานศึกษาและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในเขตเทศบาลนครยะลา
แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเวฬุวัน วิทยาลัยสารพัดช่าง และรีสอร์ท
ผู้คนในชุมชนจะสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาไทยเป็นหลัก
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้นประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากขึ้น และประชากรในชุมชนความหลากหลายทางสังคม และอาชีพ
ด้านความท้าทายของชุมชน ดังนี้
1. ปัญหาน้ำท่วมขัง
2. รายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ
3. การประชาสัมพันธ์ในชุมชนไม่ทั่วถึง
4. ปัญหาสุนัขจรจัด
5. ปัญหาการว่างงาน
6. ความสะอาดของชุมชน เช่น มีมูลสัตว์บนถนน
อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และอื่นๆ ได้เข้ามารับฟัง ติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือน้อยมากในกิจกรรมต่างๆของชุมชน
ชุมชนเวฬุวันมีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ วัดเวฬุวัน
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา