Advance search

ชุมชนชนบทที่มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะทำนาและทำไร่อ้อย

หมู่ที่ 14
บ้านหนองดินกี่
กุดกว้าง
หนองเรือ
ขอนแก่น
รัตน์ดาวรรณ คลังกลาง
11 เม.ย. 2023
รัตน์ดาวรรณ คลังกลาง
11 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
27 พ.ค. 2023
บ้านหนองดินกี่


ชุมชนชนบท

ชุมชนชนบทที่มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะทำนาและทำไร่อ้อย

บ้านหนองดินกี่
หมู่ที่ 14
กุดกว้าง
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
16.47975
102.35544
เทศบาลตำบลเทศบาลตำบลกุดกว้าง

สมัยก่อนที่หนองดินกี่ ทำเลหมู่บ้านมีดินลักษณะสีแดง มีการนำดินมาเผา นิยมเผาดินเป็นอิฐใช้สร้างกำแพง หรือสร้างบ้าน และได้สร้างวัดบ้านโนนทัน ต่อมาจึงเรียกว่าหมู่บ้านหนองดินกี่ เมื่อปี พ.ศ. 2487 นายนัน ฮดคำ ได้ย้ายมาจากบ้านโนนทัน หมู่ที่ 1 ตำบลโนนทัน ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่นาของตนเองในช่วงเวลาเดียวกัน บ้านแห่โนนเมืองระยะนั้นอยู่ในเขตปกครองของอำเภอภูเวียง ได้เกิดโรคระบาดหรือไข้ทรพิษทำให้ประชากรในหมู่บ้านเกิดความเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากจึงได้พากันอพยพหนีไปอยู่ตามที่ต่างๆ บางกลุ่มก็หนีข้ามลำน้ำเชิญเขตจังหวัดชัยภูมิ อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่กับนายนัน ฮดคำ ที่บ้านหนองดินกี่ ขณะนั้นยังอยู่ในการปกครองของบ้านกุดกว้าง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2524 ได้แยกการปกครองจากบ้านกุดกว้าง มาเป็นบ้านหนองดินกี่ หมู่ที่ 14 ตำบลกุดกว้าง และมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายจันโท นาเพีย ดำรงตำแหน่ง จนถึงปี พ.ศ. 2534 จึงเกษียณอายุ และได้มีการเลือกตั้งใหม่ นายประสาทชัย เหลาทำ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงเกษียณอายุ และได้มีการเลือกตั้งใหม่ได้นายประดิษฐ์ ศรีบุญ ได้รับการเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน 

บ้านหนองดินกี่หมู่ที่ 14 อยู่ในเขตการปกครองของตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์โดยสารประจำทางโดยให้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมลิวัลย์ จากศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ไปทาทิศตะวันตกผ่านอำเภอหนองเรือ รวมระยะทาง 53 กิโลเมตร สามารถแวะเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ อุทยานไดโนเสาร์ภูเวียงและอุทยานแห่งชาติน้ำพอง

อาณาเขต

ทิศเหนือ            ติดต่อกับบ้านกอมอ 52 ตำบลกุดกว้าง

ทิศใต้                ติดต่อติดต่อกับลำน้ำเชิญ

ทิศตะวันออก       ติดต่อกับบ้านหนองกุง ตำบลกุดกว้าง

ทิศตะวันตก        ติดต่อกับบ้านหนองแวง ตำบลกุดกว้าง

สภาพภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน  ร้อยละ  50  เป็นที่ราบสูง เหมาะสำหรับทำการเกษตร ลักษณะภูมิอากาศ มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 3 ฤดู ดังนี้ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว 1) ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี 2) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี 3) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากซึ่งจะเป็นอากาศแบบสุดขั้ว พบว่า บางปีหากแล้ง ปริมาณน้ำในการเกษตรจะไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ หรือใช้อุปโภคบริโภค ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการเกษตร สาธารณูปโภคในชุมชน ไฟฟ้า จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 78 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 100 มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ชุมชนบ้านหนองหนองดินกี่ หมู่ 14 อยู่ในเขตให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหนองเรือซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และพลังงานความร้อนในเขตอำเภอน้ำพอง น้ำดื่ม น้ำดื่มบริโภคประชากรครัวเรือนบ้านหนองดินกี่ หมู่ที่ 14 พบว่าแหล่งน้ำบริโภค ส่วนมากดื่มน้ำถัง บางครัวเรือนจะมีเครื่องกรองน้ำไว้ใช้ในบ้าน และบางครัวเรือนรองน้ำฝนไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า ประชากรส่วนใหญ่หันมาซื้อน้ำบริโภคซึ่งเดิมแล้วเคยบริโภคน้ำฝน เพราะน้ำฝนไม่สะอาด รวมทั้งมีการปลูกไร่อ้อยและปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลอยู่ใกล้หมู่บ้าน การที่จะรองน้ำฝนไว้ดื่ม มีโอกาสที่สารเคมีจะปนเปื้อนอยู่กับน้ำได้ และอาจส่งผลให้เกิดการได้รับสารเคมีสะสมที่ปนเปื้อนมากับน้ำดื่มน้ำใช้ได้ ในระยะยาวอาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ น้ำประปา จำนวนครัวเรือนที่มีน้ำประปาใช้ จำนวน 78 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 100 ใช้น้ำประปาประจำหมู่บ้าน โดยประปา 2 แห่ง คือคุ้มใหญ่ 1 แห่ง และคุ้มน้อยอีก 1 แห่ง น้ำประปาไหลสะดวก เพียงพอต่อการใช้ตลอดปี โทรศัพท์ โทรศัพท์จากการสำรวจพบโทรศัพท์สาธารณะ จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งใช้ไม่ได้ ส่วนใหญ่ประชาชนนิยมใช้โทรศัพท์มือถือ โดยในบ้านหนองดินกี่หมู่ 14 ใช้โทรศัพท์มือถือ จำนวน 100 เครื่อง การคมนาคม การเดินทางติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงอำเภอหรือจังหวัดโดยเฉพาะกับสถานบริการสุขภาพที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดกว้าง หรือคลินิกต่างๆ การเดินทางภายในหมู่บ้าน การเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง และเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดกว้างเดินทางโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลักในการเดินทาง ซึ่งการเดินทางภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะไม่มีการสวมหมวกนิรภัย จะใส่เมื่อเวลาเดินทางเข้าในตัวเมือง ถนนภายในหมู่บ้านร้อยละ 70 เป็นถนนคอนกรีต และชุมชนใกล้เคียงเป็นถนนคอนกรีต ถนนเข้าหมู่บ้านและถนนเส้นหลักในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง ภายในหมู่บ้านในซอยเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสภาพดี จะมีถนนลูกลังตามซอยในหมู่บ้านเล็กน้อยและทางเชื่อมจากคุ้มใหญ่ไปคุ้มน้อย การคมนาคมสะดวก  ส่วนการเดินทางระหว่างอำเภอหรือจังหวัดโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 (ถนนมะลิวัลย์) สภาพถนนในแต่ละฤดูกาล ถนนภายในหมู่บ้านร้อยละ 70 เป็นถนนคอนกรีต สภาพถนนในหน้าแล้ง ถนนจะแห้งดี และมีฝุ่นละออง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างคุ้มใหญ่และคุ้มน้อยเป็นถนนลูกรัง มีหลุมเป็นบางส่วน ในหน้าฝนถนนมีน้ำขังตามหลุม และมีโคลนตม ทำให้การเดินทางลำบาก ถนนส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลกุดกว้างและงบประชารัฐ

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 จำนวนครัวเรือนบ้านหนองดินกี่ จำนวน 91หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 375 คน  แบ่งเป็นประชากรชาย 178 คน หญิง 197 คน

ประชากรทั้งหมดของบ้านหนองดินกี่ หมู่ 14 ต.กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มีประชากรรวมทั้งหมด 224 คน เป็นเพศชาย 115 คน เพศหญิง 109 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 78 หลังคาเรือน (5 ธันวาคม 2561) จากการสำรวจจริงพบ 78 ครัวเรือน แต่มีประชากรบางส่วนในบ้านเข้าไปทำงานต่างจังหวัด ส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำการเกษตร อาชีพเสริม คือ รับจ้างทั่วไป/ค้าขายธุรกิจส่วนตัว รายได้ภาคเกษตรเฉลี่ย 81,705.71 บาท/ครัวเรือนปี รายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 56,842.86 บาท/ครัวเรือนปี รายได้เฉลี่ยของประชากร (ตามเกณฑ์ จปฐ. ปี 2561) 30,119.25 บาท/คน/ปี ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย มีผู้สูงอายุคอยดูแลลูกหลาน ขณะที่วัยแรงงานออกไปทำงานนอกบ้าน

ร้อยละอัตราส่วนชายต่อหญิง จากประชากรทั้งหมด 224 คน คิดเป็น 100% โดยมีประชากรชาย 115 คน คิดเป็นร้อยละ 51.34ของประชากรทั้งหมด และประชากรหญิง 109 คน คิดเป็นร้อยละ  48.66 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชากรของชุมชนบ้านหนองดินกี่มีสัดส่วนของประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ผู้คนในชุมชนบ้านบ้านหนองดินกี่ มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

กลุ่มที่เป็นทางการ

1) ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สาวัตรกำนัน และมีคณะกรรมการ

2) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)

กลุ่มไม่เป็นทางการ กลุ่ม/ชมรมต่างๆ

หมอพื้นบ้าน

กองทุนปุ๋ย

กองทุนหมู่บ้าน

. บุญส่งท้าย ต้อนรับปีใหม่ ตักบาตรปีใหม่

วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ อวยพรซึ่งกันและกัน ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่น จะกลับมาบ้านเพื่อมาหาญาติผู้ใหญ่ มาขอพรและร่วมรับประทานอาหาร สังสรรค์ร่วมกัน จะเรียกว่าบุญเดือนอ้าย

2. บุญคูนลาน

บุญที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ ในปัจจัยยังชีพของคน คือข้าวที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกหลานในการที่จะได้ข้าวมานั้นยากลำบากและถือว่าปีใดบุญลานมีข้าวเยอะแสดงว่าปีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ดีและเป็นการทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชาวบ้านและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลาย โดยการนำเอาข้าวที่นวดมากองขึ้นให้สูงขึ้นเรียกว่าคูณลาน จะเรียกว่าบุญเดือนยี่

3. บุญข้าวจี่

เป็นการนำเอาข้าวเหนียวที่ปั้นโรยเกลือทาไข่ไก่ แล้วจี่ไฟให้สุกเรียกว่าข้าวจี่ ซึ่งการทำบุญข้าวจี่ในเดือนสามเป็นช่วงที่ชาวนาหมดภาระในการทำนาแล้วข้าวขึ้นยุ้งฉางใหม่จึงอยากร่วมทำบุญถวายพระ

4. บุญมหาชาติ

เป็นบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรนิยมทำในเดือนสี่

5. บุญสงกรานต์

บุญมหาสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ ของภาคอีสานกำหนดขึ้นในเดือนห้า มี3วัน ตั้งแต่13วันมหาสงกรานต์ 14 วันเนา 15 วันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

6. บุญบั้งไฟ / บุญบวช / บุญงานแต่ง

บุญบั้งไฟมีความสำคัญต่อชาวอีสานมาก เพราะเชื่อว่าบุญประเพณีนี้จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนข้าวปลาอาหารพืชพรรณเจริญเติบโตงอกงามดีและนำมาซึ่งความสนุกสนาน เกิดความหวังในชีวิต เหมือนมีที่พึ่ง อยู่ใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีความเชื่อมาจากเรื่องพญาแถน(เทวดาชาวอีสาน)ที่ดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์จึงมีการทำบุญบูชาพระญาแถน และบูชามเหศักดิ์หลักเมืองทุกปี

7. บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ

เป็นบุญที่จัดขึ้นเพื่อทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ความเสนียดจัญไรภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่า บุญเบิกบ้าน หรือ บุญบ้านเป็นบุญที่แต่ละหมู่บ้านจะทำไม่ขาด เป็นบุญเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา ผีตาแฮก มเหศักดิ์หลักเมือง ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านชาวบ้านเชื่อว่าจะรวมผีบรรพบุรุษอยู่ด้วยที่ช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านเมืองมีความสุข ซึ่งบุญนี้จะเป็นการทำบุญตักบาตรในหมู่บ้านและมีการขึงด้ายไปทั่วทุกหลังคาเรือน โดยนิมนต์4-9 รูปมาเจริญพุทธมนต์ แล้วมีพิธีผูกข้อต่อแขนซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านที่ได้ฝ้ายจากการทำพิธีและมีการน้ำกรวดทรายหรือหินไปหว่านรอบๆหมู่บ้านหรือหลังคาบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการกันผีหรือสิ่งจัญไรเข้าหมู่บ้าน นอกจากพิธีเหล่านี้แล้วชาวบ้านก็จะเก็บสิ่งที่ไม่ดีออกจากบ้านตน เช่นของเก่า เสื้อผ้าขาด ก่องข้าว เพื่อให้บ้านเรือนตนสะอาด บริสุทธิ์

8. บุญเข้าพรรษา

การที่พระสงฆ์อยู่ประจำอาวาสแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝนเรียกว่าพรรษา โดยปกติกำหนดเอาแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการเตรียมเทียนเพื่อไปถวายวัด รวมทั้งเครื่องปัจจัยไททายต่างๆโดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง แม้ปัจจุบันจะเจริญแล้วแต่ยังรักษาฮีตเดิมโดยการนำเทียน ตะเกียงน้ำมัน ธูปเทียนไปถวายเช่นเดิม และการนำถวายผ้าอาบน้ำฝนเพื่อใช้อาบน้ำช่วงฤดูฝน

9. บุญข้าวประดับดิน

เป็นบุญสิ้นเดือนเก้า ที่เรียกอีกอย่างว่า บุญข้าวสาก นำอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่จัดใส่กระทงวางไว้บนพื้น ใต้ต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่มีความสำคัญต่อชาวอีสานเพราะเชื่อว่าเป็นบุญที่ต้องส่งส่วยให้กับผีฮักและผีบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ ทรัพย์สิน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่มีภัยร้ายใดๆมาเยือน                                     

10. บุญข้าวสาก

เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต โดยมีเวลาห่างจากบุญข้าวประดับดินเพียง 15วันเป็นเวลาที่เปรตต้องกลับไปอยู่ที่ของตน ซึ่งทั้งสองบุญนี้จะมีลักษณะคล้ายๆกันคือการห่อข้าวส่งให้เปรต รวมทั้งบรรพบุรุษญาติพี่น้องของผู้ทำบุญด้วยและเปรตไม่มีญาติด้วย

11. บุญออกพรรษา ตักบาตรเทโว

เป็นวันขึ้น 15ค่ำเดือน 11 เป็นวันออกพรรษา วันปวารนา เป็นบุญที่ความสำคัญเพราะเชื่อว่าพระสงฆ์ได้อยู่จำพรรษาเป็นเวลาไตรมาส (3เดือน)ย่อมมีความบริสุทธิ์ จริยธรรมงดงามจะมาซึ่งบุญและได้บุญมาก ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโวที่วัด และฟังธรรมเทศนาและกลางคืนจะจุดประทีปเพื่อความสว่างไสวพร้อมมีการจุดปะทัดเสียงดังสนุกสนานหวั่นไหวด้วย

12. บุญกฐิน

กฐิน คือไม้สะดึง ที่ใช้สำหรับขึงผ้าเวลาจะเย็บผ้าจีวรพระในการเย็บให้สะดวกขึ้น จึงเป็นที่มาของผ้ากฐิน คือ ผ้าจีวร สบงหรือผ้านุ่งห่มที่จะนำไปถวายพระนั่นเองบุญกฐินจึงคือบุญที่ต้องนำเข้าไปถวายพระเป็นสำคัญ บุญกฐินเป็นบุญฮีตสุดท้ายของอีตเดือนสิบสองของชาวอีสานชาวอีสานจึงรู้ดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องนำจีวรไปถวายในช่วงนี้ซึ่งมีกาลเวลา ที่เรียกว่าเทศกาลกฐิน ที่กลายเป็นประเพณีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อชาว อีสานมากที่ถือว่าเป็นให้อานิสงส์แก่ผู้ทำบุญอย่างมากเพราะจะได้ถวายจีวรให้แก่ภิกษุที่ครบไตรมาส

พ่อปิว ศรีบุญ เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2484 เกิดที่บ้านหว้า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พ่อปิวเป็นบุตรคนที่ 5 จากทั้งหมด 7 คน เมื่ออายุ 8 ปี ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 14                       ตำบลกุดกว้าง  อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นพร้อมกับบิดามารดา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนบ้านหว้า เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และไม่ได้เรียนต่อ ออกมาประกอบอาชีพทำนากับบิดามารดา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2505 อายุ 21 ปี ได้เกณฑ์ทหารและได้เป็นทหาร 2 ปี 10 เดือน ขณะเป็นทหารได้พบรักกับภรรยา และหลังออกจากทหาร อายุ 23 ปีได้แต่งงานกับแม่ด้วง ซึ่งอยู่บ้านหนองดินกี่ด้วยกันที่อยู่คุ้มน้อย มีบุตรธิดาร่วมกัน 4 คนได้แก่

1. นางปรานี ศรีพาน ปัจจุบันอายุ 56 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ที่ 14 ตำบลกุดกว้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งบ้านอยู่ติดกับพ่อตาปิว จนถึงปัจจุบัน อำเภออาศัยอยู่ ซึ่งอาศัยอยู่กับภรรยา

2. นายประดิษฐ์ ศรีบุญ ปัจจุบันอายุ 50 ปี และดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองดินกี่ หมู่ 14

3. นางสำริด ศรีบุญ อายุ 47 ปี

4. นางสมจิต ศรีบุญ อายุ 45 ปี

หลังจากแต่งงานก็ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ทำนา และปลูกอ้อย อยู่บ้านกับภรรยา 2 คน รายได้ประมาณ 1,000-1,500 บาท/เดือน เมื่อปี พ.ศ.2525 พ่อตาปิวได้เป็นอสม.และได้คัดเลือกเป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน และได้เป็นมัคนายกตั้งแต่ตั้งสำนักสงฆ์จนถึงปัจจุบัน และเมื่อปีพ.ศ.2530 ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พอหมดวาระก็ไม่ได้เป็นหรือลงสมัครต่ออีก ปัจจุบันอายุ 77 ปี สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งพ่อปิวเป็นผู้รู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นบุคคลสำคัญที่คนในหมู่บ้านเคารพนับถือ

วัด มีวัด ในหมู่บ้าน จำนวน 1 วัด คือ วัดอรุณสว่าง มีพระอาจารย์สุทธิพงษ์เป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันมีพระจำพรรษาในวัด จำนวน 2 รูป เป็นวัดนิกายมหายาน การเข้าไปมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้านในการพัฒนาวัด/การใช้ประโยชน์ ช่วยกันทำความสะอาด วัดและช่วยกันหาผ้าป่าเข้าวัดประจำ

ร้านค้า/บริการ

- ร้านค้าของชำ จำนวน 2 แห่ง มีการขายสินค้าของใช้ทั่วไป ยาสามัญประจำบ้าน และบุหรี่ สุรา

- ร้านซ่อมรถยนต์ จำนวน 1 แห่ง

- โรงสี จำนวน 1 แห่ง ให้บริการสีข้าวแก่คนในชุมชน

- ศาลาประชาคม 2 แห่ง ใช้สำหรับทำกิจกรรมของหมู่บ้าน เช่น การรับบริการทางด้านสุขภาพ การทำประชาคมหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน เป็นต้น

- หอกระจายข่าว 2 แห่ง ใช้สำหรับประชาสัมพันธ์ภายในหมู่บ้าน

ป่าชุมชน จำนวน 250 ไร่ ไม้ที่มีในป่าชุมชน ได้แก่ ไม้สะเดา ไม้ชาติ และป่าเบญจพรรณอื่นๆ

หนองน้ำ หนองแปน และหนองดินกี่

แหล่งบริการทางสุขภาพ

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดกว้าง เป็นแหล่งที่ให้บริการทางสุขภาพระดับปฐมภูมิของคนในชุมชน ให้บริการ การฝากครรภ์  การให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ฉีดวัคซีนเด็ก การดูแลโภชนาการเด็ก งานอนามัยโรงเรียน ตรวจสุขภาพเบื้องต้นสำหรับนักเรียน คัดกรองภาวะผิดปกติต่างๆ  เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต คัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับหญิงวัยเจริญพันธ์ การดูแลคนพิการ การดูแลวัยทำงาน การดูแลผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น งานฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นสถานที่ดูแลประชาชนด้านสุขภาพที่ดูแลประชาชน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเสียชีวิต  ในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษาโรคเบื้อต้น และฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและให้บริการ เช่น การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยวิกฤติ และการดูแลสุขภาพเชิงรุก 

- โรงพยาบาลหนองเรือ เป็นแหล่งที่ให้บริการทางสุขภาพระดับทุติยภูมิชุมชน ให้บริการทั่วไปทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ 

ประชาชนบ้านหนองดินกี่ ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสารในชุมชน และใช้ภาษากลาง ภาษาไทยในการติอต่อสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในด้านสังคมและประชากร โดยมีการเปลี่ยนแปลงสังคมผู้สูงอายุคอยดูแลลูกหลาน ขณะที่วัยแรงงานออกไปทำงานนอกบ้าน หลังจากที่หมดจากฤดูทำการเกษตร 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล