Advance search

วิถีการดำเนินชีวิตของชาวโส้ที่ยังคงห่างไกลจากอิทธิพลของวัฒนธรรมจากในเมือง 

โพธิไพศาล
กุสุมาลย์
สกลนคร
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
31 พ.ค. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
31 พ.ค. 2023
บ้านโพธิไพศาล

เหตุที่เรียกว่าเมืองโพธิไพศาลก็เพราะเป็นบริเวณที่มีต้นโพธิ์ใหญ่ถึง 5 ต้น 

วิถีการดำเนินชีวิตของชาวโส้ที่ยังคงห่างไกลจากอิทธิพลของวัฒนธรรมจากในเมือง 

โพธิไพศาล
กุสุมาลย์
สกลนคร
47210
17.37195561
104.3666317
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิไพศาล

ชาวโส้จังหวัดสกลนครเดิมมีถิ่นฐานมาจากเมืองมหาชัยแขวงคำม่วนและจากแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว สมัยรัชกาลที่ 3 ฝ่ายไทยส่งกองทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทร์และได้กวาดต้อนผู้คนกลุ่มต่าง ๆ จากหลายแคว้นในประเทศลาวข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ฝั่งไทย ในจังหวัดสกลนครนั้นระยะแรกชาวโส้ตั้งถิ่นพำนักอยู่บริเวณบ้านหนองสิม บริเวณกุดเขางัว บริเวณแหล่งน้ำที่เรียกว่าห้วยขมานหรือกุดขมานซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกุสุมาลย์ เวลานั้นทางราชการส่วนกลางให้ผู้นำโส้ปกครองตนเอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจเจ้าเมืองสกลนคร

เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น กุสุมาลย์ได้เขยิบฐานะเป็นเมือง เช่นเดียวกับกุดงัวที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโพธิไพศาลนิคมก็มีฐานะเป็นเมืองเช่นกัน เจ้าเมืองคนแรกคือ พระไพศาลสสิมานุรักษ์ เจ้าเมืองคนต่อ ๆ มาเป็นลูกหลานเจ้าเมืองคนก่อน เช่น พระบุรีสิมานุรักษ์ พอมาถึงสมัยการปกครองของพระพิสิทธิ์ รินพิศาลซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการปกครองหัวเมือง เมืองโพธิไพศาลถูกลดตำแหน่งลงเป็นเพียงตำบลหนึ่งของอำเภอกุสุมาลย์เรื่อยมาจนปัจจุบัน ผู้นำโพธิไพศาลรุ่นก่อน ๆ มักอยู่ในตระกูลจินศาล ตระกูลจินชิตโคตร

บ้านกุสุมาลย์และบ้านโพธิไพศาลเป็นถิ่นแรกเริ่มของชาวโส้ เมื่อผู้คนมากขึ้นได้ขยับขยายออกไปตั้งชุมชนใหม่ เช่น บ้านโพนแพง บ้านห้วยกอก บ้านกุดฮู บ้านหนองเค็ม บ้านกุดสะดอยและบ้านโนนคำ ผู้คนส่วนใหญ่ยังไปมาหาสู่กันเพราะเป็นญาติพี่น้องและผู้คนในวัฒนธรรมเดียวกัน สังเกตได้ตอนมีงานพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิตจะบอกเชิญเพื่อนและญาติพี่น้องจากหมู่บ้านเหล่านั้นให้มาร่วมด้วยเสมอ

บ้านโพธิไพศาลเป็นชุมชนระดับตำบล ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน ในจำนวนนั้นหมู่ที่ 3 เป็นบริเวณที่มีผู้อยู่อาศัยมาก่อนหมู่อื่น เมื่อมีประชากรหนาแน่นก็ขยับขยายออกไปตั้งบ้านเรือนใกล้ ๆ บริเวณนั้น ซึ่งทางราชการให้รวมกันเป็นอยู่ที่ 3 และหมู่ที่ 9 

โดยทั่ว ๆ ไป ลักษณะดินแถบนี้เป็นดินปนทราย มีช่องว่างระหว่างเม็ดดินกว้าง ดินอุ้มน้ำไว้ได้น้อย มีอัตราการพังทลายของหน้าดินสูง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรที่เพาะปลูกไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ไม่มีการแตกกอขยายใหญ่เหมือนต้นกล้าในที่ดินที่มีแร่ธาตุมาก ๆ ชาวบ้านพยายามใส่ปุ๋ยคอกจากมูลวัว-ควายลงไปบ้าง แต่ก็ได้ผลจำกัดเพราะช่วงฝนตกชุกกระแสน้ำมักพัดพาแร่ธาตุลงสู่ที่ลุ่มอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังประสบกับปัญหาดินเค็ม กล่าวคือบริเวณนี้ก็เหมือนกับอีกหลายจังหวัดของภาคอีสาน ที่มีหินดินดานอยู่ใต้ดินชั้นหน้า เพราะภายในหินดินดานและหินทรายมีเกลือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ถ้าหากที่ใดมีดินเค็มอยู่ลึกลงไปมากก็พอจะเพาะปลูกพืชผลได้บ้าง แต่บางแห่งชั้นดินเค็มอยู่ตื้นจึงไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก อีกทั้งยังทำให้น้ำใต้ดินมีความกระด้างสูง ไม่เหมาะต่อการอุปโภคบริโภค

มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน คือ ห้วยทวยและห้วยน้ำ ซึ่งเป็นสาขาของห้วยดินจี่และห้วยตูม

สภาพภูมิอากาศ

ปกติฝนจะเริ่มตกเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และจะตกชุกช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปริมาณน้ำฝนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะและจำนวนของดีเปรสชั่นจากทะเลจีนใต้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้อากาศหนาวเย็นตอนเช้ามืดและเวลาพลบค่ำจะเห็นแสงไฟจากกองฟืนจากลานหน้าบ้านของแต่ละบ้าน ความร้อนจากกองไฟช่วยให้อบอุ่นได้บ้าง ผ้านวมยืนหนา ๆ จึงจำเป็นสำหรับกลางคืน เดือนมีนาคมอากาศหนาวจะหมดไปแต่ก็ต้องเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าวในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส เวลากลางวันมองไปทางใดก็เห็นแต่เปลวแดดระยิบระยับ

สถานที่สำคัญ

  • โรงเรียนไพศาลวิทยา
  • วัดกลางวิทยา

การคมนาคม

ในยามปกติจะมีรถยนต์โดยสาร 6 ล้อ 2 คัน ออกจากหมู่บ้านเวลา 9.00 น. เพื่อแวะรับผู้โดยสารจากหมู่บ้านข้างเคียง เช่น บ้านกุดสะดอย และบ้านท่าแร่ไปยังจังหวัดสกลนคร มีท่ารถอยู่หน้าโรงเรียนดุสิต ตอนเย็นเวลา 14 นาฬิกา รถโดยสารดังกล่าวจะออกจากจังหวัดสกลนครกลับสู่หมู่บ้าน ใครที่พลาดเวลารถโดยสารอาจจะรอขึ้นรถโดยสารสายสกลนคร-ท่าอุเทน แล้วหารถต่อเข้าไปยังหมู่บ้าน

บ้านโพธิไพศาลประกอบด้วยครัวเรือน 322 หลังคาเรือน เป็นครัวเรือนในหมู่ 3 จำนวน 236 ครัวเรือน และครัวเรือนของหมู่ 9 จำนวน 86 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 1,984 คน แยกเป็นชาย 808 คน หญิง 776 คน

ระบบเครือญาติ

ตามธรรมเนียมของโส้นั้น ครอบครัวและผู้คนในวงศ์วานมีความสำคัญมาก พิจารณาจากปัจเจกบุคคลเช่นตัวอย่างของนายขิ่น มุ่งแสน ที่ผูกพันกับสมาชิกอื่น ๆ ยิ่งนัก นายขิ่นเป็นบุตรคนโตมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือนายนารินทร์ นายวิรุจและนายบุตามลำดับ ปัจจุบันทุกคนแต่งานและปลูกบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันอันเป็นที่ดินมรดกของพ่อแม่ นายขิ่นมีบุตรชาย 3 คน คือ นายบัง นายเสวียน นายสายคำและนายสมหมาย และบุตรสาวคือนางสบาย นายบังแต่งงานและปลูกเรือนใกล้ ๆ กับนายขิ่นผู้พ่อ นายเสวียนแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่บ้านทางฝ่ายภรรยา ข้อมูลเฉพาะของนายชินน่าจะพอเป็นตัวแทนแบบแผนการสร้างครอบครัวขอชาวโส้ในท้องถิ่นได้ว่า ภายหลังสมรสแล้วภรรยาจะย้ายเข้ามาอยู่กับครอบครัวของสามีซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่และพี่น้องของสามีระยะหนึ่ง ระหว่างนั้นก็เตรียมวัสดุก่อสร้างเพื่อจะได้มีบ้านของตนเองในวันหน้า มีเวลาว่างอาจเลื่อยไม้กระดานเพื่อทำพื้นบ้าน ฝาบ้านและหาไม้สำหรับทำเสาบ้าน งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ชาย ผู้หญิงเป็นผู้จัดหาหญ้าคาหรือหญ้าแฝกมาเย็บมัดเป็นแผ่นเพื่อไว้มุงหลังคา ช่วงฤดูเพาะปลูกก็ช่วยครอบครัวทำนาทำไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ก็เก็บสะสมไว้บริโภคด้วยกัน คู่สมรสและบรรดาพี่น้องที่ยังโสดจะเป็นแรงงานหลักในการทำมาหากิน คนรุ่นพ่อแม่ของนายขิ่นอาจเริ่มสูงอายุก็จะทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงกายมากเหมือนงานของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะช่วงที่นายชินมีลูกคนแรก ๆ พ่อแม่ของนายชินจะเป็นผู้แบ่งเบาภาระดูแลเด็กเล็กขณะที่มีงานในไร่นาต้องรีบเร่งทำ นายขิ่น ภรรยาและลูกอยู่รวมกับครอบครัวเดิมนี้ได้ราว ๆ 3 ปี ก็พร้อมที่จะแยกออกมาสร้างบ้านอยู่เป็นสัดส่วนของตน ขณะนั้นเป็นเวลาเดียวกันกับที่น้องคนรองนายขิ่นแต่งงานและนำภรรยาเข้ามาอยู่ด้วย แม้นายขิ่นจะมีบ้านอยู่คนละหลังจากครอบครัวเดิม กระนั้นก็ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่หลายอย่าง เช่น ขอยืมอุปกรณ์ทำนาและควายมาใช้ในนาของตน ภายหลังจากที่ครอบครัวเดิมไถและดำนาเสร็จแล้วน้อง ๆ ก็ยังคงมาเป็นแรงงานช่วยกระทั่งการงานผ่านพ้นไป บางครั้งครอบครัวของลูก ๆ ที่แยกออกไปมาทำอาหารรวมกับบ้านพ่อแม่ เช่น ตอนเทศกาลสงกรานต์นิยมทำขนมจีนซึ่งต้องใช้ความร่วมมือกันหลายคนกว่าจะได้ขนมจีนที่น่ารับประทาน ยิ่งมีพี่น้องและลูกหลานหลายคนอย่างเช่นตระกูลมุ่งแสงของนายขิ่นก็จะเห็นว่าบ้านปู่ย่าจะคึกคักไปด้วยคนในวงศ์ญาติที่มารวมกันในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะเวลามีพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

โส้

ทางราชการได้เข้าไปจัดระเบียบให้ละแวกบ้านต่าง ๆ ในชุมชนมีชื่อเพื่อสะดวกต่อการพัฒนาตามแบบของรัฐโดยใช้คำว่า “คุ้ม” นำหน้าชื่อเฉพาะของละแวกบ้าน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 คุ้ม คือ คุ้มบ้านน้อย คุ้มกุดงัว คุ้มโพนเพ็ก และคุ้มตวงสิม แท้จริงในคุ้มบ้านดังกล่าวคือบ้านเรือนของผู้ที่เป็นญาติพี่น้องกันเป็นส่วนใหญ่

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชุมชนมีวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน คือ วัดกลางวิทยา นอกจากจะมีงานบุญที่วัดทุกวันพระช่วงเข้าพรรษาแล้วยังมีงานบุญใหญ่ ๆ เกือบตลอดทั้งปี ดังจะเห็นได้คร่าว ๆ จากตารางปฏิทินประเพณีต่อไปนี้

ปฏิทินประเพณี

  • มกราคม = แต่งงาน, ปลูกบ้าน
  • กุมภาพันธ์ = สู่ขวัญข้าว (เข้ายุ้ง)
  • มีนาคม = บุญพระเวสสันดร
  • เมษายน = สงกรานต์, ผ้าป่า, บวชนาค
  • พฤษภาคม = เลี้ยงผีมเหสักข์, แฮกนา
  • มิถุนายน = แต่งงาน, บวชนาค
  • กรกฎาคม = เข้าพรรษา
  • สิงหาคม = บุญข้าวประดับดิน, สู่ขวัญข้าว (ตั้งท้อง)
  • กันยายน = บุญข้าวสาก, เซ่นผีเรือน
  • ตุลาคม = บุญออกพรรษา, ไหลเรือไฟ
  • พฤศจิกายน = บุญกฐิน
  • ธันวาคม = บุญประทานข้าวเปลือก

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การทำเกษตร คือ แหล่งที่มาของอาหาร เครื่องนุ่งห่มและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ เพื่อความอยู่รอดของคนที่นี่ ใช้พื้นที่ในชุมชนในการทำนา ปลูกพืชไร่ ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน และที่เหลือเป็นพื้นที่อยู่อาศัย

การทำไร่นาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ที่นี่บริโภคข้าวเหนียว นิยมปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองผลผลิตข้าวจะได้ราว 10-20 ถัง/ไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับท้องถิ่นอื่นก็นับว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ผลผลิตข้าวที่ได้ในแต่ละปีจึงต้องเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน ชาวนาผู้มีพื้นที่นามากเท่านั้นที่จะได้ผลผลิตข้าวเหลือขายได้ บางครอบครัวต้องซื้อข้าวกินระยะหนึ่งเพราะผลผลิตเก็บเกี่ยวไม่พอปะทังได้ตลอดปี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ชาวบ้านเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีบริษัทจากในเมืองนำพันธุ์มะเขือเทศลูกโตมาให้ชาวบ้านหลังเกี่ยวข้าว เป็นมะเขือเทศที่ปลูกโดยใช้เมล็ด ชาวนาปลูก ดูแล ใส่ปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืชด้วยทุนของตนเอง พอมะเขือเทศแก่ก็เก็บมาแยกเอาแต่เมล็ดพร้อมตากแดดให้แห้ง จากนั้นทางบริษัทจะมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 1,800 บาท ปีแรก ๆ ที่ปลูกก็ได้พอเป็นที่น่าพอใจ แต่ต่อมาชาวไร่ต้องเผชิญกับโรคเหี่ยวเขียวซึ่งต้นมะเขือเทศที่โตใกล้จะออกดอกออกผลเหี่ยวเฉาและเน่า ต้องรีบกำจัดโดยเร็วด้วยการถอนและเผาไฟเพื่อไม่ให้โรคลุกลามไปยังต้นอื่น ๆ ต่อมามีการปลูกดอกดาวกระจายสีชมพูและสีแดงเพื่อขายเมล็ดเช่นกัน ทางบริษัทรับซื้อเมล็ดดาวกระจายแห้งในราคากิโลกรัมละ 75 บาท บริษัทออทไทยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองและรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองราคากิโลกรัมละ 45 บาท การปลูกพืชไร่อย่างข้างต้นนับเป็นประสบการณ์ใหม่ของชาวบ้าน แต่ก็ใช่ว่าทุกครัวเรือนจะมีโอกาสทดลองปลูกได้ เฉพาะผู้ซึ่งมีพื้นที่นาอยู่ใกล้แหล่งน้ำลำห้วยทวยเท่านั้นที่จะหาน้ำมาเพื่อทำการเกษตรได้

การเลี้ยงสัตว์ใช้งานและเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันมาแต่กาลก่อน ส่วนใหญ่จะมีวัวและควายไว้ใช้งาน ที่นี่นิยมเทียมเกวียนเพื่อบรรทุกสิ่งต่าง ๆ การไถนานวดข้าวจะใช้แรงงานจากควาย บางครั้งจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนก็อาจขายวัวหรือควายจำนวนหนึ่งไป

1. นายเวียง รูวันมอม  กำนันตำบลและผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9

2. นายเสถียร พรมวัง  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3

3. นายชัยศรี อุปณาย์  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนไพศาลวิทยา

ทุนทางวัฒนธรรม

เส้นใยที่ใช้ถักทอสานเป็นผืนผ้ามีทั้งฝ้ายและไหม เส้นใยไหมนั้นทำได้ยากเพราะมีขั้นตอนมากกว่าจะนำมาเข้าหูกทอผ้า จึงใช้ไหมอย่างรู้คุณค่าด้วยการทำเครื่องนุ่งห่มที่จะใช้เฉพาะโอกาสสำคัญ ๆ

เทคนิคการทอผ้าก็คงคล้าย ๆ กันกับในหมู่บ้านภาคอีสานแห่งอื่น ๆ คือมีทั้งการทอขัดธรรมดา (ผ้าลายสอง) มัดหมี่ ทอจกและยกดอก วิธีการทอจกและยกดอกจะใช้ในการทอผ้าห่ม ผ้าแพรเก็บและผ้าขาวม้า การมัดหมี่เป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าซิ่นของที่นี่ ผู้ทอสามารถมัดหมี่เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายนาค ลายใยแมงมุม ลายคว่ำหงาย ลายตา ลายหมี่ล้วน ลายเกาะ ลายสวัส ลายตุ้ม ลายมะจับ ลายช้าง ลายรูปดอกไม้และลายรูปคน คนรุ่นเก่านิยมนุ่งผ้าซิ่นที่มี 3 ส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนตัวและส่วนตีน ซิ่นมีลักษณะแตกต่างไปจากซิ่นมัดหมี่ของชาวอีสานทั่วไปคือมีการนำซิ่นมาต่อกัน ลายมัดหมี่บนตัวซิ่นวางอยู่ในแนวตั้ง แต่ลายของตีนซิ่นจะอยู่ในแนวนอน ปัจจุบันคนรุ่นสาวชาวโส้ก็หันมานุ่งซิ่นมัดหมี่ตามแบบอย่างของชาวอีสานกลุ่มอื่น ซิ่นของสาวชาวโส้มีสีสันที่สดใสกว่าซิ่นของคนรุ่นแม่ สำหรับผ้าอื่น ๆ เช่น ผ้าแพรเก็บ ผ้าห่มเอื้อย ชายผ้าขาวม้าและชายผ้าโสร่งนิยมใช้วิธีการขิดเพื่อให้ได้ผ้าที่มีลวดลาย วิจิตบรรจง ลายขิดที่พบอยู่เป็นประจำ ได้แก่ ลายดอกขมาน ลายดอกเป้า ลายกาบบัว ลายนาคเกี้ยวลายดอกผักแว่น ลายบัวคว่ำ - บัวหงาย ลายคอขอ ลายงูเลื้อย ลายรูปหงส์ รูปช้าง รูปม้าและรูปสิงห์ ลวดลายผ้าเหล่านี้เป็นลวดลายที่รับทอดต่อมาจากคนรุ่นก่อนบ้างและเป็นลวดลายที่คนรุ่นหลังคิดประดิษฐ์ขึ้นมาเองบ้าง ชื่อลายส่วนใหญ่ก็พอบอกให้รู้ได้ว่าเป็นลวดลายที่ช่างทอได้จินตนาการไปจากสิ่งที่อยู่รอบข้าง โดยมีลายที่เป็นแบบฉบับของบ้านโพธิไพศาล เช่น ลายดอกขมาน เพราะมีต้นขมานอยู่ทั่วไปในอำเภอนี้ 

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มคนผู้พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร คนภายนอกที่เดินทางผ่านมาอำเภอกุสุมาลย์ จะได้ยินผู้คนส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นกันโดยทั่วไป เวลาพูดชาวโส้จะออกเสียงควบกล้ำอย่างชัดเจน หากไม่ได้ติดต่อกับพ่อค้าข้าราชการหรือคนต่างถิ่นที่ผ่านเข้ามา ผู้คนในชุมชนก็แทบไม่ได้พูดภาษาไทยกลางเลย เด็ก ๆ ที่โรงเรียนอาจจะถูกกำหนดให้พูด อ่านและเขียนภาษาไทยกลาง แต่พอเวลาพักจะได้ยินสำเนียงภาษาโส้ทั่วทั้งโรงเรียน 


การมีโทรทัศน์นับว่าได้เปลี่ยนแบบแผนการพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก การเปิดเครื่องรับวิทยุเพื่อฟังหมอลำและเพลงลูกทุ่งลดลงไป การไปเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อนหรือญาติ ๆ ที่อยู่ต่างคุ้มก็ไม่บ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อน วันหยุดเรียนเด็ก ๆ ไม่อยากติดตามพ่อแม่ออกไปหาปูปลาเพราะติดรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ที่มีหลากหลายรูปแบบ เคยเข้านอนกันราว ๆ เวลา 19.00 น. ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้วเพราะกว่าหนัง ละคร ช่วงหลังข่าวจะจบเวลาก็ล่วงเลยไปถึง 22.00 น. แล้ว ขณะเดียวกันก็ตื่นสายกว่าแต่ก่อน ไม่ค่อยมีใครไปนาไปไร่แต่เช้าตรู่อย่างที่ปู่ย่าตายายเคยทำ เรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ และบู๊ล้างผลาญที่ปรากฏในบทหนังละครได้เข้ามาแทนที่ตำนานนิทานจากคำบอกเล่าทั้งหลาย ทั้งนิทานเชียงเมี่ยงสิงห์โตกับกบ หรือบทเรียนสอนใจให้มีความมานะพยายามในการทำงานที่เล่าผ่านนิทานนางนรก (เนียง อะรก) และเรื่องเจ้าชายกิ้งก่า (โกยอะป้าย) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทอผ้า

นอกจากนี้ ชาวโส้เลือกและปรับตนให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ยิ่งขึ้น ด้วยชุมชนได้เปิดรับสังคมภายนอกเต็มที่ ดังพอเห็นได้จากความพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ของตนในประเด็นของการจัดงาน “โส้รำลึก” เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา โดยจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมบางอย่างของโส้ให้อนุชนได้เรียนรู้และเพื่อเขยิบฐานะทางสังคมวัฒนธรรมของตนให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะสืบไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

ไทโส้..โพธิไพศาล. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

โรงเรียนไพศาลวิทยา สพป.สน. เขต 1. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/