Advance search

มัสยิดอัลนูร-ปากีสตาน  และเป็นชุมชนมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน

1
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
มูฮำหมัดอาลี ซง
18 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
20 พ.ค. 2023
มูฮำหมัดอาลี ซง
28 พ.ค. 2023
บ้านร่ม

เป็นชุมชนเก่าแก่ ชื่อชุมในภาษามลายูเดิมทีชื่อว่า รูเมาะห์ปายงเนื่องจากหลังคาบ้านเหมือนร่ม

มัสยิดอัลนูร-ปากีสตาน  และเป็นชุมชนมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน

1
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.537129
101.2629
เทศบาลนคร

ชุมชนบ้านร่ม เป็นชุมชนเก่าแก่ เดิมทีชื่อว่า รูเมาะห์ปายงเนื่องจากสัณนิฐานหลังคาบ้านที่มองเหมือนร่ม บรรพบุรุษของชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นมุสลิมเชื้อสายปากีสถานที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย มีประวัติศาสตร์สำคัญ คือ เมื่อปี พ.ศ.2452 ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมืองยะลาตั้งอยู่ที่บ้านท่าสาป ซึ่งตั้งอยู่ฝั่ง ซ้ายของแม่น้ำปัตตานี และต่อมาในปีพ.ศ. 2453 ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอจากตำบลท่าสาปมาตั้งทางฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานีอยู่ในพื้นที่บ้านสะเตง (ปัจจุบันสถานที่ตั้งของชุมชนบ้านร่ม) ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 มีการสร้างรางรถไฟผ่าน ‘’บ้านนิบง‘’ (ชุมชนเมืองในปัจจุบัน) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการคมนาคมจากทางน้ำมาเป็นทางบกแทน และในปีพ.ศ. 2479 สมัยพระรัฐกิจวิจารณ์ มีการจัดตั้งเทศบาลเมืองยะลาเป็นครั้งแรกในบริเวณหมู่บ้านสะเตง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าสาป ทำให้ประชากรมาอาศัยอยู่ที่บ้านสะเตงอย่างคับคั่ง มีสถานที่ราชการสำคัญ ๆ เช่น ที่ว่าการอำเภอ ศาลากลาง ไปรษณีย์ และโทรเลข ในปี พ.ศ. 2485 ทางการได้ตัดสินใจย้ายเมืองยะลาจากบ้านสะเตงมาตั้งที่นิบงอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ว่าบ้านสะเตงเป็นพื้นที่ลุ่ม คับแคบ ไม่สามารถจะขยายเมืองออกไปได้ และพื้นที่ส่วนใหญ่ติดกับแม่น้ำปัตตานีเกือบทุกด้าน ซึ่งทำให้ตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะทุกปี แต่นิบงนั้นมีบริเวณกว้างอยู่ใกล้ทางรถไฟ สามารถขยายเมืองออกไปได้ทุกด้าน อีกทั้งยังมีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว

ปัจจุบันชุมชนบ้านร่มตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 643,198.21 ตารางเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ชุมชนบ้านร่ม มีถนนสายหลัก คือ ถนน สิโรรส ถนนสาย 15 และมีถนนสายรอง คือ ถนนคอรอยี ถนนเอกราช ถนนกอเดร์-อูมา และถนนต่วนลากี

ชุมชนบ้านร่ม ตั้งอยู่ในเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอไปทางทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัด 1.5 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง1.5 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ         ติดต่อกับ    แม่นำ้ปัตตานี
  • ทิศใต้            ติดต่อกับ    ชุมชนห้าแยกกำปงบาโงย
  • ทิศตะวันออก     ติดต่อกับ    ถนนสิโรรส สาย 2
  • ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ     แม่น้ำปัตตานี

สภาพพื้นที่กายภาพ

ชุมชนบ้านร่มเป็นชุมชนเมือง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 643,198.21 ตารางเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ชุมชนมีพื้นที่ทำการเกษตร แต่มักประสบน้ำท่วมขังในบริเวณดังกล่าวในช่วงหน้าฝน นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆของหลายสำนักงาน และมีแหล่งชมธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ได้แก่ ป่าร่มเมือง

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านร่ม จำนวน 389  ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 965 คน แบ่งประชากรชาย 471  คน หญิง 494 คน เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมโดยสมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นมุสลิมเชื้อสายปากีสถานอาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน ส่วนการนับถือศาสนา สมาชิกในชุมชนมีการนับถือทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามปะปนกัน

กลุ่มพัฒนาสตรีชุมชนบ้านร่ม เป็นการรวมของกลุ่มสตรีของชุมชน ซึ่งประธานกลุ่มสตรีคนปัจจุบัน ได้แก่ นางศุทธิยา หะยีหะมะ และ รองประธาน คือ นางฉวีวรรณ สุวรรณรัตน์

ด้านการบริหารชุมชน

  1. นายนราธรณ์ อับดุลลา    ประธานชุมชน
  2. นางแวสะปิเย๊าะ เจ๊ะอุบง  รองประธานชุมชน

ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีเมาลิด  เป็นกิจกรรมประจำปีที่ชุมชนจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงชีวประวัติของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล) เมาลิดเป็นประเพณีที่สืบทอดมาเพื่อที่จะรวมความเป็นหนึ่งของมุสลิม โดยพิธีจะมีขึ้นที่มัสยิดหรือที่บ้านของผู้มีจิตศรัทธา ชาวบ้านจะมาช่วยกันหุงหาอาหาร สวดมนต์ขอพรและรับประทานอาหารร่วมกัน

เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 นก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา  เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ถนนคนเดินขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ 

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคํญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย

เดือนพฤศจิกายน ประเพณีกวนอาซูรอ เป็นประเพณีที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีในศาสนาอิสลาม (ประมาณเดือนพฤศจิกายนของไทย) สาเหตุที่มีการกวนอาซูรอ จากประวัติศาสตร์ ของศาสนาอิสลาม ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยนบีนุฮ (อะลัยฮิสสลาม) ท าให้เกิดความเสียหายแก่หน้าแผ่นดิน และได้รวมตัวกันขึ้นเรือใหญ่เพื่อเป็นการประทังชีวิตในเรือ จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอที่จะ รับประทานได้ ให้เอามารวมกันและให้น าของเหล่านั้นมากวนด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้มีอาหารกินกันอย่าง เพียงพอโดยทั่วกัน 

เดือนพฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นในคืนวันเพ็ญของเดือนพฤศจิกายน เพื่อเป็นการ ขอบคุณและขอขมาต่อเจ้าแม่คงคา ทุกปีจะมีประชาชนทั้งที่มาจากชุมชนบ้านร่มและชุมชนใกล้เคียงมา ร่วมงานลอยกระทง ณ ท่าน้ำสวนสาธารณะบ้านร่มเป็นจำนวนมาก

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพหลัก คือ ค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ และอาชีพเสริม คือ ทำการเกษตร

  1. นายดำรง สุวรรณรัตน ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร ที่ปรึกษาชุมชน และข้าราชการบำนาญ
  2. นายอภิรักษ์ แสงอรพินท   ข้าราชการบำนาญ
  3. นายนิมะ แวหมะ   ข้าราชการบำนาญ

ในชุมชนมีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ ได้แก่ มัสยิดอัลนูร-ปากีสตาน  ศาลาท่าน้ำสวนสาธารณะบ้านร่ม และป่าร่มเมือง ที่สามารถเป็นที่ท่องเที่ยว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เป็นรายได้ของชุมชน ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

ผู้คนในชุมชนจะใช้ภาษาไทยในการพูดคุยสื่อสารกันเป็นหลัก


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น และประชากรในชุมชนมีความหลากหลายทางสังคม ศาสนา และอาชีพ 

ด้านความท้าทายของชุมชน ดังนี้

1. ปัญหายาเสพติด

2. ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที

3. ปัญหาการจราจรและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางจราจร เนื่องจากถนนสายหลักผ่านกลางชุมชน(สิโรรส)

4.  ปัญหาน้ำเสียจากชุมชนใกล้เคียงและส่วนราชการ (การทิ้งน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ)

ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และอาจมีบางที่มีความเห็นที่แตกต่างของสมาชิกในชุมชน

ในชุมชนบ้านร่ม มีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ มัสยิดอัลนูร-ปากีสตาน  ศาลาท่าน้ำสวนสาธารณะบ้านร่ม (เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนและชุมชนใกล้เคียง) และป่าร่มเมือง

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

นางสาวยามีละห์ เอ็นลาฮี. 4 มิถุนายน 2566. ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)