ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ และความเป็นอยู่
นำชื่อถนนเป็นชื่อชุมชน
ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ และความเป็นอยู่
ชุมชนคูหามุข ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนภูมาชีพ ซ.1,ซ.2, ซ.ยะลาซิตี้ โรงพยาบาลสิโรรสยะลา ถนนภิรมย์รัตน์ ถนนภูมิณรงค์ ถนนคูหามุข ซ.นวลแก้ว สิ้นสุดที่ถนน ยิ้มจินดา มีพื้นที่ประมาณ 320,519.59 ตารางเมตร ปัจจุบันที่ทําการชุมชนตั้งอยู่เลขที่ 4 ซอยนายสิน ถนนคูหามุข ตําบลสะเตง อําเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีนางพรรณี สูยะนันท์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานชุมชนคูหามุขคนแรก ปัจจุบันมี นายรักชาติ สุวรรณ์ เป็นประธานชุมชน
ชุมชนคูหามุข ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ห่างจากอำเภอเมืองยะลา ระยะทาง 2 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตลาดเมืองใหม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ รพ.สิโรรสยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สหกรณ์ครูจังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนถัดบำรุง
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพโดยทั่วไปของชุมชนคูหามุขเป็นที่ราบ โดยมีพื้นที่ประมาณ 320,519.59 ตารางเมตร ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ ความเป็นอยู่ โดยมีลักษณะบ้านเรือนติดกัน มีร้านค้า บ้านเช่า และอาคารพาณิชย์ต่างๆ เนื่องจากชุมชนติดกับ รพ.สิโรรสยะลา สหกรณ์ครูจังหวัดยะลา และอยู่ใกล้กับตลาดเมืองใหม่ ซึ่งคับคั่งไปด้วยผู้คนและรถราสัญจรไปมา
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนคูหามุข จำนวน 620 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,540 คน แบ่งประชากรชาย 716 คน หญิง 824 คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ และความเป็นอยู่
กลุ่มสตรีชุมชมคูหามุข เป็นการรวมตัวของแม่บ้านในชุมชน จัดตั้งขึ้นเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม เช่น การทำขนม หรือการทำอาหารพื้นบ้าน เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ด้านการบริหารของชุมชน
- นายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานชุมชน
- นางชุลีพร ทัศเกตุ รองประธานชุมชน
ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
เดือนมกราคม ประเพณีทําบุญขึ้นปีใหม่ (ตักบาตร) ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ผู้คนในชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลัง และรักษาประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป
เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 นก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เดือนเมษายน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุวันสงกรานต์ ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน
เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ”ถนนคนเดิน” ขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคํญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย
เดือนสิงหาคม-เดือนธันวาคม ตักบาตรวันพ่อและวันแม่ ทุกๆปีชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลัง
เดือนกันยายน- ตุลาคม งานทําบุญบังสุกุลของชุมชนประจําปี จัดพิธีทําบุญตักบาตรและบังสุกุลแก่ผู้ล่วงลับ ชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลัง และรักษาประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ ในส่วนอาชีพเสริม ได้แก่ เพาะปลูก
บุคคลสำคัญของชุมชน
- นางอมรรัตน์ บัวขวัญ ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เป็นผู้ที่มีคุณูปการและมีความสำคัญต่อชุมชน เนื่องจากเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน
- นายประเสริฐ พจรไตร ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านอุตสาหกรรม หัตถกรรม จักสานและโอท็อป (ทำเฟอร์นิเจอร์)
- นายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานชุมชนคนปัจจุบัน ผู้มีความเป็นผู้นำและพัฒนาชุมชน
อาหาร ได้แก่ ขนมจีน เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่งที่ทำด้วยแป้งเป็นเส้นกลมๆคล้ายเส้นหมี่ กินกับน้ำยาและผักชนิดต่างๆ โดยนิยมทำและเลี้ยงกันเนื่องในงานบุญต่างๆของชุมชน
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ไดแก่ จำนวนอาคารบ้านเรือน หอพัก ร้านค้า และอาคารพานิชย์เพิ่มมากขึ้น ประชากรมีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ และความเป็นอยู่
ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนประสบกับความท้าทาย ดังนี้
1. ปัญหาแรงงานต่างด้าว
2. ความหลากหลายทางด้านสังคม
3. มีหอพัก บ้านเช่า เป็นจํานวนมาก ทําให้ยากต่อการควบคุมดูแลบุคคลภายนอกที่เข้ามาพํานัก อาศัยในชุมชน
4. ปัญหาความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และ
หน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนงบประมาณและบุคลากร เข้ามาดูแล ติดตาม และแก้ไข้ปัญหาดังกล่าวให้กับชุมชน
ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมของชุมชนน้อย
ชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้ด้านอาชีพ และชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
นายรักชาติ สุวรรณ์. (1 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, สัมภาษณ์)