Advance search

ศาลเจ้าพ่อบู้เต็กโฮ้ว

20
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
มูฮำหมัดอาลี ซง
23 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
20 พ.ค. 2023
มูฮำหมัดอาลี ซง
29 พ.ค. 2023
วิฑูรอุทิศสัมพันธ์

เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ ณ ถนนวิฑูรอุทิศ จึงนำชื่อถนนเป็นชื่อชุมชน


ศาลเจ้าพ่อบู้เต็กโฮ้ว

20
สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.559004
101.297
เทศบาลนคร

ชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ เริ่มจากการที่ชาวบ้านในซอยตรงข้ามศาลเจ้าพ่อบู้เต็กโฮ้วร่วมกับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในซอยประมาณ ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวจินดารัตน์ ครอบครัวพัฒทุม ครอบครัวรัตนมณี ครอบครัวแก้วคํา และครอบครัวอนันตะ ซึ่งเป็นครอบครัวที่ตัวบ้านดั้งเดิมอยู่บริเวณนั้น ทําให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นสนิทสนมกัน นําไปสู่การเข้าไปปรึกษา คุณสุทิน แก้วมาก สมาชิกเทศบาลในเขตนั้น อดีตเคยเป็นประธานชุมชนหลังวัดธรรมาราม ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กันได้นําแกนนํามารับทราบหลักเกณฑ์และแนวทางในการจัดตั้งชุมชน และจัดตั้งเมื่อ ปี 2548

ชุมชนนี้ตั้งอยู่ฝั่ตลาดเก่าด้านทิศตะวันออกติดอาณาเขตเทศบาลเมืองสะเตงนอก ปัจจุบันชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 20 ตําบลสะเตงนอก อําเภอเมือง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประมาณ 160,500 ตารางเมตร 

ชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ห่างจากอําเภอเมืองยะลา ไปทางทิศตะวันออก ระยะทาง ประมาณ 2.5 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลา ไปทางทิศใต้ ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ       ติดต่อกับ    ชุมชนสามัคคีและชุมชน ร.ร.เทศบาล 5
  • ทิศใต้          ติดต่อกับ    ชุมชนหลังวัดยะลาธรรมาราม
  • ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ    เทศบาลตำบลสะเตงนอก
  • ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ     ชุมชนสามัคคีและตลาดรถไฟ

สภาพพื้นที่กายภาพ

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์เป็นที่ราบลุ่มต่ำ ทำให้ชุมชนประสบอุทัยน้ำท่วมและน้ำขังในช่วงหน้าฝนเป็นประจำทุกปี ภายในชุมชนจะประกอบไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้าและศาลเจ้า ลักษณะเป็นชุมชนเมืองที่ประกอบด้วยบ้านเรือน บ้านเช่า และร้านค้าที่มีลักษณะติดกัน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ จำนวน 159  ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 741 คน แบ่งประชากรชาย 374 คน หญิง 367 คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นชุมชนเมืองขนาดเล็ก โดยสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพในชุมชน ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุ เป็นการรวมตัวของผู้สูงอายุในชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพผู้สูงอายุในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีนายพจนาถ เคหะนันท์ เป็นกรรมการฝ่ายสวัสดิการสังคม

ด้านการบริหารชุมชน

  1. นายวีระยุทธ แสงโนรี   ประธานชุมชน
  2. นายอิ่นคำ แก้วสุวรรณ  รองประธานชุมชน

ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิธีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิธีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

เดือนมกราคม ประเพณีทําบุญขึ้นปีใหม่ (ตักบาตร) ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ผู้คนในชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลัง และรักษาประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป

เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

เดือนเมษายน ประเพณีวันสงกรานต์ จัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายู วันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เป็นประเพณีที่มีคติข้อคิดต่างๆสอดแทรกอยู่มากมาย สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน มีความงดงามเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน โดยใช้น้ำในการเชื่อมสัมพันธไมตรีชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมปลูกฝังให้เยาวชนได้ร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน 

เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา  เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ถนนคนเดินขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่างๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ 

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ

นายวีระยุทธ แสงโนรี กล่าวว่า ชุมชนไม่มีปราชญ์ชาวบ้าน เนื่องจากชุมชนเป็นชุมชนเมืองเล็กๆ อย่างไรก็ตาม ชุมชนมีที่ปรึกษาชุมชน ได้แก่

  1. นายทวี ทองราช
  2. นายประจบ นวลทองสุข
  3. นายจ่าย อนันตะ
  4. นางนิตย์ สักแสงโสภา
  5. นางวรรณดี ถ้วมงาม
  6. นายชัยรัตน์ หิรัญวิริยะ

ทุนวัฒนธรรม/ศาสนสถาน ชุมชนมีศาลเจ้าพ่อบูเต็กโฮ้ว ที่สามารถเป็นที่ท่องเที่ยว และสักการะบูชา โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนจากพื้นที่อื่นหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจมาเรียนรู้วัฒนธรรมจีน

สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อบูเต็กโฮ้ว


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ จำนวนอาคารบ้านเรือน ร้านค้า และมีบ้านเช่าภายในชุมชน จึงทำให้ประชากรภายในชุมชนเพิ่มจากเดิมมากขึ้น

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนประสบกับความท้าทาย ดังนี้

1. ปัญหาน้ำท่วมขัง

2. ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ คูระบายน้ำอุดดัน เป็นต้น

3. ขาดความสามัคคีของคนในชุมชน

4. ปัญหาความปลอดภัย

อย่างไรก็ตามทางชุมชนได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อลงมาติดตาม และแก้ไข้ปัญหาดังกล่าว

ด้านการมีส่วนร่วม ความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนมีน้อยทำให้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆน้อยลง

ในชุมชนมีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนจากพื้นที่อื่นๆมาไหว้สักการะบูชาศาลเจ้าพ่อบู้เต็กโฮ้ว

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๔. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี ๒๕๖๕. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

นายวีระยุทธ แสงโนรี. (3 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)