Advance search

ชุมชนคนอีสาน อายุกว่าร้อยปี ยังมีชาวบ้านรุ่นบุกเบิกหลงเหลือให้บอกเล่าเรื่องราวในอดีต

หนองเซียงซุย
ป่าหวายนั่ง
บ้านฝาง
ขอนแก่น
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
31 พ.ค. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
31 พ.ค. 2023
บ้านหนองเซียงซุย

หลังย้ายตำแหน่งหมู่บ้าน อยู่มาปีหนึ่งมีชาวบ้านจากถิ่นอื่นเข้ามาหาล่าสัตว์แถบนี้แต่เคราะห์ร้ายถูกช้างเหยียบตายใกล้ ๆ บริเวณหนองน้ำใหญ่ ทราบต่อมาว่าผู้ตายชื่อนายซุย เมื่อเด็กเคยบวชเณร ธรรมเนียมของอีสานจะเรียกผู้ที่เคยบวชเณรว่า เซียง การตายของเซียงซุยเป็นที่รับรู้ของผู้คนละแวกนั้นดี เวลาที่คนจากท้องถิ่นจะเข้ามาที่หมู่บ้าน (ซึ่งยังไม่มีชื่อขณะนั้น) ก็จะระบุว่าไปบ้านที่มีหนองน้ำใหญ่ซึ่งเซียงซุยเสียชีวิต ชื่อของหมู่บ้านคงจะได้ไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว


ชุมชนชนบท

ชุมชนคนอีสาน อายุกว่าร้อยปี ยังมีชาวบ้านรุ่นบุกเบิกหลงเหลือให้บอกเล่าเรื่องราวในอดีต

หนองเซียงซุย
ป่าหวายนั่ง
บ้านฝาง
ขอนแก่น
40270
16.60812097
102.6590717
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหวายนั่ง

เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ผู้ไร้ที่ทำมาหากินจากเขตอำเภอเมืองขอนแก่นได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อหักร้างถางป่า ในบริเวณนั้นเป็นที่ปลูกข้าวพืชผักเพื่อยังชีพ ตอนแรกก็มีบ้านเรือนเพียง 3-4 หลัง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทั้งป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด 2-3 ปีต่อมา จึงมีผู้คนเข้ามาสมทบอยู่อีก 5-6 หลังคาเรือน ภายใต้สภาพแวดล้อมของป่าคงเช่นนั้นเป็นธรรมดาที่ผู้คนจะหวาดกลัวอันตรายทั้งสิ่งที่เห็นได้และสิ่งที่ลี้ลับ มีอยู่ระยะหนึ่งผู้คนในหมู่บ้านล้มป่วยอย่างหาสาเหตุไม่ได้และบางรายก็เสียชีวิตลงในเวลาต่อมาชาวบ้านเชื่อว่านั่นเป็นผลการกระทำของผีปอบ ท้ายหมู่บ้านมีหญิงวัยกลางคน ร่างเล็ก ค่อนข้างผอม ผิวพรรณซูบซีด ไม่ค่อยได้สังสรรค์สนทนากับใครมากนัก ชาวบ้านสงสัยว่าหญิงผู้นั้นจะเป็นผีปอบ แม้จะมีการเสนอว่าให้หาหมอเวทย์มนต์มาทำพิธีพิสูจน์ผีปอบโดยการให้ผู้ต้องสงสัยลุยไฟ หากบริสุทธิ์จะสามารถผ่านอุปสรรคได้โดยไม่มีอันตรายแต่ก็ไม่มีใครได้กระทำการดังกล่าวนอกจากจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์เมื่อป่วยไข้ เมื่อเห็นว่าความเจ็บไข้ยังมีอยู่เรื่อย ๆ ในที่สุดจึงชักชวนกันย้ายตำแหน่งหมู่บ้านห่างออกไปประมาณ 1 กม. ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านเดิม ระยะแรกเริ่มตั้งหมู่บ้านกันใหม่นี้มีบ้าน 11 หลัง 

บ้านหนองเซียงซุยมีพื้นที่รวมทั้งชุมชน 8,751 ไร่ (ไม่รวมส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัย) นับเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่มากที่สุดของตำบลป่าหวายนั่ง ในจำนวนพื้นที่ดังกล่าวสามารถแบ่งตามประโยชน์ลักษณะดินในพื้นที่ใช้สอยได้ดังนี้ คือ เป็นที่นา 7,159 ไร่ ส่วนอีก 1,593 ไร่เป็นที่ปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ คือปลูกฝ้าย 120 ไร่ พื้นที่ปลูกหม่อน 524 ไร่ ที่เหลือ 949 ไร่ ใช้เป็นที่ผลพืชเศรษฐกิจเช่น ปอ อ้อย และมันสำปะหลัง จากจำนวนพื้นที่ทางการเกษตรที่กล่าวมาน่าจะพอบอกได้ว่าลักษณะภูมิประเทศของหนองเซียงซุยโดยรวม ๆ ได้ว่าเป็นที่ราบซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ส่วนด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นเขตติดต่อภูพานคำ พื้นที่จะลาดสูงขึ้น เพราะอยู่ใกล้บริเวณป่าเขา ลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายที่มีคุณสมบัติเก็บความชื้นได้ แหล่งน้ำธรรมชาติใหญ่คือ น้ำจากหนองเซียงซุยที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของชุมชนและน้ำจากหนองคูซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของหมู่บ้าน

สถานที่สำคัญ

  • โรงเรียนบ้านหนองซุย
  • วัดโพธิ์ดก

การคมนาคม

จากหมู่บ้านมีรถโดยสาร 4 คันรับส่งผู้โดยสารจากหมู่บ้านหนองเซียงซุย บ้านลาดนาเพียง บ้านหิดลาด บ้านโนนเรือน บ้านค้อ บ้านโนนลานและบ้านสำราญออกสู่ถนนมิตรภาพช่วงขอนแก่น-อุดร เข้าสู่ตัวจังหวัดขอนแก่น รถยนต์โดยสารดังกล่าวเริ่มออกจากชุมชนคันแรกเวลา 06.30 น. จากนั้นรถอีก 3 คันก็จะออกเดินทางทุก ๆ 20 นาที เที่ยวขากลับรถคันแรกเริ่มออกจากท่ารถ บขส. ขอนแก่น เวลาประมาณ 13.00 น. และคันอื่น ๆ ก็ออกตามมาในระยะเวลาทุก ๆ 20 นาที เช่นเดียวกับตอนเช้า เพราะเป็นรถเมล์ที่จอดรับส่งผู้โดยสารทุกจุดที่มีผู้รอและเพราะสภาพถนนที่เป็นดินลูกรัง ระยะทาง 32 กิโลเมตร รถโดยสารจะใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง หากใครพลาดรถโดยสารก็อาจจะว่าจ้างรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ไปส่งที่ท่ารถตรงเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อต่อรถยนต์จากเขื่อนเข้าสู่ขอนแก่น นอกจากนั้นผู้ที่มีรถจักรยานยนต์หรือรถกระบะก็อาจจะเดินทางเข้าเมืองเมื่อมีธุระ 

ชุมชนบ้านหนองเซียงซุยประกอบด้วยหมู่ที่ 4 , 5 และ 9

  • หมู่ที่ 4 มีประชากรทั้งหมด 768 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 384 คน และประชากรหญิง 384 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 322 คน
  • หมู่ที่ 5 มีประชากรทั้งหมด 1,150 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 580 คน และประชากรหญิง 550 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 449 คน
  • หมู่ที่ 9 มีประชากรทั้งหมด 693 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 331 คน และประชากรหญิง 362 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 216 คน

การสร้างครอบครัวต้องอาศัยครอบครัวของพ่อแม่เป็นหลัก ธรรมเนียมของชาวอีสานอย่างที่บ้านหนองเซียงซุยนิยมให้ฝ่ายชายแต่งงานเข้ามาอยู่กับฝ่ายหญิง ฝ่ายชายที่สามารถจัดงานแต่งงานได้ครบทุกขั้นตอนของพิธีพร้อมทั้งมีสินสอดทองหมั้นและทรัพย์สินอื่น ๆ ได้ตามที่ฝ่ายสาวเรียกร้อง ชาวบ้านจะเรียกกันเล่น ๆ ว่า "เขยแต่ง” ซึ่งแตกต่างไปจาก "เขยอาสา” ในความรู้สึกชาวบ้านนั้น เขยแต่งจะเข้ามาอยู่ร่วมบ้านกับพ่อตาแม่ยายอย่างสมศักดิ์ศรี ขณะที่เขยอาสาไม่มีสินสอดทองหมั้นให้ตามที่ระบุกันไว้เมื่อตอนสู่ขอ แต่เขยอาสาแสดงตนว่าจะเป็นกำลังทำงานให้กับพ่อตาแม่ยายเพื่อให้พ่อตาแม่ยายยอมรับ ลูกเขยอาจจะคุ้นเคยกับสมาชิกในครอบครัวของพ่อแม่ยายหากก่อนแต่งได้แวะเวียนมาที่นี่อยู่เสมอ แต่ปกติก็ต้องสงบเสงี่ยมพอสมควร เวลาอยู่บ้านก็จะรับประทานอาหารภายหลังพ่อตาแม่ยาย จะสนิทสนมกับบรรดาญาติ ๆ ผู้ชายของภรรยา เช่น น้อง ลุง และน้าเป็นอย่างมาก จากกลุ่มญาติเหล่านี้ เขยใหม่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตและเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น หัดทำเครื่องจักสาน เครื่องมือทำนา เครื่องมือทอผ้าและแม้แต่คาถาอาคมและพืชพันธุ์สมุนไพรต่าง ๆ ช่วงเวลาของการเป็นครอบครัวขยายเช่นนี้นับเป็นระยะของการสะสมทุนและความรู้อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแยกออกไปมีบ้านเรือนเป็นของตนเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วัดโพธิ์ดกเป็นวัดที่สร้างมาพร้อม ๆ กับการเกิดชุมชนและได้รับวิสุงคามวาสีจากกรมศาสนาให้เป็นวัดได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2437  ในระยะหลังเมื่อชุมชนขยายตัวมากขึ้นได้มีการสร้างวัดแห่งใหม่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านวัดโสภนาราม ใครอยู่ใกล้วัดใดก็ไปทำบุญตักบาตรที่วัดนั้น

การประกอบพิธีกรรมระดับชุมชนจะเป็นไปตามจารีตที่เคยถือปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อนหรืออย่างที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า “ฮีตสิบสอง” จารีตในแต่ละเดือนมีจุดมุ่งหมายต่างกันไป ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอีกส่วนก็เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพกับผีสางเทวดา

ปฏิทินประเพณีพิธีกรรม

  • เดือนอ้าย (ธันวาคม) = ทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี
  • เดือนยี่ = เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวและนวดเสร็จก็ได้รับการจัดเก็บเข้าเล้า (ยุ้ง) ผู้ที่มีนาอยู่ในละแวกใกล้กันจึงอาจพร้อมกันนิมนต์พระมาทำบุญที่ลานนวดข้าว เรียกว่า “บุญคูณลาน”
  • เดือนสาม = ประเพณีบุญข้าวจี่ มาฆบูชา
  • เดือนสี่ = งานบุญผะเหวด
  • เดือนห้า = สงกรานต์ งานบุญบั้งไฟ บุญชำฮะ (บุญชำระล้าง)
  • เดือนหก = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือนเจ็ด = ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือนแปด = งานบุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า = งานบุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ = งานบุญข้าวสาก (สลากภัตร)
  • เดือนสิบเอ็ด = งานบุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง = งานบุญทอดกฐิน

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ปฏิทินการทำนาของบ้านหนองเซียงซุย จะเริ่มต้นจากปลายเดือนพฤษภาคม ภายหลังจากที่มีฝนตกมาครั้งสองครั้ง หลังจากการไถ คราด และขลุบนา ก็จะนำต้นกล้าที่ถอนไว้มาปักดำ ปกติการปักดำจะแล้วเสร็จช่วงเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งตกอยู่ในเดือนกรกฎาคม ต่อจากนั้นอีกราวสามเดือน ข้าวพันธุ์เบาเริ่มออกรวง เดือนธันวาคม-มกราคม เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยว การย้ายฟ่อนข้าวจากนามาสู่ลานนวดเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการนวดและการฟัด หากทุกอย่างเรียบร้อยเดือนกุมภาพันธ์ เล้าข้าวที่ได้ซ่อมแซมและปัดกวาดไว้ก็พร้อมที่จะให้นำข้าวใหม่เข้ามาเก็บรักษา ซึ่งผลผลิตที่ได้จะเก็บไว้บริโภคก่อนเพราะข้าวคืออาหารหลัก พืชไร่ที่ปลูกไว้เพื่อขายตลาด คือ ปอ อ้อยและมันสำปะหลัง 

1. นางหนู ราษฎร์ภัคคี  ชาวบ้านรุ่นบุกเบิก อายุ 98 ปี เกิดและเติบโตที่นี่จึงเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลภาพในอดีตของหนองเซียงซุยด้านต่าง ๆ ได้มากพอสมควร

2. ตระกูลชินวงศ์

3. คณะหมอลำซิ่ง ราตรี ศรีวิไล

4. ตระกูลเลิศฤทธิ์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการพูด มีลักษณะคล้ายภาษาลาว


ภายหลังการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์เสร็จได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม คือ เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ เกิดมีน้ำขังในที่ราบลุ่มหลายแห่ง ในฤดูฝนมียุงชุกชุม แมลงชนิดทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารและชนิดที่มีประโยชน์ต่างพืชไร่บางอย่างก็มีจำนวนมากขึ้น สัตว์น้ำประเภท กุ้ง หอย ปูและปลา เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ในภาพรวมการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้น่าจะทำให้มีอาหารจากแหล่งธรรมชาติสนองความต้องการประชากรได้ดี แต่ก็เป็นที่น่าห่วงว่าปลาในอ่างเก็บน้ำนั้นมีอยู่หลายชนิดที่มีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับหรือพยาธิตัวจี๊ดอยู่ในตัวปลา พยาธิเหล่านี้จะเข้าสู่คนโดยการกินอาหารที่ปรุงแต่งด้วยปลาดิบ ๆ สุก ๆ และทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับหรือพยาธิตัวจี๊ดได้ แม้ว่าชาวบ้านจะรับรู้อันตรายจากการบริโภคอาหารเช่นนั้น แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคก็ไม่อาจเป็นไปได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการไม่มีทางเลือกอื่นที่จะให้หาอาหารจากตลาดมาแทนที่อาหารป่าเขา อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะความชอบในรสชาติและวิธีการปรุงแต่งอาหารแบบพื้นถิ่น กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าการตายอย่างไม่รู้สาเหตุ เช่น ไหลตายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ผ่านมาเป็นผลมาจากอะไร บ้างก็สงสัยว่าอาจจะเป็นผลเนื่องมาจากการบริโภคอาหารของผู้คนในท้องถิ่นที่อาจไม่สะอาดพอ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

วัดโพธิ์ดก บ้านหนองเซียงซุย ตป่าหวายนั่ง อบ้านฝาง จ.ขอนแก่น. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/