หมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก หมู่บ้านโดยรอบ ๆ ถูกปกคลุมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงอาศัยป่าเป็นหลัก การเป็นอยู่ของชาวบ้านมีวัฒนธรรมประเพณี ระบบความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน โดยการสืบสานผ่านการใช้ชีวิตประจําวันที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
บ้านห้วยหินลาดใน เรียกตามลักษณะของลำห้วยที่เป็นหินลาดลงตามห้วย ที่นี่เป็นชุมชนในหุบเขาสลับซับซ้อน รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่ถึง 14 สาย
หมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก หมู่บ้านโดยรอบ ๆ ถูกปกคลุมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงอาศัยป่าเป็นหลัก การเป็นอยู่ของชาวบ้านมีวัฒนธรรมประเพณี ระบบความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน โดยการสืบสานผ่านการใช้ชีวิตประจําวันที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
หมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ภายในพื้นที่ของหมู่บ้านโดยรอบ ๆ ถูกปกคลุมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงอาศัยป่าเป็นหลักการเป็นอยู่ของชาวบ้านมีวัฒนธรรมประเพณี ระบบความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน โดยการสืบสานผ่านการใช้ชีวิตประจำวันที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
หมู่บ้านห้วยหินลาดในมีตํานานเล่าขานเกี่ยวกับการก่อตั้งหมู่บ้านในยุคแรก คือ นายสุกา ปะปะ เป็นชาวปกาเกอะญอแต่กำเนิด เดิมทีอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้เดินทางมาที่บ้านป่าแป้ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวิถีชีวิตในการพึ่งพากับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาได้แต่งงานกับนางนอคือ และมีบุตรด้วยกันจำนวน 5 คน
ใน พ.ศ. 2432 ได้พาครอบครัวและญาติพี่น้องเดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ขุนน้ำแม่ฉางข้าว ปัจจุบันเป็นบ้านห้วยทรายขาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2470 มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 30 ครัวเรือน ทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร บางครอบครัวจึงได้แยกย้ายเพื่อไปหาที่ดินทำกินใหม่ที่บ้านแม่ปูนน้อย บ้านห้วยไร่ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และบ้านออน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำนา ส่วนที่เหลือได้ย้ายไปที่พื้นที่ของบ้านแม่ฉางข้าว
จากการบอกเล่าของผู้นําชุมชน บ้านแม่ฉางข้าวเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ชาวบ้านจึงมีความเชื่อที่ว่าเจ้าที่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นดุร้าย จึงได้เกิดการย้ายที่อยู่ใหม่อีกครั้ง โดยการเดินทางข้ามสันเขามาอยู่ที่ต้นลําห้วยหินลาดหรือ "ซี่ส่าวี" แต่ในพื้นแห่งนี้ปลูกพืชไม่ค่อยงอกงาม นอกจากนั้นแล้วก็ยังอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ทําให้ในทุกครั้งที่ปลูกพืชผักไว้ สัตว์ที่อยู่ในละแวกนั้นเข้ามากัดกินพืช สร้างความเสียหายอย่างมากจึงได้ย้ายมาอยู่บริเวณกลางน้ำห้วยหินลาด หรือ "ห่อผีถ่า" สบห้วยต้นหอเจ้าที่ แต่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ทํานาของชาวบ้านแทนแล้ว
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2486 ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ "โล๊ะละลอซิ" ลําน้ำห้วยแห้ง แต่ก็อยู่ได้ ประมาณ 5 ปี เนื่องด้วยมีน้ำไม่เพียงพอจึงมีการย้ายที่อยู่อีกครั้ง และได้ข้ามสันดอยไปอาศัยอยู่ไม่ไกล จากสถานที่เดิมมากนัก จากนั้นใน พ.ศ. 2490 ชาวบ้านได้ย้ายที่อยู่ไปที่ "มือคาตอที" ฝายกั้นน้ำที่เกิดจากธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้านห้วยหินลาดใน อาศัยได้ 1 ปีจึงจำเป็นต้องย้ายหมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่ของผีเจ้าป่าเจ้าเขา การไปอยู่ในที่แห่งนั้นทำให้ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วย ประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นทางผ่านของการค้าฝิ่น มีการต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงเกิดการหวาดกลัวและด้วยอุปนิสัยรักความสงบ จึงพากันย้ายไปอยู่ที่ "เก่อลีแฮ" ห้วยลมแรง แต่แล้วลมก็สร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้าน ภายใน พ.ศ. 2495 ได้ย้ายหมู่บ้านข้ามสันดอยมาอยู่บริเวณ "เซดาด่า" เป็นพื้นที่ป่าไม้ บนเนินเขาค่อนข้างห่างไกลจากแหล่งน้ำ และเป็นพื้นที่ลาดชัน พ.ศ. 2499 ได้ย้ายกลับมาอยู่บริเวณ "เดลอปุชี่" หรือบ้านเก่าเถาเครือสังข์อีกครั้ง อยู่ได้ประมาณ 3 ปีนายสุภา ปะปะ ผู้นําของชุมชนก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชราในวัย 102 ปี
จากนั้นใน พ.ศ. 2504 นายทาดู ปะปะ ก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นําซึ่งมีการสืบทอดจากพ่อคือนายสุกา และได้ย้ายไปอยู่ที่ "เดลอทิมุโบท่า" หรือห้วยประปา แต่ก็ไม่สามารถอยู่ได้นานเพราะเกิดโรคระบาด (อหิวาตกโรค) ขึ้นในชุมชนชาวบ้านตายติดต่อกัน 5 คน ภายในปีนั้นจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ "แดลอโคซู โก๊ะ" โดยแบ่งออกเป็น แดลอโคซูโก๊ะนอกอยู่ได้ 7 ปี และแดลอโคซูโก๊ะใน อยู่ได้เพียง 3 ปี ชาวบ้าน ต่างต้องพบกับความลําบากในการใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค จึงได้ปรึกษาและหาที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยระหว่าง พ.ศ. 2511-2512 ได้มีบางครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านห้วยหินลาดนอก เพราะมีพื้นที่ราบสำหรับการประกอบอาชีพทำไร่ทำนา จนกระทั่ง พ.ศ. 2514 ได้ย้ายมายัง "เลอโต๊ะ ผ่าโก๊ะ" เป็นพื้นที่ผาราบมีน้ำตกไหลผ่าน มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติหรือเป็นที่รู้จักในนามหมู่บ้านห้วยหินลาดในปัจจุบัน โดยขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ตำแหน่งที่ตั้งชุมชน
หมู่บ้านห้วยหินลาดในตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของหมู่ 7 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีระยะทางจากตัวหมู่บ้านห่างจากตัวอำเภอเวียงป่าเป้าประมาณ 25 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดเชียงราย 115 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ 130 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างกึ่งกลางรอยต่อของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ของหมู่บ้านป่าตึง ซึ่งเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตพื้นที่ของอุทยานขุนแจ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่ของหมู่บ้านห้วยหินลาดนอก และเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติ พันธุ์ปกาเกอะญอ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่ของหมู่บ้านห้วยทรายขาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติ พันธุ์ลาหู่
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านห้วยหินลาดในนิยมสร้างเป็นบ้านยกสูง ในสมัยก่อนจะมีลักษณะเป็นบ้านที่ใช้ไม้ไผ่หกเป็นโครงสร้าง มีความคงอยู่แบบไม่ถาวร ไม่ยึดติดกับพื้นที่ชัดเจน สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ในระยะต่อมาเมื่อคําว่า “บ้าน” คือแหล่งที่อยู่ที่ชัดเจนสามารถปักหลักฐานที่มั่นคงและคงอยู่ถาวร ชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดในจึงได้ริเริ่มสร้างบ้านโดยการนําวัสดุที่มีความทนทานมาก่อสร้างมากขึ้น เพื่อขอรับเลขทะเบียนบ้าน เช่น เนื้อไม้แข็ง เสาบ้านต้องคงทน เพื่อให้บ้านมีลักษณะโครงสร้างที่แข็งแรง นอกจากนั้นส่วนประกอบของบ้านจะต้องมีห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยอีกด้วย ภายในโครงสร้างบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ในแต่ละครัวเรือนที่มีการนับถือบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไป จะมีครัวเป็นศูนย์กลางบ้าน เปรียบเสมือนหัวใจของคนในบ้าน ในบริเวณเตาไฟเป็นที่ตั้งของก้อนหินสามก้อนที่เรียกว่า “หินสามเส้า” ซึ่งนอกจากจะมีการใช้ในการประกอบอาหารแล้ว ยังมีความเฉพาะอีกอย่าง คือ นำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ภายในพื้นที่ของแต่ละครอบครัว ต้องประกอบไปด้วยบริเวณที่มีคอกหมู คอกไก่ ที่แม่บ้านต้องเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและใช้ในพิธีกรรมที่สำคัญอีกด้วย ที่ตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านห้วยหินลาดในจึงมีลักษณะตามพื้นที่เนินเขา บ้านแต่ละหลัง จะอยู่ติดกัน ไม่มีรั้วกั้นสามารถเดินลัดเลาะไปได้ทุกหลังคาเรือน
ลักษณะทางกายภาพ
หมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ มีความสูง ระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำของลำห้วยมากกว่า 14 สาย อยู่ในแนวเขตป่าดิบชื้น
ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในเดือนเมษายน อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-35 องศาเซลเซียส ในฤดูกาลนี้น้ำประปาที่สูบขึ้นมาจากลำธารหรือห้วยจะเริ่มแห้งขอดซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคใช้น้ำในแต่ละครัวเรือน
- ฤดูฝน จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึง เดือนตุลาคม อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส
- ฤดูหนาว จะเริ่มต้นประมาณเดือน พฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคม ด้วยบริบทพื้นของหมู่บ้านหินลาดในอยู่ท่ามกลางระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ป่าไม้ ภายในฤดูนี้จึงส่งผลให้อุณหภูมิในบางปีต่ำ ลงประมาณ 4-25 องศาเซลเซียส
การคมนาคม
พื้นที่ของหมู่บ้านห้วยหินลาดในมีระยะห่างจากตัวตำบลบ้านโป่งเพียง 20 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งมีระยะห่างเท่า ๆ กันกับจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางเข้าหมู่บ้านด้วยรถประจำทางสามารถขึ้นได้ตามสถานีทั้งของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายโดยมีเป้าหมายการเดินทางมาที่อำเภอเวียงป่าเป้า ส่วนเส้นทางในการเดินรถมีอยู่ 3 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางแรกคือ เส้นทางเชียงใหม่-พร้าว และเส้นทางที่สองคือ เส้นเชียงใหม่-เวียงป่าเป้าและเส้นทางที่สามคือ เส้นเชียงราย-หมู่บ้านห้วยหินลาดใน
พื้นที่การใช้ประโยชน์
พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านมีประมาณ 10,279.7 ไร่ แยกออกเป็นพื้นที่เป็นสำหรับ การใช้สอยที่รวมไปถึงพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ป่าชุมชนสำหรับการรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป โดยมีการจัดแบ่งแนวเขตของพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้
- พื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่สำรับการพักอยู่อาศัย ประกอบไปด้วยบ้านเรือน อาคาร โรงพัก ชา ยุ้งข้าว และพื้นที่สำหรับการปศุสัตว์ขนาดย่อยที่ใช้ในการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่
- พื้นที่โรงเรียน เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประกอบการศึกษาเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บางสถานการณ์ถือว่าเป็นพื้นที่สำหรับโรงเรือนการพักอยู่อาศัยสำหรับบุคคลที่เข้ามาศึกษาขนาดใหญ่ เช่น นักศึกษามาออกค่ายเป็นอาสาสมัครในการบูรณะซ่อมแซม เป็นต้น
- พื้นที่นา เป็นพื้นที่ราบ เหมาะสำหรับการปลูกนาข้าว เนื่องจากพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นเนินเขา จึงต้องทำลักษณะแบบนาขั้นบันได เพื่อชะลอการไหลและกักเก็บน้ำ
- พื้นที่สวน (ไม้ยืนต้น) เป็นพื้นที่การเพาะปลูกแบบผสมผสานหรือเรียกว่า ระบบวนเกษตร ที่มีหลายสายพันธุ์ในพื้นที่นั้น ซึ่งพืชพรรณทั้งหมดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติควบคู่ไปกับการดูแลรักษา ที่มีทั้งไม้ยืนต้นและต้นชา ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของชาวบ้านในชุมชน
- พื้นที่ไร่หมุนเวียน เป็นพื้นที่เนินเขาสูง มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เป็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ เพราะการเกษตรแบบระบบของการทำไร่หมุนเวียนนี้เป็นกระบวนการดั้งเดิม ซึ่งถูกถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่มีความหมายอยู่บนพื้นฐานความคิดของการใช้ชีวิตของชาวบ้านที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร
- พื้นที่ป่าช้า เป็นพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการฌาปนกิจสำหรับบุคคลที่ได้ล่วงลับไปแล้วเป็นพื้นที่ที่ห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์เพราะถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์
- พื้นที่ป่าชุมชน เป็นเขตพื้นที่ที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยการเอาไม้มาสร้าง ซ่อมแซม บ้านเรือน และเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพรและล่าสัตว์ได้ ตามกฎระเบียบของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการอนุรักษ์ที่เชื่อมโยงไปถึงจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่หวงห้าม มิให้เข้าไป ทำลายหรือตัดไม้ในบริเวณ ป่าต้นน้ำ หรือป่าเดปอ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้กรอบของวัฒนธรรมใน การรักษาป่าไม้และทรัพยากร
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
- ทรัพยากรป่าไม้ ด้วยลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านห้วยหินลาดในอยู่ท่ามกลางป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นป่าประเภท ป่าดิบชื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั้งพืชที่เป็นแหล่งรายได้ให้แก่ชาวบ้านปกาเกอะญอห้วยหินลาดใน โดยเฉพาะหน่อไม้และผึ้ง เนื่องจากว่าเมื่อป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ก็จะส่งผลต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นป่าไม้ก็เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น กระรอก กระแต หมูป่า เก้ง ไก่ป่า เป็นต้น ในแต่ละช่วงฤดูกาล ชาวบ้านก็นิยมออกไปหาของป่า เพื่อนํากลับมาปรุงรสประกอบเป็นอาหารมื้อถัดไป การอยู่อาศัยวิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดในจึงล้วนเกี่ยวข้องกับป่าอย่างแยกไม่ได้ ทั้งนี้ป่าไม้จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับชีวิต ทั้งในด้านของความมั่นคงทางอาหารและชีวิตของทุกคน
- แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ภายในพื้นที่ของหมู่บ้านห้วยหินลาดในอยู่ในเขตพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลมาของลำห้วย มากกว่า 14 สาย เป็นแหล่งน้ำภูเขาที่ไหลผ่านเส้นทางธรรมชาติที่คอยอุ้มชูความชุ่มฉ่ำให้แก่สมาชิกในหมู่บ้าน โดยภายในหมู่บ้านใช้ลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน 2 สายคือ ห้วยเบาะโซ้โกละหรือห้วยเสือ และห้วยเชอพอโกละที่เป็นแหล่งน้ำในการเกษตรและใช้ในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน
- ต้นชา ต้นชาในพื้นที่หมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นชาชนิดอัสสัมที่ชาวบ้านนิยมรับดื่มเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ซึ่งมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และนอกจากนั้น ต้นชายังเป็นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวบ้านปกาเกอะญอหมู่บ้านห้วยหินลาดใน โดยบริเวณพื้นที่ของต้นชาถูกจัดอยู่ในระบบวนเกษตรที่มีการผสมผสานพันธุ์ในการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ
ชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดในทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอกลุ่มสกอ เป็นชุมชนขนาดเล็ก ตามระบบทะเบียนบ้านที่มีครัวเรือนทั้งหมด 27 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรรวมทั้งหมด 108 คน แบ่งเป็น เพศชาย 55 คน และเพศหญิง 53 คน ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกของหมู่บ้านต้องเป็นคนที่มีฐานครอบครัวที่เกิดในหมู่บ้านเท่านั้น บุคคลภายนอกไม่สามารถย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของหมู่บ้านได้ ซึ่งหมายความว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกในหมู่บ้านนั้นต้องผ่าน กระบวนการพิธีการแต่งงานตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของหมู่บ้านเสียก่อน ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของประชากรในหมู่บ้านเกิดจากการแต่งงาน ทั้งการแต่งเข้าที่นำพาคู่สมรสเข้ามาในหมู่บ้าน และการแต่งออกที่เกิดการย้ายไปอยู่กับคู่สมรสเช่นกัน การเป็นสมาชิกในหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้าน หรือการจดทะเบียนสมรสก็ได้ แต่ถ้าบุคคลใดผ่านพิธีช่วงแต่งงานที่มีขั้นตอนในต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว บุคคลผู้นั้นก็จะเป็นสมาชิกในหมู่บ้านและมีสิทธิเท่าเทียมกันเหมือนคนในบ้านทันที
ลักษณะครอบครัวและเครือญาติ
ลักษณะการตั้งของครัวเรือนจะเป็นครอบครัวขยายปลูกบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ตามระบบความเชื่อของปกาเกอะญอดั้งเดิมเชื่อว่า ภายในบ้าน 1 ครัวเรือน สามารถมีแม่บ้านอยู่ได้ไม่เกิน 3 คน ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องมีการสร้างบ้านใหม่ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่นแทน นอกจากนั้นแล้วในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีต้นตระกูลที่เป็นเชื้อสายเดียวกันตั้งแต่บรรพบุรุษอยู่ 4 ตระกูลหลัก ได้แก่ ศิริ เวชกิจ ปะปะ และโพคะ เป็นต้น นอกจากนั้นการเกี่ยวดองเพื่อแต่งงานเป็นสร้างสัมพันธ์เครือญาติอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอได้ขยายเครือข่ายในการทำความรู้จักกัน
ปกาเกอะญอการประกอบอาชีพของชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดในขึ้นอยู่กับระบบของธรรมชาติ จะหมุนเวียนตามฤดูกาลต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะเป็นการประกอบอาชีพ เกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นหลัก ในสมัยก่อนไม่ได้มีอาชีพที่หลากหลาย ชาวบ้านจะนิยมทำไร่หมุนเวียนเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจึงประกอบอาชีพในการทำเกษตรกรรม โดยการทำไร่หมุนเวียน ทำนาข้าวและเก็บชา
นอกจากนั้นในแต่ละช่วงของฤดู ผืนป่าของหมู่บ้านห้วยหินลาดในจะมีความหลากหลายของสายพันธุ์พืชทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงมักจะมีอาชีพตามบริบทของพื้นที่ เช่น การเก็บมะแขว่นไปขายในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ในเดือนกรกฎาคมชาวบ้านก็จะนิยมออกไปเก็บหน่อไม้หกเพื่อนําไปขาย ซึ่งจำนวนเงินที่ขายได้จะหักเข้ากองทุนหน่อไม้ 1 กิโลกรัม/4 สตางค์ เพื่อนําไปพัฒนาหมู่บ้านต่อไป และสุดท้ายผลิตภัณฑ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของหมู่บ้านห้วยหินลาดในแห่งนี้ คือ น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติ ที่มีทั้งน้ำผึ้งหลวง น้ำผึ้งโพรงและน้ำผึ้งชันโรง รายได้ทั้งหมดจะนํากลับคืนสู่การพัฒนา โดยการหักเข้ากลุ่มน้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม/20 บาท ซึ่งชาวบ้านจะขายกลุ่มในราคาเริ่มต้น 250 บาท
ส่วนอีกอาชีพหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นอาชีพเสริมและเกิดขึ้นตามฤดูกาลเช่นกัน คือ การทำบ้านพักโฮมสเตย์ให้แขกที่มาเยือนได้เข้าพักอยู่อาศัย โดยเน้นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเป็นหลัก ซึ่งมีข้อจํากัดว่า หมู่บ้านห้วยหินลาดในไม่ใช่หมู่บ้านที่จัดการท่องเที่ยว ฉะนั้นการเข้ามาในหมู่บ้านจึงมีกรอบความคิดที่ว่า ต้องเข้ามาเพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้และการที่จะเข้ามาศึกษาในจะต้องแจ้งชาวบ้านเสียก่อน ซึ่งโฮมสเตย์ที่ได้กล่าวไปข้างต้นเริ่มต้นเพียงราคา 200 บาท/1 คน
กองทุนชุมชนและแหล่งกู้ยืม
กลุ่มในหมู่บ้านหินลาดในมี 2 ประเภท คือกลุ่มที่ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้นเองและ กลุ่มที่รัฐบาลมอบหมายให้จัดตั้งขึ้นตามระเบียบแผนผังการปกครอง
กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หรือ กองทุนเงินล้าน เป็นกลุ่มที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นให้เพื่อ ช่วยเหลือดูแลสำหรับครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ คาดแคลน โดยรวบรวมสมาชิกทั้ง 4 หย่อมบ้านทั้งหมู่บ้านห้วยหินลาดนอก ผาเยืองและห้วยทรายขาวเข้าด้วยกัน ในการกู้ยืมนี้สามารถกู้ได้ในวงเงิน 1 ล้าน ซึ่งการเรียกเก็บคืน 2 ปี/1 ครั้ง มีดอกเบี้ยอัตราละร้อยละ 5 บาท ภายในหมู่บ้าน ห้วยหินลาดในไม่ค่อยนิยมการกู้ยืมในกองทุนนี้ ซึ่งภายในหมู่บ้านจะมีการกู้และหยิบยืมของชาวบ้าน ด้วยกันเองซึ่งมีอัตราการกู้ยืมเพียงร้อยละ 3 บาท
กลุ่มในชุมชน กลุ่มในหมู่บ้านเป็นกลุ่มที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นเอง คือ คณะกรรมการการดูแลป่า ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จัดขึ้นเพื่อดูแลทรัพยากรและสืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มการเกษตร เป็นกลุ่มที่ดูแลเกี่ยวกับผลผลิตจากทรัพยากร โดยปกติแล้วการทำมาหากินของ ชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดในจะเน้นการทำไร่หมุนเวียนเป็นหลักที่เป็นเปรียบเสมือนความมั่นคง ทางอาหาร ที่ใช้แค่เพียงการบริโภคและแบ่งปันภายในหมู่บ้าน แต่การที่ทำให้ชาวบ้านจะมีรายได้ที่ นอกเหนือจากการเก็บชาแล้ว พื้นที่ที่เปรียบเสมือนส่วนรวมอย่างป่าชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของ ระบบนิเวศทำให้เกิดผลผลิตที่มากพอที่จะทำให้ค่าตัวเลขของรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายในหมู่บ้านห้วยหินลาดในจัดตั้งขึ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหน่อไม้และน้ำผึ้ง โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะหักเข้ากองทุน คณะกรรมการดูแลป่า เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ในพัฒนาหมู่บ้านและการจัดการดูแลป่าไม้
- กลุ่มหน่อไม้ ภายในพื้นที่มีหน่อไม้เกิดขึ้นหลายประเภท แต่ประเภทที่ชาวบ้านนิยมนํามา รับประทานและสามารถนําไปขายได้คือ หน่อไม้หก โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของ ทุกปี หน่อไม้ชนิดนี้จะเริ่มออก ซึ่งกติกาในการเก็บหน่อไม้ของชาวบ้านจะสามารถเก็บได้โดยจํากัด ระยะเวลา 45 วันในการเก็บ ซึ่งนอกจากนั้นรูปแบบการเก็บของชาวบ้านจะไม่เก็บหน่อไม้ที่เกิดขึ้น ทั้งหมด จะเหลือหน่ออ่อนไว้เพื่อที่จะให้สามารถเจริญเติบโตได้เป็นต้นใหม่ได้ และหลังจากเก็บหน่อ เสร็จจนผ่านกระบวนวิธีที่จะสามารถนําไปขายสู่ท้องตลาด รายได้ที่เข้ามาจากการขายทั้งหมดจะถูก แบ่งเข้าสู่กลุ่มหน่อไม้ 25 สตางค์/หน่อไม้ 1 กิโลกรัม เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้าน
- กลุ่มน้ำผึ้ง เดิมทีชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดในมีการหาน้ำผึ้งเพื่อใช้ในการบริโภคและนํามาเป็นส่วนผสมของยาในการรักษาโรคเป็นปกติอยู่แล้ว โดยมีรูปแบบวิธีการหาที่หลากหลายให้ได้มาซึ่งน้ำผึ้ง นอกจากการหาเพื่อบริโภคแล้ว ชาวบ้านยังนําน้ำผึ้งที่หาได้ไปแบ่งขายเพื่อเป็นรายได้ ซึ่งการหาผึ้ง ส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เอื้อให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยของรังผึ้ง ซึ่งผึ้ง ที่ชาวบ้านนิยมหา คือ ผึ้งหลวง ผึ้งโพง และผึ้งชันโรง โดยมีขั้นตอนการหาที่แตกต่างกันออกไปตาม ชนิดของผึ้ง ซึ่งวิธีการหาผึ้งชาวบ้านจะไม่เก็บรังผึ้งที่เป็นรังของตัวอ่อนกลับมาจะปล่อยให้ผึ้งเจริญเติบโตไปตามธรรมชาติ ต่อมาเมื่อมีการสนับสนุนจากองค์กรกองโกว่าจากประเทศญี่ปุ่นให้ไป เรียนรู้เรื่องผึ้ง จึงเกิดการนําเอาสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่หมู่บ้านของตน โดยการทำรังให้ผึ้งโพรงมาอาศัยอยู่ จนเกิดรายได้ที่เป็นของประจำอย่างหนึ่งของชุมชน ซึ่งการหาผึ้งก็สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อครบรอบปีชาวบ้านจะมีกฎ ข้อตกลงร่วมกันว่า รายได้จากการหาผึ้งทั้งหมดจะแบ่งเข้าสู่กลุ่มน้ำผึ้ง 20 บาท/น้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม
2.กลุ่มปศุสัตว์ เนื่องจากหมู่บ้านห้วยหินลาดในมีความเชื่อตามวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ต้องประกอบพิธีในการเลี้ยงไก่และเลี้ยงหมู ภายในครัวเรือนแต่ละครัวเรือนจึงมีหน้าที่ในการเลี้ยงสัตว์ตามความเชื่อดั้งเดิม กลุ่มนี้มีหน้าที่ดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของสัตว์ที่เลี้ยง
3.กลุ่มเยาวชน ที่มีสมาชิกเป็นวัยหนุ่มสาวที่ยังไม่เคยผ่านพิธีท่อปก่าหรือแต่งงาน ในกลุ่มนี้จะมีบทบาทในการให้ข้อมูลและดูแลกลุ่มผู้ที่จะมาศึกษาดูงานในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน รวมไปถึงการสืบทอดพิธีกรรมหรือประเพณีดั้งเดิมที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วย ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบละมอบหมาย ก็คือ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่ในการติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านช่วยสืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตแก่คนรุ่นหลัง ให้เกิดจิตสํานึก ภูมิใจในตนเอง และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
4.กองทุนที่ดิน จัดตั้งเพื่อติดตามนโยบายและเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยให้อยู่ในรูปแบบของโฉนดชุมชนและสร้างเครือข่ายรวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านที่เชื่อม ต่อไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ศาสนา ชาวบ้านปกาเกอะญอในหมู่บ้านห้วยหินลาดในนับถือนับถือศาสนาพุทธและผีบรรพบุรุษ ดังนั้นกิจกรรมความเชื่อประเพณีต่างๆ ที่ได้ขึ้นภายในหมู่บ้านจึงจัดควบคู่กันไป โดยมีผู้นําทั้งทางด้านศาสนาและความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ดังนี้
- ศาสนาพุทธ การถือศาสนาพุทธของชาวบ้านปกาเกอะญอห้วยหินลาดในจึงได้ถูกเขียนกำกับไว้ในบัตร ประชาชน แต่ถึงอย่างไรนั่นสมาชิกทุกคนในหมู่บ้านก็นับถือและเชื่อฟังหลักคําสอนของศาสนาพุทธ ผนวกไปกับความเชื่อดั้งเดิม เนื่องจากว่าหลักการคําสอนมีความใกล้เคียงกัน โดยมีจุดมุ่งหมายขอแค่ ให้ทุกคนเป็นคนดีต่อสังคม ซึ่งกิจกรรมที่ชาวบ้านปกาเกอะญอหมู่บ้านห้วยหินลาดในเข้าร่วมจะเป็น กิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเช่น วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันสงกรานต์ หรือในวันพระจะมีการ นําอาหารไปถวายแก่พระ เป็นต้น
- ความเชื่อการนับถือเรื่องผีบรรพบุรุษ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ ผี ในคํานิยามของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองดูแลรักษาชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นการเคารพนับถือเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและสิ่งที่เหนือธรรมชาติของชาวบ้านปกาเกอะญอหมู่บ้านห้วยหินลาดในจึงเป็นความเชื่อที่ชาวบ้านยึดถือและถูกส่งต่อมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมจารีตที่ต้องถือปฏิบัติ โดยจะมีผู้นําในการทำพิธีกรรมคือ “ฮีโข่” ซึ่งได้รับการสืบทอดทางสายเลือดจากผู้ที่เป็นพ่อสู่ลูก โดยมีบทบาทดูแลความสงบสุข พิธีกรรมที่เปรียบเสมือนกระบวนการที่เป็นที่พึ่งทางใจของคนภายในหมู่บ้าน
ความเชื่อภายในหมู่บ้านห้วยหินลาดในล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เหนือ ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ผีหมู่บ้าน คือ ผีที่คอยปกปูองดูแลให้สมาชิกในหมู่บ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยทุก ๆ ปี ก็จะมีพิธีกรรมเพื่อเลี้ยงผีหรือขอขมาลาโทษในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป เช่น ในทุกช่วงปีใหม่ของปกาเกอะญอ ก็จะมีพิธีกรรมกี่จึหรือพิธีเลี้ยงหมู่บ้านหรือภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า ลื่อก่อ
- ผีบรรพบุรุษ คือ ดวงวิญญาณของปูุย่า ซึ่งชาวบ้านปกาเกอะญอหมู่บ้านห้วย หินลาดในเชื่อว่าเป็นสิ่งที่คอยปกปูองดูแลบุตรหลานของตนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดให้มีความปลอดภัย ซึ่งจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ คือ พิธีพอมาเคร โดยปกติแล้วจะต้องจัดอยู่ที่เตาสามเส้าที่ถือว่าเป็นหัวใจของบ้าน ซึ่งในพิธีนั้นจะจัดขึ้นภายในครอบครัวเท่านั้น ลูกหลานทั้งหมดต้องมารวมตัวกัน และบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้ ขั้นตอนในพิธีดังกล่าวจะประกอบไปด้วยเครื่องเซ่นไหว้ คือ หมู กับไก่ เหล้า และข้าว ขณะที่ทำพิธีทุกคนจะต้องสำรวมกิริยาและห้ามจาม มิเช่นนั้นจะต้องเลิกทำพิธีทันที
- ผีน้ำ คือผีที่สิงสถิตอยู่ในน้ำ การเลี้ยงผีน้ำจะจัดขึ้นในช่วงที่ทำนา เพราะต้องใช้น้ำในการทำนาข้าวเพื่อให้ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ ภาษาปกาเกอะญอจะเรียกพิธีนี้ว่า ลื่อทีโบ
- ผีนา หรือผีเจ้าที่ในพื้นที่ที่ทำการเกษตร ซึ่งจะมีพิธีในช่วงที่ทำนา เช่น ในฤดู ที่ข้าวตั้งท้องจะมีพิธีเลี้ยงผีนาซึ่งเรียกว่าต่ามอชิ และพิธีกี่จึพอบือ คือพิธีมัดมือหลังจากที่มีการเก็บ เกี่ยวสิ้นสุดลง โดยมีหมูหรือไก่ ข้าว และเหล้า เป็นของเซ่นไหว้ให้กับเจ้าที่ โดยจะสิ้นสุดขั้นตอนการเลี้ยงผีนาในพิธีพอคิดะ ที่ต้องต้มเหล้าเพื่อเรียกขวัญของชาวบ้านกลับมาและตอบแทนคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง
- ผีไร่ หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าป่าเจ้าเขา คือสิ่งที่สถิตอยู่ในป่าบริเวณไร่หมุนเวียน เนื่องจากว่าการทำไร่มีหลายขั้นตอนซึ่งในแต่ละขั้นตอนก็จะประกอบพิธีที่มีความแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะใช้ไก่ในการประกอบพิธี โดยจะเริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ที่ต้องเสี่ยงทายดินฟูาอากาศที่ เรียกว่า ก่าเดาะคึ โดยมีฮีโข่เป็นคนนําในการทำพิธี ต่อด้วยพิธีแพะล่อคึเพื่ออธิฐานในช่วงที่ถางไร่เพื่อ บอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณนั้นได้รับรู้ และเมื่อเสร็จพิธีในขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะกลับมากินพืชผักที่ มีขนาดใหญ่เพื่อหวังว่าสิ่งที่กําลังจะปลูกจะออกดอกออกผลได้ดี จนมาถึงพิธีแชลอคึที่เริ่มการปลูกข้าว เพื่อขอให้ผลผลิตดี และจะขอน้ำขอฝนจากพิธีจื่อมาเคาะ ซึ่งในขณะที่ข้าวกําลังเติบโตอยู่นั้นพิธีที่ สำคัญของการทำไร่หมุนเวียนคือพิธีกรรมต่าบอคึ ซึ่งเป็นพิธีที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนที่มีความละเอียดอ่อนเพื่อขมาสิ่งที่ได้ทำล่วงเกินไปในขณะเผาไร่ ทำไร่ รวมไปถึงการขอและอธิฐานในสิ่งที่อยู่ บริเวณนั้นช่วยปกปักรักษาให้พ้นจากสัตว์ที่จะเข้ามาทำลายพืชพันธุ์ที่ปลูกไป จนกระทั่งในช่วงที่เก็บเกี่ยวเสร็จจะประกอบพิธีกรรมก่อทอโท่ คือพิธีขอบคุณนกขวัญข้าวเพราะชาวบ้านมีความเชื่อที่ว่า นกขวัญข้าวเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านปกาเกอะญอหมู่บ้านห้วยหินลาดในมีข้าวในการบริโภค
ประเพณีวัฒนธรรม
ในสมัยก่อนชาวบ้านปกาเกอะญอจะนับวันเวลาโดยการยึดดวงจันทร์เป็นหลัก จะเริ่มนับเดือนกุมภาพันธุ์เป็นเดือนแรก นอกจากนั้นภายในสถานการณ์ต่าง ๆ จะส่งผลต่อการนับวัน ดีวันร้ายเพื่อที่จะสามารถจัดงานพิธีกรรมหรืองานมงคลได้ และในแต่ละเดือนจะประกอบไปด้วย พิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบสานกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น
- งานวันปีใหม่ หรือ ที่เรียกว่ากี่จึ จะถูกจัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี เป็นงานมงคลที่ ชาวบ้านจะเลี้ยงฉลองกัน จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งบางปี อาจจะไม่ใช่วันเดียวกัน เพราะทั้งนี้ก็แล้วแต่ฤกษ์งามยามดีในช่วงเวลานั้น ลักษณะของการจัดงานจะจัดโดยให้คนเฒ่าคนแก่ไปอวยพร กรวดน้ำถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองที่บ้านของชาวบ้านในทุก หลังคาเรือน ซึ่งบ้านแต่ละหลังต้องตระเตรียมอาหารไว้สำหรับแขกผู้ที่จะมาเยือน ทั้งนี้รวมไปถึงเหล้าที่แม่บ้านในแต่ละหลังต้องต้มเองด้วย ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ไม่ใช่จัดขึ้นเพื่อแค่ภายในหมู่บ้าน แต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาสร้างมิตรภาพไมตรีที่ดีต่อกันและกันอีกด้วย
- พิธีสงกรานต์ ในวันที่ 13 เดือนเมษายนของทุกปีชาวบ้านจะมีประเพณีการสรงน้ำพระ ซึ่งในสมัยก่อนไม่ได้มีพิธีหรือวันสงกรานต์ในปฏิทินของปกาเกอะญอ พ่อนิเวศเล่าว่า งานประเพณีสงกรานต์นี้เป็นประเพณีของคนเมืองที่เขานิยมทำกัน ผนวกด้วยในหมู่บ้านของเรามีวัดตั้งอยู่ จึงต้องไปสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์เพื่อขอให้ชีวิตร่มรื่นและมีความสุข
- พิธีเลี้ยงหมู่บ้าน ภายใน 1 ปีชาวบ้านในหมู่บ้านหินลาดในจะมีงานที่เลี้ยงใหญ่ หรือเรียกว่า พิธี “ลื่อก่อ” เป็นเสมือนงานบุญเลี้ยงหมู่บ้าน จัดขึ้นเพื่อขอขมาโทษในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป และขอให้บรรดาผีบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกป้องดูแลรักษาหมู่บ้านให้อยู่อย่างมีความสุข ซึ่งมักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมทุกปี ในพิธีนี้จะสงวนให้เข้าร่วมแค่ผู้ชายเข้าเท่านั้น ผู้หญิงจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่มีหน้าที่เพียงเตรียมต้มเหล้า เพื่อให้ฝ่ายชายนําไปเข้าร่วมพิธี โดยฝ่ายชายแต่ละคนต้องนําไก่และเหล้าต้มไปร่วมพิธีกรรมนั้น แล้วนําขาไก่กลับมาให้ครอบครัวกิน
ปฏิทินการผลิตของหมู่บ้านห้วยหินลาดใน
- มกราคม : เก็บใบชา เก็บฝืน
- กุมภาพันธ์ : เก็บใบชาแก่ หวาย ผักรากกล้วย ผักกูด เตรียมพื้นที่สำหรับเลี้ยงผึ้งโพรง และเตรียมพื้นที่ทำไร
- มีนาคม : เก็บใบชาอ่อน หาผึ้งหลวง และเตรียมทำแนวกันไฟในไร่ข้าว
- เมษายน : เก็บใบชาอ่อน เก็บน้ำผึ้งโพรง น้ำผึ้งหลวง เผาที่เพื่อเตรียมปลูกข้าวไร่ และ หว่านเมล็ดพันธุ์พืชบางชนิด เช่น ฟักทอง ข้าวสาลี ผักกาด พริก มะเขือเทศ เผือก มัน
- พฤษภาคม : เก็บใบชาอ่อน เก็บน้ำผึ้งจากผึ้งโพรง เก็บพืชผักที่หว่านไปแล้ว เช่น ผักกาด ฟักทอง เผือก มัน พริก มะเขือเทศ รวมไปถึงการเก็บเห็ด ในเดือนนี้เริ่ม หยอดข้าวและหว่านเมล็ดพันธุ์พืชในไร่หมุนเวียน และ เริ่มดำนา หว่านกล้า
- มิถุนายน : เก็บผักกาด หน่อไม้ในไร่หมุนเวียน ไถนา ปลูกข้าว
- กรกฎาคม : เก็บหน่อไม้ไผ่หกไปขาย
- สิงหาคม : เก็บหน่อไม้ไผ่หก มะขม
- กันยายน : เก็บลูกกอ มะขม มะนาว ส้มโอ มะแขว่น หาดักแด้ รถด่วนในสวนชา เก็บ พริก มะเขือเทศในไร่ข้าว
- ตุลาคม : เก็บลูกก่อ ฟักทอง มะเขือ มะเขือเทศ พริกในไร่ข้าว เกี่ยวข้าวไร่โดยการใช้ วิธีแลกเปลี่ยนแรงงานในชุมชน หาดักแด้ หารถด่วนในสวนชา
- พฤศจิกายน : ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในไร่นา
- ธันวาคม : เก็บใบชาอ่อนและใบชาแก่ เก็บฝืน เตรียมพื้นที่สำหรับเลี้ยงผึ้งโพรง
ทุนกายภาพ
สวนชา ชาในพื้นที่หมู่บ้านห้วยหินลาดในเป็นชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นชาชนิด อัสสัม ซึ่งภายในหมู่บ้านได้มีการติดต่อซื้อขายชากับพ่อค้าทั้งคนจีน ไทยอย่างยาวนาน โดยมีลักษณะที่เด่นเนื่องจากว่า เป็นชาที่ปลอดสารเคมี ทำให้มีพ่อค้าจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่มาจากประเทศจีนเข้ามาขอซื้อชาถึงภายในหมู่บ้าน โดยเฉพาะชาอ่อนหรือยอดชาที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งมูลค่าของชาจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพของชาในแต่ละช่วงฤดู
หน่อไม้ การหาหน่อไม้เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวบ้านนิยมทำในช่วงที่ว่างหลังจากปลูกข้าวเสร็จ โดยจะเริ่มต้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนกรกฎาคม มีการจํากัดระยะเวลาในการหาเพียง 45 วัน หน่อไม้ที่ชาวบ้านจะนิยมหาคือ หน่อไม้หก เพราะสามารถนําไปรับประทานได้ มีรสชาติที่หวาน หลักในการเก็บหน่อไม้จะไม่เก็บหมด โดยจะเหลือหน่ออ่อนเอาไว้เพื่อที่จะให้สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการอนุรักษ์ไปในกระบวนการเก็บอีกด้วย
น้ำผึ้ง การหาน้ำผึ้งของชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีวิธีการหาที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ โดยแบ่งประเภทของน้ำผึ้งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- ผึ้งหลวง คือ ผึ้งที่มีนิสัยดุร้าย รังของมันจะอยู่ตามต้นไม้สูง ดังนั้นการตอกทอยและใส่เสื้อที่มิดชิด คือเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการหา โดยชาวบ้าน จะเตรียมใช้ทอยตอกเข้าไปในต้นไม้ เพื่อใช้ในการปีนขึ้นไปเอารังผึ้ง ดังนั้นมูลค่าจากการขายน้ำผึ้งจึง ค่อนข้างแพงเพราะเกิดจากกระบวนการขั้นตอนที่หาค่อนข้างยากมาก ซึ่งน้ำผึ้งหลวงจะมีราคาเริ่มต้น ตั้งแต่ที่ 500 บาทต่อ 700 มิลลิลิตร
- ผึ้งโพรง คือ ผึ้งที่อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ ลําตัวจะมีขนาดเล็กกว่าผึ้งหลวง ในปัจจุบันได้มีการเข้ามาของนักวิชาการเพื่อสนับสนุนในการทำผึ้งโพรง โดยการศึกษาดูงานจากพื้นที่แม่แจ่ม ทำให้ชาวบ้านได้เกิดการนําวัสดุที่เป็นไม้มาประกอบเพื่อทำที่อยู่อาศัยให้แก่ผึ้งโพรง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ชาวบ้านนิยมทำเพื่อสร้างรายได้ ราคาของน้ำผึ้งโพรงจะ เริ่มต้นที่ 400 บาท ต่อ 700 มิลลิลิตร และผึ้งชนิดสุดท้ายก็คือ
- ผึ้งชันโรง คือ ผึ้งที่มีขนาดเล็กมาก มีลักษณะแตกต่างจากผึ้งหลวงและผึ้งโพรง คือ ผึ้งชนิดนี้จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือนในการดูดเกสรดอกไม้ในขณะผึ้งชนิดอื่น ๆ ใช้เวลาแค่เพียง 3-4 เดือน เท่านั้น นอกจากนั้นผึ้งชนิดนี้มีโภชนาการสูงมาก ทำให้ราคาของผึ้งชันโรงมีราคาสูงถึงหลักพัน
ส่วนรสชาติที่ได้ของผึ้งทุกชนิดไม่แน่นอนจะขึ้นอยู่ตามเกสรที่ผึ้งได้ไปดูดเกสรมา แต่ก็ยังคงความหวานและสรรพคุณทางยาที่สามารถชงกินเพื่อบํารุงร่างกายได้ด้วย
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ยังคงใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง รวมถึงการเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาอื่น ๆ ควบคู่ มีการฝึกหัดภาษาปกาเกอะญอที่เป็นภาษาถิ่นของตนให้กับกลุ่มเยาวชน
ระบบไฟฟ้า
เมื่อ พ.ศ. 2540 ได้มีโครงการพัฒนาชนบทที่เข้ามาเพิ่มแสงสว่างให้กับชาวบ้าน โดยการมอบแผงโซล่าเซลล์ให้ ซึ่งเป็นจุดประกายแรกที่มีการนําพลังงานธรรมชาติมาใช้เพื่อความสะดวกและหลังจากนั้นก็ได้เริ่มมีการเข้ามาของกลุ่มนักบริจาคที่เข้ามาช่วยเหลือและบริจาคเครื่องปั่นไฟและแผงโซล่าเซลล์ให้อยู่เสมอ จนมาถึงปัจจุบันหมู่บ้านห้วยหินลาดในก็ยังเป็นหมู่บ้านเดียวที่ยังใช้แผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนไฟฟ้าอยู่ ในขณะที่หมู่บ้านละแวกใกล้เคียงเริ่มเปิดรับการใช้บริการจากไฟฟ้าแล้ว ในช่วงแรกที่การไฟฟ้าได้เดินทางพัฒนาในถึงพื้นที่พ่อหลวงหรือผู้นําในรูปแบบทางการ ได้มีการปฏิเสธการนําไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านซึ่งใช้การประเมินในระดับหมู่บ้านว่ายังไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเทคโนโลยีไฟฟ้า เพราะมองไปถึงอนาคตที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ระบบน้ำประปา
ระบบน้ำประปา เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2542 โดยเกิดจากกลุ่มนักศึกษาที่มาออกค่ายอาสาจากมหาวิทยาลัยที่ต่างให้การช่วยเหลือในการติดต่อถังน้ำละท่อที่ต่อจากห้วยมายังแท้งก์น้ำ โดยใช้จากห้วยหินลาดที่ไหลผ่านบริเวณหมู่บ้านคือ ห้วยเบาะโซ้โกละหรือห้วยเสือ และเชอพอโกละ ในปัจจุบันการก่อสร้างประปา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ก็คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป้ง ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและมอบงบประมาณเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างถังกักเก็บน้ำ อย่างไรก็ตามระบบการจัดการน้ำก็ยังถูกบริหารจากคนในหมู่บ้านในการใช้เช่นเดิม และจากสถานการณ์ความผันผวนของอากาศและความไม่แน่นอนของธรรมชาติต่างก็มีผลกระทบต่อระบบน้ำในหมู่บ้าน ทำให้บางฤดูกาลโดยเฉพาะฤดูร้อนเกิดภาวะน้ำแห้งขอด ไม่มีน้ำที่ใช้ในการอุปโภคที่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านทั้งหมด แต่ถึงอย่างไรวิธีการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน คือ การจัดตั้งเวรยามในการกักเก็บน้ำใส่ถังเอาไว้ เพื่อสูบน้ำขึ้นไปใช้ วิธีที่สองคือ การผ่อนแรงของเครื่องสูบน้ำโดยให้วัยหนุ่มสาวที่มีกําลังกายให้ลงไปอาบน้ำที่ลำห้วยแทน และวิธีที่สาม เกิดขึ้นโดยการศึกษาตัวอย่างและเรียนรู้ประสบการณ์ของชาวบ้าน คือการนําต้นกล้วยมาปลูกไว้ที่บริเวณต้นน้ำ เพราะต้นกล้วยมีน้ำที่ในการดูซึมและกักน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการในการจัดการทรัพยากรน้ำโดยภูมิปัญหาของชุมชนเอง
หมู่บ้านห้วยหินลาดในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน คือ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน อยู่ในพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 2 เข้าร่วมโครงการในพื้นที่สูงแต่เดิมเป็นห้องเรียนดอย สาขาโรงเรียนบ้านแม่ปูนหลวง เริ่มเปิดสอนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 มีนักเรียน 22 คน มีครูประจำการ 3-4 คน ได้รับงบจากสำนักงานการศึกษาจังหวัดเชียงรายเพื่อก่อสร้างอาคารแบบ สปช.101/37 จำนวน 1 หลัง 1 ห้องเรียน หลังปี พ.ศ. 2548 ได้เริ่มมีกลุ่มอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาโรงเรียน เช่น การมอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องแปลงไฟฟ้า พัฒนาสนามกีฬา เครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และงบประมาณในการสร้างอาคารเรียน และซื้อชุดโต๊ะ-เก้าอี้
ต่อมาปี พ.ศ. 2562 โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดในมีนักเรียนรวมทั้งหมด 25 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีบุคลากรทางการศึกษาจำนวนทั้งหมด 6 คน มีผู้อํานวยการ ครู 3 คน พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ธุรการ และนักการภารโรง ระบบการเรียนจะถูกสอนผ่านหนังสือ และผ่านระบบดาวเทียมตามระเบียบของระบบศึกษาธิการ ด้วยการที่ครูในโรงเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนชั้นเรียนทำให้บทบาทการเรียนการสอนของครูแต่ละคนจะถูกแบ่งหน้าที่รับผิดชอบคือ ครู 1 คนต่อนักเรียน 2 ชั้นเรียน ทำให้ภายใน 1 ห้องเรียนมีนักเรียนอยู่สองระดับชั้น หลังจากที่เรียนจบหลักสูตรชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนส่วนใหญ่จะลงไปศึกษาต่อที่โรงเรียนบ้านโป้งเทวีจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือไปศึกษาในพื้นที่ที่มีญาติอาศัยอยู่ หรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือ การไปศึกษาต่อที่ศูนย์การเรียนรู้นอกระบบที่บ้านห้วยทรายขาว ที่เปิดการเรียนการสอนในวันวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนั้นสำหรับบุคคลที่สนใจในทางการศึกษามักจะได้รับโอกาส เป็นทุนในการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งแหล่งทุนก็จําแนกออกเป็นหลายกลุ่ม คือ มีทั้งหน่วยงานของกระทรวงและความหวังดีจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เข้ามาช่วยเหลือดูแล
นภาพร อติวานิชยพงศ์. (2553). โครงการถอดบทเรียนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ..
วาไรตี้ท่องเที่ยว. (2562). ยลเสน่ห์บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ ชุมชน“ห้วยหินลาดใน” ชิมของเด็ดน้ำผึ้ง-ชา ตื่นตาต้นลำพูยักษ์ 10 คนโอบ. ค้นจาก https://mgronline.com/