Advance search

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

หมู่ที่ 14
บ้านยางคำ
ยางคำ
หนองเรือ
ขอนแก่น
ศิราณี ศรีหาภาค
27 เม.ย. 2023
วีรภัทร ศรีทำบุญ
27 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
5 มิ.ย. 2023
บ้านยางคำ

“ยางคำ” มาจากคำเดิมว่า “ห้วยยาง” หมายถึง ลำห้วยที่มีต้นยางขึ้นตามฝั่ง เป็นชื่อหมู่บ้านตัดคำว่า “ห้วย” ออก เหลือคำว่า “ยางคำ” มาจากคำว่า “คำบอน” หมายถึง ช่องทางข้ามฝากมีหินแตกเป็นรูน้ำคำไหลออกมาตลอดเวลา มีต้นบอนขึ้นรอบอ่างน้ำที่ไหลออกมา คนผ่านไปมาได้อาศัยน้ำดื่มและอาบเย็นสบาย “บ้านยางคำ” เดิมชื่อว่า”บ้านยางคำบอน” เรียกกันไปเรียกกันมาภาษากร่อนลงเหลือคำว่า “บ้านยางคำ”


ชุมชนชนบท

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

บ้านยางคำ
หมู่ที่ 14
ยางคำ
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
16.41364821
102.5370379
เทศบาลตำบลเทศบาลตำบลหนองเรือ

ตำบลยางคำ เดิมทีเป็นชื่อของหมู่บ้านยางคำที่ตั้งขึ้นก่อนหมู่บ้านอื่นๆ ในเขตตำบลยางคำ เหตุที่ได้ชื่อว่าบ้านยางคำ เนื่องจากหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ระหว่างห้วยยางซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านห่างจากหมู่บ้านประมาณ 400 เมตรเศษกับช่องคำบอนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นช่องทางข้ามไปบ้านหินฮาว ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้มาตั้งหมู่บ้านคณะแรกจึงถือเอานามถิ่นที่อยู่ของตนเป็นนิมิตหมายแล้วตั้งชื่อว่า “บ้านยางคำบอน” เรียกกันไปเรียกกันมานานเข้าภาษาเริ่มกร่อนลงเลยเหลือแต่คำว่า “บ้านยางคำ”ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านยางคำ หมู่ที่ 14 เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านยางคำ หมู่ที่ 1 ตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2424 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีเรื่องว่าตรงที่ตั้งบ้านยางคำนี้เป็นป่ารกชัฏแน่นขนัดไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เมื่อก่อนนี้ครอบครัวนายขุนสอน - นางหล้า ทาโสม พร้อมด้วยญาติพี่น้องประมาณ 7 - 8 ครอบครัว อพยพมาจากจังหวัดศรีสะเกษมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านฝาง(อำเภอบ้านฝาง)ได้ชักชวนให้เพื่อนบ้านมาหาล่าเนื้อตรงป่าบริเวณที่ตั้งบ้านยางคำหลายครั้งเห็นว่าที่ดินนี้ดินน้ำดีอาหารธรรมชาติก็สมบูรณ์กว้างขวางดี จึงชักชวนญาติพี่น้องประมาณ 5 – 6 ครอบครัว อพยพมาจากบ้านฝางมาปลูกบ้านอยู่ใกล้น้องบักเทียว ต่อมาอีก 1 ปี ก็มีครอบครัวนายหลวงอาจ - นายหลวงจันดา อาจมนตรี ได้ชักชวนเพื่อนบ้านประมาณ 30 ครอบครัวอพยพมาจากบ้านหน่อเขื่อนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มาปลูกกระท่อมอยู่บริเวณใกล้หนองบัวและช่วยกันถางป่าปลูกบ้านเรือน บางคนก็เป็นไข้ป่า ป่วยตายไปก็มีจึงทำให้ครอบครัวอื่นๆกลัวตายพากันอพยพกับเพื่อนไปบ้านเดิมถึง 12 ครอบครัวส่วนที่เหลือ 18 ครอบครัวก็ช่วยกันปลูกบ้านอยู่ที่นี่ ต่อมามีครอบครัวนายปลัด - นางจันทร์ แสนอามาตย์ ได้ชักชวนญาติพี่น้องประมาณ 3 – 4 ครอบครัว อพยพมาจาก บ้านท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้หนองบัวนี้เพิ่มเติมเมื่อบ้านขยายเพิ่มมากขึ้นจึงพากันตั้งชื่อหมู่บ้านตามถิ่นที่อาศัยว่าบ้านยางคำบอน เรียกกันไปเรียกกันมาภาษากร่อนลงคงเรียกติดปากว่าบ้านยางคำ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันบ้านคำ หมู่ที่ 1 เดิมเป็น หมู่ที่ 7 ขึ้นตรงต่อตำบลบ้านเม็ง จน ถึง พ.ศ. 2440 จึงแยกมาขึ้นกับตำบลจระเข้ พ.ศ. 2511 จึงได้เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 1 ขึ้นกับตำบลยางคำมาจนถึงปัจจุบัน และบ้านยางคำหมู่ที่ 14 แยกออกจากบ้านยางคำหมู่ที่ 1 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 มีผู้ใหญ่บ้านปกครองคนแรก คือ นายวิเชียร สมศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม 2542

ข้อมูลสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของชุฃมชนบ้านยางคำ หมู่ที่ 14 ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ สภาพที่ตั้งและพื้นที่ของชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน ประวัติบุคคลสำคัญ ผังเครือญาติ การคมนาคม แหล่งบริการและแหล่งประโยชน์ต่างๆในชุมชน และสภาพการสุขาภิบาลที่พักอาศัย โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1.1 สภาพที่ตั้งและพื้นที่ของชุมชน 

บ้านยางคำ หมู่ที่ 14 อยู่ห่างจากอำเภอหนองเรือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 620 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่เศษ มีแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน 3 แหล่ง  มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด  125 หลังคาเรือน ประชากร 399 คน  เพศชาย   186  คน เพศหญิง  213  คน

1.1.2 อาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับบ้านหนองหอย ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ

ทิศใต้             ติดต่อกับหมู่ที่ 1  ตำบลยางคำ

ทิศตะวันออก    ติดต่อกับหมู่ที่ 4 บ้านหินฮาว ตำบลโนนฆ้อง อ. บ้านฝาง

ทิศตะวันตก      ติดต่อกับหมู่ที่ 7 บ้านหนองแวง ตำบลยางคำ

     1.1.3 ลักษณะทางธรณีวิทยา

บ้านยางคำ หมู่ที่ 14 พื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายบ้าง  เป็นดินเหนียวบ้าง อาณาเขตทิศตะวันออกจรดทุ่งนาและลำห้วยยาง ทิศเหนือจรดทุ่งนาเขตตำบลจระเข้  ทิศใต้จรดบ้านยางคำ หมู่ที่  1 หมู่บ้านจะมีลักษณะขยายยาวไปตามถนน ร.พ.ช. (ถนนนิระพันธ์) ถนนสายดอนโมง  - มัญจาคีรี ตั้งอยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 7 - 8 มีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่เศษ

     1.1.4  ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านยางคำ หมู่ที่ 14 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยทุ่งนาและมีเนินหินเตี้ยๆพบก้อนหินขนาดใหญ่ได้ในระดับที่ไม่ลึกจากระดับผิวดินมากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่มีเอกสารสิทธ์ในการครอบครอง

     1.1.5 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ในเขตของชุมชน

มีแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน 3 แหล่ง

1. หนองบักเทียว อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำทำการเกษตรของชาวบ้าน

2. ลำห้วยยาง อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน อยู่ห่างหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร เก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรของชาวบ้าน

3. ฝายสามัคคี เป็นฝายกั้นน้ำลำห้วยยางที่ไหลมาจากภูเม็ง อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 800 เมตร ใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดปี

     1.1.6 ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู คือ

- ฤดูร้อนช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

- ฤดูฝนช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน

- ฤดูหนาวช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ในส่วนของข้อมูลลักษณะทางประชากรของชุมชนบ้านยางคำ หมู่ที่ 14 ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระดับการศึกษา เชื้อชาติ ศาสนา สถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ การว่างงาน จำนวนเด็กอายุ 0 - 1 ปี จำนวนเด็กอายุ 0 - 5 ปี จำนวนประชากรวัยแรงงาน (15 - 59 ปี) อัตราส่วนผู้ที่เป็นภาระพึ่งพิง  จำนวนหญิงวัยเจริญพันธ์ จำนวนผู้สูงอายุ  ลักษณะโครงสร้างของครอบครัว ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย จำนวนสมาชิกในครอบครัว  การย้ายถิ่นและการอพยพแรงงาน ฯลฯ โดยจำนวนประชากรทั้งหมด 399 คน สำรวจทั้งสิ้นจำนวน 125 หลังคาเรือน เพศชายจำนวน 186 คน เพศหญิงจำนวน 213 คน โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

2.1 จำนวนประชากรทั้งหมด

บ้านยางคำหมู่ที่ 14 ตำบาลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัด ขอนแก่น จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 125 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 399 ชายทั้งหมด 186 คน หญิงทั้งหมด 213 คน

ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จำนวน 27  คน คิดเป็นร้อยละ 87.32 กลุ่มประชากรวัยพึ่งพิง จำนวน 177 คน คิดเป็นร้อยละ 80 ประชากรช่วงอายุ 45 – 49 ปี มีจำนวนมากที่สุด คือ 47 คน คิดเป็นร้อยละ 11.77  ซึ่งประชากรที่พบมากที่สุดคือวัยทำงาน กลุ่มนี้ควรเฝ้าระวังจากการทำงาน หรือโรคที่เกิดจากการไม่ได้ดูแลตนเอง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในหลอดเลือดสูง ดังนั้น ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง

2.2 อัตราส่วนพึ่งพิง (Dependency Ratio)                                

การวิเคราะห์อัตราส่วนพึ่งพิงเป็นการพิจารณาอัตราส่วนของประชากร ที่อยู่ในกลุ่มอายุนอกวัยแรงงานต่อประชากรในวัยแรงงาน โดยมีข้อสมมติว่า กลุ่มอายุนอกวัยแรงงานที่ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มประชากรวัยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และกลุ่มประชากรวัยสูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนประชากรที่เป็นที่พึ่งของประชากรกลุ่มอื่น คือ ประชากรวัยแรงงานที่มี อายุ 15 - 59 ปี 

2.3 เชื้อชาติ ศาสนา และสถานภาพสมรส

     2.3.1 เชื้อชาติ ประชากรในบ้านยางคำ หมู่ที่ 14 เป็นเชื้อชาติไทยทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100

     2.3.2 ศาสนา ประชากรในบ้านยางคำ หมู่ที่ 14 นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100

โครงสร้างองค์กรชุมชน

ประกอบด้วย

·      กลุ่มแกนนำในการพัฒนาชุมชน  2  กลุ่ม ได้แก่

- หน่วยประสานพลังแผ่นดิน 25 ตาสัปปะรด 

- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

·      กองทุน  5 กองทุน ได้แก่

- กองทุนข้าว

- กองทุนประปาหมู่บ้าน

- กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ศพ

- กองทุนปุ๋ย

- กองทุนเงินล้าน

·      การรวมกลุ่มต่างๆ ได้แก่

- กลุ่มดอกไม้จันทน์

- กลุ่มทอผ้า

1) คณะกรรมการหน่วยประสานพลังแผ่นดิน 25 ตาสัปปะรด บ้านยางคำ หมู่ที่ 14

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548   มีบทบาทในการดูแลความสงบภายในชุมชน เป็นหูเป็นตาเมื่อมีผู้กระทำผิด

2) คณะกรรมการอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน บ้านยางคำ หมู่ที่ 14

มีหน้าที่ในการประสานงานในการทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ เช่น แจ้งข่าวสารด้านสุขภาพแก่ชุมชน  ประสานชุมชนในการรับบริการ  ชี้แนะบริการ  ร่วมพิทักษ์สิทธิโดยการสำรวจข้อมูลการมีสิทธิบัตรตามโครงการบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ควบคุมและป้องกันโรคที่เกิดในชุมชน ตลอดจนการคัดกรองโรคเบื้องต้นร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน

กองทุนข้าว บ้านยางคำ หมู่ที่ 14

ความเป็นมาเริ่มต้นจากการรวมเงินแล้วนำไปซื้อข้าวมาไว้ที่ฉางข้าวหมู่บ้านเพื่อให้สมาชิกสามารถยืมข้าวได้เมื่อเดือดร้อนโดยจะมีการคิดดอกเบี้ย คือหากยืมสิบถังต้องจ่ายดอกเบี้ย 1 ถัง โดยจะคืนเป็นปี ยอดข้าวทั้งหมด 748 ถัง สมาชิกมีทั้งหมด 125 ครัวเรือน

กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ศพ บ้านยางคำ หมู่ที่ 14

          กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ศพเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือสมาชิกเมื่อมีงานศพ โดยจะเก็บเงินจากสมาชิกครัวเรือนละ 100 บาทเมื่อมีคนเสียชีวิตในหมู่บ้าน เพื่อนำเงินไปช่วยเจ้าบ้านในหมู่บ้านในการจัดงานศพ 

กองทุนเงินล้าน บ้านยางคำ หมู่ที่14

เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยมีงบประมาณเข้ามาในหมู่บ้าน จัดสรรให้หมู่บ้านละ 1,000,000 บาท ให้บุคคลในหมู่บ้านบริหารจัดการในการนำไปใช้ในการประกอบอาชีพของบุคคลในชุมชน การให้กู้ยืมเงินนั้นจะให้คืนตอนสิ้นปีโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 

กองทุนประปาหมู่บ้าน บ้านยางคำ หมู่ที่ 14

มีบทบาทในการดูแลระบบประปาภายในชุมชน ได้แก่ การซ่อมแซมเมื่อมีการชำรุด การจัดเก็บค่าน้ำ โดยคิดอัตรา 4บาท/หน่วย เงินทุนหมุนเวียน 65,000 บาท

คณะกรรมการกองทุนปุ๋ย บ้านยางคำ หมู่ที่14

กองทุนปุ๋ยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้สมาชิกสามารถซื้อปุ๋ยในราคาถูก โดยทางกองทุนจะจัดจำหน่ายปุ๋ยตามความต้องการของสมาชิก โดยคิดกำไรเพียง5บาท ส่วนการคืนจะคืนเป็นเงินในรอบ 1 ปี เพื่อที่จะได้รวมเงินไว้ซื้อปุ๋ยในรอบต่อไป การคิดดอกเบี้ยจะคิดร้อยละ 5 บาท/กระสอบ/ปี  สมาชิก 70 คน เงินทุนหมุนเวียน 75,000 บาท  

กลุ่มทอผ้า

          ครั้งแรกทอผ้าไหมแล้วจำหน่ายยาก เพราะมีราคาแพง จึงมาทอผ้าฝ้ายเมื่อปี พ.ศ.2539 จัดกลุ่มขึ้นเองหลังจากนั้นทำมาเรื่อยๆ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้จดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เมื่อทำเสร็จแล้วจึงไปส่งสินค้าอยู่ที่ศูนย์ OTOP โรงแรมโฆษะ และเขื่อนอุบลรัตน์

กลุ่มดอกไม้จันทน์

          กลุ่มดอกไม้จันทน์ ได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยมีเงินทุนมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งกำหนดให้หมู่บ้านละ 10,000 บาท นำมาพัฒนาหมู่บ้าน เนื่องจากนางคำปุน จอมทะรักษ์ ได้ทำดอกไม้จันทน์ ก่อนที่จะมีทุนจากรัฐบาลสนับสนุนเป็นระยะเวลา 2 ปี ทางคณะกรรมการหมู่บ้านจึงมีความเห็นว่าให้ตั้งกลุ่มดอกไม้จันทน์ขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและจัดจำหน่ายในราคาถูกให้กับเจ้าภาพ  

 

 

 

บ้านยางคำหมู่ที่ 14 มีการนับถือประเพณีอย่างเคร่งครัดมาแต่โบราณ และเป็นประเพณีท้องถิ่นสืบมาหลายปีหรือถ้าเรียกให้เป็นชาวบ้านแม้ก็ว่าเปิงบ้านเปิงเมือง มีผู้สูงอายุกล่าวไว้ว่า

เดือนอ้าย เป็นระยะอากาศหนาวจัดจัดสถานที่แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้ากรรมการเข้ากรรมของพระนั้น คือ การเข้าอยู่ประพฤติวัตรโดยเคร่งครัดชั่วระยะหนึ่งในป่าหรือป่าช้า

เดือนยี่ ทำบุญคูณลานหรือเก็บเกี่ยว แล้วทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่โภสพ นิมนต์แม่สวดบุญทำบุญลานบางคนก็มีพิธีสู่ขวัญข้าวก่อนจึงจะขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉางเสร็จแล้วก็ทำพิธีเจ้าที่หรือตาแฮกและเก็บฟืนไว้เพื่อหุงต้มอาหารต่อไป

เดือนสาม บุญข้าวจี่ วันเพ็ญ เดือนสาม เป็นวันมาฆะบูชารุ่งขึ้นวันแรมหนึ่งค่ำก็ถวายข้าวจี่เข้าจี่คือเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไม้เสียบย่างไฟเมื่อข้าวสุขเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วอย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียวเสร็จแล้ว ถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้แล้ว ถวายพระ เณรฉันตอนเช้าชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉันเป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำหมู่บ้าน

เดือนสี่ ทำบุญมหาชาติ "บุญผเวส" หมู่บ้านยางคำ หมู่ที่ 14 และหมู่บ้านใกล้เคียงจะรวบรวมกันหลอนแห่เป็นขบวนกันมาเหรอบศาลาการเปรียญ 3 รอบแล้วก็นำไปถวายพระรูปที่กำลังเทศน์อยู่ก่อนวันงาน 5 – 6 วัน

เดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์จะมีการละเล่นหรือมีการรดน้ำช่วงนี้อากาศร้อนมากการเล่นน้ำก็เพื่อความสนุกสนานและในตรุษสงกรานต์ลูกหลานก็จะได้ขอพรจากผู้สูงอายุ

เดือนหก ทำบุญวิสาขบูชาและบุญบั้งไฟนอกจากนี้ก็มีพิธีรดน้ำพระสงฆ์ยกฐานเป็นยาซา ยาคูสำเร็จและบวชลูกหลาน

เดือนเจ็ด ทำบุญเบิกบ้านทำพิธีเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมืองเลี้ยงผีบ้านซึ่งเรียกว่าปู่ตาหรือตาปู่ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้านและเรียกผีประจำไร่นาว่า ผีตาแฮกคือก่อนจะลงทำนาก็เซ่นสรวงบูชาเจ้าที่ผีนาก่อนเป็นการแสดงความนับถือ รู้บุญคุณ

เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะเข้าวัดฟังธรรมกิจกรรมเวียนเทียนและถวายผ้าอาบน้ำฝน

เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดินกำหนดเอาวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ประชาชนหาอาหารหมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตองไปวางตามยอดหญ้าแขวนตามกิ่งไม้และใส่ไว้ศาลเจ้าอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว

เดือนสิบ บุญข้าวสากทำในวันเพ็ญเดือน สิบเป็นการทำบุญให้เปรตคือเชิญมารับประทาน

เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษาเมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบสามเดือนแล้วทำพิธีปวารณาออกพรรษาชาวบ้านก็จะมีการเวียนเทียน

เดือนสิบสอง ทำบุญกฐินชาวบ้านจะมีการเก็บรวบรวมจตุปัจจัยจากชาวบ้านหรือเก็บจากกองกฐินเพื่อนำเงินที่ได้ไปถวายวัดในงานบุญกฐินก็จะมีการจุดพุ ตะไล ปะทัดและปล่อยโคมไฟด้วย

นายณรงค์   เทพรังสฤทธิ์

          นายณรงค์   เทพรังสฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2495 เป็นบุตรของนายสุรินทร์   และนางชื่นจิตร   เทพรังสฤทธิ์ บิดา มารดา มีอาชีพรับราชการครู เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้อง 14 คน นายณรงค์เป็นคนบ้านยางคำโดยกำเนิด บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 1 บ้านยางคำ ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2503 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2506 ณ โรงเรียนบ้านยางคำ หลังจากจบการศึกษาไม่ได้ศึกษาต่อ จึงมาช่วยบิดา มารดา ทำนา ปี พ.ศ. 2509 ได้บวชเรียนเป็นเวลา 2 พรรษา ในช่วงนั้นมีเพื่อนสนิท 2 คน คือ นายประดิษฐ์ ไชยปัญญา และนายสง่า จันทร์ตาลุน จบนักธรรมชั้นโท บาลีและไวยกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2512 ได้ลาสิกขา หลังจากนั้นมีความตั้งใจว่าจะเรียนต่อ แต่เนื่องด้วยครอบครัวมีบุตรหลายคน ทำให้ค่าใช้จ่ายในครอบครัวไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อและได้มาช่วยบิดา มารดา ทำไร่ ทำนา เหมือนเดิม

          นายณรงค์   เทพรังสฤทธิ์ แต่งงานเมื่อปี พ.ศ. 2518 กับนางสุภาพ พิชิต หลังจากแต่งงานได้จดทะเบียนสมรสนางสุภาพไดย้ายเข้าไปอยู่บ้านของสามี จนถึง พ.ศ. 2526 ได้แยกครอบครัวออกมาตั้งบ้านเรือนใหม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 14 บ้านยางคำ ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกผักสวนครัว ทำนา ซึ่งมีพื้นที่ปราณ 10 ไร่ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวได้ผลผลิตประมาณปีละ 300 ถัง หาเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกสาวทั้ง 2 คน เรียน ลูกคนแรกเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนที่สองเรียนจบปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2519 ญาติได้ชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นช่างทาสีบ้าน ทำงานประมาณ 1 ปี ในช่วงที่ทำงานได้เกิดปัญหาความขัดแย้ง จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาบ้าน และได้เริ่มเลี้ยงวัว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 20 ตัว ได้ขายวัวเพื่อนำเงินมาหมุนเวียน ใช้จ่ายภายในครอบครัว ปัจจุบันนายณรงค์ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

          การดำเนินชีวิตประจำวัน ปกติจะเข้านอนเวลาประมาณ 22.00 น. ตื่นนอนเวลา 03.30 น. เพื่อฟังข่าว และรายการธรรมะ หลังจากที่รับประทานอาหารเช้าเสร็จ ก็จะออกไปอยู่ที่ทุ่งนา ปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ ตอนเย็นจึงจะกลับมาที่บ้าน จะดำเนินชีวิตแบบนี้เป็นประจำทุกวัน

          ลักษณะนิสัย เป็นคนรักสันโดษ ใช้ชีวิตเรียบง่าย พอใจในสิ่งที่ตนมี ร่าเริงแจ่มใส มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ชอบช่วยเหลือสังคมในเรื่องต่างๆ เช่น ช่วยงานบุญ เป็นโฆษก มาร้องเพลงขับกล่อมที่ รพสต. เป็นประจำ ช่วยแต่งกลอน หรือคำพูดให้ผู้ที่หาเสียงเลือกตั้ง แต่งกลอนเทศน์สามธรรมมาศให้พระภิกษุ แต่งกลอน และสรภัญญะ ให้นักเรียนโรงเรียนบ้านยางคำ และชาวบ้านเพื่อนำไปแข่งขันในงานต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมประชุมภายในหมู่บ้านตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การประชุมแผนพัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น ให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายโดยไม่หวังผลตอบแทน

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. -             - ได้รับถ้วยรางวัลดีเด่นในด้านศิลปะการแสดงดนตรี

พ.ศ. 2543       - ได้รับรางวัลอาสาพัฒนาตำบลยางคำ รับรางวัลเป็นเงินสด 5,000 บาท

พ.ศ. 2552        - ได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากท่านนายอำเภอหนองเรือ

พ.ศ. 2553       - ได้รับคัดเลือกเป็นอาสาพัฒนาตำบลยางคำ เมื่อเดือนกันยายน 2553

                              - ได้เป็นปราชญ์ชาวบ้านและประชาสัมพันธ์หมู่บ้านยางคำ

คติสอนใจ : อดีตคือความฝัน ปัจจุบันคือความจริง อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน

แหล่งประโยชน์ในชุมชน  เช่น วัด โรงสีข้าว โรงงานต่างๆ ทีทำการองค์การบริหารส่วนตำบลร้านขายของชำทั่วๆไป ร้านขายของชำทั่วๆไป ร้านขายอาหารต่างๆ ตลาดสด ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ หอกระจายข่าว ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ เป็นต้น

     วัด ในหมู่บ้านยางคำ มี 2 แห่ง คือ วัดป่า (หมู่ที่14 ) และวัดสวรรค์คงคา (หมู่ที่2) เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนาเช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา มาฆบูชา เป็นต้น ประชาชนจะมาทำบุญร่วมกัน และช่วงเข้าพรรษาระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม จะมีชาวบ้านมาจำศีลที่ทั้ง 2 วัด เมื่อมีการประชุมของหมู่บ้าน จะมีการรวมตัวกันที่วัด หรือศาลากลางบ้าน

      โรงสีข้าว ภายในหมู่ที่ 14 มี 2 แห่ง คือ บ้านเลขที่ 26/1 และ บ้านเลขที่ 206 เมื่อข้าวสารหมดชาวบ้านจะนำขาวเปลือกไปโรงสีเอง เจ้าของโรงสีไม่ได้มาตามเก็บที่บ้านเอง ภายในโรงสีมีการเลี้ยงหมูด้วย (ประมาณ 6 – 8 ตัว)

     ที่ทำการบริหารส่วนตำบล ประชาชนจะไปใช้บริการเมื่อมีการประชุม การจัดสวัสดิการต่างๆ เช่น การแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ แจกผ้าห่มภัยหนาว แจกพันธุ์ปลา และพันธุ์ไม้ การประสานงานระหว่างสาธารณะสุขมูลฐานและติดต่อขอแปลนบ้านกับช่างโยธาของ อบต.

    ร้านขายของชำ  / ร้านอาหาร  มีดังนี้

- ร้านนายประยูร  กองลุน ขายสินค้าของใช้ในครัวเรือน เช่นสบู่ ยาสีฟัน แป้ง น้ำตาล ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่างๆ น้ำมันเบนซิน ขายอาหาร คือไก่ย่าง ส้มตำ เป็นต้น

- ร้านนายจำลอง  กองลุน ขายสินค้าของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แป้ง น้ำตาล ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่างๆ เป็นต้น

- ร้านนายประจญ  ขานพล เป็นร้านขนาดเล็ก ขายขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่างๆ

      ร้านขายวัสดุก่อสร้าง : วัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้อง สังกะสี ตะปู ปูนซีเมนต์ อิฐ หิน ปูน ทราย เป็นต้น

- ร้านนายสุพรรณ  นามโคตร , ร้านจีระนันท์  ก่อสร้าง , ร้านลำห้วย  ก่อสร้าง              

      ตลาดสด  มีตลาดนัดทุกวันจันทร์ตอนเย็นตั้งแต่เวลา 17.0020.00 น . ส่วนใหญ่จะขายอาหารสำเร็จรูป เช่น แกงส้ม ซุปหน่อไม้ แกงจืด ผัดผัก แกงกะทิ เป็นต้น  และขนมหวานราคาขั้นต่ำถุงละ 10 บาท นอกจากนี้ยังส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ในสมัยก่อนชาวบ้านจะประกอบอาหารรับประทานเอง แต่ปัจจุบันจะสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูป

     ร้านซ่อมจักรยานยนต์ ดังนี้

- นายวิชัย  อุ่นคำ ธุรกิจปั้มน้ำมัน ซ่อมรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนยางจักรยานยนต์

- นายอนนท์ โคดำ ซ่อมรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนยางรถจักรยานยนต์

- นายอัชะพล  อาจมูตรี ซ่อมรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนยางรถจักรยานยนต์

     หอกระจายข่าว  หอกระจายข่าวตั้งอยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยที่ผู้ใหญ่บ้านจะเปิดเวลา 06.0007.00 น. และในตอนเย็นเวลา 17.0018.00 น. ประชาสัมพันธ์ในเรื่องข่าวสาร

     แหล่งบริการด้านสุขภาพ เช่น อนามัย คลินิก ร้านขายยา หมอกลางบ้าน ศูนย์สาธารณะสุขมูลฐานชุมชน สถานเลี้ยงดูเด็กกลางวัน

เมื่อมีการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ ไอ  ส่วนใหญ่จะมารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางคำ เมื่อมีอาการหนักที่ไม่สามารถรับประทานยาที่ได้จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางคำหายขาด อาการไม่ดีขึ้น จะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ (โรงพยาบาลหนองเรือ)

ภายในหมู่บ้านไม่มีคลินิก หมอกลางบ้าน และสถานเลี้ยงดูเด็กกลางวัน

ประชาชนบ้านยางคำใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสารในชุมชน และใช้ภาษากลาง ภาษาไทยในการติอต่อสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในด้านสังคมและประชากร โดยมีการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่การเป็นชุมชนกึ่งเมือง

การเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่ ชุมชนกึ่งเมือง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและวิถีชีวิต เนื่องจากอิทธิพลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายเมือง และความสมัยใหม่ มีผลให้ถนนมะลิวัลย์ที่ผ่านชุมชนของตำบลจระเข้ มีการขยายตัว ทำให้การตั้งห้างร้าน สรรพสินค้า ร้านรับจำนำที่ดิน รถยนต์ บนถนนสายหลักนี้ ประกอบกับในชุมชน เดินทางสะดวกสบาย และมีถนนเส้นทางเชื่อมต่อกันไปได้หลายบ้านหลายหมู่บ้าน จึงเอื้อต่อการค้าขาย มีตลาดเย็นของชุมชน มีตลาดคลองถม ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประชาชนวัยแรงงานต้องหารายได้จากการไปทำงานในตัวเมืองขอนแก่น หรือไปต่างจังหวัด เพื่อนำมาใช้จ่ายเลี้ยงดูคนในครอบครัว เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน กลุ่มที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก  เป็นต้น

หมู่บ้านยางคำมีร้านอาหารที่น่าสนใจ ร้านสไมล์ @ วอเตอร์ไซด์ ร้านประไพโภชนา และวัดชัยมงคล

จากการสำรวจข้อมูลของนักศึกษาจากวิทยาลัยบรมราชชนนี ขอนแก่น