
ชุมชนที่มีวัดจำปาเป็นศูนย์กลาง มีประเพณีประจำปีที่ต้องห้ามพลาด อย่างประเพณีชักพระ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปกรรมบนกาบกล้วยหรือการแทงหยวกกล้วยที่เป็นเอกลักษณ์
ชุมชนที่มีวัดจำปาเป็นศูนย์กลาง มีประเพณีประจำปีที่ต้องห้ามพลาด อย่างประเพณีชักพระ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปกรรมบนกาบกล้วยหรือการแทงหยวกกล้วยที่เป็นเอกลักษณ์
ชุมชนวัดจำปา เดิมเป็นชุมชนชาวสวน ผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่คือ กระท้อนปุยฝ้าย ละมุดสีดา มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย ทุเรียนพันธุ์กบ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์กำปั่น พันธุ์ชะนี พันธุ์ทองย้อย มะกอก และส้มเขียวหวาน บางครอบครัวปลูกดาวเรืองและดอกเยอบีร่าส่งปากคลองตลาด บางครอบครัวประกอบอาชีพทำนา โดยพื้นที่ทำนาอยู่เลยวัดโพธิ์ จึงต้องใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2 ชั่วโมงจากวัดจำปาถึงพื้นที่นา การร่วมแรงของชุมชนชาวสวนในอดีตไม่ต่างไปจากชุมชนชาวนา สำหรับคนวัดจำปามีการร่วมกันลงแขกเก็บผลผลิตที่ได้จากสวน เจ้าของบ้านจะไปชวนให้เพื่อนบ้านมาร่วมกัน ลงแขก คือช่วยกันเก็บผลไม้ คนที่มาช่วยลงแขกจะเรียกว่ามา ออกแขก คนทั้งชุมชนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนลงแขกและออกแขกกันไปถึงวัดประดู่
ประเพณีการร่วมแรงร่วมใจเช่นนี้เลิกไปประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อพื้นที่สวนผลไม้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากบ้านจัดสรรได้เข้ามาแทนที่และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวสวนเดิมที่ไม่อยากให้ลูกหลานของตนลำบากในการทำสวน รวมถึงราคาผลผลิตที่ได้ในการทำสวนแต่ละครั้งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและแรงงานที่ได้ใช้ไป ตลาดที่คนวัดจำปามักจะนำผลผลิตทางการเกษตรไปขาย รวมถึงการใช้จ่ายซื้อของ คือ ตลาดบางแค ตลาดปากคลองตลาด ตลาดศาลาน้ำร้อน ตลาดพรานนก และตลาดวัดช่างเหล็กซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด นอกจากจะเป็นตลาดที่จับจ่ายซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วตลาดวัดช่างเหล็กยังมีร้านทำผมและสถานีตำรวจด้วย รวมถึงจุดนัดพบของเรือชาวบ้านที่จะพายมาเข้าร่วมขบวนเรือในวันชักพระของชาวตลิ่งชันในอดีตด้วย ในอดีตผู้คนจะพายเรือนำสินค้าไปขาย หากไปตลาดบางแคหรือปากคลองตลาดจะต้องออกจากบ้านประมาณ 02.00 - 03.00 น. เพื่อไปให้ทันขายสินค้าที่ตลาดในยามเช้า
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีข้าราชการขุนนางฝั่งพระนครหนีสงครามมาอยู่ที่ชุมชนวัดจำป่าหลายครอบครัว ในจำนวนนั้นมีตระกูลจุลเสวกที่ตั้งรกรากอยู่ในชุมชนต่อมาจนถึงปัจจุบัน การเข้ามาของข้าราชการขุนนางเหล่านี้ทำให้บางครอบครัวในชุมชนวัดจำปาได้เรียนรู้สืบทอดการทำบายศรีและแทงหยวก
ต่อมา พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ตลิ่งชัน ทำให้สวนผลไม้ของชาววัดจำปาเสียหายอย่างมาก ทำให้เลิกทำสวนกันไปจำนวนมาก สวนที่ยังคงเหลืออยู่ก็ปรับเปลี่ยนไปเป็นสวนมะกรูด หลายบ้านหันมาทำข้าวหลามส่งปากคลองตลาด โดยช่วงแรกตัดไม้ภายในชุมชนหมู่ 5 มาใช้ทำกระบอกข้าวหลาม ความต้องการใช้ไม้ไผ่จึงมีมากรวมถึงจำนวนต้นไผ่มีจำนวนน้อยลง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนต้องรับซื้อไม้ไผ่มาจากจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาเมื่อลูกหลานจบการศึกษาแล้วออกไปทำงานรับราชการและบริษัทเอกชนมากขึ้น การทำข้าวหลามลดน้อยลงจนเลิกทำกันไปในที่สุด ส่วนพื้นที่สวนปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด และพบว่าหลายครอบครัวได้ขายที่สวนบางส่วนแล้วนำเงินไปซื้อที่ดินในต่างจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม เพื่อทำสวนผลไม้ คนเหล่านี้แม้จะทำสวนและพักอาศัยในต่างจังหวัดเป็นเวลาหลายวัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้ขายบ้านที่อยู่ในชุมชนวัดจำปา และยังคงเดินทางไปกลับระหว่างพื้นที่สวนในต่างจังหวัดกับบ้านเดิมในชุมชนวัดจำปา
10 กว่าปีที่ผ่านมาพื้นที่ตลิ่งชันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากพื้นที่สวนผลไม้และนาได้กลายเป็นบ้านจัดสรรที่นายทุนได้กว้านซื้อจากชาวสวนและชาวนาซึ่งเป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันที่ดินบริเวณนี้มีราคาไร่ละประมาณ 4,000,000 – 5,000,000 บาท
ลักษณะทางกายภาพ
ชุมชนวัดจำปามีวัดจำปาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่กว่า 100 ปี ย่านที่เรียกว่าชุมชนวัดจำปาหมายถึงอาณาบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้คนที่มาทำบุญที่วัดจำปาในวันสำคัญทางศาสนา ประกอบด้วย หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 และหมู่ 10 โดยมีคลองบางระมาดและวัดโพธิ์และบ้านไทรเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญ
หมู่ 4 จะอยู่ทางด้านขวาของถนนกาญจนาภิเษก หมู่ 6 อยู่ทางด้านซ้ายของถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนเป็นสวนกระท้อนสลับกับมะกรูด พื้นที่หมู่ 4 นี้อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดจำปา บ้านเรือนในพื้นที่จะกระจุกตัวอยู่รวมกัน ลักษณะบ้านหมู่ 4 จะมีรั้วรอบขอบชิดมีบริเวณพอที่จะจอดรถได้ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนสองชั้นมีความมั่นคงแข็งแรง รูปลักษณ์เหมือนกับบ้านจัดสรรทั่วไป
หมู่ 6 จะอยู่ข้างคลองบางระมาดมาจรดวัดจำปา พื้นที่หมู่ 6 อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดจำปา ลักษณะบ้านเรือนจะอยู่ชิดติดกันเป็นบ้านไม้ 1 หรือ 2 ชั้น มีรั้วรอบบางบ้านเท่านั้น ทางเข้าหมู่ 6 เป็นทางเดินคอนกรีตกว้างประมาณ 1 เมตรติดกับรั้วหอพักเรือนกระดังงาซึ่งอยู่บริเวณทางเข้าชุมชน
หมู่ 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ชุมชนเกาะศาลเจ้า มีบริเวณตั้งแต่ข้างวัดจำปาจรดคลองวัดโพธิ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของของวัดจำปา หากต้องการที่จะเข้าไปในพื้นที่หมู่ 5 ต้องเดินเท้าหรือใช้มอเตอร์ไซค์ ลักษณะบ้านเรือนเป็นบ้านที่มีพื้นที่สำหรับปลูกผลไม้ ไม้ดอก หรือพืชผักสวนครัวบ้าง ภายในชุมชนมีร้านขายของชำ 2 ร้าน อยู่บริเวณทางเข้าชุมชน 1 ร้าน และบริเวณหน้าบ้านประธานชุมชนหมู่ 5 อีก 1 ร้าน และร้านอาหาร 3 ร้าน คือร้านที่อยู่ถัดจากร้านขายของชำหน้าชุมชน เมนูอาหารมีความหลากหลายตามวัตถุดิบที่เจ้าของร้านหาซื้อได้จากตลาดหรือชาวสวนในชุมชนหมู่ 5 หรือชุมชนใกล้เคียงที่นำมาขาย ร้านอาหารร้านที่ 2 อยู่บริเวณลานชุมชนเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอาหารสุดท้ายคือร้านอาหารตามสั่งตั้งอยู่เยื้องกับร้านขายของชำหน้าบ้านประธานชุมชนหมู่ 5
หมู่ 10 ตั้งอยู่อีกฟากของคลองวัดโพธิ์ อยู่ทางทิศใต้ของวัดจำปา ทางเข้าหมู่ 10 มีสวนปฏิบัติธรรม ซึ่งมีผู้ถวายที่ดินให้กับวัดจำปาตั้งแต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะจะแตกต่างกับ 3 หมู่แรก คือยังเป็นบ้านสลับพื้นที่สวน ส่วนใหญ่เป็นสวนมะกรูดที่มีแม่ค้ามารับซื้อกิ่งตอนไปขายต่อ กิ่งละ 20 บาท พื้นที่หมู่ 10 จะมีถนนเล็ก ๆ ที่สามารถเดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปจนถึงวัดช่างเหล็กได้
พื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 10 ห่างไกลจากถนนพุทธมณฑลสาย 1 นายทุนบ้านจัดสรรไม่ค่อยเข้ามาซื้อที่ดิน 2 หมู่นี้ ทำให้มีคนนอกเข้ามาอยู่น้อยมาก ผู้ที่เข้ามามักเป็นคนภายนอกชุมชนที่แต่งงานเข้ามาเป็นเขยและสะใภ้มากกว่า
สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม
- วัดจำปา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของคลองบางระมาดสายบน สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2365 ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การฉลองพระอารามในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง มีสันนิษฐานว่าชื่อวัดน่าจะมาจากชื่อของผู้สร้างหรืออาจมีต้นจำปาขึ้นอยู่ในบริเวณดังกล่าว วัดจำปาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณปี พ.ศ. 2370 ลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปะในวัดจำปาเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ ศิลปกรรมไทยผสมจีนและฝรั่ง พระอุโบสถมีหน้าบันก่ออิฐปูนปั้นและประดับด้วยเครื่องถ้วยชาม ด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถมีมุขเล็ก ๆ ยื่นออกมาตรงประตูทางเข้า ทิศตะวันออกเป็นระเบียงคด มีซุ้มประตูทางคฤห์ สองข้างประตูด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและนั่งห้อยพระบาทคล้ายปางป่าเลไลย์ แต่ไม่มีรูปช้างและลิง ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ซุ้มประตูกำแพงแก้วเป็นซุ้มประตูโค้งแบบจีนปนฝรั่ง ซึ่ง ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่าเป็นซุ้มประตูแบบสมัยอยุธยาเจดีย์คู่หน้าอุโบสถเป็นเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุม ส่วนฐานล่างทำเป็นซุ้มวงโค้กเล็ก ๆ โดยรอบ
ประชากร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากร ชุมชนวัดจำปา จำนวน 8427 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 19818 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 9310 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 10508 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
กลุ่มอาชีพ
ปัจจุบันคนในชุมชนวัดจำปาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ รัฐวิสาหกิจ รับจ้างทั่วไป แต่ยังมีการทำสวนอยู่บ้างซึ่งเหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน ส่วนหนุ่มสาวซึ่งเป็นคนรุ่นลูกหลานของครอบครัวที่ทำสวนในอดีตส่วนใหญ่จะทำงานรับราชการและทำงานบริษัทเพราะค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของบิดามารดาที่ต้องการให้ลูกหลานตัวเองได้รับการศึกษาที่สูง และได้ประกอบอาชีพที่มั่นคง ได้รับเงินเดือนในระดับสูง ซึ่งดีกว่าการทำสวนหรือทำนาที่ลำบากและได้กำไรในการขายผลผลิตไม่มากนัก แต่เมื่อมีวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันเทศกาลสำคัญ ๆ ลูกหลานที่ทำงานภายนอกชุมชนก็จะกลับมาช่วยพ่อแม่ทำสวน หรือมาพักผ่อนที่บ้าน
กิจกรรมทางสังคม
ศาลเจ้าพ่อจุ้ยมีการทำบุญประจำปีทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ในตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ 9 รูป ส่วนของไหว้จะมีหัวหมู 2 หัว ไก่ 2 ตัว อาหารคาวหวานที่ส่วนมากเป็นอาหารที่คนในชุมชนต่างทำในตอนเช้าตรู่และนำมารวมกันแล้วถวายเจ้าพ่อจุ้ย นอกจากนี้ยังมีเหล้า ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน รวมทั้งมีการทำบุญติดต้นเทียนเพื่อเป็นทุนในการใช้จัดงานทำบุญศาลเจ้าพ่อจุ้ยในปีต่อไป หลังจากพระฉันเพลเสร็จแล้วมีการรำถวายให้ร่างทรงดู ซึ่งหากเจ้าพ่อจุ้ยมาลงทรงจะนั่งอยู่บนศาลแล้วมองดูละครหรือลิเกแล้วจะยิ้มอย่างมีเมตตา แต่ถ้าเป็นพ่อปู่กุมภกรรณลงทรงจะนั่งจ้องแล้วลงไปฟ้อนรำ ในระหว่างการฟ้อนรำพ่อปู่กุมภกรรณ เคยแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ผู้ที่ไม่เชื่อถือเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในหมู่ผู้ร่วมพิธีเป็นอย่างมาก คนทรงเจ้าพ่อจุ้ยจะรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทั้งนวด กวาดยาเด็ก และทำน้ำมนต์ คนทรงสุดท้ายคือยายเยื้อน เมื่อยายเยื้อนเสียชีวิตจึงไม่มีคนทรงเจ้าพ่อจุ้ยและพ่อปู่กุมภกรรณอีก แม้ว่าจะมีร่างทรงคนจีนที่เคยหามาให้ลงทรงแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมพิธีทำบุญประจำปีมากเท่ากับร่างทรงคนก่อน ทำให้การลงทรงเจ้าพ่อจุ้ยและพ่อปู่กุมภกรรณเลือนหายไป การบนบานศาลกล่าวเจ้าพ่อจุ้ยและพ่อปู่กุมภกรรณมักเป็นเรื่องการเกณฑ์ทหาร เรื่องการเรียน และปัญหาชีวิตทั่วไป โดยเมื่อผู้บนบานได้ผลสัมฤทธิ์จามที่บนบานไว้ จะแก้บนด้วยละครชาตรี ลิเก หรืออาหารคาวหวาน และสิ่งของอื่น ๆ ตามที่ได้บนบานไว้
กิจกรรมทางวัฒนธรรม
ชุมชนวัดจำปามีประเพณีรอบปีเกี่ยวกับความเชื่อในพุทธศาสนา จัดขึ้น ณ วัดจำปา โดยเริ่มจากทำบุญวันขึ้นปีใหม่ งานประจำปีวัดจำปา วันสงกรานต์ งานเทศน์มหาชาติ งานทำบุญอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดจำปา วันสารทไทย ตักบาตรเทโวโรหณะ ประเพณีชักพระ และงานทำบุญในวันพระ มีรายละเอียดดังนี้
- วันขึ้นปีใหม่ : ในอดีตวันปีใหม่คนวัดจำปาจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดมะกอก แต่ในปัจจุบันวัดจำปาจัดงานร่วมกับสำนักงานเขตตลิ่งชัน ทำให้มีคนมาทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งมากขึ้นกว่าในอดีต สถานที่จัดงานเป็นพื้นที่ลานโล่งด้านกุฏิเจ้าอาวาส
- งานประจำปีวัดจำปา : เริ่มจัดขึ้นสมัยพระครูสมุห์สยาม จัดขึ้นประมาณช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะทั้งหมด 3 วัน ในงานได้อัญเชิญพระพุทธรูปไม้แกะสลักทรงเครื่องศิลปะอยุธยา ที่มีชื่อว่าหลวงพ่อลอยน้ำมาให้ประชาชนสักการะ ช่วงเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ ช่วงเย็นประมาณ 19.00 น. มีการเจริญพุทธมนต์ อีกทั้งยังมีงานมหรสพและมีการออกร้านขายของ
- วันสงกรานต์ : งานทำบุญวันสงกรานต์จะมีงานทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้าชาวบ้านชุมชนวัดจำปาและชุมชนใกล้เคียงจะมาทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ รวมทั้งบังสุกุลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พระภิกษุจะไปสวดมนต์ให้กับกระดูกของผู้ตายที่วิหารคดและกำแพงแก้ว วันนี้จะเป็นวันที่ลูกหลานที่ย้ายไปอยู่ที่อื่นกลับมาทำบุญให้กับบรรพบุรุษและพบปะเยี่ยมญาติที่ชุมชนวัดจำปา ส่วนในช่วงบ่ายมีการสรงน้ำพระพุทธรูป รูปเคารพ และภิกษุ สามเณร และมีการเล่นสาดน้ำกันตามประเพณี ทั้งยังมีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อหารายได้เข้าวัด
- งานเทศน์มหาชาติ : จัดขึ้นทุกวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระครูสมุห์สยามเป็นผู้รื้อฟื้นการเทศน์มหาชาติแบบโบราณขึ้นมาโดยเทศน์ทั้งหมด 13 กัณฑ์ งานเทศน์มหาชาติแบ่งการจัดงานเป็น 2 ส่วนคือ การบวชเนกขัมมบารมี โดยผู้บวชจะนุ่งขาวห่มขาวถือศีล 10 ทำพิธีบวชและลาบวชภายในพระอุโบสถ สำหรับการจัดงานเทศน์มหาชาติใช้เวลา 2 วัน วันแรก เป็นการเตรียมงานที่ศาลาการเปรียญ มีการบอกฎีกาด้วยการพายเรือและตีกลองไปตลอดทางเพื่อบอกข่าว บ้านที่ได้ยินเสียงกลองจะนำผลไม้มาให้สำหรับจัดสถานที่ เช่น กล้วยทั้งต้นที่มีผลแก่กำลังดี เพื่อจบงานจะนำกล้วยที่สุกพอดีไปประมูลนำรายได้เข้าวัด มีการจัดสถานที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ เขาวงกต เพื่อให้เข้ากับเนื้อเรื่องกัณฑ์มัทรี วัดจึงมีการจัดทำธงตามจำนวนพระคาถาในพระเวชสันดรชาดก นำมามัดรวมกับผลไม้เรียกว่าธงกระถาพัน ด้านหน้าธรรมาสน์ตั้งเครื่องบูชา และกระถางน้ำมนต์ขันสาครขนาดใหญ่ ปักเทียนโดยรอบและจุดเทียนตลอดเวลาที่สวดคาถาพัน วันที่สอง เริ่มเทศน์ทำนองประจำกัณฑ์ตั้งแต่ 6.00 น. จนกระทั่งจบทั้ง 13 กัณฑ์ เครื่องถวายกัณฑ์เทศน์มีผลไม้และหัวหมูซึ่งใช้ประกอบอาหารจัดเลี้ยงคนที่มาทำบุญ เมื่อจบการเทศน์แต่ละกัณฑ์จะบรรเลงเพลงประจำกัณฑ์ประกอบ เช่น กัณฑ์ทศพรจะบรรเลงเพลงสาธุการ กัณฑ์มัทรีใช้เพลงทยอยโอด เป็นต้น พระสงฆ์ที่มาเทศน์มหาชาตินอกจากจะเป็นเจ้าอาวาส และพระภิกษุในวัดจำปาแล้ว ยังมีพระภิกษุจากวัดอื่น ๆ ในเขตตลิ่งชันด้วย
- งานทำบุญอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดจำปา : งานนี้จัดขึ้นในสมัยพระครูสมุห์สยามเป็นเจ้าอาวาส ในวันที่ 11 กันยายนของทุกปีซึ่งเปรียบเป็นวันมรณภาพของพระครูอรรถกิจจาทร เป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างวัดกับชาวบ้านที่รับเป็นเจ้าภาพในแต่ละส่วน มีการออกร้านอาหารถวายพระและผู้มาทำบุญได้ร่วมกันรับประทานอาหาร แบ่งการจัดงานเป็น 2 วัน วันแรก 10 กันยายน ประมาณ 19.00 น. มีการสวดอภิธรรม และวันถัดมาตั้งแต่ 8.00 น. สวดมนต์โดยพระทรงสมณศักดิ์ 16 รูป หลังจากเจริญพุทธมนต์ แล้วจึงถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ 100 รูป หลังเสร็จพิธีกรรมผู้ที่มาร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกัน
- งานวันสารทไทย : ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นเทศกาลทำบุญเดือน 10 ของไทย ประเพณีงานทำบุญวันสารทไทยของชุมชนวัดจำปาแห่งนี้ นับว่ามีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากก่อนวันสารทไทยจะมีประเพณีขอทานกระยาสารท โดยชาวบ้านจะลงเรือในตอนกลางคืนหลัง 20.00 น. ไปแล้วและร้องเพลงไปจอดเรือเทียบท่าตามบ้านต่าง ๆ เพื่อขอกระยาสารทและจะกล่าวหัวกลอน รวมถึงมีการร้องเพลงแล้วแต่เพลงที่เจ้าของบ้านจะขอ แต่ประเพณีนี้ได้เลือนหายไป เพราะชาวบ้านในชุมชนใช้เรือในการคมนาคมน้อยลง
- งานตักบาตรเทโวโรหณะ : ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังวันออกพรรษา 1 วัน เป็นงานที่ชาวบ้านให้ความสำคัญมาก และปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี คนในชุมชนวัดจำปาและชุมชนใกล้เคียงทยอยกันมาจับจองพื้นที่ในวัดตั้งแต่เช้าตรู่ พระภิกษุที่มาร่วมบิณฑบาตจะมาจากวัดต่าง ๆ เช่น วัดมณฑป วัดสมรโกฎิ และวัดกระจัง การจัดงานแบ่งเป็น 2 วัน วันแรก เป็นวันเตรียมงาน กลุ่มแม่บ้านจะทำหน้าที่เตรียมภาชนะอาหารเป็นกระทงใบตองเย็บขอบด้วยใบมะพร้าว และเตรียมอาหารตั้งแต่วันออกพรรษา ส่วนกลุ่มผู้ชายเตรียมจัดสถานที่สำหรับผู้ที่มาตักบาตร วันที่สอง มีการจัดสถานที่จำลองเป็นสวรรค์และนรกร่วมขบวนแห่ นำน้ำมนต์ตั้งบนราชรถพร้อมพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเปรียบเหมือนพระพุทธเจ้ารับบิณฑบาต นอกจากอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน ผลไม้แล้ว ผู้ที่มาตักบาตรในวันนี้จะนำข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยนมาด้วย ทั้งยังเตรียมเหรียญสตางค์ให้กับนางฟ้าเทวดาที่คอยรับเงินไปทำบุญให้วัด
- ประเพณีชักพระ : เป็นประเพณีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สำหรับการแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี ชาวบ้านเรียกกันว่างานชักพระ เนื่องจากว่าในสมัยนั้นการแห่ทำได้โดยเรือ เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกที่สุด โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานที่เรือพิธี เนื่องจากเป็นเรือใหญ่ที่ต้องอาศัยการพายอย่างเดียว แต่มีชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาได้ร่วมใจกันนำเอาเรือพาย เรือแจว มาช่วยลากเรือพิธี เพื่อแห่กันเป็นขบวนไปตามคลอง มีการตกแต่งเรือให้สวยงามนำหน้าขบวนเรือพิธี เพื่อให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้าว่าจะมีขบวนพระธาตุเสด็จผ่าน ประชาชนจะมีการตั้งเครื่องถวายสักการะ ส่วนผู้ที่มีจิตศรัทธาจะพายเรือส่งเสด็จองค์พระธาตุตามขบวนไป ทำให้ประเพณีชักพระถือเป็นประเพณีประจำปีที่ยิ่งใหญ่
- งานทำบุญในวันพระ : การทำบุญที่วัดจำปาในวันพระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มักเป็นคนในชุมชนมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ เดินทางใช้เส้นทางรถหรือทางเท้าเป็นหลัก โดยเดินทางมาวัดตั้งแต่ 6.00 น. ประชาชนจะเตรียมอาหารเพื่อมาจัดภัตตาหารถวายแด่พระสงฆ์ และมีการไปไหว้อัฐิบรรพบุรุษ อาราธนาศีล ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ กรวดน้ำรับพร ร่วมกันรับประทาน ช่วยกันทำความสะอาด แล้วจึงทยอยกลับบ้าน
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวชุมชนวัดจำปาทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดจำปาเป็นสถานที่ประกอบพิธีและจัดกิจกรรมทางศาสนา เพราะถือเป็นวัดประจำชุมชนของชาวบ้านในชุมชนวัดจำปา นอกจากวัดจำปาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในชุมชน ชาวบ้านยังนับถือเจ้าพ่อจุ้ย และพ่อปู่กุมภกรรณ ในอดีตศาลเจ้าพ่อจุ้ยไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือริมคลองบางระมาดเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่เป็นศาลเจ้าเล็ก ๆ อยู่ข้างต้นมะพลับใหญ่ เชื่อกันว่าข้างใต้ต้นมะพลับนั้นมีโพลงขนาดใหญ่เป็นที่อาศัยของจระเข้คือเจ้าพ่อจุ้ยนั่นเอง
ส่วนกุมภกรรณเข้ามาภายหลังเจ้าพ่อจุ้ยประมาณ 30 กว่าปี ต่อมาศาลเจ้าเดิมทรุดโทรมลง ปู่ของคุณทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ จึงได้ย้ายศาลเจ้าพ่อจุ้ยมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน ภายในศาลเจ้าพ่อจุ้ยจะไม่มีรูปเคารพ แต่จะเป็นป้ายอักษรจีนทำจากไม้ทาสีแดงปิดทองคำเปลว อ่านว่า เสิน แปลว่า เทพยดา ตั้งอยู่ตรงกลาง ข้างซ้ายมีไม้เจว็ดปิดทองคำเปลว และมีหัวกะโหลกจระเข้ตั้งอยู่ข้างกัน ในเรื่องของความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อจุ้ย มีเรื่องเล่าว่าในคืนวันเพ็ญจะมีผู้พบเห็นจระเข้มาลอยอยู่หน้าศาล เมื่อปี พ.ศ. 2523 มีคนพายเรือไปรอรับลูกอยู่บริเวณศาลแล้วเอามือวักน้ำไปโดนตัวจระเข้ เมื่อหันไปมองก็เห็นเป็นจระเข้ลงน้ำหายไป นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่ากันว่าทุกปีจะมีคนตายเพราะลงไปเล่นน้ำหรืออาจมีศพลอยมาติดตรงรากต้นมะพลับที่เป็นที่ตั้งเดิมของศาลเจ้าพ่อจุ้ย
1. นายทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2512 อายุ 54 ปี ปัจจุบันทำงานกรมทางพิเศษแห่งประเทศไทย เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ตำแหน่งสถาปนิกระดับ 5 ปี 2535 จบการศึกษาจากโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่พระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวังชาย สาขาจิตรกรรม ระดับปริญญาตรีจบการศึกษาจากสถาบันราชภัฏพระนคร ภาพวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมในปี 2537 ระดับปริญญาโทจบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาสถาปัตยกรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บิดาชื่อนายจรูญ หว่างจันทร์ มารดาชื่อนางประจำ หว่างจันทร์ ภรรยาชื่อนางเจรียง หว่างจันทร์ มีบุตรสาว 2 คน
ด้านงานแทงหยวก และงานใบตองได้รับการฝึกฝนงานแทงหยวกและงานแกะสลักแบบครูพักลักจำจากคุณพ่อจรูญ และครูกำจัด เป็นแบบอย่าง จนเมื่อมีงานวัดทอง บางระมาดได้แอบหยิบมีดมาลองแทงหยวก ด.ต. สวัสดิ์ เห็นจึงบอกให้ทำจริง ไม่ให้ทำเล่นเพราะให้เหตุผลว่าทำเล่นก็ไม่เป็นซะที ทั้งแนะนำการแทงหยวกให้ได้ดี จึงถือเป็นการเริ่มงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประมาณปี 2527
ด้านการแกะสลัก คุณพ่อไม่เคยสอน แล้วยังไม่ให้ยุ่งกับงานที่ท่านทำ ด้วยความที่อยากเป็นงานจึงได้เอาฟักทองที่เหลือไปแกะมังกรให้ท่านดูแล้วท่านก็แนะนำ จุดเริ่มต้นของการทำงานอย่างแท้จริงมาจากการที่คุณพ่อไม่ยอมรับงานแกะมังกร พญานาคให้ใคร เมื่อคนมาหาด้วยความเสียดายจึงรับงานทั้งที่ยังไม่เคยทำอย่างจริงจังมาก่อน แต่ได้พยายามทำจนเสร็จแล้วนำไปให้คุณพ่อดู คุณพ่อเพียงกล่าวว่าให้จำรูปแบบที่ทำนี้ให้แม่น ทำครั้งใดให้ทำเหมือนที่ทำให้ท่านดูซึ่งถือว่าสำเร็จหลักสูตรแล้ว ส่วนการแกะดอกไม้ครูกำจัดเป็นคนสอนให้ ได้สอนเทคนิควิธีต่าง ๆ จนสามารถพัฒนางานจนได้ผลงานอย่างปัจจุบัน และได้นำความรู้จากคุณพ่อและครูกำจัดมาผนวกเข้ากับความรู้เมื่อครั้งเรียนวิทยาลัยในวังชาย สาขาจิตรกรรมในด้านการระบายสีอย่างจิตรกรรมและการออกลาย ยังมีโอกาสเรียนงานใบตองโดยเริ่มฝึกหัดกับรุ่นพี่ข้างบ้าน ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง เริ่มจากการหัดทำกระทงหักคอม้าเป็นแบบแรก ในการเรียนที่วิทยาลัยในวังชายครั้งนั้นมีโอกาสได้ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพในฐานะนักเรียนในวัง และได้เห็นการทำงานดอกไม้ของจ่าโขนหน้าประตูวิทยาลัยในวังหญิง จึงนำรูปและวิธีการทำดอกไม้แบบในวังมาประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของงานแทงหยวกและงานบายศรีจนปรากฏรูปแบบของงานที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมที่ช่างในท้องถิ่นเคยทำมา แต่ยังคงรักษาแบบแผนและจารีตการทำงานอย่างเดิมไว้
ทุนวัฒนธรรม
แทงหยวก เป็นศิลปกรรมบนกาบกล้วย ซึ่งงานแทงหยวกของกลุ่มช่างวัดจำปาไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มทำช่วงใด แต่งานหยวกของกลุ่มช่างวัดจำปามีการพัฒนารูปแบบอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคุณพ่อจรูญ หว่างจันทร์ เล่าให้ฟังว่า งานหยวกของวัดนั้นเดิมมีการทำอยู่แล้วแต่งานยังไม่วิจิตรมากนัก ยังคงเป็นการแทงลายพื้น ๆ ซึ่งช่างพื้นบ้านเดิม มีครูเอื้อเป็นผู้ทำงาน ซึ่งเป็นครูคนแรกของคุณพ่อจรูญ เนื่องจากบ้านทั้งสองคนติดกันตั้งอยู่ริมคลองวัดโพธิ์ พ่อจรูญใช้วิธีแบบครูพักลักจำในการเรียนรู้การแทงหยวก เมื่อครูเอื้อเห็นผลงานจึงชวนมาร่วมงานด้วยกัน กระทั่งมีครูหลวงวัฒนศิลป์มาเห็นผลงาน และได้แนะนำการแทงหยวก และช่วยออกแบบลายให้กับช่างพื้นบ้าน ครูหลวงวัฒนศิลป์เป็นช่างหลวงและได้ลี้ภัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอยู่บ้านสวนชุมชนเกาะศาลเจ้า นอกจากแนะนำงานหยวกแล้วยังพาช่างไปดูงานหยวกของหลวงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งครั้งนั้นคุณพ่อจรูญได้ร่วมเดินทางด้วย หลังจากได้ไปดูงานในครั้งนั้นจึงมีการพัฒนางานของกลุ่มช่างวัดจำปาเป็นงานเฉพาะตัว ปัจจุบันคงเหลือเพียงผู้เขียนและนายไพฑูรย์ หว่างจันทร์ นายสายัญณ์ หว่างจันทร์ ที่สามารถช่วยประกอบหยวก และยังพอทำงานแทงหยวกในลายพื้นฐานได้ ส่วน ด.ต. สวัสดิ์ เอมรดี สามารถทำงานแทงหยวกได้ทั้งหลัง แต่เนื่องด้วยอาชีพที่ทำอยู่จึงได้ไปรับราชการตำรวจที่สถานีหัวหมากทำให้ไม่ได้ทำงานแทงหยวกที่ชุมชนวัดจำปาอีก
เอกลักษณ์ของงานแทงหยวกกลุ่มช่างวัดจำปา คือ การกำหนดลายไว้ตายตัวตลอดจนการนำภาพประดับ ได้มีการแบ่งภาพอย่างชัดเจนตามฐานะสูงต่ำของภาพ เช่น ลายที่แทงหยวกโดยเฉพาะรัดเกล้า ลายสำคัญคือลายกระจังรวนขอบบน ขอบล่าง ลายเฟื้อง ส่วนเสาต้องเป็นลายแป้งสิงห์เปลว ถ้าประดับภาพ แบ่งเป็น 4 ส่วนหลักคือ 1.ส่วนรัดเกล้า 2.เสา 3.บัวปากฐาน 4.เรือนไฟ
งานแทงหยวกอีกประเภทที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนวัดจำปาคือ งานแทงหยวกผสมของงานแต่ละชนิดเข้าด้วยกันและตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ หยวกประเภทนี้เป็นรูปแบบของการประดิษฐ์งานขึ้นใหม่ในงานพระราชทานเพลิงศพนานจรูญ หว่างจันทร์เป็นครั้งแรก เนื่องจากเมื่อท่านเสียชีวิตแล้วมีช่างแกะสลักภาพเพียง 2 ท่านคือ นายทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ และ ด.ต. สวัสดิ์ เอมรดี ทำให้ไม่สามารถทำหยวกประกอบเครื่องสดได้ จึงได้คิดทำหยวกฉลุลายและนำภาพมังกรมาประดับเสาที่แกะสลักโดย ด.ต. สวัสดิ์ เอมรดี อีกทั้งยังนำงานประดิษฐ์จากดอกไม้สดมาประดับส่วนต่าง ๆ โดยช่างดอกไม้เป็นบุตรหลานตลอดจนเพื่อน ๆ ของลูกนายจรูญ ทั้งสิ้น ด้วยสาเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดรูปแบบของงานแทงหยวกรูปแบบใหม่ของกลุ่มช่างวัดจำปา
ชุมชนวัดจำปาในอดีตทางภาครัฐไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ผู้นำชุมชนในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นพระหรือครูบาอาจารย์ในพื้นที่ ในช่วงที่พระภิกษุเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนจะเป็นลักษณะของการเป็นผู้นำทางจิตใจ มีลักษณะการปกครองแบบช่วยเหลือพึ่งพากัน ทำให้ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและยึดถือปฏิบัติตามความคิดเห็นของพระภิกษุ เช่น หากผู้คนในชุมชนมีปัญหาหรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ปัญหาต่าง ๆ มักคลี่คลายได้ง่ายและไม่ต้องมีเรื่องถึงตำรวจ เพียงแค่พระหรือครูบาอาจารย์ช่วยไกล่เกลี่ยไม่นานปัญหาที่เกิดขึ้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ช่วงต่อมาผู้นำชุมชน คือ ผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือในพื้นที่ เช่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับเลือกและยอมรับจากทางชาวบ้านและทางราชการ ให้ดูแลสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้าน ต่อมาทางราชการได้ยกเลิกการปกครองแบบผู้ใหญ่บ้านและกำนัน แล้วเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบชุมชน โดยมีประธานชุมชนเป็นผู้นำ ประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนมาจากการเลือกตั้งจากคนในชุมชน แต่ละชุมชนจะมีผู้ดำรงตำแหน่งประธานชุมชน 1 คน มีวาระ 2 ปี และมีคณะกรรมการ 7 คน แต่ละคนจะทำหน้าที่ตามตำแหน่งของตนเอง คือ รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และประชาสัมพันธ์ หลักการบริหารจัดการภายในชุมชนคือ การช่วยเหลือซึ่งกัน เอื้อเฟื้อ ดูแลซึ่งกันและกัน งบประมาณส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้านและอีกส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานเขตตลิ่งชันซึ่งเป็นงบประมาณในการพัฒนาที่ได้รับทุกเดือน รวมถึงมีการประชุมร่วมกันของประธานชุมชนหมู่อื่น ๆ จัดขึ้นเดือนละครั้งหรืออาจมีการเรียกประชุมเพิ่มเติมในวาระพิเศษกรณีที่มีปัญหาเร่งด่วน
อดีตคนย่านตลิ่งชันเดินทางมายังพระนครโดยเส้นทางน้ำ สำหรับชุมชนวัดจำปาเมื่อ 20 กว่าปีก่อนยังไม่มีถนนเข้ามาถึงในชุมชน หากไม่เดินท้าไปตามร่องสวนเพื่อไปขึ้นรถที่วัดทอง ก็จะใช้เรือโดยสารเดินทางไปทำธุระภายนอก ซึ่งเรือโดยสารมีหลายประเภท คือ เรือหางยาวจะจอดรับผู้โดยสารจากทำน้ำหน้าศาลเจ้าพ่อจุ้ย ไปท่าพระจันทร์ เรือรับจ้างส่งผู้โดยสารจากท่าน้ำเดียวกันไปยังท่าวัดช่างเหล็กเพื่อต่อเรือแท็กซี่ไปท่าพระจันทร์ ท่าโรงโม่ สะพานพุทธ ปากคลองตลาด
ปัจจุบันคนวัดจำปายังคงเดินทางด้วยเรือเฉพาะในตอนเช้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด จะมีเรือสายวัดมะกอก ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง 3 รอบต่อวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ราคาค่าโดยสาร 15 บาท และทางราชการมีการสร้างถนนมาถึงหน้าวัดจำปา ชื่อว่าถนนกาญจนาภิเษก ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์สะดวกมากขึ้น คนวัดจำปาจึงหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทาง สำหรับรถยนต์ส่วนตัวมีที่จอดอยู่ข้างวัดซึ่งคิดค่าจอดเป็นรายเดือน ส่วนรถโดยสารประจำทางเป็นรถสองแถวสีแดงมีอู่รถอยู่หน้าวัด แบ่งออกเป็น 2 สายคือสายวัดจำปา-สน.ตลิ่งชัน-รถไฟ และสายวัดจำปา-ราชพฤกษ์-รถไฟ ค่าโดยสาร 8 บาทต่อคน สำหรับเส้นทางคมนาคมภายในชุมชน นอกจากถนนใหญ่สายเดียวที่ตัดจากถนนพุทธมณฑลสาย 1 เข้ามายังชุมชนแล้ว ถนนภายในชุมชนจะเป็นถนนคอนกรีตกว้างประมาณ 1 เมตร สำหรับเดินเท้าและรถมอเตอร์ไซค์
เดิมทีในชุมชนวัดจำปามีโรงเรียนประถมอยู่ 1 แห่ง คือโรงเรียนวัดจำปา แต่ต่อมาโรงเรียนดังกล่าวได้เลิกดำเนินการ เด็ก ๆ ในชุมชนจึงไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมวัดทอง โรงเรียนวัดมะกอก และโรงเรียนวัดโพธิ์ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาได้แก่ โรงเรียนโพธิสาร และโรงเรียนมหรรณพาราม ส่วนในระดับอุดมศึกษาผู้ปกครองจะให้บุตรหลานเลือกศึกษาต่อในสถาบันที่ตนเองต้องการแต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ขึ้นตรงกับการรับผิดชอบของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน เขตตลิ่งชัน โดยมีคุณสิริกวินทร์ ครุธครองพันธุ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าว ศรช. แห่งนี้เปิดสอนเฉพาะวันพุธและวันอาทิตย์เท่านั้น มีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 180 คน ส่วนมากอายุประมาณ 16 – 25 ปี ส่วนนักเรียนเป็นทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน ไม่มีการเก็บค่าบำรุงการศึกษาหรือค่าเทอม แต่ในบางวิชาผู้ศึกษาจะต้องซื้อตำราเรียนที่ตรงตามหลักสูตรของ ศรช. โดยตรง จะมีด้วยกัน 3 ระดับ ระดับแรกคือระดับประถมศึกษา ระดับสองคือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับสามคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
มหาวิทยาลัยศิลปากร . (2551). การสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อพัฒนาการวิจัยสังคมวัฒนธรรมชุมชนริมแม่น้ำลำคลองชานเมืองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเป็นเมือง: พื้นที่ศึกษา ชุมชนในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และชุมชนท่าพูด จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/