ชุมชนวัฒนธรรมชาวดาระอั้ง หรือดาราอาง ที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลทางสงคราม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและสินค้าหัตถกรรมการทอผ้า
ด้วยเพราะมีลำห้วยหกไหลผ่านขนานกับหมู่บ้านและชาวบ้านก็ใช้ลำห้วยอุปโภคบริโภค จึงเรียกว่า "บ้านห้วยหก" แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เรียก "บ้านปางแดงใน"
ชุมชนวัฒนธรรมชาวดาระอั้ง หรือดาราอาง ที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลทางสงคราม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและสินค้าหัตถกรรมการทอผ้า
เดิมคนในพื้นที่เรียก “บ้านห้วยหก” เป็นหย่อมบ้านทุ่งหลุก หมู่ที่ 9 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเรียก บ้านห้วยหก เนื่องจากมีลำห้วยหกไหลผ่านขนานกับหมู่บ้านและชาวบ้านก็ใช้ลำห้วยนี้อุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เรียกว่า บ้านปางแดงใน ซึ่งการอพยพย้ายถิ่นฐานก็แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2526 มีการอพยพของ 3 ครัวเรือนจากดอยลาย ประเทศพม่า มีนายคำ จองตาลเป็นผู้นำ เมื่อย้ายจากดอยลายก็เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านนอแล อำเภอฝาง จากนั้นก็ย้ายเข้ามาพักอยู่ในบ้านแม่จรใน อำเภอเชียงดาว มีชาวดาระอั้งจำนวน 3 ครัวเรือนมาอยู่ก่อนแล้ว
ชาวบ้านมีการรับจ้างให้กับโครงการหลวงดอยอ่างขาง มีการเดินทางข้ามพรมแดนไปเพาะปลูกพืชในประเทศพม่าในบางครั้ง ต่อมาถูกอิทธิพลของขุนส่าเข้ามาคุกคามจึงทำให้ย้ายถิ่น ซึ่งเดินทางเข้าสู่อำเภอเชียงดาวในปี พ.ศ. 2524 เข้ามารับจ้างเก็บใบชาให้กับชาวจีนฮ่อประมาณ 1 ปี
ช่วงปลายปี พ.ศ. 2526 มีการย้ายถิ่นฐานของชาวดาระอั้งจำนวน 11 ครัวเรือนจากบ้านแม่จร มาตั้งหมู่บ้านในพื้นที่บ้านปางแดงใน ในปี พ.ศ. 2527 เกิดจากการถูกชักชวนมาเป็นลูกจ้างปลูกสวนป่าสักในพื้นที่ เป็นแรงงานให้คนเมือง จีนฮ่อ และลีซูที่อยู่ในเขตป่า เมื่อเข้ามารับจ้างจึงเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นหมู่บ้าน พื้นที่บ้านปางแดง เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม มีคนเมืองเข้ามาทำสวนอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัย มีการรวมเงินซื้อที่ดินจากคนเมืองจำนวน 10 ไร่ และย้ายเข้ามาอยู่เพื่อตั้งถิ่นฐาน
การตั้งถิ่นฐานมีความมั่นคงมากขึ้น การผลิตพืชเชิงพาณิชย์มีความเข้มข้นมากขึ้น มีการช่วยเหลืองานของภาครัฐ ปลูกป่าตามนโยบายของรัฐแลกกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ บางส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัย ยังมีการเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวพักและขายสินค้าที่ระลึก
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการย้ายถิ่นฐานของดาระอั้งในหมู่บ้านปางแดงใน ได้แก่ สถานการณ์สงครามในประเทศพม่าที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ทำให้ดาระอั้งได้รับผลกระทบจากสงคราม ทำให้มีการย้ายถิ่นฐานจากประเทศพม่าบริเวณดอยลายเข้าสู่ประเทศไทย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วัน 3 คืน โดยไม่มีการหยุดพัก บางคนต้องใช้เวลาหยุดพักมาตลอดทาง นอกจากกลุ่มของทหารพม่า ทหารคอมมิวนิสต์ และชนเผ่าต่าง ๆ กลุ่มของขุนส่าที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันทำให้เกิดการย้ายถิ่น ชาวดาระอั้งบ้านปางแดงในได้ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ที่บ้านนอแล อำเภอฝาง แต่มีชาวดาระอั้งจากรัฐฉานอยู่มาก่อน ทำให้ขาดพื้นที่ในการทำกิน จึงย้ายมาอยู่บ้านแม่จรใน แต่เพราะลักษณะภูมิประเทศไม่เหมาะสม เพราะการคมนาคมไม่สะดวก การเดินทางของเด็กนักเรียนมีความยากลำบาก โดยเฉพาะในฤดูฝน ทำให้ดาระอั้งบ้านปางแดงย้ายมาอยู่ในพื้นที่บ้านปางแดงในปัจจุบัน
ในการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในพื้นที่ปัจจุบัน มีจำนวน 11 ครัวเรือน ขณะนั้นยังทำไร่หมุนเวียน จากการประกาศของเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนาเมื่อปี พ.ศ. 2532 ทำให้ชาวดาระอั้งปางแดงในถูกจับกุมข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ทำให้วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของชาวดาระอั้งบ้านปางแดงในเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานหลักของครอบครัวถูกจับกุม และพื้นที่บางส่วนถูกนำไปปลูกสวนป่า ทำให้แรงงานที่เหลือส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การทำงานในภาคการเกษตรจึงเป็นการปลูกเพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียว ภายหลังมีพ่อเลี้ยงที่เป็นอดีตครูในอำเภอเชียงดาว แนะนำให้ปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ได้แก่ งา โดยมีนายทุนที่ชาวบ้านเรียกว่า พ่อเลี้ยง เป็นคนเข้ามาซื้อผลผลิตทั้งหมด การนำพืชเศรษฐกิจมาแนะนำให้ชาวบ้านปลูก ทำให้ชาวดาระอั้งบางส่วนเริ่มให้ความสนใจเป็นการผลิตเพื่อขายเป็นหลัก
จากเหตุการณ์การการจับกุมชาวดาระอั้งในปี พ.ศ. 2532 ทำให้ดาระอั้งเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้น จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือดาระอั้งบ้านปางแดงในเช่นเดียวกับช่วยเหลือบ้านแม่จร ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูง (UHDP) เข้ามาช่วยเหลือด้านน้ำประปา และเรื่องการขอสัญชาติ ทำให้ดาระอั้งมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น และจากการจับกุมนั้นก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายถูกจับกุม ทำให้แรงงานในขณะนั้นเป็นผู้หญิง การทำไร่จึงไม่แข็งแรงเท่าผู้ชายแต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว มีการผลิตสินค้าด้านสิ่งทอขายหรือเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก
ในปี พ.ศ. 2549 มีการเข้ามาของเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวดาระอั้งบ้านปางแดงในเปลี่ยนแปลงไป ชาวดาระอั้งมีการเรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบและเพาะกล้าไม้ป่าหรือไม้ที่เป็นสมุนไพรเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ทำแปลงสาธิตการเกษตรผสมผสานไว้ท้ายหมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน และต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ชาวดาระอั้งได้รับพืชชนิดใหม่เข้ามาปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ จากการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเช่นกัน ได้แก่ เสาวรสให้นักท่องเที่ยวพัก เรียกว่า โฮมสเตย์ ซึ่งบ้านปางแดงในมีโฮมสเตย์
ชาวดาระอั้งยังนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยสร้างรายได้เสริม ทั้งเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก เรียกว่า โฮมสเตย์ ซึ่งมีทั้งหมด 6 หลังคาเรือน รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมาจากการขายสินค้าหัตถกรรมให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะผ้าทอต่าง ๆ ที่หญิงชาวดาระอั้งทอขึ้นเอง มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านเพื่อผลิตสินค้าผ้าทอเหล่านี้เพื่อขาย ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูง
บ้านปางแดงในเป็นที่ราบกับพื้นที่สูง ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ราบ ขณะพื้นที่ทำกินจะเป็นพื้นที่สูง ซึ่งลำห้วยแต่ละหมู่บ้านจะมีการไหลผ่านหมู่บ้านขนานไปกับลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวดาระอั้ง เนื้อดินเป็นลักษณะของดินเหนียวปนทราย เหมาะสำหรับปลูกพืชไร่และไม้ผลต่าง ๆ
บ้านปางแดงในมีจำนวนประชากรดาระอั้งทั้งสิ้น 313 คน แบ่งเป็นชาย 150 คน หญิง 163 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 58 ครัวเรือน เป็นชาวดาระอั้งทั้งหมดเฉลี่ย 5.4 คนต่อครัวเรือน แบ่งเป็นช่วงอายุ คือ วัยพึ่งพิง ได้แก่ วัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และวัยชราที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนประชากร 148 คน คิดเป็นร้อยละ 47028 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมีอายุในช่วง 15-60 ปี มีจำนวน 165 คน คิดเป็นร้อยละ 52.72 พบว่าสัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงและวัยแรงงานใกล้เคียงกัน
ดาราอางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน เกิดจากการรวมกันของผู้หญิงในหมู่บ้านปางแดงในจำนวน 33 คน ที่ใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรกรรมมาร่วมกันทอผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย เช่น เสื้อคลุมดาราอั้ง กระเป๋าย่าม ผ้าพันคอ หมวก และอื่น ๆ โดยกระบวนการกลุ่มคณะกรรมการจำนวน 8 คน เป็นผู้ที่คอยขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ตั้งแต่การจัดหาวัสดุ วัตถุดิบในการย้อมสี การทอผ้า การตลาดและการจำหน่าย จนถึงการส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ โดยคณะกรรมการจะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนและตามความถนัดของคณะกรรมการแต่ละคน
การทอผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย เช่น เสื้อคลุมดาราอั้ง กระเป๋าย่าม ผ้าพันคอ หมวก และอื่น ๆ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน
ชาวดาราอั้งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาดาราอั้ง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่อง – วะ แต่โดยทั่วไปแล้วชาวดาราอั้งสามารถพูดภาษาไทใหญ่ได้ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มไทใหญ่
นนทวรรณ แสนไพร. (2554). การเคลื่อนย้าย การตั้งถิ่นฐาน และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.