Advance search

ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟ สถานีขนส่งจังหวัดยะลา และสะพานเฉลิมพระเกียรติ

สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
มูฮำหมัดอาลี ซง
24 มี.ค. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
20 พ.ค. 2023
มูฮำหมัดอาลี ซง
30 พ.ค. 2023
ธนวิถี

นำชื่อถนนมาตั้งเป็นชื่อชุมชน


ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟ สถานีขนส่งจังหวัดยะลา และสะพานเฉลิมพระเกียรติ

สะเตง
เมืองยะลา
ยะลา
95000
6.554714
101.2958
เทศบาลนครยะลา

ประวัติความเป็นมายังไม่ทราบแน่ชัด ชุมชนธนวิถี มีพื้นที่ประมาณ 77,938.01 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถนน จำนวน 9 สาย คือ ถนน ธนวิถี ถนนธนวิถี 2 ถนนธนวิถี 3 ถนนธนวิถี 4 ถนนธนวิถี 4 ซอย สุธีอุทิศ ถนนธนวิถี 5 ถนนผังเมือง 4 ซอยไม่มีชื่อระหว่างถนนธนวิถี และถนนธนวิถี 5 และซอยตัน 2 ซอยอยู่ในพื้นที่ถนนธนวิถี 5

ชุมชนธนวิถี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากเทศบาลนครยะลามุ่งหน้าทางตะวันตก ไปยังถนนหมายเลข 410 ออกจากวงเวียนไปสู่ถนน พิพิธภักดี 750 เมตร เมื่อถึงวงเวียนใช้ทางออกที่ 3 ประมาณ 400 เมตร เลี้ยวซ้ายที่ถนนเทศบาล 3 ประมาณ 1.3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่ถนนธนวิถี ตรงไป 280 เมตร ถึงชุมชนธนวิถี

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนหลังโรงเรียนจีน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนเมืองทอง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทางรถไฟ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนธนวิถีพัฒนา

สภาพพื้นที่กายภาพ

ชุมชนธนวิถี เป็นชุมชนเมืองในเขตเทศบาลนครยะลา สภาพทั่วไปของชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีน้ำหนุนขึ้นมาจากเขื่อน ส่งผลทำให้น้ำท่วมขังบริเวณของชุมชน นอกเนืองจากนั้นชุมชนอยู่ใกล้กับทางรถไฟและถนนใหญ่ ทำให้เกิดเสียงรบกวนและการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเช้า และเย็น

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนธนวิถี จำนวน 310 ครัวเรือนเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 559 คน แบ่งประชากรชาย 276 คน หญิง 283 คน เป็นชุมชนชาวไทยพุทธ โดยสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน นอกจากนั้นยังมีบุคคลภายนอกที่มาเช่าบ้านและอยู่อาศัยภายในชุมชน

นางอนงค์ โรหิตธาดา กล่าวว่า ชุมชนไม่มีองค์ชุมชมและกลุ่มอาชีพใด ๆ เนื่องจากชุมชนมีบ้านเช่าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ยากต่อการรวมตัวของสมาชิกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

ด้านการบริหารชุมชน

  1. นายโกวิท สังขมาศ :ประธานชุมชน
  2. นายเล็ก คงปาน : รองประธานชุมชน

ในรอบปีผู้คนในชุมชนจะมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม ประเพณีทําบุญขึ้นปีใหม่ ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ผู้คนในชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลัง และรักษาประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป

  • เดือนเมษายน ประเพณีวันสงกรานต์จัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้รักวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ยิ่งขึ้น ในวันสงกรานต์จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และขอพรญาติผู้ใหญ่ในชุมชน 
  • เดือนมีนาคม มหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน เทศบาลนครยะลาร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดขึ้น ซึ่งการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวไทยในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมทั้งผู้สนใจจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งนกเข้าร่วมแข่งขันร่วมประมาณ 2,000 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาและธุรกิจเกี่ยวกับนก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

  • เดือนพฤษภาคม งานถนนคนเดินยะลา เทศบาลนครยะลา ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้จัดงาน ถนนคนเดินขึ้นเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าต่าง ๆ อาทิ สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน ออกมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนได้ซื้อในราคาถูก มีคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนในจังหวัด ประชาชนได้รับความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ
  • เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน งานสมโภชนาหลักเมือง เป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของจังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมฉลองและสมโภชหลักเมือง อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนชาวจังหวัดยะลา และประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนแห่หลักเมืองจำลอง ขบวนแห่งานกาชาดจังหวัดยะลา (วัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา) กิจกรรมเปิดงานกาชาดจังหวัดยะลา สำหรับกิจกรรมตลอดระยะเวลา 11 วัน 11 คืน ซึ่งภายในงานมีการออกบูธแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลสลากกาชาดเพื่อการกุศล การประกวดธิดานิบง การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ขวัญใจมหาชน การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงานวิชาการของหน่วยราชการ สถานศึกษาและภาคเอกชน และอีกมากมาย 
  • เดือนกันยายน-ตุลาคม ประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีบุญที่สำคัญของผู้คนในภาคใต้จัดขึ้นช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ของทุกปี หรือที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความเชื่อว่าบรรดาดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับจะกลับมาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันสารทเล็ก ซึ่งบรรดาลูกหลานจะเตรียมขนมมาเลี้ยงเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ และฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน " ส่งเปรต " กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญของประเพณีชิงเปรต คือ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้กลายเป็นเปรต

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ด้วยวิถีชีวิตชุมชนเมืองซึ่งประชากรส่วนใหญ่ผู้คนในชุมชนจะประกอบอาชีพ ได้แก่ ค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ

1. วิโรจน์ โรหิตธาดา : ข้าราชการบำนาญ

2. นางเพ็ญผล สังขมาศ : ข้าราชการบำนาญ

3. นางอนงค์ โรหิตธาดา : ข้าราชการบำนาญ

4. นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ : นายกเทศมนตรีนครยะลา

ทุนวัฒนธรรม : อาหาร ได้แก่ หมี่กะทิ เป็นอาหารชนิดเส้นที่เป็นที่ยอดนิยมของผู้คนในชุมชน จะมีรสชาติเข้มข้นกลมกล่อมอย่างมีเอกลักษณ์ โดยจะนิยมรับประทานกันในงานมงคลต่าง ๆ ของชุมชน

ผู้คนในชุมชนจะสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาไทยเป็นหลัก


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏเห็นได้ชัดในด้านสังคมและประชากร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ จำนวนอาคารบ้านเรือน ร้านค้า และอาคารพานิชย์เพิ่มมากขึ้น 

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนเผชิญกับความท้าทาย ดังนี้

1. ปัญหาการจราจรติดขัดช่วงเช้าและเย็น

2. ปัญหาการลักเล็กขโมยน้อยตามร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนในชุมชน

3. ปัญหายาเสพติดและมีแหล่งอบายมุขแหล่งมั่วสุ่ม

4. ปัญหาสุนัขจรจัด

5. ปัญหาถนนเป็นหลุมเป็นหลุมบ่อ

6. ปัญหาทางเท้ามีสิ่งกีดขวาง เช่น การค้าขายบนทางเท้า และวางกระถางต้นไม้บนฟุตบาท

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครยะลา สถานีตำรวจ และอื่นๆ ได้เข้ามาแก้ไขปัญหา เช่น ปรับปรุงถนนที่ชำรุด จัดระเบียบการจอดรถ และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติดแก่ในชุมชน

ด้านการมีส่วนร่วม สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชนเป็นอย่างดี

ชุมชนมีโกดังสินค้าขนาดใหญ่ทั้งหมด 3 ที่ และชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟ สถานีขนส่งจังหวัดยะลา สถานีรถไฟ และตลาดนัดมะพร้าว 

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2564). แผนชุมชนประจำปี 2564. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน. (2565). แผนชุมชนประจำปี 2565. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

นางอนงค์ โรหิตธาดา. (7 มิถุนายน 2566). ข้อมูลทั่วไปของชุมชน. (มูฮำหมัดอาลี ซง, ผู้สัมภาษณ์)