
พระธาตุดวงสุพรรณ คู่บ้าน สืบสานประเพณี ลิ้นจี่มากมาย สร้างรายได้สู่ชุมชน ทุกคนสามัคคี เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า รู้ค่าเศรษฐกิจพอเพียง
ตั้งชื่อมากจาก คำว่า “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นไม้ประเภทเดียวกับหญ้าทั่วไป เป็นพืชที่มีอายุนานหลายปีขึ้นเป็นกอแน่น มีระบบรากลึกช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี สมัยก่อนตำบลป่าแฝกมีหญ้าแฝก เกิดขึ้นทั่วไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นตำบลนี้จึงได้ชื่อว่าตำบลป่าแฝก เช่นเดียวกับชื่อหมู่บ้าน ประกอบกับหมู่บ้านตั้งอยู่ติดดอยหลวง เขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวงพะเยา
พระธาตุดวงสุพรรณ คู่บ้าน สืบสานประเพณี ลิ้นจี่มากมาย สร้างรายได้สู่ชุมชน ทุกคนสามัคคี เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า รู้ค่าเศรษฐกิจพอเพียง
“แม่ใจ” เดิมชื่อ “บ้านปง” ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ให้ข้อคิดเห็นแนวเดียวกันว่า”บ้านปง” นั้นเพราะแต่เดิมชาวแม่ใจกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานอพยพมาจากบ้านปงแสนทอง จังหวัดลำปาง อำเภอแม่ใจ จัดตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็นเมือง และ ตำบล เมื่อ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ในขณะนั้น “แม่ใจ”มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ซึ่งได้จัดการปกครองรวมกันเข้าเป็นจังหวัดพายัพ (โรงพยาบาลแม่ใจ)
อำเภอแม่ใจ จัดตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) โดยมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ซึ่งได้จัดการปกครองรวมกันเข้าเป็นจังหวัดพายัพ ภาคเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2453 กำหนดให้อำเภอแม่ใจค้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในเขตมณฑลพายัพ
บ้านป่าแฝกดอย หมู่ 4 เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวที่มีชื่อว่าบ้านป่าแฝกหมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยประชากรส่วนใหญ่จะอพยพมาจากจังหวัดลำปาง น่าน และแพร่ ประมาณ พ.ศ. 2432 ได้มาช่วยกันถางป่า และมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งเพิ่มมากขึ้น เดิมทีพื้นที่หมู่บ้านเต็มไปด้วยหญ้าแฝกเกิดขึ้นทั่วไปเป็นจำนวนมาก และมีขุนน้ำป่าแฝกไหลผ่านจึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านป่าแฝก ก่อนปี 2430 มีสำนักสงฆ์ตั้งมาก่อน ปัจจุบันคือวัดป่าแฝกเหนือ
ในปี พ.ศ. 2457 (ร.ศ. 132) อำเภอแม่ใจ ถูกยุบให้เหลือเป็นตำบลหนึ่ง ของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2494 เดิมบ้านป่าแฝกเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งบุคคลคนแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในบ้านป่าแฝก คือ พ่ออุ้ยใจ ที่อพยพมาจากแม่ใจ จากนั้นกลุ่มคนจากลำปาง แพร่ น่าน ได้อพยพตามมา เนื่องจากมาหาแหล่งต้นน้ำและพื้นที่ทำกิน จึงมีการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นมา
พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อยและตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน
พ.ศ. 2507 พระครูมงคล ปัญญาคุณ เป็นผู้บูรณะวัด สร้างโรงเรียนป่าแฝก ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนป่าแฝกเหนือ
พ.ศ. 2508 พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอแม่ใจ พ.ศ.2508 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย
พ.ศ.2510 บ้านป่าแฝกเหนือ เดิมชื่อบ้านป่าแฝก อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นประชากรเพิ่มขึ้น กรมการปกครองจึงมีความเห็นให้แยกออกจากบ้านป่าแฝก หมู่ที่ 3 มาเป็นหมู่บ้านใหม่ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า บ้านป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
พ.ศ. 2516 แยกหมู่บ้านจากบ้านป่าแฝกเหนือหมู่ที่ 3 เป็นหมู่ 12 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138) พร้อมกับมีเสาไฟฟ้าแบบไม้
พ.ศ. 2532 ตำบลป่าแฝก ได้แยกพื้นที่ตั้งตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา บ้านป่าแฝกดอย ได้เปลี่ยนจากบ้านหมู่ที่ 12 เป็นหมู่ที่ 4 จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2551 ได้สร้างโรงน้ำดื่มประจำหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงปัจจุบันโดยผ่านตามมาตรฐาน อย.
พ.ศ. 2552-2557 ได้มีการสร้างโรงปุ๋ยหมักชีวภาพ
พ.ศ. 2555 ได้มีการทำโครงการยุ้งฉางข้าวขึ้นมาเพื่อเป็นที่ออมข้าวของหมู่บ้านหากใครมีข้าวไม่เพียงพอสามารถมายืมไปใช้ก่อน
พ.ศ. 2557 ได้มีการสร้างประปาหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2560 ได้มีปั๊มน้ำมันอัตโนมัติของเอกชนขึ้นมาเพื่อจำหน่ายในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2562 ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม จนถึงเดือน สิงหาคมได้มีการระบาดของไข้เลือดออกในหมู่บ้านมีจำนวนผู้ป่วย 51 รายจึงทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ อสม. ได้ช่วยกันทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก ปัจจุบันมีนางพิทักษ์ เหมยต่อม เป็นผู้ใหญ่บ้าน
บ้านป่าแฝกดอย หมู่ที่ 4 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทศบาลตำบลป่าแฝก ห่างจากตัวอำเภอแม่ใจ ประมาณ 6 กิโลเมตร และห่างจากเทศบาลตำบลป่าแฝกประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 37,855 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,366 ไร่ ห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ 40 กิโลเมตรตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 3 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝกเหนือ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 7 บ้านใหม่สันคือ ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
สภาพภูมิประเทศ สภาพพื้นที่ตั้งบ้านป่าแฝกดอย เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา โดยมีห้วยน้ำแม่เย็นและห้วยป่าแฝกไหลผ่านหมู่บ้าน มีพื้นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยและทำการเกษตร พื้นที่ของหมู่บ้านมีทั้งหมด 2,366 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,454 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ทำนาประมาณ 1,000 ไร่ พื้นที่ทำไร่ประมาณ 100 ไร่ พื้นที่ทำสวนประมาณ 354 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัยประมาณ 912 ไร่ สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างเป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้
ประชากรบ้านป่าแฝกดอย หมู่ 4 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำนวน 157 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 447 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิง จำนวน 221 คน และเพศชาย จำนวน 226 คน เพศหญิง ช่วงอายุ 50-54 ปี มีจำนวนประชากรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.16 รองลงมาคือ ช่วงอายุ 60-64 ปี คิดเป็นร้อยละ 5.15 และมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดคือ ช่วงอายุ 25-29 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.57 ส่วนเพศชาย ช่วงอายุ 55-59 ปี มีจำนวนประชากรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 6.26 รองลงมาคือช่วงอายุ 50-54 ปี คิดเป็นร้อยละ 5.59 และมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดคือช่วงอายุ 30-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.34
บ้านเรือนส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยรั้วเพื่อแสดงขอบเขตของบ้าน มีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในขอบเขตเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันมีความมั่นคงถาวร การตั้งบ้านเรือนตั้งตามถนนภายในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 15 ซอย ภายในหมู่บ้านเป็นชุมชนที่แวดล้อมด้วย ไร่นา ภูเขา มีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำแม่เย็น และ แม่น้ำป่าแฝก ชาวบ้านป่าแฝกดอยมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองโดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบทั้งการทำนา ทำสวนลิ้นจี่ เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง อีกทั้งยังมีกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์เพื่อจำหน่ายในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน มีวัดป่าแฝกเหนือและพระธาตุดวงสุพรรณเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน ชาวบ้านบ้านป่าแฝกดอยมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง มีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านที่สืบทอดต่อกันมา
ปฏิทินเศรษฐกิจ
ประชากรเกินครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ซึ่งจะทำปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงมกราคม-มิถุนายน เรียกว่า นาปรัง ส่วนช่วงกรกฎาคม-พฤศจิกายน เรียกว่านาปี และ การทำสวน ได้แก่ การปลูกลิ้นจี่ และแคนตาลูป ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอแม่ใจ จะปลูกปีละ 2 ครั้งคือ ช่วงมกราคมและตุลาคม ดูแลและเก็บผลผลิตลิ้นจี่ช่วง พฤษภาคม และตลอดทั้งปีมีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวนลิ้นจี่ เลี้ยงสัตว์ รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป
ปฏิทินทางวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านป่าแฝกดอย มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ชาวบ้านในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ มีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคือวัดบ้านป่าแฝกเหนือ ซึ่งในวันสำคัญมักจะประกอบศาสนกิจในวัดบ้านป่าแฝกเหนือ ประเพณีส่วนใหญ่เป็นแบบล้านนาทั่วไป ซึ่งบ้านป่าแฝกดอยมีประเพณีที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่น คือ ประเพณีทำบุญครบรอบมรณภาพท่านพระครูมงคล ปัญญากุล ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมประจำของหมู่บ้านที่จะจัดขึ้นเป็นงานใหญ่ ทุกวันที่ 18 กุมภาพันธ์ของทุกปี (เดือน 5) โดยท่านพระครูมงคล ปัญญากุล เป็นผู้บูรณะเจดีย์พระธาตุดวงสุพรรณ และชาวบ้านจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุดวงสุพรรณ ในเดือนมีนาคม (6 เป็ง เดือน 6) ประเพณีปี๋ใหม่เมือง เทศกาลสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ขนทรายเข้าวัดจะจัดทุกวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ประเพณีเลี้ยงผีพ่อบ้าน เลี้ยงผีขุนน้ำ ในเดือนมิถุนายน (เดือน 9) ประเพณีเปรตพลี (12 เป็ง) ซึ่งเป็นการทำบุญตักบาตรหาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และประเพณีตานสลากภัตร ซึ่งจะจัดขึ้นบางปี ในเดือนกันยายน นอกจากนี้ยังมีประเพณีตานข้าวใหม่ เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ลอยกระทง และทอดกฐิน
1. นายคำปา ศรีใจก๋า
นายคำปา ศรีใจก๋า เป็นบุคคลที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือ เนื่องจากนายคำปาสมัยอดีตเคยเป็นผู้บุกเบิกการสร้างโรงเรียนป่าแฝกเหนือที่เป็นอาคารไม้ และนายคำปาได้ไปอบรมสมุนไพรศูนย์เกษตรภาคเหนือได้นำความรู้ที่ได้มารักษาประชาชนในหมู่บ้าน โดยใช้สมุนไพรในพื้นที่ป่าและปลูกไว้ในสวนของตนเอง เมื่อมีประชาชนที่ป่วยมาหา นายคำปาจะรักษาโดยการให้ต้มและดองสมุนไพรรับประทานและได้มีการรักษาโดยการเป่าด้วยซึ่งทำให้อาการเจ็บป่วยของชาวบ้านทุเลาลง
ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านป่าแฝกดอยหมู่ที่ 4 มีลักษณะทางนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เนื่องจากการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ มีพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรม แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค 4 แห่ง คือ 1) ประปาหมู่บ้าน 2) โรงน้ำดื่มชุมชนป่าแฝกดอย 3) บ่อน้ำตื้น 4) อ่างเก็บน้ำแม่เย็น
- ป่าชุมชนบ้านป่าแฝกดอย เริ่มโครงการเมื่อปี 2546 อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ประเภทป่า มีเนื้อที่ 16 ไร่ จัดว่าเป็นพื้นที่ป่าชุมชนในลุ่มน้ำอิง ในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน
- อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแฝก บ้านป่าแฝกดอย หมู่ 4 ต.ป่าแฝก อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีฝายชะลอน้ำ จำนวน 9 ฝาย
ทุนเศรษฐกิจ
- กลุ่มพัฒนาสตรีบ้านป่าแฝกดอย หมู่ที่ 4
- กลุ่มข้าวเมล็ดพันธุ์ป่าแฝกดอย 72 หมู่ 4 ต.ป่าแฝก อ.แม่ใจ จ.พะเยา วิสาหกิจชุมชน
- หมู่บ้านต้นแบบเกษตรอินทรีย์
ทุนวัฒนธรรม
- วัดป่าแฝกเหนือ ป่าแฝกดอย หมู่ 4 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ
- วัดพระธาตุดวงสุพรรณ บ้านป่าแฝกดอย หมู่ที่ 4 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
ในอดีตการดูแลสุขภาพของชุมชนบ้านป่าแฝกดอยเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ การรับประทานอาหารต่าง ๆ มาจากอาหารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น การหาของป่ามารับประทาน และมีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร เมื่อเกิดการเจ็บป่วยก็จะดูแลกันภายในครอบครัว ในสมัยก่อนในหมู่บ้านจะมีหมอรักษา ทางไสยศาสตร์ มีพิธีกรรมในการรักษา เช่น การเป่า เป็นต้น ซึ่งจะรักษาในคนที่ป่วยเป็นกระดูกหัก งูสวัด ร่วมกับมีการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเทศบาลตำบลป่าแฝก และการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอแม่ใจ และมีการรักษาโดยการใช้สมุนไพรต่าง ๆ เช่น รากหญ้าพันงูรากหญ้าคา รากมะเฟือง รางจืด ฯลฯ โดยมีการสืบถอดกันมารุ่นสู่รุ่นและนำสมุนไพรมาจากป่า
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป เริ่มรู้จักการซื้อขายกันมากขึ้น การประกอบอาหารเปลี่ยนไป มีอาหารแปลกใหม่ที่ไม่เคยรับประทาน เริ่มมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จึงทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคใหม่ ๆ และประกอบกับชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการร่วมกิจกรรมในชุมชน เทศกาล การจัดงานสังสรรค์ต่าง ๆ มีผลให้การดื่มสุราและสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด เก๊าท์
หมู่บ้านป่าแฝกดอยหมู่ 4 เป็นหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงของรอยเลื่อนพะเยาพาดผ่านต่อการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านป่าแฝกดอย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอน พิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.
ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 29. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนป่าแฝกดอย หมู่ 4 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.
ราชกิจจานุเบกษา. (2520). พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ.2520. ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 94 ตอน 69. 28 กรกฎาคม 2520.