หมู่บ้านที่เกิดจากการอพยพของผู้คนจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ชาวบ้านตะโกทำนาดำกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้านเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน
ชื่อชุมชนเป็นไปตามลักษณะภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยต้นตะโก
หมู่บ้านที่เกิดจากการอพยพของผู้คนจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ชาวบ้านตะโกทำนาดำกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้านเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน
บ้านตะโกมีอายุประมาณ 90 กว่าปี เป็นหมู่บ้านที่เกิดจากการอพยพของผู้คนจากพื้นที่สะแกโดน จังหวัดสุรินทร์ เพราะจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชาและมักมีปัญหาทางการเมืองในประเทศกัมพูชาเสมอ ผู้คนจึงลี้ภัยจากถิ่นเดิมออกไปหาที่ทำนาทำไร่แห่งใหม่ ผู้อพยพมารุ่นแรก ๆ เห็นว่าท้องที่บ้านตะโกมีพื้นที่ว่างเปล่าเต็มไปด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะต้นตะโกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมาอาศัยอยู่ ณ ที่นี่
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ ที่ราบโล่งพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรและใช้เป็นพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ภายในตำบลมีแหล่งนี้ธรรมชาติ ได้แก่ ห้วยตะโก (ห้วยจะแมง) ไหลผ่านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนน้ำไหลหลาก ส่วนฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นบางส่วน ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและเพาะปลูก
ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์
บ้านตะโกมีพื้นที่ทำการเกษตรรวม 3,792 ไร่ ทั้งหมดเป็นพื้นที่ทำนา การปลูกพืชไร่จะทำในท้องที่นอกตำบลซึ่งเป็นที่ป่าที่เกษตรกรเพิ่งจะจับจองในภายหลัง ลักษณะโครงสร้างของดินในท้องถิ่นเป็นดินร่วนปนทราย คุณสมบัติไม่ค่อยเก็บน้ำ แม้การขุดสระหรือบ่อที่มีความลึกมากราว ๆ 4-5 วา ก็จะสามารถกักเก็บน้ำฝนได้เพียงระยะหนึ่ง พอย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายน จึงเห็นว่าน้ำในบ่อที่ขุดหรือน้ำตามแหล่งธรรมชาติ เช่น หนองน้ำจะแห้งไปเกือบหมด หากน้ำฝนที่เก็บไว้ตั้งแต่ช่วงฤดูฝนหมดก็จะต้องใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค
การประปา
ยังไม่มีประปาจากส่วนภูมิภาค แต่มีประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระบบผิวดินและสูบน้ำจากแหล่งธรรมชาติมาเก็บไว้ในปลายฤดูฝน ปัจจุบันยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ การแก้ปัญหาคือ หมู่บ้านจะขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และใช้รถยนต์บรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ระบบประหมู่บ้านของบ้านตะโก หมู่ที่ 1 ใช้ร่วมกับ โคกโพธิ์ หมู่ที่ 3
สถานที่สำคัญ
- โรงเรียนบ้านตะโกบำรุง
การคมนาคม
จากจังหวัดไปสู่ชุมชนอาจเดินทางโดยรถยนต์จากสถานีขนส่งจังหวัด โดยสารไปลงที่ตำบลห้วยราชเพื่อจะหารถสามล้อเครื่องหรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่งที่หมู่บ้าน ผู้คนจากหมู่บ้านที่ประสงค์จะเข้าเมืองบางทีก็โดยสารรถจากชุมชนไปตัวจังหวัด อัตราค่าโดยสาร 10บาท รถโดยสารคันนี้วิ่งเพียงวันละ 1 เที่ยวไป-กลับ เวลาออกไม่แน่นอน ประมาณว่าช่วงเช้า ๆ ที่ผู้โดยสารประสงค์จะไปทำธุระในเมืองก็รวมกันโดยสารรถไปและนัดแนะกันกับเจ้าของรถว่าจะกลับกันตอนเย็นประมาณเวลาเท่าไร บางวันมีผู้โดยสารน้อยก็อาจจะงดการเดินรถในวันนั้น ผู้ที่ไม่เร่งรีบอาจเดินจากหมู่บ้านมาที่สถานีรถไฟห้วยราชเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตรเพื่อโดยสารรถไฟไปตัวจังหวัดหรือที่ใด ๆ ก็ตาม มีชบวนรถโดยสารวิ่งผ่านและจอดรับผู้โดยสารจากที่ห้วยราช 9 ขบวน และการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพ ฯ โดยมากจะใช้บริการของทางรถไฟ
ปัจจุบันบ้านตะโกประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนทั้งสิ้น 196 หลังคาเรือน มีประชากรรวม 1,155 คน แยกเป็นชาย 570 คน และเป็นหญิง 585 คน ในจำนวนนั้นนับเป็นคนลาวภาคอีสานอยู่เพียง 5 คน คนเหล่านี้เป็นผู้ที่แต่งงานแล้วมาอยู่กับคู่ครองคนท้องถิ่น ประชากรทั้งหมดที่เหลือเป็นชาวเขมรที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย
ระบบเครือญาติ
ภายหลังสมรสแล้วคู่บ่าวสาวส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง 2-3 ปี เมื่อพร้อมจะตั้งครอบครัวของตนจึงจะแยกออกไปจากเรือนเดิมของพ่อแม่ เรือนหลังใหม่ก็ปลูกอยู่ใกล้ ๆ บ้านพ่อแม่ พี่น้องคนอื่น ๆ ที่แยกเรือนแล้วก็จะอยู่บนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ การเลือกถิ่นที่อยู่ข้างภรรยาสัมพันธ์กับการนับถือผีบรรพบุรุษ ลูกหลานรุ่นต่อมาก็จะนับถือผีข้างมารดาเช่นกัน การจัดระเบียบเครือญาติเช่นนี้เป็นเพียงแบบแผนรวม ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดว่าภายหลังแต่งงานสามีต้องมานับถือผีบรรพบุรุษข้างภรรยา ผู้เป็นสามีจะกลับไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษข้างมารดาก็ย่อมทำได้ แต่การที่ตั้งบ้านเรือนอยู่กับข้างฝ่ายภรรยาทำให้การไปร่วมพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษข้างแม่ของตนอาจไม่สะดวกแม้ว่าหมู่บ้านจะไม่กว้างไกลกันนักก็ตาม นอกจากนี้ยังได้พบว่าในกรณีที่แต่งงานแล้วภรรยามาอยู่รวมกับครอบครัวของสามี ผู้เป็นภรรยาก็มีส่วนร่วมพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษข้างสามีเช่นกกัน ลูก ๆ เกิดและเติบโตในหมู่บ้านญาติข้างพ่อก็จะนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายพ่อ (ซึ่งแท้จริงก็คือผีบรรพบุรุษของผู้เป็นย่า) การจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เน้นการให้ความสำคัญกับเครือญาติฝ่ายหญิงปรากฏชัดในความเชื่อผีตายาย
ขแมร์ลือวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ในชุมชนไม่มีวัด แต่ได้อาศัยวัดสวายสอซึ่งอยู่ในตำบลอื่นห่างออกไปจากบ้านตะโก 6 กิโลเมตร เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ชาวบ้านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเหมือนเช่นคนในท้องถิ่นอื่น การกระทำเกือบทุกอย่างทางศาสนามีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เรื่องของบาป - บุญหากพิจารณากันเป็นรายเดือนก็จะพบว่า
- เดือนสาม = ประเพณีแคเมียก
- เดือนห้า = ประเพณีแกเจด เป็นการทำบุญเนื่องในโอกาสสงกรานต์
- เดือนแปด = งานบุญสราบ (เข้าพรรษา)
- เดือนสิบเอ็ด = งานบุญออกพรรษา
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านตะโกทำนาดำกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้านเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน เทคนิควิธีทำนาก็ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการทำนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว บุรีรัมย์อยู่ในเขตอีสานใต้ ปกติฤดูฝนจะเริ่มก่อนภาคกลางของประเทศ ต้นเดือนหกจะมีฝนตกลงมาพอให้ตกกล้าได้บ้างแล้ว ตกกล้าไว้ให้พอกับพื้นที่นาที่มีหรือให้พอกับขนาดพื้นที่ที่จะปลูกในปีนั้น ตกกล้าใช้เวลา 1-2 วันงานก็เสร็จ จากนั้นเริ่มลงมือไถนารอบแรก ระหว่างไถก็เกลี่ยปุ๋ยคอกที่นำมากองไว้ในแปลงนาตั้งแต่ช่วงฤดูแล้ง เกลี่ยปุ๋ยให้กระจายไปทั่วทั้งแปลงนาจะได้ปรับปรุงบำรุงดินโดยทั่วถึงกัน พอถึงเดือนแปด พันธุ์กล้าที่ปลูกไว้ในแปลงก็โตพอจะถอนออกมาแยกดำนาตามแต่ละแปลงได้ ประมาณเดือนสิบ ข้าวก็จะออกรวงชูช่อไสว เดือนสิบเอ็ดอาจได้เก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์เบาได้บ้างแล้ว ช่วยให้มีข้าวใหม่ ๆ ได้รับประทานเป็นการประเดิมสำหรับปี ข้าวพันธ์ุหนักเริ่มแก่และเก็บเกี่ยวกันในเดือนสิบสองหรือหากปีนั้นปลูกช้าก็อาจจะไปเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนหนึ่งของผีถัดไป
1. นายพราน นิพรรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน
ประชาชนในตำบลบ้านตะโกได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ วิธีการทำเครื่องจักสานใช้สำหรับในครัวเรือน วิธีการเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม การดีดบ้านย้ายบ้าน และพิธีกรรมทางศาสนา
ในชุมชนจะใช้ภาษาถิ่นเขมรเป็นภาษาพูด คนรุ่นลูกหลานที่ได้รับการศึกษาต่าง ๆ สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยกลาง แต่สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายสื่อสารด้วยภาษาไทยกลางได้ค่อนข้างลำบาก
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/