Advance search

บ้านแม่สาบ

บ้านแม่สาบเป็นชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ประชาชนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับจารีต ประเพณี และปฏิบัติอยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด 

แม่สาบ
สะเมิงใต้
สะเมิง
เชียงใหม่
วิไลวรรณ เดชดอนบม
9 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
9 มี.ค. 2023
บ้านแม่สาบ


บ้านแม่สาบเป็นชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ประชาชนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับจารีต ประเพณี และปฏิบัติอยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด 

แม่สาบ
สะเมิงใต้
สะเมิง
เชียงใหม่
50250
เทศบาลสะเมิงใต้ โทร. 0-5348-7397
18.85470253
98.70127514
เทศบาลตำบลสะเมิงใต้

ชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่ปรากฏหลักฐานใดที่สามารถอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน และประวัติการย้ายถิ่นฐานของชาวไทลื้อเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการอพยพโยกย้ายเข้าสู่บ้านแม่สาบของชาวไทลื้อแตกต่างกันออกไป

บางสำนวนกล่าวว่า ชาวไทลื้อบ้านแม่สาบมาจากเมืองหลวง เมืองแซ่ เมืองเชียงรุ่ง โดยอาจถูกกวาดต้อนมาในสมัยพันตรีถวิล อยู่เย็น เมื่อครั้งเดินทางไปรบเชียงตุง หรืออาจอพยพมาจากสิบสองปันนา เมื่อประมาณ 200 ปี มาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการอธิบายว่าไทลื้อบ้านแม่สาบอาจถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองปันนาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการยอมรับมากที่สุด เนื่องจากคำให้การของของผู้อาวุโสในบ้านแม่สาบให้ข้อมูลที่ค่อนข้างสอดคล้องกันว่าชาวไทลื้อบ้านแม่สาบ คือกลุ่มคนที่อพยพมาจากสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของช่วงเวลา แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการที่มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาแล้ว อาจสรุปได้ว่า ชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบเป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยธนบุรีต่อเนื่องถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในช่วงสงครามระหว่างไทยกับพม่าในดินแดนล้านนา กระทั่งพระเจ้ากาวิละสามารถยึดเมืองเชียงแสน แล้วเข้าตีสิบสองปันนาและหัวเมืองลื้อเขินได้สำเร็จ พระเจ้ากาวิละจึงได้อพยพผู้คนจากสิบสองปันนาเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในล้านนา ผู้คนที่อพยพเข้ามามีทั้งชาวไทลื้อ เขินและยอง ดังที่ปรากฏในพงศาวดารโยนก ครั้งนั้นมีชาวไทลื้อกลุ่มหนึ่ง นำโดยปู่เทิ่ม ที่ได้นำชาวบ้านบางส่วนออกเดินทางแสวงหาแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของตนเอง จนกระทั่งเดินทางมาถึงอำเภอสะเมิงก็พบว่ามีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา มีแม่น้ำไหลผ่านถึง 2 สาย คือ แม่น้ำแม่สาบ และแม่น้ำสะเมิง ตลอดจนภูเขาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะภูมิประเทศมีความคล้ายคลึงกับดินแดนสิบสองปันนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดิม จึงได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหมู่บ้านแม่สาบ ต่อมาปู่เทิ่มและชาวบ้านได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับอำเภอสะเมิงไปบอกเล่าให้ชาวเมืองเชียงใหม่รับทราบผ่านการติดต่อซื้อขายสินค้า จึงเริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอสะเมิง โดยมีชุมชนชาวไทลื้อบ้านแม่สาบ เป็นชุมชนสำคัญของอำเภอสะเมิงมาจนปัจจุบัน

ชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ เป็นชุมชนที่มีความเด่นชัดในด้านความมั่นคง ทั้งทางเศรษฐกิจ การปกครอง ประเพณี และวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้ว่าชาวบ้านแม่สาบมีบทบาทเป็นอย่างมากในการผลักดันให้ทางหน่วยงานราชการเข้ามาปกครองดูแลชุมชนในอำเภอสะเมิง มีผู้นำชุมชนไทลื้อแม่สาบหลายคนที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่กำนันตำบลสะเมิงใต้ นอกจากนี้ ชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบยังเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมากกว่าชุมชนอื่นในบริเวณโดยรอบ ดังเหตุการณ์ภาวะขาดแคลนปัจจัยในการอุปโภคบริโภคช่วงสงครามโลก อันเป็นเหตุให้บ้านแม่สาบที่เดิมอยู่ในเขตปกครองของตำบลแม่สาบ ต้องย้ายไปขึ้นกับเขตการปกครองตำบลสะเมิงใต้ ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการเกษตร ซึ่งสามารถนำรายได้มาสู่ชุมชนในอำเภอสะเมิงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรายได้จากการปลูกกระเทียม พืชเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอสะเมิง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มาจากบ้านแม่สาบ 

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านแม่สาบ มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่สาบ และที่ราบเชิงเขาสลับกับภูเขา บริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำแม่สาบจะมีลักษณะเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ตามแนวลำน้ำแม่สาบ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเพาะปลูกและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ส่วนเทือกเขาที่ขนาบทั้งสองข้างของลำน้ำแม่สาบเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำและลำห้วยต่าง ๆ หลายสาย ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ลักษณะโดยทั่วไปของหมู่บ้านแม่สาบ อุดมไปด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะบริเวณป่าเขาซึ่งมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราบเชิงเขาทางด้านทิศตะวันตกถูกปกคลุมด้วยป่าไม้หลายชนิด ทิศเหนือและทิศตะวันอกส่วนใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ไร่นาราบลุ่มลำน้ำแม่สาบ และที่ไร่เชิงเขา ทางฝั่งที่ราบเชิงเขาด้านทิศตะวันตกมีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าเต็งรัง หรือป่าแพะ ซึ่งเป็นบริเวณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง          

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่หมู่บ้านจัดอยู่ในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น มี 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และฤดูหนาวซึ่งถือเป็นฤดูที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ 

ทรัพยากรธรรมชาติ

หมู่บ้านแม่สาบ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาและที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่สาบท่ามกลางภูเขาน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาอินทนนท์ พื้นที่หมู่บ้านล้อมรอบไปด้วยป่าเบญจพรรณ มีพืชพรรณหลายชนิดเช่น มะค่า สัก ประดู่ ตะแบก ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่บง ที่ขึ้นปะปนกันอย่างหนาแน่นบนภูเขาสูงที่ล้อมรอบหมู่บ้าน ส่วนในบริเวณเชิงเขาใกล้หมู่บ้านจะมีลักษณะเป็นป่าเต็งรังหรือป่าแพะ ที่มีสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนกรวดทราย หน้าดินตื้น พันธุ์ไม้ที่พบบริเวณนี้ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวงประดู่แดงและไผ่หลายชนิด

สืบเนื่องจากความหลากหลายของพืชพรรณธรรมชาติบริเวณโดยรอบหมู่บ้านแม่สาบ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น หมู่ป่า เก้ง กวาง ลิง เลียงผา อีเห็น ไก่ป่า และนกอีกหลายชนิด ชาวบ้านสามารถพึ่งพาอาศัยเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่พืชพรรณหลายชนิดเริ่มแตกดอกออกผล ทั้งเห็ด หน่อไม้ และผักป่า

ด้านแหล่งน้ำ บ้านแม่สาบมีลำน้ำแม่สาบเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลัก เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยนหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้านมาช้านาน ชาวบ้านสามารถใช้น้ำจากลำน้ำแม่สาบในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ในอดีตชาวบ้านแม่สาบมีการจัดการระบบชลประทานเพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชนโดยการสร้างฝายชะลอน้ำใช้เอง แต่ภายหลังกรมชลประทานได้เข้ามาช่วยเหลือจัดระบบชลประทานให้ โดยการสร้างฝายคอนกรีตถาวรถึง 9 แห่ง มีลำเหมือง 9 ลำเหมือง ทำหน้าที่ส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่ทางการเกษตร นอกจากลำน้ำแม่สาบแล้ว ยังมีลำห้วยทั้งขนาดเล็ก และลำห้วยขนาดใหญ่อีกหลายลำห้วยที่ไหลบรรจบที่ลำน้ำแม่สาบ เช่น ลำห้วยก๋องงอง ลำห้วยกองอาง ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านแม่สาบมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี อนึ่ง บ้านแม่สาบยังมีบ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดขึ้นใช้เองอีก 2 บ่อ และมีบ่อน้ำบาดาลที่เกษตรกรขุดใช้ในพื้นที่ไร่นาอีกหลายบ่อ ส่วนระบบการจัดสรรน้ำใช้ระบบประปาภูเขา ซึ่งชาวบ้านจะใช้ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำจากลำห้วยและบ่อน้ำไว้บนภูเขาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน 

บ้านแม่สาบเป็นชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หย่อมบ้าน คือ บ้านแม่สาบเหนือ และบ้านแม่สาบใต้ ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 95 เป็นชาวไทลื้อ สัดส่วนที่เหลือเป็นคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่งงานอยู่ภายในหมู่บ้าน ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว เนื่องจากเมื่อบุตรธิดาแต่งงานแล้ว โดยปกติจะย้ายออกไปสร้างบ้านเป็นของตัวเอง 

ไทลื้อ

ลักษณะการประกอบอาชีพของชาวไทลื้อบ้านแม่สาบ ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดด้วยลักษณะทางนิเวศวิทยาของสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนเป็นหลัก ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก มีทั้งการทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ นอกจากงานภาคการเกษตรแล้ว อีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมของชาวบ้าน คือ การค้าขาย สินค้าที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันจะเป็นสินค้าจำพวกของป่า พืชผักสวนครัว นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ยึดอาชีพรับจ้างก่อสร้างเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม

ในอดีตการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านแม่สาบ เป็นระบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นไปเพื่อการยังชีพเท่านั้น มีการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี พืชที่นิยมปลูกมีหลายชนิด เช่น ข้าว กระเทียม ยาสูบ ถั่วลิสง ฯลฯ ภายหลังการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการขยายโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ส่งผลให้ระบบการผลิตของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตเพื่อการขาย ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ข้าว กระเทียม กะหล่ำปลี ในช่วงนี้เริ่มมีการติดต่อซื้อขายกับคนจากนอกชุมชน มีพ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามาซื้อผลผลิตภายในหมู่บ้านมากขึ้น นอกจากการขายผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีการค้าขายสินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภค โดยบางครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ จำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก แชมพู เนื้อสัตว์ ผัดสด เป็นต้น นอกจากเกษตรกรรมและค้าขายซึ่งถือเป็นรายได้หลักของคนในชุมชนแล้ว ยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ ขับรถโดยสารรับจ้าง รับเหมาก่อสร้าง และรับจ้างทั่วไป 

ชาวไทลื้อบ้านแม่สาบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักประจำชุมชน เนื่องจากชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบเป็นชุมชนที่มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับจารีต ประเพณี และประพฤติปฏิบัติตัวอยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ในหมู่บ้านมีวัดถึง 2 แห่ง คือ วัดแม่สาบเหนือ และวัดแม่สาบใต้ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวไทลื้อมีความผูกพันกับวัดมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่มีลักษณะการพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกค่อนข้างน้อย ทำให้โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมค่อนข้างแน่นแฟ้นการดำรงชีวิตจะเป็นไปในรูปแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมีระเบียบประเพณีเป็นสื่อ และใช้วัดเป็นศูนย์กลางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

ด้วยพื้นฐานความศรัทธาที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา ส่งผลให้ชาวไทลื้อบ้านแม่สาบมีคติความเชื่อเกี่ยวกับนรกสวรรค์ เชื่อว่าคนที่ประกอบกรรมดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ส่วนคนที่กระทำกรรมชั่วจะตกนรกหลังจากตายไปแล้ว

นอกจากความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์แล้ว ความเชื่อเรื่องผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ยังเป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้าน “ผี” ในที่นี้ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีเจ้านาย หรือผีเสื้อบ้านผีเสื้อเมือง ผีหม้อนึ่ง หรือผีปู่ดำย่าดำ ผีสือ ผีโพง ผีกะ ผีโหง ผีสองนาง ผีตามอด หรือผีตามอย ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ได้แก่ พระแม่ธรณ๊ เจ้าที่ เจ้าดิน และเทวดาอารักษ์ ชาวบ้านเชื่อว่าผืนดินทุกแห่งจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องดูแลอยู่เสมอ เช่น ผีฝายและผีน้ำบ่อ เป็นผีธรณีเจ้าที่ ซึ่งประจำอยู่ที่ฝายหรือบ่อน้ำแต่ละแห่ง ทำหน้าที่ดูแลรักษาปริมาณน้ำจากลำน้ำแม่สาบหรือบ่อน้ำให้มีปริมาณเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงพืชพรรณ และการอุปโภคบริโภคในแต่ละปี 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวไทลื้อบ้านแม่สาบมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาไทลื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษากลุ่มตระกูลไท มีลักษณะคล้ายภาษาไทยเหนือหรือคำเมือง และภาษาไทยกลาง 


เนื่องจากนโยบายของภาครัฐที่พยายามจะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ โดยมุ่งเน้นปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้สามารถเอื้ออำนวยต่อการขยายกำลังการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ อันจะส่งผลให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการค้าและการแข่งขันในระบบตลาด ซึ่งมีผลทำให้วิถีชีวิตของชาวไทลื้อบ้านแม่สาบเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่การทำเกษตรกรรมของคนในชุมชนเป็นไปเพื่อการยังชีพ วิถีการผลิตจะอาศัยแรงงานและปัจจัยธรรมชาติเป็นหลัก สิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติรอบตัว หรือได้จากการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งรูปแบบการผลิตและแลกเปลี่ยนดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าเป็น “ระบบเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ” ที่ให้ความสำคัญต่อความสมดุลของสภาพแวดล้อม ทว่า นับตั้งแต่การเข้ามาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 รูปแบบการผลิตและบริโภคของคนในชุมชนบ้านแม่สาบก็เปลี่ยนเป็นการทำเกษตรที่มุ่งเน้นปริมาณการผลิต และรายได้จากการขายผลผลิต มีการนำเอาเครื่องจักร รวมทั้งวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของตลาด เหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องอาศัย “ทุน” ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้นำชาวไทลื้อบ้านแม่สาบเข้าสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบ “เศรษฐกิจทุนนิยม”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). แผนที่ภูมิประเทศ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566].

จุฑามาศ สนกนก และพิเชฐ อนุกูล. (2529). ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทลื้อ. โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัย.

เสกสรร สรรสรพิสุทธิ์. (2546). อัตลักษณ์ของไทลื้อและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม: กรณีศึกษาบ้านแม่สาบ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.