ครั้งหนึ่งในอดีตมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำอิฐบล็อก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "บ้านเฆาะ" ซึ่งคำว่า "เฆาะ" หมายถึง สถานที่ใช้ทำอิฐบล็อก เพื่อใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "เฆาะ"
แตงโมหวาน
บ้านเฆาะ มีประวัติจากการเรียกชื่อที่มาจากสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งในอดีตมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำอิฐบล็อก ซึ่งเป็นมาเป็นของชื่อ บ้านเฆาะ ซึ่งคำว่าเฆาะ หมายถึง สถานที่ใช้ทำอิฐบล็อก เพื่อใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า เฆาะ มาจนถึงปัจจุบัน แหล่งชุมชนของหมู่บ้านนี้ในอดีตอยู่ในชุมชนตลาดนัด ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและตลาดนัดของชุมชนบ้านโกตาบารู การประกอบอาชีพหลักของคนในชุมชนในอดีตส่วนใหญ่ คือการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย เป็นต้น
ชุมชนบ้านเฆาะตั้งอยู่ในเทศบาลตำบลโกตาบารู อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร การเดินทางสามารถเดินทางได้ทั้งรถส่วนตัวและรถโดยสาร
สภาพโดยทั่วไปของชุมชนเฆาะสามารถแบ่งเป็นสองส่วน พื้นที่ส่วนนอกจะเป็นร้านค้า ที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน พื้นที่ส่วนในจะเป็น สวนลองกอง ต้นยาง และบางส่วนเป็นที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน
ชุมชนบ้านเฆาะ อยู่ในเขตมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีสภาพ อากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมและฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 28.20 องศาเซลเซียสและสูงสุดเฉลี่ย 34.50 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,712.3 มิลลิเมตรต่อปี มีฝนตกเฉลี่ย 148 วัน/ปี เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะมีฝนตกชุกที่สุด
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนประชารัฐ จำนวน 350 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,061 คน แบ่งประชากรชาย 458 คน หญิง 603 คน ในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ผู้คนในชุนชนเฆาะมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มสตรี เป็นกลุ่มองค์กรที่มีเป้าหมายให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้ใช้หมุนเวียนในชุมชนโดยการจัดทำขนมเพื่อนำไปขายต่อเป็นรายได้แก่สมาชิกในชุมชนสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจระดับรากหญ้า
- กลุ่มปลูกแตงโม เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างรายได้กับคนในชุมชน อีกทั้งแตงโมที่นี้เป็นแตงโมที่มีลักษณะพิเศษเนื้อเป็นสีแดงและรสชาติหวานมากทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค
- กลุ่มผ้ามัดย้อม เป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนพิการในชุมชนมีรายได้ โดยมี คุณ ตอยยีบะห์ แตบาซา เป็นประธานกลุ่มผ้ามัดใจคนพิการ การจัดตั้งกลุ่มได้จัดตั้งมาแล้วประมาณ 1 ปี ความรู้ที่ได้มาจากการฝึกอบรมการทำผ้ามัดย้อมจาก อบจ. ยะลา ซึ่งมีขั้นตอนการฝึก ฝึกเทคนิค การมัดลายต่าง เมื่อกลับมาทำได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 10 คน เป็นผู้พิการ 6 คน ผู้ดูแล 4 คน แบ่งหน้าที่กันทำเท่าที่ความสามารถของผู้พิการแต่ละคนจะทำได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นมาก็จะมีทางอบจ.ยะลานำไปช่วยขายให้บ้างขายทางสื่อออนไลน์บ้าง รวมถึงการนำไปออกงานต่างๆ ส่วนรายได้ไม่แน่นอน บางครั้งก็ได้ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน
ในรอบปีของชุมชนเฆาะมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- เดือนมูฮัรรอม : ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้เริ่มน้อยลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- เดือนเราะบีอุลเอาวัล : เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- เดือนซะบาน : กิจกรรมฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฏิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน
- เดือนรอมฎอน : การถือศีลอด เป็นหลักปฏิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- เดือนเชาวาล : วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือ ศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์"
- วันรายอแนหรือรายอหก : ความหมายรายอแน คือ คำว่า รายอ ในภาษามลายูแปลว่า ความรื่นเริง และ คำว่า แน คือ หก ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษ อีฎี้ลฟิตรี จะเฉลิมฉลองวันอีดใหญ่และวันต่อมาชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องไปเลย จนครบ 6 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอด คนในพื้นที่จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองวัน วันรายอแน โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์หรือสุสาน
- เดือนซุลฮิจญะฮ์ : การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน การทำฮัจญ์จะจัดขึ้นในเดือน ซุลฮิจญะฮ์ซึ่งเป็นเดือน 12 ของอิสลาม
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี : เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ จะตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การเข้าสุนัต : เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่า เป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บ้างพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ จะมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- การละหมาด : เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการและค้าขาย
1. รัฐศาสตร์ ประเจ มีความเชี่ยวชาญในการปลูกผักสวนครัว ส่วนใหญ่ได้รับความจากการอบรมนอกพื้นที่และเรียนรู้จากอินเตอร์เน็ต
ทุนเศรษฐกิจ ชุมชนบ้านเฆาะมีกลุ่มอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น ปลูกแตงโม ทางกลุ่มได้กล่าวว่าแตงโมงที่นี้มีความพิเศษเนื้อแดงและมีรสชาติหวานทำให้เป็นทีนิยมของตลาดจึงได้รับการยอมรับจากคนนอกพื้นที่
การสื่อสารในชุมชนบ้านเฆาะใช้ภาษามลายูเป็นหลัก รองลงมาเป็นภาษาไทย
การย้ายเข้ามาของประชาชนนอกพื้นที่เพื่อมาทำงานในชุมชนแห่งนี้มากขึ้นทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง แต่ทางชุมชนได้พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเข้าไปดูแลรับผิดชอบในชุมชนแห่งนี้
ในชุมชนมีจุดน่าสนใจ ได้แก่ ศูนย์รวมของฝากและสินค้า OTOP โกตาบารู
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ปฏิทินวัฒนธรรม ประเพณีชักพระ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://calendar.m-culture.go.th/
สายด่วนคนพิการ. (ม.ป.ป.). ผู้พิการโกตาบารู ยะลา รวมกลุ่มทำผ้ามัดย้อมขายสร้างรายได้เสริม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.1479hotline.org/
สทท.ยะลา. (ม.ป.ป.). ชาวบ้านโกตาบารู ยะลา นำแตงโมมาขายสร้างรายได้ นอกเหนือจากการทำสวยาง. (ออนไลน์). สืบค้น เมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.paaktai.com/