Advance search

อารามเวียงห้าว (สำนักปฏิบัติธรรมสวนโพธิอิสระ)

หมู่ที่ 11
บ้านดงอินตาเหนือ
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
28 เม.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
15 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
29 พ.ค. 2023
บ้านดงอินตาเหนือ

ตั้งชื่อหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านดง” และกลายเป็น “บ้านดงอินตา” ในปัจจุบัน โดยนำเอาชื่อพ่ออินตาต่อท้ายเป็นการให้เกียรติผู้ที่มาอยู่เป็นคนแรก


ชุมชนชนบท

อารามเวียงห้าว (สำนักปฏิบัติธรรมสวนโพธิอิสระ)

บ้านดงอินตาเหนือ
หมู่ที่ 11
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.3823687
99.84321624
เทศบาลตำบลบ้านเหล่า

บ้านดงอินตาเหนือหมู่ที่ 11 เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยการนำของ พ่ออินตา อุตตะมะ การอพยพครั้งแรกได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสันคอกม้า (ปัจจุบันเป็นฌาปนสถาน) มีจำนวน 30 ครัวเรือน ต่อมามีผู้อพยพตามมาเรื่อย ๆ มีประชากรมากขึ้น และประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พ่ออินตาได้นำกระบือไปเลี้ยงในป่าดง นานวันเข้ามีชาวบ้านนำกระบือมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับพื้นที่บ้านสันคอกม้าน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภคกลายเป็นน้ำสีเหลือง (น้ำมีสนิม) ใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ พ่ออินตาจึงพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านดงเป็นครอบครัวแรก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2465 และมีชาวบ้านอพยพตามมาทีหลัง มีผู้คนเยอะขึ้น จึงตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านดง” และกลายเป็น “บ้านดงอินตา” ในปัจจุบัน (นำเอาชื่อพ่ออินตาต่อท้ายเป็นการให้เกียรติผู้ที่มาอยู่เป็นคนแรก)

ต่อมาพ่ออินตาได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะวัดร้าง (วัดห่าง) ขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ วัดดงอินตา ในปัจจุบัน และจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดเพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนหนังสือ วัดดงอินตาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ และมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา พ่ออินตาได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างบ้านเรือน และพัฒนาบ้านดงอินตาจนรุ่งเรืองมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พ่ออินตาได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา ในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 85 ปี พ่ออินตาได้เริ่มสร้างหลักปักฐานอยู่บ้านดงเมื่อพุทธศักราช 2465 และได้ร่วมกับชาวบ้านเริ่มบูรณะวัดร้าง (วัดห่าง) ขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ วัดดงอินตา ในปัจจุบัน และจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดเพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ วัดดงอินตาเป็นวัดโดยสมบูรณ์และมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลตั้งแต่พุทธศักราช 2470 เป็นต้นมา พ่ออินตาทำหน้าที่เป็นผู้นำเรื่อยมาและได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ใหญ่บ้านมาเรื่อย ๆ หมู่บ้านดงอินตามีการพัฒนามากขึ้นตามมา

อำเภอแม่ใจ จัดตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) โดยมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ซึ่งได้จัดการปกครองรวมกันเข้าเป็นจังหวัดพายัพ ภาคเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2453 กำหนดให้อำเภอแม่ใจ ขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในเขตมณฑลพายัพ

ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็น “เมือง” และ “อำเภอ” เมื่อ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ในขณะนั้น“แม่ใจ” มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ที่ได้จัดการปกครองรวมกันเป็นจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ให้อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จำนวน 6 คน คนแรกคือนายถิน ได้นามสกุลภายหลังการมี พรบ.นามสกุลคือ ควรสมาคม ต่อมาในปี ร.ศ. 133 (พ.ศ. 2457) อำเภอแม่ใจ ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2499 ได้มีโรคเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ที่ชาวบ้าน เรียกว่า โรคเปลี้ย (โรคโปลิโอ) มีลักษณะหัวโต พุงโล ก้นปอด จะดีขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น ประมาณ 4-5 ปี และเมื่อปีพุทธศักราช 2522 มีชาวบ้านไปทำงานต่างจังหวัด และกลับมาพร้อมกับโรคไข้จับสั่น แต่ขณะนั้นการสาธารณสุขเริ่มดีขึ้น ทำให้สามารถดูแลรักษาและควบคุมโรคได้ดี และมีการทำถนนลูกรังเข้าหมู่บ้านเมื่อปีพุทธศักราช 2523 ถัดมาอีกหนึ่งปีก็พัฒนาขึ้นเป็นถนนลาดยาง โดยยานพาหนะที่ใช้ในตอนนั้นมีเพียงเกวียนลาก จากนั้นมีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านเมื่อปีพุทธศักราช 2526 และปีต่อมาพุทธศักราช 2527 ได้มีการอบรม อสม.รุ่นแรกขึ้น และมีถนนคอนกรีตเข้าซอยภายในหมู่บ้าน

พ.ศ.2470 ชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน จากที่ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านได้เล่าให้ฟังว่าอพยพมาจากบ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยการนำของพ่ออินตา อุตตะมะ การอพยพครั้งแรกตั้งบ้านเรือนที่บ้านสันคอกม้า (ปัจจุบันเป็นฌาปนสถาน) จำนวน 30 ครัวเรือน ภายหลังที่อาศัยถิ่นฐานนี้ได้ไม่นาน บ่อน้ำตื้นที่ขุดใช้ น้ำมีสภาพเป็นสีสนิม ไม่สามารถนำน้ำมาอุปโภคบริโภคได้ จึงชักชวนกันย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ใหม่ ไม่ไกลกัน ที่บ้านดงอินตา ณ ปัจจุบัน ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อยๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม

พ.ศ. 2474 มีการขุดเจอพระพุทธรูปจึงได้สร้างวัดดงอินตาขึ้น โดยมีวิหาร 1 หลังเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

พ.ศ. 2475 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อนายมี มุมวงศ์ (2475-2478) หมอพื้นเมือง หมอตำแย คือ พ่อหนานน้อย อุตตะมะ ได้ทำคลอดให้กับคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง

พ.ศ. 2478 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ชื่อนายก๋องคำ ปีกจุมปู (2478-2491)

พ.ศ. 2480 ได้ขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้น โดยให้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านดงอินตา

พ.ศ. 2488 มีการระบาดของโรคไข้ทรพิษในหมู่บ้าน ชาวบ้านรักษาตัวเองด้วยการใช้ยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน 

พ.ศ. 2490 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม

พ.ศ. 2491 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ชื่อนายปั่น ทาตรี (2491-2515)

พ.ศ. 2493 ชาวบ้านดงอินตาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษโดยรวมตัวกันนั่งล้อเกวียนไปฉีดที่สุขศาลาแม่ใจ

พ.ศ.2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ

พ.ศ. 2505 ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ดงอินตา เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่พ่ออุ้ยอินตา อุตตะมะ ที่ได้เสียชีวิตลง

พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อยและตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน 

พ.ศ. 2508 พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอแม่ใจ พ.ศ. 2508 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2512 มีรถจักรยานยนต์คันแรก ของพ่อหนานศรี ไม่ทราบนามสกุล ชาวบ้านได้รู้จักรถจัรยานยนต์เป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2515 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ชื่อนายอ้าย มุมวงศ์ (2515-2526)

พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก สืบค้นวันที่ 28 กันยายน 2564) อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)

พ.ศ. 2521 ก่อตั้งสถานีอนามัยบ้านดงอินตา

พ.ศ. 2525 เริ่มมีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน

พ.ศ. 2526 เริ่มมีถนนลาดยางในหมู่บ้าน มีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน มีการชุดคลองชลประทาน มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ชื่อนายผัด ปิงวงศ์

พ.ศ. 2527 จัดตั้งโรงสีข้าวแห่งแรกของหมู่บ้าน และแยกหมู่บ้านดงอินตาใต้ หมู่ 9 จากบ้านดงอินตา หมู่ 6

พ.ศ. 2528 ทำถนน ร.พ.ช. เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านคนที่6 ชื่อนายศรีใจ ทาตรี (2528-2530)

พ.ศ. 2530 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7

พ.ศ. 2535 แยกหมู่บ้านดงอินตาเหนือหมู่ที่ 11 จากบ้านดงอินตา หมู่ 6 มีผู้ใหญ่บ้าน ดังนี้

  • นายศรีนวล ใหม่จันทร์ตา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พุทธศักราช 2535-2540
  • นายหวัน วังหล้า ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พุทธศักราช 2541-2545
  • นายหลั่น ปินใจ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พุทธศักราช 2546-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านดงบุนนาค อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาโดยเฮลิคอปเตอร์ และได้ทรงเห็นว่าบ้านดงอินตาอยู่ห่างไกลสถานีรักษาจึงได้ทรงจัดตั้งสถานีรักษาแพทย์อาสาทางอากาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พย 1 (หน่วยแพทย์ พอ.สว.) ขึ้น

พ.ศ. 2549 หมู่บ้านดงอินตาเหนือได้มีอารามเวียงห้าว (สำนักปฏิบัติธรรมสวนโพธิอิสระ)

พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัลชมเชยป่าชุมชนบ้านดงอินตาเหนือ จากกรมป่าไม้และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด

พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลที่ 3 ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟฟ้าตลอดจนเฝ้าระวังการเผาในที่โล่งจากจังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2555 โครงการประกวดชุมชนมาตรฐานหมู่บ้านปลอดภัยการเผาจากการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บ้านดงอินตาเหนือ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจไปทางทิศใต้ตามถนนพหลโยธิน แล้วเลี้ยวตามถนนพหลโยธิน หมายเลข 1 ทางทิศตะวันออกประมาณ 9 กิโลเมตร มีระยะห่างจากตัวจังหวัด 28 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 1,660 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,500 ไร่ พื้นที่สาธารณะ ประมาณ 10 ไร่ พื้นที่ตั้งบ้านเรือน/ชุมชน ประมาณ 150 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสันกำแพง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หนองเล็งทราย ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ลักษณะดินในหมู่บ้านดงอินตาเหนือ หมู่ 11 โดยทั่วไปเป็นดินร่วน และดินเหนียวในทุ่งนาซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก การทำนา และดินร่วนปนทรายในพื้นที่ตั้งบ้านเรือน

แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค คือ บ่อน้ำตื้น น้ำบาดาล และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ 9 แหล่ง ได้แก่ ห้วยก็อดไม้เนิ้ง ห้วยพรานน้อย ลำห้วยหลวง ห้วยน้ำแดง ห้วยแสล่ง ห้วยโปร่ง ห้วยเกี๋ยง ห้วยม่วง ห้วยกั่ง

แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ฝายน้ำล้น 1 แห่ง ชลประทาน 1 แห่ง บ่อน้ำตื้น 156 แห่งตามบ้านเรือน

จำนวนประชากรบ้านดงอินตาเหนือ หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีจำนวน 156 ครัวเรือน มีประชากร 553 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิงจำนวน 274 คน เพศชาย 279 คน ปี พ.ศ. 2560 เพศชาย ส่วนใหญ่อยู่ช่วงอายุ 50 - 54 ปี คิดเป็น 5.24% ของประชากรทั้งหมด รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 45-49 คิดเป็น 5.06% และช่วงอายุ 75-79 ปีและอายุ 80 ปีขึ้นไปมีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็น 0.72% เพศหญิงส่วนใหญ่อยู่ช่วงอายุ 45-49 ปี มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 5.61% ของประชากรทั้งหมด รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 55-59 ปี คิดเป็น 5.06% และช่วงอายุ 75-79 ปี น้อยที่สุด คิดเป็น 0.54% จำแนกตามวัยแรงงานและวัยพึ่งพิงชายวัยแรงงานมีจำนวนมากที่สุดคิดเป็น 34.72% ของประชากรทั้งหมด รองลงมาเป็นหญิงวัยแรงงาน คิดเป็น 32.91% และตามด้วยหญิงวัยพึ่งพิงคิดเป็น 16.64% และชายวัยพึ่งพิงมีจำนวนน้อยที่สุดคิดเป็น 15.72%

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง รวมทั้งมีการประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น ค้าขาย ร้านเสริมสวย โรงงานแคบหมู ทำผ้าปิดปากปิดจมูก โรงเพาะเห็ด เป็นต้น ประชาชนในหมู่บ้าน นับถือศาสนาพุทธทั้งหมดทุกหลังคาเรือน ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่จะไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ที่วัดดงอินตา และมีการส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่าง ๆ ตลอดทั้งปี รวมทั้งมีการนับถือผี การเลี้ยงผีปู่ย่า, ผีเจ้าบ้านที่ศาลเจ้าพ่อต๋นซ้อย ซึ่งเป็นศาลประจำหมู่บ้าน ที่คอยปกปักรักษาประชาชนในหมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของชุมชนบ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น บางหลังเป็นบ้านกึ่งไม้กึ่งปูน 2 ชั้น หรือบางหลังเป็นบ้านปูนชั้นเดียว สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร มีรั้วรอบขอบชิด ทุกหลังคาเรือนมีบ่อน้ำตื้นเป็นน้ำใช้ และจะมีโอ่งมังกร หรือโอ่งซีเมนต์ไว้สำรองน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง และครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหารได้แก่ ไก่ เป็ด ปลา และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว และนก เป็นต้น และมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ศาลาอเนกประสงค์

ภายในหมู่บ้านมีจำนวน 4 ซอย คือซอย แต่ละซอยเป็นถนนคอนกรีต มีไฟข้างทาง(ไฟกิ่ง) ของภาครัฐแต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าและน้ำจากบ่อน้ำตื้นใช้อย่างเพียงพอ ส่วนน้ำดื่ม ส่วนใหญ่จะซื้อน้ำบรรจุขวดสำเร็จรูปจากโรงน้ำของหมู่บ้านข้าง ๆ และในชุมชนมีวัด 1 แห่งอยู่ในเขตหมู่ 6 คือวัดบ้านดงอินตา เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน และร้านขายของชำ 3 แห่ง 

คณะกรรมการหมู่บ้าน

  • ผู้ใหญ่บ้าน : นายหลั่น ปินใจ
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : จำนวน 3 คน
  • หัวหน้าคุ้ม 8 คุ้ม
  • อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) นายสุพน ปินใจ ประธาน
  • อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นายสมศักดิ์ อินต๊ะจักร ประธาน มี อสม. รวมประธาน 22 คน
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร) นายสมศักดิ์ อินต๊ะจักร ประธาน
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน) : นางแสงจันทร์ ป๊อกบุญเรือง ประธาน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ นายบุญทา วาดวงค์ยศ ประธาน
  • กลุ่มยุ้งฉาง : นายเสาร์แก้ว ปิกจุมปู ประธานกลุ่มยุ้งฉาง (ไม่เป็นทางการ) นายเขียว สายวงค์เคียน ประธาน
  • กลุ่มเลี้ยงโค : นายสมศักดิ์ อินต๊ะจักร ประธาน
  • กลุ่มแม่บ้าน นางสุมิตร อินต๊ะวงค์ ประธาน

สภาพทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริม ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 30,000-50,000 บาท/ปี

  • อาชีพหลัก : ทำนา
  • อาชีพรอง : ทำสวนยางพารา, ทำไร่แตงโม, ทำสวนลำไย, ปลูกถั่วลิสง, ทำไร่มันสำปะหลัง
  • อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป, ปลูกผักสวนครัว, ค้าขาย, หาของป่า
  • รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร เช่น ค่าปุ๋ย, ค่ายา, ค่าสารเคมี, ค่าจ้างรถไถรถเกี่ยว, ค่าอาหาร, ค่างานสังคม, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนเงินล้าน, เงินกู้ 28,000, เงินกู้ SML
  • แหล่งเงินทุน : ธกส.และกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชน : ได้จากโรงงานซึ่งสนับสนุนส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ของชุมชน เช่น แคบหมู, ผ้าปิดปากและจมูก เป็นต้น
  • ภูมิปัญญาท้องถิ่น : ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ยาต้ม, การเป่า, แหก, การย่ำขาง เป็นต้น
  • วัตถุดิบในชุมชนในด้านอินทรียวัตถุ : การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เป็นต้น

ปฏิทินวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี“ตานข้าวใหม่”เป็นช่วงขึ้นปีใหม่ไทย ช่วงต้นเดือนมกราคมมีการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะจัดทำพิธี "บุญข้าวใหม่" คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงค์ที่วัดบ้านดงอินตา
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : พิธีเข้ากรรม โดยพระสงฆ์จะมีการสวดมนต์
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) ครั้งที่ 1 ที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะมีการนำไก่มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อต๋นซ้อย หากครอบครัวไหนไม่มีไก่ก็จะออกให้กับส่วนรวมแทนการนำไก่มาเซ่นไหว้
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า "ตานขันข้าว" นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ "แกงขนุน" หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "แกงบ่าหนุน" ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ประเพณีทำบุญวันวิสาขบูชาที่วัดดงอินตา, สืบชะตาลำน้ำแม่ปืม เป็นกิจกรรมที่ทั้งตำบลบ้านเหล่าร่วมกันจัดพิธีกรรม
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) ครั้งที่ 1 ที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะมีการนำไก่มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อต๋นซ้อย หากครอบครัวไหนไม่มีไก่ก็จะออกให้กับส่วนรวมแทนการนำไก่มาเซ่นไหว้
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางคนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระที่บ้านดงอินตา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางคนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระที่บ้านดงอินตา
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตร ชาวบ้านจะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์และมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือกรรมนายเวร
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ ชาวบ้านได้ทำบุญวันออกพรรษา ที่วัดบ้านดงอินตา
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือประเพณียี่เป็ง วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็นชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง ลอยโคม และเข้าวัดทำบุญ
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ ชาวบ้านร่วมทำบุญ ตักบาตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ และเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับบ้าน มีการเลี้ยงฉลอง

1. นายป้อ ปิงวงค์ อายุ 90 ปี มีความสนใจงานหัตถกรรมเครื่องจักสาน ได้ศึกษาจากผู้รู้จากการสังเกตคิดค้นและลองทำเอง ด้วยความวิริยะอุตสาหะและความพยายามจนทำให้ปัจจุบันกลายเป็นผู้ที่มีความชำนาญด้านเครื่องจักสานของใช้ด้วยไม้ไผ่ 

โบราณสถานเวียงห้าว

สถานที่ตั้ง บ้านดงอินตาเหนือ ม.11 ต.บ้านเหล่า อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีเนื้อที่ 82 ไร่

เวียงห้าว เป็นเมืองโบราณที่สำคัญของอำเภอแม่ใจ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณชาวลั๊วะ มาจาก เรื่องเล่าที่ขุดคูเมือง เพื่อจุดประสงค์ป้องกันช้างที่ดุร้าย เชือกหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ปู้ก่ำงาเขียว” เป็นช้างที่มีฤทธิ์มาก หากหันหน้าไปทางทิศใด บ้านเมืองนั้นต้องล้มตายทั้งเมือง ด้วยความกลัวจึงเร่งขุดคูเมืองอย่างเร่งรีบ และทำให้เสียกำลังคนไปมาก จึงเป็นที่มาของคำว่า “ห้าว” (ใจร้อน เร่งรีบ) และเรียกว่าเวียงห้าวจนถึงปัจจุบัน

ในชุมชนบ้านดงอินตาเหนือ มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น วัดบ้านดงอินตา ทิศตะวันตกติดต่อกับ หนองเล็งทราย เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เนื้อที่ประมาณ 5,500 ไร่ ครอบคลุมหลายตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อย ตำบลแม่ใจ และตำบลบ้านเหล่า ที่ไหลลงมาสมทบกับกว๊านพะเยา ถือได้ว่าเป็นหนองน้ำที่เป็นต้นน้ำของกว๊านพะเยา ซึ่งไหลลงสู่น้ำอิงและผ่านหลายอำเภอของจังหวัดพะเยา-จังหวัดเชียงราย จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำโขง ยังมีประโยชน์แก่ชาวบ้านให้ได้ใช้น้ำในการเพาะปลูกทำ ประมงและเลี้ยงสัตว์ และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่หนองเล็งทรายเป็นที่หลบอาศัยของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งแพร่พันธุ์สัตว์น้ำสำหรับประชากรสัตว์น้ำในที่ราบลุ่มรอบบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ และต่อเนื่องถึงกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง หนองเล็งทรายจึงมีความสำคัญต่อประชากรสัตว์น้ำในพื้นที่ราบลุ่มและในลุ่มน้ำอิง เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร ใช้เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง ปลูกพืช และนำน้ำมาใช้เป็นน้ำประปา เป็นหนองน้ำที่มีตำนานและประวัติศาสตร์ที่บอกถึงอารยธรรมเก่าแก่ 

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านดงอินตาเหนือ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

ราชกิจจานุเบกษา. (2520). พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 94 ตอน 69. 28 กรกฎาคม 2520.

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.