
ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนผ้าขาวม้าบ้านโตนกลอย
บ้านโตนกลอย เดิมชื่อว่า "บ้านพรุกวม" สภาพพื้นที่เป็นป่าดงดิบ มีความอุดมสมบูรณ์มากมายไปด้วยสัตว์ป่า ชาวบ้านบริเวณนี้จึงเข้ามาจับช้างเพื่อนำไปใช้งานลากซุง เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน จึงไปพบกับ “ช้างพลายไม่มีงา” ชาวบ้านเรียกว่า “กวม” ประจวบกับช้างตัวนี้เดินตกไปในป่าพรุ ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า "พรุกวม"
- ปี พ.ศ. 2510 มีการตัดถนนเพื่อเข้าไปทำแร่ดีบุก ชาวบ้านบางส่วนจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเหมืองโชน”
- ปี พ.ศ. 2544 มีการแยกบ้านพรุกวม ออกมาจากหมู่ที่ 3 จึงมีการตั้งชื่อใหม่ว่า บ้านโตนกลอย หมู่ที่ 6 สาเหตุที่ตั้งชื่อ "บ้านโตนกลอย" เพราะบริเวณนี้มีพืชที่ชาวบ้านนำมาแปรรูปทำอาหารเรียกว่า "กลอย" หรือ "หัวกลอย" เป็นจำนวนมาก และ "โตนกลอย" ยังเป็นชื่อน้ำตกที่มีความสวยงามในพื้นที่บริเวณเทือกเขาภูเก็ตรอยต่อจังหวัดระนองกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนผ้าขาวม้าบ้านโตนกลอย
บ้านโตนกลอย หมู่ที่ 6 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แยกมาจากบ้านกำพวน หมู่ที่ 3 ในปี พ.ศ. 2545 ฉะนั้นความเป็นมาของบ้านโตนกลอยจึงมีความสัมพันธ์กับบ้านกำพวน ซึ่งในอดีตกำพวนเป็นหัวเมืองเล็ก ๆ ประกาศตั้งเป็นหัวเมือง 12 นักษัตร สมัยพระเจ้าจันทร์ภานุ ราว พ.ศ. 1779
ก่อนนั้นชาวอาหรับเปอร์เซีย เข้ามาตั้งชุมชนอยู่ที่บนควนต้นท่อม (ปัจจุบันเรียกว่า ภูเขาทอง) และ ควนชี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตบางกล้วยนอก ตำบลนาคา ชุมชนมีการทำลูกปัดและทำทอง เพื่อนำไปขายตามหัวเมืองต่าง ๆ ราว 700 กว่าปีที่ผ่านมา สภาพพื้นที่ที่เป็นชุมชนในปัจจุบันนั้นในอดีตเป็นทะเล กระทั่งเมื่อชุมชนขยายตัวไม่มีพื้นที่ในการทำมาหากินและสำหรับการอยู่อาศัย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ยากลำบากในการตั้งถิ่นฐานแบบถาวร ดังนั้นชาวบ้านจึงละทิ้งชุมชนไปอยู่ที่ใดไม่ปรากฏเป็นที่ชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่งมีผู้เฒ่าบางท่านเล่าว่าถูกโรคห่าระบาดหนักทำให้ล้มหายตายจากจนหมดชุมชน
กระทั่งสมัยธนบุรีมีการตั้งเมืองขึ้นมาใหม่โดยมีคนมาจากเมืองจามหรือกัมพูชา หนีภัยสงครามมาตั้งชุมชนบริเวณบ้านทะเลนอก 2 ครอบครัว และปลายคลองใหญ่ 2 ครอบครัว ซึ่งต่อมามีลูกหลานสืบทอดหลายครัวเรือน และได้แยกย้ายไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านกำพวนและบ้านนาคาปัจจุบัน
ชุมชนบ้านกำพวนตั้งอยู่บ้านทะเลนอก เหตุที่ชื่อบ้านกำพวนเพราะมีหวายชนิดหนึ่ง ชื่อว่าหวายกำพวนขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงตกลงความเห็นกันว่าให้ใช้ชื่อว่า บ้านกำพวน เล่าต่อกันมาว่าราว 200 ปี ที่ผ่านมา มีการย้ายถิ่นฐานจากทะเลนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านเหนือและบ้านใต้ ประมาณ 10 ครัวเรือน ริมฝั่งคลองที่เป็นที่ตั้งของสะพานคลองกำพวนในปัจจุบัน
ฝั่งบ้านเหนือปลูกต้นมะม่วง เพื่อเป็นสัญลักษณ์การตั้งถิ่นฐาน ส่วนฝั่งบ้านใต้ปลูกต้นมะค่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์การตั้งถิ่นฐาน ต้นไม้ทั้ง 2 ต้นใหญ่โตมาก และเติบโตกว่าต้นไม้ทุกชนิดที่มีอยู่ในชุมชนแต่ต้นไม้ทั้งสองมีการโค่นขายเมื่อปี พ.ศ 2514 อย่างไรก็ดีมีผู้เฒ่าในชุมชนห้ามไม่ให้โค่น โดยบอกว่าเป็นไม้คู่บ้านคู่เมืองแต่ก็ไม่สามารถทัดทานไว้ได้
ด้านการปกครอง ในอดีตมีนายบ้านปกครอง 2 ท่านคือ
- ท่านขุนนริน ปกครองบ้านกำพวน
- ท่านขุนณรงค์ ปกครองนาคา (นาคราช)
จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน “เมื่อมีการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้น บ้านนาคาแยกเป็น ตำบลนาคา และ บ้านกำพวน แยกเป็น ตำบลกำพวน ในการนี้ราชการการแต่งตั้งให้ คุณหลวงนริน และได้ใช้นามสกุลว่ากำพวน เป็นกำนันของตำบลกำพวน ในส่วนตำบลนาคา ได้แต่งตั้งให้ท่านขุนณรงค์ เป็นกำนันตำบลนาคา”
ด้านการศึกษา ของตำบลกำพวน ครูคนแรกของตำบล คือ คุณครูเขื่อม บุญพฤกษ์ ย้ายมาจากจังหวัดสุราษฏร์ธานี โรงเรียนแห่งแรก คือ โรงเรียนประชาบาลตำบลกำพวน 1 เดิมตั้งอยู่บริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หมู่ที่ 2 บ้านเหนือ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2464 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ดีก่อน ปี พ.ศ. 2545 ตำบลกำพวนได้แยกเป็นหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน คือ
- หมู่ที่ 1 บ้านทะเลนอก
- หมู่ที่ 2 บ้านเหนือ
- หมู่ที่ 3 บ้านใต้
กระทั่งปี พ.ศ. 2545 ชุมชนเกิดการขยายตัวโดยการตั้งหมู่บ้าน เรียกว่า บ้านบางกล้วยใน จึงได้แยกหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 4 บ้านบางกล้วยใน แต่ต่อมามีการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จึงตั้งชื่อว่า ภูเขาทอง
ต่อมาหมู่ 2 แบ่งการปกครองเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านคือ หมู่ที่ 5 บ้านสุขสำราญ และหมู่ที่ 3 มีการแยก การปกครองเป็น หมู่ที่ 6 บ้านโตนกลอย เมื่อ ปี พ.ศ. 2545
บ้านโตนกลอยหมู่ที่ 6 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ห่างจากอำเภอสุขสำราญราว 2 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เหมาะสมกับประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของประชากรมีการสร้างบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกันและส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ภูมิลำเนาเดิมของคนในชุมชนมาจากอำเภอไชยา และอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านโตนกลอย หมู่ที่ 6 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า บ้านโตนกลอย มีจำนวนหลังคาเรือน 103 หลังคาเรือน จำนวนประชากร ชาย 190 คน หญิง 190 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 380 คน
ชุมชนบ้านโตนกลอย ประกอบด้วยนามสกุลหรือสายตระกูลที่พบมากในชุมชน 4 สายตระกูล ประกอบด้วย
- นามสกุลมะเล็ก
- นามสกุลปรุงเหล็ก
- นามสกุลโส๊ะอ้น
- นามสกุลดาวเรือง
กลุ่มอาชีพในชุมชนบ้านโตนกลอย
- กลุ่มเกษตรกร ทำนา ปลูกพืช
- กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ กลุ่มหัตถกรรม
- กลุ่มทอผ้าบ้านโตนกลอย
- กลุ่มชมรมนิยมไพร
- กลุ่มเยาวชน
ปฏิทินเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นอาชีพเสริม
- การเกษตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ / ตลอดทั้งปี
- ทำนา / ตามฤดูกาล
- ทำสวน / ตามฤดูกาล
- การปศุสัตว์เลี้ยงวัว ควาย แพะ แกะ ไก่ เป็ด / ตลอดทั้งปี
- อาชีพรับจ้าง / ตลอดทั้งปี
- อาชีพค้าขาย / ตลอดทั้งปี
ทุนภูมิปัญญาการทอผ้าขาวม้าบ้านโตนกลอย เป็นทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ และนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน ความเป็นมาของการผลิตผ้าขาวม้าบ้านโตนกลอยเริ่มจาก
- ปี พ.ศ 2521 เยาวชนในหมู่บ้านไปประกอบอาชีพทอผ้าที่ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อมาโรงงานทอผ้ามีการย้ายไปเปิดกิจการที่กรุงเทพฯ ทำให้ต้องย้ายตามโรงงาน กระทั่งเกิดการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ แต่ด้วยความคิดถึงบ้านเยาวชนที่ไปทำงานทอผ้าได้กลับมาประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมที่หมู่บ้าน
- ปี พ.ศ 2539 สำนักงานเกษตรอำเภอสุขสำราญ มีการสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านโตนกลอย
- ปี พ.ศ 2541 เริ่มจัดทำโครงการผ้าทอมือ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอสุขสำราญ โดยมีการทำโครงการขอยืม กี่กระตุกก จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง จำนวน 1 หลัง ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผลิตประกอบด้วยผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าตัดเสื้อ ผ้าพันคอ เป็นต้น
- ปี พ.ศ 2546 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เล็งเห็นว่ากลุ่มมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนกี่กระตุกเพิ่มอีก 5 หลัง และกลุ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้แนวคิดกระบวนการ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งหมายเพื่อจำหน่ายในงานเทศกาลต่าง ๆ
- ปี พ.ศ. 2549 กลุ่มเรียนรู้กระบวนการด้านการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งผลที่ได้จากการเรียนรู้งานวิจัยท้องถิ่นได้นำไปสู่การเรียนรู้กระบวนการทอผ้ายกดอกครบวงจร
จากนั้นเป็นต้นมากลุ่มมีการเรียนรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการทอผ้ายกดอก ทำให้สามารถทอผ้าได้ครบวงจรตั้งแต่ การกรอด้ายเข้าหลอด การเดินด้ายหรือด้นด้วยการสอบฟันหวี การหวีด้าย การม้วนด้าย การเก็บตะกอ เป็นต้น
จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอสมาชิกนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกตัวง่ายขายได้ง่ายกว่าผ้าชิ้นอื่น ๆ และพบว่าตลาดมีแนวโน้มความต้องการผ้าขาวม้าเพิ่มขึ้น ชุมชนจึงมีการสร้างลายออกแบบลายผ้าขาวม้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านโตนกลอย นอกจากนี้ยังมีการใช้สีจากธรรมชาติมาช่วยในการย้อม เพื่อให้เกิดสีสันที่สวยงาม เช่น เปลือกต้นมะม่วง ต้นคลั่ง ต้นตีนนก ใยมะพร้าว ใบขี้เหล็ก แก่นขนุน ใบสัก ต้นกก เป็นต้น
ภาษาไทยถิ่นใต้ จังหวัดระนอง
ระหว่างการจัดทำข้อมูล
กาญจนา ดาวเรือง และคณะ. (2554). โครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าบ้านโตนกลอย เพื่อแสวงหาตลาดและส่งเสริมบทบาทสตรี หมู่ที่ 6 ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2556). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พ.ศ. 2566. สืบค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
เทศบาลตำบลกำพวน. (2566). ประวัติความเป็นมาตำบลกำพวน. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2566, สืบค้นจาก https://www.kumpuan.go.th/
Supattra Ardhan. (2557). โตนกลอยทริปความทรงจำ. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2566, สืบค้นจาก http://sakunee14.blogspot.com/
กลุ่มทอผ้าบ้านโตนกลอย. (2020, 19 สิงหาคม). ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่มผ้าขาวม้า. สืบค้นจาก Facebook.