Advance search

ชุมชนพหุวัฒนธรรม ภายในชุมชนมีทั้งวัดและมัสยิด

สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
มูฮำหมัดอาลี ซง
23 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
20 พ.ค. 2023
มูฮำหมัดอาลี ซง
29 พ.ค. 2023
หลังวัดเมืองยะลา

ชุมชนหลังวัดเมืองยะลาเริ่มก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2538 โดยสำนักงานเทศบาลนครยะลา ได้เรียนเชิญผู้ที่มีความเสียสละทำงานเพื่อชุมชนไปประชุม ต่อมาทางเทศบาลนครยะลาได้แบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อจัดตั้งเป็นชุมชนอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2539 ในสมัยนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา นายยรรยง อุทัย ได้จัดตั้งชุมชนหลังวัดเมืองยะลา


ชุมชนพหุวัฒนธรรม ภายในชุมชนมีทั้งวัดและมัสยิด

สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.531738
101.2768
เทศบาลนคร

ชุมชนหลังวัดเมืองยะลา เดิมเป็นบริเวณที่ปกคลุมไปด้วยกอไผ่ขนาดสูง ทั้งยังล้อมรอบไปด้วยที่นา ซึ่งมีน้ำขังมากโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ทำให้การเดินทางหรือการตั้งชุมชนสมัยก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต่อมาในปี พ.ศ.2502 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลขณะนั้น ได้มีมติอนุมัติที่ราชพัสดุ 55 ไร่ ให้สร้างวัด ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากนิคมสร้างตนเองธารโตใช้เครื่องจักรกลถางป่าไผ่ให้จนเสร็จ และได้เริ่มสร้างวัดเมืองยะลาจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นปี พ.ศ.2506 ได้ประกาศแต่งตั้งเป็นวัดนับเป็นสถานที่ก่อสร้างแห่งแรกในชุมชน

ต่อมาในปี พ.ศ.2516 สมเด็จพระโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ทรงตัดลูกนิมิตในพระอุโบสถวัดเมืองยะลา และตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 มีการสร้างมูลนิธิเพื่อการศึกษาวัดเมืองยะลา ศูนย์ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนา ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ และตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมในวัดเมืองยะลา

ชุมชนหลังวัดเมืองยะลาเริ่มก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2538 โดยสำนักงานเทศบาลนครยะลา ได้เรียนเชิญผู้ที่มีความเสียสละทำงานเพื่อชุมชนไปประชุม ต่อมาทางเทศบาลนครยะลาได้แบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อจัดตั้งเป็นชุมชนอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2539 ในสมัยนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา นายยรรยง อุทัย ได้จัดตั้งชุมชนหลังวัดเมืองยะลา และแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนครั้งแรก โดยมีนางลาบ แสงจันทร์ เป็นประธานชุมชนหลังวัดเมืองยะลาคนแรก หลังจากนั้นมีนายอนันต์ รัตนสุวรรณ เป็นประธานชุมชนคนต่อมา และนางเกสร ปทุมวัน เป็นประธานชุมชนคนปัจจุบัน

ชุมชนหลังวัดเมืองยะลามีพื้นที่ 569,483.53 ตารางเมตร มีถนน 19 สาย ประกอบด้วย ถนนพระไพศาลประชานาถ, ถนนหลังวัดเมือง ซอย 1-7, ถนนบำรุงชู, ถนนบำรุงชู ซอย 1-4, ถนนเวฬุวัน, ถนนเวฬุวัน ซอย 11, ซอยศิริทรัพย์สุนทร , ซอยยิ่งเจริญ , ซอยเล่งศิริกุล และซอยสุทธิรังสี 

ชุมชนหลังวัดเมืองยะลา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากเทศบาลนครยะลามุ่งหน้าไปทางถนนสุขยางค์ตรงไปเจอศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมุ่งหน้าต่อไป ผ่านภูธร 9 ผ่านโรงเรียนเทศบาล 6 ผ่านวัดเมืองยะลา เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเวฬุวัน เลี้ยวขวาเข่าสู่ถนนหลังวัดเมือง ถึงชุมชนหลังวัดเมืองยะลา

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ        ติดต่อกับ    สวนขวัญเมืองยะลา
  • ทิศใต้           ติดต่อกับ    วิทยาลัยสารพัดช่าง
  • ทิศตะวันออก    ติดต่อกับ    ถนนสุขยางค์
  • ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ     ชุมชนเวฬุวัน

สภาพพื้นที่กายภาพ

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนเป็นที่ราบ มีพื้นที่ทั้งหมด 569,483.53 ตารางเมตร มีถนน 19 สาย ภายในชุมชนจะประกอบไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้าและวัด โดยรอบๆชุมชนจะมีหน่วยงานราชการ อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต) โรงเรียนนายสิบตำรวจ และวิทยาลัยสารพัดช่าง ลักษณะเป็นชุมชนเมืองที่ประกอบด้วยบ้านเรือน ร้านค้า และอาคารพาณิชยต่างๆ เป็นต้น

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนหลังวัดเมืองยะลา จำนวน 468  ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,459 คน แบ่งประชากรชาย 677 คน หญิง 782 คน เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมโดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ ศาสนา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ผู้คนในชุมชน 

องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ มีจำนวน 7  กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มแม่บ้าน OTOP กำแพงแก้ว เป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพสำหรับชุมชน

2. กลุ่มชุมชนเข้มแข็ง ชรบ. กำแพงแก้ว จัดตั้งเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน

3. กลุ่มผู้สูงอายุ จัดตั้งเพื่อดูแลและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนของผู้สูงอาย

4. กลุ่มสตรี จัดตั้งเพื่อท้ากิจกรรมเกี่ยวกับงานของสตรี

5. กลุ่มออกกำลังกาย เช่นการเต้นแอโรบิค การเล่นตระกร้อ จัดตั้งเพื่อการออกกำลังกายของคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้ทุกคนรักการออกกำลังกาย

6. กลุ่มเปตองยามเย็น จัดตั้งเพื่อเป็นการได้เล่นกีฬาเปตองร่วมกันในชุมชน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ และได้มีการจัดแข่งขันกันเป็นครั้งคราว

7. ศูนย์ยุติธรรมชุมชน จัดตั้งขึ้นเพื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายในชุมชน

ด้านการบริหารชุมชน

  1. นางเกสร ปทุมวัน        ประธานชุมชน
  2. นายอนันต์ เพชรศรีชาติ  รองประธานชุมชน

ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 นก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เดือนเมษายน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุวันสงกรานต์ ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน 

เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา  เทศบาลนครยะลาร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ถนนคนเดินขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย

เดือนพฤศจิกายน ประเพณีวันเข้าพรรษา จัดพิธีแห่เทียนพรรษา,หล่อเทียน วันที่พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝนเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยพระสงฆ์ต้องไม่เดินทางไปค้างแรมในสถานที่อื่น เว้นแต่มีเหตุจำเป็น และต้องเดินทางกลับมาภายใน วัน

สมาชิกในชุมชนจะหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้นเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ โดยมีการจัดขบวนแห่กันอย่าเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี

ประเพณีการถือศีลอดของสมาชิกชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นประเพณีที่สำคัญของอิสลามซึ่งการถือศีลอดตามความหมายทางศาสนาของอิสลาม คือการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกตลอดทั้งเดือนรอมฎอนของทุกปีซึ่งอาจจะมีระยะเวลา 29 หรือ 30 วัน โดยมีเจตนาว่าทำเพื่อพระเจ้า

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ ในส่วนอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูก เพื่อเพิ่มรายได้ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

นายสรพงษ์ แก้วอิน ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรกรรม

ศาสนสถาน ชุมชนหลังวัดเมืองเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม มีทั้งวัดสำหรับผู้นับถือศาสนาพุทธ และมัสยิดสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งศาสนสถานทั้งสองศาสนานั้นเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ปฏิบัติศาสนากิจ และพิธีกรรมที่สำคัญต่างๆของแต่ละศาสนา

สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเมืองยะลา พระอารามหลวง และโรงเรียนเทศบาล 6


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ จำนวนอาคารบ้านเรือน ร้านค้า และอาคารพานิชย์เพิ่มมากขึ้น  เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางด้านสังคม อาชีพ ความเป็นอยู่

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนประสบกับความท้าทาย ดังนี้

1. ปัญหายาเสพติดในชุมชน

2. การจราจรติดขัด

3. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนชำรุด

4. ปัญหาน้ำท่วมขัง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา สถานีตำรวจ และอื่นๆ เข้ามาปรับปรุงถนนที่ชำรุด จัดระเบียบการจอดรถ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติด

ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชนเป็นอย่างดี

ในชุมชนมีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากพื้นที่อื่นๆมาทำบุญไหว้พระที่วัดเมืองยะลาพระอารามหลวง

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา