บรรพบุรุษของคนที่นี่มีถิ่นเดิมอยู่แถบเมืองแกงหรือที่เรียกตามพงศาวดารเมืองแกงว่าเมืองน้ำน้อย ผู้ไทแถบเมืองแกงเรียกตนเองว่า ผู้ไทกวาน แต่คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมักเรียกผู้ไทในเมืองนั้นว่า ผู้ไทดำ
บรรพบุรุษของคนที่นี่มีถิ่นเดิมอยู่แถบเมืองแกงหรือที่เรียกตามพงศาวดารเมืองแกงว่าเมืองน้ำน้อย ผู้ไทแถบเมืองแกงเรียกตนเองว่า ผู้ไทกวาน แต่คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมักเรียกผู้ไทในเมืองนั้นว่า ผู้ไทดำ
เล่ากันว่าบรรพบุรุษของคนที่นี่มีถิ่นเดิมอยู่แถบเมืองแกงหรือที่เรียกตามพงศาวดารเมืองแกงว่าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูซึ่งสันนิษฐานกันว่าอยู่ในเขตเดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน แต่เดิมดินแดนแถบนั้นมีผู้ไทอาศัยอยู่ตามเมืองต่าง ๆ 12 เมือง เป็นเมืองของไทขาว 4 เมือง และเมืองของไทดำอีก 8 เมือง ผู้ไทแถบเมืองแกงเรียกตนเองว่าผู้ไทกวาน แต่คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมักเรียกผู้ไทในเมืองเหล่านั้นว่าผู้ไทดำตามสีของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อีกทั้งยังเรียกเมืองทั้งสิบสองเมืองข้างต้นรวม ๆ ว่าสิบสองผู้ไทหรือสิบสองจุไท เพราะปัญหาทางการเมืองที่ถูกรุกรานจากผู้ไทซาวแห่งเมืองไล ทำให้ผู้ไทจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของท้าวก่าได้อพยพลงใต้มาตั้งหลักแหล่งแถบเมืองเชียงขวางประเทศลาวระยะหนึ่ง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2373 ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ จากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาสู่ประเทศไทย ภายหลังการปราบปรามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ครั้งสมัย ร. 3 ผู้ไทดำภายใต้การนำของสามพี่น้องซึ่งเป็นเชื้อสายท้าวก่าอันได้แก่ท้าวเพชร ท้าวสาย และท้าวไพรได้พาพรรคพวกข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งไทยที่ท่าโพธิ์สามต้นข้างพระกลางทุ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับพระธาตุพนมแล้วเลยไปพำนักบริเวณริมหนองหาร ซึ่งเป็นที่อุดมสมบูรณ์แต่ก็อยู่ที่นั่นได้เพียงราว ๆ 6 เดือน ลูกหลานรุ่นเด็กเจ็บป่วยตายกันหลายคนเพราะไม่ชินต่อสภาพภูมิประเทศในที่โจ่งแจ้งซึ่งต้องเผชิญต่อลมแรง จึงพากันรอนแรมกลับมาที่บ้านพระกลางทุ่งอีกและคิดว่าจะข้ามลำน้ำโขงกลับไปอยู่เมืองวังถิ่นเก่าในประเทศลาว แต่เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมได้กรุณาให้พักและตั้งหลักแหล่งบริเวณดงหวายซึ่งมีห้วยบ่อแกไหลผ่าน อีกทั้งยังมีบ่อเหลือให้ใช้ประโยชน์ได้อีก การตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรได้เริ่มขึ้น ณ ที่นั้น ซึ่งได้ชื่อต่อมาว่าเมืองคงหวายสายบ่อแก แต่ผู้คนเคยชินกับการเรียกตามแบบชาวบ้านว่าเมืองเว ซึ่งหมายถึงการอพยพพวกเวียนไปมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ นั้น ท้าวสายผู้นำชาวผู้ไทได้รับตราตั้งเป็นพระแก้วโกมลและได้เปลี่ยนชื่อจากเมืองเวเป็นเมืองเรณูนครในปี พ.ศ. 2388
นับตั้งแต่พระแก้วโกมล เมืองเรณูนครได้มีเจ้าเมืองต่อมาอีก 5 องค์ เจ้าเมืององค์สุดท้ายคือเจ้าแก้ว (ต้นตระกูล โกมลรัตน์) ในปี พ.ศ. 2450 การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ลดฐานะของเมืองเรณูนครมาเป็นอำเภอโดยมีท้าวกาเตโชเป็นนายอำเภอคนแรก พ.ศ. 2455 เรณูนครมีสถานภาพเป็นเพียงตำบลซึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอธาตุพนม การเป็นพื้นที่ชายแดนทำให้เรณูนครต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองการปกครอง อยู่เรื่อยมาเช่นในปี พ.ศ. 2508 ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ใช้กำลังอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2513 ตำบลเรณูนครได้เขยิบฐานะเป็นกิ่งอำเภอเป็นเวลานาน 6 ปี ก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ในแง่ของการปกครองท้องถิ่นอำเภอเรณูนครมี 5 ตำบล และมีหมู่บ้านทั้งสิ้น 74 หมู่บ้าน
ชุมชนเรณูอาจจะอยู่ห่างป่าเขาอยู่มาก แต่ก็ได้อาศัยทรัพยากรจากป่าเพื่อการดำเนินชีวิตโดยการค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่ได้จากป่ากับชาวบ้านในเขตอำเภอปลาปากและอำเภอนาแกเป็นส่วนใหญ่
พื้นที่อำเภอเรณูนครอยู่เหนือน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120 – 150 เมตร องค์ประกอบของดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายจึงมีความสามารถอุ้มน้ำได้ปานกลางดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าวมากกว่าอย่างอื่น มักจะพบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูเพาะปลูกเพราะในเขตนี้ไม่มีการชลประทานในรูปแบบใด ๆ น้ำที่ใช้ดื่มจะได้มาจากน้ำฝนที่เก็บไว้ในภาชนะต่าง ๆ ส่วนน้ำเพื่อการอื่น ๆ จะได้มาจากน้ำบาดาล ก่อนที่ทางอำเภอจะขยายบริการน้ำประปาบาดาลมาถึงหมู่บ้านเกือบทุกครัวเรือนจะมีบ่อบาดาลเป็นตนเอง การมีน้ำบาดาลสมบูรณ์เช่นนี้นับว่าช่วยแก้ปัญหาทางการผลิตได้มาก กล่าวคือเมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงภายหลังจากที่ลงมือตกกล้าไปแล้วก็พอสามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงนาได้ นอกจากนี้นี้ยังใช้น้ำจากบ่อเพื่อรดพืชผักในสวนครัว ข้างบ้านจึงมีพืชผักและไม้ผลหลายอย่างให้บริโภคอีกด้วย
ลักษณะอากาศ
เรณูนครอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูกาล คือมีฝนตกชุกอยู่ช่วงหนึ่งในรอบปีสลับกับการมีช่วงแล้งอย่างเห็นได้ชัด ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ฝนตกมากที่สุดเดือนสิงหาคม ปลายเดือนกันยายนก็พอดีสิ้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือได้พัดพาความแห้งแล้งและหนาวเย็นจากประเทศจีนเข้ามาครอบคลุมพื้นที่แถบนี้ อุณหภูมิอาจลดลงต่ำสุดที่ 10 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นอากาศอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นช่วงของฤดูร้อนซึ่งจะอยู่ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน อาจเป็นเพราะอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง อากาศแถบนี้จึงไม่ร้อนมากเหมือนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานด้วยกัน
สถานที่สำคัญ
- วัดพระธาตุเรณู
- วัดปัจฉิมมาวาส
- วัดป่าศิวิลัย
- โรงเรียนเรณูวิทยาคาร
- โรงเรียนโพนทองวิทยาคาร
การสร้างความสัมพันธ์ฉันญาติโดยผ่านการแต่งงานเริ่มต้นที่การทำความรู้จักและคุ้นเคยกันของคู่บ่าวสาว ซึ่งการแต่งงานนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสถานภาพและบทบาทของบุคคลที่สำคัญอีกวาระหนึ่งจึงมีการกล่าวตักเตือนกันเป็นพิเศษโดยผ่านพิธียกขันหมากและพิธีบายศรีสู่ขวัญสิ่งของเครื่องใช้และการกระทำต่าง ๆ ในพิธีข้างต้นล้วนมีนับเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่หมายจะอบรมสั่งสอนให้ผู้ผ่านพิธีได้รู้ได้เตรียมตนให้พร้อมรับกับสถานภาพและบทบาทของการครองชีวิตคู่ หลังพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาวยังคงอยู่ที่บ้านของพ่อแม่ต่อไปอีก 3 คืน จากนั้นจึงทำพิธีส่งตัวเจ้าสาวเข้าสู่เรือนหอซึ่งสร้างไว้บนที่ดินของฝ่ายเจ้าบ่าว ชาวเรณูนิยมอยู่กับครอบครัวของฝ่ายชาย แม้ในรายที่ไม่มีเรือนหอก็จะอยู่บ้านของพ่อแม่เจ้าบ่าวไปประมาณ 2-3 ปี จึงจะแยกออกไปสร้างเรือนของตนเองในบริเวณรอบ ๆ บ้านพ่อแม่ฝ่ายชายระหว่าง 2-3 ปี ที่อยู่บ้านพ่อแม่นั้นนับเป็นเวลาของการเริ่มต้นชีวิตคู่ซึ่งมีนัยทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นช่วงของการรับผิดชอบต่อการหากิน การได้ฝึกหัดทำนาทำไร่ร่วมกับครอบครัวของพ่อแม่ช่วยให้คู่สมรสมีความชำนาญมากยิ่งขึ้นและสามารถทำมาหากินได้เองเมื่อแยกเรือนออกไป นอกจากนี้ช่วงระยะ 2-3 ปีที่อยู่กับพ่อแม่คู่สมรสมักจะมีบุตร 1-2 คน จึงได้อาศัยปู่และย่าของเด็กเป็นต้นแบบการเลี้ยงลูก ช่วงที่ทั้งลูกและหลานอยู่ร่วมบ้าน ครอบครัวจึงมีขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยคน 3 ช่วงอายุ เมื่อลูกทุกคนมีครอบครัวและแยกเรือนออกไป ครอบครัวเดิมของปู่ย่าก็กลับมีขนาดเล็กลง บริเวณรายรอบบ้านของปู่ย่าคือที่ตั้งบ้านเรือนของบุตรหลาน เด็ก ๆ จะมีความใกล้ชิดกับญาติข้างพ่อของตนมากกว่าญาติข้างมารดา สังเกตได้จากการแบ่งมรดกทรัพย์สินที่ลูกทั้งชายและหญิงจะได้ทรัพย์ส่วนแบ่งจากพ่อแม่เหมือน ๆ กัน แม้ว่าบุตรสาวจะแต่งงานออกไปอยู่กับฝ่ายชายแต่ก็มีส่วนในมรดกที่นาไร่ของตระกูลเช่นเดียวกับพี่น้องผู้ชายคนอื่น ๆ กระนั้นในแง่ของการจัดลำดับทางสังคมแล้ว ผู้ชายชาวเรณูก็อยู่ในฐานะที่สูงกว่าผู้หญิงด้วยความเชื่อว่าผู้ชายสามารถบวชเรียนและมีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนามากกว่าผู้หญิง ผู้ชายจึงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
ไทดำวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
มีวัดพระธาตุเรณูเป็นศูนย์รวมของผู้คนในท้องถิ่นโดยแท้จริง องค์พระธาตุคือสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของเรณูนคร เพราะเมื่อพูดถึงเรณูนครคนต่างถิ่นก็จะนึกถึงองค์พระธาตุเป็นสิ่งแรก ซึ่งเกือบตลอดทั้งปีชาวเรณูนครมีกิจพิธีต่าง ๆ อยู่มากดังจะเห็นได้จากปฏิทินประเพณีข้างล่างนี้
ปฏิทินประเพณีพิธีกรรมในรอบปีของชุมชนเรณูนคร
- เดือนอ้าย (พ.ย.) = บุญกองข้าว
- เดือนยี่ = บุญกองข้าว
- เดือนสาม = พิธีเรียกบุญกองข้าว
- เดือนสี่ = บุญผะเหวดและงานนมัสการพระธาตุเรณู
- เดือนห้า = สงกรานต์
- เดือนหก = บุญบั้งไฟ / เลี้ยงผีปู่ตา
- เดือนเจ็ด = พิธีแรกนา
- เดือนแปด = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนเก้า = เข้าพรรษา / บุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ = บุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด = ออกพรรษา / บุญข้าวจี่
- เดือนสิบสอง = กฐิน / บุญข้าวเม่า
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจหลักของจังหวัดนครพนมขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรมคือการทำนาซึ่งมีอยู่โดยทั่วไป เรณูนครเป็นพื้นที่ที่ไม่มีชลประทานเพื่อทำการเกษตรการทำนาจึงใช้น้ำฝนเป็นหลัก การทำนาจึงเป็นแบบพื้นเมืองที่ใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก ทำนาได้ปีละครั้ง การทำนาจะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พฤษภาคมซึ่งเป็นเวลาของการไถนาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขณะเดียวกันก็ลงมือหว่านข้าวที่จะใช้เป็นต้นกล้า ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยให้พื้นดินชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ ในเดือนมิถุนายนเดือนกรกฎาคมจึงเห็นภาพของการดำนาปรากฏอยู่โดยทั่วไป ราว ๆ เดือนธันวาคมผลผลิตข้าวใหม่ที่ปลูกในต้นฤดูฝนก็แก่พร้อมให้เก็บเกี่ยวเดือนมกราคมเป็นช่วงเวลาที่มีภาระงานเก็บเกี่ยวกันแทบทุกครัวเรือนด้วยเป็นช่วงที่ข้าวพันธุ์สุกเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งท้องทุ่ง เดือนกุมภาพันธ์ชาวนาจะชุลมุนกับการนวดข้าวฟัดข้าวและจัดเก็บผลผลิตข้าวเปลือกเข้าเล้าข้าวกันอย่างเร่งรีบเพราะเกรงว่าที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศเช่นนี้มีฝนหลงฤดูตกลงมาอาจทำให้ผลผลิตเปียกชื้นและเสียหายได้
ทุนทางวัฒนธรรม
แม่บ้านจะนิยมทอผ้าเวลาว่างในช่วงฤดูแล้ง ที่เรณูนครมีการทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม พันธุ์ฝ้ายที่ปลูกในชุมชนเป็นพันธุ์ที่สืบต่อมาจากคนรุ่นก่อน สมอฝ้ายจะเล็ก เนื้อฝ้ายออกสีน้ำตาลอ่อนและลักษณะปุ้ยฝ้ายอาจจะกระด้างเล็กน้อย เวลาจะปั่นต้องนำฝ้ายไปตากแดดเพื่อว่าเมื่อนำไปเข้าขบวนการอิ้วเพื่อแยกเนื้อและเมล็ดจะได้ทำได้โดยง่าย จะต้องเตรียมเส้นใยฝ้ายไว้มากพอสมควร เพื่อจะได้ทอชนิดต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ โดยทั่วไปจะใช้เส้นใยฝ้ายไว้มากพอสมควรเพื่อจะได้ทอผ้าชนิดต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ โดยทั่วไปจะใช้เส้นใยฝ้ายทอเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่เช่น มุ้ง ผ้าห่มนวม ผ้าสำหรับทำตัวที่นอน (สนะ) เสื้อผ้าที่ใช้นุ่งห่มอยู่กับบ้านและนุ่งห่มเวลาทำงานในไร่นาก็ทอจากผ้าฝ้าย หากเป็นเสื้อและกางเกงก็จะย้อมด้วยครามที่มีสีเข้มเหมาะต่อการนุ่งห่มขณะทำงานที่อาจเปรอะเปื้อนได้ง่าย
ชาวเรณูจะนุ่งห่มผ้าไหมเฉพาะในโอกาสพิเศษเช่นเวลามีงานบุญหรือเมื่อจะเดินทางไปต่างถิ่นและเมื่อคราวไปร่วมงานพิธีกรรมต่าง ๆ เครื่องนุ่งห่มที่ทอจากเส้นใยไหมนิยมย้อมให้มีสีต่าง ๆ เช่น สีแดงที่ได้จากจากเมล็ดหมาก สะตี(คำแสด) สีเหลืองได้จากแก่นขนุนหรือแก่นต้นเข ส่วนสีแดงเข้มจะได้จากครั่ง การย้อมสีเหล่านี้จะย้อมเส้นใยก่อนจะนำเส้นใยไหมไปถักทอเป็นลวดลายต่าง ๆ ในบรรดาลวดลายที่ปรากฏบนผ้าไหมของชาวเรณูเป็นลวดลายที่เกิดจากเทคนิคขิดและมัดหมี่เป็นส่วนใหญ่ จะใช้เทคนิคขิดมากกับผ้าที่จะนำมาทำตัวหมอนหนุนซึ่งคนภายนอกคุ้นเคยที่จะเรียกกันว่าหมอนขิด ผ้าแพรห่มก็มีลวดลายขิด เช่นเดียวกันกับบริเวณส่วนขายของผ้าขาวม้า สำหรับเทคนิคมัดหมี่จะใช้กับการทอผ้าซิ่นเป็นสำคัญ ลายมัดหมี่มีมากเช่น ลายช้าง ลายดอกไม้ ลายคงน้อย ลายดาวกงน้อยสองชั้น ลายนาคเจ็ด ลายนาคสิบเก้า คนสูงอายุชอบนุ่งลายกงหมากจับ ลายคว่ำหงาย ลายนาคใส่ขาและลายดอกผักแว่น ส่วนสาววัยรุ่นนิยมผ้าสีสดลายต้นสน ลายกาบ ลายนาคน้อย ลายนกยูง ลายปาเป้า และลายดอกจันทร์
ภาษาของชาวผู้ไทดำอยู่ในกลุ่มภาษาไต-กะได (Tai-Kadei) ซึ่งมีลักษณะพื้นฐานคล้ายกับภาษาในกลุ่มตระกูลไตทั่ว ๆ ไป คนแปลกหน้าที่ผ่านเข้ามาจะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างตนกับคนท้องถิ่นทันทีเพราะส่วนใหญ่จะใช้ภาษาถิ่นผู้ไทในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนรุ่นปู่ย่าตายายจะพูดภาษาถิ่นตลอดเวลา
มีการส่งเสริมให้ชาวนาชาวไร่เพาะปลูกพืชพันธุ์ใหม่ ทำให้ตามนาไร่มีพืชพันธุ์แปลก ๆ อยู่หลายชนิด อย่างเช่นกรณีของพันธุ์ยาสูบนั้นในเขตอำเภอเรณูนครนิยมปลูกพันธุ์เวอร์จิเนีย พันธุ์เตอร์กิสกันมาก ใบยาสูบจากพันธุ์เหล่านี้ให้ผลผลิตสูง เกษตรกรปลูกเพื่อส่งขายตลาด แต่ก็ยังปลูกยาสูบพันธุ์พื้นเมืองอยู่บ้างเพื่อจำหน่ายตลาดท้องถิ่น
ท้องถิ่นรับรู้เรื่องราวจากภายนอกโดยการติดต่อผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ชาวบ้านอาจจะมีโอกาสอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยแต่ส่วนใหญ่ก็มีวิทยุเปิดฟังเพื่อความบันเทิงและสาระน่ารู้ต่าง ๆ เท่าที่มีผู้จัดรายการ เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้จัดรายการวิทยุคลื่นสถานีอื่น ๆ จะใช้ภาษาถิ่นอีสานเป็นหลักในการสื่อสารกับผู้ฟังทางบ้าน พฤติกรรมของชาวนาชาวไร่หลายอย่าง เช่น การใช้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การใช้เครื่องทุ่นแรง ตลอดจนการใช้ยารักษาโรคหลายอย่างเป็นไปตามคำโฆษณาที่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง สำหรับสื่อโทรทัศน์น่าจะมีอิทธิพลต่อชาวบ้านมากในแง่ของการโฆษณาส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวบ้านเล็งเห็นความสะดวกสบาย อย่างไรก็ตามสื่อเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยฟื้นฟูและพัฒนาแบบแผนชีวิตพื้นถิ่นบางอย่างด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรม จากสื่อดังกล่าวผู้คนภายนอกได้รู้เรื่องราวความสำคัญของเมืองเรณูนคร
การพัฒนาประเทศตามแนวทางของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งทางด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านการเมืองการปกครองและด้านการศึกษาได้นำพาสิ่งใหม่ ๆ มาให้แก่ท้องถิ่นอยู่เสมอ ในเวลาเดียวกันก็ผลักดันให้ชุมชนต้องพึ่งพาภายนอกตามมา เห็นได้ชัดจากการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ไม่มีในท้องถิ่น เยาวชนผู้ที่จะต้องเรียนต่อจึงต้องออกไปหาสถาบันการศึกษาในจังหวัดอื่นโดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี บางคนได้ไปอาศัยอยู่กับญาติในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อ
เรณุนครมักเป็นที่เลื่องลือในความงามของสินค้าผ้าพื้นเมือง ในขบวนแห่แหนในงานต่าง ๆ จะเห็นว่าการฟ้อนภูไทของชาวเรณูนั้นสวยงามไม่แพ้ท่วงทำนองการฟ้อนรำของท้องถิ่นอื่น ความประทับใจในเรณูนครยังดังก้องผ่านบทเพลงลูกทุ่งทุกยุคสมัยอย่างที่เนื้อความในเพลงได้กล่าวไว้ว่า
“ เรณูนครถิ่นนี้ช่างมีมนต์ขลัง ได้พบนวลนางดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง น้องนุ่งซิ่นไหมไว้ผมมวย สวยเพลิดพริ้ง พี่รักเจ้าแล้วแท้จริงสาวเวียงพิงค์แห่งแดนอีสาน เราเคยสัมพันธ์พลอดรักเมื่อคราวหน้าหนาว คืนฟ้าสกาวเหน็บหนาวน้ำค้างหรือนั่น เพราะได้เคียงน้องถึงต้องหนาวตายไม่หวาดหวั่น รุ่งสางต้องร้างไกลกันสุดหวั่นไหวก่อนล ผ้าผวยร้อยผืนไม่ชื่นเหมือนน้องอยู่ใกล้ ดูดอุร้อยไฟไม่คลายหนาวได้หรอกหนา ห่างน้องพี่ต้องหนาวหนักอุราคอบนับวันเวลาจะกลับมาอบไอรักเก่า เย็นลมเหมันต์ผ่านผัน ยิ่งพาสะท้อน โอ้น้องบังอรก่อนนั้นเคยเคลียดคลอเจ้า ครั้นเที่ยวชมงานพระธาตุพนมยามหน้าหนาว พี่ยังไม่ลืมนงค์เยาว์โอ้แม่สาวเรณู “
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
โรงเรียนเรณูวิทยาคาร. (2566). ค้นคืนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/
ศิษย์เก่าโรงเรียนโพนทองวิทยาคาร. (2565). ค้นคืนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/
อีสานร้อยแปด. (ม.ป.ป.). การฟ้อนรำจังหวัดนครพนม. ค้นคืนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก https://esan108.com/
AungAoey. (2564). เที่ยวนครพนม ไหว้พระ วัดพระธาตุเรณู วัดสวย นครพนม วัดคู่บ้านคู่เมือง พระธาตุประจำคนเกิดวันจันทร์. ค้นคืนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/90055
Thinnakorn Intiya. (2564). วัดป่าศิวิลัย. ค้นคืนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.google.com