ชุมชนจีนฮ่อบ้านสันติชล ได้นำเอาประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบจีนฮ่ออันเป็นรากฐานของชุมชน ทั้งการรักษาโรค บ้านดิน และการแปรรูปอาหารแบบจีนยูนนาน มานำเสนอเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนดึงดูกนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม
ที่มาของชื่อชุมชน “สันติชล” มาจากผู้พันทหารคนหนึ่งเป็นผู้ตั้งให้ เพื่อให้ชุมชนอยู่อย่างสงบสุข ดั่งสายน้ำที่นิ่งแล้ว
ชุมชนจีนฮ่อบ้านสันติชล ได้นำเอาประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบจีนฮ่ออันเป็นรากฐานของชุมชน ทั้งการรักษาโรค บ้านดิน และการแปรรูปอาหารแบบจีนยูนนาน มานำเสนอเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนดึงดูกนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม
หมู่บ้านสันติชล อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคือชาวจีนฮ่อ หรือชาวจีนยูนนานที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามกลางเมืองระหว่างทหารจีนคณะชาติกับทหารจีนคอมมิวนิสต์ และเมื่อฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเมื่อปี พ.ศ. 2492 กองกำลังทหารจีนคณะชาติต้องหลบหนีออกนอกประเทศ โดยถอยร่นไปอยู่แถบไต้หวัน เวียดนาม รัฐฉาน ประเทศพม่า และประเทศไทย โดยชาวจีนฮ่อที่หลบหนีเข้าอยู่ในประเทศไทยนั้น ทางรัฐบาลไทยได้ถือว่าเป็นบุคคลที่หลบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย แต่อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดได้ เนื่องจากถือเป็นการลี้ภัยจากเหตุการณ์สงคราม ต่อมารัฐบาลไทยได้ใช้อดีตทหารจีนคณะชาติชาวจีนฮ่อกลุ่มนี้ให้ทำการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณงามความดีต่อประเทศ ประกอบกับชาวจีนฮ่อบางคนได้ปฏิเสธการกลับสู่ประเทศ เพราะต้องการอยู่อาศัยในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงได้ทำการโอนสัญชาติให้กับอดีตทหารจีนคณะชาติชาวจีนฮ่อกลุ่มนี้ และให้ทางกระทรวงมหาดไทยจัดสรรพื้นที่ในการสร้างบ้านเรือนแก่ชาวจีนฮ่อในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยชาวจีนฮ่อที่พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอยู่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านรักไทย หมู่บ้านสุริยะ และหมู่บ้านสันติชล
สภาพแวดล้อม
บริเวณที่ตั้งบ้านสันติชล มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ซึ่งส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงในเวลากลางวันส่วนในตอนกลางคืนจะได้รับอิทธิพลจากลมภูเขา ทำให้อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว เมื่อความร้อนในตอนกลางวันลอยตัวขึ้นไปด้านบนปะทะกับความชื้นของอากาศ ทำให้เกิดหมอกปกคลุมทั่วบริเวณตลอดทั้งปี
สถานที่สำคัญ
ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน ตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้าหมู่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน นำเสนอเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนานมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยจำลองตกแต่งหมู่บ้านให้มีรูปแบบคล้ายหมู่บ้านจีนยูนนาน ภายในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนานจะมีบ้านดิน (บ้านที่ใช้ดินปั้นขึ้นมา) ตั้งเรียงรายเป็นบ้านจำลองวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเปิดเป็นร้านอาหารจีนยูนนาน ร้านขายชา ร้านจำหน่ายของที่ระลึก มีลานกว้างที่เป็นสนามหญ้า สระน้ำ และชิงช้าไม้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของการพัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ ฟื้นฟูอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนาน
ศาลเจ้าที่ของหมู่บ้าน ศาลเจ้าที่หมู่บ้านสันติชลสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2518 ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะมาไหว้สักการะเพื่อขอเรื่องความปลอดภัย โชคลาภ การค้าขาย เป็นต้น ศาลแห่งนี้มีกฎอยู่ 1 ข้อ คือ ห้ามผู้หญิงเข้าไปภายในอาณาบริเวณของรั้วศาล หากต้องการกราบไหว้บูชาต้องไหว้จากภายนอกรั้วศาลเท่านั้น
หมวดคริสต์เตียนบ้านสันติชล มีสถาปัตยกรรมเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ทำหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนาให้แก่คนในชุมชน รับอุปการะเด็กกำพร้า และเปิดสอนภาษาอังกฤษให้กับคนภายในหมู่บ้าน
บ้านสันติชล ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนวัฒนธรรมชาวจีนฮ่อ หรือจีนยูนนาน
จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)อาชีพหลักของชาวจีนฮ่อหมู่บ้านสันติชล คือ การทำเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมทำไร่ เช่น ลำไย กระเทียม ข้าวโพด และกะหล่ำปลี เพื่อส่งขายให้กับนักท่องเที่ยว และพ่อค้าคนกลาง บางครอบครัวเปิดร้านขายของชำ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน และเนื่องจากบ้านสันติชลตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีทัศนียภาพโดยรอบงดงาม มีการนำเสนอเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนาน โดยจำลองตกแต่งหมู่บ้านให้มีรูปแบบคล้ายหมู่บ้านจีนยูนนาน เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน
บ้านสันติชล ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมจีนฮ่อที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนฮ่อเด่นชัด มีการรักษารูปแบบวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม มีการแต่งกายที่คงเอกลักษณ์กลิ่นอายชาวเขา รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ ทั้งการดื่มชา ขี่ม้า และการรักษาสุขภาพด้วยลมปราณตามตำรับจีน
ภาษาพูด : ภาษาไทย ภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ภาษาจีนยูนนาน
ภาษาเขียน : ภาษาไทย ภาษาจีนยูนนาน ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต
เตภิตา เสือหัน. (2557). พลวัตทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวจีนฮ่อ: กรณีศึกษา หมู่บ้านสันติชล ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อรศิริ ปาณินท์. (2540). การศึกษาหมู่บ้าน บ้าน และเทคโนโลยีการก่อสร้างของหมู่บ้านจีนฮ่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.