Advance search

บ้านโรงหวด

การอยู่รวมตัวกันของคนจีนและคนไทย วัฒนธรรมประเพณีผสมผสานที่คงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา

หมู่ที่ 2 ถนนทางหลวงชนบท
บ้านโรงหวด
งิ้วราย
นครชัยศรี
นครปฐม
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
30 พ.ค. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
30 พ.ค. 2023
บ้านโรงหวด

แรก ๆ คนภายนอกเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า "บ้านท่าเกวียน" เมื่อเวลาผ่านไปก็เปลี่ยนเรียกตามความมีชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ว่า "บ้านโรงหวด"


ชุมชนชนบท

การอยู่รวมตัวกันของคนจีนและคนไทย วัฒนธรรมประเพณีผสมผสานที่คงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา

บ้านโรงหวด
หมู่ที่ 2 ถนนทางหลวงชนบท
งิ้วราย
นครชัยศรี
นครปฐม
73120
ชุมชนโรงหวด โทร. 08-9768-4746
13.80729
100.198338
องค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย

เดิมทีบ้านโรงหวดก็มีเพียงคนท้องที่ซึ่งทำนาทำไร่พอเลี้ยงครอบครัว ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่งิ้วรายระยะแรกได้นำความรู้การปั้นเครื่องปั้นดินเผาเข้ามาเผยแพร่ ที่ทำโดยมากเป็นภาชนะเพื่อการหุงต้ม ด้วยเป็นท้องถิ่นเดียวที่มีสินค้าประเภทนี้จึงมีผู้คนจากต่างถิ่นนำพืชผลและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บรรทุกเกวียนมาค้าขายแลกเปลี่ยนด้วย ชาวจีนเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตจากท้องถิ่นบรรจุลงเรือสำเภาเพื่อนำสินค้าไปขายส่งยังที่ต่าง ๆ บนลุ่มน้ำนครชัยศรี เช่น ที่ตลาดห้วยพลู นครปฐม บางเลน สามพราน และท่าจีน ชาวจีนรุ่นแรก ๆ บางรายได้แต่งงานกับคนท้องถิ่นและปรับผันวิถีชีวิตไปกับผู้คนที่นั่นเช่นเดียวกันกับคนจีนคนอื่น ๆ ในท้องถิ่นที่งิ้วรายและชุมชนใกล้เคียง แบบแผนการดำเนินชีวิตบางอย่างของชาวจีนโดยเฉพาะความเชื่อยังมีปรากฏอยู่ในชนชั้นลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มา

บริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่ลาดเอียงลงหาลำน้ำ ริมลำน้ำทางด้านโค้งน้ำผิวดินจะพังทลาย ขณะที่ด้านตรงข้ามจะมีตะกอนดินทับถม ทำให้เกิดการงอกเพิ่มของดินชายฝั่ง โครงสร้างของดินใกล้ลำน้ำมีลักษณะละเอียดปานกลาง ระบายน้ำได้พอประมาณ ผู้คนในชุมชนจะใช้พื้นที่ริมน้ำเพื่อตั้งบ้านเรือนและทำสวนผลไม้ ชนิดสวนยกร่อง ซึ่งต้องมีน้ำระบายเข้าออกเสมอ หากจากฝั่งแม่น้ำออกไปประมาณ 2-3 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มต่ำ ดินอัดตัวกันแน่น ลักษณะดินเป็นดินเหนียว มีคุณสมบัติระบายน้ำได้ไม่ดี ส่วนใหญ่จะใช้ที่ราบเช่นนี้เพื่อการทำนา การที่ชุมชนเป็นที่ราบลุ่มจึงไม่ปรากฏว่ามีทรัพยากรป่าไม้เหมือนเช่นพื้นที่ป่าเขาทั่วไป พืชพรรณที่พอมีอยู่จะเป็นไม้พุ่มเตี้ยเช่นเล็บเหยี่ยว หนามพุงคอ สาบเสือ ชำมะเลียง ฯลฯ ไม้ยืนต้นมีอยู่บ้าง เช่น ตะขบ พุทรา มักเม้า และจามจุรี พืชพรรณพื้นล่างส่วนใหญ่ได้แก่หญ้าตระกูลต่าง ๆ บริเวณริมน้ำมีพืชหลายอย่าง เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด บอน และโสน สำหรับแขม อ้อ และพงอาจดูว่าเป็นวัชพืช แต่ชาวบ้านก็นำมาใช้ประโยชน์อยู่บ้าง อีกทั้งการปล่อยให้มีวัชพืชเหล่านี้ขึ้นอยู่ชายตลิ่งก็ช่วยป้องกันการพังทะลายของดินได้เช่นกัน

แม่น้ำนครชัยศรีและดูคลองสาขาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของท้องถิ่น เมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ทำให้สามารถเปิดปิดน้ำให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ แม่น้ำนครชัยศรีจึงอำนวยประโยชน์ต่อผู้คนในท้องถิ่นได้ตลอดปี เฉพาะในเขตตำบลงิ้วรายมีคลองที่ขุดเชื่อมต่อกับแม่น้ำนครชัยศรีหลายสาย เช่น คลองเด่นพัฒนา คลองขวาง คลองเลียบถนนสาย 8 คลองลัดท่ามอญ คลองมหาสวัสดิ์ คลองขนาดทางรถไฟและคลองขนานถนนสาย 7 นอกจากนี้ยังมีคลองเล็ก ๆ อย่างที่เรียกตามพื้นบ้านว่าลำปะโงหรือคลองซอยแยกจากแม่น้ำหรือคลองสายใหญ่ ๆ ดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำน้ำเข้าไปสู่พื้นที่ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำ

สถานที่สำคัญ

  • โรงเรียนวัดงิ้วราย
  • โรงเรียนงิ้วรายบุญมีรังสฤษดิ์
  • โรงเรียนอนุบาลศิริวิทย์

การคมนาคม

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปชุมชนโรงหวดสามารถเดินทางได้ทั้งทางรถไฟ เรือ และรถยนต์ จากสถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือสถานีกรุงเทพก็ตาม รถไฟหลายขบวนจะหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีงิ้วราย จากสถานีงิ้วรายมีเรือรับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสารไปตามจุดต่าง ๆ บนสองฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี ชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงนิยมดินทางเข้ากรุงเทพฯด้วยการโดยสารรถไฟและเรือรับจ้าง ปัจจุบันมีการสร้างสะพาน “รวมเมฆ” ข้ามแม่น้ำนครชัยศรีที่ตลาดท่านาเพื่อเชื่อมต่อไปยังท้องที่ต่าง ๆ ฝั่งตรงข้าม การไปชุมชนโรงหวดสะดวกขึ้นเพราะมีถนนสายนครชัยศรี-ศาลายา มีรถโดยสารประจำทางจากตลาดท่านาผ่านปากทางชุมชนโรงหวดเพื่อไปสุดปลายทางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จากปากทางเดินเข้าสู่ชุมชนเป็นระยะทาง 300 เมตร จากท่านาผู้ที่ต้องการความสะดวกอาจว่าจ้างรถสามล้อหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ไปส่งถึงชุมชน 

บ้านโรงหวดมีประชากรทั้งหมด 732 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 327 คน และประชากรหญิง 405 คน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 301 หลังคาเรือน

ระบบเครือญาติ

การแต่งงานและการมรณภาพมีส่วนกำหนดขนาดของครอบครัว ปกติปัจเจกมักเป็นสมาชิกของครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อแม่และพี่น้อง (ถ้ามี) ร่วมบิดามารดา ภายหลังแต่งงานนิยมที่จะให้บุตรเขยเข้ามาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยายระยะหนึ่งซึ่งอาจเป็นเวลา 1-2 ปีที่คู่สมรสอาจมีบุตรเพิ่มขึ้นมาก ขนาดของครอบครัวช่วงนี้จะใหญ่ขึ้น มีสมาชิกสามช่วงอายุ แต่ถ้าคนชั้นปู่ย่าหรือตายายสิ้นชีวิต ขนาดของครอบครัวจะเล็กลงไป ครอบครัวแบบเล็กและแบบใหญ่จึงปรากฏอยู่โดยทั่วไปในชุมชน  ครอบครัวใดที่รับผิดชอบปู่ย่าหรือตายาย ครอบครัวนั้นก็อาจนับเป็นครอบครัวใหญ่ ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ที่แยกครอบครัวเป็นบ้านเรือนเป็นเอกเทศก็จะอยู่ในสภาพของครอบครัวเล็ก ซึ่งตามแบบแผนอุดมคตินั้นภายหลังสมรส คู่บ่าวสาวจะอยู่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีความพร้อมจึงจะแยกออกไปสร้างบ้านของตน

การแบ่งงาน

ครอบครัวจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรขึ้นอยู่กับความร่วมมือของสมาชิกในบ้าน การทำงานเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่ก็จะรับรู้บทบาทหน้าที่ของตนเพราะเป็นสิ่งที่เคยเห็นและเลียนแบบอย่างจากคนรุ่นปู่ย่าตายายมาก่อน ช่วงผ่านวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวก็ได้รับการขัดเกลาให้เรียนรู้แบบแผนการยังชีพมาพอสมควร พอโตจนมีเหย้าเรือนก็ทำอาชีพเช่นพ่อแม่การงานตามเพศชายและหญิง ก็พอเห็นได้อย่างรวม ๆ ว่าผู้ชายจะทำงานที่ต้องใช้เรี่ยวแรงมาก บ้านไหนที่ปั้นหวดปั้นกระถางหากไม่มีแรงงานผู้ชายเพื่อขุดดิน ขนดินจากนามาโรงปั้นและแบกหามภาชนะเครื่องปั้นเข้าออกจากเตาเผา ฯลฯ ก็จะว่าจ้างแรงงานชายจากครอบครัวอื่นให้มาทำหน้าที่นั้น ๆ ส่วนงานละเอียดที่ใช้ความประณีตพิถีพิถันและสิ้นเปลืองเวลาพอสมควรจะอยู่ในความดูแลของสตรี ไม่ว่างานนั้น ๆ จะเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินโดยตรงหรือไม่ก็ตาม จึงพบบรรดาแม่บ้านและบุตรสาวอยู่กับการทำงานนอกบ้าน ดำนา เกี่ยวข้าว เก็บพืชผลจากสวนไปขายยังตลาดและคลุกคลีอยู่กับดินในโรงปั้นอยู่เป็นประจำ

งานที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างว่องไวแต่ไม่ใช่งานที่หนักก็จะมอบหมายให้เด็กเล็ก ๆ ช่วยทำ เด็กจึงถูกใช้ให้หยิบหาข้าวของเครื่องใช้จากที่หนึ่งไปผู้ใหญ่อยู่เป็นประจำ เมื่อมีคนต้องการพบพ่อแม่ของเด็กแบบด่วนก็จะให้เด็กรีบกลับไปส่งข่าวนั้นให้ผู้ใหญ่ทราบ ปกติเด็ก ๆ ก็ชอบติดตามคนโตไปนามาสวนอยู่เสมอ ระหว่างนั้นก็จะได้ช่วยงานเบา ๆ ในนาและสวนด้วย ส่วนคนรุ่นปู่ย่าตายายอาจไม่ออกไปช่วยงานนาเพราะอาจเดินทางไกลจากบ้านไปนาไม่ไหว มักทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ตามละแวกบ้าน เช่น จักสานกระบุง ผู้ที่มีสวนอาจหาเก็บกาบหมากแห้งมาตัดเป็นพัดหรือเหลาทางมะพร้าวแห้งเพื่อใช้ทำไม้กวาด บ้างก็คอยกลับพลิกภาชนะดินเผาที่ตากแดดให้แห้งทุกส่วนก่อนคนงานจะเก็บรอเข้าเตาเผา ผู้ที่กินหมากแห้งจะหาหมากสดมาหั่นเป็นแว่น ๆ เก็บไว้กินเมื่อต้องการเวลาทำบุญเลี้ยงพระ ไหว้ผีบ้านผีเรือนหรือเซ่นเจ้าที่ผู้รักษาคุ้มครองเตาเผาเครื่องปั้น ปู่ย่าตายายจะคอยนำทำพิธี ยามที่คนอื่นออกไปทำงานนอกบ้านคนเฒ่าคนแก่จะคอยเลี้ยงดูหลานเล็ก ๆ สมัยก่อนคลอดบุตรด้วยความช่วยเหลือของหมอตำแย ตอนอยู่ไฟก็อยู่ในความดูแลของแม่ป้าย่ายาย ผู้ที่คอยแนะนำให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคยสืบทอดมาจากคนรุ่นก่อน

จีน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วัดงิ้วรายและวัดกกตาลคือศูนย์รวมของการแสดงออกซึ่งความเชื่ออย่างเป็นทางการของคนในท้องถิ่น กิจกรรมใดที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจึงมาประกอบร่วมกันที่วัด การทำบุญเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ ตามปฏิทินประเพณีโดยรวม ๆ ก็คล้ายกันกับที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป เช้า ๆ อาจใส่บาตรพระทางเรือ วันพระก็หยุดทำมาหากินเพื่อไปทำบุญที่วัดตอนเช้า วันพระก็หยุดทำมาหากินเพื่อไปทำบุญที่วัดตอนเช้า วันนักขัตฤกษ์สำคัญ ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา งานบุญกฐิน รวมทั้งงานทำบุญประจำของทางวัด ผู้คนจะมาทำบุญกันค่อนข้างมากกว่าปกติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะทำบุญนานติดต่อกันถึง 3 วัน เพราะมีพิธีกรรมบางอย่างที่นำเข้ามารวมปฏิบัติกันในโอกาสนี้ เช่นการนำอัฐิบรรพบุรุษมาร่วมสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตอนบ่ายในวันสุดท้ายของบุญสงกรานต์จัดพิธีสรงน้ำพระกันที่วัด พอกลับมาบ้านก็รดน้ำดำหัวปู่ย่าตายาย ก่อนจะเล่นร้องรำทำเพลงกันไปตามละแวกบ้าน บางปีก็อาจจะมีงานทำบุญเนื่องในโอกาสพิเศษและมักเป็นงานบุญที่มีจุดประสงค์เพื่อการเฉลิมฉลองเช่นในโอกาสที่สร้างโบสถ์ใหม่และปิดทองฝังลูกนิมิต ในกรณีของปัจเจกการทำบุญที่ไม่ได้เนื่องด้วยเทศกาลเช่นนี้ก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำเพื่อแก้เคราะห์ หากไม่สะดวกจะทำที่บ้านเพราะมีงบประมาณน้อยก็อาจจะจัดหาอาหารมาทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ภายหลังทำบุญแล้วนิยมที่จะทำทานโดยการซื้อปลาและเต่ามาปล่อยลงในแม่น้ำที่ท่าน้ำหน้าวัด

ความเชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือเชื่อในภูตผีวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติมีอยู่ทั่วไปและหลากหลายรูปแบบ ในระดับปัจเจกบ้านเรือนส่วนใหญ่จะมีหิ้งบูชาพระ ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ามีผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายายอยู่ภายในบ้านเพื่อคอยดูแลลูกหลาน ไม่มีใครบอกได้ว่าผีบรรพบุรุษสถิตอยู่ ณ จุดใดของบ้าน การเซ่นไหว้ก็ไม่ได้ทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยมากจะบอกกล่าวขอความคุ้มครองจากผีบรรพบุรุษพร้อม ๆ กันไปกับการเซ่นไหว้พระภูมิเจ้าที่เมื่อมีงานพิธีกรรมด้วยชีวิตโดยเฉพาะการบวช การแต่งงานและเมื่อทำบุญบ้านในโอกาสต่าง ๆ 

ด้วยว่าสมัยก่อนมีชาวจีนอพยพเข้ามาประกอบอาชีพในถิ่นนี้เป็นจำนวนมาก บนแม่น้ำฝั่งนครชัยศรีด้านตรงข้ามตลาดงิ้วราย ชาวจีนได้ตั้งโรงเจงิ้วรายหรือเรียกตามภาษาจีนว่า “โรงเจเป้าเก็งเต้ง” เพื่อให้ชาวจีนได้มีสถานที่ประกอบพิธีกินเจ ชาวโรงหวดไม่ได้เข้าร่วมพิธีกินเจ แต่หน้าหมู่บ้านโรงหวดตรงริมแม่น้ำมีศาลเจ้าพ่อศรีพรหมเมศซึ่งเป็นศาลเจ้าของชาวจีนตั้งอยู่ เล่ากันว่าณ ที่ศาลแห่งนี้เจ้าพ่อศรีพรหมเมศเป็นใหญ่และมีบริวารอีก 4 องค์คอยติดตามรับใช้เจ้าพ่อ เชื่อว่าบริเวณน่านน้ำแถบนั้นมีจระเข้ใหญ่คอยปกป้องรักษาศาลอยู่ด้วย ผู้ที่เดินทางขึ้น-ล่องตามลำน้ำนี้จะเคารพกราบไหว้ พ่อค้าชาวจีนจะเซ่นไหว้เจ้าพ่ออยู่เป็นประจำเพราะเกรงอันตรายจะเกิดขึ้นระหว่างแล่นเรือมาทำการค้าแถบนี้ ในเทศกาลกินเจจะอัญเชิญเจ้าพ่อศรีพรหมเมศไปเป็นประธานร่วมประกอบพิธีกรรม วันสิ้นสุดการกินเจอัญเชิญเจ้าพ่อกลับคืนศาลด้วยขบวนเรือรูปมังกรที่มีการแห่แหนไปตามลำน้ำ หลังจากนั้นก็เผาเรือมังกรกลางลำน้ำเพื่อบอกให้รู้ว่าจบการกินเจปีนั้นแล้ว

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การทำนาเป็นอาชีพหลักของชุมชนมาตั้งแต่อดีต จะทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเริ่มในเดือนพฤศจิกายน พอปลายเดือนมกราคมของปีรุ่งขึ้นก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนมีนาคม จะปล่อยพื้นนาให้ได้พักฟื้นอันเป็นช่วงเวลาที่หญ้า ฟาง เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน พอเดือนเมษายนก็เริ่มต้นลงมือทำนาครั้งที่ 2 จะปล่อยให้นาว่างเปล่าเกือบ 3 เดือน ด้วยเป็นช่วงกลางฤดูฝน ปริมาณน้ำมากเกินไปสำหรับการหว่านข้าวกล้าต้นเตี้ยที่อาจถูกน้ำท่วมตายได้ง่าย ๆ ผู้ที่ยังคงทำนามีทั้งเจ้าของนาเองและเช่านาผู้อื่นทำ

มีการทำสวน ผลไม้ที่ปลูกมีทั้งส้มโอ ขนุน มะม่วง มะพร้าว กระท้อน กล้วยหอมและกล้ายน้ำว้า อีกทั้งยังมีการปลูกดอกไม้กระถางขายส่ง ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกมีอยู่หลายชนิด อาทิ กุหลาบ ชบา เข็ม พลับพลึง โกศล แสงจันทร์ พยับหมอก และโป๊ยเซียน

นอกจากนี้ชุมชนบ้านโรงหวดยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพราะผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นสินค้าออกมาตั้งแต่อดีต เดิมที่อาชีพการปั้นก็ทำอย่างแพร่หลายพอ ๆ กับการทำนา โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดมีความต้องการกระถางมาก ๆ จะพบว่ามีการผลิตกระถางกันเกือบทุกครัวเรือน 

1. ท่านพระครูปุริมานุรักษ์ (บุญมี สุขาบูรณ์)  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนงิ้วรายรังสฤษฏ์

2. นางสาวเทียมจันทร์  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลศิริวิทย์

3. นางสาวประไพศรี นุชสิริ  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลศิริวิทย์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้คนในชุมชนเป็นคนไทยในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีน ย่านตลาดงิ้วรายเป็นประชากรผู้มีเชื้อสายจีนมีจำนวนมากกว่าใคร ๆ ระหว่างผู้สูงอายุชาวจีนอาจจะใช้ภาษาจีนเป็นภาษาพูด แต่นับวันคนรุ่นลูกหลานจะพูดภาษาไทยกลางสำเนียงท้องถิ่นที่ฟังแล้วคนภายนอกจะรู้สึกว่าเสียงเหน่อตามแบบของภาษาถิ่นนครปฐม 


พ.ศ. 2530 ถนนลูกรังเชื่อมชุมชนออกสู่อำเภอนครชัยศรีได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นถนนลาดยาง พร้อมกันนั้นก็มีถนนสายใหม่ ๆ เชื่อมโยงชุมชนกับตำบลอื่น ๆ ที่มุ่งเข้าสู่กิ่งอำเภอศาลายาที่จะเป็นประตูเปิดไปสู่เมืองหลวงของชาวบ้านแถบนี้ การคมนาคมทางน้ำเพื่อไปติดต่อกับชุมชนอื่นด้วยเรือโดยสารเลิกไปโดยสิ้นเชิงเพราะมีรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ เข้ามาแทนที่ การเข้าออกสู่สังคมภายนอกเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น หลังจากมีถนนหลวงไม่นาน ในชุมชนก็มีไฟฟ้าใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างที่หาซื้อได้มีใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่บ้าน


ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นออกไปรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก เช่น การออกไปศึกษาตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมือง เช่น ที่นครปฐมและกรุงเทพฯ เป็นเหตุจูงใจให้มีผลต่อการเลือกประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่อาชีพเดิมของบรรพบุรุษ ขณะที่ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับภาคบังคับมีโอกาสในหน้าที่การงานอย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “งานนั่งโต๊ะ” ตามสำนักงานของรัฐและเอกชนนั้น ผู้คนอีกส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาเพียงภาคบังคับหรือระดับมัธยมก็พยายามหางานประจำทำ ตามที่พอจะมีโอกาสซึ่งก็คงไม่พ้นจากการเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) ที่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจให้สูงขึ้นโดยการส่งเสริมอุตสาหกรรม และตามด้วยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ที่เน้นการกระจายรายได้และการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

ท่องเที่ยวชุมชน. (ม.ป.ป.). บ้านโรงหวด. ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.ท่องเที่ยวชุมชน.com/

เพจ โรงเรียนวัดงิ้วราย. (2566). ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/ngiuraischool/