สิ่งแวดล้อมพร้อมทุกอย่าง ห้วยต้นยางป่าชุมชน ราชมงคลมหาวิทยาลัย ชาติพันธุ์ใหญ่ชาวไทเขิน ถิ่นเจริญทางวัฒนธรรม ร่วมหนุนนำความสุขศรี สามัคคีและปรองดอง นามป่าป้องเทศบาล
ชื่อชุมชน “บ้านป่าป้อง” มาจากประวัติบรรพบุรุษของชาวไทยเขินบ้านป่าป้องกลุ่มแรกที่ได้อพยพลงมาจาก “บ้านป้อง” เอิ่ง (ตำบล) กาดเต้า (ตลาดขี้เถ้า) เมืองเชียงตุงแคว้นฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ได้เดินทางติดตาม “เจ้ามหาขนาน กษัตริย์ของชาวไทเขิน” จากเมืองเชียงตุงมาถึงเมืองเชียงใหม่และได้รวบรวมกลุ่มญาติพี่น้องที่มาจากบ้านป้อง เอิ่ง กาดเต้า เมืองเชียงตุงเลือกทำเลที่ตั้งบ้านให้อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหารใกล้ภูเขา มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไหลมาจากภูเขา ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อได้ตั้งบ้านเสร็จแล้วก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนเอง ตามถิ่นที่อยู่เดิมที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนในเมืองเชียงตุง ก่อนที่พวกเขาจะอพยพลงมาว่า “ บ้านป่าป้อง” เนื่องจากได้มาตั้งรากถิ่นฐานใหม่อยู่ในป่าใกล้ภูเขา จึงได้เติมคำว่า “ป่า” ไว้หน้าชื่อของหมู่บ้านเดิมก็คือ “บ้านป้อง” เอิ่งกาดเต้า (ตำบลกาดเต้า) เมืองเชียงตุง ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็คือ บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 3 และบ้านป่าป้อง หมู่ที่ 4 ตำบลป่าป้อง อำเภอ ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
สิ่งแวดล้อมพร้อมทุกอย่าง ห้วยต้นยางป่าชุมชน ราชมงคลมหาวิทยาลัย ชาติพันธุ์ใหญ่ชาวไทเขิน ถิ่นเจริญทางวัฒนธรรม ร่วมหนุนนำความสุขศรี สามัคคีและปรองดอง นามป่าป้องเทศบาล
เมื่อวันจันทร์ที่ 15 เดือนเมษายน ปีพุทธศักราช 2354 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 เหนือ (เดือน 5 ใต้) ปีเม็ดเหนือ (ปีมะแมใต้) ตรีศก คริสต์ศักราช 1811 มหาศักราช 1733 จุลศักราช 1173 นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ศก 515 รัตนโกสินทร์ศก 30 เป็นวัน “พญาวัน” ของชาวไทเขิน บรรพบุรุษของชาวไทเขินบ้านป่าป้องกลุ่มแรกกลุ่มหนึ่งที่ได้อพยพลงมาจาก “บ้านป้อง” เอิ่ง (ตำบล) กาดเต้า (ตลาดขี้เถ้า) เมืองเชียงตุงแคว้นฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่า การอพยพย้ายถิ่นฐานลงมาในครั้งนี้ เป็นการอพยพติดตามเจ้ามหาขนานหรือเจ้าฟ้าเขมรัฐมหาสิงหะบวรสุธรรมราชา ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2347 ถึงปีพุทธศักราช 2354 นั้น เป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ของ “พระเจ้ากาวิละ” (พญากาวิละหรือนายขนานกาวิละ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์แรกในสมัยนั้นปกครองปีพุทธศักราช 2324-2358 แห่งราชวงศ์จักรีของกรุงรัตนโกสินทร์
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระเจ้ากาวิละ ได้ให้เจ้ามหาอุปราชธรรมลังกา คุมกำลังไปตีเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ แล้วกวาดต้อนครัวเรือนเมืองเชียงแสนทั้งหมด จำนวนประมาณ 23,000 คนเศษ กลับมายังเมืองเชียงใหม่ ต่อมาได้ผลัดเปลี่ยนกับญาติวงศ์ ยกกำลังออกไปตีเมืองต่าง ๆ นับตั้งแต่เมืองฝาง (อำเภอฝาง) ไปจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงคำ เชียงของ เมืองเชียงตุง เข้าถึงดินแดนสิบสองปันนา ฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) เมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง) เมืองงัวลาย เมืองกิติ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อกวาดต้อนครัวเรือนแต่ละเมืองกลับมายังเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุงของชาว “ไทเขิน” ได้ถูกพม่าโจมตี เพื่อต้องการให้เมืองเชียงตุงเป็นเมืองขึ้น ในครั้งนั้น “เจ้ามหาขนาน” ซึ่งเป็นกษัตริย์ของชาวไทเขิน ได้ขอความช่วยเหลือจากเมืองเชียงใหม่ “พระเจ้ากาวิละ” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้ให้ “เจ้าพุทธวงศ์” (พระยาพุทธวงศ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 คุมกำลังยกทัพไปช่วยเจ้ามหาขนานเพื่อขับไล่พม่าที่เมืองเชียงตุง แต่ทำไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ถอยทัพมารออยู่ที่เมืองยอง โดยมีกองทัพของ “เจ้ามหาอุปราชธรรมลังกา” (พระยาธรรมลังกา ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนคร เชียงใหม่ องค์ที่ 2) และเจ้านายอื่น ๆ จึงถอยทัพกลับมายังเมืองเชียงใหม่ “เจ้ามหาขนาน” กษัตริย์ของชาวไทเขิน ก็ได้นำชาวไทเขินส่วนหนึ่งที่สมัครใจจากหมู่บ้านต่าง ๆ ของเมืองเชียงตุง อพยพติดตามเจ้ามหาขนานลงมากับกองทัพเชียงใหม่ ลงมาตั้งรากถิ่นฐานใหม่ที่เมืองเชียงใหม่ และบริเวณโดยรอบตัวเมืองเชียงใหม่
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวไทเขินแต่ละบ้าน (หมายถึงบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง) เมื่อมาถึงเชียงใหม่พร้อมกับเจ้ามหาขนานกษัตริย์ของชาวไทเขินแล้วก็ได้รวมกลุ่มเครือญาติของตนเองที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันในเชียงตุง กระจายกันไปจับจองหาที่อยู่ใหม่เป็นกลุ่ม ๆ กระจายกันอยู่ทั่วไป เริ่มตั้งบ้านนับตั้งแต่บริเวณรอบ ๆ กำแพงเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงบริเวณที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ แยกย้ายกันไปตามความต้องการแต่ละกลุ่ม เช่น บ้านวัวลาย (บ้านงัวลาย) บ้านประตู เชียงใหม่ บ้านประตูหายยา บ้านนันทาราม ตำบลหายยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ใกล้ ๆ กำแพงเมืองประตูเชียงใหม่ และบ้านท่ากระดาษ ตำบลฟ้าฮ่าม ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ห่างจากกำแพงเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งสองหมู่บ้านนี้ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ส่วนชาวไทเขินที่เดินทางไปหาที่อยู่ใหม่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 20-30 กิโลเมตร แต่ก็ยังอยู่ในเขตนครเชียงใหม่ เช่น หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสันป่าตอง ก็มีบ้านป่าลานและบ้านสันต้นแหน ชาวไทเขินที่เลือกทำเลที่ตั้งไปทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ระยะทางประมาณ 15-30 กิโลเมตร ก็มีหลายหมู่บ้าน อาทิ ในเขตอำเภอสันกำแพงในปัจจุบัน มีบ้าน สันข้าวแคบ บ้านสันกลาง บ้านซาว บ้านหัวนา เป็นต้น บ้านเหล่านี้อยู่ในตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง นอกจากนี้ยังมีชาวไทเขินที่อาศัยอยู่ที่บ้านสันพระเนตร (บางส่วน) ในเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อีกแห่งหนึ่งด้วย
เมื่อกลุ่มชาวไทเขินที่อพยพมาจาก “บ้านป้อง” เอิ่งกาดเต้า เดินทางติดตาม “เจ้ามหาขนาน กษัตริย์ ของชาวไทเขิน” จากเมืองเชียงตุงมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ได้รวบรวมกลุ่มญาติพี่น้องที่มาจากบ้านป้อง เอิ่ง กาดเต้า เมืองเชียงตุงเหมือนกันได้เลือกทำเลที่ตั้งบ้านให้อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารใกล้ภูเขา มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไหลมาจากภูเขา ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อได้ตั้งบ้านเสร็จแล้วก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนเอง ตามถิ่นที่อยู่เดิมที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนในเมืองเชียงตุง ก่อนที่พวกเขาจะอพยพลงมาว่า “บ้านป่าป้อง” ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ได้มาตั้งรากถิ่นฐานใหม่อยู่ในป่าใกล้ภูเขา จึงได้เติมคำว่า “ป่า” ไว้หน้าชื่อของหมู่บ้านเดิม ก็คือ “บ้านป้อง” เอิ่งกาดเต้า (ตำบลกาดเต้า) เมืองเชียงตุง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็คือ บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 3 และบ้านป่าป้อง หมู่ที่ 4 ตำบลป่าป้อง อำเภอ ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านป่าป้องได้ตั้งวัดป่าป้องในวันเดียวกันกับวันตั้งหมู่บ้าน เลือก “มื้อจั๋นทร์วันดี” (ฤกษ์งามยามดี) ในวันตั้งบ้านป่าป้องและวัดป่าป้อง ก็คือวันจันทร์ ที่ 15 เดือนเมษายน ปีพุทธศักราช 2354 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 เหนือ (เดือน 5 ใต้) ปีเม็ดเหนือ (ปีมะแมใต้) ตรีศก คริสต์ศักราช 1811 มหาศักราช 1733 จุล ศักราช 1173 นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ศก 515 รัตนโกสินทร์ศก 30 ซึ่งเป็นวันพญาวันของชาวไทเขิน เนื่องจากชาวไทเขินบ้านป่าป้องสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของชาวไทเขินแห่งเมืองเชียงตุง ดังนั้น ศิลปวัฒนธรรม ภาษา จารีตประเพณี และศาสนาพุทธ จึงได้ยึดมั่นผูกพันอยู่ในเลือดเนื้อเชื้อไข และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานของชาวไทเขินมาโดยตลอดไม่เสื่อมคลาย
โดยในปี พ.ศ. 2490 ในขณะนั้น ร.ต.อ. ประธาน โชติวรรณ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอดอยสะเก็ดได้ดำเนินการแบ่งแยกการปกครองท้องที่ จากตำบลป่างิ้ว ป่าป้อง ออกจากกัน ให้เป็น 2 ตำบล คือ ตำบลป่างิ้ว เป็นตำบลสง่าบ้าน และตำบลป่าป้อง และมีการตั้งตำบลป่าป้องขึ้นมา 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย หมู่ที่ 2 บ้านป่าไม้แดง หมู่ที่ 3 บ้านป่าป้อง หรือบ้านดวงดีปัจจุบัน หมุ่ที่ 4 บ้านป่าป้อง และหมู่ที่ 5 บ้านใต้ร้อง
จาก หนังสือประวัติการตั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตำนานต้าเก๊าหอของชาวไทเขิน บ้านป่าป้อง ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนบ้านป่าป้องมีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นตามลำดับเวลา ดังนี้
พ.ศ. | เหตุการณ์สำคัญ |
2347 | ชาวไทเขิน ที่อาศัยอยู่ เมืองเชียงตุงแคว้นฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่าได้ ถูกพม่าโจมตี |
2354 | บรรพบุรุษของชาวไทเขินบ้านป่าป้องกลุ่มแรกกลุ่มหนึ่ง ที่ได้อพยพลงมาจาก “บ้านป้อง” เอิ่ง (ตำบล) กาดเต้า (ตลาดขี้เถ้า) เมืองเชียงตุงแคว้นฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่ามาถึงเมืองเชียงใหม่แล้วก็ได้รวบรวมกลุ่มญาติพี่น้องที่มาจากบ้านป้อง เอิ่ง กาดเต้า เมืองเชียงตุงเหมือนกัน ได้เลือกทำเลที่ตั้งบ้านให้อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหารใกล้ ภูเขา มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ คือ ชุมชนบ้านป่าป้องในปัจจุบันพร้อมกับการก่อตั้งวัดชยาลังการ์ (วัดป่าป้อง) |
2378 | มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ภายในวัดชยาลังการ์ ( วัดป่าป้อง ) ได้แก่ วิหาร อุโบสถ พระ เจดีย์และกำแพงวัด |
2465 | ครูบาชัยยา พุทธโสภณ ( บุญตัน ) เจ้าอาวาสวัดป่าป้องในขณะนั้น ได้จัดตั้งโรงเรียนวัดป่าป้องขึ้น โดยอาศัยศาลาวัดเป็นสถานที่เรียนหนังสือ |
2485 | นายคำปัน ศรีบุญเรือง ( ครูใหญ่ ) ย้ายโรงเรียน มาตั้งบนที่ดินที่จัดซื้อ ปัจจุบันโรงเรียนบ้านป่าป้องสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น |
2490 | นายอำเภอดอยสะเก็ดในขณะนั้น ร.ต.อ. ประธาน โชติวรรณ ดำรงตำแหน่งได้ดำเนินแบ่งแยกการปกครองท้องที่ จากตำบลป่างิ้ว ป่าป้อง ออกจากกัน ให้เป็น 2 ตำบล คือ ตำบลป่างิ้วเป็นตำบลสง่าบ้าน และตำบลป่าป้อง และมีการตั้งตำบลป่าป้องขึ้นมา 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย หมู่ที่ 2 บ้านป่าไม้แดง หมู่ที่ 3 บ้านป่าป้อง หรือบ้านดวงดีปัจจุบัน หมู่ที่ 4 บ้านป่าป้อง และหมู่ที่ 5 บ้านใต้ร้อง |
2548 | พระครูปริยัติชยาลังการ์ ได้จัดตั้งและเปิด “ศูนย์เรียนรู้ ศาสนา” |
2559 | เริ่มจัดงานประเพณี “ สงฆ์น้ำพระธาตุทองคำ ” ถือเป็นงานบุญหลวงของวัดที่จัดงานทุกปีจนถึงปัจจุบัน |
บ้านป่าป้อง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนเส้นทางดอยสะเก็ด-บ่อสร้าง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอดอยสะเก็ด เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ส่วนมากเป็นที่เกษตรกรรม ภูมิประเทศของตำบลป่าป้อง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและมีพื้นที่บางส่วนของหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 เป็นภูเขา ซึ่งอยู่ชั้นความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร มีลักษณะลาดเอียงไปทางทิศตะวันตก มีคลองชลประทานแม่กวง แม่น้ำดอกแดงและเหมืองหลวง (หญ้าปล้อง) ไหลผ่าน มีเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 23.33 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 14,583 ไร่ แบ่งเขตพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย หมู่ที่ 2 บ้านป่าไม้แดง หมู่ที่ 3 บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 4 บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 5 บ้านป่าป้อง ใต้ร้อง หมู่ที่ 6 บ้านดวงดี หมู่ที่ 7 บ้านป่ายางงาม และหมู่ที่ 8 บ้านทุ่งยาว
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับตำบลเชิงดอย โดยมีแม่น้ำดอกแดงและสันเขาเป็นแนวแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดกับตำบลแม่โป่ง โดยมีคันนาและสันเขาเป็นแนวแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดกับตำบลเชิงดอยและบ้านสง่างาม โดยใช้คันนาและลำเหมืองเป็นแนวแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดกับตำบลสง่างาม ตำบลป่าป้องและตำบลแม่โป่ง โดยใช้กันนาเหมืองกองิ้ว และน้ำแม่จ้องเป็นแนวแบ่งเขต
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพัดระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม และพายุดีเปรสชั่นที่เกิดบริเวณทะเลจีนตอนใต้ ประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ทำให้ภูมิอากาศมีลักษณะเป็นแบบอากาศชื้นและแล้ง แบ่งฤดูออกได้เป็น 3 ฤดูกาลด้วยกัน คือ
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – พฤศจิกายน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุใต้ฝุ่น (ดีเปรสชั่น) จากทะเลจีนตอนใต้
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จากทะเลจีน พัดพาความหนาวเย็น และความแห้งแล้ง
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าหาบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลจีนใต้ เป็นลมร้อน
ลักษณะประชากร
ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านป่าป้อง ส่วนใหญ่จะเป็นประชากรที่อพยพมาจากบ้านป้อง ตำบลกาดเต้า เมืองเชียง ตุงแคว้นฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่า เป็นชาวไทเขิน และประชากรบางส่วนเป็นผู้ที่อาศัยในพื้นที่มาแต่เดิม บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 173 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 444 คน เป็นชาย 209 คน เป็นหญิง 235 คน (ข้อมูลจากการสำรวจ ปี 2563) มีลักษณะความเป็นอยู่ที่พึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นญาติกันมักจะอยู่บ้านติดกัน ภายในบริเวณบ้านมีการปลูกต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ทำให้ร่มรื่น แม้บ้านแต่ละหลังจะค่อนข้างห่างกัน แต่จะมีการไปมาหาสู่กันเสมอ และมีลักษณะการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพที่คล้ายคลึงกัน เช่น ธุรกิจส่วนตัว รับราชการ รับจ้างทั่วไป เป็นต้น
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- ป่าไม้ : ป่าไม้ในชุมชนมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นสวนลำไยเป็นหลัก
- ดิน : ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการเพาะปลูก
- แหล่งน้ำ : มีแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ประกอบด้วย น้ำเหมืองร้องอิน และประปาหมู่บ้าน
พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่างๆและสาธารณูปโภคในชุมชน
บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆและสาธารณูปโภคในชุมชน (ข้อมูลจากการสำรวจ ปี 2563) ดังนี้
- วัด: มีจำนวนวัน 1 แห่ง คือ วัดชยาลังการ์ ปัจจุบันมีพระจำพรรษาในวัดจำนวน 2 รูป และมีสามเณร 7 รูป ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาประชาชนจะไปรวมตัวกัน เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาที่วัด และทุกวันพระและ มีการทำกิจกรรมทางศาสนาตามโอกาส เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา จะมีการเข้าวัด สวดมนต์ เวียนเทียน ฯลฯ
- ไฟฟ้า: ทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือน
- น้ำกินน้ำใช้ : ประชาชนในหมู่บ้านจะใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ในการอุปโภค และส่วนใหญ่ใช้น้ำบรรจุขวดในการบริโภค
- สถานพยาบาล หากมีการเจ็บป่วยเล็กน้อยประชาชนจะดูแลสุขภาพด้วยตนเอง หรือไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน รพสต และคลินิกตามลำดับสถานพยาบาลใกล้บ้าน คือ รพ.สต.ป่าป้อง
- ตลาด: มีตลาดทุกเช้า เวลา 04.00 – 07.00 ซึ่งจะขายของประเภทผัดสด อาหารแห้ง ที่ใช้ในการประกอบอาหาร
- ขนบธรรมเนียมประเพณี มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีปีใหม่เมือง ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ บวชลูกแก้ว ตานก๋วยสลาก ประเพณีพื้นเมืองทั่วไป เช่น ประเพณีวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) ประเพณีพื้นเมืองเฉพาะ ได้แก่ ตานพระไม้ ปี๋ใหม่ไทเขิน เลี้ยงผีปู่ย่า ตานขันข้าวไปหาคนตาย ซึ่งจะมีชาวบ้านมาร่วมงานตลอดเนื่องด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทเขิน
จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 173 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 444 คน (จากการสำรวจข้อมูลปี 2563) จากการศึกษาผังเครือญาติของบ้านป่าป้อง หมู่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในหมู่บ้าน ป่าป้องมีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล และมีนามสกุลที่มีจำนวนผู้รู้จักมากที่สุด คือ นามสกุล พิณโณเอก จากการสอบถามประวัติความเป็นมา ต้นตระกูลนี้มีนามสกุล พิณโณเอก ตั้งแต่รุ่นทวด ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านป่าป้อง โดยกำเนิด นอกจากนี้บุคคลในตระกูลหลายคนยังเป็นผู้นำสำคัญในชุมชน มีการสืบทอดการเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อกันมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาความสัมพันธ์ทางเครือญาติของตระกูล พิณโณเอก พบว่าสมาชิกในตระกูลมีสัมพันธภาพภายในครอบครัวที่ดี มีความสนิทสนมรักใคร่ ช่วยเหลือกันดีทั้งยามเจ็บป่วยและตอนอยู่ดีมี สุข ญาติพี่น้องคนอื่นๆ ก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำเพราะอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันและใกล้เคียงกัน ส่วนในวันเทศกาลลูกหลานหรือพี่น้องที่อาศัยอยู่ที่อื่นก็กลับมาเยี่ยมหาญาติผู้ใหญ่เสมอ มีการรวมตัวกันที่บ้านพิณโนเอก ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุมากสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานให้ความเคารพนับถือ
ไทขึนอาชีพหลัก : ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางไปจนถึงฐานะดี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการและประกอบธุรกิจส่วนตัว และรับจ้างทั่วไป ประชาชนส่วนน้อยประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำนา ทำสวน รวมทั้งภายในหมู่บ้านมีกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นเงินทุนให้ประชาชนในชุมชนได้กู้ยืม
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน
สมาชิกส่วนใหญ่ เป็นชุมชนไทเขิน ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นแบบพี่น้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันเป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากในเชิงโครงสร้างทางสังคม สังเกตจากกลุ่มองค์กรต่างๆในชุมชนมีสมาชิกคนเดียวกันที่ดำรงตำแหน่งหลายบทบาทหน้าที่ นอกจากนี้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งในหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้จะได้รับการคัดเลือก และการยอมรับนับถือจากสมาชิกในหมู่บ้าน และมีภาวะความเป็นผู้นำที่ดี สามารถดูแลรับผิดชอบงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย และเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชน ประชาชนในชุมชน เมื่อมีงานสำคัญต่าง ๆ ในชุมชนที่ต้องทำร่วมกัน ประชาชนในชุมชนจะสามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ความสัมพันธ์ทางการเมือง
นายปราการ พิณโนเอก ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ในการบริหารชุมชนและประชาสัมพันธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์ หรือเรื่องที่เป็นปัญหาให้แก่คนในชุมชนทราบ โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยของคนในชุมชนในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่คอยสนับสนุนและรับเรื่องหรือปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และวางแผนร่วมกันเพื่อแก้ไขและพัฒนาหมู่บ้าน
โครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านป่าป้อง
จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรชุมชน พบว่าโครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านป่าป้อง หมู่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยในแต่ละองค์กรจะมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน องค์กรในชุมชนเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเอง และมาจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันชุมชนบ้านป่าป้องได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
กลุ่มองค์กรที่เป็นทางการ
1. กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดยผ่านการเลือกตั้งจากคนในชุมชนมีผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการหมู่บ้าน มีวาระในการดำรงตำแหน่งจนอายุครบ 60 ปี มีรองประธานกรรมการและคณะกรรมการหมู่บ้าน ทั้งหมด 19 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาหมู่บ้าน ร่วมกันพิจารณาแผนการทำงาน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านเกิดความสงบสุข เจริญรุ่งเรือง อยู่รวมกันอย่างมีความสุขและได้แบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานดังนี้
- ด้านอำนวยการ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการ การจัดประชุม การรับจ่าย เก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของหมู่บ้าน การประชาสัมพันธ์ การประสานงานและติดตามการทำงานของคณะทำงานด้านต่าง ๆ การจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการในรอบปีและงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการหมู่บ้านมอบหมาย
- ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของหมู่บ้าน การสร้างความเป็นธรรมและประนีประนอมข้อพิพาท การตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในหมู่บ้าน การคุ้มครองดูแลทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะของหมู่บ้าน การป้องป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภยันตรายของหมู่บ้าน
- ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ประสานการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านกับคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อดำเนินการหรือเสนอของบประมาณจากภายนอก การรวบรวม และจัดทำข้อมูลต่างๆ ของหมู่บ้าน และติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาหมู่บ้าน
- ด้านส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน การพัฒนาและส่งเสริมการประกอบอาชีพ การผลิตและการตลาดเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ การจัดสวัสดิการในหมู่บ้าน และการสงเคราะห์ผู้ยากจนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ การส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข
- ด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา ศาสนา การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของหมู่บ้าน
2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เป็นองค์กรที่เกิดจากการสมัครใจของสมาชิกในกลุ่ม รวบรวมสมาชิกกลุ่ม และเสนอรายชื่อแก่หน่วยงานราชการ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าป้อง ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง อสม.แต่ละคนจะมีเขตรับผิดชอบของตนเอง ตามที่ได้รับมอบหมาย โดย อสม. 1 คน รับผิดชอบดูแลประมาณ 9-10 หลังคาเรือน ปัจจุบันมีสมาชิก ทั้งหมด 15 คน โดยมี นายอนันต์ พูลทาจักร เป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแกนนำสุขภาพ และดูแลสุขภาพของคนในชุมชน
บทบาทหน้าที่
- ติดตามเยี่ยม และดูแลสุขภาพครอบครัวที่รับผิดชอบออกเยี่ยมบ้านของคนในหมู่บ้านที่มีปัญหาสุขภาพ
- เป็นแกนนำในการรณรงค์การป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก แนะนำวิธีการป้องกันพาหะนำโรค การกำจัดลูกน้ำยุงลาย
- คัดกรองโรคเรื้อรังในหมู่บ้านเชิงรุก เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, มะเร็งปากมดลูก,มะเร็งเต้านม เป็นต้น
- การออกวัดความดันโลหิต เจาะวัดระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจสุขภาพของคนในหมู่บ้าน
- เป็นสื่อกลางในการประสานงานติดต่อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆเกี่ยวกับสุขภาพ
3. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (กลุ่มกองทุนเงินล้าน) เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นจากการเลือกกันเองภายในชุมชน โดยได้เงินสนับสนุนของกองทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือประชาชนภายในชุมชนเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือคนในหมู่บ้านให้สามารถกู้ยืมเงิน มีเงินทุนและเงินเก็บออม เพื่อนำไปสร้างอาชีพได้
บทบาทหน้าที่
- บริหารจัดการกองทุน การกู้ยืมเงินของสมาชิกภายในหมู่บ้าน
- ทำบัญชีจัดสรรผลประโยชน์ของกองทุนภายในหมู่บ้าน
- จัดให้ประชาชนสามารถได้กู้ยืมเงิน โดยมีการเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี
- กลุ่มกองทุนวันละบาท (กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลป่าป้อง)
เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น โดยมีสมาชิกจากกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล และให้ประชาชนสามารถ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนภายในชุมชนให้ได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเมื่อเกิด การเจ็บป่วย และสนับสนุนให้ประชาชนมีเงินเก็บออม วัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีเงินทุนและเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น
บทบาทหน้าที่
- เก็บออมเงินจากสมาชิกในกลุ่ม วันละ 1 บาท
- จัดให้มีสวัสดิการชุมชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่าย
- จัดให้ประชาชนสามารถเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาเมื่อเกิดการเจ็บป่วยได้ เมื่อประชาชนเก็บออมครบ 181 วัน สามารถเบิกค่ายานพาหนะเดินทางไปรับการรักษา กรณีเกิด การเจ็บป่วย โดยสามารถเบิกได้ 5 ครั้ง ต่อ 1 ปี ครั้งละ 50 บาท ส่วนกรณีนอนโรงพยาบาล จะได้ค่าห้องโรงพยาบาลคืนละ 100 บาท 6 คืน/ปี
กลุ่มองค์กรที่ไม่เป็นทางการ เป็นการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน โดยมีส่วนร่วม ข้อตกลงร่วมกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งอาจไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ซึ่งกลุ่มองค์กรที่ไม่เป็นทางการของหมู่บ้านนี้มีทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มแม่บ้าน เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของแม่บ้าน หรือสตรีวัยทำงานของหมู่บ้านป่าป้อง การทำงานของกลุ่มแม่บ้านเป็นที่ยอมรับมาตลอด ทั้งงานราชการ ประเพณี และงานต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน ประธานกลุ่มแม่บ้านหมูที่ 3 คือ นางปภาภัทร พากดวงใจ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นตัวแทนในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ภายในและภายนอกหมู่บ้าน รวมกลุ่มทำกิจกรรม เมื่อมีงานของระดับตำบลและอำเภอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
บทบาทหน้าที่
- เป็นแกนนำหลักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของบ้านป่าป้อง เช่น งานประเพณี งานบุญ โรงทาน ฯลฯ
- ตัวแทนกลุ่มแม่บ้าน จะเข้าร่วมกิจกรรมภายในชุมชนหรือกิจกรรมระดับตำบลและอำเภอทุกครั้งที่มีโอกาส
2. กลุ่มพ่อบ้าน เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพ่อบ้าน หมู่ 3 บ้านป่าป้อง ที่อยู่ในวัยทำงาน การทำงานของกลุ่มพ่อบ้านเป็นที่ยอมรับมาตลอด ทั้งงานราชการ ประเพณีงานต่าง ๆ ภายในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มในการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนในงานต่าง ๆ ภายในและภายนอกหมู่บ้าน รวมกลุ่มทำกิจกรรมเมื่อมีงานของระดับตำบลและอำเภอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และใช้เวลาว่างให้เกิด ประโยชน์
บทบาทหน้าที่
- เป็นแกนนำหลักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของบ้านป่าป้อง เช่น งานประเพณีวัฒนธรรม งานบุญ งานราชการ งานที่ต้องใช้พละกำลังของหมู่บ้าน เป็นต้น
- ตัวแทนกลุ่มพ่อบ้าน จะเข้าร่วมกิจกรรมภายในชุมชนหรือกิจกรรมระดับตำบลและอำเภอทุกครั้งที่มีโอกาส
- กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุในชุมชน มารวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยทำกิจกรรมในระดับชุมชน ระดับตำบล เช่น งานประเพณีต่าง ๆ กิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีบทบาทที่สำคัญของชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มีโอกาสพบปะสร้างความสัมพันธ์ภายในหมู่บ้านเดียวกัน และหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลป่าป้อง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
บทบาทหน้าที่
- เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม
- เข้าร่วมทำกิจกรรมร่วมกับทางตำบล และเทศบาล
- เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุที่เทศบาลตำบลป่าป้อง
- ชมรมปั่นจักรยาน เป็นกลุ่มชมรมที่จัดตั้งขึ้นกันเองภายในชุมชน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ ส่งเสริมการออกกำลังกายของคนในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเกิดความเพลิดเพลิน
บทบาทหน้าที่
- นัดหมายวัน เวลา และจำนวนสมาชิกในการปั่นจักรยานร่วมกัน
- รวมกลุ่มปั่นจักรยานตามระยะทางและเส้นทางที่กำหนด
- ติดตามผลการดำเนินงาน จากกิจกรรมการปั่นจักรยาน
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
เนื่องจากชุมชนบ้านป่าป้องเป็นสังคมชนบท มีจำนวนประชากรค่อนข้างมากอาศัยอยู่ในชุมชน ปัจจุบันประชาชนในชุมชนประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พนักงานทั่วไป รับจ้างทั่วไปและทำเกษตรกรรม เช่น การทำนา ทำสวนลำไย เป็นต้น ประชาชนบางส่วนได้เข้าไปทำงานในตัวเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และกลับเข้ามาพักอาศัยในชุมชนช่วงหลังเลิกงาน ลักษณะการทำงาน มีงานทำตลอดทั้งปีและอาจมีวันหยุดสุดสัปดาห์ หรืออาจมีวันหยุดตามเทศกาล ส่วนการทำนา ทำสวน ส่วนใหญ่แล้วคนในชุมชน ส่วนมากจะปลูกข้าว ทำสวนลำไย และปลูกพืชผักสวนครัวไว้ เพื่อรับประทานเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ผักกาด ผักบุ้ง กะเพรา พริก เป็นต้น และรับประทานผักปลอดสารเคมี อีกทั้งคนในชุมชนส่วนมากในช่วงวัยสูงอายุจะไม่ได้ประกอบอาชีพ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเบี้ยบำนาญ และเบี้ยผู้สูงอายุ
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงานและการสื่อสาร
ประชาชนบ้านป่าป้องเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือแบบไทเขิน) ในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และ บุคคลภายนอก จะใช้ภาษาไทยกลางและภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร
การแต่งกาย จากการสังเกตภายในชุมชน พบว่า ประชาชนในชุมชนบ้านป่าป้อง มีการแต่งกายตามยุคสมัย คือ เสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้นหรือขายาว ตามความเหมาะสมของฤดูกาล อาชีพ บริบททางสังคมและการใช้ชีวิตประจำวัน กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินจะรวมกลุ่มแต่งกายชุดไทเขิน ในช่วงมีประเพณีที่สำคัญของชุมชน หรือได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญๆกับหน่วยงานราชการ ได้แก่ เทศบาลตำบลป่าป้อง ที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด ฯลฯ เช่น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินได้ร่วมเดินขบวนกับเทศบาลตำบลป่าป้องในพิธีเปิด "งานซะป๊ะของดี อำเภอดอยสะเก็ด ครั้งที่ 15"
วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร นิยมรับประทานเป็นอาหารพื้นเมืองหรืออาหารท้องถิ่นพื้นบ้านภาคเหนือ โดยซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดสดหรือพืชผักสวนครัวที่ปลูกเอง ส่วนใหญ่นิยมประกอบอาหารรับประทานเองเพื่อความปลอดภัยและคุณค่าทางสารอาหาร อาหารส่วนใหญ่จะรับประทานเป็นแกงและน้ำพริกเป็นหลัก รสชาติอาหารพอดีไม่เผ็ดจัด ไม่เน้นรสใดเป็นหลัก
ขนบธรรมเนียมประเพณี ชุมชนป่าป้องมีการรักษาจารีตประเพณีอันดีงามตามท้องถิ่นล้านนาและประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นตามไทยกลาง เช่น ประเพณี สงกรานต์ ประเพณีดำหัวปีใหม่เมือง ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ บวชลูกแก้ว การเลี้ยงผีปู่ย่า ประเพณีลอยกระทง นอกจากนี้ชุมชนยังมีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ เช่น ตั้งธรรมหลวง ตานข้าวใหม่ ตานพระไม้ ตานต้นเงินหรือตานก๋วยสลาก เป็นต้น ส่วนความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติยังคงมีให้พบเห็นอยู่ เช่น การนับถือผีปู่ย่า (การทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้ ปกปักรักษาคุ้มครองคนในครอบครัว) รวมถึงพิธีการสืบชะตาบ้านสืบชะตาหมู่บ้านในวันสำคัญต่างๆ
ด้านสาธารณูปโภคและการรับรู้ข่าวสาร
ชุมชนบ้านป่าป้อง มีการใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุกครัวเรือน และบริเวณภายในชุมชนมีไฟฟ้าส่องสว่างในที่สาธารณะแก่ประชาชนในเวลากลางคืน สำหรับการใช้น้ำในการอุปโภค ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากประปาหมู่บ้าน บางส่วนใช้น้ำบาดาลและน้ำบ่อ สำหรับการใช้น้ำในการบริโภค ส่วนใหญ่บริโภคน้ำบรรจุขวดโดยการซื้อเองบางส่วนใช้น้ำประปาและน้ำบาดาล ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ โดยเสียงตามสาย และมีการประชุมในหมู่บ้าน เดือน ๆ ละ 1-2 ครั้ง เมื่อผู้ใหญ่บ้านได้รับข่าวสารจากทางราชการก็จะแจ้งในที่ประชุมให้ทราบ โดยคนในชุมชนได้ให้ความร่วมมือดีและเข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ
1. นายปราการ พิญโนเอก (การ) เกิดปี พ.ศ. 2518 อายุ 48 ปี
ภูมิลำเนา บ้านป่าป้อง หมู่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
“ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” นายปราการกล่าว คติที่ตนยืดถือและเป็นแนวทางในการทำงานให้ มีประสิทธิภาพ และเป็นตัวอย่างผู้นำที่ดีและซื่อสัตย์ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญก้าวหน้า เป็นหมู่บ้านที่มีประชาชนมีความเข้มแข็งด้านสุขภาพและการปกครอง ให้ประชาชนและชุมชนน่าอยู่ สงบเรียบร้อย
นายปราการ พิญโนเอก เป็นคนบ้านป่าป้อง ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด ตั้งแต่กำเนิด ในวัยอายุ 44 ปี นายปราการ พิญโนเอก ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนบ้านป่าป้อง หมู่ 3 แต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เนื่องจากตระกูลของนายปราการ พิญโนเอก เป็นตระกูลที่มีการสืบทอดการเป็นผู้นำชุมชนตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นปัจจุบัน ประชาชนเรียกนายปราการ พิญโนเอกว่า “พ่อหลวงบ้าน” ในช่วงที่นายปราการ พิญโนเอก ดำรง ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้านได้มีมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจัดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ดำเนินการติดตามผู้ที่ติดเชื้อและคอยสอดส่องดูแลผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยมาตรการดังกล่าวทำให้ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ภายในหมู่บ้าน ซึ่งทำให้เห็นถึงมาตรการการป้องกันโรคและการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในด้านเกษตร โดยเป็นผู้ลงมือทำโครงการและเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวบ้าน เช่น โครงการปลูกผักสวนครัว โครงการทำปุ๋ยหมักจากธรรมชาติ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนเข้ามาศึกษาดูแปลงสาธิตการเกษตรของตนเองภายในบ้าน และนายปราการมีแผนการพัฒนาหมู่บ้านโดยดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านตามแผนพัฒนาชุมชนระยะเวลา 5 ปี
2. นายอินเสลิญ ไพยากรณ์ (เสลิญ) เกิดปี พ.ศ. 2484 อายุ 82 ปี
ภูมิลำเนา บ้านป่าป้อง หมู่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นนักปราชญ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านป่าป้อง หมู่ 3 อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายอินเสลิญ ไพยากรณ์ ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานสหกรณ์เกษตร อำเภอดอยสะเก็ด เป็นระยะเวลา 25 ปี ปี 2539 ได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าป้อง ปี 2556 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการหมู่บ้าน มีความขยันอดทน ตั้งใจทำงาน และการเสียสละเพื่อส่วนรวมในการเป็นผู้นำด้านต่างๆในชุมชน ปัจจุบันนายอินเสริญ ไพยากรณ์ ดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง ทำการเกษตรแนวผสมผสาน และมีการแบ่งปันแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนในชุมชน เพื่อที่จะให้ชุมชนสามารถพึงพาตนเองได้และยั่งยืน ผลงานด้านการเกษตรที่โด่งดัง คือ การปลูกชมพูทับทิมจันทร์
3. อาจารย์วีระชาติ พาจรทิศ มีภูมิลำเนาอยู่ บ้านป่าป้อง หมู่ 4 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานชมรมชาวไทเขินบ้านป่าป้อง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทเขินและวรรณกรรม ประวัติชาวไทเขิน วัฒนธรรมประเพณีชาวไทเขิน ท่านได้จัดทำหนังสือในรูปแบบของ (E-book) ชื่อ “หนังสือองค์ความรู้ ไทเขิน ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ”
ทุนวัฒนธรรม
1. ชุดไทยเขิน ชาวไทยเขินในบ้านป่าป้อง หมู่ที่ 3 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ เมื่อมีงานบุญทางศาสนาและประเพณีต่าง ๆ และงานปอยของชาวไทยเขินเมืองเชียงตุง ปัจจุบันประชาชนในชุมชนบ้านป่าป้อง มีการแต่งกายตามยุคสมัย คือ เสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้นหรือขายาว ตามความเหมาะสมของฤดูกาล อาชีพ บริบททางสังคมและการใช้ชีวิตประจำวัน กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินจะรวมกลุ่มแต่งกายชุดไทเขิน ในช่วงมีประเพณีที่สำคัญของชุมชน หรือได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญๆกับหน่วยงานราชการ ได้แก่ เทศบาลตำบลป่าป้อง ที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด ฯลฯ เช่น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินได้ร่วมเดินขบวนกับเทศบาลตำบลป่าป้องในพิธีเปิด "งานซะป๊ะของดี อำเภอดอยสะเก็ด ครั้งที่ 15"
2. การประดิษฐ์โคมล้านนา งานประเพณียี่เป็งของชุมชนบ้านป่าป้อง จะทำการประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน วัด สถานที่ราชการและสถานที่เอกชน ด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีป การจุดโคมไฟ หรือโคมล้านนา โดยจะประดิษฐ์โคมล้านนาในรูปลักษณะต่างๆ เช่น โคมดาว โคมผัด โคมแปดเหลี่ยม โคมหูกระต่าย โคมไห โคมรังมดส้มหรือโคมเสมาธรรมจักร เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน มีหลากหลายรูปแบบตามแต่ละภูมิปัญญาของท้องถิ่น โคมล้านนาจะใช้ไม้ไผ่เหียะและไผ่ข้าวหลามมาสานขึ้นโครง เป็นตะกร้าหรือชะลอม จากนั้นนำกระดาษสา กระดาษแก้ว หรือผ้าดิบมาปิดทับโครงนั้น แล้วจึงตัดกระดาษสีเงิน สีทอง เป็นลวดลายลายสไตล์ล้านนาประดับตกแต่งลงไปอย่างสวยงาม แล้วจุดไฟลงไปในผางประทีป หรือน้ำมันไข เพื่อให้เกิดแสงสว่างในยามค่ำคืน โดยการบูชาโคมล้านนามีความเชื่อว่าจะนำความสว่างไสวให้เกิดแก่ชีวิต สร้างความเป็นสิริมงคล ความเจริญ ความสุข แสงของโคมนำทางสู่สติปัญญาให้แก่เจ้าของบ้านและคนในครอบครัว
ทุนมนุษย์
ชุมชนบ้านป่าป้อง หมูที่ 3 เป็นชุมชนไทเขิน ที่มีความรักใคร่ สามัคคี ปรองดองกันดี และจากคำบอกเล่าของประชาชนในชุมชน มีบุคคลที่มีความสำคัญกับชุมชนไทเขินเป็นอย่างมาก คือ อาจารย์วีระชาติ พาจรทิศ มีภูมิลำเนาอยู่ บ้านป่าป้อง หมู่ 4 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานชมรมชาวไทเขินบ้านป่าป้อง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทเขินและวรรณกรรม ประวัติชาวไทเขิน วัฒนธรรมประเพณีชาวไทเขิน ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการจัดทำหนังสือในรูปแบบของ (E-book) ชื่อ “หนังสือองค์ความรู้ ไทเขิน ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ” ขึ้นเพื่อให้ประชาชนชาวไทยเขินทั้งในพื้นที่ ต่างพื้นที่และบุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาและเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ อาหาร ภาษา การแต่งกายและประเพณีของชาวไทยเขิน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รักษา อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีที่ดีงามของบรรพบุรุษต่อไป
ประชาชนในชุมชน ได้นำเอาภาษาพูดและภาษาเขียนของชาวไทเขิน จากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า มาใช้ในการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันภายในชุมชน โดยสำเนียงไทเขินจะมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ มีสำเนียงเสียงสูงและมีความไพเราะในตัวเอง เมื่อชาวไทเขินในชุมชนและต่างหมู่บ้านมาพบปะพูดคุยกันจะมีการพูดด้วยเสียงที่ดังและมีความเป็นกันเองอย่างสนุกสนาน
ชุมชนบ้านป่าป้อง เป็นสังคมชนบท ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พนักงานทั่วไป รับจ้างทั่วไปและทำเกษตรกรรม ส่วนกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่นและวัยทำงาน จะเข้าไปเรียนหนังสือ ทำงานในตัวเมืองและทำงานต่างจังหวัด โดยมีโอกาสกลับมาในชุมชนบ้านป่าป้อง ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือช่วงมีเทศกาลที่สำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ส่งผลต่อขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทเขิน เช่น ภาษาไทเขิน การแต่งกาย การรับประทานอาหาร ฯลฯ เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมพูดภาษาไทเขิน จะพูดภาษาไทยกลางหรือภาษาพื้นเมือง เนื่องจากการสื่อสารในโรงเรียน การทำงาน รวมถึงการพูดคุยสื่อสารกับครอบครัวและคนในชุมชนมีน้อย การอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของชาวไทเขินบางอย่างอาจสูญหาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา คนรุ่นเก่าและเด็กรุ่นใหม่ไม่มีเวลาที่จะได้ร่วมเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน
ประวัติการเก็บข้อมูลชุมชนที่ผ่านมา
- 2563 : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ลงฝึกปฏิบัติงานรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลชุมชน 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาม, เทศบาลตำบลป่าป้อง. (2565). หนังสือองค์ความรู้ ไทเขิน ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. https://anyflip.com/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (12 พฤษภาคม 2566). ความรู้คู่ป่าป้อง ตอนที่ 1 : ชาวไทเขินบ้านป่าป้องมาจากไหน. โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลป่าป้อง (U2T). ค้นจาก https://www.youtube.com/
เทศบาลตำบลป่าป้อง. (17 พฤษภาคม 2566). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเทศบาลตำบลป่าป้อง. ค้นจาก http://www.papong.go.th/
วัดชยาลังการ์. (30 เมษายน 2566). ประเพณีสรงน้ำพระธาตุทองคำ ประเพณีสร้างพระเจ้าไม้ถวายวัด ประเพณีสืบชะตาหลวง. ค้นจาก https://www.facebook.com/watpapong.
อรยา บุญคำภาและคณะ. (2563). รายงานพัฒนาอนามัยชุมชน บ้านป่าป้อง หมูที่ 3 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานการฝึกปฏิบัติงานรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลชุมชน 2, เชียงใหม่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.