Advance search

บ้านปากทะเล

ชุมชนปากทะเลตั้งอยู่บนที่ราบริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนใน พื้นที่แถบนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยครึ่งเมตร เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่น้ำทะเลพัดพามา

หมู่ที่ 2, 3 ถนนเลียบชายฝั่งทะเล
บ้านในปากทะเล, บ้านนอกปากทะเล
ปากทะเล
บ้านแหลม
เพชรบุรี
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
30 พ.ค. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
30 พ.ค. 2023
บ้านปากทะเล

เมื่อราวร้อยกว่าปีก่อนมีผู้คนเข้ามาหาจับสัตว์น้ำอยู่ที่นี่ 2-3 ครัวเรือน ระหว่างออกไปหาปลาในทะเลเมื่องมองเข้ามาหาฝั่งจะเห็นว่าปากคลองที่ดูกว้างมากนั้น เป็นเสมือนปากของทะเล จึงเรียกถิ่นนี้ว่า "ปากทะเล" เรื่อยมา


ชุมชนชนบท

ชุมชนปากทะเลตั้งอยู่บนที่ราบริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนใน พื้นที่แถบนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยครึ่งเมตร เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่น้ำทะเลพัดพามา

บ้านในปากทะเล, บ้านนอกปากทะเล
หมู่ที่ 2, 3 ถนนเลียบชายฝั่งทะเล
ปากทะเล
บ้านแหลม
เพชรบุรี
76110
องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล โทร. 0-3278-3590-1
13.1534815
100.0534102
องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล

เมื่อราวร้อยกว่าปีก่อนมีผู้คนเข้ามาหาจับสัตว์น้ำอยู่ที่นี่ 2-3 ครัวเรือน ระหว่างออกไปหาปลาในทะเล เมื่อมองเข้ามาหาฝั่งจะเห็นว่าปากคลองที่ดูกว้างมากนั้น เป็นเสมือนปากของทะเล จึงเรียกถิ่นนี้ว่าปากทะเลเรื่อยมา ประมาณ 80 ปีที่แล้วมามีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อแก้ว ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดราชบุรีได้มาเยี่ยมโยมพี่น้องที่ตำบลบางแก้ว และได้มาปักกลดอยู่ ณ บริเวณปากทะเล พร้อมได้รักษาชาวบ้านที่ป่วยไข้ มีผู้คนมาทำบุญกับท่านมากขึ้นและนิมนต์ให้หลวงปู่แก้วให้อยู่ที่นี่ โดยจะร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ให้ในขั้นแรก หลวงปู่แก้วได้ตอบรับคำชวนของชาวบ้านแต่ได้แนะนำให้พระปลอดลูกศิษย์ของท่านมาเผยแพร่พุทธศาสนาแทน พระปลอดหรือที่ชาวบ้านเรียกกันในเวลาต่อมาเมื่อท่านสูงอายุกว่าหลวงปู่ปลอด ได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างวัดในปากทะเลขึ้นมา ระยะหนึ่งคลื่นลมได้กัดเซาะฝั่งคลองหน้าวัดพังทะลาย หลวงปู่ปลอดได้นำชาวบ้านข้ามทะเลไปตัดไม้เนื้อแข็งจากป่าแถบจังหวัดจันทบุรี บ้านเกิดเมืองนอนของท่านเพื่อนำปักกันเป็นแนวกำบังคลื่นลม ทุกวันนี้ยังเหลือต้นเสาเหล่านั้นอยู่เป็นจำนวนมาก และรู้จักกันในชาวหมู่บ้านว่า “เสาลอ” ในวิหารริมฝั่งคลองถัดจากแนวเสาลอออกไป ชาวบ้านได้สร้างรูปหล่อเพลงปู่ไว้ ให้เป็นที่เคารพกราบไหว้กันทั่วไป เวลาจะออกเรือไปหาปลาก็กราบไหว้ระลึกถึงท่าน เทศกาลงานประจำปีของวัดจะมีมหรสพของวัด ฉลองสมโภชน์ให้หลวงปู่มั่นตลอดมา

ภูมิประเทศ

ชุมชนปากทะเลตั้งอยู่บนที่ราบริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนในพื้นที่แถบนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยครึ่งเมตร เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่น้ำทะเลพัดพามา ลักษณะดินเป็นดินเลนสีดำ มีความสามารถระบายน้ำได้เลว ผิวหน้าดินอาจจะเกาะตัวกันแข็ง แต่ลึกลงไป 1 ฟุตเป็นดินอ่อนและพร้อมจะกลายเป็นดินโคลนเมื่อมีน้ำแช่ขัง

สถานที่สำคัญ

  • โรงเรียนวัดนอกปากทะเล
  • วัดในปากทะเล
  • วัดนอกปากทะเล

ข้อมูลประชากร

  • หมู่ที่ 2 บ้านในปากทะเล มีประชากรทั้งหมด  764 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 400 คน ประชากรหญิง 364 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 223 หลังคาเรือน

  • หมู่ที่ 3 บ้านนอกปากทะเล มีประชากรทั้งหมด 800 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 394 คน ประชากรหญิง 406 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 242 หลังคาเรือน

ระบบเครือญาติ

การอาชีพประมงเป็นเสมือนสิ่งที่ตรึงผู้คนให้ต้องอยู่กับท้องถิ่น ส่วนใหญ่จึงมีคู่ครองที่เกิดและเติบโตอยู่ในชุมชนเดียวกัน ครอบครัวของชาวประมงปากทะเลส่วนใหญ่ลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวไม่สม่ำเสมอ ที่เหลือมีคุณสมบัติเข้าข่ายของครอบครัวขยายที่ไม่ต่อเนื่อง สมาชิกในครอบครัวขยายจะได้แก่ผู้คนในครอบครัวของพ่อแม่และครอบครัวของลูกที่สมรสแล้ว หลายครอบครัวมีแต่หลาน (ลูกของลูก) อาศัยอยู่กับปู่ย่า หรือตายาย ส่วนพ่อแม่ของหลานไปทำงานอยู่ต่างถิ่น

การแต่งงาน

คนในชุมชนไม่นิยมแต่งงานกับญาติสนิทหรือคนในตระกูลเดียวกัน ลักษณะการแต่งงานโดยทั่วไปเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว หนุ่ม-สาวมีอิสระในการเลือกคู่ครองด้วยตัวเองตามสมควรโดยไม่มีกฎเกณฑ์บังคับแต่ประการใด โอกาสที่หนุ่ม-สาวจะได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวก่อนแต่งงานนับว่าเป็นสิ่งสำคัญแรกสุดที่จะนำไปสู่การตัดสินใจสมรสในเวลาต่อมา เช่น ในงานเทศกาลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะได้พบกันในขณะประกอบอาชีพ เช่น เก็บหอย เมื่อหนุ่ม-สาวชอบพอกันแล้วก็จะให้เถ้าแก่ซึ่งสนิทกับทั้งสองครอบครัวไปเจรจาสู่ขอเจ้าสาวจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่และญาติเห็นพ้องก็จะตกลงตามคำขอและเรียกสินสอด ส่วนใหญ่เรียกเก็บเป็นเงินและทอง แล้วจึงนัดกันที่จะทำพิธีหมั้นและแต่งงานในวันเดียวกัน เมื่อถึงวันกำหนด ฝ่ายเจ้าบ่ายจะยกขบวนขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาวแต่เช้า

อย่างไรก็ตามในกรณีความด้อยทางฐานะของฝ่ายชาย ความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะใช้ในงานแต่งงาน ความไม่พึงพอใจ ไม่เห็นด้วยของพ่อ แม่ ที่หนุ่มสาวคู่นั้นจะอยู่ด้วยกัน ทำให้หนุ่มสาวต้องชวนกันหนีหรือลักพาตัวสาวหนีไปจากบ้านระยะหนึ่ง และฝ่ายชายก็จะมาขอขมาฝ่ายหญิง โดยอาจมีการเรียกค่าสินสอดในภายหลัง

การแบ่งงาน

ชุมชนปากทะเลก็ไม่แตกต่างจากชุมชนชาวนามากนัก ที่พบว่าการงานหนัก ๆ ที่ต้องใช้แรงงานมาก ผู้ชายจะเป็นคนทำ ขณะที่ผู้หญิงนั้นมักรับผิดชอบงานเบา ๆ ในร่มและตามบ้านเรือน การออกไปจับสัตว์ในท้องทะเลส่วนใหญ่เป็นผู้ชายล้วน ๆ ส่วนผู้หญิงนั้นนอกจากจะทำการงานในบ้านเรือนทุกอย่างแล้วยังเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในบ้านเพราะเป็นผู้นำสัตว์น้ำไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่นด้วยตัวเอง

บ้านใดที่ลูก ๆ ออกไปรับจ้างนอกชุมชน หรือลูก ๆ ยังอยู่ในวัยเรียนหรือมีลูก ๆ เป็นผู้หญิงทั้งหมด แม่บ้านจึงต้องออกไปทำประมงร่วมกับสามี สำหรับพวกเด็ก ๆ ในช่วงเวลาปิดเทอมหรือตอนวันหยุด พ่อ แม่ ก็อาจให้ลงเรือไปทำประมงเพื่อทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น แกะปูหรือสัตว์น้ำออกจากอวน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ศาสนา

ชุมชนปากทะเลมีวัดรวม 2 แห่ง ได้แก่ วัดในปากทะเลและวัดนอกปากทะเล ทั้งสองวัดห่างกันประมาณ 500 เมตร กล่าวกันว่าวัดทั้งสองแห่งนี้มีอายุไล่เลี่ยกันแต่ไม่มีเอกสารแน่ชัด เช่นเดียวกับที่มาของหมู่บ้าน ชาวปากทะเลจะแยกไปทำบุญตามวัดที่อยู่ใกล้บ้านและอาจจะมีการหมุนเวียนไปทำบุญในแต่ละวัดตามแต่โอกาส งานนักขัตฤกษ์ วัดเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านได้ใช้เพื่อการทำบุญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ มากกว่าสิ่งอื่นใด นอกจากงานบุญในวันพระขึ้น 8 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ และงานบุญตอนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น มาฆบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา ตลอดจนการทำบุญในยามเทศกาลพื้นบ้านไทย เช่น สารท ตรุษ วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่แล้ว ชาวบ้านยังใช้วัดเป็นสถานที่จัดงานพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิต เช่น งานบวช งานศพ งานบนบานศาลกล่าวต่าง ๆ

วัดและชุมชนต้องพึ่งพาอาศัยกันตลอดเพราะวัดคือสมบัติส่วนรวมของชุมชน การปลูกสร้างอาคาร อารามต่าง ๆ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ฯลฯ  ตลอดจนการซื้อของใช้ต่าง ๆ ด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีขึ้นมาจากการทำบุญจากชาวบ้านทั้งในและนอกปากทะเลบริจาคเนื่องในงานบุญธรรมดาและงานบุญสำคัญ ๆ เช่น งานทอดกฐินในระหว่างเดือน 12 เป็นโอกาสเดียวในรอบปีที่ทางวัดได้รายได้มากที่สุด ในอดีตวัดปากทะเลมีกฐินทางน้ำ ปัจจุบันสภาพคลองไม่เอื้ออำนวยจึงเลิกไป

ความเชื่อ

การประกอบอาชีพประมงเป็นการทำมาหากินที่เสี่ยงภัยกว่าการทำนาทำไร่ จึงเป็นธรรมดาที่ชาวประมงจะหาที่พึ่งทางใจโดยผ่านความเชื่อและพิธีกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับภูติผีวิญญาณและอำนาจเหนือธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ เช่นความเชื่อในหลวงปู่ปลอด ความเชื่อเจ้าแม่ตะเคียน ความเชื่อเจ้าพ่อแขกและความแม่ย่านาง ฯลฯ ชุมชนนับถือหลวงปู่ปลอด ร่ำลือกันว่าหลวงปู่ปลอดเป็นผู้ที่มีเวทมนต์ คาถาอาคม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถล่องหนหายตัวได้ ในงานบุญของทุก ๆ ปี ทางวัดจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านไปสักการบูชาและปิดทองรูปเหมือนหลวงปู่ปลอด ใครมีเรื่องทุกข์ใจหรือบนบานเพื่อการประกอบอาชีพให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จะมีการแก้บนด้วยละครชาตรีอยู่บ่อย ๆ ชาวประมงหลายรายกล่าวว่าก่อนออกทะเลต้องบอกหลวงปู่ปลอดก่อนเสมอ ในกรณีที่ลมแรงมาก ๆ ระหว่างอยู่ในทะเล ชาวประมงบางรายบนตัวบวชก็มี

ในช่วงหลังจากออกพรรษาของทุก ๆ ปี จะมีการเข้าทรงของหลวงปู่โดยนาฉลวยซึ่งเป็นแม่ค้าในชุมชนจะเป็นร่างทรงของหลวงปู่ นางฉลวยจะรับเข้าทรงหลวงปู่ปลอดเพื่อรักษาโรคและทำนายโชคชะตา แต่การเป็นร่างทรงนางฉลวยจะเป็นเฉพาะหลังออกพรรษาเพียง 2-3 อาทิตย์เท่านั้น ชาวบ้านกล่าวว่าตอนนางฉลวยอยู่ในร่างทรงจะมีท่าทางและอากัปกริยาคล้ายคลึงกับหลวงปู่ปลอดคือจะสูบบุหรี่มวนต่อมวนและเคี้ยวหมากไปด้วยซึ่งตามปกตินางฉลวยไม่กินหมากและไม่สูบบุหรี่

ใกล้บริเวณป่าช้าของหมู่บ้านจะมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนตั้งอยู่ บริเวณศาลจะมีซากเรือที่ทำจากไม้ตะเคียนวางอยู่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในชุมชน ผู้คนที่ปรารถนาสิ่งใดก็มักจะไปบนบานศาลกล่าวกับเจ้าแม่ และเมื่อสมประสงค์ก็นำพวงมาลัย ตุ๊กตาไปแก้บนพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ

ศาลเจ้าพ่อแขกตั้งอยู่ใกล้ ๆ สถานีอนามัยประจำตำบล เป็นศาลไม้มุงด้วยสังกะสี เชื่อกันว่าเป็นศาลแขกแต่ไม่ปรากฏยืนยันว่าเป็นแขกประเภทใด ลือกันว่าในอดีตเมื่อมีเรือบรรทุกหมูผ่านศาลเจ้าแห่งนี้เรือนั้นจะจมลง ในช่วง 2-3 ปีก่อนเกิดอุทกภัยในชุมชน ชาวบ้านได้นำหมูไปไว้ในใต้ถุนอนามัย ปรากฏว่าหมูตายไป 3 ตัว เชื่อกันว่าเป็นผลที่เกิดจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพ่อแขก เรื่องพ่อแขกไม่ชอบหมูยังคงปรากฏในปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยใกล้ศาลพ่อแขกไม่สามารถเลี้ยงหมู เพราะหมูต้องเกิดโรคตายเสมอ ผู้ที่มีความเดือดร้อนใจหรือเป็นทุกข์มักจะมาบนบานศาลกล่าว เพื่อให้ตนพ้นจากความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บนั้น ๆ จึงปรากฏว่าในบริเวณตัวศาลและใกล้เคียงจะมีรูปตุ๊กตาดินเหนียวที่ใช้ในการสะเดาะเคราะห์มากมาย มีการทำบุญเดือนสามหรือเดือนห้า ชาวบ้านจะนิมนต์พระ 9 รูปมาทำบุญที่ศาลเจ้าแม่ตะเคียนและศาลเจ้าพ่อแขก

อีกทั้งยังมีแม่ย่านางที่เป็นเทพประจำเรือที่คอยปกปักรักษาและคุ้มครองเรือ ดลบันดาลให้เจ้าของเรือนั้น ๆ ประสบความสำเร็จในการทำมาหากิน และปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่าง ๆ แก่เจ้าของเรือ ซึ่งก่อนออกทำมาหากินในแต่ครั้ง ชาวเรือจะจุดธูปบูชาและบอกกล่าวแก่แม่ย่านาง บางรายก็จัดทำเครื่องเซ่นไหว้และจุดประทัดถวาย ทุก ๆ ปีจะเปลี่ยนผ้าสีบริเวณหัวเรือ มีข้อห้ามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรือ เช่นห้ามใส่รองเท้าลงเรือเพราะเป็นการลบหลู่แม่ย่านางเรือ ห้ามผู้หญิงยืนบนสะพานขณะเรือแล่นผ่านเพราะจะทำให้ไม่เป็นสิริมงคล ทำการงานใด ๆ ไม่ได้ผล

ในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตทุกอย่างยกเว้นงานศพ ชาวบ้านจะไปปรึกษาพระหรือหาหมอดูเพื่อให้ท่านหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมในการประกอบกิจการนั้น ๆ เช่น การเลือกวันบวช แต่งงาน ปลูกบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เพราะเชื่อว่าฤกษ์ยามที่ดีจะทำให้เกิดความสุขความเจริญ

นอกจากนี้ชาวบ้านปากทะเลยังมีประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตอีกหลายอย่างที่สำคัญนั้น ได้แก่ พิธีการทำขวัญน้ำอันเป็นพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเคยเป็นพิธีดั้งเดิมของชาวบ้านปากทะเลที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแล้ว

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การทำประมงเป็นที่มาของอาหารเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุด จากการสุ่มตัวอย่างของผู้เขียน ครัวเรือนหนึ่ง ๆ จะมีรายได้เฉลี่ย 7,000-1,5000 บาทต่อปี ชาวปากทะเลประกอบการประมงแบบพื้นบ้านด้วยการใช้เรือขนาดความยาว 2 วา โดยเฉลี่ย มีทั้งเรือพายและเรือติดเครื่องยนต์ชนิด 10 แรงม้า ส่วนใหญ่จะจับสัตว์น้ำตามชายฝั่งรัศมีห่างจากฝั่งที่สุดประมาณ 10 กิโลเมตรกว่า เครื่องมือที่ใช้ก็เป็นแบบดั้งเดิม เช่น ยอ อวนรุน แห เบ็ดราว เบ็ดไว และลอบ ฯลฯ ในระยะหลังใช้อวนลอยตามแบบประมงพาณิชย์มากขึ้น แต่ก็เป็นของที่มีขนาดเล็ก กล่าวอย่างรวม ๆ แล้วจะเลือกใช้เครื่องมือประมงแต่ละอย่างตามชนิดของสัตว์น้ำที่มีอยู่ในระยะห่างจากฝั่งต่างกันออกไป

นอกจากทุนด้านแรงงานแล้ว การทำประมงจะต้องมีเรือและอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ซึ่งในอดีตเรือที่ใช้ในชุมชนปากทะเลมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น เรือโขนหรือเรือมาตร เรือฉลอม เรือใบ เรือแจวคู่ และเรือพาย แต่เมื่อเครื่องยนต์เข้ามามีบทบาท ชาวประมงจึงหันมาใช้เรือเครื่อง เรืออีปาป และเรืออีโปงแทน

การประกอบการประมง ชาวประมงจะต้องเรียนรู้ถึงธรรมชาติของสัตว์น้ำว่าชอบอยู่ที่ไหน ฤดูอะไร ชอบกินอะไรเป็นต้น เพราะสัตว์น้ำต้องอาศัยธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด การมีความรู้เรื่องลมและฝนจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ยิ่งขึ้น เช่น ปลาทูจะมีมากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-มกราคม และมากที่สุดเดือนพฤศจิกายน ช่วงลมว่าว หลังจากเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปลาทูจะลงไปวางไข่แถบเข้าพงัน เกาะอ่างทอง เกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนปลากระบอกมีให้จับทั้งปีและเริ่มมีมากช่วงฤดูฝนรวมทั้งปลาชนิดอื่น ๆ เพราะช่วงนี้น้ำกร่อย ปลาเริ่มเข้าหาฝั่ง เช่น ปลาดุกทะเล เราจึงหาปลาเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก ปูม้า ปูทะเลหาได้ทั้งปีและเริ่มหาได้มากตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ประมาณเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ สัตว์น้ำประเภทหอย เฉพาะหอยแครง และหอยเสียบมีให้เก็บตลอดปีแต่ช่วงที่หอยตัวใหญ่และเนื้อแน่นประมาณเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคมหรือฤดูฝน สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ มีชุกชุมในช่วงฤดูฝนทั้งนี้เพราะช่วงระยะดังกล่าวเป็นระยะที่ชายฝั่งมีแร่ธาตุอาหารที่น้ำจืดและน้ำเค็มพัดมาบรรจบกัน ทำให้ปลาหลาย ๆ ชนิดเช่น ปลาดุก ปลากระบอก เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้หอยแครงและหอยเสียบ ปูม้า ปูทะเล ชอบภาวะน้ำกร่อยเพราะได้กินอาหารจากเศษตะกอนดินที่ถูกพัดพาจากแม่น้ำลำคลองสู่ท้องทะเล ช่วงนี้หอยปูม้า และปูทะเลจะเจริญเต็มที่

ชาวประมงเป็นผู้ผลิตเบื้องต้น เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตจะหมดกับการจับสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตจากชาวประมงไปขายตลาด ซึ่งคนกลางมีทั้งคนในชุมชนและผู้ที่มาจากถิ่นอื่น นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพก็มีอยู่ในชุมชนเช่นกันสัตว์ที่เลี้ยง ได้แก่ วัว หมู เป็ด (สำหรับขายไข่) และไก่ (พันธุ์พื้นเมือง) 

1. หมอสง่า  ประกอบอาชีพทำนาเกลือ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่ามีฝีมือด้านการรักษาโรคลมให้แก่เด็ก ๆ

2. ครูผ่อง  เป็นครูสอนโรงเรียนในชุมชนแต่ได้สืบวิชาแพทย์แผนโบราณจากพ่อแม่ ได้ทำยาหม้อ ยาดอง และยาลูกกลอนรักษาได้หลายโรค

สาธารณสุขพื้นฐานนั้นสมัยก่อนต้องอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อการดูแลและรักษาสุขภาพ ความรู้ในการเยียวยารักษาเป็นสิ่งที่รับทอดต่อ ๆ กันมาอย่างไม่เป็นทางการแม้โรคภัยไข้เจ็บชนิดเดียวกัน หมอแต่ละรายก็อาจมีวิธีปรุงยาและบำบัดรักษาต่างกันไป พืชพันธุ์สมุนไพรที่ใช้เป็นตัวยาหลักก็ได้ไปจากท้องถิ่น เช่น ใช้เปลือกต้นโกงกางต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมานแก้ท้องร่วง บิดเรื้อรังและอาการคลื่นเหียนอาเจียน ต้นและรากเหงือกปลาหมอต้มเอาน้ำมาอาบรักษาโรคผิวหนัง หากรับประทานก็จะแก้โรคฝีดาษ ฝีทั้งปวงและโรคริดสีดวงทวาร เมื่อถูกแมงกะพรุนให้โขลกชะครามเพื่อเอาน้ำมาทาถูก็จะช่วยลดอาการแสบร้อนลงได้ นำใบมะขามมาตำผสมกับข้าวสารเหนียวนำไปนึ่งให้สุกเพื่อปิดทับลงบริเวณที่เป็นฝีหนอง เวลาขยำคลุกตัวเคยเพื่อหมักกะปิหากมีอาการแพ้และคันตามง่ามมือมักจะให้ดื่มน้ำยาที่มีต้นทองหลางและทะเลเข้าเครื่องยาอยู่ด้วย หากเป็นแผลสดให้ใช้หญ้าฟันงูพอก กรณีของการเป็นแผลพุพอง ใช้ต้นแมงดองตำปิดแผล ระหว่างคลอดบุตรอยู่ไฟให้หาเถาวัลย์มาทำยาอยู่ไฟ 

ชาวประมงปากทะเลส่วนมาก (90%) เกิดในชุมชน ส่วนที่เหลือมักมีถิ่นกำเนิดจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่จึงใช้ภาษาถิ่นเพชรบุรีในการสื่อสารระหว่างกัน 


หลังจากปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมารัฐบาลส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามพื้นที่ชายฝั่งเพื่อให้มีอาหารทะเลเพิ่มขึ้น การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมีการพัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ ใช้เวลาเลี้ยงสั้น ให้ผลผลิตสูงและผลกำไรก็สูงด้วยเช่นกัน การประสบความสำเร็จเช่นนี้ทำให้ธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันคาดว่ามีนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะไต้หวันเข้ามาลงทุนเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเกือบ 50 ราย นักลงทุนชาวไทยรายใหญ่ ๆ ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันให้มาช่วยแนะนำการเพาะเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะฟาร์มเพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเล จึงทำให้ป่าชายเลนทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และที่เสื่อมสภาพแล้วได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นที่เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ความเสื่อมโทรมในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเสียระเบียบในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมตามมา เมื่อสัตว์ทะเลลดลงทั้งปริมาณและขนาดอยู่เรื่อย ๆ เช่นนี้ ผู้ประกอบอาชีพประมงจึงประสบแต่การขาดทุนอยู่เสมอ ทำให้ต้องเลิกอาชีพประมงแล้วไปหางานอย่างอื่นทำแทน


การพัฒนาด้านพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะถนนเลียบชายฝั่งเป็นเสมือนผนังกั้นน้ำจืดและน้ำเค็ม ตลอดจนการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ก่อให้เกิดผลด้านลบอย่างมหันต์ต่อระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน อีกทั้งการสร้างถนน เขื่อนและคลองชลประทานเพื่อการเกษตรกรรมยังทำให้มีปริมาณและคุณภาพของน้ำ (กร่อย) เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติของชายทะเล ซึ่งแต่ก่อนเคยมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้น-ลงระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม สภาพดังกล่าวทำให้พื้นแผ่นดินบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลหรือป่าชายเลนขาดการถ่ายเทอากาศและที่เลวร้ายที่สุดก็คือความอุดมสมบูรณ์ในป่าชายเลนลดลงไป ด้วยเดี๋ยวนี้ไม่มีธาตุอินทรีย์จากบกลงสู่ปากทะเลอีกแล้ว ป่าชายเลนในท้องที่อำเภอบ้านแหลมซึ่งรวมทั้งป่าชายเลนและปากทะเลเริ่มเสื่อมสภาพตั้งแต่นั้นมา อีกทั้งการเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งยังทำให้พื้นที่ป่าชายเลยลดปริมาณลงไปด้วย เมื่อไม่มีป่าชายเลนอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิดดังที่กล่าวไว้ ก็เป็นธรรมดาที่สัตว์ทะเลซึ่งเคยมีอยู่อย่างชุกชุมย่อมจะสูญหายไปจากปากทะเล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

ไทยโพสต์. (2565). ‘บ้านปากทะเล’ โมเดลคนอยู่ได้ นกอยู่ได้. ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.thaipost.net/

buddhist temple. (ม.ป.ป.). วัดในปากทะเล. ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก https://buddhist-temple-1939.business.site/

chillnaid. (2563). วัดที่วิหารเป็นเรือ?? วัดสวยบ้านแหลม เพชรบุรี วัดนอกปากทะเล. ค้นคืนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.chillnaid.com/